Tuesday, 22 April 2025
POLITICS NEWS

'ชัยวุฒิ' มั่นใจ!! 'ลุงป้อม' ยังมุ่งมั่นในอุดมการณ์ คนไทยต้องอยู่ดีกินดี แต่จากนี้ พปชร. คงไม่เกรงใจใคร พร้อมเล่นบทฝ่ายค้านใน-นอกสภา

(6 ก.ย.67) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมใหญ่สามัญ กรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ประกาศรีแบรนด์พรรคใหม่ ว่า "ไม่ถึงกับรีแบรนด์ ยังคงเป็นพรรค พปชร.เหมือนเดิม เพียงแต่เน้นอุดมการณ์ให้ชัดเจน และแนวทางการทำงานต่อไปที่เราจะต่อสู้ในอนาคต ทุกอย่างยังเหมือนเดิม"

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิกพร้อมรับกับการรีแบรนด์พรรคใหม่ครั้งนี้หรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "คนที่อยู่สู้กับพรรคมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานการเมืองต่อกับเรา มีอุดมการณ์ร่วมกัน ส่วนคนที่ไม่อยู่ถือว่าออกไปแล้ว ซึ่งมีความชัดเจน และตนไม่อยากจะพูดถึง ส่วนคนที่อยู่คือรักกัน ทำงานร่วมกันแน่นอน"

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้พรรคย้ำเรื่องของการไม่แตกแยก แต่ภาพที่ปรากฏออกมามันสวนทางกัน? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "เป็นธรรมดาของพรรคการเมือง มีคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายอยู่ด้วยกันก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง ตนว่าอย่ามองที่พรรคพลังประชารัฐเลย ทุกพรรคมีปัญหาแบบนี้ เพียงแต่ว่าแต่ละพรรคจะบริหารจัดการภายในพรรคอย่างไร ซึ่งของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดปัญหาในครั้งนี้มันไม่ได้เกิดจากภายในพรรคอย่างเดียว แต่เกิดจากบุคคลภายนอกพรรคที่เข้ามาครอบงำ เข้ามาสั่งการด้วย จึงทำให้เกิดปัญหา"

เมื่อถามว่า คนที่ครอบงำเป็นคนจากพรรคอื่นใช่หรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ดูจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาสั่งการ ครอบงำ มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกในพรรค ถ้าภาษาการเมืองเขาเรียกว่าดูด หรืองูเห่า แบบนี้มันไม่ใช่ลูกผู้ชาย มันไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองแบบตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับพรรคพลังประชารัฐ แต่เรื่องนี้ผ่านไปแล้วไม่อยากพูดถึง ตอนนี้เราเดินหน้าทำงานต่อไป"

เมื่อถามว่า กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ได้โหวตสวนในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ได้เป็นพฤติการณ์ให้ขับออกจากพรรคได้ใช่หรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ยังไม่ถึงจุดนั้น ถ้าถึงจุดนั้นค่อยว่ากันอีกที และในพรรคเรายังไม่มีการพูดคุยถึงการขับ ไม่เป็นไร ใจเย็น ๆ"

เมื่อถามย้ำว่า ท่าทีขึงขังของ พล.อ.ประวิตร ในที่ประชุมใหญ่สามัญ เป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ไม่ทราบ"

เมื่อถามว่า กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส อยากให้พรรคขับออกเพื่อจะไปร่วมงานกับพรรคอื่น แต่ดูเหมือน พรรค พปชร.พยายามดึงรั้งไว้? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ไม่ทราบ เพราะยังไม่มีการพูดคุยกัน ตนว่าเรื่อง สส.ที่แยกตัวออกไป คงต้องดูสถานการณ์อีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ตอนนี้พรรคยังไม่มีท่าที เรื่องนี้ปล่อยให้ฝ่ายต่าง ๆ ทำหน้าที่กันต่อไป ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาแตกหักกัน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เกิดขึ้น มองว่าเป็นลักษณะการแก้แค้นของนายทักษิณ ชินวัตร กับ พล.อ.ประวิตร หรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ไม่ทราบ ต้องไปถามท่าน ตนตอบแทนไม่ได้ แต่การเมืองอย่าพูดเรื่องแค้นหรือความโกรธเคืองอะไรกันเลย เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ และสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนไปตลอด อย่างวันหนึ่งเห็นหรือไม่ว่าคนที่ไม่ถูกกันยังกลับมารักกันเลย ผลประโยชน์ลงตัวก็ทำงานด้วยกันได้"

เมื่อถามว่า แสดงว่าถ้ามีโอกาสเคลียร์ใจคงจะสามารถกลับมาทำงานร่วมกันได้ใช่หรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ไม่ทราบ"

เมื่อถามอีกว่าที่พรรคพปชร.เป็นแบบนี้ เป็นเพราะ พล.อ.ประวิตร เสื่อมการปกครองใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "ไม่ทราบ ดูกันเองแล้วกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ตนว่า พล.อ.ประวิตร ยังเป็น คนเดิม มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีพลังที่จะทำงานขับเคลื่อนการเมืองต่อไป ใครจะอยู่ใครจะไปเป็นเรื่องของคนภายนอก ไปบังคับเขาไม่ได้ แต่ตนเชื่อว่าอุดมการณ์หลักของพรรคในการที่จะทำงานเพื่อประชาชนให้อยู่ดีกินดี เศรษฐกิจทันสมัยขึ้น ปกป้องสถาบัน ทำให้บ้านเมืองมั่นคง เป็นแนวทางหลักของพรรคที่จะทำงานต่อไปแน่นอน"

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิกพรรคพร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านหรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า "รอดูต่อไปแล้วกัน การที่เราประชุมพรรควันนี้แสดงว่าเราพร้อม มีการตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และยืนยันกับสมาชิกพรรคว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลมีหลายช่องทางอยู่แล้ว ทั้งในสภาผ่านการอภิปราย เราจะทำให้เต็มที่ และการตรวจสอบด้านกฎหมาย ใครทำผิด ใครทำทุจริต เราก็ว่าไป เราจะทำเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ร่วมกัน ก็ไม่ต้องเกรงใจกัน ทำให้เต็มที่ เมื่อก่อนเกรงใจกัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว" 

เมื่อถามว่า พร้อมทำงานร่วมกับพรรคประชาชน ใช่หรือไม่? นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การจะทำงานร่วมกันในส่วนของพรรคฝ่ายค้านก็เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย ส่วนจะทำงานร่วมกันแบบไหนต้องมีการพูดคุยกัน อย่างน้อย ๆ การอภิปรายในสภาต้องมาคุยเรื่องเวลาที่ต้องมาแบ่งเวลากัน ส่วนการลงมติก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีทิศทางอยู่แล้วว่าจะอย่างไร คงไม่จำเป็นต้องตามกันทุกเรื่อง"

โหวตงบฯ 68 รัฐบาลไม่แตกแถว 309 ต่อ 155 ปชป.งดออกเสียง 4 บ้านป่าไม่เห็นด้วย 9 เสียง

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ด้วยคะแนน 309 ต่อ 155 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า เสียงที่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดย ‘พรรคเพื่อไทย’ (พท.) ส่วนใหญ่พบว่าปกติ ยกเว้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.ณัฐจิรา อิ่มวิเศษ สส.นครราชสีมา, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ ที่ไม่พบว่าลงมติใดๆ

ขณะที่ ‘น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กดไม่ลงคะแนนเสียง แต่ได้รับการชี้แจงภายหลังว่า กดเห็นด้วย แต่เครื่องลงคะแนนเสียงมีปัญหา ขณะที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ (ปชป.) ซึ่งงดออกเสียง ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์สส.บัญชีรายชื่อ และ นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา

ขณะที่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ (พปชร.) ที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว ระหว่างขั้วของ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ สส.พะเยา กับ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ สส.บัญชีรายชื่อ พบว่า สส.ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ที่มีจำนวน 20 คน ลงมติเห็นชอบ ยกเว้นนาย’ชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว’ สส.สงขลา ในส่วนของ สส.กลุ่ม พล.อ.ประวิตร มี 20 คน แต่ลงมติไม่เห็นด้วยเพียง 9 คน ส่วนคนที่เหลือไม่ปรากฏว่า ลงมติใดๆ อาทิ พล.อ.ประวิตร, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว, นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สส.สิงห์บุรี, นายปริญญา ฤกษ์หร่าย สส.กำแพงเพชร เป็นต้น

ส่วนของ ‘พรรคไทยสร้างไทย’ (ทสท.) ยังคงเป็นกลุ่มที่เคยโหวตสวน ประกอบด้วย นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร, นายหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี และ นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี สำหรับพรรคเล็ก 6 พรรค ที่เป็นของรัฐบาลก็โหวตเห็นด้วยเช่นกัน ส่วนพรรคเล็กที่อยู่ฝ่ายค้าน 3 เสียง นั้น นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. ‘พรรคไทยก้าวหน้า’ และ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ ‘พรรคเป็นธรรม’ ลงมติไม่เห็นด้วย ยกเว้น นายกฤดิทัช แสงโยธิน สส.บัญชีรายชื่อ ‘พรรคใหม่’ ที่จัดว่าอยู่ฝ่ายค้าน แต่รอบนี้โหวตเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วน ‘พรรคเสรีรวมไทย’ 1 เสียง ที่หัวหน้าพรรคประกาศว่าขอเป็นฝ่ายค้านนั้น ‘นายมังกร ยนต์ตระกูล’ สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค ไม่แสดงตนและไม่ลงคะแนน

อย่างไรก็ตาม ‘พรรคประชาชน’ (ปชน.) พบว่า ส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นด้วย มีเพียงแค่ นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สส.ลำพูน และนายสิริน สงวนสิน สส.กทม. ที่พบว่าไม่มีการลงมติใด ๆ

'ไอซ์ รักชนก' ถล่มศาลรธน. ของบ 1 ล้าน สำรวจความเห็นประชาชน แต่ปิดคอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊กศาล ประชาชนเข้าไปวิจารณ์ไม่ได้

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) ‘นางสาวรักชนก ศรีนอก’ สส.กทม.พรรคประชาชน อภิปรายมาตรา 31 ศาล ถึง โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 68 จำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าเมื่อมีการสอบถามในชั้นกรรมาธิการงบประมาณฯ ได้รับคำตอบว่าอาจจะทำเป็นรูปแบบการสอบถามออนไลน์ แต่เมื่อดูในแฟนเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้

“ท่านปิดคอมเมนต์เฟซบุ๊ก แต่ท่านมาของบประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อไปสำรวจความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ นี่เป็นการเขียนคำของบประมาณที่ย้อนแย้งของท่านหรือไม่ ขอ 1 ล้านบาท อยากจะฟังความคิดเห็น แต่ปิดเมนต์ฉ่ำ ไม่สามารถมีประชาชนคนไหน ที่เข้าไปคอมเมนต์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้”

นางสาวรักชนกมองว่า ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่สามารถรับฟังความเห็นได้อย่างไม่จำกัด มีประชาชนเข้ามา เพื่อให้สามารถสำรวจความเห็นได้ทั้งวันทั้งคืน โดยไม่เสียเงินสักบาท ไม่แน่ใจว่าท่านปอดแหกหรือไม่ ที่ไม่กล้าเปิดคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก และสุดท้ายจะเป็นการกรองเอาความเห็นที่มีประโยชน์ หรือตรงไปตรงมาหรือไม่

โดยยกตัวอย่างการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองในการสอบถามเรื่องนี้ เสมือนเป็นการนำร่องโครงการให้ ซึ่งมีความเห็นมากมายหลากหลาย อาทิ ”ฝากบอกว่าประชาชนกินข้าวไม่ได้กินหญ้า …รับใช้เผด็จการ“, “ศาลตัดสินโดยใช้หลักการอย่างนี้อย่างเลย ถ่วงความเจริญของประชาชน”, ” ไม่มีความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขอบเขตอำนาจของตัวเอง เกินกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีใครสามารถเอาผิดได้“, ”เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากเกินไป จนอาจใช้เป็นเครื่องมือทางการได้“

นางสาวรักชนก ชี้ว่า ความคิดเห็นทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณซักบาทเดียว เพียงแค่เปิดคอมเมนต์เฟซบุ๊ก ให้ประชาชนเข้ามาชื่นชมการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าคอมเมนต์ที่ตนเองได้ยกตัวอย่างไปนั้น คนในสำนักงานฯ อาจจะบอกว่า เป็นประชาชนที่ไม่ได้รู้กฎหมาย พร้อมยกตัวอย่างคลิปวิดีโอ ‘บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญไทย ผ่านสายตา 6 อาจารย์นิติศาสตร์‘

นางสาวรักชนก ทิ้งท้ายว่า การนำร่องโครงการในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องของบประมาณในส่วนนี้ จึงขอตัดงบประมาณทิ้งทั้งหมด ด้วยความเคารพ คนในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตนเข้าใจในหัวอกดีว่า การทำงานในหน่วยงานนี้ อาจจะได้รับคอมเมนต์ และคำชม ที่อาจทำให้ไม่สบายใจ แต่เป็นด้วยผลของการกระทำของคนในองค์กรท่าน

‘ปธ.กมธ.อุตฯ’ เสนอ 2 ร่าง กม. ปฏิรูปการกำจัดของเสียภาคอุตสาหกรรม เพิ่มโทษผู้ประกอบการละเมิดกฎ - ตั้งกองทุนกำจัดสารพิษ กากของเสีย

(5 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้อภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า…

ทุกวันนี้ปัญหาในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นปัญหาใหญ่ คือปัญหาในการจัดการสารพิษ กากของเสีย และมลภาวะของโรงงานและผู้ประกอบการ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสุขภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากปัญหาดังกล่าวตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการให้คณะทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติโรงงาน 2 ฉบับ ดังนี้

ฉบับแรกจะเป็นการเพิ่มโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดในการปล่อยกากของเสีย มลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติโรงงานมีเพียงโทษปรับ 200,000 บาทต่อกรณีเท่านั้น ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติโรงงานจะมีการเพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเข้าไปด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

และร่างพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งที่ยกร่างเรียบร้อย อยู่ระหว่างการได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการจัดตั้งกองทุนโรงงาน หรือกองทุนจัดการของเสียอุตสาหกรรม 

กองทุนจัดการของเสียอุตสาหกรรมนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมในอนาคต โดยที่มาของเงินทุนของกองทุนดังกล่าวจะมาจากการเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเงินส่วนนี้จะมีการคืนให้แก่ผู้ประกอบการเมื่อเลิกกิจการ 

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้เงิน 2 ส่วนในการจัดการกับของเสียอุตสาหกรรมที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพี่น้องประชาชน คือ ส่วนแรกจากงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเป็นการของบกลาง ส่วนที่สองจากกองทุนสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะดำเนินการขออนุมัติได้  

ดังนั้นกฎหมายในการจัดตั้งกองทุนจัดการของเสียอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการจัดการของเสียอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมได้ และงบประมาณส่วนนี้จะได้ใช้สำหรับการลงทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างรากฐานของการพัฒนาประเทศต่อไป

และสุดท้ายตนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่านายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ จะสามารถจัดการปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้นได้อย่างแน่นอน

'นายกฯ อิ๊งค์' วอนทุกฝ่ายขอให้ดูที่ความตั้งใจ หลังถูกวิจารณ์เป็น 'ครม.สืบสันดาน' ลั่น!! เป็นนายกฯ แล้ว ไม่พร้อมข่มเหงใคร ยินดีรับฟังและให้เกียรติทุกฝ่าย

(5 ก.ย. 67) ที่อาคารชินวัตร 3 ‘น.ส.แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีเดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจโดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การที่ตนเข้ามาทำงาน ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติ จากการโหวตของสภา ก็ต้องขอบคุณทุกท่าน และเมื่อเป็นนายกฯ แล้วไม่พร้อมที่จะข่มเหงใคร แต่พร้อมที่จะรับฟังและพร้อมที่จะให้ความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นคิดว่าหลักคิดตรงนี้จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตามข้อวิจารณ์และข้อร้องเรียนต่าง ๆ ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดการบั่นทอนการทำงานของตัวเอง ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และถ้าเป็นการวิจารณ์ด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ คิดว่าน่าจะดีแต่สามารถเกิดขึ้นได้

เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีสืบสันดาน หรือ ครม.ครอบครัว ‘น.ส.แพทองธาร’ กล่าวยอมรับว่า…

“เป็นคำที่แรงจริงๆ ด้วยใช้คำแรงจัง ความจริงมีหลายรูปแบบมีหลายคนที่ไม่ได้มาจากครอบครัว หรือเกี่ยวข้องกันและก็มีหลายคู่ที่เป็นครอบครัวต่อมา ส่วนตัวอยากให้มองถึงความตั้งใจ ที่ตั้งใจถ่ายทอดกันมาในคนใกล้ชิดและคนรู้จัก หลายอย่างในชีวิตที่ต้องทำต้องอาศัยแรงผลักดัน และความภูมิใจของคนรอบข้าง ครอบครัว เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นครอบครัวมันไม่ใช่ข้อเสียมันเป็นแรงผลักดันให้กันมากกว่า”

ส่วนข้อวิจารณ์และการร้องเรียนหนีไม่พ้นคำว่าครอบงำ โดยเฉพาะจากการพูดของ ’นายทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีกล่าวว่า…

“สงสารนายกฯ บ้างอย่าฟ้องอะไรเยอะเลย ดิฉันเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งใจทำงานเต็มที่ ขอย้ำอีกครั้งว่าบางครั้งเรื่องเล็ก ๆ อย่าให้ความสำคัญมากนัก คนฟ้องก็อย่าฟ้องเยอะเลยมันไม่ได้มีอะไรผิดแบบนั้นอยู่แล้ว”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของการแบ่งงานให้กับรองนายกรัฐมนตรีนั้น ขอเวลาพิจารณาถึงงานต่าง ๆ ก่อน รวมถึงจะมอบหมายการกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้กับ ‘นายภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยหรือไม่ ขอพิจารณาดูอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยด้วยว่า วันเดียวกันนี้จะพิจารณาในส่วนของนโยบายรัฐบาลที่จะนำสู่การแถลงต่อรัฐสภาโดยเฉพาะของพรรคเพื่อไทย วันเดียวกันนี้ก็จะมีการพูดคุยกันตกผลึกในทุกๆ ประเด็น เช่นเดียวกับในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการส่งเข้ามาแล้วบางพรรค รวมทั้งนโยบายของพรรคภูมิใจไทยในเรื่องของกัญชาขอให้รอสักนิดซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอดรอให้ได้ข้อสรุปแล้วจะมาชี้แจงอีกครั้ง

'เอกนัฏ-รมว.อุตสาหกรรม' น้อมรับเสียงวิจารณ์หลังร่วมงาน 'ครม.อุ๊งอิ๊ง 1' ชี้!! ภัยคุกคามและความท้าทายของชาติเปลี่ยน ทุกคนต้องร่วมมือกัน

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมป้ายแดง ในรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เคยเป็นแกนนำ กปปส.ไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่กลับมาร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า เมื่ออยู่ในการเมือง ก็ยินดีรับฟังทุกความเห็น และพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงาน วันนี้เรื่องของบ้านเมืองต้องมาก่อน เชื่อว่า คนที่มีจุดยืนและอุดมการณ์เดียวกัน ก็อาจมีวิธีที่ต่างกัน ตนในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ จะต้องเลือกวิธีที่ดีที่สุด เพื่อเป็นทางออกของประเทศที่ดีที่สุด บางทีอาจเป็นทางออกทางเดียว ซึ่งยืนยันว่าอยู่ในจุดยืนนี้มาโดยตลอด คือ อุดมการณ์ในการปกป้องและรักษาสถาบัน ที่เป็นเสาหลักของประเทศ

เมื่อถามว่าจะเสียแนวร่วมหรือกลุ่มสนับสนุนไปหรือไม่? นายเอกนัฏ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ขอให้ผลงานกับระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ "ทุกความเห็น ไม่ว่าจะเป็นคำด่าหรือคำติชม ยินดีรับฟัง อาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่ผมรัก และยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด ก็จะตั้งใจทำงานให้คุ้มค่ากับโอกาสที่ได้รับ"

เมื่อถามว่ามีหลายคนใช้คำแรงว่า เราหักอุดมการณ์ตัวเอง? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "เข้าใจ เพราะตนมายืนอยู่ในตรงนี้ อาชีพนี้ การตัดสินใจและจะทำอะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยืนยันว่า ได้เลือกทางที่ดีที่สุด ณ จังหวะเวลานี้ ภัยคุกคามและความท้าทายของประเทศมันเปลี่ยนไป ตอนนี้เป็นจังหวะสำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน"

เมื่อถามว่าสามารถทำงานได้สนิทใจหรือไม่ กับลูกของนายทักษิณ ชินวัตร? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "ก็ต้องทำล่ะครับ วันนี้ขอให้คิดถึงบ้านเมืองเป็นหลัก มันก็สามารถทำงานด้วยกันได้ เราไม่ได้ลืม เราไม่ได้ลบ แต่เราเลือก"

เมื่อถามว่าได้พูดคุยเรื่องนี้กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. หรือไม่? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "ตนยังคงพูดคุยกับทุกคนปกติ ตนเข้าใจแล้วที่ผ่านมาไม่อยากพูดมาก แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รับฟัง เข้าใจว่าคนที่ตำหนิมามีความปรารถนาดี ก็ต้องรับฟังและปรับปรุงตัว แต่ย้ำว่าตลอดชีวิตการทำงานการเมืองที่ผ่านมามีจุดยืน ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"

เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าไปเป็นพยานให้ นายทักษิณ ชินวัตร คดี 112 ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "ความจริงมีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมา ไม่ได้ไปโดยพลการ ซึ่งหากไม่ไป ก็จะต้องถูกหมายจับ จึงต้องไปทำหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ หากยังมีข้อสงสัย ตนก็จะหาโอกาสที่แจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง"

เมื่อถามถึงเรื่องของคุณสมบัติ ที่มีการท้วงติงกันก่อนหน้านี้? นายเอกนัฏ กล่าวว่า "การตรวจสอบคุณสมบัติไม่ใช่หน้าที่ของตน ซึ่งเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบแล้ว เนื่องจากคดีของตนมีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว ดังนั้น ที่จะมีการไปร้องให้ตรวจสอบ ขอไม่พูดถึง เดินหน้าทำงานดีกว่า"

เปิดลึก!! ชะตากรรม ‘อิ๊งค์ 1’ แอนด์ ‘เดอะนายใหญ่’ กลุ่มเกมนอกสภา ‘เล็งยิงนัดเดียว’ หวังนก 3 ตัว

กล่าวได้ว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามไทม์ไลน์การเมือง...

(4 ก.ย. 67) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแพทองธาร หรือ 'อิ๊งค์ 1' เป็นที่เรียบร้อย

7 ก.ย. 67 จะถวายสัตย์ฯ 

10 ก.ย. 67 จะประชุม ครม.นัดพิเศษเป็นครั้งแรก 

และจากนั้นวันที่ 11-12 ก.ย. 67 แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะนำ ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก่อนที่จะบริหารประเทศด้วยอำนาจเต็มแม็กเต็มร้อยตามกฎหมายต่อไป...โดยฟันธงได้เลยว่า...รัฐบาลชุดนี้ไม่มีเวลา ฮันนี่ มูน แม้แต่น้อย...

เข้าสู่สมรภูมิรบตั้งแต่นาทีแรก...ก้าวแรก ด้วยความระทึกใจยิ่ง...

อันที่จริงก็ระทึกกันตั้งแต่ขึ้นตอนหักเหลี่ยมโหด เอาพรรคประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐปีก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าร่วมรัฐบาล และจากนั้นก็ถึงคิวคัดกรองร่อนตะแกรงคุณสมบัติด้วยมาตรฐานจริยธรรม...

ปรากฏว่ามีสองรัฐมนตรียอมถอนตัว...รายแรก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งมีปมปัญหาคุณสมบัติและปัญหาเทคนิกข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อบังคับพรรค พปชร.ที่ผู้กองต้องหลบหลีกและกวาด 20 กว่าเสียงของพรรคมาแลกกับ 3 เก้าอี้ รมต.

อีกคนหนึ่งมีการถอนตัวนาทีสุดท้าย คือ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่มีปมปัญหาสีเทา และสายข่าวแจ้งว่างานนี้ 'นายใหญ่' ส่งสัญญาณพิเศษถึง 'บิ๊กหนู' โดยตรงว่า 'ต้องเปลี่ยน'...

กรณีของ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคปชป.ก็มีการกลั่นกรองกันค่อนข้างละเอียด...เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนเข้มข้น ก็เลยผ่าน...

รวมความว่า...รัฐบาลอิ๊งค์ 1 ที่ออกมา 'นายใหญ่' ได้ช่วยเซฟตี้คัท ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอดให้นายกฯ อิ๊งค์ด้วยตัวเอง...แต่สุดท้ายจะมีใคร ประเด็นไหน ลอดหูลอดตาหรือเส้นผมบังภูเขาอยู่หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง...เพราะขณะนี้ประเด็นคุณสมบัตินั้นอย่าว่าแต่รัฐมนตรีทั่วไปเลย ตัวนายกฯ อิ๊งค์ ก็ถูกร้องแล้ว...

อย่างไรก็ตาม วิเคราะห์ตามหน้าเสื่อหน้าไพ่เกมใหญ่ของฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณที่ได้ยกระดับเป็นต่อต้าน 'ระบอบชินวัตร' จะเดินหน้าเชือด...ไม่ใช่ตัวนายกฯ หัวหน้าพรรค แต่เป็น 'ผู้ครอบครอง' ตัวนายกฯและหัวหน้าพรรค ซึ่งก็คือ 'ทักษิณ ชินวัตร' นั่นเอง

ยิงนัดเดียวคือ 'นายใหญ่' ได้นก 3 ตัว...นายใหญ่ร่วง, พรรคไม่รอด, นายกฯ ร่วง...อะไรประมาณนั้น

ต้องจับตาดูนัดหมายครั้งแรก ที่ลานอนุสาวรีย์ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว วันที่ 7 ก.ย.ที่กลุ่มคปท., กองทัพธรรม, ศปปส. และแนวร่วม นัดชุมนุมโหมโรงครั้งแรกว่าจะร้อนแรงขนาดไหน...ประเด็นตัวนายกฯ ไม่เท่าไหร่ แต่ต้องดูประเด็นความลับชั้น 14 ที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ออกมาชักธงรบเมื่อวันก่อนว่ามีอะไรคืบหน้าหรือไม่...

มองจากเชิงข่าว...ก็ต้องสรุปเบื้องต้นว่า...ไม่ง่าย แม้กระทั่งประเด็นความลับชั้น 14 ที่ดูเหมือนอยู่แค่เอื้อมที่ความเลวร้ายใกล้ปรากฏ...ขอเพียงคนชื่อ 'เสรีพิศุทธิ์' ไม่หยุดลุย...!!??

แต่ข่าวเชิงลึกกระซิบมาว่า...คุณเสรีพิศุทธ์เกิดอาการเหนื่อยหอบ ตอนนี้ขอให้ 'นักร้องนิรนาม' คุณเรืองไกร นักรบบ้านในป่าเดินหน้าช่องทางอื่นต่อไปล่ะกัน !!??

'อัครเดช-รวมไทยสร้างชาติ' ย้ำ!! นโยบายรัฐบาลใหม่ ห้ามแก้ ม.112 พร้อมชูโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับประชาชน

(4 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรีและฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ที่ประชุมได้มีมติ 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีการลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 5 กันยายน 2567 พรรครวมไทยสร้างชาติมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากมีความต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ การมีมติพรรคในการผ่านกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

นายอัครเดช กล่าวว่า ในเรื่องต่อมาคือนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะบรรจุในนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการแถลงนโยบายประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องแรกเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายพรรครวมไทยสร้างชาติขอยืนยันจุดยืนเดิมว่าจะต้องไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงห้ามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 และในประเด็นเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญ

นายอัครเดช กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายจะเป็นนโยบายของพรรคในเรื่องพลังงาน ที่จะต้องมีการสร้างโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับประชาชน และการดำเนินการตามแนวทางรื้อ-ลด-ปลด-สร้าง นโยบายนี้จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนได้อย่างมาก ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อร่างกฎหมายโครงสร้างพลังงานผ่านเป็นกฎหมายแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติขอยืนยันว่าพร้อมจะสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวที่ยกร่างโดยนายพีระพันธุ์ต่อไป

'ฟ้าคราม' ยก!! 'เบน-ชนกนันท์' เลือดใหม่ 'รวมไทยสร้างชาติ' คนจริง!! ช่วยน้ำท่วมชาวแพร่ โดยไม่แคร์ถูกยัดเยียดสร้างระบบอุปถัมภ์

ไม่นานมานี้ ช่องติ๊กต๊อก 'ฟ้าคราม' (@fhakram.chavit) โดยคุณชวิศร์ ชูประทุม อินฟลูฯ อาสา ได้โพสต์คลิปยกย่องการทำงานของ น.ส.ชนกนันท์ ศุภศิริ อดีตผู้สมัคร สส.แพร่ เขต 1 เบอร์ 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังจากเจ้าตัวได้ลงพื้นที่จังหวัดแพร่ในหลายจุดอย่างรวดเร็วในทันทีที่เกิดเหตุน้ำท่วม เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและมอบสิ่งของจำเป็นจำนวนมากแก่พี่น้องชาวแพร่ที่ติดอยู่ในจุดน้ำท่วมแบบทั่วถึง โดยไม่แคร์ว่าจะต้องถูกยัดเยียดข้อหาสร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง

ทั้งนี้ 'ฟ้าคราม' ยังเผยด้วยว่า ในยามที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน หน้าที่ของคนไทย คือ การช่วยเหลือกัน เพราะหลายครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อน ออกไปทำงานไม่ได้ บางบ้านมีเด็กเล็ก มีคนป่วย พอออกไปไหนไม่ได้ ก็ไม่มีจะกิน ฉะนั้นยามนี้ใครที่จะมาบอกว่า กลัวเป็นบุญคุณอุปถัมภ์ แล้วให้มองตาจะเข้าใจ มันคงไม่ทำให้ผู้เดือดร้อนอิ่มท้อง พร้อมกับย้ำว่า เรื่องของน้ำใจ เป็นสิ่งที่อยู่เหนืออื่นใด เป็นจริยธรรมอันดี ทุกคนควรต้องช่วยกัน

สำหรับ 'เบน-ชนกนันท์' แม้จะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แต่เป็นหน้าเก่าในพื้นที่ เนื่องจากมีพ่อเป็นอดีตสจ.แพร่ เป็นหลาน 'แม่เลี้ยงติ๊ก' นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีต สส.แพร่หลายสมัย โดยเธอได้ลงพื้นที่สัมผัสกับชาวบ้านร่วมกับพ่อและแม่เลี้ยงติ๊กมาตลอด จึงรับรู้ปัญหาว่าชาวบ้านต้องการอะไร จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการลงพื้นที่เพราะคุ้นเคยกับชาวบ้านเป็นอย่างดี และเหตุการณ์น้ำท่วมหนนี้ เธอก็ทำหน้าที่คนของประชาชนในนามพรรครวมไทยสร้างชาติได้แบบไม่ตกหล่น จนได้ใจชาวในพื้นที่ประสบภัยอย่างล้นหลาม

รู้จัก ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ลูกสาว ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ‘ว่าที่ รมช.กระทรวงมหาดไทย’ ใน ครม.แพทองธาร 1

เป็นชื่อที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นหรือได้ยินในแวดวงข่าวมากนักสำหรับ ‘ดีดา-ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่หลังจาก ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ‘แพทองธาร’ พร้อมส่งซาบีดา เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนชื่อของ ‘ซาบีดา’ ก็เริ่มเป็นที่จับจ้องมองทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชื่อเธอเข้ามาแทนชาดาเลย ส่วนคนที่น่าจะมาแทน คือ ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ น้องสาวของชาดา 

แต่ขณะนี้เป็นห้วงเวลาที่มนัญญาเตรียมลงชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ‘ชาดา-มนัญญา’ สองพี่น้องได้มีเรื่องบาดหมางกัน เนื่องจากชาดาได้รับปากสนับสนุนอีกคนหนึ่งไปแล้ว นักเลงต้องรักษาคำพูด ยังดีที่ตกลง และเคลียร์กันได้ก่อนการสมัคร ‘มนัญญา’ ก็ถอนตัว จากการชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ในขณะที่ชื่อ ‘ซาบีดา’ ถูกส่งเข้าประกวดชิงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยพอดี

บุญหล่นทับ ‘ซาบีดา’ ด้วยการสละของบิดา หลังตรวจสอบน่าจะไม่ผ่านคุณสมบัติ

‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ดีกรีนักเรียนนอก เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ปัจจุบันอายุ 39 ปี 11 เดือน เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ กับ นางเตือนจิตรา แสงไกร อดีตนายกเทศมนตรี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

เมื่อชาดาผู้เป็นบิดาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ซาบีดา เข้ามาฝึกงานเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของผู้เป็นพ่อ และเป็นตัวแทนในการทำงานดูแลประชาชนในพื้นที่อุทัยธานีด้วย

ชีวิตครอบครัว ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่งงานกับ ชาเดฟ-อนันต์ ปาทาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมบันยันทรี เกาะสมุย โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี ซึ่งปัจจุบัน ‘ดีดา ซาบีดา’ ยังไม่มีบุตร และถือว่ามีครอบครัวช้า เพราะแต่งงานในวัยเลย 35 ปีไปแล้ว

แต่ก็ถือว่า ‘ซาบีดา’ เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยคนหนึ่ง เพียงแต่อายุมากกว่า นายกฯ แพทองธาร 1 ปีกว่า ๆ แต่ในวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปี ถือว่า ‘กำลังดี’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top