Monday, 28 April 2025
ECONBIZ NEWS

รอเลย คลังประกาศผลเก็บตกเราชนะ 21 พ.ค.นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการเราชนะ จะประกาศผลการทบทวนสิทธิ์สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-13 พ.ค. 2564 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2111 1122 

โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ครั้งแรก จำนวน 8,000 บาท ในวันที่ 22 พ.ค. 2564 และจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค. 2564 รวม 9,000 บาท โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.-30 มิ.ย. 2564

สำหรับประชาชนประชาชนกลุ่มที่แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงกรณีที่ผลการทบทวนสิทธิ์ในกรณีอื่น ๆ ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง สามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิ์ใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป 

ปัจจุบันโครงการเราชนะ มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวม 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 205,897 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์เดิม จำนวน 7,000 บาท แล้ว จำนวน 25.6 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชันถุงเงิน ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1.3 ล้านกิจการ

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับบริษัทสมาชิก ผุดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" แจกประกันภัยแพ้วัคซีนฟรี 11.5 ล้านสิทธิ์ เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และหนทางหนึ่งที่จะช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประชากร เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักและการเสียชีวิตลง ซึ่งจะเป็นการบริหารและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยที่ส่งเสริมการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศชาติ มีความห่วงใยต่อวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" ขึ้น เพื่อมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรี จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 กันมากขึ้น

“สมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความเชื่อมั่นว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยล้วนเป็นวัคซีนที่ได้รับการทดสอบในวงกว้างแล้วว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนให้กับประชาชนฟรี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของบริษัทประกันวินาศภัยที่มีเจตนารมณ์ในการเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อร่วมกันช่วยชาติให้ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”

สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยการมอบประกันภัยแพ้วัคซีนฟรีให้กับประชาชน รวมทั้งสิ้น 11.5 ล้านสิทธิ์ ได้แก่

1.) บมจ.กรุงเทพประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

2.) บมจ.ทิพยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

3.) บมจ.เมืองไทยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

4.) บมจ.วิริยะประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

5.) บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

6.) บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

7.) บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

8.) บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำนวน 500,000 สิทธิ์

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเลือกลงทะเบียนรับสิทธิ์ฟรี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยกำหนดการเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ รวมถึงระยะเวลาและเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทกำหนด สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย มีความเชื่อมั่นว่าการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีน จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ในครั้งนี้จะกระจายไปสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมและสร้างความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคนไทยให้ฉีดวัคซีนได้อย่างมั่นใจเพื่อร่วมกันหยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้เราสามารถผ่านวิกฤติไวรัสร้าย COVID-19 นี้ไปได้ด้วยกันในที่สุด


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ชาร์จ แมเนจเม้นท์ เปิดแผนธุรกิจ 5 ปี จับมือพันธมิตร สร้าง Ecosystem ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมการใช้งานทั้งกลุ่มชาร์จตามบ้าน-ชาร์จที่จุดหมายปลายทาง-ชาร์จตามสถานี ปักหมุดเบอร์หนึ่งธุรกิจชาร์จรถ EV ครบวงจร 

นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า “SHARGE มองว่าภายใน 5 ปี การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ พร้อมเร่งหาทางลดการสร้างมลภาวะ ในประเทศไทยเองก็พบว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเรือนกระจกมาจากภาคการขนส่งถึง 27% ประเทศไทยจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกิดการตื่นตัวในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่งจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถ EV โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว (BEV) ที่จะเข้ามาช่วยลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์โดยตรง ซึ่งรถ BEV จะกลายเป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ในอนาคต และปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์สันดาปมาสู่รถ EV อย่างยั่งยืนนั่นคือการมีสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับเพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงหัวชาร์จได้อย่างทั่วถึง 

SHARGE จึงได้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อเข้ามาสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศต่อการเติบโตของรถ EV ด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถ EV อย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบของการจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จสำหรับติดตั้งตามที่อยู่อาศัย และแหล่งไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพัฒนาสถานีชาร์จ (EV Charging Station) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายแผนการดำเนินว่าภายใน 5 ปี (ปี 2563-2568) SHARGE จะสามารถสร้างยอดขายได้ 3,000 ล้านบาท จากการขายเครื่องชาร์จ 16,000 เครื่อง โดยเป้าหมายรายได้ดังกล่าวจะมาจากการขายอุปกรณ์ให้กับโครงการที่พักอาศัย 30% และ 70% มาจากยอดขายไฟฟ้า จากหัวชาร์จที่กระจายอยู่ 250 แห่ง ให้บริการหัวชาร์จในแหล่งไลฟ์สไตล์ชั้นนำ ตลอดเส้นทางกรุงเทพ หัวหิน พัทยา และเขาใหญ่ ซึ่งมั่นใจว่าจะส่งผลให้ SHARGE ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ให้บริการด้านธุรกิจการชาร์จรถ EV ในทุกรูปแบบมากกว่า 30% 

ภายใต้โรดแมป 5 ปี จะดำเนินผ่านกลยุทธ์ ‘LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM: NIGHT, DAY, ON-THE-GO’ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยร่วมมือกับภาคอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยและศูนย์การค้า) ผู้ประกอบการรถยนต์ และธุรกิจพลังงาน สร้างระบบนิเวศที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมของผู้บริโภค 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

• NIGHT : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนสูงสุดหรือคิดเป็น 80% ของผู้ใช้รถ EV ทั้งหมด เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานรถ EV ในสหรัฐฯ จีน และยุโรป พบว่า ส่วนใหญ่จะนิยมชาร์จที่บ้านในเวลากลางคืน เพราะสะดวกและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ประจำวันที่คนส่วนใหญ่จะจอดรถไว้บ้านในเวลากลางคืน รวมถึงการชาร์จตามบ้านมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่า

• DAY : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น การชาร์จตามศูนย์การค้า แหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ สถานศึกษา และอาคารสำนักงาน  โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 15%

• ON THE GO : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่ต้องการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ 5% ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด

สำหรับกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มนั้น SHARGE ได้จับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายกลุ่มธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชันการชาร์จ EV ให้กับพันธมิตร เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบเฉพาะเจาจง โดยเริ่มจากกลุ่ม NIGHT ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย 5 ราย ในการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จให้กับโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภททั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ทำให้ปัจจุบันมีหัวชาร์จครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 25,000 ครัวเรือน ที่อยู่ในแผนที่จะมาใช้บริการติดตั้งอุปกรณ์จากชาร์จ ซึ่งจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จตามที่อยู่อาศัยนี้จะสนับสนุนให้ SHARGE ก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการได้ 

ส่วนกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่ม DAY นั้น SHARGE ได้จับมือกับศูนย์การค้าและค่ายรถยนต์ชั้นนำกว่า 7 ราย (ศูนย์การค้า 5 แห่ง ค่ายรถยนต์ 2 แห่ง) ในการติดตั้งหัวชาร์จที่ศูนย์การค้าและโชว์รูม ซึ่งล่าสุดได้ทำการติดตั้งหัวชาร์จที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และเซ็นทรัล ชิดลม และดูแลงานด้านระบบการให้บริการการชาร์จแบบครบวงจรให้กับโชว์รูมรถยนต์ปอร์เช่ โดยภายในปีนี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 10 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (Quick Charge) 8 แห่ง

ขณะที่กลุ่ม ON THE GO ได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาสถานีชาร์จและร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสถานีบริการน้ำมัน 1-2 รายรายในการปรับปรุงสถานีแบบเดิมให้กลายเป็นสถานีชาร์จรถ EV ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมสำหรับเปิดให้บริการ ครอบคลุมไปถึงหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, ระยอง, อยุธยาและภูเก็ต 

จุดแข็งที่สำคัญของ SHARGE คือเราเป็นผู้ให้บริการ Total Solution ในด้าน ‘LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM’ เชื่อมโยงผู้ใช้บริการทั้งรูปแบบ NIGHT, DAY, ON-THE-GO ด้วยแอปพลิเคชัน SHARGE ที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานอย่างครอบคลุมทุกพฤติกรรมการใช้งาน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถ EV ในการค้นหาและจองสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าทั้งของชาร์จ และเครือข่ายพันธมิตรในแหล่งไลฟ์สไตล์ทั่วกรุงเทพฯ อีกทั้งยังสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันได้ 

