Friday, 28 June 2024
POLITICS

ที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในช่วงเสื้อเหลือง-เสื้อแดง หรือในช่วงระบอบทักษิณเป็นใหญ่ แต่ดูเหมือนผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ กำลังจะทำให้ไทยกลับมาเป็นหนึ่งเดียว

เหตุผลเพราะการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่คณะก้าวหน้าของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่ได้เลยสักคนเดียว (0-42)

ตรงนี้มีนัยยะสำคัญมากๆ เมื่อคำนึงถึงความแตกแยกทางความคิดที่กลุ่มและพรรคของธนาธร ได้ปลุกปั่นล้างสมองคนไทยรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้ ‘ชังเจ้าและชังชาติ’ จนสำแดงตัวออกมาบนท้องถนนเป็นม็อบคณะราษฎรที่ชู ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ เพื่อลิดรอนพระราชอำนาจ (=ล้มเจ้า)

แต่หลังจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ออกมา มันชัดเจนมากเหลือเกินว่า สังคมไทยไม่เอาพวกชังเจ้า-พวกล้มเจ้าอย่างเด็ดขาด โดยที่ไม่มีความเห็นต่างหรือแตกแยกในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย ได้เผยเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า “แปลกแต่จริง ที่การก้าวข้ามความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในสังคมไทย มันดันออกมาในรูปของการก้าวข้าม ‘พวกคนบ้ากลุ่มหนึ่ง’ (ทั้งพวกหน้าฉากและพวกหลังฉาก) ที่ออกมาชูธงล้มเจ้าแบบเย้ยฟ้าท้าดิน อย่างพร้อมเพรียงกัน

“ความพร้อมใจของคนไทยทั้งประเทศนี้แหละ มันมีศักยภาพสูงมากที่จะกลายเป็นพลังสร้างสรรค์เพื่อฝ่าฟันวิกฤตต่างๅที่กระหน่ำประเทศนี้ในตอนนี้หรือหลังจากนี้ได้...

“จงมุ่งไปในทิศทางนี้ร่วมกันเถิด”

สุดท้ายแล้ว สูตรสร้างความแตกแยกของสังคมไทย ที่บ่มเพาะกันมาตั้งแต่สมัย ‘เหลือง-แดง’ ดูจะมาจบสิ้นเพียงเพราะหมากเพี้ยนๆ ของธนาธร เสียแล้วกระมัง…


ที่มา: ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย

เด็กถิ่นย่าโม!! โชว์​ ‘ป๋าเต็ด’ ฮีโร่เศรษฐกิจ ดันเม็ดเงินเพียบป้อนปากช่อง ปวดใจปมปิด​ Big Mountain​ สะเทือนศก.วงกว้าง แต่ยันคน​ '​โคราช-ปากช่อง' ยังต้อนรับป๋าเสมอ

จากกรณี ผู้ว่าฯ นครราชสีมา สั่งปิดการแสดงคอนเสิร์ตบิ๊กเมาน์เท่น ในวันสุดท้ายของการแสดง เนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องมาตราการป้องกันโควิด-19 และ ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ‘ป๋า เต็ด’ ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ แต่ไม่เป็นผล

ล่าสุด มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Class Cafe (คลาส คาเฟ่) ในจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า

“เรื่อง Big Mountain ดูจะเลยเถิด สิ่งที่พวกเราอาจจะลืมว่า​ สิ่งที่มหกรรม ดนตรีอันยิ่งใหญ่นี้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจ ตัวสำคัญ ตัวนึงของเมืองโคราช เมื่อคืนวันที่ 13 ธ.ค. คนที่หนักใจที่สุดคงไม่พ้นป๋าเต็ด ยุทธนา ผู้จัดงาน ที่ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ปีนี้ Big Mountain เป็นปีที่​ 11 ผมเป็นคนนึงที่เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักเมื่อครั้งที่จัดครั้งแรกสนับสนุนโดย Nokia presented Big Mountain ภาพ ป๋าเต็ดโดนรุมสกัมเมื่อวาน ฝั่งพ่อค้าดูแล้วช่างเจ็บปวด เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู ถ้าเล่นเทศกาลที่ใหญ่อันดับ 1 ของเมืองไทยได้ ตรงไหนก็สั่งปิดได้

“ภาพช่างน่าเจ็บปวด เพราะเราลืมไปว่า ภาคการท่องเที่ยว เราพังพินาศ มาตั้งแต่เริ่มโควิด แต่วันนี้ปากช่อง โคราช โรงแรมคนแน่นไปหมด ร้านอาหารที่หงอยเหงากลับมาเต็มแน่น โรงแรมไม่ต้องโปรทิ้งขาดทุนย่อยยับ ร้านรวงข้างทาง ปั๊มน้ำมัน ซุปเปอร์ คนแน่นเอียด …. ฮีโร่ทางเศรษฐกิจ คนนี้กำลังโดน ทำร้าย อย่างน่าเศร้าโดนผลักไปเป็นจำเลย อย่างเจ็บปวด

“ลองคิดดูสิ ว่าเค้าสร้างเม็ดเงินกี่พันล้านให้กับเมืองปากช่องมาเท่าไหร่ ตลอดสิบปี … งานเมื่อวาน ลองนึกดูว่าคนหลายหมื่นเดินทางมาจากทั่วประเทศ จ่ายค่ารถ ค่าเดินทาง มาหมดแล้ว ค่านักแสดง นักดนตรี จ่ายหมดแล้ว ยังไม่นับ เหล้าเบียร์ อีกมหาศาล … ระหว่างที่ผมนึกถึงเรื่องนี้ ผมเห็น วินมอเตอร์ไซค์ ที่คอยโบกให้คนจอดรถอย่างคึกคักฟันค่าวิ่งกันมหาศาล…. ถ้าหยุด การประท้วงครั้งใหญ่คงระเบิดขึ้นแน่ๆ เพราะทั้งอารมณ์ร่วม ของวัยรุ่น มารวมกันและให้หยุดกลางทาง ต้องบอกว่า หยุดไม่ได้ ….

“เชื่อเหอะ การปิดกลางอากาศ แบบที่คำสั่งออกมาช่างดูง่าย แต่เอาจริงๆ ความเสียหายมันเยอะเหลือเกิน … เหมือนป๋ากำลังขับเรือไททานิคแล้วสั่งให้เบรค … ยังไงก็พัง แต่ทำไงให้กระทบน้อยที่สุด ผมว่าออกมาแบบเมื่อวานผมว่าสวยมากๆ จบแบบ “ป๋ายอมเจ็บ แกรมมี่ยอมพัง” เป็นจุดที่ทำได้ดีอย่างเหลือเชื่อ… และเชื่อว่า ปีหน้า คนยังจะจดจำป๋าในฐานะ ฮีโร่คนเดิม ที่อยากให้จัดงานดีๆ ที่นี่อีกครั้ง

“แน่นอนคนที่เป็นจำเลยอีกคนนึงก็ไม่พ้นผู้ว่า ที่ถืออำนาจสูงสุดของเมือง… แต่เราอย่าลืมนะครับ ที่ตัดสินใจอะไรก็โดนด่า ไม่ให้จัดก็โดน จัดมาก็โดน มีคนติดก็โดน ก่อนหน้านั้นมี รมต.คนนึงที่ออกข่าว ว่า “โควิดนั้นกระจอก คอนเสิร์ต จัดได้” พ่อค้า แม่ค้า คนจัดงาน นักดนตรี ต่างตาลุก เมื่อคิดว่าครั้งนี้จะกลับมาคึกคักได้ซะที

“… แต่ดูหมือน งานนี้คนส่งสัญญาณ ไฟเขียวคนนั้นจะลอยตัวไปแล้ว ปล่อยผู้ว่าฯ​ กลายเป็นจำเลยไปอีกคนนึง...ประชาชนคนโคราชไม่ห่วงเพราะทีมหมอรพ.มหาราชโคราชก็พร้อมมากและแข็งแรงมาก เราน่าจะเอาอยู่ แต่สภาพเศรษฐกิจ แบบที่ทั้งเมืองยังไม่มีขอทานข้างถนนมาหากินเลย แสดงว่ามันแย่มากๆ แล้ว ต้องการการขับเคลื่อน ทางเศรษฐกิจ ครับ

“โคราช ปากช่อง ยังต้อนรับป๋าเสมอ…. เอาใจช่วยทีมงานทุกคนครับ อดทนไว้ครับ"


เครดิตภาพ : BRAND BUFFET

ธปท. แจง ‘ชาวเน็ต’ เคลียร์ชัดธนบัตรที่ระลึก 100 & 1,000 ‘ปลอมยาก’ ขอปชช.มั่นใจ แม้ไม่มีกลุ่มดาวยูไรอัน แต่ให้สัมผัส - ยกส่อง – พลิกเอียง ส่วน 1,000 บาท แยกง่าย หลังตัวธนบัตรยาวกว่า1.2 ซม.

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปล่อยธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ชนิด 1,000 บาท และ 100 บาท ออกมา และ ‘สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’ (อ้างอิง หนังสือข่าว ธปท.ฉบับที่ 82/2563 ) 

แต่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นเมื่อมี ‘ชาวเน็ต’ ตั้งข้อสังเกตว่า ธนบัตรชนิด 100 บาท ที่ปล่อยออกมานั้น ‘ไม่มีกลุ่มดาวยูไรอัน’ หรือ EURion constellation ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนนำธนบัตรไปถ่ายเอกสารสี (ซีรอกซ์) และนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายได้ 

งานนี้ชาวเน็ตจึงให้ความเห็นว่า จะกลายเป็นช่องว่างในการปลอมแปลงธนบัตรหรือไม่ เพราะธนบัตรชนิด 100 บาทที่ออกมานั้น ได้หมุนอยู่ในระบบกว่า 20 ล้านฉบับ เป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาทเลยทีเดียว

เมื่อเกิดประเด็นนี้ทาง ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาชี้แจงว่า ธนบัตรดังกล่าว มีลักษณะการต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงในระดับเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนตามปกติ เช่นเดียวกันกับธนบัตรที่ระลึกในอดีต ประชาชนจึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงและสามารถนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนได้ตามปกติเช่นเดียวกับธนบัตรทุกรุ่น

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้มีการนำมาใช้วันแรก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 และมีการตั้งคำถามจากชาวเน็ต ว่ามีการป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรหรือไม่ ทาง ธปท. จึงได้ชี้ถึง  5 จุดสังเกตของธนบัตรที่ระลึกฯ ชนิดราคา 100 ได้แก่ 1.ตัวเลขแจ้งชนิดราคา 2.ธนบัตรเป็นสีเหลืองทอง 3.ตราพระราชพิธีฯ 4.ตัวเลขแจ้งชนิดราคาในดอกไม้ และ 5.ภาพด้านหลัง  

นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถตรวจสอบธนบัตรด้วย 3 วิธีง่ายๆ คือ สัมผัส - ยกส่อง - พลิกเอียง ซึ่งมีจุดสังเกตที่สำคัญ เช่น ความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย ลายน้ำ แถบสีที่มีภาพเคลื่อนไหว และหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ 

ในส่วนของปัญหาที่ประชาชนมีความสับสนในการใช้ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ที่มีความคล้ายกับธนบัตรราคา 1,000 บาท สามารถสังเกตได้ ด้วยขนาดของธนบัตรหมุนเวียน 1,000 บาท จะมีขนาดความยาวกว่าใบละ 100 ที่ 1.2 เซนติเมตร โดยธนบัตรทั้ง 2 แบบ มีตัวเลขบอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรด้านล่างอย่างชัดเจน
 

กาพรรคไหนดี!! หากวันนี้ต้องเลือกตั้ง

ซุปเปอร์โพลชี้ชัด กระแสรัฐบาลกระเตื้อง หลังผู้ชุมนุมหยาบคายและข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทำดรอป

จากผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ‘การเมืองใหม่ หรือ เก่า สาดสี’ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 5,260 ตัวอย่าง ที่ดำเนินโครงการระหว่าง 1 มิถุนายน  – 10 ตุลาคม พ.ศ.2563 ชี้ค่อนข้างชัดว่า

พฤติกรรมของผู้ชุมนุมที่หยาบคายและข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมาทำให้คะแนนนิยมที่มีต่อพรรคพลังประชารัฐเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ในขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งตัดสินใจกลับลำ "กราบ" และถอนตัวจากการขบวนการดังกล่าวได้ทันก็คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นทันทีเช่นกัน ส่วนพรรคก้าวไกลคะแนนนิยมลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่มา

อย่างไรก็ตามหากโพลดังกล่าวมีความถูกต้องและแม่นยำจริง แสดงว่าข้อเรียกร้องทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และยุทธวิธีก้าวร้าวหยาบคายของคณะราษฎร 2563 ไม่น่าจะนำไปสู่ชัยชนะในยุคนี้ได้เลย

ทั้ง ๆ ที่โพลระบุก่อนหน้านี้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือเสียงข้างมากของคนในประเทศ แต่ตอนนี้เสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ต้องการพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลแล้ว

แต่ต้องการทางเลือกใหม่...พรรคการเมืองใหม่!!

กลุ่มราษฎรเปิดตัว ‘หวยราษฎร’ เรียกแขก 3 รางวัลสุดแสบสะท้าน ‘สลิ่ม’ ดีเดย์แจกฟรี 2475 ฉบับ ในวันรัฐธรรมนูญ

ไอเดียบรรเจิดมักเกิดขึ้นในกลุ่มม็อบได้ตลอด หลังก่อนหน้าเพิ่งจะออกแบงก์เป็ดกันไปได้ไม่นาน มางวดนี้กลุ่มราษฎรมาพร้อมไอเดียสุดแสบอีกครั้งกับ "หวยราษฎร" ที่เตรียมไว้ต้อนรับวันรัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว

โดยสลากกินแบ่งราษฎรหรือว่าหวยราษฎรนี้ มีหน้าตาคล้ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่างกันก็ตรงที่ขึ้นเงินไม่ได้และรางวัลที่จะได้ก็ไม่ใช่ "เงิน"

แต่รางวัลที่ระบุไว้หลังสลาก ก็มาสไตล์จิกกัด ที่มีมาให้ทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่

  • รางวัลที่ 1 ประชาธิปไตย
  • รางวัลที่ 2 สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
  • รางวัลปลอบใจ ประยุทธ์ จันโอชา ลาออก

เรียกว่าแต่ละรางวัลเอา Like กลุ่มราษฎรไปเลย

สำหรับภาพของ "หวยราษฎร" นั้น บนสลากจะเป็นรูปอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มีข้อความระบุไว้ว่า "โดยราษฎรเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด" และมีแถบข้างระบุว่า "สลากสร้างสรรค์เพื่อประชาธิปไตย" แต่ที่แสบสันคือข้อความทิ้งท้ายที่ว่า "ไม่ขาย ไม่ซื้อให้ "สลิ่ม" ทุกรูปแบบ"

เมื่อถามถึงราคาหวยว่า ราคาเท่าไร และซื้อขายกันยังไง งานนี้บอกเลยไม่มีขายแต่อย่างใด อยากได้ก็ต้องไปรับเอาเองที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันนี้ (10 ธันวาคม พ.ศ.2563) ซึ่งหวยราษฎรได้ผลิตมาจำกัดมีทั้งหมด 2475 ใบเท่านั้น (0001-2475)

ส่วนเวลาแจกนั้นยังไม่มีการอัพเดทใด ๆ ใคร Want ก็ไปคอยเสียตั้งแต่หัววันโลด...

เปิดแฟ้ม 20 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย นั่นก็คือ วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกคล้ายวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

.

ส่งผลให้เกิดการยกเลิก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร

.

อย่างไรก็ตามจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาตามกาลสมัย โดยหากนับถึงปัจจุบันแล้ว ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาแล้วรวม 20 ฉบับ

.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1.) พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (27 มิถุยายน – 10 ธันวาคม พ.ศ.2475)

2.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 (10 ธันวาคม พ.ศ.2475 – 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489) ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย

3.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

4.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม (9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 – 23 มีนาคม พ.ศ.2492)

5.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (23 มีนาคม พ.ศ.2492 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494) ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

6.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (8 มีนาคม พ.ศ.2495 – 20 ตุลาคม พ.ศ.2501) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ

7.) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 (28 มกราคม พ.ศ.2502 – 20 มิถุนายน พ.ศ.2511)

8.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (20 มิถุนายน พ.ศ.2511 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ

9.) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 (25 ธันวาคม พ.ศ.2515 – 7 ตุลาคม พ.ศ.2517)

10.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (7 ตุลาคม พ.ศ.2517 – 6 ตุลาคม พ.ศ.2519) ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

11.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 (22 ตุลาคม พ.ศ.2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ.2520)

12.) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (9 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 – 22 ธันวาคม พ.ศ.2521)

13.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (22 ธันวาคม พ.ศ.2521 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534) ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.

