Monday, 7 July 2025
POLITICS NEWS

'สร้างอนาคตไทย' พร้อมรวมพรรค 'ไทยสร้างไทย' ย้ำ!! แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคต้อง 'สมคิด' 

(15 ต.ค. 65) นายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการรวมกันของพรรค สอท. และพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โดย น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค ทสท. ได้ตั้งเงื่อนไขว่าอุดมการณ์ต้องชัด และไม่เป็นนั่งร้านให้เผด็จการ ว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สอท. ย้ำจุดยืนในเรื่องนี้แล้ว จะไม่เป็นนั่งร้านให้กับใคร และมีจุดยืนเป็นของตัวเอง โดยเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค สอท. เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

'เพื่อไทย' ซัด 'ประยุทธ์' ทำเสรีภาพทางการเมืองไทยตกต่ำ ยก 'เดี่ยว 13' เป็นตัวอย่าง คนฝั่งรัฐบาลดีดดิ้น จ้องดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพพลเมืองหรือฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) เผยแพร่รายงานเสรีภาพโลกประจำปี 2022 (Freedom of the World 2022) ที่ประเมินสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนในแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในประเทศไร้เสรีภาพเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ซึ่งถูกลดขั้นตกชั้นติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ถูกรวมอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประสบกับวิกฤตการถดถอยของเสรีภาพหนักที่สุดแย่กว่าเยเมน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 21 และอัฟกานิสถานอันดับที่ 22 ทั้งยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษจากการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะที่อันดับการประเมินด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองไทยได้ 29 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนนว่า ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กว่าเกือบทศวรรษ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนคนไทยตกต่ำอย่างหนัก ไทยต้องประสบกับสภาวะถดถอยทางเสรีภาพขั้นวิกฤต โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่นับวันพัฒนาการทางประชาธิปไตยยิ่งเสื่อมถอยลงทุกวัน  ถูกลดชั้นจากองค์กรระหว่างประเทศทุกปี ไม่มีความสง่างามในเวทีโลก เพราะความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกจำกัด การชุมนุมของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลดำเนินคดีและจับกุมคุมขังคนเห็นต่างในที่สุด 

'สมคิด' จวก 'ประยุทธ์' บริหารจัดการน้ำล้มเหลวทุกทาง ชี้!! ใช้งบ 4 แสนล้าน ผู้รับเหมารวย แต่ปชช.จมน้ำเช่นเดิม

(15 ต.ค. 65) สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แสดงความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด อยากเรียกร้องให้รัฐบาลรีบช่วยเหลือเร่งจ่ายเงินเยียวยาโดยเร่งด่วน อย่าชักช้าเหมือนปี 2562 ที่ชาวบ้านต้องรอเงินเยียวยาไปซ่อมบ้านเรือนนานถึง 6-8 เดือน

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลออกกฎระเบียบ ขั้นตอนมากมาย ทำให้ประชาชนที่ประสบเหตุต้องรอนานกว่าจะได้เงินจาก 1 วัน เป็น 1 เดือน เป็นหลายเดือน จังหวัดอุบลราชธานี ประสบเหตุน้ำท่วมหนักมากกว่าทุกปี พี่น้องประชาชนต้องหนีน้ำขึ้นหลังคานับหมื่นครัวเรือน นาข้าวหลายแสนไร่ ต้องจมน้ำ ปศุสัตว์ตายเพราะน้ำท่วม กว่าจะได้เงินเยียวยาต้องรอข้ามปี ดังนั้น รัฐบาลต้องมีเจ้าภาพที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่าหวังพึ่งระบบราชการดำเนินการ เพราะจะไม่ทันความเดือดร้อนของประชาชน

'ก้าวไกล' เปิดชุดนโยบายแรก 'การเมืองก้าวหน้า' ชูโรง!! 'นิรโทษกรรมคดีการเมือง - แก้ ม.112'

ก้าวไกลเปิดชุดนโยบายแรก 'การเมืองก้าวหน้า' นิรโทษกรรมคดีการเมือง / แก้ 112 / ลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ / พระเลือกตั้งได้ / ลาคลอด 180 วัน / คำนำหน้านามตามสมัครใจ 

