จับตาหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระทบกำลังซื้อ-แรงงานรายได้หาย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 64 ว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 64 จะยังคงอยู่ในระดับสูง หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักตั้งแต่ต้นปี โดยตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจนทำให้รายได้ลดลง และส่งผลให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจากนี้ประเมินว่า ครัวเรือนจะมีการกู้เงินมาใช้ประคองชีวิตตัวเองมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต
ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นต้องดูดัชนีมูลค่าเงินฝากต่อบัญชีที่ต่ำกว่า 100,000 บาท ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าคนเอาเงินฝากมาใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากครัวเรือนประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือดูแลในช่วงต่อไป สภาบันการเงินต่าง ๆ ควรช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ย เพื่อให้ครัวเรือนที่เดือดร้อนได้มีเงินไปใช้จ่ายรายเดือนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังเรื่องหนี้นอกระบบที่อาจเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะครัวเรือนรายได้น้อยอาจหันไปกู้หนี้นอกระบบจนซ้ำเติมปัญหาหนี้เดิมที่มีอยู่
สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ปี 63 พบว่า มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว