Friday, 5 July 2024
พรรคร่วมรัฐบาล

'บิ๊กตู่' เชื่อไม่มีรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อ! เป็นแค่วาทะการหาเสียง สุดท้ายต้องร่วมมือทำงานเพื่อประชาชน ชี้! หาเสียงดุเดือดเป็นเรื่องธรรมดา

ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ถึงการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพรและเขต 6 สงขลา ที่ระหว่างการหาเสียงมีการโจมตีกันอย่างหนัก ว่า วันนี้การทำงานมีการร่วมมือกันดีอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการเลือกตั้งก็คือการเลือกตั้งก็เป็นลักษณะอย่างนี้มาตลอด พอถึงเวลาเลือกตั้งก็เหมือนจะเกิดความขัดแย้งอะไรต่างๆ แต่การทำงานทุกคนก็ทำงานเพื่อประชาชนมิใช่หรือ พรรคร่วมรัฐบาลท้ายที่สุดก็คือต้องทำเพื่อประชาชน และต้องช่วยรัฐบาลในการทำงาน เพราะเราคือรัฐบาลในฐานะพรรคร่วม 

"ในการหาเสียงผมก็เห็นว่าดุเดือดกันมาแบบนี้ ใครจะชนะหรือแพ้ผมก็ยินดีด้วยกับผู้ชนะเท่านั้นเอง"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ดินเนอร์พรรคร่วมชื่นมื่น ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ โชว์หวาน ย้ำ ‘เศรษฐกิจไทย’ หนุนรัฐบาล 100% ยกเว้น ‘ธรรมนัส’

งานเลี้ยงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลชื่นมื่น ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ โอบเอวโชว์ นายกฯ ยอมรับห่วงสถานการณ์สู้รบกระทบราคาน้ำมัน-สินค้า ขณะ ‘บิ๊กป้อม’ ยันกลางวง พรรคเศรษฐกิจไทย หนุนรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้น ‘ธรรมนัส’

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา บรรยากาศภายในงานเลี้ยงดินเนอร์ พรรคร่วมรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00-21.30 น. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาพร้อมกับ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ติดภารกิจต่างประเทศ 

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนามีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมีรายงานว่า ในวงสนทนาบนโต๊ะอาหารค่ำของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี มีความกังวลชัดเจนถึงกรณีสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันของไทยและสินค้าอีกหลายอย่างตามมา อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน จึงสั่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งไปดูแล

‘ชลน่าน’ ไม่กังวล ‘เสี่ยหนู’ กินข้าวกระชับมิตร ‘บิ๊กป้อม’ ย้ำชัด เป้าหมาย พท.คือจัดตั้ง รบ. ลั่น!! ไม่จับมือสองพรรคนี้

(16 มี.ค. 66) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ภท. และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี รองหัวหน้าพรรค ภท. เข้าพบและร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จะเป็นการคุยกัน เพื่อจับมือจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ว่า ก็ชวนให้คิดได้ เนื่องจากเขาเคยทำงานร่วมกันมา เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน ก็อาจจะมีการร่วมมือกันเพื่อร่วมรัฐบาลเดียวกันหลังเลือกตั้ง เพราะเขาเองก็คงประเมินสถานการณ์มาอยู่แล้ว ว่าเขาน่าจะได้รับคะแนนเสียงมาเท่าไหร่ หากจะมีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันเขาจะต้องทำอย่างไร

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่อาจจะมีการคิดจับมือกันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่กังวล ยิ่งเขาประกาศตัวชัดเจนเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีในการที่จะตัดสินใจของพี่น้องประชาชน หากสองพรรคนี้เขาประกาศว่าหลังเลือกตั้งจะมาจับมือกัน ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เขาก็จะไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า หากพรรค พท.ได้เสียงไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และพรรค พปชร.จับมือกับพรรค ภท. พรรค พท.จะจับมือกับสองพรรคนี้ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ถึงเป้าหมายให้ได้ คือ 310 เสียง การที่เราตั้งเป้าหมายเช่นนั้น เพราะเราไม่ต้องการจับมือกับพรรคที่เป็นแนวร่วมในการยึดอำนาจ พรรคที่สนับสนุนเผด็จการมา เราต้องอาศัยเสียงประชาชนช่วย ฉะนั้น เราจึงต้องทำตรงนั้นให้ถึง

'อนุทิน' ยัน 320 เสียงพรรคร่วมฯ หนุนดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 แต่หากในอนาคตมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็ต้องตรวจสอบ

(24 ต.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกระแสพรรคร่วมรัฐบาลพยายามลอยแพพรรคเพื่อไทย หลังมีกระแสด้านลบเกี่ยวกับเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ยืนยันว่าไม่มีการลอยแพ ตนเองก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่หากในอนาคตมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็ต้องตรวจสอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะมาเป็นนโยบายรัฐบาลไม่ได้ และเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคร่วมจะต้องช่วยกันสนับสนุน แต่ก่อนจะออกเป็นนโยบายจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และการตราเป็นพระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้วเราก็มีหน้าที่ในการทำให้นโยบายของรัฐบาลได้รับการผลักดัน พร้อมย้ำว่าไม่มีการลอยแพอยู่แล้ว แต่อยู่ในเรือนแพ

เมื่อถามว่า กรณีที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าอยากให้เป็นการใช้เงินเฉพาะกลุ่ม จะมีผลกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำมาพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ตามรัฐธรรมนูญและทำได้จริง ขออย่าไปมองว่า มีนโยบายอะไรที่เป็นพิเศษขึ้นมา เพราะนโยบายนี้ถือเป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องมั่นใจว่าการนำไปใช้ ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักกฎหมาย ส่วนที่ขณะนี้มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังขาดเสียงสนับสนุนนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาล 320 เสียง ต้องสนับสนุน 

เมื่อถามว่า ในฐานะคณะรัฐมนตรีหากในท้ายที่สุดนโยบายนี้มีปัญหาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ นายอนุทิน ย้ำว่า นโยบายนี้ไม่ใช่ว่าจะนำออกมาใช้ได้เลย ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา แต่ในขณะนี้ก็ยังสนับสนุนในฐานะเป็นรัฐบาล แต่หากดูแล้วมีอะไรที่เป็นปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ระเบียบ ก็ต้องคุยกันเพื่อหาทางออกให้ได้

‘อนุทิน’ ชื่นชม ‘นายกฯ’ ทำงานเร็ว-ตัดสินใจเฉียบขาด ย้ำ!! ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมหนุนทุกนโยบาย

(19 พ.ย.66) ที่ไบเทคบางนา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 41 และมอบรางวัลสำเภาทอง ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับรางวัล โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รางวัลนี้นอกจากจะเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ ที่แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายอนุทิน กล่าวถึงการทำงานร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าจากการที่ได้ร่วมงานมา 3 เดือน เห็นถึงความพร้อมจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นคนทำงานรวดเร็ว ว่องไว และตัดสินใจเฉียบขาดทุกเรื่องที่ได้รับนโยบายมาก็มีความสบายใจว่านโยบายหรือคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนกับวิถีชีวิตของคนไทยและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ได้นึกถึงเรื่องของพรรคการเมือง ทุกเรื่องคือเรื่องของรัฐบาลในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา เป็นคำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตาม สิ่งที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง

นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในการแถลงนโยบาย ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรี และข้าราชการ ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคปัญหาใดๆ ต้องหาหนทางที่จะแก้ไข และดำเนินการให้นโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาบรรลุผลสัมฤทธิ์ให้ได้ 

“นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจที่จะทำนโยบายให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย มั่นใจว่าภารกิจที่ได้ให้สัญญาเอาไว้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ขอให้คำยืนยันจะให้ความร่วมมือกับนายกรัฐมนตรีในทุกๆ นโยบาย ที่จะทำให้ประเทศเกิดประโยชน์” นายอนุทิน กล่าว

สลายขั้ว การเมืองไทย ‘เพื่อไทย’ ผนึก 2 ลุง เพื่อชาติ

ว่ากันว่าช่วงเวลา 79 วัน ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 66 ถือเป็นช่วงเวลาที่ ‘เพื่อไทย’ น่าจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทางออกประเทศไทย หลังผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้อย่างมากที่สุด

การหักอก ‘ก้าวไกล’ อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่เมื่อเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลที่ยังรั้นกับการดัน 112 แบบสุดซอย ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าทางตันประเทศ ด้วยการตัด ‘ก้าวไกล’ ออกจากสมการทางการเมือง

การประกาศ ‘ถอนตัว’ ของพรรคเพื่อไทยจากเอ็มโอยู และเดินหน้าไปจับขั้วกับพรรคการเมืองที่บรรลุข้อตกลงเดียวกันอย่างชัดเจน คือ ‘ไม่แตะต้อง 112’ จึงเหมือนเป็นการผลักพรรคก้าวไกลให้ต้องไปนั่ง ‘ฝ่ายค้าน’ โดยปริยาย ซึ่งแม้เรื่องนี้จะไม่เกินความคาดหมายของคอการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการสร้างความสมานฉันท์แก่ประชาชนคนไทยที่แตกแยกทางความคิดกันมานานร่วม 2 ทศวรรษ

ว่าแต่ ระหว่าง 79 วันของ ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้าง ที่ทำให้ ‘ความชื่นมื่น’ แปรเปลี่ยนไปสู่การ ‘พลิกขั้ว’ ไปสู่ความเป็นหนึ่งของประเทศชาติ…วันนี้เราจะลองมาทบทวนเหตุการณ์ช่วงนั้นกันดู...

>>เดือนพฤษภาคม 2566

(14 พ.ค. 66) เลือกตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้ 151 เสียง

(15 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงชัยชนะ และพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

(18 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอีก 6 พรรคหารือจับขั้วตั้งรัฐบาล ณ ร้านอาหารย่าน ถ.สุโขทัย เห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากของผลการเลือกตั้งจากประชาชน

(22 พ.ค. 66) นายพิธา พร้อม 7 หัวหน้าพรรคแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลประชาชน ร่วมกับ 8 พรรคการเมือง โดยมีการเซน MOU ร่วมกันตั้ง ‘รัฐบาลก้าวไกล’ จำนวน 23 ข้อ และ อีก 5 ข้อตกลงแนวทางบริหารประเทศ โดยไม่มีการบรรจุ ม.112 ใน MOU ด้วย

(30 พ.ค. 66) หลังการประชุมร่วม 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ‘ชลน่าน-พิธา’ โชว์หวาน ประกบมือเป็นรูปหัวใจ ให้คำมั่นสัญญา ‘เพื่อไทย’ พร้อมล่มหัวจมท้าย ‘ก้าวไกล’ ไม่ว่าจะอยู่สถานะไหน พร้อมลั่น ‘ดีลลับ-ดีลล้วง’ ไม่มี จะมีก็แต่ ‘ดีลรัก’

(24 พ.ค. 66) ‘ก้าวไกล’ เจอดรามาทั้งปมประธานสภาฯ ที่จัดสรรไม่ลงตัวระหว่าง ก้าวไกลและเพื่อไทย

(30 พ.ค.2566) ‘พิธา’ นั่งวงหารือ 8 พรรคร่วม ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ ยังไม่คุยตำแหน่งประธานสภา

>> เดือนมิถุนายน 2566

(2 มิ.ย. 66) นักร้องปมหุ้น ITV อีกหนึ่งนาย อย่าง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นำพยานหลักฐานหุ้น ITV ต่อ กกต. ส่วน ‘พิธา’ ย้ำ!! ไม่หวงปมหุ้น มั่นใจ!! เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้

(9 มิ.ย. 66) กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้อง ปมหุ้นไอทีวี แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามความปรากฏ ม.151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

(27 มิ.ย. 66) นพ.ชลน่าน ยืนยันว่ารัฐบาลข้ามขั้ว จะไม่เกิดขึ้น และเชื่อว่า การเจรจาระหว่างก้าวไกล กับเพื่อไทยจะเป็นไปได้ด้วยดี

(27 มิ.ย. 66) พรรคก้าวไกล เข้ารายงานตัวต่อสภา พร้อมใจสวมเสื้อสกรีนคำว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’

>> เดือนกรกฎาคม 2566

(1 ก.ค. 66) เปิดข้อตกลงร่วม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ สู่การเสนอชื่อ อาจารย์ ‘วันนอร์’ เป็นประธานสภาฯ ส่วนรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นของก้าวไกล และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นของเพื่อไทย

(13 ก.ค.2566) โหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ‘พิธา’ รอบแรกไม่ผ่าน

(14 ก.ค. 66) นพ.ชลน่าน ย้ำไร้แผน 2 เลือกนายกฯ และยืนยัน 8 พรรคต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อหาแนวทางสู้โหวตนายกฯ รอบ 2

(19 ก.ค. 66) โหวตนายกฯ พิธา รอบ 2 ไม่ผ่านมติเสนอชื่อซ้ำ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

(20 ก.ค. 66) นพ.ชลน่าน ยืนยัน 8 พรรคยังจับมือแน่น ไม่คิดข้ามขั้ว คิดแต่เพียงว่า จะวางแผนอย่างไรให้ได้รับเสียงโหวตจากรัฐสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

(22 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุเพื่อหาทางออกให้ประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล

(23 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา หารือทางออกให้ประเทศในการจัดตั้งรัฐบาล

(27 ก.ค.2566) เลื่อนพิจารณาโหวตนายกฯ รอบ 3

(28 ก.ค. 66) พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีโหวตชื่อ ‘พิธา’ รอบ 2

>>เดือนสิงหาคม 2566

(2 ส.ค. 66) นพ.ชลน่าน แถลงปิดฉากความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการฉีก MOU ทั้ง 2 ฉบับ พร้อมให้ก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน และเสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ซึ่งได้เสนอในวันที่ 4 ส.ค.

(3 ส.ค. 66) ศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนพิจารณาคำร้องเสนอชื่อ ‘พิธา’ โหวตนายกฯ รอบ 2 โดยให้เลื่อนเป็นวันที่ 16 ส.ค. เวลา 09.30 น. ตามมาด้วยเวลา 14.00 น. ‘วันนอร์’ สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 ขณะที่พรรคเพื่อไทย เลื่อนแถลงจับขั้วตั้งพรรครัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล

(21 ส.ค. 66) พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัว 11 พรรคร่วมรัฐบาลรวม 314 เสียงอย่างเป็นทางการ ก่อนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม โดยมีพรรค ‘2 ลุง’ ร่วมด้วยตามคาด

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้เข้าร่วมการแถลงข่าว แต่ส่งนายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และนายไผ่ ลิกค์ กรรมการบริหารพรรค มาร่วมแทน

หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรทางการเมืองยืนยันว่า จะเสนอชื่อ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยต่อที่ประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. และมั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบของ สส. และ สว.

(22 ส.ค. 66) บทสรุปของผลการลงคะแนน...
- เห็นชอบ 482 เสียง
- ไม่เห็นชอบ 165 เสียง
- งดออกเสียง 81 เสียง
- ไม่เข้าประชุม 19 เสียง

และนี่คือห้วงเวลาสำคัญของประเทศไทยในช่วงปีที่ 2566 ภายใต้มิติการเมืองไทย ‘สลายขั้ว’ ที่เชื่อว่าหลายคน ‘สมหวัง’ และหลายคนก็คง ‘ผิดหวัง’ กันไปตามระเบียบ

'กรณ์' เชื่อ!! กู้เงินแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่เกิด ชี้!! หากทำได้ 'เพื่อไทย' ได้ประโยชน์คนเดียว

(23 ม.ค. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นถึงโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลมีเป้าหมายกู้เงิน 5 แสนล้านมาใช้ในโครงการดังกล่าว โดยฟันธงว่า การกู้เงินมาเพื่อ ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ คงไม่เกิดแล้ว แม้ว่าทางรัฐบาล (จริงๆ คือพรรคเพื่อไทย) ยังจะวางท่าทีขึงขังเหมือนจะเดินหน้าต่อก็ตาม

นายกรณ์ กล่าวว่า ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศออกมาก่อนเลือกตั้ง ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่ต่างกับผู้คัดค้านอีกหลายท่าน ทั้งในแง่การเมือง (การหาเสียงแนวนี้มีแต่จะทำให้การเมืองแย่ลง) แง่เศรษฐกิจ (เป็นการใช้เงิน (กู้) ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ) และแง่กฎหมาย (รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ชัดเจนมากว่าทำไม่ได้)