พรรคก้าวไกลเปิดชุดนโยบายแรก ประเดิมนโยบายการเมืองชุดใหญ่ สังคายนาทหาร-ศาล-รัฐธรรมนูญ ชูจุดยืนคนเท่ากัน ผลักดันหลายนโยบายก้าวหน้า นิรโทษกรรมคดีการเมือง แก้ 112 และลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ หวังสร้างการเมืองก้าวหน้า ประชาธิปไตยเต็มใบ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดงานแถลงนโยบายชุดแรกของพรรค ได้แก่ 'การเมืองไทยก้าวหน้า' โดยระบุว่าชุดนโยบายของก้าวไกล เป็นบ้านนโยบายที่ชื่อว่า 'ไทยก้าวหน้า' มีเป้าหมายคือการสร้างประเทศไทยที่ก้าวหน้าใน 9 ประเด็น คือ การเมืองไทยก้าวหน้า / ราชการไทยก้าวหน้า / ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า / เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า / เกษตรไทยก้าวหน้า / สวัสดิการไทยก้าวหน้า / การศึกษาไทยก้าวหน้า / สุขภาพไทยก้าวหน้า และสิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า โดยทั้งหมดอยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือประเทศไทยเป็นของประชาชน 

“เหตุที่ต้องเปิดนโยบายการเมืองเป็นอันดับแรก เพราะหากการเมืองไม่ดี ยากที่เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาอื่นๆ จะถูกแก้ไขได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจ และทรัพยากร ใครจะได้บริหารประเทศ ใครจะเอาภาษี เอางบประมาณไปใช้ทำอะไร จะนำพาประเทศไปในทางไหน หากการเมืองไม่ดี เราจะไม่มีวันได้เห็นประเทศที่ก้าวหน้ากว่านี้” พิธากล่าว

สำหรับนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลแถลงในวันนี้ ประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ ทหารของประชาชน ศาลของประชาชน คนเท่ากัน และรัฐธรรมนูญใหม่ปลดล็อกประเทศไทย

>> ทหารของประชาชน เอาทหารออกจากการเมือง แจกใบแดงนายพล ลดจำนวนนายพล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยเริ่มจากการ 'แจกใบแดงนายพล' ห้ามนายพลเกษียณอายุเป็นรัฐมนตรีจนกว่าจะเกษียณครบ 7 ปี เพื่อตัดวงจรการใช้อำนาจเส้นสายระบบอุปถัมภ์ของกองทัพมาสู่อำนาจทางการเมือง นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังมีนโยบาย ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจล้นเกิน ก้าวก่ายกิจการราชการพลเรือน และในขณะเดียวกันก็ยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนำไปสู่การซ้อมทรมานในค่ายทหาร สร้างบาดแผล ความไม่ไว้วางใจให้กับคนในพื้นที่ ขัดขวางการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ 

พิจารณ์ ยังระบุว่า จะมีการปรับโครงสร้างกองทัพให้กระชับ คล่องตัว ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ยกเลิกระบบทหารรับใช้ ทหารต้องมีศักดิ์ศรีและปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังจะจัดการให้กองทัพคืนธุรกิจของกองทัพ ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม ม้า มวย ให้กับรัฐบาล รวมถึงคืนที่ดินของกองทัพที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ให้มาเป็นที่ทำกินของประชาชน แลัวให้ท้องถิ่นนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำสนามกีฬาหรือลานเอนกประสงค์ 

>> ศาลของประชาชน ปฏิรูปศาล นิรโทษกรรมคดีการเมือง แก้ 112 ลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากการปฏิรูปศาลให้ยึดโยงรับใข้ประชาชน ให้ผู้พิพากษาต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอแก้ไขไปแล้ว และขณะนี้ร่างแก้ไขชุดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาแล้ว ยกเว้นร่างแก้ไขกฎหมาย 112 ที่สภาไม่ยอมบรรจุเข้าวาระ โดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเดินหน้าผลักดันต่อไปหากได้เป็นรัฐบาล และย้ำว่าการแก้ 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของประเทศ 

รังสิมันต์ยังเปิดนโยบายการนำรัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อชำระสะสางคดีอาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่นเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 รวมถึงโศกนาฏกรรมตากใบ และป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมเช่นนี้อีกในอนาคต ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลที่เกาะกินประเทศไทย

และข้อเสนอใหญ่ที่สุดของพรรคก้าวไกล คือการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อคืนความเป็นธรรมและอนาคตให้กับประชาชนที่ต้องคดีการเมืองเพียงเพราะแสดงความเห็นต่าง และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

