Monday, 28 April 2025
ECONBIZ NEWS

ส.อ.ท. เร่งเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ฟื้นโครงการลดระยะเวลาเครดิตทางการค้า “FTI Faster Payment Phase 2” ช่วย SMEs ในซัพพลายเชนกว่า 20,000 ราย และพยุงเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน หลายธุรกิจประสบปัญหายอดขายลดลง และขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถร่วมแรงร่วมใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยกันให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ได้ คือ การช่วยกันชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าเร็วขึ้น

ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้ดำเนินโครงการ FTI Faster Payment (ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย) ชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าที่เป็น SMEs ภายใน 30 วัน ซึ่งมีซัพพลายเออร์ที่เป็น SMEs ไม่ต่ำกว่า 20,000 กิจการที่ได้รับประโยชน์ มีมูลค่าการซื้อขายของ SMEs ในซัพพลายเชนอย่างน้อย 4,300 ล้านบาทต่อเดือน

โดย ส.อ.ท.ได้ฟื้นโครงการ FTI Faster Payment Phase 2 กลับมาอีกครั้ง โดยจับมือกับ 163 บริษัทที่เคยเข้าร่วมโครงการในครั้งที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. ไม่ว่าจะเป็น บริษัทในเครือ SCG, บมจ.สหพัฒนพิบูล, กลุ่มบริษัทซีพี, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ หรือ บมจ.ปตท. และกลุ่มค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้มี SMEs ในซัพพลายเชนหลายหมื่นราย และจะขอความร่วมมือขยายผลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในตลาด MAI และ SET100 โดยคาดหวังว่าโครงการ FTI Faster Payment Phase 2 จะช่วยเพิ่มเสริมสภาพคล่องให้เกิดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

โครงการ FTI Faster Payment สามารถต่อยอดไปยังแพลตฟอร์ม Digital Factoring ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ส.อ.ท.ได้มีการหารือกับ ธปท.ในเบื้องต้นแล้ว โดยได้เสนอประเด็นต่าง ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อน Digital Factoring ให้สามารถเกิดขึ้นได้เร็วและเป็นไปได้ รวมถึง ส.อ.ท. สามารถสนับสนุนการพัฒนาระบบในการตรวจสอบยืนยัน Invoice ในโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินมากขึ้น

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนดังกล่าว ส.อ.ท. ไม่ได้ละทิ้ง และยังคงหาแนวทางในการช่วยเหลือเร่งด่วนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป อาทิ การร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดอบรมและ Workshop เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงสินเชื่อ ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจฯ (ซอฟท์โลน) และติดตามรับฟังปัญหาของ SME ที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการดังกล่าว โดยมอบหมายให้นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. ดูแลงานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) เป็นผู้ดูแลมาตรการต่าง ๆ เป็นหลัก

ยัน! รัฐยังไม่กระเป๋าฉีกมีเงินเยียวยาโควิดถึงปีหน้า

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี 64-65 รัฐบาลยังคงมีวงเงินเพียงพอสำหรับการทำมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการของแผนงานและโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น มีการอนุมัติวงเงินไปแล้วรวมทั้งสิ้น 833,475 ล้านบาท โดยยังมีวงเงินคงเหลืออีกมากถึง 166,525 ล้านบาท รวมทั้งยังมีแหล่งเงินอื่นที่สามารถนำมารองรับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลได้

สำหรับวงเงินนอกเหนือจาก พ.ร.ก. เงินกู้โควิด-19 ในปัจจุบันประกอบด้วย งบประมาณจากงบกลาง ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 99,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 98,213.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 37,108.2 ล้านบาท ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ 65 รัฐบาลยังได้มีการตั้งวงเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินและจำเป็น จำนวน 89,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้ 

นอกจากนี้ มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทเฉพาะกิจ ทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถนำมาดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูและให้การช่วยเหลือเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เช่นกัน

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยความคืบหน้าความร่วมมือ ปตท.จัดตั้งหน่วยธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยความคืบหน้าความร่วมมือ ปตท.จัดตั้งหน่วยธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม หนุนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ปรับระบบการผลิตไปสู่เทคโนโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ นำร่อง 4 บริษัท ทดสอบระบบ ITP Platform พร้อมสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการใน 6 นิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายปรับปรุงระบบ!

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industrial Transformation Platform) หรือ ITP Platform ซึ่งเป็นการให้บริการเชื่อมโยงลูกค้า คู่ค้าและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยระบบดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลกับ กนอ. เพื่อรองรับการบริการของ กนอ. ประกอบด้วย ระบบช่วยตัดสินใจเลือกนิคมอุตสาหกรรม ระบบอนุมัติ-อนุญาต (e-PP) และสิทธิประโยชน์จาก กนอ.

“โครงการ ITP แพลตฟอร์มนี้ เป็นการขยายความร่วมมือหลัง กนอ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (JV Company) เพื่อดำเนินการธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มร่วมกัน ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้ระบบหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่สากลอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ กนอ. และ ปตท.ได้จัดทำโครงการนำร่องร่วมกับผู้ประกอบการ 4 ราย (Pilot Project) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี โดยให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และให้คำปรึกษาด้านการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งทดสอบทดลองระบบกับ ITP Platform สำหรับบริษัทนำร่อง 4 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่

1.) บริษัท ไทย ไดโซ แอโรโซล จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภค-บริโภค

2.) บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

3.) บริษัท ไทยโตเคน เทอร์โม จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ และ

4.) บริษัท โอเรียนเต็ล คอปเปอร์ จำกัด ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ

นอกจากนี้ กนอ.และปตท.ยังได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ จำนวน 12 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน, ยานยนต์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ จากนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) จ.ระยอง รวมทั้งส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการทุกนิคมที่สนใจยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อเข้าร่วมทดสอบการใช้งานระบบ ITP Platform ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

“กนอ. และ ปตท.อยู่ระหว่างร่วมศึกษาแนวทางการร่วมทุนในรูปแบบ Co-Investment โดยจะพิจารณาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (JV Company) เพื่อดำเนินการธุรกิจร่วมกันระหว่าง กนอ. ปตท. และ บริษัท พีทีที เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเร็ว ๆ นี้” นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

เฮ! สรรพากรยืดเวลาจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย-แวต ช่วงโควิด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับเดือนก.ค. 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 และการยื่นแบบในเดือนส.ค. 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ส.ค. 2564 เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีที่บ้าน TAX from Home ช่วยบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 และ ภ.พ.36) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือนก.พ. 2564 ถึงเดือนมิ.ย. 2564 สำหรับการขยายกำหนดเวลา การยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

“ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการผ่านการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านหรือ Tax from Home ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและนานขึ้นกว่า 280,000 ล้านบาท และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี เช่น การขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเว้นระยะห่าง หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตามมาตรการของภาครัฐ และศบค. กำหนด” 

ททท. เล็งคุย สศช. ปลดล็อก “ทัวร์เที่ยวไทย” ไปได้ทุกวัน 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้หารือร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เพื่อร่วมกันหาทางส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านบริษัททัวร์ในประเทศ และการดำเนินการภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งทางภาคเอกชนก็เสนอว่า อยากให้ปลดล็อคเงื่อนไขให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อทัวร์เดือนทางได้ทุกวันโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวันธรรมดาเท่านั้น เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้คนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการนั้น กำหนดจำนวนคนร่วมโครงการเอาไว้ประมาณ 3 ล้านคน โดย ททท. จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ทั้งนี้ในปี 64 ททท. อาจต้องปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศลงจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 100-120 ล้านคน/ครั้ง คิดเป็นเงินรายได้ 5.5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 90 ล้านคน/ครั้ง เนื่องจากปัจจุบันยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอยู่ในอัตราที่สูง ประกอบกับการดำเนินนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยว ทั้งเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ จึงส่งผลให้จำนวนคนเดินทางท่องเที่ยวลดลง 

อย่างไรก็ตามแม้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจปรับลดลงจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด แต่ ททท. ก็จำเป็นต้องหามาตรการอื่น ๆ มากระตุ้นให้คนเกิดการเดินทางหลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศคลี่คลายลงแล้ว โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าไตรมาสที่ 3 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ล่าสุดได้จัดเตรียมแนวทางการกระตุ้นการเดินทางใหม่ผ่านการจัดทำสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนใหม่ของประเทศไทยอีก 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นอันซีนแห่งใหม่ ทดแทนของเดิมที่คนรู้จักกันมากแล้ว ซึ่งเชื่อว่า หากผลักดันออกมาได้ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนออกไปเที่ยวเพิ่มขึ้น 

โรงงานน้ำตาล ประกาศร่วมมือดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ หวังยกระดับอุตสาหกรรมก้าวสู่ Zero Wastes

โรงงานน้ำตาล ประกาศร่วมมือดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดเก็บผลผลิตในไร่จนถึงกระบวนการผลิต เพื่อลดกระทบด้านฝุ่นละออง น้ำเสีย หวังยกระดับอุตสาหกรรมก้าวสู่ Zero Wastes หลังประสบความสำเร็จในด้านความร่วมมือกับชาวไร่ลดอ้อยไฟไหม้ ที่ทำให้ฝุ่นควันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมลดลง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ได้มีความเห็นร่วมกันบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในไร่จนถึงกระบวนนำอ้อยเข้ามาหีบสกัดเป็นน้ำตาลทราย เพื่อลดผลกระทบด้านฝุ่นละออง น้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไม่ให้ก่อผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของผู้ประกอบการโรงงานที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่การเป็น Zero Wastes ได้อย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้งหมดทั่วประเทศได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญกับการบริหารจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนมาโดยตลอด โดยแต่ละโรงงานได้ลงทุนด้านเครื่องดักจับฝุ่นลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 หรือการบำบัดน้ำเสียให้สะอาด ปลอดภัยและไม่ส่งต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำผลพลอยได้ที่ถือเป็นขยะอุตสาหกรรม เช่น ชานอ้อยมาใช้เผาไฟฟ้า เพื่อนำความร้อนที่ได้ไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการนำกากน้ำตาล มาใช้ผลิตเป็นเอทานอลสำหรับเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ ทำให้สามารถลดมลพิษในอากาศและลดใช้จ่ายนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานให้แก่ประเทศ นอกจากนี้ มีการนำน้ำเสียมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นไบโอแก๊ส และทำการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือนำกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตได้อีก ซึ่งแต่ละโรงงานได้มีการลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต มิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ เช่นเดียวกับการลดผลกระทบจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ในฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตปีที่ผ่านมา ที่สามารถลดการเผาอ้อยทำให้ปัญหาทุเลาความรุนแรงลง และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ โดยชาวไร่มีรายได้ที่ดีขึ้นจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยและค่าความหวานในอ้อยสูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่โรงงานได้ผลผลิตน้ำตาลที่ดีทีสุดแม้มีวิกฤติภัยแล้งก็ตาม 

“ความสำเร็จในการร่วมมือกันกับชาวไร่ในการลดการเผาอ้อยในรอบการผลิตที่ผ่านมา มีส่วนทำให้สามารถลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในความร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งลดผลกระทบจากมลพิษในทุกด้าน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวอ้อยสด ไม่เผาอ้อย และจัดการน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตที่ต้องผ่านการควบคุมและบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำของเสียจากการผลิตไปสร้างให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็น Zero Waste ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG) ของประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

สมอ. เตรียมเชือดผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ หลังพบโพสต์จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟไม่มี มอก. บนแอปพลิเคชัน ช้อปปิ้งออนไลน์ ‘Shopee’ เร่งตรวจสอบขยายผล หากพบผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายเป็นวงกว้าง ประชาชนจึงหันมาสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด-19

สมอ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน จึงดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเฝ้าระวังผ่านระบบ National Single Window หรือ NSW  อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเปิดรับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐานผ่านทางออนไลน์ทุกช่องทาง ซึ่งพบว่ามีข้อร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมาก 

ล่าสุด สมอ. ได้รับข้อร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ค https://th-th.facebook.com/tisiofficial/ ว่า บนแอปพลิเคชัน Shopee มีการจำหน่ายเครื่องหรี่ไฟ (Dimmer) รุ่น Suntec STD-1600 โดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. ซึ่งสินค้าดังกล่าวอยู่ในข่ายสินค้าควบคุมตาม มอก.1955-2551 จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ พบว่า มีผู้จำหน่าย 6 ราย ที่จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟที่ไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. ได้แก่