นายกรณ์ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวได้ถอยจากการเมืองมาแล้ว ก็ไม่อยากออกตัวมากมาย แต่บางเรื่องที่ถือว่าพอมีความรู้และประสบการณ์ และเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่หลวงกับบ้านเมือง และมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงขอแสดงออก ส่วนจะผิดถูกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจเองอยู่ดี

"หลังจากที่ได้อ่านความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผมสรุปได้เลยว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผลสรุปว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่อยู่ในเกณฑ์วิกฤต เมื่อไม่วิกฤตก็ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 53 พรบ.วินัยทางการคลังที่จะออกกฎหมายกู้เงินแบบ 'นอกงบประมาณ' ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช. สรุปตามนี้ หากรัฐบาลเดินหน้าต่อไปจะเสี่ยงมาก อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเขาอาจจะยังกล้าเดินหน้า... แต่ผมไม่คิดว่าพรรคร่วมจะเอาด้วย" นายกรณ์ ระบุ

พร้อมระบุอีกด้วยว่า "ทางการเมืองนโยบายนี้เป็นของเพื่อไทย ไม่ใช่ของพรรคอื่น ถ้าทำได้และทำดี พรรคเดียวที่ได้ประโยชน์คือเพื่อไทย อันนี้ต่างกับนโยบายอื่นที่ก็มีคนคัดค้านมากมายเหมือนกัน เช่น Land Bridge เพราะนโยบายนี้พูดไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ จึงมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่ภูมิใจไทยที่มีความเป็นพรรคภาคใต้มากขึ้นก็ไม่อยากค้านเรื่องนี้ ประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านยังไม่มีท่าทีเรื่องนี้ที่ชัดเจนเลย แต่แจกเงินดิจิทัลนี้ หากล้มไปตอนนี้ผมเชื่อว่าพรรคร่วมแทบทุกพรรคจะถอนหายใจโล่งอก หนึ่งไม่ต้องเสี่ยง สองปัญหาตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่ถ้าล้มหลังผ่าน ครม. หรือผ่าน สภาฯ ไปแล้ว พรรคร่วมจะมีปัญหาด้วย เพราะต้องร่วมรับผิดชอบ" 

อดีต รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ในกรณี พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะตอนนั้นยุบสภาไปแล้ว และรัฐบาลอยู่ในสภาพรักษาการ ที่สำคัญ ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องร้องเรียน พ.ร.บ.ฉบับนั้น กับศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยื่นด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันนักกับข้อสรุปล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็คือการออก พ.ร.บ.ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนจำเป็นทำไมได้ ต้องใช้เงินใน พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น (ซึ่งตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยเองก็ยืนยันว่าจะทำตามนั้น) และที่สำคัญผู้ที่ร่วมลงนามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวันนั้น มีทั้งสส. ทั้งรัฐมนตรี และรวมไปถึงแม้แต่หัวหน้าพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน

"ดังนั้นผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่ได้ไปต่อ เพราะท่านเหล่านั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า การออก พรบ.กู้เงินลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ วันนี้มี พรบ.วินัยทางการคลังมายํ้าประเด็นเพิ่มเติม และยังมีความเห็น ปปช. ที่ไม่เห็นด้วยอีกต่างหาก...

"ผมคิดว่าเพื่อไทยคงหาทางลงอยู่ จริงๆ แล้วก็แค่บอกว่า เราเคารพความเห็นและความกังวลของทุกฝ่าย เราจะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีอื่น โดยเราจะให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน การฟื้นฟูการลงทุน การยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย และการส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมในทุกภาคธุรกิจ...

"ผมว่าถ้าออกมาอย่างนี้ รัฐบาลจะไปต่อได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าดันทุรัง รัฐบาลจะมีปัญหา ซึ่งหมายความว่าประเทศก็จะมีปัญหา ยิ่งจบเร็วยิ่งจะมีผลเสียน้อยกับทุกฝ่ายครับ" นายกรณ์ ทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top