‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการโดรนสำรวจความสมบูรณ์ของป่าไม้ ชี้ ผลสำเร็จตามเป้า หลังเก็บข้อมูล 11 อุทยาน กว่า 10 ล้านไร่

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลสำเร็จในการดำเนินงาน โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 4 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้าที่กลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลความสำเร็จในการดำเนินงาน “โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ของ กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กองการบินฯ ได้ขอทุนสนับสนุนในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของประเทศและการดูแลประชาชน ในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ การบินลาดตระเวนทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ ในการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาจัดทำฐานข้อมูลแผนที่ป่าอุทยาน และพัฒนาระบบจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูงสำหรับสนับสนุนการจัดการพื้นที่ทำกิน ให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบแสดงผลข้อมูลสถานการณ์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านไฟป่าและน้ำป่าไหลหลากในรูปแบบ real time บน web map service และ mobile application เพื่อแจ้งเตือนประชาชน

โดยกองการบินฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ในโครงการตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ สามารถพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับแบบขึ้นลงแนวดิ่ง จำนวน 14 ระบบ แบ่งเป็น อากาศยานขนาดใหญ่ใช้ในการลาดตระเวนทางอากาศ จำนวน 4 ระบบ อากาศยานขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวน 10 ระบบที่ใช้ในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายทางอากาศแบบหลายช่วงคลื่น แล้วนำไปเก็บข้อมูลทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าจำนวน 11 อุทยาน บนพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ และพัฒนาระบบบริหารจัดการในการใช้งาน ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ในโครงการ เป็นฐานข้อมูลในการปฏิบัติงานและบูรณาการการใช้งานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดการบุกรุกพื้นที่ป่า การบริหารจัดการพื้นที่ทำกิน รวมถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่า น้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนได้ทราบอย่างทันท่วงที โดยกองการบินได้สาธิตการทำงานของอากาศยานไร้คนขับในแต่ละระบบ โดยจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ณ สนามบินเล็กพัทยา จ.ชลบุรี มีผลความสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี