Tuesday, 13 May 2025
NewsFeed

‘หมอเก่ง วาโย’ ชี้ ‘อนุทิน’ ไม่ยอมเซ็นงบป้องกันโรคกองทุน สปสช. เป็นการตีความกฎหมายผิดพลาด ทำประชาชนเข้าถึงยาป้องกัน HIV ลำบากกว่าเดิม ถาม บ้านอยู่อวกาศหรือยังไง ถึงชอบสร้างสุญญากาศ จี้กล้าหาญเซ็นอนุมัติงบโดยเร็ว

วันที่ 8 มกราคม 2566 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีหน่วยให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV ของภาคประชาสังคมจำนวนมาก ไม่สามารถให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV เนื่องจากงบประมาณในส่วนของการป้องกันโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 รายการ ได้แก่ การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP), ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ (PP-HIV), ค่าบริการผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) และค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งบประมาณรวม 5,146.05 ล้านบาท ไม่ถูกอนุมัติ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอ้างว่าการนำงบที่เกี่ยวกับโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ (Prevention and Promotion: P&P) จากกองทุนบัตรทอง ไปใช้ดูแลทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้กองทุน สปสช. ต้องออกหลักเกณฑ์การให้บริการใหม่แก่หน่วยบริการสุขภาพ ให้หน่วยให้บริการร่วม จัดสรรสิทธิ์ในการป้องกันเชื้อ HIV ให้เฉพาะคนที่มีบัตรทองเท่านั้น คนที่ต้องการรับยาเพร็พหรือยาเป๊ป (PrEP, PEP) ซึ่งเป็นยาป้องกัน HIV หรือแม้แต่การแจกถุงยางอนามัยฟรี ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ์ โดยคนที่มีสิทธิบัตรทองและข้าราชการไปรับได้ที่โรงพยาบาล ส่วนคนที่ไม่มีสิทธิบัตรทองหรือสิทธิข้าราชการ อาจต้องจ่ายค่ายา

นพ.วาโย กล่าวว่า การตีความกฎหมายของอนุทิน ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะโดยหลักการตาม พ.ร.บ.กองทุน สปสช. ถือว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการตามกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิอื่น โดยเฉพาะประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ ให้ใช้เงินจากสิทธิที่ตนเองมีก่อน

“การป้องกันเชื้อ HIV และโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพอื่น ไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ดังนั้นคนไทยที่ต้องการใช้สิทธิตรงนี้จึงอยู่ในหน้าที่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน” นพ.วาโย กล่าว

‘จุรินทร์’ นำลูกพรรคปชป. ออนทัวร์ กทม. ต่อเนื่อง ลงพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า วัดพระยาไกร พร้อมเปิดตัว ‘อภิมุข ฉันทวานิช’ ชิง เก้าอี้ ส.ส. เขตบางคอแหลม - ยานนาวา มั่นใจ นโยบายตอบโจทย์คนกรุง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 ม.ค.2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ลงพื้นที่ชุมชนหลังตลาดเก่า วัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม ซอยเจริญกรุง โดยได้พูดคุยทักทายประชาชนที่มารอต้อนรับบริเวณชุมชน พร้อมทั้งแนะนำนโยบายและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตยานนาวา บางคอแหลม คือ นายอภิมุข ฉันทวานิช  

โดยนายจุรินทร์ กล่าวถึงความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง ส.ส. พื้นที่กรุงเทพฯ ว่า การลงพื้นที่วันนี้เพื่อถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ประชาชน และแนะนำ นายอภิมุข ฉันทวานิช  ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม ซึ่งเป็นที่อดีต สก. บางคอแหลม 3 สมัย เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะเป็นคนที่เกิดในพื้นที่นี้ตั้งแต่เกิด มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนเขตนี้ให้มีศักยภาพและความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น 

นายจุรินทร์ได้ตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวถึงพื้นที่หลักของประชาธิปัตย์ในการหาเสียงว่า กรุงเทพมหานครจะเป็นพื้นที่เป้าหมายอีกพื้นที่หนึ่งของประชาธิปัตย์ เราเพิ่งเสียที่นั่งไปคราวที่แล้ว อย่างน้อยที่สุดพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ก็ต้องเลือกผู้แทนประชาธิปัตย์เข้ามาจำนวนหนึ่ง เพียงแต่คราวที่แล้วมันอาจจะเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง แต่เที่ยวนี้ตนมั่นใจว่าเราปักธงได้แน่ 

ตอนนี้วางการเปิดตัวผู้สมัครไว้อย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภาคอีสานเคาะไปล่าสุดเมื่อวัน สองวันนี้อีก 90 เขต แล้วจะได้ทยอยสรุป ซึ่งเราจะส่งครบทั้ง 400 เขต ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 33 เขตด้วย เพียงแต่รอการแบ่งเขตให้ชัดเจนจาก กกต. สำหรับทุกพื้นที่ กรุงเทพฯ ก็รออีก 3 เขต ทุกอย่างก็เตรียมพร้อม สำหรับนโยบายภาพรวมเราก็ต้องเน้น “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ซึ่งจะมีรายละเอียดตามมา กรุงเทพมหานครก็เหมือนกัน ภาพรวมของนโยบายกรุงเทพฯ ก็คือภาพรวมของนโยบายประเทศ เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ส่วนเรื่องรายละเอียด น้ำท่วม รถติดนั้นเป็นเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นด้านหลักตอนเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. แต่สำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ สำหรับประชาธิปัตย์ นโยบายประเทศก็คือนโยบายกรุงเทพฯ ด้วย

เมื่อถามว่า มองเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเปิดตัวที่ศูนย์สิริกิติ์ อย่างไรนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ขอให้ความเห็น แต่ถ้าท่านไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งจริง ก็แปลว่าต่อไปนี้ท่านก็สังกัดพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนแล้ว ไม่ใช่เป็นแค่คนกลาง ๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมือง หรือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ลงลึกไปถึงท่านเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้ว ก็คงมีสถานภาพเหมือนๆ กันกับรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ หลายท่านในคณะรัฐมนตรี ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นสมาชิกพรรค 

ผู้สื่อข่าวยังถามต่อว่า ถ้า “คนกลางๆ” หายไป จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่อย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนตอบล่วงหน้าอะไรไม่ได้ อยู่ที่ท่านนายกฯ ด้วยว่าจะบริหารจัดการกับรัฐบาลผสมในรูปแบบไหนอย่างไร และมีทีท่าอย่างไร อันนั้นก็ต้องนับหนึ่งที่ตัวท่านด้วย

กองหนุน 'บิ๊กตู่' พรึ่บ!! เปิดชื่อ บิ๊กเนม! ร่วมซบ รทสช. จ่อร่วมกิจกรรม เปิดตัว บิ๊กตู่ 9 ม.ค.นี้ ล๊อตแรกกว่า 30 คน รอเวลาเหมาะสมอีก 10 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เตรียมจัดกิจกรรมเปิดตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าร่วมงานกับพรรค ในวันที่ 9 ม.ค. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยหลังจากนี้จะมีส.ส.จากพรรคต่างๆ และผู้บริหารท้องถิ่น ทยอยเข้ามาสมทบตามพล.อ.ประยุทธ์ จำนวนมาก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เตรียมนำส.ส.พลังประชารัฐ หลายคน มาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ  ได้แก่ น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ , ร.ต.อ.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี , นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง , นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี , นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา , น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี , นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี , นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส.สระบุรี , นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. รวมถึง นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ 

ขณะที่ ส.ส.พลังประชารัฐ ในสายของเสธหิ หรือหิมาลัย ผิวพรรณ ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ก็เตรียมมาร่วมงานด้วยได้แก่ นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสววรค์ นายมานัส อ่อนอ้าย ส.ส.พิษณุโลก ที่เตรียมส่งลูกชายลงสมัครส.ส.แทน 

นอกจากนี้ยังมี น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช  , นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา , นายพยม พรหมเพชร ส.ส. สงขลา , ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา และนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ที่ลาออกจากพปชร.ก่อนหน้า ต่างก็เตรียมย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ 

สำหรับ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม , พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม , น.ส.พิมภัทรา วิชัยกุลส.ส.นครศรีธรรมราช , น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี , นายเจือ ราชสีห์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ , นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมถึงนายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลัง ด้วยส่วน ส.ส. จากพรรคพลังท้องถิ่นไทย ประกอบด้วย นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส. จันทบุรี และน.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส. ชลบุรี

ขณะเดียวกันจะมีการเปิดตัวทีมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี นายกวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ. ชุมพร นายชัยยะ อังค์กินันท์ นายก อบจ. เพชรบุรี นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ. ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ ส.ส. ที่จะมาร่วมเปิดตัวในวันที่ 9 ม.ค. นับรวมแล้วมีมากกว่า 30 คน อย่างไรก็ตามยังมี ส.ส. อีกกว่า 10 คน ที่ยังไม่ขอเปิดตัวในวันที่ 9 ม.ค. เนื่องจากต้องการรอจังหวะทางการเมืองที่เหมาะสมมากกว่านี้ ทำให้มี ส.ส. ที่จะเข้าร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วกว่า 40 คนด้วยกัน

รองนายกฯ ผู้ถูกกล่าวหา ‘เป็นชู้’ ยังคงมีชีวิตอยู่ถึง 61 ท่าน!!

สืบเนื่องจากเพจ ‘ทนายตั้ม - ษิทรา เบี้ยบังเกิด’ เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ โดยโพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ว่า “...ผัวช็อค เจอภาพเมียเป็นชู้กับอดีตรองนายกรัฐมนตรี คุณ ก. มาปรึกษาผมว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ภรรยามีท่าทีเปลี่ยนไป จึงแอบเอาโทรศัพท์มาเช็ค ปรากฎว่าเจอภาพโป๊เปลือยของภรรยา แล้วที่ช็อคยิ่งกว่าคือ คนที่ถ่ายรูปคู่เปลือยด้วยกันนั้นคือ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จัก จึงมาปรึกษาจะทำอย่างไรต่อไป?”

โดยหลังจากข้อความนี้แพร่ออกไปในโลกโซเชียลมีเดีย จึงเริ่มมีกระแสคาดเดาจากประชาชนชาวเน็ตจำนวนมากว่า ‘รองนายกฯ คนดังกล่าว’ นั้นคือใคร?

จนกระทั่งล่าสุด ทนายตั้มยังได้โพสต์ภาพข้อความแชทผ่านไลน์ของอดีตรองนายกรัฐมนตรีคนที่ว่า พร้อมข้อความ “...คดีนี้มาปรึกษาผมตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมก็ทำเรื่องฟ้องหย่าภรรยา ฟ้องชู้ที่เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ปรากฎว่าได้มีการข่มขู่ คุกคามคุณ ก. มาตลอด คุณ ก. เลยอยากจะให้เรื่องนี้ออกสู่สาธารณะ เพื่อป้องกันตัวหากเป็นอะไร และอยากให้ประชาชนได้รู้พฤติกรรมของนักการเมืองใหญ่คนนี้ จึงขอให้ผมช่วยดำเนินการให้ เรื่องนี้ค่อนข้างจะเสี่ยงกับผม จึงไม่อาจทำอะไรให้ถูกใจทุกคนได้ ผมเลยต้องทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง และพยายามให้กระทบกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด แต่ทุกคนจะได้รู้แน่นอนครับ”

ต่อประเด็นนี้ทางสำนักข่าว THE STATES TIMES ได้ตระหนักถึงความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่เกี่ยวข้องหลายชีวิตหลายท่าน จึงได้ทำการตรวจสอบ และสืบค้นข้อมูลจนพบว่า ปัจจุบันมีอดีตรองนายกรัฐมนตรีซึ่งยังมีชีวิตอยู่ถึง 61 ท่าน เรียงตามลำดับอาวุโส ตั้งแต่มากไปหาน้อยดังนี้...

รุ่นใหญ่อายุ 90 ปีขึ้นไป มีเพียงหกท่านด้วยกัน ได้แก่ นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ (93 ปี) นายเกษม สุวรรณกุล (92 ปี) หม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี (92 ปี) นายเสนาะ อูนากูล (91 ปี) พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (90 ปี) และนายอำนวย วีรวรรณ (90 ปี)

รุ่นถัดมาอายุ 80 ถึง 89 ปี มี พลตำรวจเอก วิโรจน์ เปาอินทร์ (89 ปี) พลตรี จำลอง ศรีเมือง (87 ปี) นายสุขวิช รังสิตพล (87 ปี) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (86 ปี) พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา (85 ปี) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (84 ปี) พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (84 ปี) นายชวน หลีกภัย (84 ปี) นายมั่น พัธโนทัย (81 ปี) พลตำรวจเอก สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (81 ปี) นายปองพล อดิเรกสาร (80 ปี) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน (80 ปี) พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก (80 ปี) และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ (80 ปี)

‘นาคโตโน่’ ร่วมบวงสรวงองค์พระธาตุพนมก่อนบวช ตอบแทนพี่น้องไทย-ลาวหนุนกิจกรรมว่ายน้ำข้ามโขง

(9 ม.ค. 66) ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา พระครูสังฆรักษ์สิรภพ หรือพระอาจารย์แก้ว ฐิตสีโล เจ้าอาวาสวัดหัวดอน อ.ธาตุพนม รวมถึงคณะสงฆ์ พร้อมด้วย อาจารย์หมง อภัยโส พ่อพราหมณ์ นำนาคโตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ฉายา สุทธิสัทโธ พร้อมนาคอีก 3 คนที่จะเข้าพิธีอุปสมบท ในวันที่ 9 มกราคม 2566

ประกอบด้วย นาคชูชาติ ไทยแย้ม ฉายาฐิตายุโก, นาควรวัฒน์ สภาวสุ ฉายาฐิตุเปกโข และ นาคฉัตรินทร์ วุฒิสิริบูรณ์ ฉายาเอกคคจิตโต ตลอดจนพลังศรัทธาพุทธศาสนิกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวลาว นำเครื่องสักการะบูชา บวงสรวง ประกอบด้วย พานบายศรีพญานาคทั้ง 7 ตน ผลไม้หลากหลายชนิด และเครื่องเซ่นไหว้ตามประเพณี เพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุพนม รวมถึงพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าที่บรรจุไว้ภายในอายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี

นอกจากนี้ยังเป็นการบวงสรวงบูชาขอพรองค์พญานาคทั้ง 7 ที่ดูแลปกปักษ์รักษาตามประเพณีความเชื่อ ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ที่จัดขึ้นในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมถึงเป็นสิริมงคลแก่นาคที่จะเข้าพิธีอุปสมบท

‘บิยอร์น บอร์ก’ พาครอบครัวพักผ่อนช่วงปีใหม่ที่ภูเก็ต โพสต์ภาพพร้อมแคปชัน “Happy times in #Thailand”

ต้องยอมรับเลยว่าตั้งแต่ผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ประเทศไทยดูจะฮิตฮอตมากจริงๆ เพราะเหล่าคนดังจากทั่วโลกต่างตบเท้าจองตั๋วบินมาเที่ยวที่ประเทศไทยกันเป็นว่าเล่น เท่านั้นยังไม่พอ ยังโพสต์ภาพอวดชาวโลกถึงความสวยงาม ความประทับใจที่ได้มาเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย 

ไม่เว้นแม้แต่ ‘บิยอร์น บอร์ก’ (Björn Borg) อดีตนักเทนนิสชายมือวางอันดับหนึ่งของโลกชาวสวีเดน ที่ก็พอครอบครัวมาเที่ยวที่ประเทศไทย โดยใช้ช่วงเวลาพักผ่อนช่วงปีใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต 

โดย ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…ช่วงคืนส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ 2023 ‘บิยอร์น บอร์ก’ (Björn Borg) อดีตนักเทนนิสชายมือวางอันดับหนึ่งของโลกชาวสวีเดน ได้พาครอบครัวมาพักผ่อนและฉลองปีใหม่ที่ #ภูเก็ต #Phuket พร้อมได้โพสต์ลง IG และล่าสุดได้ลง FB ย้ำว่า “Happy times in #Thailand”

ไทยคงอันดับ 1 อาเซียนประเทศพัฒนายั่งยืน 4 ปีซ้อน ตอกย้ำ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ บริหารประเทศมาถูกทาง

‘ทิพานัน’ เผยไทยคงอันดับ 1 อาเซียนประเทศพัฒนายั่งยืน 4 ปีซ้อน ย้ำชัดรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ บริหารประเทศมาถูกทาง โชว์สหประชาชาติกำหนดหลักใช้ทุกภารกิจในไทยว่า “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นแก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน  Sustainable Development Report 2022 ประเมินจากดัชนีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ 17 ข้อ ไทยได้คะแนนรวมทั้งหมด 74.13 จาก 100 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับที่ 44 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียนถึง 4 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2562 โดยที่ดัชนีการประเมินไม่ได้มีเพียงแต่มิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายของสหประชาชาติครอบคลุมมิติการพัฒนามนุษย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพและความยุติธรรม และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทั้ง 6 ด้านของไทยที่มุ่งพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สะท้อนวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นไปอย่างยั่งยืนสมดุลครบทุกด้าน จนทำให้สหประชาชาติกำหนดหลักการที่ใช้ในทุกภารกิจของสหประชาชาติในประเทศไทยด้วยวลีสั้นๆ ว่า “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นแก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

‘ทนายตั้ม’ แง้ม 3 คำใบ้ อดีตรองนายกฯ ‘เป็นชู้’ ย้ำ!! เหตุเกิดปี 65 จึงไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย

กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวร้อน ที่มาแรงกลบทุกกระแสข่าวแรง ๆ ในช่วงนี้ไปเลย แถมยังทำพี่น้องชาวเน็ตไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะอยากรู้แล้วว่าใครกันนะ!! คือ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ทนายตั้ม หรือ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพบรรยายไว้อย่างถึงพริกถึงขิง 

ล่าสุด วันนี้ (9 ม.ค. 66) ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ออกมาตั้งโต๊ะแถลง ถึงกรณีดังกล่าว ที่สำนักงาน ‘Sittra Law Firm’ โดยเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม 3 ปมหลัก ให้ชาวเน็ตไปสืบกันต่อว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เล่นชู้ นั้นคือใคร? 

ปมข้อที่ 1 เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี
ปมข้อที่ 2 มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย
ปมข้อที่ 3 ชอบตีกอล์ฟ แต่ไม่ชอบสนามกอล์ฟอัลไพน์

กระจายอำนาจท้องถิ่นในแบบ ‘ปชป.’ ยืนหยัด ต้องให้จังหวัดจัดการตนเอง

ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ตั้งแต่ต้นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย 'ควง อภัยวงค์' ผู้ก่อตั้งพรรค จะพบเจตนารมณ์ 10 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ และถือเป็นเจตนารมณ์-อุดมการณ์ ที่ยังทันสมัย และใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการในระดับพื้นที่ที่เล็กลงไป โดยยึดถือหลักว่า คนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนมากที่สุด รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่จะมาบริหารจัดการ ให้บริการสาธารณะอย่างไร

แต่เจตนารมณ์-อุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ เดินผ่านช่วงเวลามาร่วม 70 ปี บางอย่างสำเร็จแล้ว บางอย่างอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังจะเดินหน้าให้เกิดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่ปัญหาใหญ่คือ 'ห่วงอำนาจ' รัฐบาลกลางยังไม่จริงจัง จริงใจกับการกนะจายอำนาจ เพราะกลับ 'สูญเสียอำนาจ' โดยเฉพาะกระทรวงใหม่ สายอำมาตย์ อย่างกระทรวงมหาดไทย ยังกวดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย

นี้คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ ในยุคที่ 'นิพนธ์ บุญญามณี' เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และถือว่าเป็นผู้รู้เรื่องกระจายอำนาจ รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับ-ดูแล กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการฯกอดอำนาจไว้แน่น

ผลักให้นิพนธ์ไปดูกรมที่ดิน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย แต่คำว่านักการเมือง ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถคิดงานคิดการขึ้นมาได้ 'นิพนธ์' จึงเป็นที่ยอมรับในผลงานในช่วงสามปีกว่า ๆ ในกระทรวงมหาดไทย

หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรก ๆ จะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา 'กินหัวคิว-กินเปอร์เซ็นต์' ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง 

การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน' หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2 

ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ 'จังหวัดจัดการตนเอง' จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด

ก้าวไกลเสนอเลือกตั้งนายกจังหวัด (26 พ.ย. 65)
เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65)
รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น

น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2565 ไล่ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. มาจนถึงเมืองพัทยา และ กทม. ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการพัฒนาพื้นที่ได้ ใช่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีศักยภาพ แต่เป็นเพราะบทบาทอำนาจท้องถิ่นมีจำกัด งานสำคัญๆ ยังคงถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แม้แต่ กทม.เองที่ได้ชื่อว่าเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ยังทำอะไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ถ้าเห็นว่าประชาชนเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหากันมากขึ้น การกระจายอำนาจกลายเป็นประเด็นที่ขายได้ และมีคนพร้อมซื้อ พรรคการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงท่าทีของตนออกมา ซึ่งต้องตรงไปตรงมากว่าการเลือกตั้งหนก่อน

พรรครวมแผ่นดิน ขึ้นเหนือประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2566 ชู 10 นโยบาย

(8 ม.ค. 66) เวลา 9:00น. ณ ห้องประชุม ราชพฤกษ์1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษาฯ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญ พรรครวมแผ่นดิน ครั้งที่ 1/2566 พร้อมแถลงนโยบายพรรค เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และปฐมนิเทศ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. โดยมี น.ส.กชพร เวโรจน์ หัวหน้าสาขาพรรคภาคเหนือ พร้อมกรรมการบริหาร สมาชิกพรรค ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ รวมกว่า 1,300 คน

พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมาที่พรรครวมแผ่นดิน ได้ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดพรรคการเมืองที่รวบรวมผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากไปด้วยประสบการณ์ทั่วประเทศ ช่วงอายุอาชีพ ทุกเพศทุกวัย แม้ที่มาจะแตกต่างกัน แต่ก็มีอุดมการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งลดความขัดแย้งทางการเมือง ปรองดอง และพร้อมจะประสานทุกฝ่าย เพื่อรวบรวมสรรพกำลังความรู้ ความสามารถเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ พร้อมหารายได้เข้าประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมสิทธิเด็กและยกระดับบทบาทของสตรี รวมถึงส่งเสริมการส่งออกนำมาตรฐานเกษตรกรของไทยสู่อุตสาหกรรมเกษตรที่สมบูรณ์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านระบบโลจิสติกส์ที่เพียบพร้อมด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล

ซึ่งตลอดเวลา 5 เดือนเต็ม ในการขับเคลื่อนพรรครวมแผ่นดิน เพื่อเป็นตัวแทนของภาคประชาชนในการพัฒนาประเทศไปทุกมิติองคาพยพ ถึง ณ วันนี้ ทางพรรครวมแผ่นดินได้ดำเนินการสร้างรากฐานอันมั่นคงที่พร้อมเต็มเปี่ยมในการที่จะทำงานรับใช้ภาคประชาชนอย่างเต็มที่ ดังคำขวัญของพรรครวมแผ่นดินที่กล่าวไว้ว่า "พัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมประชาธิปไตย รับใช้ประชาชน" ด้วยเหตุนี้ ทางพรรครวมแผ่นดินจึงได้ดำเนินการจัดการประชุมใหญ่สามัญพรรครวมแผ่นดิน ครั้งที่ 1/2566 ในวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 ที่จังหวัดเชียงใหม่"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top