Sunday, 6 July 2025
NewsFeed

กูรูการเมือง วิเคราะห์!! นายกฯ กล้าทำกล้ารับ ซื่อสัตย์สุจริต มอง!! เเม่ทัพภาค 2 อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ผิดมาตรฐานจริยธรรม

(6 ก.ค. 68) กูรูผู้สันทัดกรณีทางการเมืองเกือบทุกคนเชื่อว่าอุ๊งอิ๊งไม่รอดแน่ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์รับเรื่องไว้พิจารณา และ 7 /2 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นรม. 

แต่ข้อกล่าวหาของสว.36 คนผู้ร้อง คือ
1. ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่เห็นประจักษ์  

2.ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

คำถามคือ การที่อุ๊งอิ๊งออกมายอมรับแต่แรกว่าเสียงในคลิปที่ฮุนเซนเจ้าเล่ห์เอามาปล่อยเป็นเสียงของตนเอง ไม่เรียกว่าเป็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่เห็นประจักษ์ดอกหรือ เพราะหากจะปฏิเสธไว้ก่อนว่าเป็นการใช้ AI ปลอมเสียงก็ย่อมทำได้ 

ส่วนข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมเป็นการร้ายแรง ก็ไม่เห็นว่าการที่อุ๊งอิ๊งบอกว่ามทภ.2 เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตนเอง เข้าข่ายเป็นการผิดมาตรฐานจริยธรรมข้อไหน เพราะทหารไทยส่วนใหญ่ก็อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับฝ่ายปชต.มาจนถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว

เผย!! หลุมฝังศพ ‘พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา’ นายกฯ คนแรกของไทย หลังมีเรื่องขัดแย้ง ‘คณะราษฎร์’ ลี้ภัย!! ไปสิ้นลมหายใจ ในเกาะปีนัง

(6 ก.ค. 68) หลุมฝังศพที่สงบเงียบ เรียบง่ายของอดีตผู้ยิ่งใหญ่ พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย หลังลี้ภัยอยู่ปีนัง อันเกิดจากแนวคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับคณะราษฎร์

พระยามโนปกรณ์ไม่เห็นด้วย แต่ไม่โต้แย้ง เพียงแค่สงบนิ่ง แต่เป็นการสงบนิ่งในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจที่ร้ายแรงกว่า พระยามโนปกรณ์ก็ต้องหลบลี้หนีภัยไปอยู่ปีนังจนวาระสุดท้ายของชีวิต

หลุมฝังศพในกลางดงต้นไม้ในเกาะปีนัง ไม่มีคำประกาศสรรเสริญ วันฝังศพ ไม่มีบริวารแวดล้อม

นี่คือชีวิตในบั้นปลาย และสุดท้ายของ ‘อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย’ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

‘ไทย–เวียดนาม’ กระชับสัมพันธ์ ‘กลาโหม’ ท่ามกลางความตึงเครียด!! ตามแนวชายแดน

(6 ก.ค. 68) ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา การเยือนอย่างเป็นทางการของ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แห่งราชอาณาจักรไทย ไปยังกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ถือเป็นก้าวสำคัญของการทูตทางทหารที่สะท้อนถึงมิตรภาพอันมั่นคงระหว่างไทยกับเวียดนาม

การต้อนรับโดย พลเอก เหงียน เติน กื๋อง หัวหน้าคณะเสนาธิการใหญ่กองทัพประชาชนเวียดนาม และรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้เป็นเพียงพิธีการ แต่ยังเป็นเวทีหารือเชิงลึกด้านความมั่นคง โดยทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำเจตจำนงร่วมในการเสริมสร้างเสถียรภาพของภูมิภาค ผ่านความร่วมมือในระดับยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม

จุดยืนร่วมและความร่วมมือเชิงปฏิบัติ

ทั้งไทยและเวียดนามได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกันในการส่งเสริม “สันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา” บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นข้อพิพาททางทะเลและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การแลกเปลี่ยนคณะ การฝึกร่วมระหว่างเหล่าทัพ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ถือเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพ

ที่สำคัญ พลเอกทรงวิทย์ได้แสดงความชื่นชมในนโยบาย “Four No’s” ของเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วย:
1. ไม่เข้าร่วมพันธมิตรทางทหาร
2. ไม่เลือกข้างในความขัดแย้ง
3. ไม่อนุญาตให้มีฐานทัพต่างชาติในประเทศ
4. ไม่ใช้เวียดนามเป็นฐานสำหรับการโจมตีประเทศอื่น

แนวนโยบายนี้สอดคล้องกับหลักการของไทยในการไม่แทรกแซงและเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน อันเป็นรากฐานของอาเซียน

มิตรภาพแท้ในเวลาวิกฤต

การเยือนของผู้นำกองทัพไทยในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชายังคงตึงเครียด โดยฝ่ายกัมพูชาได้แสดงท่าทีแข็งกร้าว ขณะที่ไทยเลือกใช้แนวทางเตรียมพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ควบคู่กับการยึดหลักสันติวิธี

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ มิตรภาพจากเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งทั้งในระดับรัฐและกองทัพ จึงมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการส่งสารแห่งความเชื่อมั่นระหว่างกัน แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณต่อภูมิภาคว่า อาเซียนยังยึดมั่นในหลักความร่วมมือ มากกว่าการเผชิญหน้า
ข้อสังเกตเชิงยุทธศาสตร์

การกระชับสัมพันธ์ไทย–เวียดนามทางทหารในเวลานี้ อาจตีความได้ว่าเป็นการเสริมแนวหลังของไทย ในขณะที่แนวหน้าเผชิญกับการท้าทายจากเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงใต้ การมีพันธมิตรที่เชื่อถือได้เช่นเวียดนาม จึงเป็นทั้งกลยุทธ์การสร้างดุลอำนาจ และกลไกการคานอิทธิพลที่กำลังขยายตัวจากภายนอกภูมิภาค

บทสรุป
ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศเลือกใช้นโยบายแข็งกร้าว ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและเวียดนามแสดงให้เห็นว่า “การทูตทางทหาร” ยังสามารถเป็นสะพานเชื่อมของมิตรภาพ ความมั่นคง และสันติภาพ

> ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน... พันธมิตรที่ไว้ใจได้ คือเสาหลักที่ไม่มีเสียง แต่หนักแน่นยิ่งกว่าคำพูดใด

อนาคต!! ‘พรรคประชาธิปัตย์’ โจทย์ยาก!! ของกรรมการบริหาร พรรคเก่าแก่!! แต่สมาชิกโบกมือบ๊ายบาย เพราะหมดศรัทธา

(6 ก.ค. 68) น่าสนใจยิ่งต่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ว่าอนาคตจะเดินต่อไปอย่างไร หรือพอแค่นี้

การออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ของ “เดชอิศม์ ขาวทอง”ในวันเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยไทย

“ใครรับมติพรรคไม่ได้ก็ต้องออกไป และในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคไม่มีเอกภาพ ก็จะไม่มีชื่อเดชอิศม์ ขาวทอง อยู่ในพรรค”

เดชอิศม์ ขาวทอง พูดในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำพาพรรคถดถอยมาเรื่ิอยๆ พร้อมกับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค

“นิพนธ์ บุญญามณี” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสยเต็มคางของเดชอิศม์ว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์ดั่งเดิม เลือดแท้ รับไม่ได้กับมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่นิพนธ์เรียกว่า “มติโจร”

ระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ว่าด้วยการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่ง จะต้องผ่านหลายขั้นตอน

1.ประชุม สส.คัดเลือกมา
2.ประชุมคณะกรรมการบริหาร
3.ประชุมร่วม สส.และคณะกรรมการบริหาร

