Sunday, 11 May 2025
NewsFeed

กรมศิลปากรเตรียมแผนบูรณะ พระพุทธรูป 696 ปี วัดพระบรมธาตุฯ ชัยนาท หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเขตประเทศเมียนมา

(30 มี.ค. 68) หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในเขตประเทศเมียนมา ได้มีการตรวจสอบความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบว่าพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานภายในวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จังหวัดชัยนาท ได้รับความเสียหาย โดยมีรอยร้าวปรากฏเป็นทางยาวบริเวณด้านหลังและแขนขวาขององค์พระ

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอายุยาวนานกว่า 696 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง และถือเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พบมีรอยแตกร้าวเป็นแนวยาวที่บริเวณด้านหลัง ตั้งแต่ต้นคอถึงกลางหลัง ยาวกว่า 2 เมตร และที่ใต้ศอกขวา และแขนขวาแตกร้าวยาวกว่า 1 เมตร
โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีความลึกและอาจส่งผลต่อโครงสร้างขององค์พระในระยะยาว

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานศิลปากรที่ 4 สุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เพื่อประเมินแนวทางการบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับพระภิกษุและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันดูแลและป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น

หลังมีข่าวความเสียหายของพระพุทธรูปแพร่ออกไป มีประชาชนและผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมายังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อกราบไหว้สักการะและขอพร พร้อมร่วมกันถวายปัจจัยเพื่อสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมองค์พระให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง

ทางกรมศิลปากรยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์นี้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ศิลปกรรมดั้งเดิมให้มากที่สุด และจะเฝ้าระวังโบราณสถานอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ทางวัดพระบรมธาตุวรวิหารยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ตามปกติ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ที่เข้าชมปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย

‘เอกนัฏ’ สั่งตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้นในตึก สตง. ถล่มหลังแผ่นดินไหว หวั่นใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน เตรียมขยายผลไปยังโรงงานผลิตที่เกี่ยวข้อง

(30 มี.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมงานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บหลักฐานที่จุดเกิดเหตุบริเวณตึก สตง. ที่ถล่ม ซึ่งหากพบว่าผู้ก่อสร้างใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงขยายผลไปยังโรงงานผลิตเหล็กที่เกี่ยวข้องด้วย

นายพงศ์พลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบแบบแปลนโครงสร้างตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างมีความสูงถึง 30 ชั้น คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (เหล็กเส้นกลมมีบั้ง) ขนาด DB16, DB20, DB25 ในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของเสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน ซึ่งหากมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างอาคารในกรณีที่มีแรงกระแทกหรือแผ่นดินไหว

การผลิตและจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะอาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเอกนัฏได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้มาโดยตลอด

โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติไปแล้วถึง 7 ราย ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และพบเหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และ SD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 24-2559 จากการทดสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างทั่วประเทศ

ชาวเน็ตชื่นชม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างซีคอนฯ อาสาพาลูกค้ากลับบ้าน หลังแผ่นดินไหวทำจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ

(30 มี.ค. 68) จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านด้วยความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความวุ่นวายยังมีเรื่องราวดีๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับสังคม

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chaiyaporn Chinaprayoon ได้แชร์ภาพและข้อความชื่นชมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ที่อาสานำมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวออกมาช่วยรับ-ส่งลูกค้าที่ติดอยู่ภายในห้างฯ และบริเวณใกล้เคียงจนถึงช่วงดึก เพื่อให้ทุกคนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

“ลูกค้าไม่ท้อ รปภ. ไม่ทิ้ง” เฟซบุ๊กของ Chaiyaporn Chinaprayoon โพสต์ข้อความดังกล่าว สะท้อนถึงน้ำใจของเจ้าหน้าที่ที่อาสาขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกค้าโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าหลายคนที่ได้รับความช่วยเหลือเข้ามาเขียนข้อความขอบคุณทีมงานรักษาความปลอดภัยของห้างฯ ที่ทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนในช่วงเวลาคับขัน

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลอย่างมาก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและชื่นชมเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่แสดงออกถึงความมีน้ำใจและจิตอาสา หลายคนมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความมีน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือกันแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ดีงามของคนไทย ที่ไม่ทอดทิ้งกันแม้ในยามวิกฤติ

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ประกาศหยุดสู้รบ 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว

(30 มี.ค. 68) กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยและองค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเนปิดอว์ ภาคซะไกง์ และภาคมัณฑะเลย์

แถลงการณ์จากแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธระบุว่า การหยุดยิงชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคจากสถานการณ์สู้รบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากทั้งภัยพิบัติและความขัดแย้งทางทหาร

“กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จะหยุดดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นปฏิบัติการเชิงป้องกัน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2568” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาระบุในคำแถลง

ด้านองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างจริงจัง และเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อแถลงการณ์หยุดยิงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าองค์กรกาชาดสากล และศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) กำลังเร่งประสานงานกับทั้งสองฝ่ายเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด

ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ

(31 มี.ค. 68) "มหานิยม" ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์มีปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจสางปัญหาที่ดินวัดทั่วประเทศ จำนวน 10 คน

"ดร.นิยม เวชกามา" หรือ "ดร.มหานิยม" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และนายธนัฏฐา ฐาปนะสุต  ผู้อำนวยการกลุ่มศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัด พร้อมด้วยนักวิชาการศาสนาชำนาญการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวัดและที่พักสงฆ์ ที่มีปัญหาในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน (คณะที่ 1) ครั้งที่ 2/2568 เพื่อพิจารณาข้อมูล รวบรวมปัญหา และสรุปแนวทางการแก้ไข  ณ ห้องประชุม 2503 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

ดร.นิยม เวชกามา กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีวัดและที่พักสงฆ์ประมาณ 11,000 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐและประสบปัญหาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น จากการลงพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พบว่าในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ มีวัดทั้งหมดจำนวน 37 วัด ในจำนวนนี้มีถึง 32 วัด ที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ตั้งวัดทับซ้อน เพื่อให้การดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงาน ที่เสมือนเป็นชุดเฉาะกิจขึ้นมา 1 ชุด จำนวน 10 คน เป็นคณะทำงานของตน

"ประกอบด้วย ดร.ณพลเดช มณีลังกา ประธานคณะทำงาน นายอุทัย มณี, น.ส.นิภาภรณ์ เวชกามา, นายธวัชชัย ผลสะอาด, นายกร ศิรินาม, ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา, นายนันทภพ บรรจบพุดซา, นางวราพร อรรถสุข, นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม และนายพรพล สุวรรณมาศ ให้เป็นคณะทำงาน  โดยให้มีผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในการให้ข้อมูล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคต่อไป” มหานิยมกล่าวในที่สุด

สื่อนอกตีข่าว ยูเครนเปลี่ยนแผนกะทันหันโดยไม่แจ้งพันธมิตร ทำให้การโจมตีโต้กลับรัสเซีย ในปี 2023 พังตั้งแต่ต้นเกม

(31 มี.ค. 68) สำนักข่าว The New York Times (NYT) รายงานว่า รัฐบาลยูเครนและพันธมิตรตะวันตกเคยคาดหวังว่าการโต้กลับครั้งใหญ่ในปี 2023 จะเป็นจุดจบของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ไม่ว่าจะนำไปสู่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของเคียฟ หรืออย่างน้อยก็ผลักดันให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ต้องยอมเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพ

แผนการและความคาดหวัง ในช่วงต้นปี 2023 ยูเครนได้เตรียมปฏิบัติการโต้กลับครั้งสำคัญโดยได้รับการสนับสนุนจากอาวุธยุทโธปกรณ์และข้อมูลข่าวกรองจากประเทศพันธมิตรตะวันตก