“อย่างไรก็ดีเป้าหมายการเติบโตยอดขายของ SHARGE นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่คาดว่าจะมีการใช้รถ EV รวมทุกประเภทในปี 2568 ที่ 1,055,000 คัน และชาร์จได้คาดการณ์ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะสนับสนุนให้ตลาดอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ขยายไปสู่มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทในเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ มองว่าการเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Ecosystem) เพื่อส่งเสริมการใช้รถ EV เป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคในอนาคตอันใกล้” นายพีระภัทร กล่าว


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

โฆษก กมธ.ติดตามเงินกู้แก้ปัญหาโควิด19 หนุนรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท แต่ต้องปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารงบ ให้การใช้เงินเกิดประสิทธิภาพดีขึ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.จำนวน 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโควิด-19 กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาโควิด-19 ว่า หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินก้อนนี้มาใช้ ตนก็เห็นด้วย เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 3 มีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลกู้รอบแรกมาแล้ว 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟู และด้านสาธารณสุข ตามที่ได้มีการติดตามเงินกู้ก้อนนี้ก็มีการเบิกจ่ายเกือบเต็มวงเงินกู้แล้ว

ดังนั้นหากจะต้องกู้มาอีก 7 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไกในการใช้เงิน ทั้งเรื่องของหน่วยงานที่จะควบคุมเงินกู้ การตรวจสอบ การเบิกจ่าย ที่จะต้องทำให้ให้การใช้เงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไปถึงมือประชาชน และสามารถที่จะฟื้นฟู เยียวยาได้อย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนการแก้ไขทางเศรษฐกิจก็จะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังและกำหนดไว้ 

“ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องกู้ แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ กลไกที่รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรให้การใช้เงินกู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาจากที่ตนเป็นกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ ต้องยอมรับว่าการใช้เงินยังล่าช้า เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยังไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน มีหลายโครงการที่ทำแล้วไม่สำเร็จ และหลายโครงการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย เบิกจ่ายงบล่าช้าเนื่องจากความไม่ชัดเจนของโครงการ เเละที่สำคัญการใช้จ่ายงบเงินกู้ไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนก็ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและพี่น้องประชาชนคาดหวังไว้" นายอัครเดช กล่าว

เอกชนยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ชง 5 ข้อแก้ปัญหาเหล็กแพง

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก เปิดเผยว่า ผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก ได้ยื่นหนังสือเรื่องขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าเหล็ก ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเน้นย้ำข้อเสนอ 5 ข้อ คือ

1.) สร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน

2.) กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต

3.) สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่าเค)

4.) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ และ

5.) เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0

เชื่อมั่นว่า หากนายกรัฐมนตรีสนับสนุน และมอบนโยบายตามข้อเสนอของ 7 สมาคมฯ เหล็กให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่การผลิตจะสามารถบรรเทาผลกระทบผู้ใช้สินค้าเหล็กได้

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าวัสดุก่อสร้างที่ใช้สินค้าเหล็กเป็นวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาสินค้าเหล็กเช่นกัน แต่เป็นสถานการณ์ที่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการปรับราคาขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก และอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังมีส่วนช่วยชะลอการขึ้นราคาขายในประเทศ เนื่องจากราคาขายเป็นไปตามต้นทุนการผลิตที่สามารถจัดหาได้ ไม่ได้ปรับตามราคาซื้อขายตามราคาตลาดโลกทันที

ประกันสังคม เอาจริง ปลอมแปลงเอกสารเพื่อยื่นรับประโยชน์ทดแทนมีความผิดคดีอาญา รับโทษทั้งจำทั้งปรับ

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตือนบุคคลที่คิดแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนและใช้สิทธิการรักษาพยาบาลโดยทุจริต หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ สปส. เร่งตรวจสอบอย่างรัดกุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน
          
