Tuesday, 22 April 2025
กองทุนดีอี

‘บิ๊กป้อม’ หนุน ‘กองทุนดีอี’ พัฒนาปท.ด้วยดิจิทัล ยกระดับบริการ 5G ต่อยอดสู่เมืองอัจฉริยะ

พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะประชุมกองทุนดีอี ผลักดันโครงการ ต่อยอด 5G เพื่อส่งเสริม ศก./สังคม อนุมัติ โครงการสำคัญ มุ่งเน้น บริการปชช./ส่งเสริมการศึกษา และรองรับการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล

เมื่อ (29 ก.ย. 65) เวลา 14.30 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่4 /2565  ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงานของกองทุนตามแผนปฏิบัติการ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และบริการเพื่อสังคมปี60-64 ซึ่งมี 2 กิจกรรม ได้แก่ การจัดให้มีศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะ จำนวน 1,722 ศูนย์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศประกวดราคาจ้าง และการพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิตอลชุมชน และงานบำรุงรักษา 5ปี อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ TOR 

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รักษารวดเร็ว

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน ของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน” ของ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke ให้กับพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ในเขตพื้นที่บริการ ให้เป็นต้นแบบในการให้บริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจร เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและลดอัตราความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานในโครงการในการพัฒนาระบบเสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการเก็บผลการให้บริการจริงในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ พบว่า ผลเป็นที่น่าพอใจ การดำเนินการให้บริการของรถโมบายสโตรคยูนิตในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยประสานกับหน่วยส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน สพฉ. ในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาที่รถโมบายสโตรคยูนิต ที่สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ในวินิจฉัยโรคและการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Telestroke ตลอดจนการส่งต่อข้อมูลภาพถ่ายผลการสแกนสมองที่แม่นยำเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยในการใส่สายสวนหรือการให้ยาสลายลิ่มเลือดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตและลดอัตราความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ ก่อนนำส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลเครือข่ายต่อไป 

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการโดรนสำรวจความสมบูรณ์ของป่าไม้ ชี้ ผลสำเร็จตามเป้า หลังเก็บข้อมูล 11 อุทยาน กว่า 10 ล้านไร่

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลสำเร็จในการดำเนินงาน โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 4 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้าที่กลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลความสำเร็จในการดำเนินงาน “โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ของ กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กองการบินฯ ได้ขอทุนสนับสนุนในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของประเทศและการดูแลประชาชน ในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ การบินลาดตระเวนทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ ในการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาจัดทำฐานข้อมูลแผนที่ป่าอุทยาน และพัฒนาระบบจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูงสำหรับสนับสนุนการจัดการพื้นที่ทำกิน ให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบแสดงผลข้อมูลสถานการณ์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านไฟป่าและน้ำป่าไหลหลากในรูปแบบ real time บน web map service และ mobile application เพื่อแจ้งเตือนประชาชน

โดยกองการบินฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ในโครงการตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ สามารถพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับแบบขึ้นลงแนวดิ่ง จำนวน 14 ระบบ แบ่งเป็น อากาศยานขนาดใหญ่ใช้ในการลาดตระเวนทางอากาศ จำนวน 4 ระบบ อากาศยานขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวน 10 ระบบที่ใช้ในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายทางอากาศแบบหลายช่วงคลื่น แล้วนำไปเก็บข้อมูลทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าจำนวน 11 อุทยาน บนพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ และพัฒนาระบบบริหารจัดการในการใช้งาน ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ในโครงการ เป็นฐานข้อมูลในการปฏิบัติงานและบูรณาการการใช้งานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดการบุกรุกพื้นที่ป่า การบริหารจัดการพื้นที่ทำกิน รวมถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่า น้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนได้ทราบอย่างทันท่วงที โดยกองการบินได้สาธิตการทำงานของอากาศยานไร้คนขับในแต่ละระบบ โดยจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ณ สนามบินเล็กพัทยา จ.ชลบุรี มีผลความสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี

‘เลขา สดช.’ ชู แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 3 มั่นใจ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย

เลขาธิการ สดช. ร่วมเวทีสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ย้ำ ประเทศไทยต้องรักษาดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ไม่ให้ต่ำกว่าเดิม พร้อมเดินหน้าตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในระยะ 3 ครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้เข้าร่วมงานสัมมนาโครงการสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผู้บริหารของกระทรวงฯ และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายภุชพงค์ ได้กล่าวบนเวที ถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ตามแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ในระยะ 3 ระหว่างปี 2566-2570 โดยระบุว่า ขณะนี้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ทางด้านศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก โดยเป้าหมายหลักคือการทำอันดับให้ดีขึ้น หรือ อย่างน้อยจะต้องไม่ลดจากอันดับเดิมที่เป็นอยู่

โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญ อย่างเช่น มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อจีดีพี (Digital Contribution to GOP) ในปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อย ร้อยละ 30 และปี  พ.ศ. 2581 ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน
World Digltal Compettiveness Ranking ในปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของไลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน
และในปี พ.ศ. 2080 อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกหรืออยู่ใน 2 อันดับแรกของอาเซียน ส่วนในด้านสถานภาพการเข้าใจติจิล ( Digital Literacy) ของประชาชนคนไทย มากกว่า 30 คะแนน ในปี พ.ศ. 2570 และมากกว่า 85 คะแนน ในปี พ.ศ. 2580 

ทั้งนี้ การจะเดินไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จะขับเคลื่อนไปตามกรอบการพัฒนาทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านรัฐบาลดิจิทัล, ด้านการพัฒนากำลังคน และด้านการสร้างความเชื่อมั่นโดยการพัฒนาระบบนิเวศด้านโครงสร้างด้านเทคโนโลยี

“เราต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันนั้น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างสูง อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับประเทศในทุก ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในระดับนานาชาติ พร้อมกับพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศต่อไปให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุก ๆ ด้าน”

ขณะที่บรรยากาศภายในงานสัมมนา มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากทั้งภายในสถานที่จัดงาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคารสโมสร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมถึงการรับชมผ่านออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังได้เยี่ยมชมบูธของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ซึ่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนฯ และจัดกิจกรรม เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกรับของที่ระลึกจากของกองทุนดีอี ทำให้บรรยากาศในงานสัมมนาตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความคึกคักอย่างมาก

‘กองทุนดีอี’ ร่วมผลักดัน EEC สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City

‘กองทุนดีอี’ ร่วมผลักดัน EEC สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่าน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ด้วยการกำกับดูแลและการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ทำให้แผนพัฒนา EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญสู่ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ทั้งกายภาพและทางสังคม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ EEC เป็นเมืองอัจฉริยะ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน

โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ นำเสนอโดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัลในการสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ EEC ได้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ในการสร้างเครือข่าย Internet Of Thing และ CCTV พร้อมทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างรายได้ให้กับเมือง และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา พร้อมต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถร่วมบริหารจัดการและสร้างความปลอดภัยในเขตพื้นที่ EEC และส่งเสริมพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะตามแนวทางของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 7 ด้าน 

โดยผลการดำเนินโครงการ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC (เมืองพัทยา) ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเชื่อมโยงและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความเป็นเมืองน่าอยู่ โดยได้จัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบด้วย Smart Pole ชนิดความสูง 6 เมตร และชนิดความสูง 9 เมตร ที่สามารถรับสัญญาณ 5G ได้ พร้อมระบบ CCTV ระบบติดตามสภาพอากาศ ระบบไฟอัตโนมัติ ระบบ Public Wi-Fi และระบบ Emergency Call & Public Announcement โดยมีการติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้น ในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่าย 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเมืองพัทยาให้เป็น Smart City 

จากการสนับสนุนโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ของกองทุนฯ ในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ EEC เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของภูมิภาค  ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังช่วยยกระดับทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสของประชาชนให้เข้าถึงบริการด้านดิจิทัลอย่างเป็นธรรม ได้รับบริการที่ดีจากภาครัฐ สร้างรายได้และมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น และยังส่งเสริมให้พื้นที่ EEC บริหารจัดการเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่  ยกระดับคุณภาพของประเทศในทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงต่อไป

‘กองทุนดีอี’ หนุนทุกภาคส่วนร่วมต่อยอดเทคโนโลยี 5G เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัลครบทุกมิติ

สดช. จัดเวทีสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G หวังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G โดยมีนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ โรงแรม PULLMAN BANGKOK KING POWER กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. ได้ดำเนินโครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ซึ่งได้ทำการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ แผนงาน มาตรการ โครงการ และแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ และรูปแบบแนวทางในการจัดทำมาตรการฯ โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบัน สดช. ได้จัดทำ (ร่าง) มาตรการฯ และเอกสารคู่มือที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยมาตรการ 3 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และมาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนและผลักดันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสู่การปฏิบัติจริงที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างระบบนิเวศด้านการลงทุนให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป

“ทั้งนี้ สดช. ยังมีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสาน และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกระดับและทุกมิติของภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยที่ผ่านมา สดช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่ได้สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่าย 5G ประสิทธิภาพสูง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านเทคโนโลยี 5G ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบนิเวศให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 ฉบับทบทวน โดยมีตัวชี้วัดในภาพรวม 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking ปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประชาชนคนไทยมากกว่า 80 คะแนน ในปี พ.ศ. 2570” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางสาวสิริกาญจน์ สุขผล ผู้อํานวยการกลุ่มบริหารกองทุน ได้กล่าวถึงบทบาทของกองทุนฯ บนเวทีเสวนา "การส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี5G" ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกองทุนดี มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล โดยการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนในแต่ละปีนั้น จะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่กองทุนดีอีได้รับมากจาก กสทช. 

ทั้งนี้ ทางกองทุนดีอี จะจัดสรรเงินทุนสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ส่วนแรก เป็นการสนับสนุนด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่สอง เป็นการสนับสนุนด้านการวิจัย โดยโครงการที่จะนำเสนอเข้ามานั้น ทางกองทุนฯ อยากให้คำนึงถึงโครงการที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในเชิงสาธารณะ 

“การนำเสนอโครงการที่ต้องทุนสนับสนุน เพื่อการจะพัฒนาขึ้นนั้น จะต้องส่งผลประโยชน์ต่อมุมกว้าง มีการให้บริการประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ขณะเดียวกันในส่วนของการวิจัยนั้น จะเน้นไปที่โครงการที่ทำการวิจัยด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เช่นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G โดยทางกองทุนฯ เปิดกว้างให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน หรือกลุ่มบุคคลทั่วไป สามารถจะเสนอขอรับทุนได้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาการ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล และพัฒนาเมืองปลอดภัยน่าอยู่ หรือ สมาร์ทซิตี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีโครงการอยู่ในมือ ต้องการจะพัฒนาขึ้น แต่ยังขาดเงินทุนสนับสนุน ก็สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ที่กองทุนฯ ซึ่งจะเปิดรับในช่วงต้นปี ประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี” นางสาวสิริกาญจน์ กล่าว

‘กองทุนดีอี’ ชูระบบสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ‘CondoMaps’ หลังสนับสนุนงบ ‘กรมที่ดิน’ พัฒนาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ภายหลังจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุนดีอี ได้สนับสนุนงบประมาณให้ กรมที่ดิน ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565

จากผลการดำเนินงานล่าสุด ทางกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) สำเร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรมที่ดิน ในฐานะผู้พัฒนาระบบ CondoMaps ได้ทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีเปิดด้วย 

สำหรับระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่ถือครองห้องชุด เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด สามารถสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด ได้โดยใช้เลขทะเบียนอาคารชุด ห้องชุด ที่ระบุในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบบจะแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารชุด ห้องชุด ในรูปแบบภูมิสารสนเทศ 3 มิติ ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นทัศนียภาพเสมือนจริง โดยแสดงผลร่วมกับข้อมูลรูปแปลงที่ดินของกรมที่ดิน ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ (Open Street Map) และภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข (DMC) ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

โครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่ช่วยสร้างฐานข้อมูลอาคารห้องชุดให้เป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลเอกสารสิทธิห้องชุดทั่วประเทศ นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างศักยภาพของภาครัฐ ตอบโจทย์ทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน กรมที่ดินมีฐานข้อมูลห้องชุดแบบ 3 มิติ สำหรับให้บริการบนระบบ CondoMaps จำนวน 180,000 ยูนิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้าฐานข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด เพื่อให้มีฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3 มิติ เพิ่มมากขึ้นอีกจำนวน 480,000 ยูนิต หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีฐานข้อมูลห้องชุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 660,000 ยูนิต

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวย้ำว่า การดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยผ่านระบบ CondoMaps นั้น เป็นการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบ Data as a Service (Daas) เป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานใช้ประกอบการวางแผนงาน นโยบาย หรือวางแผนต่อยอดทางด้านธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับหลักการภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวมอย่างครบวงจร

‘กองทุนดีอี’ หนุนโครงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เดินหน้าสร้างมิติใหม่การทำธุรกรรมภาครัฐและเอกชน

กองทุนดีอี หนุนโครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

จากแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการทำงานและขั้นตอนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ สร้างบริการของภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลและสามารถให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ผ่านระบบชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐที่ไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลและความมั่นคงของชาติผ่านการจัดเก็บ รวบรวม และแลกเปลี่ยนอย่างมีมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูล

อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) โดยอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนา มีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) งานบริการ Agenda ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการขับเคลื่อนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 12 งานบริการ โดยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เป็น 1 ใน 12 งานบริการสำคัญการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตนเพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ กรมการปกครอง 

จากนโยบายดังกล่าว ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) จึงได้ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณในโครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) โดยทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

สำหรับโครงการนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ในการทำธุรกรรมภาครัฐและเอกชน ที่มีความสะดวกรวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัลและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการแอบอ้างหรือปลอมแปลงตัวตน ในกระบวนการยืนยันตัวตนตามระบบเดิม ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนการบริการประชาชนในภาครัฐและเอกชนที่จะต้องปรับตัวและวิธีการตอบสนองการบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้าหรือมีการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของประชาชนที่ต้องการใช้สิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล จำนวน 60 ล้านคน และในส่วนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบริการออนไลน์ที่ต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จำนวน 200 หน่วยงาน

ทั้งนี้ ในส่วนของประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ในส่วนของประชาชนจะมีบัญชีผู้ใช้งาน (Digital ID) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงได้โดยสะดวก และสามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงข้อมูล และบริการต่าง ๆ ของรัฐได้ (Single Account) ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถนำระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือ มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี มีระดับความมั่นคงปลอดภัยสูง สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปใช้ในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Service) ของหน่วยงานตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถผลักดันประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

สดช. เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ ‘กองทุนดีอี’ พร้อมโชว์ 10 โครงการเด่น ยกระดับดิจิทัลเพื่อสังคม

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี มีโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 89.93 ทุกโครงการเดินหน้าขยายผลโครงการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น 

(25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมฯ และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวรายงานและแถลงผลการดำเนินงานในภาพรวมของการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชน โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ซึ่งได้วางกรอบในการขยายเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงสร้างดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ในส่วนของ Digital ID มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นและขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว สำหรับเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ชั้นข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า
ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายในทั้งทางด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ กองทุนดีอีมีเป้าหมายที่จะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะขอรับทุนต่อไป โดยมีการนำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาจัดแสดงในงานนิทรรศการแสดงผลงาน จำนวน 10 โครงการ ได้แก่

1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 26 (1) ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจทางอุทยานแห่งชาติและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้กระทรวงฯ ได้มานำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ และจัดทำแผนที่อุทยานแห่งชาติในรูปแบบภาพถ่ายทางอากาศ

2. โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล เสนอขอโดยสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides program) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง

3. โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) เสนอขอโดยกรมการปกครอง ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service: FVS) ของประเทศเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีฟังชั่นก์ที่ให้บริการ อาทิ 

(1) แสดงบัตรประชาชน 
(2) แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน 
(3) ข้อมูลการฉีดวัคซีน โควิด-19 
(4) การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน พร้อมทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น ระบบ Health link ระบบ Lands Maps ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และระบบยื่นภาษีออนไลน์

4. โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน เสนอขอโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในมาตรา 26 (1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 2 ระยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยมีการขยายพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม 

5. โครงการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ เสนอขอโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 
ในมาตรา 26 (1) เป็นการให้บริการรายการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ Data Catalog และ Data Government สำหรับ 50 หน่วยงาน โดยเป็นการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ติดตั้งอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

6. โครงการระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกคลัสเตอร์เส้นใยธรรมชาติเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอขอโดยภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายธุรกิจในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไปสู่ห่วงโซ่ อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

7. โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) เสนอขอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในมาตรา 26 (2) เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางเคมีให้กับนักเรียน/นักศึกษาโดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทำการทดลองทางเคมีแบบมีผู้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคนในสภาพแวดล้อมเหมือนห้องปฏิบัติการจริง ประกอบกับลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีกด้วย

8. โครงการศูนย์บริการประชาชน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสนอขอโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุน เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

9. โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย เสนอขอโดยกรมที่ดิน ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน และแพลทฟอร์ม Data as a Service : DaaS

10. โครงการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อสร้างเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอโดยสำนักวิจัย และ บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในมาตรา 26 (2) เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อเตรียมกำลังคนในกลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติงานจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงาน 

“กองทุนดีอีได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ซึ่งเป็นการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด-19 และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 โดยทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

'กองทุนดีอี' รุดหน้า!! ปลุกหลากเทคโนโลยีช่วยไทย ชี้!! ทุนหนุนโครงการ ขยายผลเลิศ

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน ‘กองทุนดีอี’ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย และพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่า ‘เงินสนับสนุน’ เหล่านี้ ล้วนนำไปผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชนได้ทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของ ‘กองทุนดีอี’ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายใน หลากหลายด้าน ทั้งด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ผลการให้การสนับสนุนที่ผ่านมา ก็ถือว่าเดินหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม โดยวันนี้ (25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) พร้อมเผยถึงสาระสำคัญของงานนี้ ที่มีเป้าหมายน่าสนใจอยู่ตรงการ ‘สแกน’ ความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดีอี

ผลลัพธ์ที่ผ่านมา นายประเสริฐ พูดได้อย่างภูมิใจว่า ‘เป็นรูปเป็นร่าง’ อย่างมาก เนื่องจากมีหลากผลงานที่ต้องบอกว่า ‘แจ้งเกิด’ ได้จากการรับทุนดังกล่าว และนำไปปรับประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์/โซลูชัน ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมและประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ...

เกิดโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เกิดโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ประชาชนและเยาวชนของชาติได้สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้แบบเรียลไทม์

เกิดระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า ที่ครอบคลุมในการเรียกข้อมูลบัตรประชาชน / ทะเบียนบ้าน / การฉีดวัคซีน โควิด-19 / การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน / จองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ / ยื่นภาษีออนไลน์ และอื่นๆ อีกในอนาคต 

เกิดระบบในพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งนำร่องไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ / สุราษฎร์ธานี / ราชบุรี / ชลบุรี / เชียงราย และนครพนม 

เกิดระบบในการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ ที่ผนวกได้กว่า 50 หน่วยงาน ผ่านระบบคลาวด์ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

เกิดระบบดิจิทัลที่เข้าไปมีส่วนในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอ ที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชาวบ้านรวยๆๆ

เกิดโครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง ช่วยลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างมาก

เกิดโครงการศูนย์บริการประชาชน โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

เกิดแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อรับรู้ว่าข้อกฎหมายใดที่เอื้อต่อการทำได้หรือไม่ได้

เกิดการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อสร้างเสริมอาชีพให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม ให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า 

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนจาก ‘กองทุนดีอี’ ในวันที่ประเทศไทย มีเป้าหมายจะพาชาติก้าวไปสู่ ‘สังคมเมืองอัจฉริยะ’ ช่วยยกระดับภาครัฐ และสังคมไทยให้เท่าทันยุคแห่งเทคโนโลยี รวมถึงลดภาระภาครัฐในมิติต่างๆ ที่จะทำให้ปัญหาความโปร่งใส 

ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ อาจจะยังเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญภายใต้การผลักดันของ ‘กองทุนดีอี’ ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนดีมีฝีมือให้ร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศแห่งดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้แบบเต็มขั้นต่อไป... 

ปัจจุบัน ‘กองทุนดีอี’ ได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) รวมถึงการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 ยิ่งไปกว่านั้นทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สังคมและประเทศชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top