โดยมีเป้าหมายคือการโจมตี “เมลิโตโปล” ทางตอนใต้เพื่อพยายามตัดเส้นทางไปยังแหลมไครเมีย แต่ในนาทีสุดท้าย ผู้นำยูเครนกลับเปลี่ยนแผนโดยพลการและเลือกเปิดการบุกพร้อมกันถึง 3 แนวรบ โดยไม่ได้แจ้งให้พันธมิตรรับทราบ 

ผลที่ตามมาคือ กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่ถูกฝึกมาเพื่อใช้ในแนวรบทางใต้กลับถูกส่งไปที่เมืองบัคมุตแทนซึ่งทำให้การโต้กลับหลักล้มเหลวตั้งแต่ช่วงแรก 

เมื่อผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด และสถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ กองกำลังยูเครนต้องเผชิญกับแนวป้องกันที่แข็งแกร่งของรัสเซีย รวมถึงกับระเบิดจำนวนมหาศาล โดรนโจมตี และกำลังเสริมของมอสโกที่สามารถต้านทานการบุกของยูเครนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ากองทัพยูเครนจะสามารถรุกคืบบางพื้นที่ได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างหนักและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่วางไว้

เจ้าหน้าที่ยูเครนคนหนึ่งกล่าวกับ The New York Times ว่า การเห็นการตัดสินใจที่จะโจมตีบัคมุตนั้น “เหมือนกับการดูการล่มสลายของการโจมตีเมลิโตโปลก่อนที่จะเริ่มการโจมตีเสียอีก” และเจ้าหน้าที่อเมริกันอาวุโสคนหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐฯ “ควรจะถอยห่าง” จากการให้คำแนะนำแก่ยูเครนหลังจากการเปลี่ยนแผน

นอกจากนี้ การขาดแคลนกำลังพลและอาวุธสำคัญ เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศและกระสุนปืนใหญ่ ทำให้ยูเครนไม่สามารถเดินหน้าการรุกได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็สามารถปรับตัวและเสริมกำลังแนวรบของตนได้อย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบและทิศทางของสงคราม ความล้มเหลวของการโต้กลับในปี 2023 ทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปโดยไม่มีสัญญาณของการเจรจาสันติภาพที่ชัดเจน ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 โดยทั้งสองฝ่ายยังคงพยายามรักษาพื้นที่และเพิ่มอำนาจต่อรองของตนในการเจรจาในอนาคต

รายงานของ NYT สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ยูเครนต้องเผชิญ และชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความช่วยเหลือจากตะวันตก สถานการณ์ในรัสเซีย และความแข็งแกร่งของกองทัพยูเครนเอง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางของสงครามในระยะต่อไป

“อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.“จับมืออดีตปปช.“วิชา มหาคุณ” และอดีตผู้ว่าสตง.”พิศิษฐ์“ ผนึกสมาคมสื่อมวลชนฯ.เดินหน้าโครงการคอรัปชั่นเทคขจัดทุจริตแนวใหม่

(30 มี.ค. 68) นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์(FKII Thailand) ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์กล่าวภายหลังบรรยายเรื่อง “คอรัปชั่นเทค Corruption Tech โครงการเอไอ.ใยแมงมุมThe AI Spider Project :แนวทางใหม่ในการตรวจสอบและปราบปรามทุจริต“ว่า ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช.และ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาสอดีต ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ดร.พงษ์ หรดาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและดร.โรจนศักดิ์ แสงธศิริวิไล. นายกสมาคมเครือฝ่ายผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนนาชาติซึ่งเป็นวิทยากรในโครงการฝึกอบรมสื่อมวลชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้เห็นด้วยและสนับสนุนโครงกา คอรัปชั่นเทคเพื่อขจัดทุจริตแนวใหม่โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และขอให้เร่งพัฒนาระบบเพื่อจะทดสอบระบบ”เอไอ.สไปเดอร์“ในโครงการฝึกอบรมฯลฯ.ครั้งต่อไปที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนีั“ ทั้งนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร บรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า