ในการปรับ ครม.ของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” พรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวบุคคลผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนแล้วหรือยัง หรือข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปหรือไม่

ลองมาวิเคราะห์กันเล่นๆว่า ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร และจะเดินต่อไปอย่างไร ในภาวะที่ “เดชอิศม์”จะไม่แคร์ต่อการเดินออกไปของสมาชิก “เป็นช่วงรีเซต” คือคำกล่าวอ้างของเดชอิศม์

1. มีมติชัด “ร่วมรัฐบาลแพทองธารต่อ” แม้เสียงแตกก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์ในการประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2568 มีมติ 19 ต่อ 7 เสียง ให้พรรคยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่นำโดยไม่มีการต่อรองตำแหน่งเพิ่ม แต่ได้เพิ่มมา 1 ตำแหน่ง “แทน-ชัยชนะ เดชเดโช” นั่ง รมช.สาธารณสุข แทน “เดชอิศม์” ที่ขยับไปนั่งช่วยมหาดไทย

2. สมาชิก “เลือดใหม่” ลาออกต่อเนื่อง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (หรือ “ดร.เอ้”) รองหัวหน้าพรรค ลาออกเมื่อ 4 ก.ค.2568 เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ “ไทยก้าวใหม่” โดยมีท่าทีเน้นนโยบายการศึกษา นวัตกรรม

มีอดีต ส.ส. และคนรุ่นใหม่ลาออกอีกหลายราย เช่น “มาดามเดียร์” วทันยา วงศ์โอภาสี หลังจากก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกในระดับผู้ปกครองพื้นที่ทยอยถอนตัวไหลเป็นระลอก

3. แบ่งเป็นสองขั้วภายในพรรคชัดเจน คือฝ่ายกรรมการบริหารสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาล กับฝ่ายผู้อาวุโส กลุ่มอนุรักษ์ ค้านการเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาล

4. แนวโน้มและอิทธิพลมีแนวโน้มลดลง ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคได้ สส.เพียง 25 ที่นั่ง ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 6 ไม่มี สส. ใน กทม. เลย สะท้อนว่าฐานเสียงดั้งเดิมถูกกวาดไปจากพรรคก้าวไกลและกลุ่มอื่น ๆ 

การสูญเสียคนเก่งอย่าง “ดร.เอ้” และ “คุณหญิงกัลยา” จะกดดันภาพลักษณ์และกลยุทธ์จัดระเบียบใหม่ของพรรคไปไม่น้อย และทำให้เกมยากขึ้น

5. ความท้าทายในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับมือกับการขาดเลือดใหม่ และตีตรา “พรรคอนุรักษ์นิยม” ที่ไม่เปลี่ยนตัวเองแม้รักษาตำแหน่งในรัฐบาล แต่การไม่มี สส. ใน กทม. และความอ่อนแอบนเวทีระดับชาติ อาจทำให้ไม่เป็นตัวเลือกหลักในอนาคต หากพรรคใหม่ที่คนรุ่นใหม่ตั้งขึ้น (เช่น ไทยก้าวใหม่) ดึงคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นต่อไป อาจยิ่งลดอำนาจของพรรคเก่าไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

โดยสรุปภาพรวมพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้อยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ชัดเจน ยังคงมีอำนาจผ่านการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่มี “เลือดใหม่” ทยอยลาออก ด้านภายนอก พรรคถูกจัดว่ายังไม่สามารถปรับภาพลักษณ์ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ และมีความเสี่ยงสูงในสนามเลือกตั้งหน้าถ้าไม่รีบปรับตัว

ภาคใต้ฐานเสียงใหญ่ของประชาธิปัตย์อาจไม่เหลือร่องรอยให้เชยชมอีกต่อไปก็ได้ ถ้า “มึงกับกู”ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง

‘ดุสิตโพล’ ชี้!! คนไทยคาดหวัง ‘ม็อบ’ กดดันผู้นำรัฐบาล ‘ลาออก-ยุบสภา’ เปิดทางแก้ปัญหาโดยใช้ ประชาธิปไตย

