Tuesday, 13 May 2025
NewsFeed

‘โฆษกพรรคก้าวไกล’ จี้ ‘สุพัฒนพงษ์’ รีบแจงรายละเอียดเยียวยาให้ชัด หวั่นตกหล่น ล่าช้า ซ้ำรอยรอบแรก

นาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถ ใช้สิทธิในโครงการ ‘เราชนะ’ ได้ หลังจากมีคนจำนวนมากเป็นห่วงว่า ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในโครงการ

โดยยืนยันว่า ตอนที่ทำแผนกัน ทีมงานคิดละเอียดทุกเรื่องเพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไปและได้วางรูปแบบไว้แล้วสำหรับกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ตนจึงอยากขอให้ชี้แจงรายละเอียดให้ชัดๆว่าหากไม่มีมือถือสมาร์ทโฟนจะให้ทำอย่างไร ซึ่งที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ควรต้องชี้อแจงกันหลายครั้ง หรือให้ประชาชนต้องเสียเวลามาคอยตามการชี้แจงกันรายวันหรือเมื่อกระแสสังคมวิพากษณ์วิจารณ์แค่ออกมาบอกว่าคิดไว้แล้วแบบนี้ก็ไม่พอ สิ่งที่คิดคืออะไร ประชาชนต้องทำอย่างไรบ้างต้องออกมาทันทีเพราะเขารอคอยคำตอบอยู่

นอกจากนี้ นายณัฐชา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตราการเยียวยาที่ผ่านมาของรัฐบาล ยังต้องให้ยืนยันตนผ่านแอพพลิเคชั่นมาตลอด ทั้งที่รัฐบาลก็มีข้อมูลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการเยียวยารอบก่อน เหตุใดไม่ทำการโยกข้อมูลส่วนนี้มาใช้ ทำไมต้องให้ประชาชนยุ่งยากทำซ้ำทำซาก หากมีความจริงใจจะเยียวยาจริงๆควรทำกระบวนการให้ง่ายและรวดเร็วไม่ใช่สร้างความสับสนเหมือนต้องลุ้นเสี่ยงโชคกันตลอดเวลา

ส่วนกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงเหตุผลในการไม่จ่ายเงินเยียวยาเป็นเงินสดว่าเพื่อลดการสัมผัสธนบัตรในช่วงสถานการณ์เสี่ยงนั้น การที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นม แต่คงไม่ใช่เหตุผลหลักในเวลานี้ การเยียวยาที่ตรงจุดคือการดูแลประชาชนให้สะดวกนำไปใช้จ่ายหรือลดภาระหนี้สินของเขาได้ง่าย ทั้งยังมีวิธีการที่ง่ายกว่าการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นก็คือการจ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์

เนื่องจากประชาชนทุกคนมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักอยู่แล้ว สามารถลงทะเบียนแล้วรับเงินเยียวยาผ่านระบบนี้ได้เลย โดยสามารถทำได้เองผ่านตู้กดเงินสด หรือถ้าใครไม่สามารถทำหน้าตู้ได้ก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากธนาคารได้ แต่ถ้าเป็นการจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น หากเขาทำไม่เป็นก็จะไม่มีระบบสนับสนุนความช่วยเหลือเหมือนธนาคาร

“การจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นไม่เพียงแต่กีดกันประชาชนให้เข้าไม่ถึงการเยียวยาแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังเอื้อให้มีการทุจริตเงินได้ด้วย สมมติเช่นเขาต้องเอาเงินสดไปจ่ายค่าเช่าบ้าน แล้วจ่ายผ่านแอพไม่ได้จะทำอย่างไร ก็ต้องไปพึ่งธุรกิจรับลงทะเบียนซึ่งก็ไม่รู้ว่าท่านรู้ไหมว่ามันมีอยู่ ผู้เดือดร้อนยอมรับเงินสดมาแต่ก็แลกกับการถูกหักเงินไปส่วนหนึ่งทั้งที่เขาลำบากอยู่แล้ว รัฐบาลต้องไม่ไปทำตัวเป็นพ่อรู้ดีว่าเขาจะนำเงินไปใช้ทำอะไร

ถ้าจ่ายแล้วกำหนดเงื่อนไขได้ว่าไม่ให้นำเงินไปซื้อเหล้าหรือไม่ให้นำเงินไปใช้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถามหน่อยว่าเวลาประชาชนเสียภาษีจะกำหนดไม่ให้ท่านเอาเงินไปซื้อเรือเหาะ ซื้อเรือดำน้ำจีนได้ไหม ผมหวังมาตลอดว่ารัฐบาลจะมีบทเรียนและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ล้มเหลวจากการออกมาตราการเยียวยาแก่ประชาชนรอบก่อนที่มีความล่าช้าและไม่ทั่วถึง แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนพวกท่านก็ไม่ได้เรียนรู้และแก้ไขอะไรเลย ผู้ที่รับผลกรรมกับความไร้ศักยภาพของรัฐบาลก็หนีไม่พ้นประชาชน” นายณัฐชา กล่าว

แม้เสียงจะแผ่วเบาลง แต่อุดมการณ์ยังคงเดิม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยกสุดท้ายในชีวิต จาก 'ม็อบรุ่นพี่' ผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเมื่อถึงวันเผด็จศึก ต้องไม่มีคำว่า...ถอย!!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ ‘ตู่ ศรัทธาธรรม’ เปิดใจกับ The States Times ถึงบทบาทการเมืองในช่วงหลังที่อาจจะดูเงียบไป แต่ทิศทางบนเส้นทางการเมืองไทยของเขายังคงตื่นอยู่ตลอดว่า...

“ที่หายๆ ไป โดยเฉพาะกับช่วงที่มีการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร์ ไม่ได้แสดงว่ายุติบทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมยังเหมือนเดิม เพียงแต่ถ้าให้เปรียบเหมือนกับนักร้อง ก็คือนักร้องที่ยังร้องเนื้อเดิมได้ แค่คีย์เสียงมันเบาลง คมน้อยลงตามวัยและยุคสมัย ฉะนั้นช่วงเวลานี้ คือ การให้เกียรติกับน้องๆ ที่ปลุกปั้นยุคแห่งการต่อสู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง”

อย่างไรก็ตาม จตุพร ก็ยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ เพียงแต่หากจะต้องออกมาอีกครั้ง ก็ต้องออกมาแบบ ‘ครั้งเดียว’ แล้วต้องเป็นครั้งเดียวที่มีคุณค่า สมกับเป็นการสู้ที่ตั้งใจว่าจะเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’

“ตั้งแต่วัยเด็ก จนหนุ่ม และบัดนี้ ผมงัดกับรัฐบาลหลายยุค มองเห็นและเข้าใจเกมการเมืองแบบเด่นชัด ชีวิตเจอถูกถอนประกันง่าย แล้วก็ถูกจับไปขังง่ายพอๆ กัน ผมจึงอยากใช้ครั้งเดียวต่อจากนี้ให้คุ้มค่าที่สุด คนบอกผมไม่ขยับ นั่นเพราะผมต้องเลือกเวลาที่ดีที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

“แน่นอนว่าช่วงเวลาที่จะออกมาต่อสู้อีกครั้ง คือ วันที่รัฐบาลตัดสินใจฆ่าประชาชน และใช้มาตรการปราบปรามหนัก วันนั้นก็จะถึงคิวผมที่จะก้าวออกมา เหมือนกับช่วงสมัยพฤษภาทมิฬปี 35 และ ช่วงเมษายนปี 53 ผมจะออกมาสู้ร่วมกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย”

นายจตุพร เล่าต่ออีกว่า วันนั้นอาจจะมาถึงในไม่ช้า เพราะเส้นทางของรัฐบาลในตอนนี้เริ่มตีบตัน และมองว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะต้องพังด้วยปัญหาร่วมของประชาชน นั่นก็คือ ‘ปัญหาปากท้อง’

“อย่าลืมว่าเรื่องเดียวกันที่จะกำหนดประชาชนให้ประชาชนทุกคนพร้อมใจกันออกสู้ คือ เรื่องปากท้อง ตอนนี้เราเจอโรคระบาดโหยหิวในชีวิตมนุษย์ และกำลังระบาดไปสู่ความหิวโหยของมนุษย์

“ความหิวของมนุษย์จะทำให้คนโกรธ และรัฐจะเอาไม่อยู่ ยิ่งรัฐไม่ซึมซับบทเรียนจากรอบแรก ทั้งสนามมวยในรอบแรก และตอนนี้ก็มาจากบ่อนระยอง รวมถึงแรงงานพม่าเล็ดลอดเข้ามา จนระบาดกันทั้งแผ่นดิน มันเหมือนกับคนที่เจ็บแล้วไม่จำ เป็นความบกพร่องของรัฐ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง คนกลัวอดตายมากกว่ากลัวโรคภัย แล้วถ้ารัฐยังบริหารประเทศแบบนี้ต่อไป เดี๋ยวก็จะพัง”

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ก็ได้แนะนำรัฐบาลว่า ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นเรื่องของคนยุคใหม่ รัฐบาลควรจะต้องเปิดใจรับฟังเสียงของคนยุคนี้ ที่จะก้าวขึ้นมาแทนคนยุคเก่า