“…จากผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การ ทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI)ขององค์กรเพื่อความ โปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประจำปี 2567  จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศ 
ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 107 ของโลกและหล่นจากอันดับ4เป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งคะแนน34คะแนนในปี2567 ถือเป็นคะแนนต่ำสุดในรอบ 13ปี(ปี2555-2567) ประการสำคัญคือประเทศไทยได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลกมาโดยตลอดซึ่งหากพิจารณาย้อนไป10ปีจะพบว่า การแก้ปัญหาคอรัปชั่นไม่กระเตื้องขึ้นมีแต่ถดถอยลง ดัชนีรับรู้การทุจริตตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี2567พบว่าคะแนนและอันดับลดลงต่อเนื่อง กล่าวคือในปี2555ได้คะแนน37อันดับ88ของโลก ปี2567 ได้คะแนน 34 อันดับ 107 สะท้อนความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของประเทศถดถอยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 สถาบันได้แก่IMD WEF BF(TI) PRS V-DEM PERC WJC EIC
โดยตัวชี้วัดจากข้อมูล 7 ด้าน

1.เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ
2.มีอำนาจ หรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจ มีความสัมพันธ์กัน
3.การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการเกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม
4.การติดสินบนและการทุจริต
5.ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ
6.ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
7.ระดับการรับรู้ว่าการทุจริต

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ปัญหาคอรัปชั่นอยู่ในขั้นวิกฤตเหมือนมะเร็งร้ายระยะสุดท้ายกำลังทำลายศักยภาพของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงต้องใช้แนวทางใหม่ในการตรวจสอบปราบปรามทุจริตภาครัฐ-ภาคเอกชน
นั่นคือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า“คอรัปชั่นเทค Corruption Tech ภายใต้โครงการThe AI Spider Project(TSP)ทำหน้าที่เสมือนไฟฉายและใยแมงมุมในยุคดิจิตอลแพลตฟอร์มและเอไอ.ซึ่งจะเป็นparadigmใหม่ที่จะเอาชนะสงครามปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งนี้มีตัวอย่างการใช้คอรัปชั่นเทค(Corruption Tech)ปราบปรามการทุจริตในต่างประเทศ

1. ยูเครน: 
ระบบ ProZorro (AI + Blockchain)
>ระบบ e-Procurementที่ใช้ AI + Blockchainเพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล  
>AI วิเคราะห์รูปแบบการเสนอราคาเพื่อตรวจจับการทุจริต เช่น:
 >ผู้เสนอราคาร่วมกัน (Bid Rigging) → AI ตรวจสอบรูปแบบการเสนอราคาที่คล้ายกันเกินไป  
  >โครงการที่มีราคาสูงเกินจริง → เปรียบเทียบกับราคาตลาดและโครงการอื่นๆ   
- **ผลลัพธ์**: ลดการทุจริตในโครงการรัฐได้ **20-30%** และประหยัดงบประมาณได้หลายล้านดอลลาร์  

2. เกาหลีใต้: 
AI ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ
>ระบบ AI ตรวจจับการเบิกจ่ายเงินผิดปกติในโครงการของรัฐ  
ตัวอย่างการทำงาน
>โครงการก่อสร้างโรงเรียน แต่ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายความคืบหน้า→ AI เชื่อมกับภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อยืนยัน  
 >การเบิกค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน → วิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายในระบบคลาวด์   
- **ผลลัพธ์**: ลดการทุจริตในระบบราชการได้ **15-25%**  

3. อินเดีย: 
AI ตรวจสอบการทุจริตในโครงการสวัสดิการ
>ระบบ Aadhaar + AI ตรวจสอบการฉ้อโกงในโครงการช่วยเหลือสังคม  
**ตัวอย่าง**
>การจ่ายเงินซ้ำซ้อน → AI วิเคราะห์ข้อมูล biometric (ลายนิ้วมือ/ม่านตา) เพื่อป้องกันการรับเงินซ้ำ  
>ผู้รับผลประโยชน์ปลอม → ใช้ Facial Recognition AI ยืนยันตัวตน   
**ผลลัพธ์** ประหยัดงบประมาณ **1.2 พันล้านดอลลาร์** จากการตัดชื่อผู้รับปลอมออก  