(6 ก.ค. 68) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองในสายตาคนไทย 2568” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,167 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16  ทั้งนี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจประชาชนมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงมีแต่ไม่ได้เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามักตามมาด้วยผลเสียมากกว่าประโยชน์ของประชาชน แม้รัฐประหารเคยถูกมองว่าเป็นทางออกในบางช่วงเวลา แต่บทเรียนที่เจ็บปวดจากหลายครั้งหลายหน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 กิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  และท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย  ต่อปัญหาดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนสอดคล้องกับผลสำรวจที่เชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นไปตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา

รัฐบาล เชิญร่วมงาน!! มหกรรม Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SPLASH – Soft Power Forum 2025 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 8-11 ก.ค.

(6 ก.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม จัดงาน Soft Power  ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “SPLASH – Soft Power Forum 2025” ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00-20.00 น. Hall 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาและอนุกรรมการทุกสาขา โดยประสานพลังภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายนานาชาติ ร่วมจัดงานขึ้น

ฃรัฐบาลเชิญชวนประชาชนมาร่วมสัมผัสปรากฏการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด “โอกาสประเทศไทยในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ซึ่งเปรียบเสมือน “สายน้ำแห่งโอกาส” ที่กำลังหล่อเลี้ยงทุนวัฒนธรรมไทยให้เติบโตสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน ผ่านการผนึกกำลังของ 14 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอีกหนึ่งหัวใจของงานอยู่ที่ Visionary Stage ซึ่งรวบรวม "ผู้รู้จริง" แนวหน้าจากไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันประสบการณ์สร้าง “มูลค่าทางวัฒนธรรม” ให้ทรงพลัง รวมถึง "ผู้นำ" ที่ร่วมขึ้นเวทีแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นอย่างคับคั่ง อาทิ ในวันที่ 8 ก.ค. 14.00-15.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.วัฒนธรรม จะกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “Thailand Rising: Tourism, Education and the New Soft Power Frontier” วันที่ 9 ก.ค. 13.00-14.00 น. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Crafting the Future: From OTOP to ThaiWORKS and Beyond” วันที่ 10 ก.ค. 12.45-13.45 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ร่วมเสวนากับ “บัวขาว” บัญชาเมฆ และ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในหัวข้อ “Rethinking Thai Sports in a Disruptive Era”

ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างรอบด้าน งานยังแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 โซนหลัก ได้แก่ 1. Creative Culture Village - โชว์เคส 14 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ตั้งแต่อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น จนถึงการท่องเที่ยว ในรูปแบบอินเทอร์แอ็กทีฟที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ 2. THACCA Pavilion - ศูนย์รวมองค์ความรู้ ยุทธศาสตร์ และเครื่องมือการสร้างแบรนด์ไทยด้วยซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมคำแนะนำเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ 3. Glo-Cal Networking - พื้นที่จับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงนักลงทุนกับผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ สร้างเครือข่ายระดับโลก 4. Workshop & Masterclass - หลักสูตรอบรมภายใต้โครงการ “One Family One Soft Power (OFOS)” เปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษา และผู้ประกอบการเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง 5. Experiential Zone - นิทรรศการเทคโนโลยี “Multisensory Mindfulness Experiences” กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถ่ายทอดประสบการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยแนวใหม่ และ 6. Visionary Stage - เวทีเสวนาระดับโลกที่รวมนักคิดและนักสร้างสรรค์ตัวจริง ก่อเกิดแรงบันดาลใจสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

“สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี เพียงลงทะเบียนล่วงหน้าที่ splash.thacca.go.th ซึ่งภายในงานจะได้รับความรู้ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยถึง 3 ท่าน พร้อมกับร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากซอฟต์พาวเวอร์ไทยแบบครบวงจร” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

‘ชินวัตร–ฮุน’ ละครระหว่าง!! สองตระกูลอำนาจ เดินเรื่องตามกลยุทธ์ที่วางมาแล้ว ใช้ชีวิตปชช.กว่า 100 ล้านคน ในสองประเทศเป็นตัวประกัน ในสงครามผลประโยชน์

(6 ก.ค. 68) ในขณะที่ชายแดนไทย-กัมพูชากำลังปะทุด้วยไฟความขัดแย้ง และเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศสั่นคลอน ท่ามกลางสงครามข่าวสาร สงครามพลังงาน และเกมการเมืองระดับภูมิภาค กลับมีคำถามใหญ่ที่น่ากังวลยิ่งกว่ากระสุนปืนและขีปนาวุธ

ทำไม "ทักษิณ ชินวัตร" จึงเงียบ?
และทำไม "ฮุน เซน" จึงตื่นตัวผิดปกติ?

คำตอบอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากมองในมุม “คนคุมเกม” ที่ไม่จำเป็นต้องออกหน้า ทักษิณในเวลานี้ไม่ใช่แค่นักการเมืองผู้ลี้ภัยกลับบ้าน แต่คือ นักยุทธศาสตร์เบื้องหลัง ที่กำลังกำกับบทละครระหว่างสองตระกูลอำนาจ: ชินวัตร–ฮุน ซึ่งเป็น “กลุ่มผลประโยชน์ร่วม” ที่ผูกโยงด้วยเงินตรา เครือข่ายทุนสีเทา และพันธมิตรธุรกิจ–การเมืองข้ามชาติ

การที่ฮุนเซนออกโรงเดินสาย ทั้งการท้าทายไทยเรื่องแรงงานเขมร บอยคอตพลังงาน และแบนสินค้าไทย เป็นมากกว่าแค่การแสดงจุดยืนทางการเมือง หากคือ “กลยุทธ์ที่วางมาแล้ว” โดยมีทักษิณช่วยประคองเกมรุกของเขมรไม่ให้สะดุด

แม้บอกว่าแบนพลังงานจากไทย แต่ก็สามารถอาศัยคอนเนกชันของทักษิณในการนำพลังงานผ่านเวียดนามเข้าสู่เขมรได้อย่างราบรื่น
แม้บอกว่าแบนสินค้าไทย แต่สินค้าไทยก็ทะลักเข้าผ่านช่องทางลาวและเวียดนามราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
และเมื่อราคาน้ำมันในเขมรถูกกว่าไทย มันก็สะท้อนภาพว่า “การโจมตีเชิงสื่อ” นั้นมีการวางแผนระดับสูง

แต่สิ่งที่ทั้งทักษิณและฮุนเซนลืมไปคือ “ราคาของความยืดเยื้อ” ไม่ได้จ่ายด้วยเงินหรือกลยุทธ์ แต่มันคือ ชีวิตประชาชนกว่า 100 ล้านคน ในสองประเทศที่กำลังถูกใช้เป็นตัวประกันในสงครามผลประโยชน์

ขณะที่ทักษิณมุ่งรักษาอำนาจและประโยชน์ของตระกูล
และฮุนเซนมุ่งรักษาระบอบการสืบทอดอำนาจ

ประชาชนไทยและกัมพูชากลับต้องจมอยู่กับความยากจน วิกฤตหนี้สิน และการไร้อนาคต
นี่คือสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้เกมที่ “ดูเหมือนคุมได้” กลายเป็นระเบิดเวลาที่ไม่มีใครหยุดได้อีกต่อไป

ฝั่งไทย: ทักษิณกำลังสูญเสียความชอบธรรม จากการบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว พันธมิตรกลุ่มทุนเริ่มขาดทุนหนัก เช่น คิงเพาเวอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการไหลออกของแหล่งทุนสีเทาและการกวาดล้างจากสหรัฐฯ

ฝั่งเขมร: ตระกูลฮุนกำลังถูกบีบจากทั้งศัตรูภายใน (เช่น เตีย บัญ – เตีย เสฮา) และศัตรูเก่า (สม รังสี) ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลากฮุนเซนขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในภาพรวมแล้ว เกมที่ทักษิณพยายามจะเล่นให้ได้ชัยชนะสองประเทศ กลับกำลังย้อนกลับมาทำลายศูนย์กลางอำนาจของเขาเอง

คำถามใหญ่: จะยื้อได้นานแค่ไหน??