“ผมอยากให้รัฐบาลมองเด็กๆ เป็น ‘อนาคตของชาติ อย่ามองเด็กเป็นศัตรู’ เพราะยุคนี้คือยุคของเขา ผมยอมรับว่าการเลือกวิถีทางของยุคหนึ่งอาจถูก แต่ก้าวข้ามไปอีกยุคหนึ่งอาจไม่ถูก ยุคแต่ละยุคมีพัฒนาการเป็นของใหม่ อย่าง ‘แฟลชม็อบ’ ในยุคนี้ตามมุมมองของผม เป็นความงดงามทางประชาธิปไตย ผมเห็นการเคลื่อนไหวและสนใจของนักศึกษายุคนี้มากกว่าตอน ตุลา 2516 และยุคพฤษภา 35 หรือยุค นปช.53

“ยิ่งไปกว่านั้น ก็ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่รวมไปถึงเด็กนักเรียนรุ่นลดหลั่นลงไปที่ออกมาร่วมแสดงออกทางการเมือง เหตุเพราะโลกมันแคบลงจากโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้ทุกคนหาข้อมูลได้ ผู้คนได้ฟังปราศรัยพร้อมๆ กัน ไม่ต้องรอฟังสื่อกระแสหลักที่มีข้อจำกัดในการรายงานข่าว เทคโนโลยีทำให้ทุกคนเป็นสื่อกันได้หมด การรับรู้จึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ทั้งฝ่ายม็อบ และฝ่ายรัฐ

“ดังนั้นการออกมาต่อสู้หรือเรียกร้องของคนรุ่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องฟัง และร่วมพูดคุยกัน เพราะประเทศใดไม่มีคนหนุ่มสาว ขึ้นมาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประเทศนั้นจะหาอนาคตไม่ได้ รัฐต้องใช้หูมากกว่าใช้อำนาจ ต้องรับฟังมากกว่าการใช้กฎหมาย หากใช้แค่อำนาจ หรือมองพวกเขาเป็นศัตรู บทสรุปจะจบไม่สวย

“บางเรื่องที่คุยกันได้ ก็คุยเรื่องนั้นก่อน เชื่อเหอะว่าคนเรามันไม่ได้คิดต่างกันได้ทุกเรื่องหรอก แต่จงไล่ความสำคัญไปจนเจอเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องมุ่งไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่คุยเรื่องของตัวเอง แต่อย่าให้ ‘ความแตกต่าง’ หรือความคิดเสนอต่าง กลายเป็นศัตรู อย่างผมเองชอบที่จะเห็นแตกต่าง บางทีก็พูดไม่เข้าหูคนบ้าง แต่เหล่านี้คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย

“ผมอยากให้รัฐบาลมองพวกเขาเป็นลูกเป็นหลาน ลองฟังสิ่งที่ไม่คุ้นเคยบ้าง แต่ทุกวันนี้เหมือนรัฐบาลจะไม่ฟังปัญหาของพวกเขา พอไม่ฟังก็แก้ด้วยอำนาจ เข้าจัดการ ซึ่งหากจัดการได้คนหนึ่งคน สิ่งที่ตามมา คือ อีกคนก็จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ แล้วนั่นจะทำให้กลุ่มคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ก็อาจจะออกมาอีกที การปราบปรามประชาชนเด็ก คือ การปลุกพ่อแม่ มันจะไม่มีวันจบ”

นายจตุพร ยังทิ้งท้ายอีกว่า “ข้อเรียกร้องบางเรื่องอาจจะไม่จบในรุ่นของผู้เรียกร้อง แต่อาจจะไปจบหรือสำเร็จกับอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเป็นภารกิจของนักต่อสู้ และภารกิจทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นปัญหาของชาติที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ผมเชื่อว่ามันไม่มีวันจบง่ายๆ จะมีแต่ปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีก พูดง่ายๆ คือ โลกไม่มีวันจบ ทุกอย่างเป็นวงล้อ การต่อสู้จึงเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับรัฐบาล ไม่มีทางที่จะจัดการปัญหาทุกอย่างได้จบในรัฐบาลเดียว เพราะไม่งั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลอีกต่อไป จงรับฟังทุกฝ่าย”

เลขาธิการ อย. เผยคืบหน้ารับขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาจากประเทศอิตาลีแล้ว ใช้ฉีดภาวะฉุกเฉิน 5 หมื่นโดส เข้าไทย ก.พ.นี้

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด -19 ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศอิตาลี แล้ว หลังจากทางบริษัทฯ ส่งเอกสารเกือบ 10,000 หน้า มาขอขึ้นทะเบียนในไทย เพื่อใช้ฉีดภาวะฉุกเฉิน ตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2563