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมทีมกฎหมายสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สปส. ได้ตรวจสอบพบกลุ่มบุคคลซึ่งร่วมกันปลอมเอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม โดยได้ใช้เอกสารแสดงตนเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกันตนยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม เป็นเหตุให้สำนักงานประกันสังคมได้รับความเสียหาย สำนักงานประกันสังคมไม่นิ่งนอนใจ ตรวจสอบพบแล้วได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทันที โดยพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาลอาญา ในฐานความผิดร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ร่วมกันฉ้อโกง ซึ่งศาลอาญาได้มีคำพิพากษา ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงตั้งแต่การยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนทุกกรณีของผู้ประกันตนอย่างรัดกุม ตลอดจน วางแนวทางและมาตรการในการกลั่นกรองให้ชัดเจน ทั้งนี้ หากสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบพบว่า บุคคลใดมีการปลอมแปลงหลักฐานเอกสารหรือปลอมแปลงสิทธิ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ ถือว่ามีความผิด และหากบุคคลดังกล่าวได้เบิกประโยชน์ทดแทนจากกองทุนฯ แล้ว ทางสำนักงานประกันสังคมจะเรียกเงินดังกล่าวคืน รวมทั้งผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดี ตามกฎหมายจนถึงที่สุดด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้กระทำความผิดดังกล่าวไปแล้วหลายราย เพื่อเป็นการป้องปรามบุคคลที่คิดจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุน โดยทุจริต และเป็นการปกป้องกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ
          
หากผู้ใดพบเห็นหรือทราบข้อมูลการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th

กระทรวงแรงงาน ประกันสังคม เร่งอัดเม็ดเงิน 30,000 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องการจ้างงานในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม โดยขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2564) ในวงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่ม ผลผลิตแรงงาน ทั้งนี้ สถานประกอบการสามารถขอรับสินเชื่อได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ สำหรับระยะที่ 2 นี้ 

สถานประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 มาแล้ว หากประสงค์จะยื่นขอสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารเดิม วงเงินที่เคยได้รับสินเชื่อ เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อตามโครงการนี้ต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ โดยอายุสินเชื่อตามโครงการนี้มีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะ 2 นั้น สถานประกอบการที่สนใจกู้ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี คงที่ 3 ปี และในกรณีสถานประกอบการที่สนใจกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี และคงที่ 3 ปี สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ
          
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา เพื่อขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการนำไปติดต่อขอยื่นกู้ กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ปัจจุบันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp และเลือกหัวข้อ “ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ)” หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุน ทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการรักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ครม. เคาะ 3 มาตรการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจสู้ภัยโควิด-19

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี โดยเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 
  
1.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 จำนวน 10 โครงการ โดยประมาณการมูลค่ารวม 260,024.08 ล้านบาท และประมาณการวงเงินลงทุนที่คาดว่าจะลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

2.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย สำหรับการลงทุนโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนบน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท 

3.) การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 8 กระทรวง 11 หน่วยรับงบประมาณ 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อการวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิตและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

“ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และแผนการลงทุนภายใต้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย พร้อมให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวยึดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงินขาดดุลของงบประมาณกำหนดไว้ จำนวน 700,000 ล้านบาท” นายอนุชา ฯ กล่าว

ครม. ไฟเขียว ลดเงินสมทบ ม.33 ลูกจ้าง-นายจ้าง บรรเทาโควิด เหลือ 216 บาท 3 เดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. เพื่อปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะปรับจากร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบลดลงจากเดิมเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 216 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 2564 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งยังช่วยรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า การลดอัตราเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้กองทุนจัดเก็บเงินสมบทได้ลดลงจำนวน 20,163 ล้านบาท แต่นายจ้างและผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของนายจ้างจำนวน 485,113 ราย จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท รวมเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 20,163 ล้านบาท

ผลสำรวจชาวบ้านแนะรัฐแจกเงินสดเยียวยาโควิด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ปี 64 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มี.ค. 64 พบว่า ประชาชน 99.7% รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ โดยมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 81.2% พอใจปานกลาง 15.9% พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด 2.3% และไม่พึงพอใจ 0.6%  

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3 อันดับแรกดังนี้ คือ ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน, ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ และควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา, ควรเพิ่มวงเงิน และควรให้เป็นเงินสด

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะ 62.9% โครงการคนละครึ่ง 26.3% โครงการ ม.33 เรารักกัน 6.1% โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.7% และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 0.6%

นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐพบว่า ประชาชน 60.7% มีความพร้อม 39.3% ไม่พร้อม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 66.3% 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top