อนาคต!! ‘พรรคประชาธิปัตย์’ โจทย์ยาก!! ของกรรมการบริหาร พรรคเก่าแก่!! แต่สมาชิกโบกมือบ๊ายบาย เพราะหมดศรัทธา
(6 ก.ค. 68) น่าสนใจยิ่งต่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ว่าอนาคตจะเดินต่อไปอย่างไร หรือพอแค่นี้
การออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ของ “เดชอิศม์ ขาวทอง”ในวันเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยไทย
“ใครรับมติพรรคไม่ได้ก็ต้องออกไป และในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคไม่มีเอกภาพ ก็จะไม่มีชื่อเดชอิศม์ ขาวทอง อยู่ในพรรค”
เดชอิศม์ ขาวทอง พูดในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำพาพรรคถดถอยมาเรื่ิอยๆ พร้อมกับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค
“นิพนธ์ บุญญามณี” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสยเต็มคางของเดชอิศม์ว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์ดั่งเดิม เลือดแท้ รับไม่ได้กับมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่นิพนธ์เรียกว่า “มติโจร”
ระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ว่าด้วยการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่ง จะต้องผ่านหลายขั้นตอน
1.ประชุม สส.คัดเลือกมา
2.ประชุมคณะกรรมการบริหาร
3.ประชุมร่วม สส.และคณะกรรมการบริหาร
ในการปรับ ครม.ของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” พรรคประชาธิปัตย์เสนอตัวบุคคลผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนแล้วหรือยัง หรือข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปหรือไม่
ลองมาวิเคราะห์กันเล่นๆว่า ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร และจะเดินต่อไปอย่างไร ในภาวะที่ “เดชอิศม์”จะไม่แคร์ต่อการเดินออกไปของสมาชิก “เป็นช่วงรีเซต” คือคำกล่าวอ้างของเดชอิศม์
1. มีมติชัด “ร่วมรัฐบาลแพทองธารต่อ” แม้เสียงแตกก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์ในการประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2568 มีมติ 19 ต่อ 7 เสียง ให้พรรคยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่นำโดยไม่มีการต่อรองตำแหน่งเพิ่ม แต่ได้เพิ่มมา 1 ตำแหน่ง “แทน-ชัยชนะ เดชเดโช” นั่ง รมช.สาธารณสุข แทน “เดชอิศม์” ที่ขยับไปนั่งช่วยมหาดไทย
2. สมาชิก “เลือดใหม่” ลาออกต่อเนื่อง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (หรือ “ดร.เอ้”) รองหัวหน้าพรรค ลาออกเมื่อ 4 ก.ค.2568 เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ “ไทยก้าวใหม่” โดยมีท่าทีเน้นนโยบายการศึกษา นวัตกรรม
มีอดีต ส.ส. และคนรุ่นใหม่ลาออกอีกหลายราย เช่น “มาดามเดียร์” วทันยา วงศ์โอภาสี หลังจากก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกในระดับผู้ปกครองพื้นที่ทยอยถอนตัวไหลเป็นระลอก
3. แบ่งเป็นสองขั้วภายในพรรคชัดเจน คือฝ่ายกรรมการบริหารสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาล กับฝ่ายผู้อาวุโส กลุ่มอนุรักษ์ ค้านการเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาล
4. แนวโน้มและอิทธิพลมีแนวโน้มลดลง ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคได้ สส.เพียง 25 ที่นั่ง ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 6 ไม่มี สส. ใน กทม. เลย สะท้อนว่าฐานเสียงดั้งเดิมถูกกวาดไปจากพรรคก้าวไกลและกลุ่มอื่น ๆ
การสูญเสียคนเก่งอย่าง “ดร.เอ้” และ “คุณหญิงกัลยา” จะกดดันภาพลักษณ์และกลยุทธ์จัดระเบียบใหม่ของพรรคไปไม่น้อย และทำให้เกมยากขึ้น
5. ความท้าทายในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับมือกับการขาดเลือดใหม่ และตีตรา “พรรคอนุรักษ์นิยม” ที่ไม่เปลี่ยนตัวเองแม้รักษาตำแหน่งในรัฐบาล แต่การไม่มี สส. ใน กทม. และความอ่อนแอบนเวทีระดับชาติ อาจทำให้ไม่เป็นตัวเลือกหลักในอนาคต หากพรรคใหม่ที่คนรุ่นใหม่ตั้งขึ้น (เช่น ไทยก้าวใหม่) ดึงคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นต่อไป อาจยิ่งลดอำนาจของพรรคเก่าไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
โดยสรุปภาพรวมพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้อยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ชัดเจน ยังคงมีอำนาจผ่านการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่มี “เลือดใหม่” ทยอยลาออก ด้านภายนอก พรรคถูกจัดว่ายังไม่สามารถปรับภาพลักษณ์ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ และมีความเสี่ยงสูงในสนามเลือกตั้งหน้าถ้าไม่รีบปรับตัว
ภาคใต้ฐานเสียงใหญ่ของประชาธิปัตย์อาจไม่เหลือร่องรอยให้เชยชมอีกต่อไปก็ได้ ถ้า “มึงกับกู”ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง
เรื่อง : นายหัวไทร