1.) อุบลแสงฟ้าอิเล็คโทรนิค จังหวัดอุบลราชธานี

2.) Messi99  จังหวัดเพชรบุรี

3.) Little_boy_889  กรุงเทพฯ  

4.) Beeshop กรุงเทพฯ  

5.) Starcomshop กรุงเทพฯ และ

6.) Bon lighting จังหวัดปทุมธานี  

สมอ. จึงได้แจ้งให้บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน Shopee ลบข้อความที่มีการโพสต์จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟของผู้จำหน่ายทั้ง 6 ราย ออกจากแอปพลิเคชันทันที พร้อมทั้งให้จัดส่งภาพถ่ายฉลากสินค้าทุกด้าน และให้แสดงหลักฐานแหล่งที่มาของสินค้าภายใน 15 วัน หากตรวจสอบแล้วพบว่าได้รับอนุญาตตามมาตรฐาน มอก.1955-2551 จาก สมอ. อย่างถูกต้อง จึงจะขายสินค้าบนแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ แต่หากพบว่าเป็นการลักลอบจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต สมอ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จำหน่ายทันที โดยมีความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมไปถึงผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวด้วย หากพบว่านำเข้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เตรียมเอาผิด Shopee ด้วยฐานโฆษณาจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องหรี่ไฟหรืออุปกรณ์หรี่แสง (Dimmer) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปรับเปลี่ยนความสว่างของหลอดไฟต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและให้แสงสว่างตามความต้องการ เป็นสินค้าในจำนวน 123 รายการ ที่ สมอ. ควบคุม โดยต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำ หรือนำเข้า รวมถึงการจำหน่ายจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องมีความปลอดภัยในการนำไปใช้งาน เพราะหากไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเครื่องหรี่ไฟที่ได้มาตรฐานจะมีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนด 220-240 โวลต์ และกำลังไฟฟ้าที่กำหนด 5-40 วัตต์ มีการควบคุมการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันมีผู้ทำ และนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้วกว่า 50 ราย จึงขอเตือนประชาชนให้เลือกซื้อสินค้าด้วยความรอบคอบ เลือกที่ได้มาตรฐาน โดยการสังเกตเครื่องหมายมาตรฐาน ก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายในการนำไปใช้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำความผิดหรือต้องการแจ้งเบาะแสสินค้าควบคุมที่ไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งได้ที่ https://th-th.facebook.com/tisiofficial/ ตลอด 24 ชม. และตรวจสอบรายชื่อสินค้าควบคุมจำนวน 123 รายการ ได้ที่ https://www.tisi.go.th/website/standardlist/comp_thai/th เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย                      
 

สภาพัฒน์ฯ ปรับเป้าจีดีพีไทยทั้งปีเหลือ 2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง 2.6% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% เหลือเพียง 1.5-2.5% หรือเฉลี่ยที่ 2% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563

ทั้งนี้พบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 0.5% เทียบกับการขยายตัว 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 2.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 20% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 32.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 28.2% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) 

ส่วนการลงทุนรวม ขยายตัว 7.3% ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลง 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส 3% เทียบกับการลดลง 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง 19.6% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลขยายตัว 28.4% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปี 2563 ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 9.3%

ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 5.3% เทียบกับการลดลง 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก 

ราเมศ ย้ำ ปชป. เคียงข้างพี่น้องเกษตรกร ประกันรายได้ 7.6 ล้านครัวเรือน ยิ้มได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง นโยบายประกันรายได้ในขณะนี้ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่จะต้องมีราคาที่เป็นหลักประกันได้ว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ประสบกับสภาวะปัญหาขาดทุน และที่สำคัญการต่อยอดนโยบายในเรื่องการตลาดที่มีการเปิดตลาดทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วยแล้ว เมื่อความต้องการตลาดมีมาก แน่นอนว่าย่อมทำให้วิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเพราะราคาพืชผลเกษตรกรก็จะดีขึ้น เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายเช่นกันที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ

พรรคได้หาเสียงเรื่องนโยบายประกันรายได้ไว้และเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายของพรรคคือพี่น้องเกษตรกรได้ประโยชน์ ขณะนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรก็จะเป็นหลักประกันได้ ให้มีราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ได้

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ล่าสุดพี่น้องเกษตรกรชาวสวนข้าวโพดกว่า 1.3 แสนไร่  21,071 ครัวเรือน ก็จะได้รับเงินประกันรายได้ งวด 7 และในส่วนโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 คือ พ.ศ.2563 / 2564 ในพืชทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ มีพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 7.6 ล้านครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป เตรียมหารือนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เล็งใช้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ว่า  ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค.2564 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ, นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตฯ เป็นรองประธาน, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.เป็นรองประธาน, โดยมีกรรมการ ประกอบด้วย นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธาน ส.อ.ท. หรือตัวแทน, ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน, ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ เป็นต้น โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ  

1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที 

“เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top