>> คนเท่ากัน คำนำหน้านามตามสมัครใจ ลาคลอด 180 วัน พระเลือกตั้งได้ จ้างงานผู้พิการ

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขตสายไหม แถลงชุดนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า ในหมวด 'คนเท่ากัน' ซึ่งว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เริ่มจากการจ้างงานคนพิการ 20,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงการเสนอนโยบาย 'อัตลักษณ์ทางเพศก้าวหน้า' คือการรับรองความหลายหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมกัน บุคคลเลือกคำนำหน้าได้ตามความสมัครใจ และมีการเพิ่มตำรวจหญิงทุกสถานี เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีล่วงละเมิดทางเพศ เอื้ออำนวยให้ผู้เสียหายสะดวกใจที่จะเข้าแจ้งความ ไม่กระทบกระเทือนจิตใจซ้ำจากกระบวนการสอบสวน นำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมในคดีทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อีกนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิผู้หญิง คือการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และพ่อแม่สามารถแบ่งกันใช้ได้ เพื่อให้หน้าที่เลี้ยงลูกในวัยแรกเกิดเป็นของทั้งพ่อและแม่ ไม่เป็นภาระของแม่แต่เพียงฝ่ายเดียว นโยบายนี้จะยังเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้เด็กได้เติบโตมาอย่างอบอุ่น ได้รับการดูแลโอบอุ้มจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิดในวัยเริ่มต้นของชีวิต 

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังจะเสนอให้พระสามารถเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับนักบวชศาสนาอื่น เนื่องจากพระก็ยังต้องไปเกณฑ์ทหาร ยังต้องอยู่ใต้กฎหมาย แต่กลับต้องถูกยกเว้นไม่ได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้ง 

'สนธิรัตน์-วิเชียร' แอ่วเหนือ ล้อมวงคุย แกนนำพรรค-เกษตรกรผู้ปลูกลำไย จ.ลำพูน อ้อนขอฝาก 'พล.ต.ต.กริช' เขต 2 ช่วยแก้ปัญหาให้ปชช. เตรียมรวบรวมปัญหาราคาลำไยตกต่ำหารือเป็นนโยบาย จบวิกฤตซ้ำซาก

วันนี้ (15 ต.ค.65) ที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรค พล.ต.ต.กริช กิติลือ ว่าที่ผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร ส.ส. ลำพูน เขต 2 พรรคสร้างอนาคตไทย และคณะทำงาน พบปะแกนนำพรรคในพื้นที่ ชาวบ้าน และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดลำพูน กว่า 70 คน เพื่อร่วมหารือการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ และร่วมรับฟังปัญหาและความต้องการในการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของพี่น้องชาวจังหวัดลำพูน และพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ

โดยนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดลำพูนครั้งนี้ มาด้วย 2 จุดประสงค์ โดยจุดประสงค์แรก คือ การมาพบปะแกนนำของพรรคในพื้นที่ เพื่อหารือร่วมเรื่องการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และรับฟังสิ่งที่แกนนำในพื้นที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงนโยบายในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พรรคสร้างอนาคตไทยมีความชำนาญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัญหาทั้งหมดเราจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการด้านนโยบายของพรรค และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสู้ศึกเลือกตั้งในภาคเหนือเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็มั่นใจว่าไม่เกินความสามารถของพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งตนมั่นใจในตัวว่าที่ผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร ส.ส. ลำพูน เขต 2 ของพรรค อย่าง พล.ต.ต.กริช กิติลือ ว่าจะเป็นหนึ่งในที่นั่ง ส.ส. ของจังหวัดลำพูนที่พรรคต้องได้มา ซึ่งตนเชื่อว่าวันนี้พี่น้องชาวลำพูนต้อนรับ และเปิดใจกับพรรคสร้างอนาคตไทยอย่างแน่นอน

ส่วนจุดประสงค์ที่สองคือ การมาพบปะและรับฟังปัญหาของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ซึ่งจังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่ปลูกลำไยอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่กลุ่มเกษตรกรประสบอยู่คือลำไยราคาตกต่ำ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งเรื่องค่าแรง ค่าปุ๋ย และปัญหาเรื่องที่ทำกิน ซึ่งตนมองว่าถึงเวลาต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ไปจนถึงการทำการตลาด ซึ่งพรรคมีนโยบายสนับสนุนการแก้ปัญหาเรื่องลำใยอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.ลำไย ที่ทางกลุ่มเกษตรกรได้มีการจัดทำขึ้นมาเพื่อเสนอต่อรัฐบาลไว้แล้วนั้น พรรคจะนำเข้าสู่ที่ประชุมนโยบายพรรคเพื่อนำไปจัดทำนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังให้สมกับที่พี่น้องประชาชนผู้ปลูกลำไยได้ฝากความหวังไว้กับพรรค 

เมื่อถามว่า หากพรรคได้เป็นรัฐบาลจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคมีนโยบายสนับสนุนเรื่องการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไย และเรื่องที่พี่น้องได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลำไย รวมทั้งการนำเสนอรัฐบาลเรื่องการเยียวยาแก้ไขปัญหาเรื่องลำไย ทั้งหมดเป็นอีกหนึ่งนโยบายของพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งจะนำไปรวบรวมและจัดทำนโยบายการขับเคลื่อนต่อไส

เมื่อถามว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีนโยบายพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องปากท้องคือหัวใจใหญ่ ประชาชนประสบปัญหาหนี้สิน การประกอบอาชีพ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ตั้งเป้าว่าต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคเราประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม เราขอความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน เพื่อให้เราได้เข้าไปทำหน้าที่ให้พี่น้องชาว จ.ลำพูน เขต 2 เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ภาคเหนือมีหลายปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เราจึงเร่งลงพื้นที่ 

"ฝากพี่น้องชาวลำพูน ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เรายากลำบากจากปัญหาเรื่องการทำมาหากิน สินค้าเกษตร ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้ยากลำบาก อยากให้กำลังใจพี่น้อง ชาวลำพูน ขอให้มีความอดทน การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเราอาสามาช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้อง ขอฝากพรรค และ พล.ต.ต.กริช ให้กับพี่น้องชาวลำพูน เขต 2 พิจารณาด้วย อย่างไรก็ตามจ.ลำพูน พรรคสร้างอนาคตไทย จะส่งครบทั้ง 2 เขต และเร็วๆ นี้เราจะนำผู้บริหารพรรคลงพื้นที่ภาคเหนือ"

'ธัญวัจน์' ชี้!! การลงโทษลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ  สะท้อน!! ความล้าหลัง วอน!! 'พูดคุย-เรียนรู้' ด้วยใจที่เปิดกว้าง

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงกรณีที่มีลูกนักการเมืองท่านหนึ่ง หนีออกจากบ้านเนื่องจากถูกผู้เป็นพ่อลงโทษด้วยเหตุผลรสนิยมทางเพศ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ล้าหลัง ไม่เพียงแต่เป็นการทำร้ายร่างกายลูก แต่เป็นการเหยียบย่ำตัวตนของลูกด้วย  

ธัญวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นครอบครัวทุกยุคทุกสมัย แม้ในปัจจุบันที่แม้สังคมจะยอมรับและก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่หลายครอบครัวยุคถือสร้างความกดดันและความรุนแรงกับผู้ที่มีความหลากหลายมาตลอด บางคนไม่สามารถแสดงตัวตนได้ที่บ้านเพราะกลัวพ่อแม่จะรับไม่ได้ พ่อแม่ผิดหวังเสียใจ การปลูกฝังแนวคิดแบบนี้จากในครอบครัวสู่สังคมคืออุปสรรคใหญ่ไม่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่เพียงแต่มิติความเท่าเทียมสากล แต่รวมถึงมิติทางกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติที่แสดงออกต่อกันของคนในสังคม

'ธนกร' สอนมวย 'ชลน่าน' วิจารณ์ทางการเมืองถือเป็นสิทธิ์ แต่หากพูด 'เรื่องเท็จ-สนุกปาก' ก็ต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง

'ธนกร' สวน 'ชลน่าน' ชี้วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองถือเป็นสิทธิ์ แต่หากเรื่องที่พูดเป็นเรื่องเท็จ พูดเอาสนุกปาก ก็ต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง เย้ยไม่มีประชาชนคนไหนต้องทำใจ มีแต่สุขใจด้วยซ้ำ

นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ทอล์กโชว์ 'เดี่ยว 13' ของ โน้ส - อุดม แต้พานิช เป็นสิทธิ์ในการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ของพลเมือง เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังเสียงของประชาชนว่า ที่ผ่านมาท่านนายกฯ รับฟังเสียงประชาชนมาโดยตลอด เห็นได้จากทุกนโยบายของรัฐบาลที่เน้นช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ไม่แบ่งแยกว่าเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองไหนเหมือนกับที่บางพรรคการเมืองชื่นชอบ เมื่อได้รับข้อร้องเรียน หรือเห็นว่าประชาชนกำลังลำบาก ท่านนายกฯ ก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาทันที หรือลงพื้นที่ไปสอบถามข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง จึงทำให้หลายๆ นโยบายประชาชนต่างเรียกร้องให้ขยายโครงการออกไปเรื่อยๆ จนแม้แต่ฝ่ายค้านเองก็ยังไม่กล้าพูดเต็มปากว่า หากตัวเองมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกนโยบายเหล่านี้ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า หากพูดแบบนั้นออกไปก็เตรียมพร้อมสอบตกทันที 

'สันติ' ชำแหละ พ.ร.บ. EEC เน้นเฉพาะให้แรงจูงใจผู้ลงทุน หนนเฉพาะทุนต่างชาติขนาดใหญ่

'สันติ' ชำแหละ พ.ร.บ. EEC ชี้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มองรัฐบาลปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ เน้นเฉพาะให้แรงจูงใจผู้ลงทุน ไม่แก้ข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมถึงกระแสสนับสนุนเฉพาะทุนต่างชาติขนาดใหญ่ ขาดการคำนึงถึงความครบวงจรในระบบนิเวศ 

ดร.สันติ กีระนันทน์  รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าตนได้อ่านข่าวที่เกี่ยวกับแนวคิด “เขตธุรกิจใหม่” เปรียบเทียบกับ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า EEC แล้ว ก็อยากจะแสดงความคิดเห็น โดยเก็บข้อมูลจากพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้เคยทำงานในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ยุคที่เริ่มต้นของ EEC และช่วงที่เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ให้ความสนใจเรื่อง EEC โดยทำการศึกษา และได้เชิญผู้บริหารของ EEC มาให้ข้อมูลอยู่หลายครั้ง

อันที่จริง ก็ต้องแสดงความดีใจที่มีแนวคิดเขตธุรกิจใหม่เกิดขึ้น แสดงถึงการเห็นคุณประโยชน์ของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างจริงจัง ดังที่ตนได้พยายามนำเสนอมาโดยตลอดหลายปีนี้ แต่รัฐบาลปัจจุบันก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจความจำเป็น จึงไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า EEC ยังไม่ตอบโจทย์หลายประการนั้น เช่น เน้นเฉพาะการให้แรงจูงใจด้วยการเสนอสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนเท่านั้น ไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค หรือนำเสนอชุดกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ได้จริง หรือประเด็นที่คลาดเคลื่อนว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น รวมไปถึงความเข้าใจที่ว่า EEC นั้น ไม่ได้คำนึงถึงความครบวงจรในระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเข้าใจว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการ hard code ไว้ในพระราชบัญญัติเท่านั้น และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกบางประการ

ดร.สันติ ย้ำว่า เป็นสิ่งที่ดี  ที่มีความพยายามเสนอแนวความคิดให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ เพื่อผลักดันให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดพลังในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และไม่สร้างปัญหาแก่การดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไป หรืออาจจะพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับผู้คน

ทั้งนี้ หากได้อ่านพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยละเอียดแล้ว จะพบว่า ความเข้าใจเหล่านั้น มีความคลาดเคลื่อนดังที่ผมได้ชี้แจงเริ่มต้นไป เพราะจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ให้ความยืดหยุ่น (flexibility) ในการสร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมีการกำหนด “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” (มาตรา 4) ไว้ โดยครอบคลุมทุกเรื่อง และหากมีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ยังกำหนดไว้ในมาตรา 9 เพื่อเปิดช่องให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือ “ชุดกฎหมาย” ได้โดยรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกำหนด “สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ” นักลงทุนเท่านั้น 

ประเด็นนี้ทำให้ EEC มีความแตกต่างจาก Eastern seaboard อย่างมากมาย  ยิ่งไปกว่านั้น EEC ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะทุนใหญ่เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า EEC มีการกำหนดเขตย่อยเป็น EEC-D (digital economy), EEC-I (innovation) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EEC-I นั้น มุ่งเน้นให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ startup ขึ้นในพื้นที่ ดังตัวอย่างที่ ปตท. ได้มีการลงทุนสร้าง วังจันทร์ valley เพื่อให้เกิด ecosystem คล้าย ๆ กับ Silicon Valley ใน California ซึ่งแน่นอนว่า คงจะไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ (ในตอนเริ่มต้น) และแม้กระทั่งความพยายามส่งเสริมให้เกิด fruit corridor เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นต้น 

EEC ไม่ได้ตั้งใจจะส่งเสริมเฉพาะการลงทุนจากทุนต่างประเทศเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากมาตรา 7 (2) ที่เขียนไว้ชัดว่าให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาใช้พื้นที่ และการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เขียนในพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สามารถกำหนดเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

และในมาตร 7(1) หากอ่านให้ดี ก็จะเห็นว่า ไม่ได้เน้นเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดการพัฒนาให้เป็น Smart city หรือเมืองอัจฉริยะไปพร้อมกัน ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาอย่างครบวงจร ไม่ได้จำกัดเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่าง Eastern seaboard ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้พวกเราได้ลืมตาอ้าปากมาได้ และเมื่อมาขยายการพัฒนาให้ครบวงจรมากขึ้นอย่างแนวคิด EEC แล้ว หากรัฐบาลปัจจุบันเข้าใจแนวคิด และดำเนินการอย่างจริงจัง จะสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศมากเพียงใด ... แค่หลับตาก็คงพอนึกออกแล้ว 

ดังนั้นแนวคิดของ EEC จึงไม่ได้ถูกจำกัด อย่างที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ก็คือกำหนดไว้เฉพาะเพียงภาคตะวันออก 3 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบาย อาจจะกำหนดเพิ่มเติมได้ แต่หากให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าเดิม อาจจะต้องใช้แนวคิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ขยายวงให้เกิดเขตพัฒนาพิเศษในภาคอื่น ๆ ได้ โดยอาจจะใช้ EEC เป็นต้นแบบ ซึ่งกระบวนการแก้พระราชบัญญัติก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเกินไป (อย่างน้อยก็ง่ายกว่า การยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับ) โดยเรียนรู้จาก prototype อย่าง EEC

'ไอติม' ยก 4 เป้าหมายเปลี่ยนประเทศ สู่ ปชต. วอนคนทุกรุ่นต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน

ไอติม ขึ้นเวทีปาฐกถา 14 ตุลา ชี้ 49 ปี ไทยยังคงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย - ชู 4 พันธกิจเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตย ที่คนทุกรุ่นต้องร่วมมือกัน

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.65 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกลได้ร่วมแสดงปาฐกถางาน '14 ตุลา 16 ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์สังคมไทยแค่ไหน' พริษฐ์เริ่มต้นปาฐกถาด้วยการอธิบายว่าโจทย์ของพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วกว่า 49 ปี และตนเองไม่ได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ แต่ด้วยความที่ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถูกตีความอย่างหลากหลายโดยคนแต่ละกลุ่ม ตนจึงตั้งใจที่จะพยายามสรุปและอธิบายเหตุการณ์ผ่านมุมมองของคนแต่ละยุค ทั้งมุมมองที่มองว่า 14 ตุลาเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ และมุมมองที่อาจมองว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นชัยชนะที่ลวงตาและไม่สามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืนซึ่ง

โดยพริษฐ์กล่าวว่า 14 ตุลา อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่สามารถกำจัดระบบทรราชอย่าง 'ถนอม-ประภาส-ณรงค์' ออกไปจากระบบการเมืองไทยได้ก็จริง แต่ 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลา 2519 โดยเหตุการณ์นี้พริษฐ์อธิบายว่า "เป็นเสมือนการล้างไพ่ประชาธิปไตยไทย ให้ถอยกลับไปอยู่จุดเดิม หรือแย่กว่าเดิม" พริษฐ์ยังอธิบายต่อไปอีกว่า คนรุ่นใหม่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา กับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เติบโตมาในโลกที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน

พริษฐ์ กล่าวว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในแต่ละยุคต้องพบเจอเหมือนกัน คือการเติบโตมาในยุคที่การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น คนรุ่นใหม่ในยุค 14 ตุลาเป็นยุคที่เติบโตมากับระบบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานและมีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ขณะที่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันเติบโตมาในยุคที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสกับประชาธิปไตยอย่างเต็มใบและต้องอาศัยอยู่ภายใต้ 'ระบอบประยุทธ์' ซึ่งเป็นเสมือนเผด็จการอำพรางที่ชุบตัวจากการเลือกตั้ง แต่ยังคงมีกลไกควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จผ่านกลไกสืบทอดอำนาจ ส.ว. 250 คนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แต่ตัวอย่างหนึ่งที่มีความแตกต่าง คือในมิติเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อความยาก-ง่ายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลามีทางเลือกในการติดตามข่าวสารอย่างจำกัดเพราะเทคโนโลยีขนาดนั้นมีเพียงวิทยุหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เท่านั้นซึ่งก็ไม่ได้มีอุปกรณ์เหล่านี้ครบทุกบ้าน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ถูกควบคุมและกำกับโดยรัฐในทางกลับกันคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันกลับมีช่องทางในการติดตามข่าวสารมากมายนับไม่ถ้วนเพราะการเติบโตของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียรัฐไม่อาจควบคุมและจำกัดข้อมูลเนื้อหาได้ดังเช่นในอดีต

แม้ความแตกต่างระหว่างรุ่นเป็นเรื่องปกติ แต่จากโจทย์ปัจจุบันที่เป็นช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยไทยและที่มีการปะทะกันระหว่างระบบที่ล้าหลังและสังคมที่ก้าวหน้ามากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายและความตั้งใจของคนยุค 14 ตุลา มีภารกิจหลายส่วน ที่สอดคล้องกับความฝันของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน แต่ยังไม่สำเร็จถึงฝั่งและยังต้องอาศัยพลังและเจตจำนงของคนทั้ง 2 รุ่น ในการร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

เป้าหมายที่หนึ่งคือการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย - แม้เหตุการณ์ 14 ตุลาได้นำมาสู่รัฐธรรมนูญปี 2517 แต่กระบวนการจัดทำยังคงไม่ได้มีส่วนร่วมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเป็นฉบับที่มีอายุเพียง 2 ปี ก่อนถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้ธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกเขียนโดยคณะรัฐประหาร มีวัตถุประสงค์ในการสืบทอดอำนาจ และมีเนื้อหาที่ขัดกับหลักสากล จึงต้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ผ่าน สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

เป้าหมายที่สองคือการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรม ที่ไปไกลกว่าการกำจัดผู้นำเผด็จการ แม้ 14 ตุลาจะเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมืองไทยที่ภาคประชาชนรวมกันแสดงตัวเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แต่ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าการตื่นตัวของประชาชนไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะที่ยังยืนของประชาธิปไตยเสมอไป ตราบใดที่เรายังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แข็งแรงให้เกิดขึ้นในระดับความคิด และกำจัดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในทุกอณูของสังคม ตั้งแต่ระบบราชการ ยันระบบการศึกษา เพื่อสร้างโครงสร้างและวัฒนธรรม ที่อยู่บนฐานของการไว้วางใจประชาชน

พรรค ปชป. 4 จังหวัดชายแดนใต้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส.13 เขต มั่นใจได้ สส.เพิ่มแน่นอน 

        รายงานจากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ว่าที่ผู้สมัคร สส.4 จังหวัดชายแดภาคใต้เกือบครบ 100% เหลือเฉพาะเขต 2 จ.ยะลา จ.นราธิวาส เขต 1 นายวัสสันต์ ดือเระ เขต 2 นายเมธี อรุณ เขต 3 นายสุลัยมาน มะโซ๊ะ เขต 4 นายไซลี เจ๊ะหามะ และ เขต 5 นายเจะอามิง โตะตาหยง 
    จ.ปัตตานี เขต 1 นายสนิท นาแว เขต 2 นายมนตรี ดอเลาะ เขต 3  ดร.ยูนัยดี วาบา เขต 4 นายนาวี หะยีดอเลลาะ  , จ.ยะลา เขต 1 นายประสิทธิชัย พงษ์สุวรรณศิริ เขต 3 นายณรงค์ ดูดิง ยังเหลือเขต 2 ที่กำลังทำโพลอยู่คาดว่าในเดือน ต.ค.ได้ว่าที่ผู้สมัคร และ จ.สตูล เขต 1 นายซอบรี หมัดหมาน เขต 2 นายเกตุชาติ เกศา   


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top