Monday, 21 April 2025
POLITICS NEWS

'เทพไท' ชี้!! ‘เท้ง’ เด่นไม่เท่า ‘พิธา-ไหม-ไอติม’ หลังผลโพลบุคคลตามหลัง ’นายกฯ อิ๊งค์’ ห่าง

(30 ก.ย. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เทพไท-คุยการเมือง’ หัวข้อ ทำไม ‘อุ๊งอิ๊ง’ โดดเด่นกว่า ‘เท้ง’ ระบุว่า…

ผลสำรวจของ ‘นิด้าโพล’ เรื่อง ‘การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567’ ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน 2567 นั้น ผลปรากฏว่า 

อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 เป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) 
อันดับ 2 ร้อยละ 23.50 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 
อันดับ 3 ร้อยละ 22.90 เป็น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) 
อันดับ 4 ร้อยละ 8.65 เป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) 
อันดับ 5 ร้อยละ 4.80 เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

แต่ผลการสำรวจความนิยมของพรรคการเมือง พบว่า…
อันดับ 1 ร้อยละ 34.25 เป็น พรรคประชาชน 
อันดับ 2 ร้อยละ 27.15 เป็น พรรคเพื่อไทย 
อันดับ 3 ร้อยละ 15.10 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 
อันดับ 4 ร้อยละ 9.95 เป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ 
อันดับ 5 ร้อยละ 4.40 เป็น พรรคประชาธิปัตย์

จะเห็นได้ว่าคะแนนนิยมตัวบุคคล นางสาวแพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีคะแนนอันดับ 1 ชนะนายณัฐพงศ์ หัวหน้าพรรคประชาชน อยู่อันดับ 3 และยังมีคะแนนเสียงที่ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ 23.50% ซึ่งจะตัวแปรสำคัญ ทั้งนางสาวแพทองธารและนายณัฐพงษ์สามารถช่วงชิงได้ แต่ถ้านายณัฐพงษ์ พัฒนาตัวเองให้เร็วขึ้น น่าจะมีโอกาสช่วงชิงคะแนนกลุ่มนี้ได้มากกว่า

แต่ถ้าดูผลการสำรวจเกี่ยวกับพรรคการเมือง พบว่า ความนิยมของพรรคประชาชน เหนือกว่าพรรคเพื่อไทย ถ้าถามว่าทำไมคะแนนนิยมตัวบุคคลและพรรคการเมืองไม่มีความสัมพันธ์กัน

ผมอยากจะวิเคราะห์ว่า การที่คะแนนของนางสาวแพทองธาร โดดเด่นขึ้นมา เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญก็คือไม่มีตัวบุคคลโดดเด่นพอที่จะเทียบเคียงกับนางสาวแพทองธารได้ เพราะนายณัฐพงษ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนคนใหม่ ก็ยังไม่มีบทบาทโดดเด่นและภาพลักษณ์ยังไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ถ้าเปรียบเทียบกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งดูจากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่า นายพิธา มีคะแนนนิยม 38.43% สูงกว่านายณัฐพงษ์ ที่ได้ 34.10%

ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น พรรคประชาชนยังมีคะแนนนิยมชนะพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เพราะจุดยืนและอุดมการณ์พรรคได้สืบทอดมาจากพรรคก้าวไกล ไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้คะแนนนิยมยังไม่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

สิ่งที่พรรคประชาชน จะต้องพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขนั่นก็คือ บทบาทของนายณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมของประชาชน บทบาททางการเมืองต้องโดดเด่นกว่านี้ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับบทบาทของคนในพรรคประชาชน เห็นว่านายณัฐพงษ์ ยังโดดเด่นน้อยกว่านายพิธา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล หรือนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ด้วยซ้ำไป

จึงเป็นปัญหาสำคัญที่พรรคประชาชน จะต้องขบคิดว่าจะทำอย่างไร ให้บทบาทของหัวหน้าพรรค โดดเด่นควบคู่กับคะแนนนิยมของพรรคในทิศทางเดียวกัน

'อัครเดช' ขอบคุณประชาชน เชื่อมั่น 'พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ' ย้ำจุดยืนปกป้องสถาบัน-เดินหน้า 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ปฏิรูปพลังงานไทย

