ก้าวไกลไปยะลา เปิดเวทีคุยนโยบายสันติภาพก้าวหน้า อัดเป็น 19 ปีแห่งความล้มเหลว เจรจาสันติภาพถึงทางตัน ชู นโยบายเอาทหารออกจากการเมือง-ยกเลิก กอ.รมน.-เปลี่ยน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้คราวละ 30 วัน ต้องขออนุมัติสภา ‘พิธา’ ปลุก เปลี่ยนพื้นที่ความกลัวเป็นพื้นที่ความหวัง โยนโจทย์พัฒนาสามจังหวัดชายแดนใต้ แคนดิเดตนายกฯต้องตอบให้ได้ ลั่นปฏิรูปการเมือง-เขียนรัฐธรรมนูญใหม่-ให้ประชาชนเลือกนายกจังหวัด ปลดปล่อยศักยภาพชายแดนใต้ทั้งการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจสร้างสรรค์-อุตสาหกรรมแพะ
วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ จ.ยะลา พรรคก้าวไกลจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนนโยบาย 'สันติภาพก้าวหน้า' นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลพร้อมด้วย อันวาร์ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 1 ณรงค์ อาแว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 3 และรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานนโยบายชายแดนใต้-ปาตานี
รอมฎอน กล่าวว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพในปัจจุบัน อยู่ในช่วงยากลำบากและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ต้องการความมุ่งมั่นทางการเมืองของทุกฝ่าย ที่ผ่านมารัฐบาลทหารและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทางการเมืองถึงทางตัน วันนี้จึงต้องการการแก้ไขปรับปรุงเพื่อเดินหน้าหาข้อยุติในการอยู่ร่วมกัน เราเชื่อว่าถ้าประเทศไทยเปลี่ยน กระบวนการสันติภาพก็ต้องเปลี่ยน และพรรคก้าวไกลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยหลักการพื้นฐานที่ได้วางหมุดหมายไว้ตั้งแต่ครั้งพรรคอนาคตใหม่ คือการมองคุณค่าคนทุกคนเท่ากัน แต่ละคนมีพลังอำนาจในการกำหนดอนาคต ไม่จำเป็นต้องมีการเมืองที่อิงระบบอุปถัมภ์ สิ่งนี้สำคัญมากที่จะทำให้ชายแดนใต้และประเทศไทยไปสู่อนาคต นำมาสู่การพัฒนานโยบายสันติภาพก้าวหน้าซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างนโยบาย 9 เสาหลักของพรรคก้าวไกลและข้อเสนอของคนในพื้นที่ โดยหัวใจของนโยบายนี้ จะล้อไปกับสโลแกนสวยหรูของ กอ.รมน. อย่าง ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ โดยเปลี่ยนเป็น ‘ลดความมั่งคั่งทางทหาร เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน’
อมรัตน์ กล่าวว่า กอ.รมน. ก่อตั้งขึ้นในปี 2508 จากหน่วยงานที่ชื่อว่า 'กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์' ทั้งที่ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์จากนอกประเทศหมดไปแล้ว แต่ กอ.รมน. ยังคงอยู่ในฐานะที่เป็น 'หน่วยงานพิเศษ' ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีที่มาจากทหาร ตรวจสอบไม่ได้ ไม่โปร่งใส ไม่ทันสมัย ที่สำคัญที่สุดคือไม่เข้าใจประชาธิปไตย สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ วาระเร่งด่วนคือแก้ไขโครงสร้างของกลาโหมให้มีพลเรือนเข้าไปร่วมตัดสินใจด้วย และในระยะยาว เราเสนอให้ยกเลิก กอ.รมน. ซึ่งจะทำให้เรามีงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำงบมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าทุกช่วงวัย เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยทุกคน
ชัยธวัช กล่าวว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อ 2547 ภาครัฐใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 7,000 คน อีกจำนวนมากบาดเจ็บและสูญหาย เป็นข้อพิสูจน์ว่าวิธีการที่ผ่านมาซึ่งถูกกำกับโดยวิธีคิดแบบทหารนั้นล้มเหลว ดังนั้น ข้อเสนอเพื่อสร้างสันติสุขก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล จะยืนบน 3 หลักการ เรียกว่า ‘3D’ ประกอบด้วย Democratization การสร้างประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นจากคนทุกคนเท่ากัน อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน Demilitarization เอาทหารออกจากการเมือง การแก้ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ต้องนำโดยพลเรือน เลิกใช้กฎหมายที่เป็นวิธีคิดแบบทหาร เปลี่ยนเป็นมองความมั่นคงของประชาชนเท่ากับความมั่นคงของชาติ และ Decentralization คือกระจายอำนาจ ยกเลิกโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ เอาอำนาจและงบประมาณมาอยู่ที่ท้องถิ่น มีอำนาจตัดสินใจออกแบบสังคมที่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม