Wednesday, 23 April 2025
NEWS FEED

ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ขอรัฐบาลผ่อนปรนอนุญาตให้มีการขนส่งข้ามจังหวัด ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ผู้ประกอบการแพปลา และรถบรรทุก พื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้

ก่อนรถบรรทุก - ที่ดินทำกินจะถูกยึดใช้หนี้ หวังให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นหน่วยงานกลางดูแลการรับซื้ออาหารทะเลจากเกษตรกรสู่โรงงาน

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่ จนทำให้มีการจำกัดการเดินทาง และควบคุมโรคในบางพื้นที่ โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่นั้นต้องกักตัว 14 วัน

ทั้งนี้มาตรการการป้องกันโรคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าอาหารทะเลในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้ประกอบการแพปลาที่ต้องรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เมื่อสินค้าไม่สามารถส่งเข้าโรงงานแปรรูปอาหารทะเลได้ ซึ่งพบว่าขณะนี้มีสินค้าอาหารทะเลตกค้างอยู่ในพื้นที่และไม่สามารถขนส่งไปยังโรงงานผู้รับที่ต้องการวัตถุดิบได้เป็นจำนวนมาก

“ผมได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ประกอบการประมงแพปลา รถบรรทุก ทั้งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ถึงอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า ทำให้มีสินค้าอาหารทะเลตกค้างอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงขณะนี้ภาคใต้กำลังอยู่ในช่วงมรสุม มีฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดโรคในสัตว์น้ำ โดยหากมีการระบาดรุนแรงอาจทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายอย่างหนักมากขึ้น ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน” นายสัณหพจน์ กล่าว

สำหรับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 เบื้องต้นภาครัฐสามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันในระยะแรกที่มีการระบาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ในทันที โดยให้รถบรรทุกที่จะเดินทางข้ามจังหวัดสามารถขออนุญาตรับใบหนังสือเดินทางจากส่วนราชการในพื้นที่ต้นทางได้ พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรค ขอให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกไม่ออกจากบริเวณที่กำหนดไว้ เมื่อขนส่งสินค้าเสร็จแล้ว พักผ่อนอยู่ภายในรถหรือสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ และเดินทางกลับ

รวมทั้งขอฝากไปยังองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ประกอบการประมงแพปลา และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล บูรณาการความร่วมมือกันในการดูแลขั้นตอนการรับซื้อสินค้า

นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า มีผู้ประกอบการรถบรรทุกอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังประสบปัญหาขาดรายได้ จนทำให้ขาดส่งเงินกู้และกำลังจะถูกยึดรถจากบริษัทไฟแนนซ์ โดยขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วย

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘ชวน หลีกภัย’ แจง การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากฝ่ายค้านพร้อม ยื่นได้ทันที แต่ถ้าไม่ทันการประชุมสภาสมัยสามัญ ไม่สามารถยื่นในสมัยวิสามัญได้ แต่ไม่ปิดทาง ‘เปิดเป็นกรณีพิเศษ’ หากโควิดยังระบาดรุนแรง

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากไม่ทันการประชุมสภาสมัยสามัญ สามารถยื่นอภิปรายในสมัยวิสามัญได้หรือไม่ ว่า ไม่สามารถทำได้ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในการประชุมสมัยสามัญ ยังมีเวลาอีก 2 เดือนจึงจะปิดสมัยประชุม ทั้งนี้ หากจะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไหร่ก็ได้ จะเสนอพรุ่งนี้ก็ได้ถ้าพร้อม

รวมทั้งเรื่องของพี่น้องประชาชน ตนได้สั่งเอาไว้แล้วให้เสนอเข้ามา รัฐสภาก็จะส่งต่อไปให้ฝ่ายบริหารดูแล ดังนั้น ตนจึงบอกว่าอย่าพยายามให้ปัญหาโควิด-19 มาเป็นอุปสรรคในการดูแลปัญหาของประชาชน แต่แน่นอนว่าในช่วงที่ไม่มีประชุมคนที่อยากจะพูด และถ่ายทอดตนเองออกไปอาจจะไม่มี แต่ถ้ามีปัญหาชาวบ้านจริงๆก็สามารถส่งมาได้ตลอด ในขณะนี้ก็มีมาตลอด ซึ่งเมื่อส่งเรื่องมาเราก็ส่งเรื่องไปให้ฝ่ายบริหารทันที

เมื่อถามว่า หากฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 28 ก.พ.นี้ แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย มีโอกาสที่จะเปิดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีการอภิปรายเป็นไปได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะโรคนี้มีความเสี่ยง แต่ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น

“สมัยประชุมปิดวันที่ 28 ก.พ.นี้ มีเวลาอีก 2 เดือน ซึ่งจะยื่นเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของฝ่ายค้าน ไม่ได้อยู่ที่สภา อาจจะขลุกขลักบ้าง แต่ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของแต่ละฝ่าย ถ้าพร้อมยื่นพรุ่งนี้ก็ได้ ส่วนจะบรรจุระเบียบวาระเมื่อไหร่ก็ต้องหารืออีกครั้ง ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายที่ยื่นว่าจะเอาวันไหน” นายชวน กล่าว

เมื่อถามถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ หากปิดประชุมไปจะส่งผลต่อความคืบหน้าในการแก้ไข นายชวน กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีอุปสรรคปัญหา ส่วนนี้เป็นเรื่องความระมัดระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นเอง

ซึ่งเราต้องยอมรับมาตรการที่กำหนดบ้าง จะปล่อยไม่สนใจเลยไม่ได้ เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) ก็ต้องเชิญทุกพรรคมา เพราะรู้ว่าถ้าไม่เชิญทุกพรรคก็จะไปพูดในทำนองที่เสียหาย จึงต้องให้ทุกคนได้พูด ได้แสดงความเห็น ส่วนกมธ.ที่แก้ระเบียบข้อบังคับว่าให้ประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะแล้วเสร็จ เพื่อให้กมธ.สามารถประชุมต่อได้

“บิ๊กตู่” ยืนยัน พื้นที่ 5 จังหวัด ที่ยังมีความสับสนและให้ข่าวไม่ตรงกัน ยังไม่ใช่การล็อกดาวน์ พร้อมเผย สั่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่ม 35 ล้านโดส ให้พอกับคนไทยเกือบ 60 ล้านคน

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าว ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กไลฟ์ ไทยคู่ฟ้า โดยยืนยันว่า สำหรับพื้นที่ 5 จังหวัด ที่ยังมีความสับสนและให้ข่าวไม่ตรงกัน ยืนยันว่าไม่ใช่การล็อกดาวน์ ซึ่งการล็อกดาวที่เคยทำมาก่อนหน้านี้นั้น คือการห้ามเดินทาง อยู่แต่ภายในบ้าน บ้านเมืองเหมือนบ้านร้าง แต่เรายังไม่ไปถึงตรงนั้นเพราะเรามีมาตรการที่เข้มข้น ทั้งมาตรการการเข้าพื้นที่และมาตรการอื่นๆ ยืนยันว่าไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่หากวันข้างหน้า ยังแก้ปัญหาไม่ได้อีกก็คงต้องล็อกดาวน์ อันนี้ต้องพูดให้ชัดเจน

“อยากให้ทุกคนที่เข้าไปเล่นพนันยังบ่อนการพนันต่างๆ ขอให้เข้าไปสู่ระบบการคัดกรองโรค ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ลงโทษ เพื่อรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม และ ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานหนักและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ได้มีการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นการเตรียมเงินงบประมาณรองรับเรื่องของวัคซีนระยะแรกสำหรับการจัดซื้อวัคซีน 2,000,000 โดส โดยในปลายเดือนมีนาคม เราจะได้รับวัคซีนเข้ามา ประมาณ 80,000 โดส สำหรับประชาชนประมาณ 400,000 คน และในเดือนเมษายนเราจะได้เพิ่มอีก 1,000,000 โดส เพียงพอกับประชาชน 500,000 คน และปลายเดือนพฤษภาคม เราจะได้เพิ่มมาอีก 26,000,000 โดส โดยทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งไทยและต่างประเทศ

และวันนี้มีการสั่งจองเพิ่มวัคซีนไว้อีกจำนวน 35,000,000 โดส รวมทั้งหมดเราจะมีวัคซีนเกือบ 60,000,000 คนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนตามระยะเวลาที่เราได้วัคซีนเข้ามา ซึ่งจะเพียงพอกับประชาชนตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องมีการฉีดจำนวนคนละสองโดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยจะเป็นการทยอยฉีดตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่หน้างานใกล้ชิด บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ตรวจสอบคัดกรอง หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรง กลุ่มประชาชนสูงอายุ กลุ่มประชาชนที่มีโรคเรื้อรัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของภารเอกชน อาทิ ธุรกิจเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชน เปิดโอกาสให้จัดหาได้แต่จะต้องมีมาตรฐานการรับรอง และภายใต้ควบคุมการใช้จาก อย. ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจกระทรวงการคลังสำนักงบประมาณและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาดูแลเรื่องผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่าที่ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ 5 จังหวัดเพราะเกรงว่าจะต้องจ่ายเงินเยียวยาตามที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบเพียงว่า พูดไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิค-19 ว่า ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ไปพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไรในช่วง 2 เดือนนี้

ส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือเดิมอยู่แล้ว ก็ต้องยืดระยะเวลาออกไป เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน ที่มีการจ่ายค่ามัดจำที่พักไปแล้ว ก็ขอให้ยืดระยะเวลา โดยเบื้องต้น ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการแล้ว ทั้งนี้ย้ำว่า จะต้องช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก และยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินเพียงพออยู่

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความสับสนเกี่ยวกับโครงการคนละครึ่งที่มีการเผยแพร่ว่ามีการเก็บภาษีของผู้ที่ได้รับสิทธิ์โดยระบุว่า ไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน เพราะรัฐบาลออกมาตรการออกมาก็เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จะไปเก็บภาษีได้อย่างไรก็ไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ทำความเข้าใจให้ดี เพราะวันนี้ต้องร่วมมือกัน

ร้านชาบูดัง ‘ปลาวาฬใจดี’ สาขาซอยมัยลาภ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ค ยินดีรับชำระด้วย ‘ธนบัตรที่ระลึก’ ทุกชนิด หลังสาขาแกรนด์ โนนม่วง ขอนแก่น ประกาศไม่รับชำระด้วย ‘ธนบัตรที่ระลึก’ แต่กลับรับ ‘แบงค์เป็ด’ ของคณะราษฎร ใช้เป็นส่วนลดได้

โดยทางร้านปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ" ได้โพสผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า

ประกาศ..จาก "สาขามัยลาภ (กทม.)"

ปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ" เป็นระบบเฟรนไชน์ ตั้งอยู่ที่ 129 ซอยประเสริฐมนูกิจ 29(รามอินทรา14หรือซอยมัยลาภ) เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร และเป็นคนละเจ้าของกับสาขาที่ขึ้นป้ายเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึก

ปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ" ขอแจ้งให้ทราบว่า ทางสาขาเรารับธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกชนิด ทุกราคา 1 บาท 10 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาทและ 1,000 บาท ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายที่ลูกค้านำมาใช้จ่าย ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ทางร้านปลาวาฬใจดี ยังร่วมแคมเปญ "โครงการคนละครึ่ง" และ "เราเที่ยวด้วยกัน" อีกด้วย

ที่มา : Facebook : ปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ"

‘หมอธีระ วรธนารัตน์’ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat วอนร้านอาหาร-ภัตตาคาร งดให้นั่งกินในร้าน แม้ภาครัฐไม่สั่งการ ย้ำเพื่อปกป้องกิจการของตัวเองด้วย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เรียนท่านผู้ประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภัตตาคาร และผู้บริหารโรงอาหารและศูนย์อาหารทุกท่าน

สถานการณ์ระบาดที่รุนแรงเช่นที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมขอเรียนท่านตรง ๆ ว่า หากท่านเปิดให้คนมานั่งรับประทาน ไม่ว่าจะจัดการเช่นไร ก็จะยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ครับ

ทั้งจากผู้ให้บริการ หรือจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นใครก็ล้วนมีโอกาสติดเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัวได้ และหากเกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อกิจการของท่านเอง ลูกค้า รวมถึงคนอื่น ๆ ในสังคม

สิ่งที่เราควรทำตอนนี้คือ การเปิดบริการโดยขายเฉพาะให้นำกลับไปทานที่บ้าน (take away only) เท่านั้นครับ

ทำแบบนี้ไม่ใช่เพื่อปกป้องลูกค้าและสังคม แต่เป็นการปกป้องกิจการของท่านด้วยครับ

แม้รัฐไม่สั่งการ แต่เรารู้ว่ากำลังระบาดหนัก นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ท่านรอดได้ครับ มิฉะนั้นการระบาดซ้ำครั้งนี้จะมีโอกาสรุนแรงมาก และส่งผลกระทบในระยะยาว

หากท่านทำได้ โปรดช่วยกันทำเถิดครับ

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้าเร่งดำเนินการทางกฎหมาย กับคนโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันฯ ทางสื่อออนไลน์ หลังแจ้งความนานกว่า 2 เดือน แต่ยังไม่คืบหน้า

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ตนไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อกรณีการกระทำความผิดโพสต์ข้อความมีเนื้อหาและภาพไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันฯ ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้เน้นย้ำให้กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ปท.) กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งขอคำสั่งศาลส่งไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการทางกฎหมาย ไปแล้วนานกว่า 2 เดือน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการสืบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ขณะที่พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563 มีผู้โพสต์เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(3),(5) รวมทั้งสิ้น 638 URLs (รายการ) พนักงานเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว 26 บัญชี ซึ่งได้แจ้งความให้ทาง ปอท.แล้ว และทราบว่าต้นเดือนนี้ปอท. เตรียมเรียก 9 รายมาสอบสวน ซึ่งพบว่าเป็นคนเดิมที่กระทำผิดซ้ำหลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะเรียกรายอื่น ๆ ที่พิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วและจะเรียกพบเจ้าหน้าที่ในลำดับต่อไป

ขณะเดียวกัน ดีอีเอส ยังคงเดินหน้า แจ้งความเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มต่างชาติ 2 ราย ที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการปิดกั้นหรือลบข้อความไม่เหมาะสม ตามคำสั่งศาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งไป รวม 7 ชุด ทั้งหมด 8,443 URLs(รายการ) โดยFacebook มากสุด 5,494 URLs ลบข้อความบางส่วน แต่ยังคงเหลือ 2,387 URLs และTwitter คงเหลือจำนวน 611 URLs ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย 15 วัน โดยกระทรวงดิจิทัลฯได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ให้บริการทั้ง 2 รายต่อ ปอท.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามกระบวนการกฎหมาย และประสานอัยการสูงสุด กรณีเฟซบุ๊ก ที่ล่าสุด อัยการสูงสุดได้รับเป็นคดีนอกราชอาณาจักรแล้ว

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ประกาศล็อกดาวน์อังกฤษและสก็อตแลนด์ทั่วประเทศรอบใหม่ หลังโควิด-19 กลายพันธุ์ ดันยอดติดเชื้อพุ่ง

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบใหม่แล้ว เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นและกำลังคุกคามระบบสาธารณสุขของอังกฤษอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ในทันที

นายจอห์นสัน ได้ออกแถลงการณ์ ถ่ายทอดสดทั่วประเทศในวันจันทร์ (4 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และจะออกนอกบ้านได้ก็ต่อเมื่อต้องซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดทำการ นอกจากนี้ ร้านค้าที่ไม่จำเป็น และธุรกิจบริการที่พักอาศัยจะต้องปิดทำการเช่นกัน

ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลอาจจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนก.พ. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดหวังว่าผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชราทุกคน, ประชากรที่มีอายุเกิน 70 ปี และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าด้านสาธารณสุข จะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด

อย่างไรก็ดี นายจอห์นสันยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับช่วงเวลาในการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเข้มงวด

ไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งขึ้นเกือบแตะระดับ 27,000 รายในอังกฤษ ซึ่งสูงกว่าในช่วงแรกเริ่มของการแพร่ระบาดในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ล่าสุดนับจนถึงวันจันทร์ อังกฤษมีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 58,784 ราย เเละเป็นวันที่เจ็ดติดต่อกันที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 50,000 คน ที่ผ่านมาอังกฤษพบผู้ติดเชื้อเเล้วกว่า 2.6 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดมากกว่า 75,000 คนตามรายงานของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์

ทั้งนี้ การประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเป็นประเทศแรกเมื่อวานนี้

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 มกราคม 2564 สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท

การประชุมครม. ผ่านระบบ Video Conference สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หลังจากผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มี สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% เป็นไปตามประมาณการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงเหลือ 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.5% โดยยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งในโครงสร้างของงบประมาณนี้ ส่วนใหญ่กว่า 75% เป็นงบประจำ โดยมีกรอบวงเงินงบประจำ อยู่ที่ 2.354 ล้านล้านบาท และมีงบลงทุนอยู่ที่ 6.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 19% ของวงเงินงบประมาณรวม

ส่วนวาระอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน และร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง รวม 2 ฉบับ

ขณะที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ออกไปอีก 45 วัน หรือประมาณสิ้นเดือน ก.พ. เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตามมติของที่ประชุมศูนย์ ศบค. และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง

‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ลั่น ประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ แต่คือประเทศ แนะแนวทางรับมือโควิด-19 จี้ รัฐเร่งเยียวยาทั่วถึง ‘ยึดหลักความได้สัดส่วนและเสมอภาค’ ชี้ ระยะสั้นใช้ 4 แสนล้าน ชดเชยถ้วนหน้า 3 พัน 3 เดือน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์พิเศษ ในหัวข้อ "ประเทศไทย 2021: ข้อเสนอจัดการโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ" เพื่อนำเสนอทางเลือกในการจัดการกับวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ

โดยระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก ถึงวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดมากถึง 745 คน วิกฤติดังกล่าวทำให้ตนต้องมาพูดถึงข้อเสนอในการจัดการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหนและจะใช้ชีวิตอย่างไรในปี 2564 นี้ ซึ่งในทางหลักการแล้ว การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจำเป็นจะต้องยึดหลักการที่สำคัญสองหลักการ นั่นคือ 1.ความได้สัดส่วน และ 2. การตั้งอยู่บนความเป็นธรรมและความเสมอภาค

ความได้สัดส่วน หมายความว่ามาตรการที่ออกมาจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่รุนแรงจนเกินเหตุ หรือไม่อ่อนจนเกินเหตุ เช่น ถ้าเราขอให้ประชาชนหยุดงานเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนและให้ค่าชดเชยเพียงวันละ 100 บาท สิ่งนี้ไม่ได้สัดส่วน เพราะการเสียเวลาและโอกาสทางเศรษฐกิจต่อวันทีค่าสูงกว่านั้น

ส่วนเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ให้คุณหรือไม่ให้โทษกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่าง ถ้าบริเวณเดียวกันมีสถานที่สองแห่ง ที่หนึ่งถูกสั่งปิด แต่อีกที่หนึ่งมีลักษณะการใช้พื้นที่แบบเดียวกันแต่ไม่ถูกสั่งปิด นี่คือความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม

นายธนาธร กล่าวว่า การจะฝ่าฟันวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ด้วยกัน จะต้องรักษาความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลกับประชาชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยความสามัคคี จะยึดหลักเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดรัฐบาลต้องทำให้เห็น

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี 2563 นั้น มาตรการต่างที่รัฐบาลออกมาดูเหมือนจะยังไม่เคร่งครัดบนหลักความได้สัดส่วนและความเท่าเทียมเป็นธรรม เช่น กรณีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าดิวตี้ฟรีในสนามบิน มาตรการนี้ออกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบินได้รับการชดเชย ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกว่าที่ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยา ก็ตกไปเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ การออกมาตรการในช่วงที่ผ่านมายังทำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เช่น ในเขตปทุมวัน เราเห็นห้างสรรพสินค้าหลายห้างที่ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ แต่เราเห็นสถานศึกษาหลายแห่งถูกสั่งให้ปิดการเรียนการสอน ทั้ง ๆ ที่สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในบริเวณเดียวกัน

นอกจากนี้ การปิดโรงเรียน 28 จังหวัดยังทำให้เกิดผลกระทบกับนักเรียนถึง 4.4 ล้านคน เป็นอย่างที่พวกเราทราบกันดี ว่ากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากการปิดการเรียนการสอนนี้ คือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้โอกาสได้รับการศึกษา ในช่วงการเรียนออนไลน์ รวมทั้งกรณีในจังหวัดนครนายก ที่โรงเรียนและสถานศึกษาอื่น ๆ ถูกสั่งให้ปิด แต่โรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไม่ถูกสั่งปิด

ในส่วนของปัญหาวัคซีน นายธนาธร กล่าวว่า ตอนนี้ที่เป็นข่าวอยู่คือทางรัฐบาลได้ร่วมมือกับ Siam Bioscience และบริษัท AstraZeneca ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยจำนวน 26 ล้าน dose 1 คนใช้ 2 dose เพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แผนนี้เราไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดเลยว่าคนที่เหลือจะทำอย่างไร จะจัดสรรด้วยงบประมาณอย่างไร ที่จะทำให้คนได้วัคซีนอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำทันทีคือสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าวัคซีนในประเทศไทยจะเข้าถึงคนทุกคน จนทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ ประชาชนคือประเทศ

นายธนาธร กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาจำเป็นที่เราจะต้องดูแลเรื่องความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ในขณะที่ประชาชนกำลังดูแลกันเองอย่างเต็มกำลัง เพื่อทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ การเสียสละของประชาชนเป็นไปเพื่อส่วนรวม แต่กลับเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบและได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดังนั้น เราจึงเสนอว่าการเยียวยาจะต้องไม่เป็นไปแบบเฉพาะกลุ่ม เราเสนอให้การเยียวยาเป็นไปอย่างถ้วนหน้า นั่นคือการเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าชั่วคราว (Temporary Universal Basic Income) 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นวงเงิน 4 แสนล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้ จากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติมาจากสภา มีการอนุมัติโครงการได้แล้ว 4.9 แสนล้านบาท เราเสนอว่าจำนวนเงินที่เหลือ 4 แสนล้านบาทเอามาตั้งเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ส่วนที่เหลือกันไว้เพื่อนำไปซื้อวัคซีนสำหรับทุกคน

แจ้งความออนไลน์!! 3 สน. 'ปทุมวัน-บางรัก-ลุมพินี'​ เผุดไอเดีย​ นัดแจ้งความออนไลน์​ ไม่ต้องคอย​ เริ่ม​ 7​ ม.ค.

แจ้งความออนไลน์!!
3 สน. 'ปทุมวัน-บางรัก-ลุมพินี'​ เผุดไอเดีย​ นัดแจ้งความออนไลน์​ ไม่ต้องคอย​ เริ่ม​ 7​ ม.ค.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top