(29 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เปิดเผยถึง  'การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567' ซึ่งสำรวจโดยนิด้าโพล ว่า 

ในลำดับแรกต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่เชื่อมั่น และไว้วางใจในการดำเนินงานของพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงทำให้ผลสำรวจทั้งสองส่วนคือ ส่วนของคะแนนนิยมที่มีต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ และคะแนนนิยมต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมทั้งสองส่วนต่างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับเหตุผลที่ทำให้คะแนนนิยมทั้งสองส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ตนเชื่อมั่นว่ามาจากการที่พรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้อง 'ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์' ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญต่อชาติ รวมถึงการที่ บุคคลต่าง ๆ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และสมาชิกพรรคที่เป็นรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ทำงานอย่างหนัก มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหัวหน้าพรรคยังมีนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานเพื่อคืนความเป็นธรรมด้านพลังงานให้ประชาชน และ นโยบาย 'เศรษฐกิจแบ่งปัน' ซึ่งใช้หลักการแบ่งปันจากคนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กที่ขาดโอกาสในสังคมนับเป็นแนวคิดหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติ 

การมุ่งมั่นตั้งใจทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นทำให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผลงานในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ผลงานในรัฐสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผลงานการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของบุคลากรของพรรค 

และสำหรับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น นอกจากคุณสมบัติที่ได้กล่าวถึงในรายงานของนิด้าโพลแล้ว ตนยังเห็นอีกว่าประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงความตั้งใจทำงานโดยเฉพาะในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน 

สุดท้ายนี้พรรครวมไทยสร้างชาติขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจในจุดยืนและแนวทางการดำเนินการของพรรคที่จะปกป้อง 'ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์' อันเป็นสถาบันหลักของชาติ และจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง 

'ธนกร' ฉะ!! 'ปชน.' หมกมุ่นเสนอ 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบัน' ไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง-ความเดือดร้อนของประชาชน

(29 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ หลังจากที่พรรคประชาชนเสนอ 7 แพ็กเกจในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการแก้เป็นรายมาตรา ว่า...

ตนก็สงสัยการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเหมือนที่หลายฝ่ายสงสัยเช่นกัน ว่า ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้แทนนั้น เพื่อเข้าสภาไปทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อน แก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของประชาชนจริงหรือไม่ หรือหวังจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพรรคการเมืองของตัวเองเท่านั้นหรือไม่ 

เพราะจากที่ตนดูการเสนอกฎหมาย เสนอแนวทางต่าง ๆ ของพรรคประชาชน หลายเรื่องที่ผ่านมา ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนเรื่องความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง มุ่งแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญบ้าง จ้องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพบ้าง อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระมีอำนาจมากเกินไป  และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาจากการรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่องอยู่แค่ไม่กี่คำเท่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามของหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและฝ่ายการเมืองก็ตาม ว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาชนมีจุดมุ่งหมายการทำงานการเมืองเพื่ออะไรกันแน่  

ทั้งนี้ตน มองว่าอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ควรมีอำนาจติดตามตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอำนาจฝ่ายตุลาการ ที่ควรจะต้องคงไว้เพื่อตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการที่ไร้คุณธรรม จริยธรรม คดโกง ทุจริตคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องแล้วตามรัฐธรรมนูญปราบโกงปี 2560 ที่ร่างป้องกันไว้ จึงขอคัดค้าน หากพรรคประชาชน หรือพรรคใดเสนอให้มีการปรับแก้ไข ลดอำนาจองค์กรอิสระลง เพราะจะทำให้เป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองที่ไม่ดีเข้ามาคดโกงงบประมาณแผ่นดิน เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองได้ 

เมื่อถามว่า แต่การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองพรรคประชาชนก็ยอม 'พัก' เรื่องนี้ไว้ก่อน  นายธนกร กล่าวว่า พักไว้ ไม่ได้แปลว่าจะล้มเลิกหรือถอดร่างที่เสนอต่อสภาออก แต่อาจเป็นเพราะถูกสังคมต่อว่าอย่างหนักว่า ต้องการแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง  ไม่ก็อาจจะกลัวทำผิดกฎหมายเสียเอง เพราะการแก้ประเด็นจริยธรรมนักการเมืองจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าขอคัดค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการสนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ไม่ลดมาตรฐานจริยธรรมผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำบริหารราชการแผ่นดิน 

“สังคมตั้งคำถามว่า พรรคประชาชนมัวทำอะไรกัน วนเวียนคิดแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ ติดกรอบความคิดเดิม ๆ เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารของคสช. อ้างแต่เรื่องประชาธิปไตย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติที่พี่น้องประชาชน ประสบอยู่ตอนนี้ แต่ยังก้าวไม่พ้น คสช. ต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนวางกรอบไว้ให้การพัฒนาประเทศเกิดความยั่งยืน ซึ่งก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเสนอ 7 แพ็กเกจของพรรคประชาชน มองว่าเป็น 7 แพ็กเกจสุดซอย สุดโต่ง มุ่งทำเพื่อพรรคการเมือง ทำเพื่อตัวเอง ยังไม่ได้นึกถึงประชาชนชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ" นายธนกร กล่าว

'เอกนัฏ' ปลื้ม!! ความนิยม 'พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้คำมั่น!! มุ่งทำงานบริหาร-ขับเคลื่อนการเมืองเพื่อประเทศชาติต่อไป

(29 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลโพลล่าสุดของ NIDA Poll โดยระบุว่า...

"ดูจากผล NIDA Poll ที่ออกมาวันนี้ 

"คะแนนดีขึ้นทั้งท่านหัวหน้าพีระพันธุ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งจาก 3% เป็น 5% เป็น 8% จนกระทั่งวันนี้กลับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนใกล้แตะ 10% 

"ขอบคุณทุกท่านที่เชื่อมั่นหัวหน้าพีระพันธุ์ ที่เชื่อมั่นพรรคฯ พวกเรายังต้องทำงานกันอย่างหนัก ทั้งงานบริหารบ้านเมือง และขับเคลื่อนงานการเมือง เป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้สนับสนุนทุก ๆ คนครับ"

'สวนดุสิตโพล' กาง 25 ตัวชี้วัด 'ดัชนีการเมืองไทย' พร้อมเทียบฟอร์มนักการเมือง ‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’

(29 ก.ย. 67) 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง 'ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนกันยายน 2567' กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,183 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน 2567 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สรุปผลเรียงลำดับจากค่าคะแนนสูงสุดไปถึงต่ำสุด ได้ดังนี้

1. 'ดัชนีการเมืองไทย' เดือนกันยายน 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.80 คะแนน (เดือนสิงหาคม 2567 ได้ 4.46 คะแนน)

2. ประชาชนให้คะแนน 25 ตัวชี้วัด 'ดัชนีการเมืองไทย' โดยคะแนนเต็ม 10 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ 

3. นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนคิดว่ามีบทบาทโดดเด่นในเดือนกันยายน 67 

4. ผลงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนชื่นชอบในเดือนกันยายน 67 

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า คะแนนดัชนีการเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกตัวชี้วัดครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยได้ปัจจัยเชิงบวกที่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนทั้งการได้นายกฯ คนใหม่ การเร่งแจกเงินหมื่นช่วยคนเปราะบาง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ผลงานเหล่านี้เข้าถึงปากท้องและครัวเรือนของประชาชนโดยตรง ทำให้รับรู้ได้ว่ารัฐบาลกำลังมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้จะมีความกังวลผลของเงินหมื่นในระยะยาวแต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยเหลือประชาชนได้บ้าง

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า คะแนนดัชนีการเมืองไทยปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยคะแนนของฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเป็นเพราะการทำหน้าที่อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ ในขณะที่คะแนนฝั่งรัฐบาลก็ขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยลงตัว และได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ๆ เช่น นโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตที่ปรับเปลี่ยนมาแจกรูปแบบเงินสด ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับเงินหมื่นจริง ๆ รวมทั้งการที่รัฐบาลคลอดมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัย ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน แม้ว่าการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมจะมีความล่าช้าก็ตาม รวมทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คะแนนของนายกรัฐมนตรีและผลงานของรัฐบาลขยับเพิ่มขึ้นนั่นเอง

'ปิยบุตร' ชี้!! แก้รัฐธรรมนูญยืดเยื้อ จบไม่ทันเลือกตั้งปี 70 แนะ!! เลือกทำประชามติ 2 ครั้ง-แก้รายมาตรา ไม่แตะหมวด 1-2

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าออกไปอีก รัฐบาลรัฐสภาควรทำอย่างไร?' ระบุว่า...

รัฐบาลวางแนวทางไว้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขึ้นได้ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง โดยรัฐบาลเห็นว่า การออกเสียงประชามติในครั้งแรก จะเกิดได้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เสียก่อน เพื่อเปลี่ยนจากเกณฑ์ 'ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ + ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' หรือ Double Majority ให้เป็น 'ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' ร่างพ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา 

ปรากฏมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา มีมติให้กลับไปเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามเดิม หากไปจนจบวาระสามในชั้นวุฒิสภา ยังเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า วุฒิสภามีมติแก้ไขจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา ต้องทอดเวลาออกไปอีก หากสภาใดสภาหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาทำกันมา ร่างนั้นก็จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำกลับมาลงมติยืนยันได้ 

เมื่อดูกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีการออกเสียงประชามติรอบแรกในต้นปี 2568 อย่างน้อยๆ ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 8-10 เดือน กว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาทำร่างใหม่ แล้วทำประชามติ ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก อย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นโรดแมปที่แกนนำรัฐบาล พูดกันว่าเลือกตั้งปี 70 จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว

นายปิยบุตร ระบุอีกว่า ด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ผมเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกแรก ลดการออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้ง กล่าวคือ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือนตุลาคม) เมื่อผ่านรัฐสภาก็ไปออกเสียงประชามติ เมื่อผ่าน มีส.ส.ร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ ทางเลือกนี้ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียงสองครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง...

ทางเลือกที่สอง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสีย ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆก็ตกไป การแก้ไข ตั้งแต่ มาตรา 25 ถึง มาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดักประชามติ ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะคือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และกระบวนการนี้ ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทางเลือกนี้ แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ มีแต่ทางเลือกสองทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ทันในปี 2570”

ย้ายทหาร 67 จับตา ผบ.ทบ. 'บิ๊กปู' ถอดรหัสเปลี่ยนยกแผง ผบ.พล.ทัพ 1

ได้วิเคราะห์แบบแผ่วผ่าน...เกี่ยวกับการแต่งโยกย้ายนายทหารไว้ช่วง 'ต้นเดือน-กลางเดือน ก.ย.'

ดังนั้น เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แล้วเมื่อ 20 ก.ย.2567 จำนวน 808 นาย ก็ขอขีดเส้นใต้หมายเหตุเอาไว้พอเป็นสังเขป เพื่อการติดตามสถานการณ์...ดังต่อไปนี้...

>> เป็นการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นรอยต่อระหว่าง รมว.กลาโหมพลเรือนสองคน คือ สุทิน คลังแสง และ ภูมิธรรม เวชยชัย...เอาเข้าจริงบัญชีโยกย้ายจบตั้งแต่มติกรรมการ 7 เสือกลาโหม ที่ 'บิ๊กทิน' ลงนามเชิงธุรการไว้ตั้งแต่ 3 ก.ย.วันสุดท้ายของการเป็นรัฐมนตรี...

ส่วน 'บิ๊กอ้วน' หรือ 'สหายใหญ่' นั้น เพียงแค่ตรวจทบทวน เคลียร์คัทบางประเด็นเกี่ยวกับข่าวลือ ว่าที่กรณี ผบ.ทร.คนใหม่เท่านั้น...สรุปความว่างานนี้โดยภาพรวมฝ่ายการเมืองคือ รมว. และ รมช.กลาโหม...ไม่ได้รุกล้ำโผหรือข้อเสนอของแต่ละเหล่าทัพที่ต่อสู้ฟาดฟันกันมาแต่ประการใด...

>> ส่องกล้องบัญชีรายชื่อแต่ละจุดของกลาโหมยุคใหม่ตั้งแต่ 1 ต.ค.2567 เป็นต้นไป  

- สำนักงานปลัดกลาโหม - พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ 'บิ๊กหนุ่ย' (ตท.24) นายทหารคอแดง เคยเต็งผบ.ทบ.ถูกโยกข้ามห้วยเป็น รองปลัดกลาโหม รอขึ้นปลัดกลาโหม ปีหน้า (2568) ต่อจากเพื่อนรัก พล.อ.สนิทชนก สังขจันทร์

- กองบัญชาการกองทัพไทย - พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ 'บิ๊กหยอย' (ตท.24) นายทหารคอเขียว เคยเต็งผบ.ทบ.เช่นกัน ถูกโยกไปเป็น รองผบ.ทหารสูงสุด รอขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดปีหน้าสืบต่อจากเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

- กองทัพบก - พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ 'บิ๊กปู' (ตท.26) จาก เสธ.ทบ.ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ตามข้อเสนออันแข็งแรงแข็งขันของ 'บิ๊กต่อ' พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ที่กล่าวกันว่างานนี้ 'บิ๊กต่อ' น้องเลิฟของ 'ลุงตู่' และ 'บิ๊กแดง' ใจเกินร้อยในการฝ่าเบียดแรงเสียดทานแรงต้านทั้งในและนอกกองทัพ...แต่ถึงที่สุดเดิมพันของ 'บิ๊กต่อ' ก็คงอยู่ที่ความเป็นทหารอาชีพ (หรือไม่) ของ 'บิ๊กปู' ซึ่งครบเครื่องทั้งบู๊-บุ๋น และที่สำคัญจะเกษียณเดือน ก.ย.2570 โน่น!!

- กองทัพเรือ แม้จะมีคลื่นใต้น้ำต่อต้านรุนแรง แถมมีใบปลิว บัตรสนเทห์สารพัด...แต่ก็ไม่อาจหยุด 'บิ๊กดัน' อย่าง 'บิ๊กดุง' พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม  (ตท.23) ผบ.ทร.ที่กำลังเกษียณ ที่ยืนกรานเสนอ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ 'บิ๊กแมว' (ตท.23) ที่ปรึกษาพิเศษ ทร.ขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ได้...การผงาดของ 'บิ๊กแมว' ที่จบนักเรียนนายเรือเมอร์วิค เยอรมนี และไม่ได้อยู่ในไลน์ 5 ฉลามเสือ...ทำให้ต้องเด้งดึ๋งหนึ่งในตัวเต็งสำคัญที่พลาดหวังมาก่อนอย่าง พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) รองผบ.ทร.ไปเกษียณในตำแหน่งรองผบ.ทหารสูงสุด...

- กองทัพอากาศ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน (พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล-บิ๊กไก่) ยังอยู่ในตำแหน่งจนถึง ก.ย.2568  

>> ขีดเส้นใต้หมายเหตุส่งท้าย...หากจะโฟกัสไปที่กองกำลังสำคัญที่เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลความมั่นคงที่อาจโยงใยกับการเมือง การรัฐประหาร ก็ต้องส่งกล้องไปที่กองทัพภาคที่ 1 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 26 จังหวัดภาคกลาง คุมกองพลสำคัญ มีการจัดทัพปรับแถวใหม่ ทั้งแม่ทัพและผบ.พล.ใน 4 กองพลสำคัญ ดังนี้...

- มทภ.1 พล.ท.อมฤต บุญสุยา 'บิ๊กใหญ่' ( ตท.27) เกษียณ 2571 ตำแหน่งเดิม มทน.1(แม่ทัพน้อย)
- มทน.1 พล.ท.วรยศ เหลืองสุวรรณ 'บิ๊กไก่' (ตท.28) เดิม รองมทภ.1
- ผบ.พล.1 รอ.พล.ต.กิตติ ประพิตรไพศาล (ตท.31) เดิมรอง ผบ.พล.2 รอ.
- ผบ.พล.2 รอ. พล.ต.เบญจพล เตชาติวงศ์ ณ อยุธยา (ตท.32) เดิม รองผบ.พล.2 รอ.
- ผบ.พล.9 พล.ต.อัษฏาวุธ ปันยารชุน เดิมรอง ผบ.พล.9    
-ผบ.พล.11 พล.ต.ยุทธนา มีเจริญ (ตท.30) เดิม รองผบ.พล.11

อันที่จริง 4 รองผบ.พล.ที่ขึ้นเป็น ผบ.พล.ขณะนี้ ยังมีชั้นยศ พ.อ.พิเศษ เท่านั้น แต่ขออนุญาตเพิ่มยศตามตำแหน่งใหม่...

จับตามองบทบาทพวกเขาดี ๆ หากมีความผิดปกติของเหตุบ้านการเมือง !!

'วัน' งงข่าว 'สันติ-วราเทพ' ทิ้งลุงป้อม ถาม? สื่อไปเอาข่าวมาจากไหน?

(28 ก.ย.67) นายวัน อยู่บำรุง หัวหน้าทีมกรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (27) ว่า...

"วันนี้ 18.00 น. ผมทานข้าวอยู่กับลุงป้อมพร้อมท่านสันติและท่านวราเทพ สื่อไปเอาข่าวมาจากไหนครับ"

ทั้งนี้จากกรณีมีกระแสข่าวว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายวราเทพ รัตนากร ผอ.พรรคพลังประชารัฐ จะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย (พท.)

‘เจือ ราชสีห์’ เผย!! ความคืบหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม เสียงคณะกรรมาธิการฯ เกินครึ่ง ไม่นิรโทษพวกล้มเจ้า

(26 ก.ย. 67) จากส่วนหนึ่งของรายการ ‘ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร’ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ ‘นายเจือ ราชสีห์’ หนึ่งในคณะกรรมวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน / อดีต สส.สงขลาหลายสมัย ในประเด็น ‘ต้องไม่นิรโทษกรรม ม.112’ ได้สร้างความกระจ่างชัดเบื้องต้นในห้วงเวลานี้ว่า ความผิดใดที่เข้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมและความผิดใดไม่ควรนิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหา ดังนี้...

เจือ กล่าวว่า หากสรุปสาระสำคัญของผลการศึกษาอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ใช้เวลากันอย่างเข้มข้นในช่วงประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ โดยมีเอกสารมากถึง 299 หน้า แล้วมีผนวกอีกสองเล่มใหญ่ พอจะผลสรุปว่าแบบไหนถึงเข้าข่ายการนิรโทษ และแบบไหนไม่เข้าข่ายการนิรโทษ...

โดย เจือ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองเยอะมาก จนนำไปสู่เหตุปะทะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม และก็มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ช่วงพันธมิตรก็ดี เหตุการณ์ นปช.ก็ดี เหตุการณ์นักศึกษาออกมาเรียกร้องชุมนุมก็ดี รวมถึงกลุ่มเยาวชนสามนิ้วนั้น ก็นำมาสู่แนวคิดที่จะหาทางพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองร่วมกันแบบยั่งยืน

ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ จึงถูกผุดขึ้นภายหลังช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเรื่องนี้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการยื่นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดนี้มาที่ ‘พรรครวมสร้างชาติ’ ซึ่ง สส.ของพรรครวมทั้งชาติต่างก็ได้รับฟังและมองว่า เราคงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทางรวมไทยสร้างชาติได้เสนอเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘พรบ.สันติสุข’ ขึ้นมาในนามของพรรคเข้าไปด้วย

“ย้อนไปเมื่อต้นปี (2567) เริ่มมีการพูดคุยกันว่า เราจะเริ่มต้นยังไงดี? เราจะเอาเหตุการณ์ไหนบ้าง? กี่เหตุการณ์? ความผิดไหนเราจะนิรโทษ? หรือความผิดไหนเราไม่นิรโทษ? มาพูดคุยกันในวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าคำถามเหล่านี้แม้จะค่อนข้างตรงประเด็นชัดเจน แต่เวลาตอบเราจะตอบให้มันละเอียดขนาดนั้นทันทีคงไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องร่วม 20 ปี ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก”

นายเจือ ได้เผยต่ออีกด้วยว่า “ก่อนหน้าที่จะมีญัตติให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริง ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นรายละเอียดเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ไปแล้ว (พรบ.สันติสุข) พร้อมด้วยร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และของพรรคประชาชน ซึ่งเท่ากับมีอยู่ 3 ร่างคาสภาอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางรัฐบาล จึงมีความประสงค์ให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็เลยมีคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า ‘คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พรบ.นิรโทษกรรม’ ซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วย”

เจือ เล่าต่อว่า คณะฯ ดังกล่าว ได้เริ่มต้นให้มีการกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพิจารณา ไว้ดังนี้…

1. กำหนดกรอบเวลา ว่าจะกำหนดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มาถึงปัจจุบัน
2. กำหนดกรอบการนิรโทษกรรม ว่าจะให้มีอะไรบ้าง

จากนั้นกำหนดกรอบ ก็เริ่มมีการไล่ลำดับเหตุการณ์ โดยมีการเชิญกลุ่มต่าง ๆ (พันธมิตร / นปช. / กปปส. / นักศึกษา / เยาวชนสามนิ้วที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้น) มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการดังกล่าว 

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็มาลงลึกไปอีกว่า ถ้าจะนิรโทษ จะนิรโทษความผิดอะไร โดยยึดโยงเหตุการณ์ที่อิงข้อมูลหลักฐานจากหน่วยงาน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตำรวจ, อัยการ และ ศาล ถึงจะมาสรุปเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าควรคลุมในฐานความผิดอะไรบ้าง

“อันที่จริงแล้ว ผมอยากเรียนกับทุกท่านแบบนี้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดหลายส่วน ต่างก็โดนบทลงโทษกันไปเกือบหมดแล้ว ประเมินก็เรียกว่าลงโทษกันไปเกินครึ่งแล้ว ทั้งพันธมิตร, นปช. และ กปปส. เพียงแต่ยังเหลือกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะได้อานิสงส์ผลพวงจากกฎหมายนิรโทษฉบับนี้” เจือ เสริมและกล่าวต่อว่า...

“ทีนี้ ถ้าจะมามองกันในแง่ของฐานความผิด จะครอบคลุมอย่างไร และเราจะหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยเงื่อนไขไหน ซึ่งตรงนี้เราได้ข้อมูลมาเยอะมาก โดยมีทั้งฐานความผิดหลัก, ฐานความผิดรอง หรือคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาแยกให้ออก ว่าแบบใดถึงจะเข้าข่ายกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ซึ่งเบื้องต้นต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ถ้าเกิดจากการกระทำโดยความแค้นส่วนตัว ก็ไม่เกี่ยว คิดจะโกงบ้านกินเมืองไม่เกี่ยว หรือก่อกบฏ ประทุษร้ายต่อประเทศ ก็ไม่เกี่ยว เป็นต้น…

“พูดง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมจะครอบคลุมและเกี่ยวเนื่องต่อแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ต้องเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นิยามหลักอยู่ตรงนี้”

>> กรอบเวลา และ กรอบการนิรโทษ
เจือ เผยว่า ในส่วนของเรื่องห้วงเวลา ช่วงเวลานิรโทษจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ต่อทั้ง คดีหลัก คดีรอง และ คดีอ่อนไหว โดย ‘คดีหลัก’ จะหมายถึง ความผิดฐานก่อกบฏ ก่อการร้าย ต่อมา ‘คดีรอง’ เช่น การปะทะกับเจ้าหน้าที่ การทำผิดกฎหมายจราจร เป็นต้น ซึ่ง คดีหลัก-คดีรอง ฟันธงให้ นิรโทษกรรม ได้

แต่ที่สำคัญ คือ ‘คดีอ่อนไหว’ ซึ่งเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) กับ มาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พระราชินีฯ) ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งช่วงระยะหลังคนไทยจะคุ้นเคยดีกับ มาตรา 112 

>> ‘คดีอ่อนไหว-หมิ่นเจ้าฯ’ ไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม 
ทั้งนี้ในส่วนของ ‘คดีอ่อนไหว’ เจือ เผยว่า มีการพูดคุยกันอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่…

1.ไม่นิรโทษกรรมให้เลย 
2. นิรโทษทั้งหมด
3. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

“ในวงคณะกรรมาธิการที่มีการพูดคุยในเรื่องของคดีอ่อนไหว จะพบว่า ทางคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน ซึ่งรวมผมด้วย และมติโดยรวมเกิน 55-60% เห็นว่า ‘ไม่ควรนิรโทษกรรม’ ให้ ส่วน 30% ก็คือต้องการนิรโทษ และเสียงที่เหลืออยากให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ทันที ว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่? อย่างไร? ซึ่งแม้เสียงในวงประชุมจะมีมากกว่า 55% ที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมกับคดีอ่อนไหวนี้ แต่ก็ยังไม่นับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้นจึงต้องมีการไปให้ความเห็นจากแต่ละคนในเชิงของรายงานต่อที่ประชุมสภาต่อไป ในวันที่ 3 ตุลาคม ต่อไป”

>> ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จุดยืนชัดเจน!!
แน่นอนว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความชัดเจนอย่างมาก ที่ไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เพราะอะไร? โดย เจือ ย้ำหนักแน่นว่า “ก็เพราะเราได้มีการนิยามคำว่าการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนแล้ว คือ ต้องเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ในส่วนของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม หากแต่ผู้ที่ต้องการรับพระราชอภัยโทษ ต้องไปรับโทษเสียก่อนเท่านั้น นี่คือหลักของกฎหมาย ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยอย่างไม่มีเหตุผล กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง นี่คือความชัดเจน”

เจือ ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการทำงานร่วมกันนั้น ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอไว้ในสาธารณะ นั่นก็คือเรื่องของ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ และ ‘กฎหมายอาญาร้ายแรง-ฆ่าคนตาย’ ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการระบุแนบเสริมไว้ โดยมองว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกระแสเสียงในวงประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ก็เป็นไปในทางเห็นด้วยค่อนข้างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีการพูดคุยกันอย่างรอบคอบก่อนออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งความคืบหน้าในการกำหนดกรอบการนิรโทษหรือไม่นิรโทษยังไงนั้น คงทำได้แค่รอดูผลจากการประชุมสภาวันที่ 3 ตุลาคมที่จะถึงนี้อีกรอบ...

‘LINE TODAY’ เปิดโผนักการเมืองยอดนิยมเดือน ก.ย. 67 ‘นายกฯ อิ๊ง’ ผงาดที่ 1 ฟาก ‘รมว.พีระพันธุ์’ ติดโผด้วย

(26 ก.ย. 67) การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนักการเมืองประจำเดือนกันยายน ของ Line Today พบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก้าวกระโดดขึ้นมาครอง อันดับ 1 หลังจากที่ในเดือนสิงหาคมติดอยู่ที่อันดับ 11 คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากถึง 4.5 พันคะแนน

ขณะที่ อันดับ 2 ตกลงมาจากอันดับ 1 ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งหลังจากถูกยุบพรรค พบว่าคะแนนลดลงมากถึง 16,803 คะแนน หลังจากที่ในเดือนสิงหาคมได้รับคะแนนโหวตสูงถึง 19,794 คะแนน

ส่วนในอันดับที่ 3 คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คะแนนนิยมพุ่งขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสัญญาณบวกหลังได้นั่งเก้าอี้ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นนิมิตหมายที่ดีของ ‘ประชาธิปัตย์’ ที่จะมีโอกาสกลับมาทวงบัลลังก์ทางการเมือง

สำหรับผลโหวตสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนักการเมืองในปัจจุบัน ประจำเดือนกันยายน ซึ่งเปิดโหวตตั้งแต่วันที่ 1-20 กันยายน ที่ผ่านมา โดยผลปรากฏว่า 10 อันดับแรกมีดังนี้…

อันดับ 1 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 4,764 คะแนน คิดเป็น 37.59%
อันดับ 2 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2,991 คะแนน คิดเป็น 23.6%

อันดับ 3 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน 1,355 คะแนน คิดเป็น 10.69%
อันดับ 4 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 681 คะแนน คิดเป็น 5.37%

อันดับ 5 นายชวน หลีกภัย 585 คะแนน คิดเป็น 4.62%
อันดับ 6 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 428 คะแนน คิดเป็น 3.38%

อันดับ 7 นายทักษิณ ชินวัตร 336 คะแนน คิดเป็น 2.65%
อันดับ 8 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 313 คะแนน คิดเป็น 2.47%

อันดับ 9 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 181 คะแนน คิดเป็น 1.43%
อันดับ 10 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 131 คะแนน คิดเป็น 1.03%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top