Thursday, 15 May 2025
NewsFeed

‘ฉางอาน’ เข้าพบนายกฯ ลุยตั้งศูนย์ R&D ดันไทยเป็นฐานผลิตรถ EV พวงมาลัยขวา

บริษัทฉางอาน ออโต้โมบิล (CHANGAN) เตรียมเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีนอย่างเป็นทางการในไทย วันที่ 16 พฤษภาคมนี้ พร้อมวางแผนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์พวงมาลัยขวา และจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย เพื่อดูแลตลาดเอเชียแปซิฟิก เพิ่มการจ้างงานคนไทยกว่า 2,000 คน

นายจู ฮวาหลง ประธานบริษัท พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าพบนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เพื่อหารือแนวทางขยายการลงทุน โดยมีเลขาธิการบีโอไอร่วมให้ข้อมูลถึงแผนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรไทย ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและผู้ผลิตชิ้นส่วนท้องถิ่น

โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่นิคม WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง มีกำลังผลิตเริ่มต้น 100,000 คันต่อปี ตั้งเป้าใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 65% ภายในปีนี้ และเพิ่มเป็น 80% ภายในปี 2571 โดยได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอกว่า 10,000 ล้านบาทในเฟสแรก

บีโอไอระบุว่าแผนจัดตั้งศูนย์ R&D ครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิต และสร้างโอกาสให้แรงงานทักษะสูงของไทยเติบโตไปกับอุตสาหกรรม EV ระดับภูมิภาค

ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

(14 พ.ค. 68) นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานอาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก Realm of Flavor: Inspiring the Future of Global Tourism and Hospitality  และมอบนโยบาย การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้บริหาร และผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม Hall 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า 
การท่องเที่ยวและบริการมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการมีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ 

ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ตลอดจนช่วยกระจายรายได้ สร้างงาน และสร้างโอกาสให้กับประชาชนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่พัก ขนส่ง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและบริการยังมีส่วนช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจอีกด้วย

อาหารไทยเป็นหนึ่งใน “Soft Power” สำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยที่สร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ยากจะลืมให้แก่นักท่องเที่ยวไปทั่วโลกประเทศไทยมีความหลากหลายของอาหารในแต่ละภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ที่มีรสชาติและวัตถุดิบเฉพาะตัวที่ กลายเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดใจและมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การเรียนทำอาหารไทย การเยี่ยมชมตลาดสด หรือการเข้าร่วมเทศกาลอาหาร ซึ่งล้วนเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี

การจัดงาน “อาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก” ในครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งในระดับชาติและระดับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐาน ที่ผสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างภาคีเครือข่ายหน่วยงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้สามารถมองเห็นถึงการต่อยอด โอกาส และความเชื่อมโยง กับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านความเชี่ยวชาญด้านอาหารของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีจุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนแห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2477 และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 80 ปี จนกระทั่งกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปัจจุบันที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศใน
อัตลักษณ์ 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร การศึกษาปฐมวัยอุตสาหกรรมการบริการ การพยาบาลและสุขภาวะ และกฎหมายและการเมือง ตลอดจนการมุ่งพัฒนาเชิงพื้นให้บริการตามความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี นครนายก ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ และลำปาง

การจัดงาน “อาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก” ในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่เกิดจากการบูรณาการอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งใน 2 ด้านเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ อัตลักษณ์ด้านอาหาร และอัตลักษณ์อุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในมิติของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายที่มีอาหารและเครื่องดื่มท้องถิ่น เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมการกิน การดื่ม ตลอดจนการผลิตที่ร้อยเรียงมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ 

หวังว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานอาณาจักรแห่งรสชาติ: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก เกิดขึ้นจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ความร่วมมือด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานเขตดุสิตสำนักงานเขตบางพลัด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) และ Hub of Talents in Gastronomy Tourism

โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการจัดงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นและหลากหลายของอาหารไทย อันเป็นรากฐานที่สำคัญของการท่องเที่ยวและการบริการ เพื่อสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและภาคีเครือข่าย
เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและภาคีเครือข่ายในด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจากวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังที่กล่าวมาข้างต้น 

จึงได้แบ่งการจัดกิจกรรมภายในงานออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1. การเสวนา “Flavours of Experience: Serving Thailand’s New Tourism and Hospitality” โดยวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 
2. การจัดนิทรรศการ “การท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและภาคีเครือข่ายจำนวน 11 หน่วยงาน
3. การจัดนิทรรศการ Street Food โดยนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและบริการ และศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
4. การจัดนิทรรศการ “อาณาจักรแห่งรส: การบรรจบของนวัตกรรมและรากวัฒนธรรม” นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของสำรับอาหารไทย

กรมการขนส่งทหารเรือจัดพิธีเปิดการฝึกหลักสูตรอาชีพทหารกองประจำการ ประจำปีงบประมาณ 2568

(14 พ.ค. 68) พลเรือตรี ศุภสิทธิ์  บูรณะโอสถ เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกหลักสูตรอาชีพทหารกองประจำการ ประจำปีงบประมาณ 2568 ในหลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ โดยมีส่วนราชการที่เข้าร่วม ประกอบด้วย คณะกรรมการพัฒนาอาชีพทหารกองประจำการกองทัพเรือ (คพท.) และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๑ สมุทรปราการ (สพร.๑ สป.) ณ ห้องประชุม อาคารอเนกประสงค์ กองรถยนต์ กรมการขนส่งทหารเรือ
การจัดหลักสูตรการฝึกอาชีพฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้การซ่อมรถจักรยานยนต์ อาทิ การถอดใส่ล้อและยาง ปะยาง เปลี่ยนซีลโช้คอัพและน้ำมันโช้ค รวมถึงการบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพหลังปลดประจำการต่อไป

#กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ
#เทิดทูนสถาบัน_ป้องกันรัฐ_พัฒนาชาติ_ราษฎร์ศรัทธา
#ถูกต้อง_ถูกระเบียบ_ถูกกฎหมาย_ถูกใจผู้รับบริการ
#กรมการขนส่งทหารเรือ

กอ.รมน. เดินหน้าสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังอาชญากรรมข้ามชาติในขอนแก่น ดึงประชาชนร่วมป้องกันภัยใกล้ตัว

(14 พ.ค. 68) พลโท ชนินทร์ สิงหนาทนิติรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 (ศปป.3) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนอาชญากรรมข้ามชาติ ณ โรงแรมแก่นนคร โฮเต็ล อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13–15 พฤษภาคม 2568

การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 90 คน ประกอบด้วยสมาชิกอาสาสมัครพิทักษ์สันติ (อผศ.) ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยจากอาชญากรรมข้ามชาติที่อาจแฝงตัวอยู่ในสังคม พร้อมส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการเป็น “หูเป็นตา” ให้กับภาครัฐ

พลโท ชนินทร์ กล่าวในการเปิดงานว่า “ภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติมีความซับซ้อนและแฝงตัวในรูปแบบต่าง ๆ การมีประชาชนเป็นแนวร่วมจะช่วยให้การเฝ้าระวังและการป้องกันเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ในการสร้างเกราะป้องกันให้กับชุมชน และเสริมสร้างความมั่นคงภายในประเทศอย่างยั่งยืน

สมุทรปราการ-พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ถวายแด่เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง

(14 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ถวายแด่ พระสงฆ์ที่ได้รับการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระราชาคณะ จำนวน 1 รูป ดังนี้ พระวชิรคณาทร (จรูญ ฐานธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง

ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะให้พระสงฆ์ โดยทรงพระราชดำริว่าซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา สมควรได้เลื่อนอิสริยฐานันดรในสมณศักดิ์สูงขึ้น  ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

โดยทรงพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช แด่พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) ดร. เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เป็นพระวชิรคณาทร (จรูญ ฐานธมฺโม) ท่านเจ้าคุณแจ้ ณ อุโบสถวัดบางพลีใหญ่กลาง 

โดยมี พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ หัวหน้าส่วนราชการ คณะไวยาวัจกรวัดบางพลีใหญ่กลาง คณะครู คณะแพทย์ ทหาร ตำรวจ และศิษยานุศิษย์ ร่วมให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังมีคณะสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จากวัดต่างๆ ร่วมแสดงมุทิตาสักการะแด่ พระวชิรคณาทร (จรูญ ฐานธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ณ อุโบสถวัดบางพลีใหญ่กลาง 


 

มุกดาหาร​ -​ด่านศุลกากรมุกดาหารเข้ม จับคนขับรถบรรทุกลักลอบนำยาบ้าข้ามสะพานมิตรภาพ 2

เมื่อวันที่ (13 พ.ค.68) สืบเนื่องจากนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ ทปษ.ด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร และนาวสาวลลิตา อรรถพิมล ผอ.ศภ.2 มีนโยบายให้เข้มงวดในการตรวจสอบการกระท่าความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

นายกรณ์ชัย ปัญญาวัฒนพงศ์ นายด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้รับข้อมูลว่าจะมีการลักลอบนำยาบ้าเข้ามาในราชอาณาจักรจึงได้สั่งการให้ นายสานุ ศิลปไชย ผู้อํานวยการ ส่วนควบคุมทางศุลกากร และนายปริญญา ผลมั่ง หัวหน้าฝ่ายควบคุมและตรวจสอบทางศุลกากร ร่วมกับ ร้อยทหารพรานที่ 2105 ฉก.ทพ.21 ด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหาร และ ตชด.234 ทำการตรวจค้นรถบรรทุกต้องสงสัย ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 70-1187 / 70-1188 นครพนม ขณะแล่นมาจอดที่บริเวณช่องขาเข้าด่านพรมแดนมุกดาหาร สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต )พบยาบ้าบรรจุในถุงพลาสติกซุกซ่อนบริเวณที่ใส่ของด้านขวาข้างประตูผู้ขับขี่ รวมจำนวน 372 เม็ด เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวนายปองคุณ แซ่หว่อง อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 325 หมู่ที่ 5 ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ผู้ขับขี่ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

รมว.ทส. ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ พร้อมผลักดัน สวนสัตว์แห่งอนาคต เป็นแหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ระดับสากล

เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.68) วลา 15.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยมี รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นางจงกลนี แก้วสด รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รักษาการแทน ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน ให้การต้อนรับ

สวนสัตว์แห่งใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็น สวนสัตว์แห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการเรียนรู้ระบบนิเวศในรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “Biodiversity Park” ซึ่งจำลองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์แต่ละชนิดอย่างใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของสัตว์กับประสบการณ์ของผู้เข้าชม 

การออกแบบสวนสัตว์ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิประเทศของทุ่งรังสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงของภาคกลาง โดยนำมาปรับใช้เป็นภูมิทัศน์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเป็น ส่วนจัดแสดงสัตว์รูปแบบใหม่ ที่ไม่มีสิ่งกั้นขวางสายตา เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด เสมือนเข้าไปอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ตามแนวความคิดที่เชื่อมโยง “คน – สัตว์ – ธรรมชาติ” เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ การจัดแสดงสัตว์ในแต่ละโซนจะถูกออกแบบให้สัตว์สามารถมองเห็นกันได้เหมือนอยู่ในพื้นที่เดียวกันตามธรรมชาติ โดยใช้แนวกั้นธรรมชาติ เช่น คูแห้ง คูน้ำ หรือระดับพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแบ่งโซนอย่างปลอดภัย ไม่ให้สัตว์ข้ามเขตกันได้ ทั้งยังคงบรรยากาศที่เสมือนจริงและไม่กระทบต่อประสบการณ์ของผู้เข้าชม

สวนสัตว์แห่งใหม่นี้จึงไม่ใช่เพียงสถานที่ชมสัตว์ แต่เป็น “พื้นที่แห่งการเรียนรู้ มีชีวิต” ที่เชื่อมโยงผู้คนให้เข้าใจและเห็นคุณค่า ของธรรมชาติ เป็นห้องเรียนสิ่งแวดล้อมในระดับสากล ที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย (Lifelong Learning)

ภายในโครงการยังมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ครอบคลุมตั้งแต่ระบบจำหน่ายและจองตั๋วล่วงหน้า ไปจนถึงระบบบริหารจัดการสวนสัตว์ พร้อมด้วยศูนย์ข้อมูลที่รองรับการจัดเก็บและปกป้องข้อมูลของสวนสัตว์อย่างปลอดภัย “สวนสัตว์แห่งใหม่ของประเทศไทย” แห่งนี้จึงเป็นต้นแบบใหม่ของการอนุรักษ์และการเรียนรู้ ที่ผสานเทคโนโลยี นิเวศวิทยา และประสบการณ์เสมือนจริงไว้ในที่เดียว

โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ในกรอบวงเงิน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,974.๖๔๗,๘๕๘ ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,545,332,100 บาท ระยะที่ 2 เป็นจำนวนเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 4,340,156,437 บาท ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการในปี 2569 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2572

โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ โดยจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการเรียนรู้ ผ่านการส่งเสริมให้นักเรียนและประชาชนเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชม พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “สวนสัตว์สีเขียว” (Green Zoo) ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สวนสัตว์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ประชาชนสามารถมาใช้พักผ่อนและออกกำลังกาย อีกทั้งยังเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าทั้งในและนอกถิ่นอาศัย และ ในด้านการท่องเที่ยว สวนสัตว์แห่งใหม่นี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชน ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. กล่าว

‘เอกอัครราชทูตจีน’ ร่วมสัมมนาวุฒิสภาไทย ย้ำสร้างประชาคม ‘จีน-ไทย’ ฉลอง 50 ปี สัมพันธ์การทูต

เมื่อวันที่ (13 พ.ค.68) เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหาน จื้อเฉียง ได้รับเชิญเข้าร่วมและกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาเรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก และบทบาทของจีน: โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยวุฒิสภาไทย โดยมีคุณมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และสมาชิกวุฒิสภาเกือบ 100 คนเข้าร่วม

ทูตหานได้กล่าวถึงจุดยืนของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลก โดยเน้นย้ำความสำคัญของความยุติธรรม การคัดค้านการใช้อำนาจในทางที่ผิด และการรักษาระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมแสดงความตั้งใจของจีนในการแบ่งปันโอกาสในการพัฒนาแก่ทุกประเทศ รวมถึงไทย โดยถือโอกาสวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน

ด้านประธานและรองประธานวุฒิสภาไทยกล่าวชื่นชมบทบาทของจีนในเวทีโลกและย้ำว่ารัฐสภาไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน โดยสนับสนุนความร่วมมือในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศในระยะยาว

(สุรินทร์) มทบ.25 มอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของกำลังพล เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพลและครอบครัว

เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.68) พลตรี ไชยนคร กิจคณะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พร้อมด้วย คุณสายธาร กิจคณะ ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 25 และคณะนายทหาร มณฑลทหารบกที่ 25 มอบทุนการศึกษาเรียนดีให้กับ บุตรข้าราชการ, ลูกจ้าง และพนักงานราชการ ประจำปี 2568 ณ สโมสรค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ มีจำนวน 146 ทุน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้  

ทุนระดับชั้นประถมศึกษา ถึง มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 107 ทุนๆ ละ 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 160,500 บาท ทุนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึง อนุปริญญา จำนวน 24 ทุนๆ ละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 48,000 บาท ทุนระดับปริญญาตรี 15 ทุนๆ ละ 2,500 บาท รวมเป็นเงิน 27,500 บาท รวมทุนทั้ง 3 ระดับ เป็นเงินทั้งสิ้น 246,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริม และกระตุ้นให้บุตรของกำลังพล ตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน มีความภาคภูมิใจในผลการเรียน เพื่อเป็นอนาคตที่สำคัญของครอบครัว, สังคม และประเทศชาติต่อไป

นายกฯ ยืนยันยังไม่ยกเลิก ‘เงินดิจิทัลเฟส 3’ ขอเวลาคิด พร้อมเปิดรับข้อเสนอเปลี่ยนรูปแบบแจกเงิน

(15 พ.ค. 68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 สำหรับกลุ่มอายุ 16-20 ปียังไม่ถูกยกเลิก แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลอาจต้องทบทวนเพื่อรับมือกับนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตั้งภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยไว้สูงถึง 36% โดยระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และจะประกาศข้อสรุปเมื่อได้ข้อยุติ

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รัฐบาลยังคงมุ่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยังไม่ตัดสินใจยกเลิกโครงการใด พร้อมเปิดรับข้อเสนอ เช่น การปรับรูปแบบการแจกเงินให้คล้ายโครงการ 'คนละครึ่ง' เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อถูกถามว่าโครงการจะดำเนินต่อในรูปแบบใด และหากยกเลิกจะกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีไม่ตอบในประเด็นนี้ แต่ย้ำว่าทุกนโยบายต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และครอบคลุมทุกช่วงอายุ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top