เมื่อหัวใจของอำนาจคือ “เงิน” และเงินกำลังถูกตัดขาด
เมื่อเสาหลักของอำนาจคือ “ภาพลักษณ์” แต่ภาพลักษณ์กลับกลายเป็น ผู้สนับสนุนอาชญากรรมข้ามชาติ
และเมื่อศัตรูไม่ใช่แค่ฝ่ายค้าน แต่คือ กองทัพ–ประชาชน–องค์กรโลก

คำถามสำคัญคือ
> ทักษิณจะยังสามารถเป็นผู้กำกับละครอำนาจได้อีกนานแค่ไหน??
หรือจะกลายเป็นนักแสดงที่ต้องหนีออกจากเวที...ก่อนม่านจะปิดฉากไปพร้อมกับสองตระกูล?? ...

‘อีลอน มัสก์’ เตรียมจัดตั้ง!! พรรคการเมืองใหม่ หลังมีปัญหาแตกหัก!! ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(6 ก.ค. 68) ‘อีลอน มัสก์’ โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเอ็กซ์ว่าจัดตั้งพรรคอเมริกา (America Party) โดยระบุว่าพรรคนี้เป็นการท้าทายระบบสองพรรคของสหรัฐซึ่งมีพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคอเมริกาจดทะเบียนในสหรัฐอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ และเพราะนายมัสก์เกิดที่แอฟริกาใต้จึงไม่มีสิทธิ์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ นายมัสก์เคยเสนอแนวคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองครั้งแรกในช่วงที่มีปากเสียงกับนายทรัมป์ซึ่งทำให้นายมัสก์ต้องออกจากตำแหน่งในรัฐบาลและเกิดการทะเลาะอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาดังกล่าวนายมัสก์โพสต์สำรวจความคิดเห็นบนเอ็กซ์โดยถามผู้ใช้งานว่าควรมีพรรคการเมืองใหม่ในสหรัฐหรือไม่

และเมื่ออ้างอิงผลสำรวจนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ค. นายมัสก์โพสต์ว่า “ที่อัตราส่วน 2 ต่อ 1 พวกคุณต้องการพรรคการเมืองใหม่และคุณจะได้มัน!” ก่อนเสริมว่า “เมื่อเป็นเรื่องของการทำให้ประเทศล้มละลายด้วยการทุจริต เราอาศัยอยู่ในระบบพรรคการเมืองเดียว ไม่ใช่ประชาธิปไตย วันนี้พรรคการเมืองอเมริกาก่อตั้งขึ้นเพื่อคืนอิสรภาพให้กับคุณ”

รายงานระบุด้วยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของสหรัฐยังไม่ได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าพรรคการเมืองนี้ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ และแม้ว่าจะมีคนดังนอกระบบสองพรรคดั้งเดิมเข้ามาในแวดวงการเมืองสหรัฐ แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้รับความนิยมอย่างแข็งแกร่งในระดับที่จะทำให้สองพรรคใหญ่มีความกังวลได้

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้วนายมัสก์เป็นผู้สนับสนุนหลักของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยทั้งคู่มีความสนิทสนมอย่างมากซึ่งเห็นได้จากกรณีที่นายมัสก์เต้นรำเคียงข้างนายทรัมป์ในการชุมนุมหาเสียง รวมถึงพาลูกชายวัย 4 ขวบไปพบนายทรัมป์ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว

นอกจากนี้นายมัสก์ยังเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญ ทุ่มเงินสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8,000 ล้านบาทเพื่อช่วยให้นายทรัมป์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งนายมัสก์ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกที่เรียกว่า กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล มีหน้าที่ในการระบุการตัดงบประมาณที่สำคัญของรัฐบาลกลาง

ส่วนความขัดแย้งกับนายทรัมป์เริ่มขึ้นเมื่อนายมัสก์ ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลเมื่อเดือนพ.ค. พร้อมวิพากษ์วิจารณ์แผนภาษีและการใช้จ่ายของนายทรัมป์อย่างเปิดเผย ถึงอย่างนั้นกฎหมายที่นายทรัมป์เรียกว่า “big, beautiful bill” หรือร่างกฎหมายที่ยิ่งใหญ่และสวยงามได้รับการอนุมัติอย่างหวุดหวิดโดยสมาชิกสภาและนายทรัมป์เพิ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา

‘นิด้าโพล’ เผย!! ผลสำรวจความคิดเห็นคนไทย มอง!! ‘ฮุนเซน’ เป็นบุคคลไม่น่าไว้วางใจ

(6 ก.ค. 68)  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง ‘ฮุน เซน’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวของสมเด็จ ฮุน เซน ในกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.05 ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามความรู้สึกของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวของสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ในกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 67.63 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 57.25 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ ร้อยละ 44.66 ระบุว่า คำพูดของสมเด็จ ฮุน เซน ไม่มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 40.53 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน กำลังยุให้คนไทยแตกแยกกัน ร้อยละ 25.34 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ต้องการยึดครองดินแดนของไทย ร้อยละ 18.85 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน กำลังแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ร้อยละ 14.12 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน กำลังเปิดเผยความลับเกี่ยวกับการเมืองไทย ร้อยละ 9.31 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศกัมพูชา ร้อยละ 3.36 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวกัมพูชา ร้อยละ 1.30 ระบุว่า คำพูดของสมเด็จ ฮุน เซน มีความน่าเชื่อถือ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อคำทำนายของสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
ที่บอกว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีภายในสามเดือนและรู้ด้วยว่าใครจะเป็นนายกฯ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.05 ระบุว่า ไม่น่าเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 34.12 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำนายมั่ว ๆ ร้อยละ 33.97 ระบุว่า เป็นความพยายามยุให้คนไทยตีกัน ร้อยละ 30.31 ระบุว่า การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ ร้อยละ 25.34 ระบุว่า เป็นการวิเคราะห์ตามสถานการณ์ทางการเมืองไทย ร้อยละ 19.01 ระบุว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ร้อยละ 14.66 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน พูดตามข่าวกรองที่ได้มา ร้อยละ 10.69 ระบุว่า เป็นการเตือนนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และร้อยละ 7.25 ระบุว่า  น่าเชื่อ

'เทพชัย' ซัด!! ‘แพทองธาร-ทักษิณ-เศรษฐา’ ขึ้นเวทีฟอกขาว!! มหกรรมซอฟต์พาวเวอร์

(6 ก.ค. 68) นายเทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thepchai Yong’ กล่าวถึง 3 นายกฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร , นายทักษิณ ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ที่จะขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในงาน SPLASH มหกรรม Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เติบโตเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจและรายได้ใหม่ที่ยังยืน

ระบุว่า “ไม่ต้องเกรงใจใครทั้งสิ้น รัฐบาลชูทักษิณ เศรษฐา อุ๊งอิ๊ง ในเวทีที่เรียกซะสวยหรูว่า SPLASH – Soft Power Forum 2025 ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สัปดาห์หน้า แต่ดูแล้วมันน่าจะเป็นเวที whitewash หรือ “ฟอกขาว” (ด้วยเงินภาษีประชน) ให้กับทั้งสามคนมากกว่า”

ทั้งนี้ งาน ‘SPLASH – Soft Power Forum 2025’ เป็นมหกรรม Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาและอนุกรรมการทุกสาขา โดยประสานพลังภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายนานาชาติ เพื่อยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top