Tuesday, 22 April 2025
กองทุนดีอี

‘ประเสริฐ’ เดินหน้าปั้นแพลตฟอร์ม Learn to Earn เรียนรู้มีรายได้ เตรียมจัดประชุมรมต.ดิจิทัลอาเซียน - เร่งจัดทำกรอบความร่วมมือ AI ในภูมิภาค

เมื่อวันที่ (11 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 4 /2567 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี พร้อมด้วยนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติโครงการสำคัญ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลเรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต ผ่านรูปแบบ Learn to Earn ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศ สามารถรองรับได้กว่า 20 ล้านผู้ใช้งาน พร้อมทั้งการจัดเก็บข้อมูลการฝึกอบรมในรูปแบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้  หรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และโครงการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมนี้จะจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนตามแผนแม่บท ASEANDigital Masterplan 2025 (ADM 2025) การประชุมจะเป็นเวทีสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาการด้านดิจิทัลในภูมิภาคและมีผู้เข้าร่วมประมาณ300 คน  

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติเงินสำหรับโครงการพัฒนากรอบแนวทางการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของอาเซียนเพื่อพัฒนากรอบทักษะความเข้าใจและใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโครงการพัฒนาแห่งอนาคตภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคต AI จะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแกร่ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ แต่ยังเป็นโอกาสกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล

และที่ประชุมยังได้อนุมัติเงินสำหรับการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำหมู่บ้าน จำนวน 24,654 แห่งรวมทั้ง โครงการศึกษา รูปแบบธุรกิจของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมภายใต้หลักการโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ที่เหมาะสม และแนวทางการบริหารจัดการโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ต (Free Wi-Fi) อีกด้วย

ขณะที่ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมอนุญาต การขยายผลโครงการที่ได้การสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยการให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของโครงการดังกล่าวที่มี  20 บริการเพื่อการบริการภาครัฐ เช่น ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ประมง การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านประมง การจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปต่างประเทศ การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช เป็นต้น รวมถึงระบบ e-Service การบริหารจัดการสัตว์ป่าควบคุม และบริการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป และ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง การบริหารจัดการสัญญา เพื่อความสะดวกคล่องตัวในการบริหารกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กองทุนดีอี BDE ลงพื้นที่อุบลฯ จัดกิจกรรม CSR พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างสรรค์กำแพงวัดสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเยาวชนรุ่นใหม่

(23 ม.ค. 68) กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) จัดกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ภายใต้ชื่องาน “DEF ร่วมสร้างกำแพงความรู้สู่ชุมชน” ณ วัดสวนสวรรค์ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (BDE) และดร. ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  และประชาชนในพื้นที่ ร่วมในพิธีเปิดงาน

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า กองทุนดีอีเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ BDE ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดสรรเงินทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุนสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร พร้อมกันนี้ในส่วนของบทบาทของการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กองทุนฯ ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

สำหรับการดำเนินกิจกรรม ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของกองทุนฯ ในการทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความรับผิดชอบ และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม การจัดกิจกรรมในวันนี้จึงถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของกองทุนฯ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกพร้อมทั้งสร้างคุณค่าแก่ชุมชนและสังคมในระยะยาว

“ผมขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกองทุนฯ รวมถึงอาสาสมัครทุกคนที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนจนกิจกรรมครั้งนี้  เกิดขึ้นได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมในวันนี้จะสร้างประโยชน์และแรงบันดาลใจให้แก่ทุกท่าน ช่วยสานต่อเป้าหมายของกองทุนฯ ในการขับเคลื่อนที่ประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ มีความยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 

และร่วมมอบสิ่งของจำเป็นทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคให้แก่วัดสวนสวรรค์ ซึ่งคาดหวังว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้จะสร้างประโยชน์ในเชิงบวกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้กับชุมชนในพื้นที่แห่งนี้

บอร์ดกองทุนดีอี อนุมัติงบ 2 พันล้าน หนุนพัฒนาเทคโนโลยี 3 ด้าน “การใช้ประโยชน์– ความปลอดภัย - พัฒนาบุคลากรดิจิทัล”

(3 ก.พ. 68) บอร์ดกองทุนดีอี เห็นชอบอนุมัติโครงการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอวกาศ พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 2 พันล้านบาท หนุนพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ 3 ด้าน “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ – ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล - การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล”

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) เพื่อเป็นการส่งเสริมในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งยังได้อนุมัติโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอวกาศ (Digital and Space Infrastructure Investment Policies) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวงเงิน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้าน Digital Technology (High Impact & Scalability) “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์” ด้าน Digital Trust & Security “ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล” และด้าน Digital Manpower “การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล” 

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า กรอบนโยบายการให้ทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชน ในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต 

ทั้งนี้ กองทุนดีอีเปิดให้ยื่นแบบคำขอรับทุนส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ผ่านทางระบบยื่นแบบคำขอฯ โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://defund.onde.go.th/

กองทุนดีอี อนุมัติงบ 2 พันล้านบาท หนุนพัฒนาดิจิทัล 3 ด้านสำคัญ การใช้เทคโนโลยี – ความปลอดภัย – พัฒนาบุคลากรดิจิทัล

บอร์ดกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อนุมัติวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงในโลกดิจิทัลและเตรียมบุคลากรสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว

ภายใต้กรอบนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่
📌 Digital Technology (High Impact & Scalability)
เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจและสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายผลกระทบเชิงบวกอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และบริการสาธารณะ โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง

📌 Digital Trust & Security
เสริมสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในโลกไซเบอร์ ด้วยการพัฒนาระบบป้องกันข้อมูลและการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยคุกคามดิจิทัลและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน

📌 Digital Manpower
มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับกำลังคนในยุคดิจิทัล ครอบคลุมทั้งทักษะเชิงเทคนิคและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมพิเศษ!
📅 วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้
กองทุนดีอี จัดกิจกรรม "คลินิกกองทุน"
เพื่อให้คำแนะนำและปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจยื่นขอทุน โดยจะแนะนำวิธีการดำเนินการและการเขียนข้อเสนออย่างไรให้มีประสิทธิภาพและน่าสนใจ

เปิดรับข้อเสนอโครงการ ปี 2568
ยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 มี.ค. 2568
เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการดิจิทัล ร่วมส่งข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพดิจิทัล และต่อยอดไอเดียให้เป็นจริง

🔗 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม:
https://defund.onde.go.th
🔗 ระบบยื่นคำขอ ขอรับทุน:
https://defund-rt.onde.go.th/

ร่วมต่อยอดไอเดียสู่ความสำเร็จ ด้วยโอกาสพัฒนาดิจิทัลที่คุณไม่ควรพลาด!
มาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไปด้วยกัน!

ให้คำปรึกษาผู้สนใจขอรับทุนในปี 2568 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตามยุทธศาสตร์แผนดีอี เตรียมปั้นโครงการใหม่ ๆ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และประโยชน์ของสาธารณะ

เมื่อวานนี้ (26 ก.พ. 68) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานเปิดกิจกรรมคลินิกกองทุน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี : DEF) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงาน จำนวน 100 คน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ รวมถึงมีผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์กว่า 100 คน

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (แผนดีอี) และแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีการจัดสรรทุนตามยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ในปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งมีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใน World Digital Competitiveness Ranking ในปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประชาชนคนไทย ในปี พ.ศ. 2570 มีคะแนนมากกว่าร้อยละ 80 ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า Digital Contribution to GDP ของปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 23.9 ขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัล หรือ WDCR ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 193 ประเทศ และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล หรือ digital literacy ของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 74.4 คะแนน (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจสถานภาพการเข้าใจดิจิทัลของปี 2568)

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวว่า การจัดสรรทุนของกองทุนดีอี หรือ DEF เป็นการให้ทุนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยหวังว่าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาดิจิทัลตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการดำเนินการระยะที่ 3 ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยบรรยากาศในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เต็มไปด้วยผู้ที่สนใจเข้ารับคำปรึกษาในการเขียนข้อเสนอโครงการเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเปิดโอกาสให้โครงการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและได้รับการจัดสรรเงินทุน เพื่อพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทยให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น พร้อมเข้าสู่ตลาดโลกในการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจขอรับทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านช่องทาง https://ondeptwebsite.emskynet.com/th/page/item/index/id/9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top