4. สหรัฐอเมริกา:
AI วิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงินของนักการเมือง
>ระบบ AI ติดตามการโอนเงินที่น่าสงสัยของนักการเมืองและข้าราชการ  
**ตัวอย่าง**
>การโอนเงินก้อนใหญ่ไปต่างประเทศ → AI ตรวจสอบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายทุจริต  
>บัญชีลับที่เชื่อมโยงกับผู้รับเหมา → ใช้ **Graph AI** วิเคราะห์เครือข่ายความสัมพันธ์   
**ผลลัพธ์**เปิดเผยคดีทุจริตหลายคดี เช่น การรับสินบนในโครงการก่อสร้าง  

5. บราซิล
AI วิเคราะห์เอกสารปลอมในโครงการรัฐ
>ระบบ AI (OCR + NLP)ตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง  
**ตัวอย่าง**
>ใบเสนอราคาปลอม → AI เปรียบเทียบลายเซ็นและรูปแบบเอกสารกับฐานข้อมูล  
>โครงการหลอกลวง → วิเคราะห์ความสอดคล้องของข้อมูลในเอกสาร   
**ผลลัพธ์**ยกเลิกโครงการทุจริตมูลค่า **500 ล้านดอลลาร์**  

6. สิงคโปร์
AI ตรวจสอบ Conflict of Interest
>ระบบวิเคราะห์ความขัดแย้งของผลประโยชน์ในภาครัฐและเอกชน  
**ตัวอย่าง**
>นักการเมืองมีหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทาน → AI เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนบริษัทและบัญชีทรัพย์สิน  
>ข้าราชการร่วมกับญาติแสวงประโยชน์ในโครงการรัฐ → ใช้ Network Analysis AI
**ผลลัพธ์**
เพิ่มความน่าเชื่อถือในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ  

7.จีน:
ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ดำเนินนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012 โดยมีแนวทางการปราบปรามคอร์รัปชันของจีนทั้งแบบอนาล็อคและดิจิตอล
1. นโยบาย "ฆ่าเสือ ตีแมลงวัน"
   "เสือ" หมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่วน "แมลงวัน" คือข้าราชการระดับล่าง นโยบายนี้มุ่งปราบปรามการทุจริตทุกระดับ โดยเฉพาะในภาคการเงินและพลังงาน   
>ปี 2024 มีการลงโทษเจ้าหน้าที่และประชาชนรวม 589,000 คน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า 53 คน   
2. ระบบ "ไม่กล้า-ไม่สามารถ-ไม่อยากทุจริต"
 >ไม่กล้า : ใช้มาตรการลงโทษรุนแรง เช่น ประหารชีวิตในคดีทุจริตขนาดใหญ่  
 >ไม่สามารถ : ปรับปรุงระบบตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบงบประมาณแบบ Real-time Audit  
>ไม่อยาก : สร้างจิตสำนึกผ่านการศึกษาและประชาสัมพันธ์   
3. การปฏิรูปหน่วยงานตรวจสอบ
>CCDI (คณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยพรรค) มีอำนาจสืบสวนเจ้าหน้าที่ทุกระดับ 
*ในปี 2023 ตรวจสอบเจ้าหน้าที่อาวุโส 58 คน และลงโทษเจ้าหน้าที่ 4.7 ล้านคนในรอบ 10 ปี   
>จีนยังพัฒนาระบบ "บัญชีดำผู้ติดสินบน" เพื่อติดตามและลงโทษผู้เกี่ยวข้อง   
4. การใช้สื่อและวัฒนธรรมประชาสัมพันธ์
>ผลิตสารคดี *Always on the Road* และละคร *In the Name of People* เพื่อเปิดโปงกรณีทุจริตจริงและสร้างจิตสำนึกสาธารณะ   
5. การปราบปรามแบบค่อยเป็นค่อยไป
แบ่งขั้นตอนการจัดการเป็น 4 ระดับ 
ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงลงโทษทางกฎหมาย โดย 90% ของคดีเริ่มจากการเตือนและลงโทษทางวินัย การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยต้องอาศัยการบูรณาการหลายมิติ ทั้งการปฏิรูประบบราชการ การส่งเสริมความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใต้ 5 แนวทาง
1. การเสริมสร้างธรรมาภิบาล (Good Governance)
2.การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
3.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
4.การสร้างวัฒนธรรมความซื่อสัตย์
5.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Corruption Tech ภายใต้โครงการThe  AI Spider Project(TSP)
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎรบังหลวงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ทุกภาคส่วนจึงต้องผนึกความร่วมมือในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สถาบันเอฟเคไอไอ.กำลังพัฒนาคอรัปชั่นเทคเป็นแนวทางใหม่ในการขจัดทุจริตด้วยแพลตฟอร์มดิจิตอลและเทคโนโลยีAiภายใต้โครงการเอไอ.ใยแมงมุม(The AI Spider Project)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและปราบปรามทุจริตภาครัฐและภาคเอกชน
สำหรับโมเดลThe AI Spider project เฟสที่1 ประกอบด้วย
1. แพลตฟอร์มทราฟฟี ฟองดู (Traffy Fondue )
พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดTraffy Fondue เพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบจะเป็นกลไกหลักของโครงการ
2.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI :Artificial intelligence)
วิเคราะห์การจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ระบบ e-GP  
3. สมองของเอไอ.ในการเรียนรู้(Machine Learning)
สร้างระบบเตือนภัยการทุจริต (Early Warning System)โดยใช้ Machine Learning  
4.เปิดกว้างสร้างเครือข่ายผู้แจ้งเบาะแส(Whistleblower)
5.เชื่อมโยง ปปช. ปปท. สตง.  รัฐสภา สำนักงบประมาณ 
กรมบัญชีกลาง เครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น 76  จังหวัด กทม. อปท. หน่วยงานอื่น

การขับเคลื่อนโครงการใยแมงมุม ระยะที่ 1
    1.    เปิดใช้แพลตฟอร์มThe AI Spider Projectเป็นทางการภายในเดือนพฤษภาคม 2568
    2.    ใช้Corruption Techตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานเสี่ยง  
    3.    พัฒนาระบบ Open Data + AIอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบ  
    4.    สร้างความร่วมมือกับ Tech Startupในการพัฒนา AI Anti-Corruption Tools  
    5.    ผลักดันนโยบายดิจิตอลภาครัฐให้เชื่อมโยงข้อมูลและใช้Corruption Techในการตรวจสอบและป้องกันปราบปรามการคอรัปชั่นในประเทศไทย
การใช้Corruption Technologyต่อต้านคอร์รัปชันต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบราชการและส่งเสริมวัฒนธรรมความโปร่งใส เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน หากทำได้อย่างจริงจังต่อเนื่องจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดทุจริตและเพิ่มความน่าเชื่อถือ(Trust)ให้ประเทศไทย แนวทางเหล่านี้ต้องดำเนินการควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้าง "ระบบนิเวศต่อต้านคอร์รัปชัน" ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน  ทั้งนี้ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการยกระดับจิตสำนึกสาธารณะและความมุ่งมั่นทางการเมืองในการปฏิรูปอย่างแท้จริง….“ หมายเหตุ:โครงการ”อบรมสื่อมวลชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ..”จัดโดยสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนนานาชาติภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน ป.ป.ช.
—————————-
ประวัติวิทยากรโดยสังเขป
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ตำแหน่งปัจจุบัน
>ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
>ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์
(FKII: Fields for Knowledge Integration and Innovation) 
>ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท
Workdview Climate Foundation 
>ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย
>ประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ,
 สภาผู้แทนราษฎร
>ประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ,สภาผู้แทนราษฎร
>รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
>ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ตำแหน่งและผลงานในอดีต
> รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
>ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2562-2566 
> ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ (UN-GFHS) ปี2660-2561
>รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2558-2560
>สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ ปี2557-2558
>อดีตส.ส.เพชรบุรีและส.ส.บัญชีรายชื่อ6สมัย ระหว่างปี 2535 - 2557
ผลงานเขียนหนังสือ
>4เล่มด้านต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คอรัปชันและการเมือง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือน 5 มุกมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสแผ่นดินไหว ซ้ำเติมประชาชน

(30 มี.ค. 68) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์ุเพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากมิจฉาชีพที่อาจฉวยโอกาสที่พี่น้องประชาชนได้รับความเดือนร้อนจากเหตุแผ่นดินไหว มาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงพี่น้องประชาชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอเตือนให้พี่น้องประชาชนทราบถึง  5 มุกมิจฉาชีพ หลอกลวงประชาชน หลังเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้

1. หลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล - แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือ หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน บัตรเครดิต บัญชีธนาคาร

2. หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน - ส่งลิงก์หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อรับความช่วยเหลือ สุดท้ายเป็นแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล ดูดเงินจากบัญชีธนาคาร

3. หลอกรับบริจาค - อาศัยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย หลอกเปิดรับบริจาคจากพี่น้องประชาชน

4. แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หลอกเอาเงิน - อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ติดต่อมาว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่หลอกให้โอนเงินมาเป็นค่าดำเนินการ หรือยืนยันตัวตน ซึ่งไม่เป็นความจริง

5. ข่าวปลอม สร้างความตื่นตระหนก - เผยแพร่ข่าวปลอมหรือบิดเบือนเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว โดยอาจมีการนำภาพเก่า ภาพจากเหตุการณ์อื่น มาประกอบกับข้อความเพื่อให้คนตื่นตกใจ

โดยขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และขอให้ตรวจสอบก่อนว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนที่จะส่งต่อ หรือกรอกข้อมูลส่วนบุคคล
 

หากพี่น้องประชาชนพบเห็น หรือได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สมุทรปราการ -“เอกสิทธิ์” เปิดตัว “พรรคปวงชนไทย” ประกาศนโยบายสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ชูเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (30 มี.ค. 68) นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล หัวหน้าพรรคปวงชนไทย พร้อมด้วย นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานที่ปรึกษาพรรค นายวรฐ สุนทรนนท์ เลขาธิการพรรค และทีมกรรมการบริหารพรรค นายสมบูรณ์ บุญยรัตนประภา นายวิรัตน์ ลีรุ่งเรือง นายบุญส่ง จันทสุก นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ และ นางสาวธัญลักษณ์ ศรีทา เหรัญญิก จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 มีสมาชิกพรรคปวงชนไทย จากทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ณ อาคารสุขอนันต์ ซอยศรีเจริญวิลล่า ต.เทพารักษ์ อ.เมือง สมุทรปราการ 

โดยมีวาระการประชุมเพื่อรับรองรายงานการดำเนินกิจกรรมของพรรคในรอบปี 2567 มีการแก้ไขข้อบังคับ การเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจากชื่อพรรค พลังปวงชนไทย เป็น “พรรคปวงชนไทย” มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติม 6 คน มีนายเอกสิทธิ์  คุณานันทกุล หัวหน้าพรรคปวงชนไทย พร้อมด้วยรองหัวหน้าพรรค นายวรฐ  สุนทรนนท์ นายบุญส่ง จันทะสุก  นายจิตรกร  ลากุล นายสุชาติ  ดีจันทร์ พ.ต.อ.ชัชชัย เศรษฐีพันล้าน  นายภูชิสส์ ศรีเจริญ เลขาธิการพรรค นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ นายทะเบียนสมาชิกพรรค นางสาวธัญลักษณ์ ศรีทา เหรัญญิกพรรค นายวิทยา ติรณะประกิจ รองหัวหน้าพรรคและโฆษกพรรค นายไมตรี รุ่งอภิญญา รองโฆษกพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีนายสมบูรณ์ บุญยรัตนประภา นายวิรัตน์  ลีรุ่งเรือง  นายธนภัทร ศักดิ์เรืองงาม นายประจักษ์ จันทร์เดช นายสุโรจน์ กิจสมศักดิ์  นายพีรพัฒน์ ถานิตย์ และนายสุระ วัฒนบารมี กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

โดยทางด้าน นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล หัวหน้าพรรคปวงชนไทย  กล่าวว่า พรรคปวงชนไทย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ด้วยการสร้างคน เพิ่มทักษะความรู้ สร้างงานและสร้างอาชีพให้ประชาชนด้วยการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้นำไปสู่ความยั่งยืน ให้สามารถยืนด้วยตัวเองและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้  ซึ่งพรรคปวงชนไทย มีนโยบายหลัก 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน"ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย"
2.การท่องเที่ยวและมรดกทางวัฒนธรรม
 3.เกษตรกรรมและการประมงที่ยั่งยืน "เกษตรกรและชาวประมงมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น"  
4.สุขภาพและสาธารณสุข "สุขกาย สุขใจ "คนไทยและประเทศไทยแข็งแรง" 
และ 5.การปฏิรูปการศึกษา เน้นภาคปฏิบัติคู่วิชาการ"อนาคตสดใสด้วยการศึกษาโลกยุคใหม่"

ตนในฐานะอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่อเนื่อง 2 สมัย มองเห็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะความรู้ด้านดิจิทัล มาปรับใช้เพื่อสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีแนวทางการเปิดศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน ประจำสาขาพรรคทั่วประเทศเพื่อเป็นศูนย์ฝึกทักษะความรู้สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 ของพรรคปวงชนไทยครั้งนี้ ได้มีการจัดเวิร์คช็อปอบรมเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด สาธิตการขายสินค้าโดยจัดเป็น “ศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน” เพื่อเปิดอบรมฝึกทักษะการไลฟ์สด การขายสินค้าให้กับตัวแทนสาขาพรรคทุกจังหวัด ได้เรียนรู้การขายสินค้าออนไลน์ เป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ นำสินค้าทั้ง พืชผลทางการเกษตร สินค้าของวิสาหกิจชุมชน และสินค้าโอท็อปมาขายทางออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าของชุมชนได้อีกด้วย 

คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

ผบช.ภ.2 เยี่ยมให้กำลังใจ ทีมตำรวจ ภ.2 ร่วมภารกิจค้นหาผู้ติดใต้ซากอาคาร กำชับทำเต็มที่ ทุกวินาทีมีค่า

(30 มี.ค. 68) พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจตำรวจ ภ.2 จำนวน 200 นาย ที่มาร่วมภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยอาคารถล่มจากแผ่นดินไหว ย่านจตุจักร กทม. โดยเดินทางมาถึงตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจจาก ภ.2 ได้รับภารกิจสนับสนุนด้านการจราจร ดังนั้นนอกจากนำอาหาร น้ำดื่มมาฝาก ให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ยังได้กำชับให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ช่วยเหลือสนับสนุนเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น ๆ และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมภารกิจ ขณะเดียวกันต้องยิ้มแย้มแจ่มใส สื่อสารกับประชาชนอย่างเป็นมิตร โดยให้เข้าใจว่าภารกิจครั้งนี้ “ทุกวินาทีมีค่า” เป็นภารกิจที่แข่งขันกับเวลา และมีความตึงเครียด ทั้งนี้ตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง และจะอยู่เคียงข้างประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

วันเดียวกัน พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รอง ผบช.ภ.2  ได้เดินทางไปยัง ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว (ศพข.) บช.ส. กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพล ที่มาปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ โดยได้ให้กำลังใจและแนะนำแนวทางการปฏิบัติงาน มอบเครื่องดื่มและผลไม้เพื่อสนับสนุนกำลังพล เพิ่มขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top