14.) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 (1 มีนาคม – 9 ตุลาคม พ.ศ.2534)

15.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (9 ธันวาคม พ.ศ.2534 – 11 ตุลาคม พ.ศ.2540) ถูกยกเลิกหลังตรารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

16.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับประชาชน (11 ตุลาคม พ.ศ.2540 – 19 กันยายน พ.ศ.2549) ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.

17.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 (1 ตุลาคม พ.ศ.2549 – 24 สิงหาคม พ.ศ.2550)

18.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม พ.ศ.2550 – 22 กรกฎาคม พ.ศ.2557)

19.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (22 กรกฎาคม พ.ศ.2557 – 6 เมษายน พ.ศ.2560)

20.) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (6 เมษายน พ.ศ.2560 – ปัจจุบัน)

.

รู้หรือไม่?

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถูกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง พ.ศ. 2557 - 2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

"RT Movement" มุกใหม่ "เยาวชนปลดแอก" ดันทุกคนเป็นแกนนำ ไร้เวที ไร้การ์ด ไร้ชนชั้น พร้อมควง "ค้อน - เคียว" สัญลักษณ์แห่งคอมมิวนิสต์ย้อนแย้งธงประชาธิปไตย

กลายเป็น Talk ชั่วข้ามคืน เมื่อบนเพจเฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก ได้มีการโพสต์ภาพโลโก้พร้อมข้อความประกาศเปิดตัว "RT MOVEMENT" (ทีมข้อเดียวมูฟเมนท์) โดยระบุว่า...

"นี่คือ MOVEMENT ครั้งใหม่ที่จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ปลุกสำนึกทางชนชั้นของเหล่าแรงงานผู้ถูกกดขี่ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน พนักงานออฟฟิศ นอกเครื่องแบบ ชาวนา ข้าราชการ 'เราทุกคนล้วนเป็นแรงงานผู้ถูกกดขี่' "

"RT MOVEMENT นี้ ไม่มีแกนนำ ไม่ตั้งเวที ไม่มีการ์ด ไม่มีรถห้องน้ำ ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง! มาร่วม RESTART THAILAND เพื่อสร้างสังคมที่ 'คนเท่ากัน' โปรดรอติดตามช่องทางที่จะใช้เพื่อทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าข้อความดังกล่าวที่ชาวเน็ตต่างพุ่งเป้า คือ โลโก้ของ RT MOVEMENT ที่ดู ๆ ไปแล้วช่างละม้ายคล้ายสัญลักษณ์ 'ค้อน - เคียว' ของลัทธิคอมมิวนิสต์เหลือเกิน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นความตั้งใจหรือแค่บังเอิญกันแน่แต่

ว่าแต่สัญลักษณ์ 'ค้อน - เคียว' ที่ว่าคืออะไร ? ไหน ๆ ก็พูดถึงสัญลักษณ์ ค้อน - เคียวกันแล้ว The States Times ก็จะพาไปดูกันสักหน่อยว่าสัญลักษณ์เหล่านี้มีความหมายหรือว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับลัทธิคอมมิวนิสต์

จริง ๆ แล้วสัญลักษณ์ ค้อน-เคียว มักนำมาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ หรือรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ทั่วโลก

โดยความหมายของค้อน คือ ภาคอุตสาหกรรม ส่วนเคียวก็คงจะพอเดากันได้ก็ คือ ภาคเกษตรกรรมนั่นเอง!!

จะเห็นได้ว่าทั้งสองสัญลักษณ์ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมในระบบ 'คอมมิวนิสต์' โดยส่วนใหญ่จะนำค้อนและเคียวมาใช้ในลักษณะไขว้กัน เมื่อรวมกันแล้วจึงเปรียบเสมือนความเป็นเอกภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

ฉะนั้นสัญลักษณ์ค้อนเคียวนี้ จึงได้มาเป็นสัญลักษณ์ให้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น บนธงชาติสหภาพโซเวียต, ธงพรรคคอมมิวนิสต์จีน, ธงพรรคคอมมิวนิสต์เลบานอน และในตอนนี้ก็ดูเหมือนจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการเมืองของไทยที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ โดย 'เยาวชนปลดแอก'

นั่นเลยกลายเป็นเหตุให้เกิดการตั้งคำถามทั้งจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกและบุคคลนอกกลุ่มว่า ถ้าหากนำสัญลักษณ์ดังกล่าวมาเป็นมุกใหม่ของการเคลื่อนตัว จะเป็นการย้อนแย้งหรือไม่?

เพราะว่าสิ่งที่ทางเยาวชนปลดแอกและคณะราษฎรเรียกร้องมาตลอด คือ 'ประชาธิปไตย' แต่เหตุไฉนถึงเอาสัญลักษณ์ของ 'ลัทธิคอมมิวนิสต์' มาใช้ในการต่อสู้รูปแบบใหม่กันล่ะเนี่ย?

การแฉกลับของ "ดร.นิว" เมื่อ 80% IO ม็อบ...ขั้วสำเนา เฝ้าอยู่นอก

ต้องยอมรับ โซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางสำคัญในการหาแนวร่วมทางการเมือง เพราะสามารถส่งข้อมูลถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและตรงตามจุดมุ่งหมายที่อยากนำเสนอ ทั้งการปลุกระดม และการแชร์ข้อมูล ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อฝั่งตัวเอง และให้ร้ายกับฝ่ายตรงข้าม

ก่อนหน้านี้ เรามักจะได้ยินข่าวว่า ทางฝั่งทหารใช้ปฏิบัติการไอโอ "IO" (Information Operation) เพื่อสร้างข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือให้กับฝั่งรัฐบาล และคอยตอบโต้ฝั่งตรงข้าม

คนที่ออกมาให้ข่าวเรื่อง IO อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างต่อเนื่อง ก็คือ "ช่อ" (พรรณิการ์ วานิช) กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าที่พยายามขยี้เรื่องนี้แบบถี่ว่าฝั่งรัฐบาลใช้วิชามาร ทำลายความน่าเชื่อถือกลุ่มคณะราษฎร หรือม็อบ 3 นิ้ว และผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

แต่ในขณะ "ช่อ" ออกมาเขย่าเรื่องนี้ ก็เหมือนจะถูกสังคมรื้อประวัติทางฝั่งตนที่เคยใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดีย และ IO ปั่นกระแสช่วงเลือกตั้งปี 2562 จนได้เสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่อย่างถล่มทลาย

กระทั่งมาถึงม็อบ 3 นิ้ว ก็ยังคงมีเคลื่อนไหวของรูปแบบ IO ผ่านแอคเคาน์ทวิทเตอร์เยาวชนปลดแอก (@FreeYOUTHth) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสังเกตให้ดีช่วงที่ผ่านมา จะเห็นวิธีการสร้างแแฮชแท็กให้ติดเทรนด์เป็นกระแสบนทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว ผ่านการแชร์หรือรีทวิตของผู้ใช้งานจำนวนมาก ๆ เพื่อให้คนส่วนใหญ่คล้อยตามและเห็นด้วย

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีใครออกมาแฉกันจะ ๆ แต่เมื่อยุทธการปั่นประสาทคนในเชื่อว่ารัฐใช้ IO ไม่เลิกยังมีภาคต่อ ก็เลยเกิดการแฉพฤติกรรม IO ของขั้วตรงข้ามรัฐบาลอย่างกลุ่มม็อบ 3 นิ้วให้หนาว ๆ ร้อน ๆ

โดยล่าสุดเฟซบุ๊ก "Suphanat Aphinyan" ของ "ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ" หรือ "ดร.นิว" นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาโพสต์ข้อความที่น่าสนใจระบุว่า การรีทวิต ของ "เยาวชนปลดแอก" พบว่า เกือบ 80% มาจากนอกประเทศ

ดร.นิว ให้ลองสังเกตแบบผิวเผิน คือ ในทุกๆ ครั้งที่ @FreeYOUTHth ใช้งานทวิตเตอร์จะมีการรีทวิต ภายใต้แฮชแท็กเดียวกันซ้ำ ๆ เพื่อให้แฮชแท็กที่ต้องการสามารถติดเทรนด์ขึ้นเป็นกระแสบนทวิตเตอร์ในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว

แต่ถ้าสังเกตแบบเชิงลึกจะพบว่า @FreeYOUTHth มีขบวนการ Retweet ที่ไม่ได้เกิดจากฝีมือของมนุษย์โดยตรง แต่เป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ "บอท" มาทำ IO แทน ซึ่งเกิดจากการเขียนโปรแกรม ให้มีอัลกอริทึมสั่งการให้ระบบคลาวด์ หรือ ระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ทำการรีทวิตแทนมนุษย์ เพื่อปั่นกระแสและชี้นำทางความคิดเชิงปริมาณ ผ่านยอดของการปั่นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ ที่สร้างขึ้นอย่างบิดเบือน

คนไทยที่รู้ไม่เท่าทันจำนวนหนึ่ง จึงหลงเชื่อตกเหยื่อของการหลอกใช้ทางการเมืองได้ง่าย โดย ดร.นิว เผยว่า 76.69% ของการรีทวิตเกิดขึ้นภายนอกประเทศ ในขณะที่เพียง 23.31% เท่านั้นที่เกิดขึ้นจากการปั่นกระแสภายในประเทศ

ประชาชนอย่างเรา ๆ เฝ้ามองดูเรื่องราวเหล่านี้ ก็อย่าไปอินมันมาก เพราะมันก็เป็นเพียงแค่กลยุทธ์การแข่งขันทางการเมือง ที่ไม่ว่าจะกลุ่มใด ต่างก็พยายามช่วงชิงพื้นที่กลุ่มเป้าหมายมาสู่ฟากตนเท่านั้น

ฉะนั้นประชาชนแบบเรา ๆ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดด้วยตัวเอง รู้ต้องรู้ให้หมด ฟังต้องฟังให้รอบ ถ้ากระแดะยึดเรื่องที่ติดหัว แล้วร้องปาว ๆ ว่าฉันฉลาด ฉันรู้ คุณก็แค่เหยื่อโง่ ๆ ที่ตกเป็นทาสกลยุทธ์ให้ชักใยไปเพลิน

ผลสุดท้าย คนคุมเกม จะชนะหรือแพ้ ก็แค่จากไปเมื่อเกมจบ ส่วนคนลงไปเล่น หรือถูกบังคับให้ลงไปเล่น ก็ได้มายาคติฝังหัว แบบยากจะแงะออก เชื่อแล้ว เชื่อเลย ใครคิดต่างก็เป็นไอ้โง่ สังคมเกิดความแตกแยกจนต่อไม่ติด แหม่ ๆ จะว่าไปแล้วเทคนิคเหล่านี้ (IO) มันก็เข้าหลักทางการตลาดแบบไวรัลมาร์เก็ตติ้งพอดีเป๊ะ

...เล่ห์การเมืองสมัยนี้ #ช่างร้ายกาจนักนะ

 

"ชุดนักเรียน" เสรีภาพบนตัวหนู ๆ

หลาย ๆ คนที่เรียนในประเทศไทยเรา คงผ่านการใส่ชุดนักเรียนกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน และชุดนักเรียนนี่แหละ ที่มักจะถูกบ่งบอกให้เห็นถึงสถานะว่าเขาเหล่านั้นเป็น "นักเรียน" จริง ๆ

แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี่ยนเด็กรุ่นใหม่มองว่าการใส่ชุดนักเรียนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรไปกว่าการเรียนรู้ และมองว่าการใส่ชุดนักเรียนดูจะเหมือนเป็นการตีกรอบให้กับพวกเขาเสียมากกว่า

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 กลุ่ม "ภาคีนักเรียนKKC" ได้ชักชวนให้นักเรียนแต่งไปรเวทไปโรงเรียน พร้อมทั้งตั้งคำถามเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนที่พวกเขาสวมใส่ว่า...

หากใส่ชุดไปรเวทไปแล้ว ครูจะไม่ให้เข้าเรียน เพียงเพราะไม่ได้ใส่เครื่องแบบ? ถ้าหากเป็นเช่นนั้นสุดท้ายแล้วนักเรียนทั้งหลายไปเรียนเพื่ออะไรกันหากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียนคือเครื่องแบบนักเรียน?

และถ้าหากนักเรียนไม่มีเงินมากพอจะซื้อชุดนักเรียน = ไม่มีสิทธิเข้าเรียนหรอ?

ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ คือ หากใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่?

จากการตั้งคำถามเหล่านี้ The States Times ก็เลยไปหาคำตอบ จากมุมมองของนักเรียนหลาย ๆ แห่ง ทั้งที่อยู่โรงเรียนที่เปิดโอกาสให้แต่งชุดไปรเวทไปเรียน และไม่ได้ให้ใส่ชุดไปรเวท

ผลปรากฎว่า ส่วนใหญ่มองว่าการใส่ชุดไปรเวทไปเรียนไม่ใช่เรื่องผิด หรือจะทำให้ตั้งใจและเรียนรู้ได้น้อยลง และก็ไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตของผู้ใหญ่ที่พยายามมองว่าการไม่ใส่ชุดนักเรียนเป็นเรื่องที่ผิด

แน่นอนว่า ในมุมของผู้ใหญ่อาจจะมีเหตุผลที่ว่า ชุดนักเรียนมีไว้เพื่อความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดการแยกแยะได้ และช่วยป้องกันปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ

แต่พวกเขาก็มองว่า ชุดนักเรียนก็เป็นเหรียญที่มีสองด้านด้านหนึ่งอาจจะเหมือนที่ผู้ใหญ่ว่ามา แต่อีกด้านหนึ่งนั้นชุดนักเรียนกลายเป็นเครื่องแบบที่ริดรอนเสรีภาพในการแต่งตัวของเหล่านักเรียนไปซะเฉย ๆ

เมื่อต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเองไม่ว่าจะมุมเด็กหรือมุมผู้ใหญ่ แต่ดูเหมือนหนึ่งในคำตอบของคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ชัด ๆ นั่นก็คือ...ชุดนักเรียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่? หลายคนก็ยังแอบเกาหัว!!

ผิดที่ ถูกเวลา

กรณีศึกษา​ โกยซีนการเมือง​ ผ่านเวที​ Cat Expo7

ต่อให้อุณหภูมิการเมืองบ้านเราจะร้อนแรงเหมือนแดดเผาแค่ไหน แต่คนไทยก็ใช่จะต้องกลัว​ เพราะวิธีดับเรื่องร้อน ๆ​ มันมีอยู่เยอะแยะ

เมื่อไม่กี่วันมานี้​ก็เพิ่งจะมีงานเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นผ่ากลางสมรภูมิการเมืองแบบคู่ขนาน​ ในชื่องาน 'Cat Expo7'​ ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 - วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่สวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ (รามอินทรา กม.10) เพื่อที่ดับร้อนของคนที่อยากฉีกหนีจากโลกการเมืองสักพัก

แต่ไหงคนที่เข้าไปงาน​ Cat Expo7 ถึงแอบบ่นว่างานนี้โคตรร้อนกว่าเดิม แต่ร้อนที่ว่านี่คือ​ 'อารมณ์ร้อน'​

ก็จะไม่ให้ร้อนได้ไง!! งานก็ไม่ใช่งานฟรี​ คนอยากไปดูคอนเสิร์ตดีๆ​ เพื่อหนีการเมือง​ ก็ดั๊นนน... มาเจอดราม่าการเมืองบนเวทีดนตรีอีก​ เฮ้ย!! มันผิดที่

เรื่องมีอยู่ว่าช่วงเวลาของศิลปินวง​ T_047 ได้อัญเชิญแกนนำราษฎรขึ้นมาบนเวทีคอนเสิร์ตไม่ว่าจะเป็น รุ้ง, ไผ่ ดาวดิน, แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ พร้อมแกนนำคนอื่นๆ

ทั้งหมดได้มีส่วนร่วมร้องเพลงกับศิลปิน T_047 ซึ่งจริงๆ​ ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไร​ และจบลงด้วยดีไร้ความรุนแรงใดๆ นอกจากการชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคณะราษฎรทิ้งท้าย

แต่เรื่องที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การขึ้นมาร่วมร้องเพลงของแกนนำเหล่านี้ แต่มันอยู่ที่ความเหมาะสมของการกระทำที่เกิดขึ้น

เพราะถึงแม้แกนนำม็อบจะไม่ได้มาปราศรัยเต็มรูปแบบ​ แต่นี่ก็ไม่ใช่เวที​ 'ฉกฉวย'​ ซีน​ ที่หวังว่าจะมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้คนที่กำลังเมามันกับสิ่งที่เรียกว่า​ 'ดนตรี'​ เคลิ้มตาม

แน่นอนว่าโดยภาพรวมของงาน​ ก็มีศิลปินหลายท่านที่แสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองในแบบของตนผ่านทางเสื้อผ้า คำพูด หรือวัตถุ แบบตรงและอ้อม

แต่นั่นก็ไม่ได้ไร้มารยาทดั่งเช่นศิลปิน T_047 ที่ชวนแกนนำม็อบขึ้นมาร่วมร้องเพลง

นี่ถือเป็นเรื่องของมารยาททางสังคม​ล้วน​ เพราะเชื่อว่าผู้กระทำย่อมรู้อยู่แล้วว่า “ผิดที่” ผิดเวลา​ แต่มันดัน “ถูกเวลา” เป๊ะ ๆ

ต่อให้ทั้งคอนเสิร์ตเป็นแฟนคลีบม็อบทั้งหมด​ ก็เชื่อเถอะว่า​ บางส่วนก็คงมิได้เห็นด้วย​ เพราะงานดนตรีควรเป็นที่ของทุกคนที่มีความชื่นชอบในเสียงเพลง และไม่ควรนำความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาเป็นประเด็น​ โดยใช้พื้นที่งานในการแสดงออก แล้วทำให้ผิดไปจากจุดมุ่งหมายที่เจ้าของงานตั้งใจที่จะจัดเทศกาลดนตรีนี้ขึ้น

การแสดงออกทางการเมืองมีมากมายหลายวิธี และก็เถียงไม่ได้ว่า “ดนตรี” นี่แหละก็เป็นอีกทางที่ใช้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แต่ความสร้างสรรค์นั้น ก็ควรต้องอยู่บนพื้นฐานของ “กาลเทศะ” ด้วย

แยกแยะเรื่องแค่นี้ยังไม่ได้​ แล้วในอนาคตใครจะกล้าให้มาแยกแยะงานใหญ่ยิ่งกว่า​ หากประเทศไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ​ ล่ะ​

วาทะแห่งปี!!! จาก 'ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์'

วาทะแห่งปี!!

จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ย้อนอดีต 'นิรโทษกรรม' ใครผิด เดี๋ยวพลิกให้ 'ถูก' แบบไม่ต้องกลับตัว

'นิรโทษกรรม' หวนกลับมาให้ติดหูอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองระอุในช่วงนี้ บางคนอาจจะเข้าใจความหมายกันบ้างทั้งเชิงลึกและเชิงผิว

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนเลยว่า 'นิรโทษกรรม' คืออะไร?

.

- นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ที่กระทำผิด โดยไม่ต้องรับโทษ

- ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ ที่ทำไปนั้นถือว่าไม่เป็นความผิด

- ไม่สามารถขุดคดีเก่าๆ มาสืบสวนได้ ถ้าหากว่าคดีเหล่านั้นได้ถูกนิรโทษกรรมไปแล้ว

- การนิรโทษกรรมจึงเป็นเหมือนกฎหมายที่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดนั้นเป็นเหมือนผู้ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน

.

เรียกว่าดูดีสำหรับคนมีคดีติดตัวกันเลยทีเดียว เพราะพลิกผิดเป็นถูกได้ชิลล์ ๆ มิน่าคนบางกลุ่มจึงอยากให้เกิดการนิรโทษกรรมกันนักกันหนา!! แล้วทราบหรือไม่ว่าในประเทศไทยก็มีการ 'นิรโทษกรรม' กันในช่วงอดีตมามากมายพอตัว

แล้วเกิดขึ้นมากันกี่ครั้ง?

.

การนิรโทษกรรมในบ้านเราเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 23 ครั้ง

- แบ่งเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ

- และพระราชบัญญัตินิโทษกรรม 19 ฉบับ

.

***ลองไล่เลียงกันไปโดยเริ่มที่พระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ***

ปี พ.ศ. 2475

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ โดยให้การกระทำของคณะราษฎรที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ถูกนับเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ เลย

.

ปี พ.ศ. 2488

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ให้ นับว่าพ้นการกระทำผิดทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2524

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ออกโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จากเหตุการณ์พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม โดยกลุ่ม 'ยังเติร์ก' แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ทั้งประชาชนที่ชุมนุมและทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน

.

***คราวนี้มาถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 19 ฉบับกันบ้าง***

ปี พ.ศ. 2476

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

.

ปี พ.ศ. 2489

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อตอนที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

.

ปี พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ ในขณะนั้นมีการทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ซึ่งนำการรัฐประหารโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แต่ท้ายสุดได้ให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคฝ่ายค้าน) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนิรโทษกรรมกับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้นทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2475

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ.2475 แต่กลับมาใช้ช่วงปี พ.ศ.2494 ออกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อการรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเองเป็นครั้งแรก

.

ปี พ.ศ. 2499

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ออกโดยจอมพลป. พิบูลสงครามเนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจล จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2500

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ออกโดยนายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพลป.พิบูลสงคราม นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากความไม่พอใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งที่ทุจริตและสมาชิกพรรคมนังคศิลาของจอมพลป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้จอมพลป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าและให้นายพจน์ สารสินขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง

.

ปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ.2502

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 - พ.ศ.2502 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เหตุจากเนื่องจากการประกาศยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ จากคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ การรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารเงียบซึ่งก้คือการยึดอำนาจตัวเอง และได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17

.

ปี พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2515

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2515 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นการยึดอำนาจตัวเอง โดยมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือร่วมทำการปฏิวัติพ้นจากความผิดทั้งสิ้น

.

ปี พ.ศ. 2516

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จากเหตุที่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้อง ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2517

พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

.

ปี พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ออกโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่กระทำไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารนายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2519 – พ.ศ.2521

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2521 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ จึงมีการนิรโทษกรรม

.

ปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2531

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'กบฏทหารนอกราชการ' หรือ 'กบฏ 9 กันยา' แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2532

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดยนายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษกรรมผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

.

