Monday, 28 April 2025
ECONBIZ NEWS

สปส.ห่วงความปลอดภัยนายจ้าง ผู้ประกันตน แนะติดต่องานประกันสังคม ห่างไกลโควิด-19 ผ่านช่องทาง SSO e-Service หรือระบบออนไลน์

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่บางแห่งเป็นการชั่วคราว การงดจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งให้ลดการรวมตัวกันเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำนักงานประกันสังคมได้ตอบสนองมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ประกันตน ผู้ใช้บริการ และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมกับสำนักงานประกันสังคม ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามายังสำนักงานประกันสังคม ได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้

กรณีผู้ประกันตน ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ ท่านสามารถรับแบบขอรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ช่องทาง download แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทนใน www.sso.go.th และส่งแบบพร้อมเอกสารได้ที่ไปรษณีย์ลงทะเบียน (AR ตอบรับ) โทรสาร (Fax) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) แอพพลิเคชั่น (Line) รายละเอียดของแต่ละหน่วยงานท่านสามารถเข้าดูได้ที่ www.sso.go.th หรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานประกันสังคม สามารถติดต่อสอบถามที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ผ่านช่องทาง E-mail : [email protected] Webboard (กระดานสนทนา) Live Chat รวมทั้ง Facebook.com/ssofanpage สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

กรณีนายจ้างขอทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นายจ้างเข้าช่องทาง e-Service ในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ในหัวข้อบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอ User สถานประกอบการ และ Password เพื่อการนำส่งข้อมูลเงินสมทบ แจ้งผู้ประกันตน เข้า-ออก จากงาน หรือแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประกันตน พร้อมชำระเงินสมทบของผู้ประกันตน ผ่านระบบ e-payment ได้ตลอดเวลา

กรณีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกันตน สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ยอดเงินชราภาพ และการรับสิทธิประโยชน์รวมถึงเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทุกกรณี โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ช่องทางระบบสมาชิก ผู้ประกันตน ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือทางโทรศัพท์มือถือ สามารถดาวน์โหลด Application SSO Connect หรือสอบถามผ่าน facebook Messenger ของสำนักงานประกันสังคม หรือโทรสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานประกันสังคมจึงขอความร่วมมือ นายจ้าง ผู้ประกันตน ใช้ช่องทางดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการรวมตัวกัน ป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สำนักงานประกันสังคม พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือป้องกันและควบคุมโรค เพื่อความมั่นคงต่อชีวิตและความปลอดภัยต่อสุขภาพของพี่น้องผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

'ล็อกเป้า เล็งทิศ' เศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทย ใน 5​ ปี พร้อมแผนจุดติดเศรษฐกิจไทย หลังยุคโควิด

(24 พ.ค. 64) สัมมนาวิชาการ ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า “EEC Macroeconomic Forum” ในรูปแบบออนไลน์ (VDO conference) โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดำเนินการ และมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่...

ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พร้อมกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกว่า 600 คน

สัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นักวิชาการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ร่วมหารือแนวทางเตรียมพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยการสัมมนาวิชาการฯ ได้นำเสนอภาพเศรษฐกิจไทยว่าจะเติบโตจากปัจจัยใดหลังโควิด-19 อาทิ...

>> การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่สร้างมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีการผลิต และส่งออกสินค้าให้เท่าทันโลก

>> ความจำเป็นของข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการกระจายความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางรายได้และการศึกษา

>> การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับประเด็นสำคัญ สัมมนาประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า พบว่า...

เศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 และการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 กรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่าง 1.0-2.0% และปี 2565 จะขยายตัวระหว่าง 1.1-4.7% ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัว และมาตรการการคลังของภาครัฐมีความสำคัญช่วยบรรเทาเยียวยาได้ ให้ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในเกณฑ์ รวมทั้งนโยบาย

ด้านการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเต็มที่ ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดประวัติการณ์ และมาตรการช่วยเหลือประชาชน เอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงิน จะช่วยคลายความกังวล อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ให้มีแนวโน้มลดต่ำลง และช่วยลดการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจากโควิด-19

มาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ และประมาณการความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางจากมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน และครอบคลุม ด้านสาธารณะสุข ด้านผลกระทบระยะสั้น และด้านการฟื้นฟูระยะยาว

ทั้งนี้ ในส่วนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 54.3% ต่อ GDP ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% และอยู่ในวิสัยที่ประเทศไทยเคยเผชิญจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ด้านการก่อหนี้ภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ โดยการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท นั้น อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้น (Gross debt) เกินกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย แต่จะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อ GDP เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (Bond) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน

ความเหลื่อมล้ำ : โจทย์สำคัญหลังโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญ 3 ด้าน ที่ต้องเผชิญ ได้แก่

การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse trend) ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวง เพื่อหางานทำ ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง โควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 15 ล้านคน เป็นคนไทย 1.5 ล้านคนจากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน (เท่ากับจำนวนคนจนปี 2559)

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัด ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว​ โดยสหประชาชาติประเมินว่า ในปีหน้า 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และในปี 2573 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ (Super aged society) และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง

ในส่วนของประมาณการศักยภาพของประเทศ ในแผน 13 (5 ปีข้างหน้า) นั้น​ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศ หายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นชนวนสำคัญเร่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด-19 ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4 % ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ทั้งนี้ การจัดทำแผน ฯ 13 ในปี 2565 ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น เช่น สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ และการเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในระยะยาวของประเทศต้องดำเนินการอย่างมีระบบในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'อลงกรณ์' เดินหน้าเพชรบุรีโมเดลขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ '1 ปิด 1 เปิด' สู้ภัยโควิด-19 ลงพื้นที่ระดมพลคนเกษตรร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนขยายเศรษฐกิจการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตร 'ท่ายาง-บ้านลาด' ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มยอดขายขยายการค้าช่วยเกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายใต้ข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทีมเกษตรเพชรบุรี ได้เริ่มเดินหน้าเพชรบุรีโมเดล ด้วยยุทธศาสตร์ '1 ปิด 1 เปิด' อย่างต่อเนื่องหลังจากช่วยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดในชุมชนโรงงานกลุ่มคลัสเตอร์แคลคอมพ์แล้ว

โดยเมื่อวันอาทิตย์ (23 พ.ค.) ที่ผ่านมาตนและคณะประกอบด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด นางวันเพ็ญ มังศรี, นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย, นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตร, นายอรรถพร พลบุตร คณะที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข, ดร.ทัดทอง พราหมณี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, ดร.บัญญัติ ศิริธนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ AIC และคณบดีคณะเกษตรพร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด พร้อมด้วยนายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ประธานหอการค้า, นางอารี โชติวงศ์ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานบริษัทประชารัฐเพชรบุรี ทีมกรมประชาสัมพันธ์, นายหยัน เยื่อใยประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรท่ายาง, นายฟื้น พูลสมบัติ ประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด และผู้บริหารแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต (Thailand postmart) ได้ลงพื้นที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายางและตลาดกลางสินค้าเกษตรบ้านลาดพร้อมรับฟังบรรยายสรุปและร่วมประชุมหารือโครงการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดใหม่เสริมการค้าแบบออฟไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายเศรษฐกิจการค้า ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวโดยจะเร่งดำเนินการเริ่มคิดออฟการค้าออนไลน์ทั้งการค้าแบบ B2B และ B2C ภายใน 10 วัน

นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ สมุนไพร สินค้าประมงและปศุสัตว์ในตลาดกลางสินค้าเกษตรทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ในการกำกับของกระทรวงเกษตรฯ เพียงจุดเดียวในรัศมี ตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงกาญจนบุรีและสมุทรสาคร พร้อมกับให้คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซนำระบบสั่งซื้อล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Pre order platform) มาใช้ด้วยหลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดทุเรียนในประเทศจีน ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ระบบประกันสินค้า ระบบสร้างแบรนด์สหกรณ์และสินค้าเกษตรมาใช้ด้วยและจะร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ AIC เพชรบุรีในการอบรมบ่มเพาะด้านอีคอมเมิร์ซซึ่งจะให้ทีม Local Hero ที่ผ่านการฝึกอบรมการขายออนไลน์ของกระทรวงเกษตรมาช่วยสนับสนุนการทำงานและการสร้างคอนเท้นต์ของสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรเร่งตรวจประเมินขึ้นทะเบียนรับรอง GAP และ GMP เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้บริษัทไปรษณีย์ไทยจะจัดตั้งหน่วยบริการพิเศษในตลาดกลางทั้ง 2 แห่ง เพื่อบริการการขนส่งทั้งระบบปกติและระบบควบคุมความเย็น (Cool container) สำหรับผักและผลไม้โดยใช้แพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต

ในขณะที่พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจะช่วยด้านข้อมูลสถานประกอบการและโรงงานในกลุ่มเป้าหมาย B2B

สำหรับสหกรณ์การเกษตรท่ายางและบ้านลาดรับผิดชอบการพัฒนาตลาดกลางและการคัดเลือกเกษตรกร รวมถึงสินค้าเกษตรให้พร้อมขึ้นด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยที่ประชุมกำหนดเป้าหมายให้เริ่มการขายออนไลน์ภายใน 10 วัน ภายใต้ความพร้อมทั้งต้นน้ำการผลิต การแปรรูปการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การจัดการตลาด การพัฒนาคน การบริหารโลจิสติกส์ การบริหารธุรกิจและแพลตฟอร์มออนไลน์ภายใต้แบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบุรีที่สดสะอาดปลอดภัยจากไร่ถึงลูกค้า

นายอลงกรณ์กล่าวในตอนท้ายว่า "เราระดมพลคนทุกภาคส่วน ปิดเกมโควิดให้เร็วที่สุดพร้อมกับเปิดธุรกิจการค้าให้กว้างที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน 'ยุทธศาสตร์ 1 ปิด 1 เปิด' โดยเริ่มที่เพชรบุรีโมเดลเป็นจังหวัดแรกก่อนขยายไปจังหวัดอื่น ๆ ประการสำคัญคือเพชรบุรีอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัดแรกที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับการท่องเที่ยวจึงต้องเร่งมือเตรียมจังหวัดเพชรบุรีให้พร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต"


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สศช.เปิดสถิติสังคม ไตรมาส1/2574 คนว่างงานพุ่ง 7.6 แสนคน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2564 ว่า ภาวะการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น 0.4% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคเกษตรตามภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวยังหดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96%สูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามขณะจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

ทั้งนี้มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ถ้าโควิดยังไม่จบลงง่าย ๆ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอีตกงานมากขึ้น หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่า 7 ล้านคน อาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ และยังพบว่าตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ในปี 64 ที่จะมีอีกประมาณ 4.9 แสนคน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาส ติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น หรือว่างงานมากกว่า 12 เดือน โดยการว่างงานเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และทำให้ทักษะแรงงานลดลง อีกทั้งแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากได้กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ตั้งแต่การระบาดรุนแรงในปี 63 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และขาดหลักประกันทางสังคมด้วย

สำหรับแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 64 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อน COVID-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 64 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

ทั้งนี้ไตรมาส 1/64 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 65.4% เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 94.3% ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลง 74.0% และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลง 41.4%แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว อาทิ การบริโภคผักและผลไม้น้อย การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงกว่ากลุ่มอื่น

จับตาหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระทบกำลังซื้อ-แรงงานรายได้หาย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 64 ว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 64 จะยังคงอยู่ในระดับสูง หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักตั้งแต่ต้นปี โดยตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจนทำให้รายได้ลดลง และส่งผลให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจากนี้ประเมินว่า ครัวเรือนจะมีการกู้เงินมาใช้ประคองชีวิตตัวเองมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต  

ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นต้องดูดัชนีมูลค่าเงินฝากต่อบัญชีที่ต่ำกว่า 100,000 บาท ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าคนเอาเงินฝากมาใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากครัวเรือนประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือดูแลในช่วงต่อไป สภาบันการเงินต่าง ๆ ควรช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ย เพื่อให้ครัวเรือนที่เดือดร้อนได้มีเงินไปใช้จ่ายรายเดือนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังเรื่องหนี้นอกระบบที่อาจเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะครัวเรือนรายได้น้อยอาจหันไปกู้หนี้นอกระบบจนซ้ำเติมปัญหาหนี้เดิมที่มีอยู่ 

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ปี 63 พบว่า มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว

Forbes เปิดโผ แบงก์ ICBC ครองเบอร์ 1 บริษัทมหาชนใหญ่สุด 9 ปีติด

นิตยสาร Forbes ประกาศการจัดอันดับบริษัทมหาชน 2,000 แห่ง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประจำปี 2564 หรือ (2021 GLOBAL 2000 : THE WORLD’S LARGEST PUBLIC COMPANIES) ปรากฏว่าอันดับ 1 ยังคงเป็นธนาคารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของจีน (ICBC) ที่ครองแชมป์โลกมาอย่างยาวนานเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน

ขณะที่ ปตท. ยังคงครองอันดับหนึ่งของบริษัทมหาชนสัญชาติไทย โดยใน 1,000 อันดับแรก มีบริษัทจากไทยติดโผ 6 บริษัท


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

อินเตอร์ลิงค์ ลุยเจาะตลาดภาคใต้ จัดสัมมนาออนไลน์ อัปเดตโซลูชั่น สายสัญญาณและอุปกรณ์เชื่อมต่อ

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธาน กลุ่ม อินเตอร์ลิ้งค์ฯ จัดสัมมนา Total Cabling & Networking Solution ให้กับกลุ่มลูกค้าจากภาคใต้กว่า 140 คน พร้อมนำทีมวิทยากรชั้นนำมา Update Solution สายสัญญาณและอุปกรณ์การเชื่อมต่อ ที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจแก่กลุ่มลูกค้าภาคใต้โดยเฉพาะ Live จากสนง.ใหญ่ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

‘อลงกรณ์’ ร่วมปกป้องเพชรบุรี ระดมพลคนเพชรฯ ผนึก 3 กระทรวง ‘เกษตร-สาธารณสุข-พาณิชย์’ สนับสนุนทีมจังหวัดเดินหน้ายุทธศาสตร์ ‘1ปิด1เปิด’ เร่งขจัดโควิด ‘สาธิต’ ยืนยันเตรียมส่งวัคซีนระดมฉีดโดยเร็ว ‘กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย’ พร้อมมอบเงินสนับสนุนโรงพยาบาลพระจอมเกล้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะอดีตส.ส.เพชรบุรี เปิดเผยวันนี้ว่า (21 พ.ค.) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากคลัสเตอร์โรงงานแคลคอมพ์ ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีที่รุนแรงมากขึ้น ตนจึงได้ประสานกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับระดมพลคนเพชรบุรีและภาคเอกชนร่วมมือกันเดินหน้ายุทธศาสตร์ ‘1ปิด1เปิด’ สนับสนุนจังหวัดเพชรบุรีในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทันทีตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เป็นต้นไป

จากการประสานงานกับทีมจังหวัดเพชรบุรีและดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 22 พ.ค. 64 (กรมปศุสัตว์โดยด่านเพชรบุรีจะส่งทีมฉีดพ่นฆ่าเชื้อปฏิบัติการในเขตอำเภอเขาย้อยตามพื้นที่ที่ทางศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าอำเภอเขาย้อยที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการและนายอำเภอเขาย้อยกำหนด ทั้งนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์พร้อมสนับสนุนทีมและน้ำยาฆ่าเชื้อมาเสริมเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฉีดพ่นฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยงในเขตอำเภอเขาย้อยและพื้นที่เฝ้าระวังในอำเภออื่น ๆ

นอกจากนี้ได้ประสานกับดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งส่งฉีดวัคซีนมาให้โดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับกรณีการระบาดของคลัสเตอร์ตลาดกุ้งและโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร

ส่วนการเปิดเศรษฐกิจนั้น ในวันอาทิตย์ 23 พ.ค.64 จะจัดทีมอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ บริษัทไปรษณีย์ไทย หอการค้า สภาอุตสาหกรรม AIC และทีมจังหวัดเพชรบุรีลงพื้นที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรที่อำเภอท่ายางและอำเภอบ้านลาดเพื่อส่งเสริมการค้าการขายด้วยระบบอีคอมเมิร์ซตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ‘1ปิด1เปิด’ คือการเร่งปิดเกมโควิด-19 พร้อมกับเปิดเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน

ถ้าล็อคดาวน์อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูแลปัญหาเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน เพราะชาวบ้านต้องกินต้องใช้ ธุรกิจการค้าต้องประกอบการและเกษตรกรต้องขายผลผลิตทุกวัน อย่าง 2 วันที่ผ่านมาได้เร่งแก้ปัญหาโรคระบาดลัมปีสกินในวัวที่จังหวัดเพชรบุรีก็ใช้ยุทธศาสตร์ ‘ปิด1เปิด’ เช่นกันคือ ขจัดการแพร่ระบาดพร้อมกับผ่อนปรนให้ส่งโคจำหน่ายขายข้ามเขตไปโรงชำแหละได้สำเร็จเป็นครั้งแรกภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกรมปศุสัตว์ด้วยความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร ฟาร์มวัว กรมปศุสัตว์และทีมจังหวัดเพชรบุรี

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีโรงพยาบาลสนามโดยโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเป็นผู้ดูแลได้เปิดรองรับผู้ติดเชื้อในจังหวัดเพชรบุรีหลายแห่งยังต้องการการสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ แจ้งว่ากลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยพร้อมบริจาคเงินจำนวน 2 แสนบาทเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลพระจอมเกล้าโดยมอบนายอภิชาติ สุภาแพ่ง นายอรรถพร พลบุตรและ ดร.กัมพล สุภาแพ่ง เป็นตัวแทนมอบในวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.นี้


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ส.อ.ท. เผยโควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออย่างหนัก ล่าสุด พบคนจองรถในงานมอเตอร์โชว์ เลื่อนรับรถและยกเลิกการจองเพียบ หลังลูกค้าไม่มั่นใจเรื่องการเงิน อีกทั้งธนาคารปฏิเสธให้สินเชื่อรถยนต์มากขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบให้ยอดการจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุด ที่มีจำนวนยอดจองกว่า 27,800 คัน มีผู้จองรถยนต์ในงานกว่า 30% ที่ขอชะลอการรับรถยนต์ออกไป รวมทั้งยกเลิกการจอง จากปกติที่ยอดชะลอการรับรถยนต์มีเพียง 5-6% เท่านั้น เนื่องจากลูกค้าไม่มั่นใจเรื่องการเงินในอนาคต รวมทั้งธนาคารปฏิเสธการให้สินเชื่อรถยนต์มากขึ้น ประมาณ 20-30% จากปกติที่จะปล่อยสินเชื่อให้เกือบหมด

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมองว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดอย่างหนักในช่วงนี้เริ่มค่อย ๆ คลี่คลายลง เชื่อว่า สถาบันการเงินต่าง ๆ จะกล้าปล่อยสินเชื่อได้ตามปกติ และตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นมา มีลูกค้าเข้ามาในโชว์รูมรถยนต์ลดลงกว่า 50% เพราะหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ซึ่งทำให้บรรยากาศโดยรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศตอนนี้เงียบเหงา

ทั้งนี้ กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 64 ไว้ที่ 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและผลิตเพื่อส่งออกอย่างละ 750,000 คัน ซึ่งการผลิต จำหน่ายและส่งออกเม.ย.ปีนี้และรวม 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสเกินเป้าหมายดังกล่าวได้แต่ด้วยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่จะกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ ประกอบกับการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ (ชิป) ทั่วโลกที่มีการประเมินว่าจะลากยาวไปถึงปี 65 ทำให้กลุ่มฯ จึงต้องขอเวลา 2 เดือนติดตามสถานการณ์เหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการปรับเป้าหมายเพิ่มหรือไม่


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ก.แรงงาน ประกาศพร้อมจัดฝึกทักษะฟรี! ทั่วประเทศ สร้างอาชีพให้ประชาชน ลดปัญหาว่างงานจากโควิด-19

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงาน และการถูกเลิกจ้างของพนักงานในสถานประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก และมีความมั่นใจว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะดีขึ้นตามลำดับหลังจากการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการประทรวงแรงงาน มีนโยบายเน้นย้ำว่าแรงงานยังคงต้องได้รับการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานเป็นแรงงานคุณภาพเพิ่มโอกาสในการมีงานทำหรือเป็นผู้ประกอบการอิสระได้ทันทีเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัว มีทักษะที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงเพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ กพร. กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ที่มีอยู่ทุกจังหวัดจัดฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรเตรียมเข้าทำงานใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมระหว่าง 3-8 เดือน แบ่งเป็นฝึกอบรมในสพร. สนพ. และฝากฝึกในสถานประกอบกิจการเพื่อเรียนรู้สร้างประสบการณ์ในการทำงาน ในแต่ละจังหวัดจะมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่แตกต่างกันตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ เช่น ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างควบคุมเครื่องกัดและเครื่องกลึง CNC ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร สาขาเทคโนโลยีการควบคุมระบบอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม ช่างแต่งผมสตรี ผู้ประกอบอาหารไทย เป็นต้น ทุกหลักสูตรฟรี มีบริการหอพักให้สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไป-กลับ ซึ่งแต่ละหลักสูตรรับจำนวนจำกัดเพื่อให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ผู้ถูกเลิกจ้างหรือว่างงาน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องการพัฒนาตนเองและพร้อมกลับสู่การทำงานเริ่มต้นอาชีพใหม่ คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่สมัครหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้อง

“ซึ่งขณะนี้สพร.และสนพ. เปิดรับสมัครหลักสูตรเตรียมการเข้าทำงานแล้ว และมีความพร้อมจัดการฝึก
ตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จึงเชิญชวนผู้สนใจเข้าฝึกอบรม ติดตามรายละเอียดการฝึกอบรมได้ที่ www.dsd.go.th Facebook : กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 02-245-4035” อธิบดีกพร. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top