โดยทางอย. ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน ในการพิจารณาถึงเรื่อง ประสิทธิภาพ คุณภาพ และ ความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยวัคซีนดังกล่าวจะถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จำนวน 50,000 โดส ทั้งนี้สำหรับใบอนุญาตการนำเข้า และ ทะเบียนวัคซีนนี้ มีระยะเวลา 1 ปี โดยเมื่อวัคซีนถึงไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะดำเนินการสุ่มตรวจวัคซีนว่ามีคุณภาพตามที่บริษัทกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนนำไปใช้ฉีดให้กับประชาชน จากนั้นทางบริษัท จะทยอยส่งวัคซีนที่เหลืออีก 150,000 โดส ตามมาภายใน ในเดือนมีนาคมและเมษายนต่อไป

“สำหรับการผลิตวัคซีนโควิด ของแอสตราเซเนกา ในไทยที่ร่วมกับ สยามไบโอไซเอนซ์นั้น ก็จะมีการขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตในไทย ซึ่งจะมีผลให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทยทันที ในเดือนพ.ค.2564” นพ.ไพศาล กล่าว

ขณะเดียวกัน ใน blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดสำคัญที่น่าสนใจของวัคซีนตัวนี้ว่า

1.) สามารถเก็บที่อุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา 2-8 องศาเซลเซียส จึงสะดวกในการขนส่งและนำวัคซีนไปฉีดตามสถานพยาบาลต่างๆโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย

2.) ราคาไม่แพง เพราะทางบริษัทประกาศว่าจะไม่นำวัคซีนตัวนี้มามีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจ จึงทำให้มีราคาของวัคซีนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ

3.) บริษัทยอมให้ประเทศที่มีความพร้อม นำเทคโนโลยีของตนเอง ไปผลิตวัคซีนเองได้ โดยคิดค่าใช้จ่ายถูกกว่าซื้อวัคซีนสำเร็จรูปไปใช้

4.) ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้สูงมากเท่ากับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ(mRNA) แต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ (62-90% เทียบกับ 94-95%)

คาดว่าจะมีบริษัทต่างๆ ทยอยนำวัคซีนของตนเองซึ่งขึ้นทะเบียนแล้วในต่างประเทศ มาจดทะเบียนในประเทศไทยต่อไป ซึ่งรวมถึงบริษัท Sinovac ของประเทศจีน บริษัท Pfizer และ Moderna ของสหรัฐอเมริกา

ทำให้ประเทศไทยเรามีทางเลือกมากขึ้น ที่จะพิจารณาการฉีดวัคซีนได้มากกว่าหนึ่งตัว

ในส่วนวัคซีนของบริษัท AstraZeneca มีแผนที่จะนำเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 50,000 เข็ม และจะนำเข้ามาอีกในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ อีก 150,000 เข็ม

โดยวัคซีนล็อตนี้ เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นในประเทศอิตาลี

ในส่วนที่ประเทศไทยจะผลิตวัคซีนเอง โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท AstraZeneca จะเริ่มนำมาฉีดได้จริงในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จำนวนรวมทั้งสิ้น 26 ล้านเข็มต่อเนื่องกันไปจนถึงสิ้นปี


Reference

https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000006349

https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html

https://tna.mcot.net/latest-news-619927

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2529319

ที่มา : blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ส.ส.ราชบุรี ‘กุลวลี นพอมรบดี’ ขอ ดีอีเอส-กฟภ.เร่งจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ใน อ.เมืองราชบุรี ลงดิน เพื่อสร้างทัศนียภาพและป้องกันอันตราย พร้อมจี้กรมชล - การประปา ดูแลปัญหาคูคลองและน้ำขาดแคลน

น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องกลุ่มเกษตกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ หมู่ 4 และ หมู่ 5 ต.เจดีย์หัก อ.เมือง ราชบุรี ถึงสภาพคูส่งน้ำสายใหญ่ 21 ที่สร้างมาเกือบ 30 ปี ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม แผ่นคอนกรีตแตกร้าว มีตะกอนดินทับถมทำให้คูตื้นเขิน ส่งผลทำให้น้ำไปไม่ถึงปลายคลอง และอาคารบังคับน้ำชำรุดเสียหาย ไม่สามารถเปิด - ปิดได้

รวมถึงถนนลูกรังบริเวณคันคลอง เป็นหลุมเป็นบ่อ โดยที่ผ่านมาเคยเกิดอุบัติเหตุรถเกี่ยวข้าวตกลงไปในคันนา จึงขอฝากท่านประธานผ่านไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา สำนักชลประทาน 13 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้โปรดเข้าดำเนินการให้ด้วย

นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากพี่น้อง หมู่ 10 หมู่ 12 ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง ราชบุรี ถึงความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด เพราะผู้คนเริ่มอาศัยหนาแน่นขึ้น ชุมชนโตขึ้น เนื่องจากระบบประปาหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นประปาน้ำดิบบาดาล ไม่สามารถใช้ดื่มได้ มีลักษณะเป็นสนิมและหินปูน

โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำในบ่อบาดาลไม่เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้อง จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยัง การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ได้โปรดเข้าดำเนินการขยายเขตจ่ายน้ำประปาภูมิภาคให้กับพี่น้องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้วย

น.ส.กุลวลี ยังขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), กสทช.เขต16 และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดราชบุรี ช่วยประสานงานบูรณาการร่วมกัน ลงพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี ทำการปรับปรุงจัดระเบียบสายสื่อสาร, สายเคเบิ้ล, สายไฟฟ้า ที่หย่อนยาน รกรุงรัง และพิจารณาจุดที่เหมาะสมในการนำสายต่าง ๆ เหล่านี้ลงท่อร้อยสายใต้ดิน พร้อมทั้งขอให้ทำการรื้อถอนสายเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วออกจากเสาไฟฟ้า

โดยดิฉันขออนุญาติชี้แนะให้ท่านเริ่มทำในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่น เป็นที่ตั้งของส่วนราชการ ศาลากลาง สถานการศึกษา โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากจะสร้างทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชนอีกด้วย

โควิดยุคทองของออนไลน์! ‘รมช.พาณิชย์’ แนะ พ่อค้า - แม่ค้าออนไลน์ต้องขายจุดเด่นของตัวเอง รักษาตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ และต้องไม่หยุดพัฒนา

เตือน! คู่แข่งมีจำนวนมากขึ้น ราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ย้ำผู้ขายที่มีคุณสมบัติครบมีโอกาสเติบโต ทำกำไรระยะยาว

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นยุคทองของการค้าออนไลน์อย่างแท้จริง เนื่องจากคนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค ประกอบกับการสั่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันมีองค์ประกอบเกื้อหนุนที่ช่วยให้การซื้อสินค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น

เช่น การจ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment ผู้ให้บริการขนส่งมีให้เลือกหลากหลาย ผู้ค้าในตลาดมีเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและราคา ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อสินค้า/บริการจากผู้ขายที่มีคุณสมบัติเหมือนกันแต่ราคาย่อมเยากว่า และเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้ได้อย่างโดนใจ”

“การขายสินค้าออนไลน์ให้ได้รับผลกำไรและอยู่ในธุรกิจระยะยาวต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เนื่องจากปัจจุบันตลาดออนไลน์มีคู่แข่งจำนวนมาก มีช่องทางการขายที่หลากหลายทั้งบนเว็บไซต์เฉพาะ แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย

ซึ่งทุกช่องทางล้วนแล้วแต่มีกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโอกาสที่กลุ่มลูกค้าจากช่องทางหนึ่งจะไปเปรียบเทียบราคาหรือคุณภาพสินค้ากับอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อให้ได้สินค้าและราคาที่โดนใจมากที่สุด รวมถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากผู้ค้า เช่น ความน่าเชื่อถือ แพคเกจจิ้ง การขนส่งที่รวดเร็ว และการสื่อสารกับลูกค้าแบบทันทีทันใด (Real Time) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค”

รมช.พณ.กล่าวต่อว่า “การสร้างรอยัลตี้ให้เกิดขึ้นกับการค้าออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้ขายต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีนำเสนอสินค้าให้มีความทันสมัยและสอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะคอนเท้นต์ที่ใช้โปรโมทหรือขายสินค้าต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

เพราะสินค้าออนไลน์เป็นสินค้าที่ไม่สามารถสัมผัสจับต้องได้ ผู้ซื้อจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากสิ่งที่เห็น คอนเท้นต์ และรายละเอียดที่ได้รับ ดังนั้น ถ้าคอนเท้นต์โดนใจก็มีโอกาสที่จะขายสินค้าชิ้นนั้นได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ผู้ขายต้องมีความจริงใจ มีวิธีการขายที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดเด่นของตัวเอง รักษาความเป็นตัวตนไว้ให้ได้ และต้องไม่หยุดพัฒนารูปแบบการขาย เช่น การ Live ขายสินค้า แทนที่จะนำสินค้าไปถ่ายภาพและโพสต์ขึ้นขายเพียงอย่างเดียว”

“นอกจากนี้ ในกรณีที่ขายสินค้าไม่ได้ ต้องมาวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยเฉพาะตัวสินค้าว่าเป็นที่ต้องการและโดนใจผู้บริโภคหรือไม่ ราคาเป็นอย่างไร ช่องทางการจำหน่ายมีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้าและพื้นที่หรือไม่ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะกับการค้าออนไลน์หรือไม่

กล่าวคือ ต้องสวยงามและสามารถส่งมอบสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัยไม่ชำรุดเสียหาย การบริการทั้งก่อนและหลังการขายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การช่วยตอบข้อสงสัยหรืออธิบายเกี่ยวกับสินค้าอย่างกระชับฉับไว จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้การค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก”

“การปรับตัวให้ทันสถานการณ์และทันกระแสนิยมเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจาก ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มีการเปิดรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์จะมีความรวดเร็ว และเกิดเป็นกระแสขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น

ดังนั้น การติดตามข่าวสารและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปรับตัวให้ทันแฟชั่น ทันคู่แข่ง ทันตลาด ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอสินค้าให้มีความหลากหลาย ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาด”

“พ่อค้า - แม่ค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งคู่แข่งรายเก่า (ที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย) และรายใหม่ (ขยายช่องทางการตลาดจากหน้าร้านสู่ช่องทางออนไลน์ และจากพนักงานประจำมาขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพ) ราคาและการบริการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ดังนั้น ผู้ขายที่มีความพร้อมในทุกด้านมากที่สุดจะสามารถยืนหยัดบนโลกออนไลน์ได้ในระยะยาว และสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง”

“และที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ร้านค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่กำลังค้าขายออนไลน์อยู่ขณะนี้ และยังไม่ได้ขอรับเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ DBD Registered จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สามารถขอรับเครื่องหมายฯ ได้ที่เว็บไซต์ ‘www.trustmarkthai.com’

ทั้งนี้ เครื่องหมาย DBD Registered เป็นเครื่องหมาย ที่แสดงถึงความมีตัวตนของผู้ขายในโลกออนไลน์ ผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดของผู้ขายสินค้าได้ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ผู้ขาย และสร้างความมั่นใจในการซื้อสินค้าของผู้ซื้อ เป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการตลาดให้ธุรกิจอีกทางหนึ่ง” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

ททท. สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว พบส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐออกมาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างพนักงาน รองลงมาคือพักชำระหนี้ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งสถานที่พัก บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร บริการรถเช่า และบริการรถสาธารณะ และอื่นๆ รวม 1,884 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค 64 ทางออนไลน์ ถึงแนวทางการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการจากภาครัฐ

โดยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐออกมาตรการมาลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานมากที่สุด เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ กับการประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้

ส่วนความต้องการรองลงมา คือ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาพักชำระหนี้ โดยจำนวนเดือนที่ต้องการขอพักหนี้มีแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่กว่า 63% ขอให้พักชำระหนี้ 19-24 เดือน อีก 24% ขอพักชำระหนี้ 7-12 เดือน ส่วน 8% ขอพักชำระหนี้ 1-6 เดือน และสุดท้ายอีก 3% ขอพักชำระหนี้ 13-18 เดือน

พร้อมกันนี้ยังขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งพักชำระเงินต้น ส่วนใหญ่ 36% ต้องการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่อัตรา 1-1.99% รองลงมา 24% ต้องการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่อัตรา 0-0.5% และอีก 21% ต้องการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่อัตรา 2-2.99% เป็นต้น

ขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจยังเสนอให้ช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน โดยส่วนใหญ่ต้องการวงเงินกู้อยู่ที่ 1-5 ล้านบาท มากที่สุด รองลงมาคือ 500,000 – 1 ล้านบาท และ 100,000 – 500,000 บาท ส่วนอัตราสินทรัพย์ค้ำประกันวงเงินกู้ที่ต้องการ ส่วนใหญ่ขอให้ไม่มีการค้ำประกัน รองลงมาคือ มีการค้ำประกัน 1-5% ของวงเงินกู้ และ 15-20% ของวงเงินกู้ ตามลำดับ

กองทัพบก ส่งกำลังพลลงพื้นที่พ่นฆ่าเชื้อโควิด ทำความสะอาดโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมรับการเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 1 ก.พ. 64

ร.อ.หญิง กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 1, หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก และกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้ส่งกำลังพลชุดปฏิบัติการล้างสิ่งปนเปื้อน พร้อมอุปกรณ์การฉีดพ่นสารเคมีและยานพาหนะ เข้าทำความสะอาดโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งอยู่ระหว่างปิดและปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการและมาตรการ ศบค.

โดยมีกำหนดเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 1 ก.พ.64 ซึ่งชุดปฏิบัติการฯ ได้ดำเนินการครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ณ โรงเรียนสารวิทยา เขตจตุจักร และจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.64 เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในด้านสถานที่ ปรับสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอน ให้มีความสะอาด ปลอดภัย ลดการสะสมของเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค สร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับนักเรียน ครูผู้สอนและประชาชน

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่มีข้อห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มอบให้หน่วยทหารทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลและสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ในการคลี่คลายสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์มาปรับใช้อย่างเหมาะสม อาทิ ภารกิจการสนับสนุนรัฐบาลจัดตั้งสถานกักกันโรคของรัฐ, การสกัดกั้นคัดกรองตามแนวชายแดน, การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน, การแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์, บริการ Army Delivery จัดส่งอาหาร ตัดผมและซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ที่บ้าน, การซื้อพืชผลจากเกษตรกรและสนับสนุนร้านค้าชุมชนเพื่อนำมาประกอบเลี้ยงให้กับกำลังพลภายในหน่วย รวมทั้งการสนับสนุนกำลังพลและอุปกรณ์ให้กับส่วนราชการแต่ละจังหวัดในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งกองทัพบกพร้อมปฏิบัติทุกภารกิจ ดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนข้ามผ่านวิกฤติ ห่างไกลจากโควิด-19 ไปด้วยกัน

‘รมว.แรงงาน’ เผย จ้างล่าม/ผู้ประสานงานด้านภาษา ปฏิบัติงานประจำศูนย์ประสานแรงงานประมง 20 จังหวัด สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการสื่อสารให้แรงงานต่างด้าวเข้าใจ รับรู้ ขอรับคำปรึกษา รวมถึงการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรอง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด จนได้รับการปรับสถานะ จัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2(Tier 2) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยปรับขึ้นจากเดิมในกลุ่ม Tier 2 Watch list เมื่อปี 2560

“กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีการค้าโลก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของประเทศไทย ด้วยการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงอย่างเป็นระบบ ลดปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง เพื่อเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม แรงงานได้รับค่าจ้างและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งการสร้างมาตรฐานการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในการขาดแคลนแรงงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ Tier 1 ให้ได้ในปี 2564” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน มีเป้าหมายจ้างเจ้าหน้าที่ตำแหน่งล่าม/ผู้ประสานงานด้านภาษา จำนวน 20 คน เพื่อทำหน้าที่สื่อสารและปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานแรงงานประมง มีระยะเวลาการจ้าง 9 เดือน แบ่งเป็น ล่าม(คนไทย) จำนวน 9 คน ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 9 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ตราด สงขลา ระนอง สมุทรปราการ จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช

และเป็นผู้ประสานงานด้านภาษา (คนต่างด้าว) จำนวน 11 คน ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ประสานแรงงานประมงใน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สตูล ฉะเชิงเทรา กระบี่ ตรัง นราธิวาส ชุมพร ชลบุรี สมุทรสงคราม พังงา และปัตตานี

นายสุชาติฯ กล่าวต่อไปว่า กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย ซึ่งในส่วนแรงงานประมงนั้น ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานเรื่อยมา เนื่องจากเป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ เพราะไม่ต้องการทำงาน 3 ประเภท ที่เรียกว่างานกลุ่ม 3D ได้แก่ Difficult (งานลำบาก) Dirty (งานสกปรก) และ Dangerous (งานอันตราย) เช่น ก่อสร้าง เกษตร ปศุสัตว์ โรงสี โรงน้ำแข็ง เหมืองแร่ งานใต้น้ำ และงานประมง จึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทน

โดยกลุ่มแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะภาษาประจำท้องถิ่นของตนเอง เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านภาษา /ล่ามเพื่อการสื่อสาร จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการสื่อสารให้แรงงานต่างด้าวเข้าใจ รับรู้ ขอรับคำปรึกษา การแนะนำ อบรมชี้แจง การยื่นคำขอใบอนุญาตทำงาน การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และบริการของภาครัฐ รวมถึงการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรอง ในกรณีผู้ที่อาจเข้าข่ายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนต่างด้าวเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างถูกต้อง มีค่าจ้าง มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) มีการออกใบอนุญาตทำงาน 34,914 คน อบรมนายจ้าง/ลูกจ้าง 3,810 คน ให้คำปรึกษา 85,108 คน รับแจ้งการทำงาน 26,201 คน

‘คมนาคม’ เคาะแล้ว ‘ทางด่วนภูเก็ต’ ให้บูรณาการ 3 เส้นทาง เป็นโครงการเดียวแบบ ‘PPP’ พร้อมมอบกทพ. เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบดำเนินการ

‘รมว.คมนาคม’ เคาะบูรณาการ 3 โครงการสร้างทางด่วนในจังหวัดภูเก็ต กะทู้-ป่าตอง, เมืองใหม่-เกาะแก้ว และเกาะแก้ว-กะทู้ รวมเป็นโครงการเดียวกัน แบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) มอบการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าภาพหลักดำเนินการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการบูรณาการทางพิเศษ และทางหลวงว่า ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการบูรณาการและการร่วมมือ เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษและทางหลวงใน จ.ภูเก็ต ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง(ทล.)

โดยที่ประชุมมีมติให้นำ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทของ กทพ., 2.โครงการโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ของ ทล. และ 3.โครงการเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างโครงการที่ 1 และ 2 (Missing Link) บริเวณเกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทางประมาณ 12 กม. มารวมเป็นโครงการเดียวกันในรูปแบบของทางด่วน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หน่วยงานทั้งสองได้มีประการประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 และเสนอให้มีการบูรณาการเส้นทางทั้งสามให้เป็นเส้นทางเดียว โดยให้ กทพ. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินการ เบื้องต้นรูปแบบการลงทุนโครงการจะเป็นแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยได้มอบให้ กทพ. ไปศึกษารายละเอียด และปรับรูปแบบการลงทุน เพราะโครงการสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว เดิมจะใช้งบแผ่นดินดำเนินการ พร้อมกันนี้ให้จัดทำแผนปฏิบัติการ และกรอบเวลาต่างๆ ให้ชัดเจน โดยให้เวลา 1 เดือน และกลับมานำเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ได้เน้นย้ำไปว่า โครงการดังกล่าวอาจจะแบ่งดำเนินการเป็นตอน ไม่ต้องรอทำทีเดียวพร้อมกันทั้ง 3 ตอน หากตอนใดพร้อมก่อนก็ให้เริ่มดำเนินการก่อน เช่น โครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง มีความพร้อมที่สุด เตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.เห็นชอบโครงการแล้ว ก็ให้ดำเนินการได้เลย ส่วนตอนที่เหลือก็ให้เร่งรัดดำเนินการให้สามารถก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง เพราะหากทำเสร็จแค่บางตอนจะแก้ปัญหาการจราจรไม่ได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าที่ประชุมยังได้ติดตามโครงการข่ายทางหลวงพิเศษฯ และทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย 5 โครงการ แบ่งเป็น ทล. 4 โครงการ และ กทพ. 1 โครงการ โดยในส่วนของ ทล. ได้แก่

1.) โครงการทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์) M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. คาดว่าจะเสนอ ครม. และเปิดประกวดราคาได้ไม่เกินกลางปี 64,

2.) โครงการมอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน คาดว่าการศึกษารูปแบบการลงทุนจะแล้วเสร็จภายในปี 64, 3.โครงการมอเตอร์เวย์ M7 สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ คาดว่าจะสรุปผลการออกแบบ และรูปแบบการลงทุนได้ปี 64 และ 4.โครงการมอเตอร์เวย์ สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง คาดว่าจะสรุปรูปแบบการลงทุนได้ในปี 64

ส่วนโครงการของ กทพ. ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี มีความคืบหน้าประมาณ 12% อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมจัดส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณาต่อไป

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกแนวปฏิบัติให้องค์กรแรงงานดำเนินกิจกรรมที่มีความจำเป็น อาทิ การจัดประชุมใหญ่ การเลือกตั้งคณะกรรมการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับ และไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของการแพร่ระบาด COVID-19

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า องค์กรแรงงาน เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อสร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดี ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ ร่วมมือ ร่วมแรง แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์กรลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และจัดทำข้อบังคับขององค์กรแรงงาน โดยมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องดำเนินการ อาทิ การจัดประชุมใหญ่ การเลือกตั้งคณะกรรมการแทนคณะกรรมการที่พ้นวาระ

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID–19 ระลอกใหม่อาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการในกิจกรรมข้างต้นได้ ด้วยมีประกาศห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา

ดังนั้น กรมจึงได้ออกแนวปฏิบัติองค์กรแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อให้องค์กรแรงงานดำเนินกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน สอดคล้องกับข้อบังคับ และไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.) องค์กรแรงงานที่ดำเนินการจัดประชุมใหญ่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ และการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค หรืออาจใช้วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (กรณีข้อบังคับองค์กรแรงงานกำหนดให้กระทำได้)

2.) กรณีองค์กรแรงงานไม่อาจจัดประชุมใหญ่ได้ให้แจ้งกำหนดการจัดประชุมใหญ่ให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้า โดยมิชักช้าเมื่อสามารถดำเนินการได้หรือสถานการณ์ผ่อนคลาย และประกาศแจ้งให้สมาชิกองค์กรแรงงานทราบด้วย

3.) คณะกรรมการองค์กรแรงงาน ที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่งในระหว่างที่ยังไม่อาจดำเนินการจัดประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการทดแทนให้ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนพ้นวาระปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อจัดให้มีการประชุมใหญ่และดำเนินกิจการขององค์กรแรงงานเท่าที่จำเป็นตามที่กำหนดในข้อบังคับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สิ้นสุดลง หรือภาครัฐยกเลิกข้อกำหนดการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคแล้ว องค์กรแรงงานควรเร่งรัดดำเนินการจัดประชุมใหญ่ตามข้อบังคับ ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top