จะเห็นได้ว่าบ้านเรานั้นได้มีการนิรโทษกรรมมาหลายครั้งหลายคราว ซึ่งการนิรโทษกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราล้วนเกิดจากเรื่องของการบ้านการเมืองทั้งนั้น โดยหวังที่จะให้การอภัยและล้างความผิดทั้งหลายของผู้ที่เคยกระทำผิด เป็นบันไดก้าวไปสู่ความสามัคคีในชาติ ช่วยลดความบาดหมางและสร้างความปรองดองแก่กันได้

แต่นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดที่จะได้รับโอกาสนั้น ๆ ก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำนึกในโอกาสจากการนิรโทษกรรมที่ได้รับมาเช่นกัน

ฉะนั้นจุดประสงค์ของการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ในทางปฏิบัตินั้น การนิรโทษกรรมควรจะใช้กับคนที่ควรได้รับแค่ไหน? นั่นคือ Fact มากกว่า...

สงครามกลางเมือง!! ประตูแห่งการเลี่ยงคุกของนักการเมืองคดีอ่วม

ต่อให้เห็นต่างกันแค่ไหน ต่อให้มีม็อบกันกี่รอบ หรือกี่ครั้งยังไง
.

แต่เชื่อว่าตอนนี้ คนไทยน่าจะไม่ต้องการเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามการเมือง’ ในรูปแบบของม็อบชนม็อบที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งแบบวันประชุมรัฐสภาที่เกียกกาย
.

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดี จะพบว่าเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายในการเคลื่อนไหว ที่สะท้อนความพยายามแบบยั่วยุปลุกปั่นจากม็อบราษฎรออกมาสารพัดแนวมากขึ้น ซึ่งทุกๆ ครั้งก็ทวีความดุเดือดจนเริ่มทำให้ประชาชนอีกฟากที่เห็นต่างเริ่มเกิดความไม่พอใจ 
.

...และก็หวังที่จะให้เกิดความรุนแรงแบบ ‘ม็อบชนม็อบ’ 
.

พอเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ‘นักการเมืองบางกลุ่ม’ ที่มีคดีรอให้ขาก้าวเข้าตาราง ก็อาจจะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการขอลี้ภัยไปต่างประเทศ เพื่อหลบหนีคดีอาญาต่างๆ ได้โดยง่าย
.

เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าขบคิด หลังจาก ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมากล่าว โดยอิงกรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าออกมาระบุถึงการทำนำมาตรา 112 มาบังคับใช้เป็นการราดน้ำมันบนกองไฟของสถานการณ์ต่อจากนี้
.

ทิพานัน มองว่า “พฤติกรรมนี้มาจากกลุ่มบุคคลที่คอยฉกฉวยผลประโยชน์จากการชุมนุม โดยเฉพาะการวางแผนให้กลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนไหวไปในสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์และการแสดงออกที่เข้าข่ายคุกคาม อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันและฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่งผลให้กลุ่มประชาชนผู้จงรักภักดี เกิดความไม่สบายใจ และทนไม่ไหว ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาบังคับใช้ นายธนาธรจึงไม่ควรเบี่ยงเบนประเด็นไปใส่ร้ายว่ามาตรา 112 เป็นชนวนเหตุ เช่นเดียวกับที่นายธนาธรมักจะอ้างว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ทั้งที่นายธนาธรรู้ตนเองดีว่ากระทำผิดกฎหมายในการถือครองหุ้นสื่อ ให้เงินกู้ผิดกฎหมายกับพรรค”
.

ฉะนั้นเกมนี้ หากจะเป็นการเปิดศึก เพื่อกรุยทางให้รอดจากคดีส่อคุกที่ติดตัว มันก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมดเหมือนกัน เพียงแต่คนที่เจ็บตัว จะรู้หรือไม่ว่า พวกเขาทำไปเพื่อใคร?
.

แน่นอนว่านาทีนี้กระแสสังคมในโลกโซเชียลไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า เรียกว่า ‘ไม่เอาทุกม็อบ’ และพยายามเตือนให้กลุ่มประชาชนปกป้องสถาบันอยู่ในที่ตั้ง ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเสี่ยงอาจมีผู้ไม่หวังดี สร้างสถานการณ์ 
.

ที่สำคัญคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางทางการเมืองกำลังเริ่มเดินหน้า โดยมีการประกาศโครงสร้างของคณะกรรมการออกมาแล้ว ซึ่งมี ‘โควต้าตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุม’ ด้วย 
.

ฉะนั้นหากมีกลไกที่ถูกต้องแล้ว ควรยุติความขัดแย้งด้วยกระบวนการเจรจาจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่า...

รู้จัก ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ใน ‘10 บรรทัด’ (A4)

1.‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ คือ ทรัพย์สินที่ตกทอดมาตั้งแต่ราชวงศ์จักรี

2.เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ตกมาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

3.จากนั้นจะถูกตั้งเป็น ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ที่มีกระทรวงการคลังดูแล

4.ทรัพย์สินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้กับการช่วยเหลือประชาชน

5.อีกส่วนหนึ่งนำมาลงทุนเมื่อได้ผลกำไรจะนำมาถวายต่อในหลวงตามสมควร

6.นอกเหนือจากนั้นจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน

7.ส่วน ‘ทรัพยสินส่วนพระองค์’ คือ ทรัพย์สินส่วนตัวของในหลวง ที่นำไปใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย

8.แต่ก็ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐรวมไปถึงมูลนิธิต่างๆ ที่ในหลวงก่อตั้งขึ้นด้วย

9.ส่วน ’ทรัพย์สินของราชวงศ์จักรี’ อยู่ใต้การดูแลจาก ‘กรมธนารักษ์’ เช่น ทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลต่างๆ

10.ทรัพย์สินส่วนนี้มีงบปีละ 2,000 ล้านบาทให้แก่สำนักพระราชวัง แต่ยังคงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกฯ โดยตรง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top