Monday, 21 April 2025
COLUMNIST

คู่บ้าน คู่เมือง พระแก้วนพรัตน์เมืองอุบล ๖ จาก ๙ พระพุทธรูปสำคัญ ตำนานความศักดิ์สิทธิ์แห่งราชธานีอีสาน (ภาค ๒)

จากครั้งที่แล้วได้เขียนเล่าถึงพระแก้วคู่บ้าน คู่เมือง ‘อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ’ พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร มณี มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ซึ่งอุบลฯ มี ‘พระแก้ว’ ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ โดยตอนที่แล้วได้เล่าถึงพระแก้ว ๓ องค์สำคัญอันได้แก่...

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วบุษราคัม’ ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) 
องค์ที่ ๒ ‘พระแก้วไพฑูรย์’ ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล 
องค์ที่ ๓ ‘พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง’ ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร 

ในตอนนี้ผมจะมาเล่าถึงพระแก้วอีก ๓ องค์และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระแก้วทั้ง ๙ ของอุบลราชธานี เชื่อว่าเมื่อคุณได้อ่านจบแล้วคงจะได้ไปสักการะพระปฏิมาทุกองค์ให้ครบถ้วนเป็นสิริมงคลเป็นแน่แท้ 

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม 

องค์ที่ ๔ ‘พระแก้วโกเมน’ ประดิษฐาน ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ผู้สร้างวัดคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของ ‘พระปทุมวรราชสุริยวงศ์’ (เจ้าคำผง) ซึ่งในอดีตเป็นวัดที่อยู่ห่างจากเขตเขื่อนคูเมือง จึงเรียกกันว่า วัดป่ามณีวันบ้าง วัดป่าน้อยบ้าง 

‘พระแก้วโกเมน’ ตามตำนานเล่ากันมาว่าเป็นพระแก้วที่สร้างขึ้นในยุคเดียวหรือในคราวเดียวกับพระแก้วบุษราคัม สร้างขึ้นจากแก้วสีน้ำหมอก (สีม่วง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูงประมาณ ๕ นิ้ว สถิต ณ วัดป่าน้อยมาแต่แรกเริ่ม จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ จึงได้นำพระแก้วโกเมนออกไปประดิษฐานไว้อย่างลับ ๆ ณ วัดแห่งหนึ่ง พร้อมทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วไว้  ภาษาอีสานเรียกว่า ‘งุม’ วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า ‘วัดกุดละงุม’ ซึ่งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ ในปัจจุบัน 

ครั้นเมื่อสงครามสงบจึงได้อัญเชิญ ‘พระแก้วโกเมน’ กลับมาประดิษฐาน ณ วัดมณีวนารามอีกครั้ง แต่ก็ยังรักษาความลับไว้ เนื่องจากพระแก้วโกเมนถือว่าเป็นสำคัญของเมืองอุบล จึงได้รักษาไว้อย่างห่วงแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนาราม ทุกรูปจึงเก็บรักษาองค์พระไว้ในตู้นิรภัย มิได้นำมาญาติโยมทั่วไปได้สักการะกัน จนกระทั่งมาถึงยุคเมื่อสิ้น หลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการวัดจึงได้ขออนุญาตอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและได้สรงน้ำในวันวิสาขบูชาของทุกปี 

พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ

องค์ที่ ๕ ‘พระแก้วนิลกาฬ’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ‘วัดเลียบ’ มีที่มาของชื่อวัดจากสถานที่การสร้างวัดที่สร้างเลียบคันคูเมือง เคยถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างจนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้มาบุกเบิกบูรณะวัดขึ้นใหม่ นับเป็นวัดต้นธารแห่งการปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน

‘พระแก้วนิลกาฬ’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจาก ‘แซฟไฟร์สีน้ำเงินเข้ม’ ถูกค้นพบอยู่ในกล่องไม้สักโบราณบนฝาเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคล กุฎิหลังเก่าของวัด โดย พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน ๒ องค์ และพระแก้วนิลกาฬ ๑ องค์  โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้อัญเชิญพระแก้วนิลกาฬออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำในทุกสงกรานต์ 

พระแก้วมรกต วัดเลียบ

องค์ที่ ๖ ‘พระแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระแก้วองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายพระแก้วโกเมน วัดป่าน้อย แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดนัก โดยพระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่ามีโยมมาถวายไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕

จากที่ได้เล่าและนำเสนอมายังเป็นข้อมูลคร่าว ๆ ที่ยังไม่ได้เจาะลึกนัก ทั้งนี้พระแก้วบางองค์อาจจะมีที่มาที่ชัดเจน แต่บางองค์แม้จะเก่าแก่แต่ก็ยังมีแค่ตำนานรองรับ ส่วนพระแก้วองค์อื่น ๆ ในอุบลฯ และในอดีตเป็นอำเภอหนึ่งของอุบลราชธานีมีองค์พระที่น่าสนใจดังนี้ 

พระแก้วมณีแดง วัดมหาวนาราม 

‘พระแก้วมณีแดง’ ประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเนื่องจากดำริให้เป็นวัดที่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมโดยเริ่มแรกจัดสร้างขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๒ แต่ยังมิแล้วเสร็จเป็นวัด พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ก็ได้อนิจกรรมลงเสียก่อน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าพรหม) จึงได้มาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’

‘พระแก้วมณีแดง’ ปกติจะประดิษฐานภายในกุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ. ๙) แต่ในทุกสงกรานต์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวบริเวณข้างพระวิหารพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับพระแก้วเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงของอุบลราชธานี คือจังหวัดยโสธร ถ้าเราจะไม่นำมาเล่าก็คงจะกระไรอยู่ อย่ากระนั้นเลยผมจึงขอยกเรื่องราวสั้น ๆ ของ ‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ มาเพิ่มเติมด้วยดังนี้ 

พระพุทธบุษยรัตน์ วัดมหาธาตุ ยโสธร

‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร เป็นเป็นพระพุทธรูปโปร่งแสงปางสมาธิ เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ทำจากหินเขี้ยวหนุมาน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๙ นิ้ว สูง ๒ นิ้ว ประวัติความเป็นมาของพระแก้วองค์นี้ มี ๒ เรื่อง คือ เรื่องที่ ๑ เล่ากันว่าว่าเป็นสมบัติของ ‘เจ้าพระวิชัยราชขัตติยวงศา’ เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ นำมาประดิษฐานที่ยโสธร ตั้งแต่สมัยเป็นหมู่บ้านสิงห์ท่า เมืองยศสุนทร เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่กับ ‘พระแก้วบุษราคัม’ แห่งเมืองอุบลราชธานี ส่วนเรื่องที่ ๒ เล่าว่า สมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ มีพระยาราชสุภาวดี (ภายหลังเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบ 

ในครั้งนั้นได้ตั้งกองทัพที่เมืองยโสธร และได้ความช่วยเหลือจากพระสุนทรราชวงศา (ฝ่าย) ร่วมรบจนมีชัยชนะ รัชกาลที่ ๓ จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแก้วหยดน้ำค้างองค์นี้พร้อมกับเจ้านางเมืองเวียงจันทน์ และปืนใหญ่ เพื่อเป็นรางวัล 

เดิมยโสธร ถูกรวมเข้าอยู่ในสังกัดมณฑลลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (มณฑลลาวกาว) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓ และกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้สั่งการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วรวมกันตั้งเป็นจังหวัดยโสธร

ในท้ายสุดนี้แม้ว่าพระแก้วบางองค์จะยังมีประวัติไม่ชัดเจนตามที่ผมได้เล่าไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีความชัดเจนขึ้น และน่าจะมีพระแก้วศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ได้บังเกิดขึ้นอีกเป็นแน่ ตราบเท่าที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่คู่บ้านเมืองเรา และตราบเท่าที่เมืองราชธานีแห่งอีสานอย่าง ‘อุบลราชธานี’ ยังคงเป็นดอกบัวใหญ่สวยสง่าคู่บ้านเมืองของเราสืบไป

เปิด ‘10 สถานที่’ ที่มีผู้คนไปเยือนน้อยที่สุด สอดแทรกความงาม - ควรค่าแก่การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตยุคใหม่ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากมายหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน อินเดีย กรีซ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนหลายล้านคนต่อปี ในขณะที่จุดหมายปลายทางอื่น ๆ มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในทุกปี ‘กรุงเทพมหานคร’ ประเทศไทย เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก ประมาณ 22 ล้านคน และ ‘กรุงปารีส’ ประเทศฝรั่งเศส ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 17.4 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม มีจุดหมายปลายทางที่มีความถี่ไม่มากนัก และมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้จุดหมายปลายทางเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น เกาะต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของระยะทางไกล ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลานานกว่าจะเดินทางไปถึง หรือประเทศอื่น ๆ ที่แม้จะอยู่ใกล้ แต่ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปหรือขาดสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รวมทั้งปัญหาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังด้อยพัฒนาอาจเป็นอุปสรรคในด้านการคมนาคมขนส่งและขนาดที่เล็ก ทำให้มีการจำกัดจำนวนของนักท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ ถูกมองว่าการไปเยือนมีความเสี่ยง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แท้จริงที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมืองหรือความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น โซมาเลีย

สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่ดึงดูดนั้นไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับความสมบูรณ์ของประสบการณ์การเดินทางเสมอไป นอกเหนือจากประเทศที่ก่อให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยแล้ว ประเทศที่ไม่ค่อยมีคนไปเยือนนั้นมักจะสามารถรักษาความงาม ความเงียบสงบ ได้อย่างแท้จริง 

Tuvalu เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดในโลก เพียง 3,700 คนในปี 2023 โดย Tuvalu เป็นประเทศหมู่เกาะอันเงียบสงบในมหาสมุทรแปซิฟิก ตามรายงานของนิตยสาร CEOWORLD ประเทศนี้มีประชากรเพียง 12,000 คน การท่องเที่ยวของประเทศมุ่งเน้นไปยังเรื่องราวของน้ำทะเลสีฟ้าสวยงาม ชายหาดที่มีต้นปาล์มพลิ้วไหว การดำน้ำตื้น และการดำน้ำลึก แนวปะการัง ทะเลสาบ และแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลในพื้นที่อนุรักษ์ขนาด 33 กม.² (12.74 ไมล์²) ซึ่งเป็นที่ที่เต่าทะเลเจริญเติบโต ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น ชายหาดเหล่านี้เหมาะสำหรับการปิกนิก เดินเล่นสบาย ๆ ล่องเรือยอร์ช ทัวร์มอเตอร์ไซค์ เยี่ยมชมร้านเบเกอรี่ในท้องถิ่น เยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ และสถานที่ประวัติศาสตร์จากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

หมู่เกาะ Marshall (Marshall Islands) มีนักท่องเที่ยวเพียง 6,100 คนในปี 2023 หมู่เกาะภูเขาไฟแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างฟิลิปปินส์และฮาวาย มีชื่อเสียงจากหาดทรายสีขาวบริสุทธิ์ น้ำทะเลใสดุจคริสตัล และสิ่งมีชีวิตทางทะเลและพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงปะการังมากกว่า 160 สายพันธุ์ หมู่เกาะ Marshall มีประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่สำคัญเนื่องจากเคยเป็นฐานทัพของญี่ปุ่นก่อนที่จะกลายเป็นสถานที่สำหรับทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ Tuvalu หมู่เกาะ Marshall กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายอันเนื่องมาจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เกาะ Niue ตั้งอยู่ในแปซิฟิกใต้และเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะปะการังยกสูงที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว 10,200 คนในปี 2023 สิ่งที่ทำให้ Niue มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือการไม่มี “ผู้คนที่พลุกพล่าน คิวที่ยาวเหยียด สัญญาณไฟจราจร หรือชีวิตที่วุ่นวาย” นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก พายเรือคายัค ทัวร์ ATV ขับเคลื่อน 4 ล้อ และเดินป่าแบบสบาย ๆ ผ่านภูมิประเทศต่าง ๆ เช่น ชายหาด ป่าฝน สวน และฟาร์มวานิลลา มีเที่ยวบินเข้าและออกจากเกาะ Niue เพียงสัปดาห์ละเที่ยวบินเดียว ดังนั้นจึงต้องวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม

Kiribati เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นประเทศเดียวที่ตัดผ่านซีกโลกทั้งสี่ มีนักท่องเที่ยวเพียง 12,000 คนในปี 2023 เป็นจุดหมายปลายทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับการตกปลา เล่นกระดานโต้คลื่น สำรวจสถานที่สำคัญในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และดูนก เกาะเล็กเกาะน้อย และเกาะปะการังทั้ง 33 เกาะของประเทศ เปิดโอกาสให้ดำน้ำลึกและดำน้ำตื้นในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเกาะฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเกาะพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก Kiribati เป็นจุดหมายปลายทางที่ยังคงความเป็นธรรมชาติแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งเหมาะสำหรับนักเดินทางผู้หลงใหลในการสำรวจและการผจญภัยนอกเส้นทางที่ไม่มีใครเคยรู้จัก สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ Kiribati ยืนยันว่า Kiribati เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำความเข้าใจกับประเทศ Kiribati ไม่ใช่เพียงเพื่อแวะผ่านเท่านั้น

Micronesia ตั้งอยู่ระหว่างหมู่เกาะ Marshall และ Palau มีนักท่องเที่ยว 18,000 คนในปี 2023 เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเศษซากของสงครามโลกครั้งที่สอง ชายหาดที่มีแสงแดดส่องถึง เหมาะสำหรับการตกปลาและเล่นกระดานโต้คลื่น และสัมผัสความมหัศจรรย์ทางทะเลที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านแนวปะการังระดับโลกและซากเรืออับปางในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นทางเดินป่าตัดผ่านภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยความงามอันเขียวชอุ่ม ในขณะที่ใจกลางเมืองใน Micronesia เต็มไปด้วยสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา

หมู่เกาะ Montserrat จะต่างจากหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเป็นประเทศแรกที่มีผู้เยี่ยมชมน้อยภายนอกภูมิภาคนี้ ตั้งหมู่เกาะนิ้งอยู่ในแคริบเบียนทางตะวันออกของอเมริกากลาง มีนักท่องเที่ยว 19,300 คนในปี 2023 ซึ่งครั้งหนึ่ง Montserrat เคยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม แต่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงด้วยการระเบิดของภูเขาไฟในปี 1995 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะต่อเมืองหลวงอย่างกรุง Plymouth หายนะครั้งนี้ทำให้ประชากรประมาณสองในสามของเกาะ Montserrat ต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ในขณะที่ภูเขาไฟของเกาะยังคงคุกรุ่นอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วสงบนิ่งมาตั้งแต่ปี 2010 tพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของ Montserrat ยังคงเป็นเขตหวงห้าม    

หมู่เกาะ Solomon อดีตอาณานิคมของอังกฤษ อยู่ทางตะวันออกของปาปัวนิวกินี ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 29,000 คน หมู่เกาะประกอบด้วยเกาะมากกว่า 900 เกาะ แม้ว่าเสน่ห์ของการดำน้ำ การดำน้ำตื้น และการพายเรือคายัคจะมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือจากสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

Sao Tome and Principe ตั้งอยู่ในอ่าวกินีนอกชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกากลาง ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 34,900 คน เป็นประเทศเกาะที่มีความสวยงามที่ไม่มีใครเทียบได้ ประกอบด้วยหมู่เกาะสองแห่งที่ล้อมรอบเกาะหลัก ประเทศนี้ถือเป็นกลุ่มแอฟริกาที่เล็กเป็นอันดับสอง โดยมีความหนาแน่นของประชากร 187 คนต่อตารางกิโลเมตร (4858o/ตารางไมล์) กรุง Sao Tome เมืองหลวงมีประชากรประมาณ 58,000 คน

Comoros หมู่เกาะภูเขาไฟที่อยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพียง 45,000 คนในปี 2023 ตั้งคั่นกลางระหว่างมาดากัสการ์และชายฝั่งโมซัมบิก มีความแตกแยกทางการเมืองระหว่างสหภาพ Comoros และ Mayotte ซึ่งเป็นหน่วยงานโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ความวุ่นวายทางการเมืองได้ขัดขวางการเติบโตของการท่องเที่ยว เพราะทำให้หมู่เกาะนี้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัด

Guinea Bissau ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งอยู่ระหว่างเซเนกัลและกินี เป็นที่ซ่อนขุมทรัพย์แห่งประวัติศาสตร์ ชายหาดอันบริสุทธิ์ ป่าอันเขียวชอุ่ม และสัตว์ป่า ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 52,000 คน อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความท้าทายทางเศรษฐกิจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการท่องเที่ยว คำแนะนำอย่างเป็นทางการสะท้อนถึงข้อควรระวัง โดยอ้างอิงถึงการเก็บกวาดทุ่นระเบิดและข้อกังวลด้านความปลอดภัยเป็นระยะ ๆ แม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้ แต่ในปัจจุบันความสงบสุขได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดความหวังสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคตที่น่าจะสดใสยิ่งขึ้น

สำหรับบ้านเรา แม้ว่าปัจจุบัน ‘กรุงเทพมหานคร’ จะเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก มากถึง 22 ล้านคน แม้การเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกจะยากมากแล้ว แต่การรักษาตำแหน่งเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมมือและร่วมใจกันเพื่อเสริมสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ ‘การบริการ’ ‘สิ่งอำนวยความสะดวก’ และสำคัญที่สุดคือ ‘อัธยาศัยที่ดีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพและน้ำใจไมตรี’

รู้จัก 'บทบาท-หน้าที่' ธนาคารโลก ทำไมถึงปรับเป้า GDP ไทย-ประเทศอื่นๆ ได้

จากข่าวล่าสุดที่ทาง World Bank หรือธนาคารโลกได้ออกมาประกาศปรับเป้า GDP ไทยปี 2024 ลง เหลือโตเพียงแค่ +2.4% หลังจากได้มีการปรับลดก่อนหน้าลงมาในเดือนเมษายนเหลือ +2.8% ทั้งๆ ที่ต้นปีธนาคารโลกเองเคยมองว่าไทยจะมีการเติบโตอยู่ที่ระดับสูงถึง +3.2% และปรับเป้า GDP ปี 2568 เหลือเพียงแค่ +2.9%

ว่าแต่ World Bank มีหน้าที่อะไร? ทำไมถึงมาปรับเป้า GDP ไทยและประเทศอื่นๆ ในโลก?

โดยประวัติความเป็นมาของธนาคารโลกนี้ ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้น การจัดตั้งธนาคารโลก เป็นไปเพราะต้องการเป็น 'แหล่งกู้ยืมเงิน' ให้กับประเทศสมาชิก เพื่อนำเอาไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังจากสงครามโลกค่ะ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการให้เงินกู้แก่ประเทศในโลกที่สามเป็นสำคัญ

ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1944 ในการประชุมที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในการประชุมดังกล่าวมีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับสำหรับธนาคารโลกหรืออีกชื่อหนึ่งคือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และได้มีการรวมสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3 หน่วยงานได้แก่ 1) บริษัทการเงินระหว่างประเทศ, 2) สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ, 3) องค์การประกันการลงทุนหลายฝ่าย แล้วเรียกรวมกันว่า 'ธนาคารโลก' หรือ World Bank 

โดยในช่วงแรกมีประเทศสมาชิกเพียงแค่ 38 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ ซึ่งมี ซูดานใต้ เป็นประเทศที่ 189 ที่เข้าร่วมในปี 2012 ส่วนประเทศไทยเองเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ด้วยลำดับสมาชิกที่ 47 ค่ะ

นอกจากธนาคารโลกจะมีหน้าที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และระยะยาวแล้ว ยังช่วยค้ำประกันเงินกู้ทำให้ประเทศที่กู้เงินสามารถได้รับอัตราดอกเบี้ยในเรทที่ต่ำได้ และให้คำปรึกษารวมให้ความรู้กับประเทศสมาชิก รวมถึงกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศค่ะ 

ดังนั้น สาเหตุหลักในการปรับเป้า GDP ไทย เพราะธนาคารโลก มองว่า การส่งออกและการลงทุนภาครัฐไทยดูมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องมาจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 และไทยเองก็ยังมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง แถมยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่นั่นก็คือ ปัญหาทางโครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยค่ะ โดยการปรับตัวเลข GDP นี้ ยังไม่ได้มีการรวมเอาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เพราะถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้ามาช่วยเพิ่ม GDP ไทยได้ราว 1% เพียงแต่จะแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นตามมา 

ส่วนในเรื่องการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกมองว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ในช่วงกลางปี 2568 ขณะที่เรื่องการส่งออกไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออก ก็จะได้อานิสงส์จากการค้าโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วยค่ะ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ธนาคารโลกก็ยังปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงแค่ 2.6% ในปีนี้ ซึ่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวลดลงจากปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 4.2% ... จีนจะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 5.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.8% และเศรษฐกิจแถบยูโรโซนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ระดับ 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 0.7% ค่ะ

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของ ‘ราชอาณาจักรฮาวาย’ ถูกโค่นโดยนายทุน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหรัฐอเมริกา’


มลรัฐฮาวาย (Hawaii) เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวายได้รวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 50 ในวันที่ 21 สิงหาคม 1953 โดยฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,700 กม. (2,300 ไมล์) แต่เดิมฮาวายถูกเรียกว่า ‘หมู่เกาะแซนด์วิช’ (Sandwich Islands) ชื่อนี้ถูกตั้งโดย ‘เจมส์ คุก’ เมื่อเขาแล่นเรือมาพบเกาะในปี 1778) มีจำนวนประชากรราว 1,455,271 คน (ข้อมูลปี 2015) โดยมีนครโฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ภาษาทางการของรัฐคือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฮาวาย ฮาวายได้มีชื่อเล่นของรัฐว่า ‘รัฐอโลฮา’ (Aloha State) ซึ่งคำว่า ‘อโลฮา’ เป็นคำทักทายในภาษาฮาวาย มีความหมายถึง ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ (ใช้ตามแต่โอกาส)


อย่างไรก็ตาม มลรัฐฮาวายประกอบไปด้วยเกาะสำคัญๆ 8 เกาะ ซึ่งก็คือ (1) Ni’ihau, (2) Kauai, (3) Oahu เป็นที่ตั้งเมืองหลวงคือ นครฮอนโนลูลู เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ, (4) Maui, (5) Molokai เนื้อที่ 260 ตารางไมล์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองฮาวาย, (6) Lanai, (7) Kaho’olawe และ (8) Hawaii หรือ Big Island เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 4,000 ตารางไมล์


(ธงชาติของราชอาณาจักรฮาวาย)

โดย มลรัฐฮาวาย แต่เดิมคือราชอาณาจักรฮาวาย (Kingdom of Hawaii) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 1795 และล่มสลายไปประมาณปี 1893 - 1894 ราชอาณาจักรฮาวายก่อตั้งขึ้นโดย พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงชนะสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี พระองค์ได้ปราบดาภิเษกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ราชอาณาจักรฮาวายมีระบอบการปกครองแบบมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ปี 1795 จนกระทั่งปี 1840 และ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 1840 จนกระทั่งปี 1893 ราชวงศ์คาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1810 ถึงปี 1893 ราชอาณาจักรฮาวายปกครองโดยอีกสองราชวงศ์คือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา และ ราชวงศ์คาลาคาอัว หลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 สวรรคต พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ทรงปกครองฮาวายต่อมาตามลำดับ ช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีลิโฮลิโฮ พระอัครมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ และมีคูฮินา นูอิทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คล้ายกับนายกรัฐมนตรี)


(พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

ทั้งนี้ พระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย (ราชวงศ์คาลาคาอัว) ทรงไม่มีรัชทายาท รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงต้องเลือกระหว่างสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 กับเดวิด คาลาคาอัว ในระหว่างการตัดสินนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย จนในที่สุด ‘เดวิด คาลาคาอัว’ ก็ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งฮาวายง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง พระองค์จึงต้องประกาศแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์


(สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

การล่มสลายของราชอาณาจักรฮาวาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายครองราชย์ ด้วยเพราะ นักธุรกิจชาวยุโรปและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาต้องการผนวกฮาวายให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าน้ำตาลในฮาวายให้ได้มาก ๆ  (สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากฮาวายมากที่สุด โดยนายทุนใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอเมริกัน) จึงเริ่มกระบวนการการผนวกฮาวาย โดยเริ่มจากการจัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัย’ ขึ้นเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับสมเด็จพระราชินีฯ จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้ส่งเรือรบพร้อมนาวิกโยธินเข้ามายึดฮาวาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy* ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีและพระราชวงศ์ฮาวายไม่อาจต้านทานได้ การปฏิวัติฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 1893 โดย ‘แซนฟอร์ด บี ดอล’ และพรรคพวกได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฮาวายขึ้น เพื่อปกครองฮาวายจนกว่าจะถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับกุมพระราชินีและพระราชวงศ์และสั่งจำคุก จากนั้นก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ราชอาณาจักรฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 7 กรกฎาคม 1898 โดยฮาวายได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรฮาวาย
*อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy’ https://thestatestimes.com/post/2024042211


(พิธีเชิญธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสาหน้าพระราชวังโอลานิ หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองฮาวายได้สำเร็จ)

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ทรงถูกจับกุมเมื่อ 16 มกราคม 1895 พระองค์ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ทำงานหนัก และปรับ 5,000 ดอลลาร์ โดยพระองค์ถูกขังในพระราชวังโอลานิ ผู้สนับสนุนพระองค์ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีโจเซฟ นาวาฮี เจ้าชายคาวานานาโคอา โรเบิร์ต วิลค็อก และเจ้าชายโจนาห์ คูฮิโอ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณในที่พักเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1896 สาธารณรัฐฮาวายก็คืนสิทธิการเป็นพลเมืองแก่พระองค์ หลังจากพ้นโทษ พระองค์ก็ทรงอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1917 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง พระบรมศพของพระองค์ได้รับการจัดพิธีฝังอย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตประมุขแห่งรัฐ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถูกบริจาคให้ "กองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีเพื่อเด็กกำพร้าและยากจน" ซึ่งกองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ปกครองราชอาณาจักรฮาวาย โดยครองราชย์เพียง 2 ปี


(Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)


(Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา (1) Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar บุตรีของเจ้าหญิง Helena Kalokuokamaile Wilcox แห่งราชวงศ์ Kalokuokamaile และ (2) Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele ผู้นำชาตินิยมฮาวาย และมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม Nation of Hawai'i เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง Pu'uhonua o Waimānalo หมู่บ้านวัฒนธรรมฮาวาย และโครงการฟื้นฟูการเกษตรแบบดั้งเดิมของ Lo'i kalo (taro paddy) ใน Waimānalo, Hawai'i Pu'uhonua ซึ่งภาษาฮาวายมีความหมายว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘สถานที่หลบภัย’ โดยกลุ่ม Nation of Hawai'i ซึ่งทำหน้าที่บริหารหมู่บ้านถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีอธิปไตยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชอาณาจักรฮาวายที่เป็นเอกราช ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา โดย Kanahele ได้อ้างตัวเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 Kanahele กลายเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจอธิปไตยของฮาวาย ซึ่งต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลกลางและความเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ทั้งสองต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายจนปัจจุบัน 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

เปิดตำนานพระแก้วนพรัตน์เมืองอุบลฯ (ตอน ๑) พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์คู่ราชธานีแห่งอีสาน

หากจะพูดถึงจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งแรกที่หลายคนคงนึกสงสัยก็คือทำไม? จังหวัดนี้ถึงมีคำว่า 'ราชธานี' ต่อท้าย 

เอาสั้น ๆ ก็เพราะก่อนจะมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อุบลราชธานีเป็นนครเทียบเคียงได้กับจำปาศักดิ์และหลวงพระบาง มีเมืองบริวารขึ้นตรงหลายเมือง และผู้ครองเมืองก็เป็นเจ้านายสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเวียงจันทน์ ทั้งยังมีความดีความชอบในการปกครองและช่วยรบในช่วงกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จึงได้รับการยกเป็นเมืองประเทศราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ว่า 'อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ' 

เอาประมาณนี้ก่อน ไว้จะมาเล่าให้ฟังในบทความถัด ๆ ไป 

สำหรับบทความนี้จะเล่าถึง 'พระแก้ว' คู่บ้าน คู่เมืองอุบลราชธานี พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร, มณี, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิลกาฬ, มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ว่ากันว่าหากมีครบทั้ง ๙ บ้านเมืองนั้นจะเจริญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอุบลฯ มี 'พระแก้ว' ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่ เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ การมีพระแก้วนพรัตน์อยู่อย่างครบถ้วน ก็อาจจะอนุมานได้ว่าการมี 'ราชธานี' ต่อท้ายก็เหมาะสมแล้ว ส่วนจะมีพระแก้วองค์ใดบ้างที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองดอกบัวแห่งนี้ไปติดตามกัน

พระแก้วบุษราคัม

องค์ที่ ๑ 'พระแก้วบุษราคัม' ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากบุษราคัมสีเหลือง ทึบทั้งแท่น ฐานหุ้มด้วยทองคำเป็นพระพุทธรูปโบราณ ฝีมือช่างสกุลเชียงแสน 

ตามประวัติเป็นสมบัติของ 'เจ้าปางคำ' แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบน (ปัจจุบันคือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อพระวอ พระตา อพยพจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงอัญเชิญมาด้วย เดิมที 'พระประทุมวรราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก ซึ่งเป็นลูกหลานพระวอ พระตา  ได้สร้าง 'วัดหลวง' เป็นที่ประดิษฐาน 'พระแก้วบุษราคัม' พร้อมกับ 'พระแก้วไพฑูรย์' แต่เมื่อครั้งมีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาตรวจราชการจึงได้นำพระพุทธรูปทั้ง ๒ ไปซ่อนไว้ เพราะเกรงว่าข้าหลวงจะอัญเชิญไปจากเมืองอุบลฯ 

ภายหลังเมื่อมีการสร้างวัดศรีทองแล้วเจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกจากที่ซ่อน โดยถวาย 'พระแก้วบุษราคัม' แก่ อพระเทวธัมมี' (ม้าว) พระสงฆ์ชาวอุบลฯ ซึ่งเป็นลัทธิวิหารริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมาครองวัดเป็นรูปแรก เพราะเชื่อว่าข้าหลวง คงจะเกรงใจท่าน ไม่กล้าที่จะขอ 'พระแก้ว' ไปจากเมืองอุบลราชธานีเป็นแน่ ซึ่งในสมัยการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อัญเชิญ 'พระแก้วบุษราคัม' นี้เป็นประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก 

พระแก้วไพฑูรย์

องค์ที่ ๒ 'พระแก้วไพฑูรย์' ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล องค์พระแกะสลักจากหินธรรมชาติแสงส่องผ่านได้ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยอยู่ในความครอบครองของบรรพบุรุษเจ้านายเมืองอุบลมาแต่อดีต เดิมที 'พระปทุมวราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) ได้ถวาย 'พระแก้วไพฑูรย์' และ 'พระแก้วบุษราคัม' เพื่อประดิษฐานไว้คู่กัน ณ วัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของอุบลราชธานี แต่ด้วยเหตุจากการมาของข้าหลวงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงได้นำไปซ่อนไว้ เมื่อนำออกจากที่ซ่อนก็นำ 'พระแก้วบุษราคัม' ถวายแก่ 'พระเทวธัมมี' (ม้าว)

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น เจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้นำไปเก็บรักษาไว้เนื่องจากเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษภายหลังจึงได้นำมาถวาย 'พระครูวิลาสกิจจาทร' (บัวสอน โอภาโส) เจ้าอาวาสวัดหลวงและประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

'พระแก้วไพฑูรย์' เป็นหนึ่งในแก้วรัตนชาติ คือ ไพฑูรย์ หากยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดอยู่ภายในองค์พระ อันมีนัยความหมายแห่ง 'ความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล'

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง

องค์ที่ ๓ 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยแก้วผลึกสีขาว โดยในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ 'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์'(อ้วน ติสโส) ได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนาราม เพื่อควบคุมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้รวบรวมพระพุทธธูปเก่าแก่จากหลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหินสมัยลพบุรี ๓ องค์ และโบราณวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ก็เป็นหนึ่งในพระที่ท่านรวบรวม แต่พิเศษจรงที่ท่านถือไว้อยู่เป็นประจำ ส่วนท่านจะได้มาอย่างไร ไม่ปรากฏชัด

จนมาในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๕ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนารามและได้มอบ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ให้เป็นสมบัติของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร โดยมี 'พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์' (ญาณ ญาณชาโล) เป็นผู้รับมอบ 

พระรัตนมงคลมุนี อดีตอาวาสวัดสุปัฏนารามเคยสันนิษฐานพุทธลักษณะขององค์พระว่า 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' น่าจะเป็นพระรุ่นเดียวกับ 'พระแก้วบุษราคัม' โดยยึดเอาจากการมาตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลฯ เมื่อ ๒๐๐ ปี เศษมาแล้ว ตามที่บรรพบุรุษผู้มาสร้างเมืองอุบลฯ

ตอนนี้เรานับพระแก้วได้ ๓ องค์แล้วคือ 'พระแก้วบุษราคัม' / 'พระแก้วไพฑูรย์' / 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' เป็น ๓ รัตนชาติคือ บุษราคัม, ไพฑูรย์ และ เพชร ซึ่งในอุบลราชธานีมีพระแก้วที่ปรากฏขึ้นแล้ว ๖ องค์ โดยในตอนหน้าผมจะนำเรื่องราวขอพระแก้วอีก ๓ องค์ได้แก่ 'พระแก้วโกเมน' / 'พระแก้วนิลกาฬ' / 'พระแก้วมรกต' ซึ่งแต่ละองค์มีประวัติที่น่าสนใจมากทีเดียว 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อได้อ่านเรื่องราวเพลินๆ ของพระแก้วแห่งอุบลราชธานีแล้ว ท่านคงจะหาโอกาสไปกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายกันสักครั้งหนึ่ง

Trillion Dollar Club Companies ของโลก มูลค่าสูงกว่าตลาดหุ้นไทย - GDP ประเทศยักษ์ใหญ่

จากราคาหุ้น Nvidia บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบและผลิตหน่วยประมวลผลกราฟฟิก (GPUs) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมและเวิร์กสเตชันระดับมืออาชีพ ที่ยังคงร้อนแรงและเดินหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน Nvidia มีมูลค่าตลาด (Market Cap) เบียดและผลัดกันแซงหน้าหุ้นพี่ใหญ่อย่าง Microsoft มาแบบชนิดไม่มีใครยอมใคร โดยที่ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 Trillion Dollar) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ

ซึ่งในสหรัฐฯ เองจะมีการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงเกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเท่านั้นนะคะ แต่เพียงแค่บริษัทนอกตลาดหุ้นจะถูกนำมาประเมินมูลค่าได้ยากกว่าบริษัทในตลาดที่จดทะเบียนค่ะ 

แล้ว 1 ล้านล้านดอลลาร์ใหญ่ขนาดไหน? ถ้าเทียบกับมูลค่าตลาดหุ้นไทย 

ณ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนกว่าล้านเหรียญเองค่ะ โดยบริษัทกลุ่มนี้ก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะค่ะ เราจะเรียกบริษัทกลุ่มนี้ว่าเป็นบริษัทในกลุ่ม Trillion Dollar Club ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดบริษัทในคลับนี้มีด้วยกันอยู่ 6 บริษัทซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นค่ะ โดยทั้ง 6 บริษัทประกอบไปด้วย...

1. Apple (AAPL)
2. Microsoft (MSFT)
3. Alphabet (GOOG)
4. Amazon (AMZN)
5. Nvidia (NVDA) 
และ 6. Meta (META)

ก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทหุ้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla (TSLA) และบริษัทผลิตน้ำมันสัญชาติซาอุดีอาระเบียอย่าง Saudi Aramco (2222) ที่เคยเข้ามา แต่ก็ถูกนำออกไปตอนที่มูลค่าตลาดของบริษัทพวกนั้นลดลงค่ะ โดยบริษัทแรกที่เข้าในคลับก็คือ AAPL โดย AAPL เข้ามาในคลับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2018 และจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยออกจากคลับอีกเลยค่ะ 

ถ้าเทียบขนาดของ AAPL ก็เทียบได้เท่า ๆ กับ GDP ของแคนาดา และ ออสเตรเลียเลยทีเดียวค่ะ ส่วน Nvidia ที่กำลังร้อนแรงเข้ามาร่วมคลับในตอนเดือนพฤษภาคม 2023 เพราะตอนนั้นมูลค่าตลาดโตขึ้นมาถึง 200% เลยค่ะ 

จริง ๆ แล้วบริษัทที่แตะ 1 ล้านล้านเหรียญแห่งแรกของโลก คือบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Petro China ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ค่ะ โดยเข้ามาแตะในกลุ่ม Trillion Club ในวันแรกของการซื้อขายในช่วงพฤศจิกายน 2007 ค่ะแต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็หลุดไปค่ะ 

อย่างไรก็ตามบริษัทในคลับนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ โดยจะสลับเปลี่ยนหมนุนเวียนเข้าออกตามมูลค่าตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ 

ย้อนรอยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อนแพ้พ่าย ต้นตำรับปฏิบัติการ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ที่ก่อการร้ายนำมาเลียนแบบทั่วโลก

เรื่องราวของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม หรือ ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ และในอีกหลาย ๆ ชื่อได้แก่ สมาคมทมิฬระดับโลก สหพันธ์ของสมาคมทมิฬแคนาดา กองทัพเอลอัลลานี ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในประเทศศรีลังกา ระหว่างชาวทมิฬ (Tamil) ที่มีจำนวนราว 3 ล้านคน คิดเป็น 18% ของพลเมืองศรีลังกาและนับถือศาสนาฮินดูในเขตจาฟนา บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล (Sinhalese) พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 จากประชากรทั้งหมดในศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนา โดยความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้นไปในปี 2009

‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 มีเป้าหมายคือการแยกตัวจากศรีลังกาเพื่อตั้งรัฐทมิฬ เริ่มการต่อสู้ด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1983 หัวหน้ากลุ่มคือ เวลูปิลลัย ประภากาเรา ชาวทมิฬผู้มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และหลังจากศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูซึ่งมีสัดส่วนราว 10 % ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป เพราะโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ 

ธงจักรวรรดิอังกฤษซีลอน

สาเหตุความขัดแย้งเกิดจากช่วงที่อังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลแลนด์ในการยึดครองศรีลังกา อังกฤษได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณเขตจาฟนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทมิฬมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ชาวสิงหลซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะไม่พอใจ อันเป็นรูปแบบของกระบวนการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (Divide and Rule) ของอังกฤษผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม (วิธีปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับ กีดกัน กดดัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมักจะใช้กับอาณานิคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย พม่า มลายู แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ต่างก็ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอนและสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษมักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามลําดับ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังมีคงอยู่ ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐบาลศรีลังกาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ซีลอน’ มาเป็น ‘ศรีลังกา’ ในปี 1972 พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 1956 มีการประกาศนโยบายชาตินิยมสิงหล (Sinhalese only) โดยเปลี่ยนภาษาราชการเป็นภาษาสิงหลแทนที่ภาษาอังกฤษ ร่างกฎหมายนี้ชื่อ Sinhala Only Act ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลศรีลังกาเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Ceylon มาเป็น Sri Lanka อันเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาสิงหล มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ 

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น ‘แนวร่วมทมิฬ’ (Tamil United Front) การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ’ (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม หรือพยัคฆ์ทมิฬ ที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูง โดยงานแรกของกลุ่มคือ การสังหารนายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้แม้จะเป็นชาวทมิฬแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับชาวสิงหล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนก ๆ เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางการต่อสู้ใน 3 แนว คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์ และการระดมทุน เงินทุนในการดำเนินงานของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้มาจากการประชาสัมพันธ์และการระดมทุน โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ (ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และรับจ้างฝึกกองกำลังทหารรับจ้างตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ จากทั่วโลก จนทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นจัดว่ามั่งคั่งแข็งแกร่งเลยทีเดียว ประมาณการว่ารายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมน่าจะอยู่ที่ราว 200–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซากเครื่องบินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพอากาศศรีลังกายิงตก

ปฏิบัติการหลัก ๆ ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม วางระเบิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และจัดกำลังรบตามแบบกับรัฐบาลโดยใช้กำลังทางบก เรือ และอากาศ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองเรือและฝูงบินจำนวนหนึ่งซึ่งได้ออกปฏิบัติการรบด้วย) และด้วยวิธีการลอบสังหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการกดชนวนระเบิดเป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือที่เรียกว่า ระเบิดพลีชีพ (Suicide bomb) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลกนำไปเลียนแบบจนทุกวันนี้ พื้นที่หลักของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกา แต่จะทำการก่อการร้ายทั่วประเทศศรีลังกา สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในศรีลังกา และเป็นนักรบราว 3,000 - 6,000 คน (สูงสุดถึงที่เคยมีคือ 7,000 ถึง 15,000 คน) โดยอินเดียก็มีส่วนในความขัดแย้ง ด้วยรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ ได้ให้ความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ด้วยเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและอาจจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประเทศอินเดียเอง

ภาพสุดท้ายของ ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ

ต่อมา ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้ซึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมของรัฐบาลทมิฬนาฑู จึงต้องพบกับจุดจบโดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาฑูจนเสียชีวิตจากฝีมือของหญิงชาวทมิฬ-ศรีลังกา ซึ่งเป็นสมาชิกของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อ 21 พฤษภาคม 1991 ต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก็ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพสังการประธานาธิบดีศรีลังกา รณสิงห เปรมดาสา จนเสียชีวิตเมื่อ 1 พฤษภาคม 1993 ขณะที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2009 มหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยอมวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2009 ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ได้ประกาศชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาต่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้สูญเสียดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทั้งหมด หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองการปกครองในดินแดนของตน และสิ้นสภาพในการต่อสู้ ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาได้อีก

ทหารรัฐบาลศรีลังกากับอาวุธที่ยึดจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

สมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจำนวน 11,664 คน รวมทั้งทหารเด็กอีก 595 คนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับกองทัพศรีลังกา (ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอินเดีย) ซึ่งต่อมามีทั้งข่าวและคลิปการสังหารคนเหล่านี้อย่างเหี้ยมโหด และหญิงชาวทมิฬถูกข่มขืนแล้วฆ่าอีกจำนวนมาก สิ่งที่กองทัพศรีลังกาทำกับชาวทมิฬก็ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมขององค์การก่อการร้ายเลย แม้ปฏิบัติการของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะเหี้ยมโหดก็ตาม แต่เมื่อควบคุมตัวชาวทมิฬเหล่านี้แล้ว ควรนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีและบังคับใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานตรงกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลศรีลังกานั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009 ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัยและสูญเสียทรัพย์สิน เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แม้ว่า พยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะสิ้นสภาพในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม แต่สมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ยังคงมีความพยายามในการเคลื่อนไหวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่จนทุกวันนี้

กลุ่มขั้วอำนาจ BRICs คืออะไร? แล้วทำไม 'ไทย' ต้องเข้าร่วม?

ช่วงสองสามวันนี้เราอาจจะเห็นข่าวที่ไทยกำลังจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มขั้วอำนาจ BRICS โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึงที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการเป็นสมาชิกประเทศกลุ่ม BRICs ประเทศในกลุ่มนี้เขาเป็นใครกันบ้าง เดี๋ยววันนี้มาเล่าให้ฟังค่ะ 

คำว่า BRICs ถูกบัญญัติขึ้นมาครั้งแรกในปี 2001 โดยในตอนแรกมีแค่เพียง 4 ประเทศคือ บราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) และจีน (C) และต่อมาในปี 2011 ก็ได้รับประเทศแอฟริกาใต้ (s) เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม โดยประเทศในกลุ่มนี้จะเป็นการรวมตัวของประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเรียกว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งในปัจจุบันนี้ BRICs มีประเทศสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 10 ประเทศ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะความพยายามในการดึงประเทศอย่างอาร์เจนตินาเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ล้มเหลวไปค่ะ โดยอีก 5 ประเทศหลัง ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐอียิปต์, ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย, สหพันธ์สาธารณรัฐ, ประชาธิปไตยเอธิโอเปีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567

โดย BRICs ก่อตั้งมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากกลุ่ม G7 มาเป็น BRICs แทนค่ะ ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึง 40% ของประชากรโลกหรือราว ๆ 3,500 ล้านคน รวมถึงมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลกด้วยค่ะ 

การร่วมมือของประเทศในกลุ่ม Brics ไม่ใช่แค่เป็นการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินเท่านั้น แต่ประเทศเหล่านี้ยังร่วมมือกันทั้งทางด้านการเมือง วัฒนธรรม ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานด้วยค่ะ

นอกจากความร่วมมือต่าง ๆ แล้ว กลุ่ม BRICs ยังเคยมีการวางแผนที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับเงินสกุลหลักของโลกอย่างเงินสกุลดอลลาร์ รวมถึงแผนการในการซื้อขายน้ำมันกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่โดยไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์ด้วยค่ะ 

ไทยเองแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วม BRICs โดยเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมกลุ่มจะสามารถช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งไทยเองก็จะได้เพิ่มบทบาทในเวทีระดับโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการพัฒนา ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีกับประเทศในกลุ่มด้วย โดยไทยเองก็ได้เดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ BRICs ก่อนที่จะถึงการประชุมสุดยอดประเทศผู้นำ BRICs ครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 นี้ ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียค่ะ 

นอกจากไทยเราเองแล้วก็ยังมีอีก 2 ประเทศค่ะที่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ แอลจีเรียและโบลิเวียค่ะ และถ้าไทยได้เข้าเป็นสมาชิก เราก็จะเป็นประเทศแรกในประเทศแถบอาเซียนที่ได้เข้าเป็นสมาชิกค่ะ 

ย้อนเรื่องราว ‘หน่วย 731’ ของ ‘กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น’ หลังจับ ‘มนุษย์’ เป็น ‘หนูทดลอง’ อย่างโหดสุดๆ ในยุค WW2

หน่วย 731 มาจากชื่อเต็มว่า Manchu Detachment 731 (หน่วยแมนจู 731) และยังเป็นที่รู้จักในชื่อ หน่วย Kamo หรือ หน่วย Ishii เป็นหน่วยงานลับทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสงครามชีวภาพและเคมีของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น หน่วยงานนี้เดิมก่อตั้งโดยกองกำลังสารวัตรทหารแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี 1936 มีกองบัญชาการใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองฮาร์บินซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแมนจูกัว (ปัจจุบันคือจีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งขณะนั้นเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น หน่วย 731 มีหน่วยงานย่อยอยู่ทั่วจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโท Shiro Ishii นายแพทย์ทหาร ตัวอาคารของหน่วย 731 สร้างขึ้นในปี 1935 เพื่อใช้แทนป้อมจงหม่า เป็นทั้งเรือนจำและห้องทดลองของหน่วย 731 หน่วยนี้ปฏิบัติการจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1945

(พลโท Shiro Ishii หัวหน้าหน่วย 731)

หน่วย 731 รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่ฉาวโฉ่ที่สุดที่ก่อโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น มีการทดลองกับผู้คนที่ถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียก ‘ผู้ถูกทดลอง’ (เป็นการภายใน) ว่า ‘ท่อนไม้’ การทดลองประจำวันมีตั้งแต่การฉีดโรคเข้าไปในร่างกายของผู้ถูกทดลอง การควบคุมภาวะขาดน้ำ (การบังคับให้อดน้ำ) การทดสอบอาวุธชีวภาพ การทดสอบห้องความดันบรรยากาศต่ำ การผ่าตัดชำแหละอวัยวะ การเก็บอวัยวะ การตัดแขนขา และการทดสอบอาวุธมาตรฐาน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่เพียงแต่รวมถึง ชาย หญิง (รวมถึงสตรีมีครรภ์) และเด็กที่ถูกลักพาตัว แต่ยังรวมไปถึงทารกที่เกิดจากการข่มขืนหญิงที่ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยอีกด้วย เหยื่อการทดลองมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีน และส่วนน้อยที่สำคัญคือชาวรัสเซีย นอกจากนี้ หน่วย 731 ยังผลิตอาวุธชีวภาพที่ใช้ในพื้นที่ของจีนซึ่งไม่ได้ถูกยึดครองโดยกองกำลังญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงเมืองต่าง ๆ แหล่งน้ำ และทุ่งนาของจีน การประมาณการผู้เสียชีวิตจากฝีมือของหน่วย 731 ตลอดจนโครงการที่เกี่ยวข้องมีมากถึง 500,000 คน และไม่มีนักโทษเหยื่อทดลองคนใดรอดชีวิตออกไปได้ ในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 นักโทษเหยื่อทดลองทั้งหมดถูกสังหารเพื่อปกปิดหลักฐาน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิจัยของหน่วย 731 ถูกกองกำลังโซเวียตจับกุมและถูกพิจารณาคดีในการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่เมือง Khabarovsk ในเดือนธันวาคม 1949 โดยนายทหารผู้บังครับบัญชาของทั้งจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นและหน่วย 731 ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 2-25 ปี ส่วนนักวิจัยที่ถูกจับโดยสหรัฐฯ จะได้รับความคุ้มครองอย่างลับ ๆ เพื่อแลกกับข้อมูลที่รวบรวมระหว่างการทดลองในมนุษย์ โดยสหรัฐอเมริกาช่วยปกปิดการทดลองของมนุษย์และมอบค่าตอบแทนให้กับผู้กระทำผิด กองทัพอเมริกันได้ร่วมเลือกข้อมูลอาวุธชีวภาพและประสบการณ์ของนักวิจัยเพื่อใช้ในโครงการสงครามชีวภาพของสหรัฐฯ เหมือนกับที่ทำกับนักวิจัยของนาซีเยอรมันในปฏิบัติการ Paperclip ดังเช่นกรณีของพลโท Shiro Ishii ผู้เป็นหัวหน้าหน่วย 731

(อาคารหลักของหน่วย 731 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์หน่วย 731)

พลโท Shiro Ishii หัวหน้าหน่วย 731 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ จับกุมระหว่างการยึดครองญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และพร้อมกับผู้นำหน่วย 731 คนอื่น ๆ ซึ่งควรจะถูกสอบปากคำโดยทางการโซเวียตโดยละเอียด แต่เขาและทีมงานได้รับความคุ้มครองจากกองทัพสหรัฐฯ ในปี 1946 จากการฟ้องร้องคดีอาชญกรรมสงครามของญี่ปุ่นต่อหน้าศาลโตเกียวเพื่อแลกกับการเปิดเผยข้อมูลโดยสมบูรณ์ แม้ว่ารัฐบาลโซเวียตอยากให้มีการดำเนินคดี แต่กองทัพสหรัฐฯ ก็คัดค้านหลังจากรายงานของทีมจุลชีววิทยาทางทหารที่นำโดยพันโท Murray Sanders ระบุว่า ข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วย 731 มีความสำคัญมากจนไม่สามารถที่จะ ‘ประเมินค่าได้อย่างแน่นอน’ โดยข้อมูลดังกล่าว ‘ไม่เคยถูกพบในสหรัฐฯ เลย’ อันเนื่องมาจาก ‘ความเข้มงวดในการทดลองกับมนุษย์’ ของมลรัฐต่าง ๆ และ ‘ข้อมูลเหล่านั้นค่อนข้างจะถูกต้อง’ 

วันที่ 6 พฤษภาคม 1949 พลเอก Douglas MacArthur ได้แจ้งกับวอชิงตันว่า “ข้อมูลจาก Ishii และทหารญี่ปุ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกเก็บไว้ในส่วนของข่าวกรองลับ และจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานพิจารณาคดี ‘อาชญากรรมสงคราม’…” ในที่สุดข้อตกลงคุ้มครองของ Ishii ก็ได้ข้อสรุป และเขาไม่เคยต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเลย หลังจากได้รับการยกเว้นโทษ Ishii ได้รับการว่าจ้างจากกองทัพสหรัฐฯ ให้บรรยายเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ Fort Detrick มลรัฐแมรี่แลนด์ (อันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทางการแพทย์ของกองทัพบกสหรัฐฯ) เกี่ยวกับการใช้อาวุธชีวภาพและการค้นพบของหน่วย 731 ในช่วงสงครามเกาหลี Ishii ได้เดินทางไปเกาหลีเพื่อร่วมในกิจกรรมสงครามชีวภาพของกองทัพสหรัฐฯ หลังจากกลับมา เขาได้เปิดคลินิกตรวจและรักษาฟรี เขาได้จดบันทึกประจำวัน แต่ไม่ได้อ้างอิงถึงกิจกรรมในช่วงสงครามของเขากับหน่วย 731 เลย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียงในปี 1959

(ฉากจำลองในพิพิธภัณฑ์หน่วย 731)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานสืบสวนพิเศษ (The Office of Special Investigations : OSI) ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้สร้างรายชื่อเฝ้าติดตามของผู้ต้องสงสัยที่ร่วมมือกับฝ่ายอักษะซึ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าพวกเขาจะเพิ่มชื่อเข้าในรายการเฝ้าดูมากกว่า 60,000 รายชื่อ แต่พวกเขาสามารถระบุชาวญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องได้ไม่ถึง 100 คนเท่านั้น ในจดหมายโต้ตอบระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และ Rabbi Abraham Cooper ในปี 1998 Eli Rosenbaum ผู้อำนวยการ OSI ระบุว่า เป็นเพราะปัจจัยสองประการ :

(1) แม้ว่าเอกสารส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ ยึดได้ในยุโรปจะถูกถ่ายด้วยไมโครฟิล์มก่อนที่จะส่งกลับไปยังรัฐบาลของตน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจที่จะไม่ถ่ายไมโครฟิล์มรวบรวมเอกสารจำนวนมากก่อนที่จะส่งคืนให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น

(2) รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ให้ความร่วมมือกับ OSI ในการเข้าถึงบันทึกเหล่านี้และบันทึกที่เกี่ยวข้องหลังสงคราม ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปส่วนใหญ่ต่างให้ความร่วมมือกับ OSI เป็นอย่างดี เป็นผลทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการระบุตัวตนของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้

(‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋า)

ต่อมาพฤษภาคม 2023 หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่า ทีมนักโบราณคดีจากสถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลเฮยหลงเจียง ได้เปิดเผยถึงการค้นพบซาก ‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋าทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ของทหารหน่วย 731 แห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้ายึดครองบางส่วนของดินแดนจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะก่อตั้งหน่วย 731 เพื่อวิจัยอาวุธชีวภาพและทำการทดสอบทางการแพทย์อื่น ๆ อย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมต่อชาวจีนและชาวเกาหลี รวมทั้งเชลยศึกชาวอเมริกันและรัสเซียด้วย 

(‘บังเกอร์สยอง’ (Horror bunker) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่เมืองอันต๋า)

รายงานระบุว่า กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้งานบังเกอร์สยองที่ค้นพบล่าสุด ระหว่างช่วงปี 1935-1945 สถานที่แห่งนี้ประกอบไปด้วยเครือข่ายของอุโมงค์และห้องใต้ดินกลุ่มต่างๆ ซึ่งในแต่ละห้องมีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เครือข่ายห้องลับดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1.5 เมตร มีศูนย์กลางเป็นกลุ่มห้องรูปตัวยู (U) ความยาว 33 เมตร กว้าง 20.6 เมตร ซึ่งในจำนวนนี้มีห้องทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร ที่คาดว่าใช้สังเกตการณ์มนุษย์ผู้เข้ารับการทดลองหลังได้รับเชื้อโรคร้ายหรือสารเคมีที่เป็นพิษเข้าไป ทางการจีนค้นพบบังเกอร์สยองแห่งนี้ครั้งแรกในปี 2019 โดยในตอนนั้นมีเพียงซากอาคารและลานบินที่ถูกทำลายหลงเหลืออยู่บนผิวดิน แต่ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจภายในบังเกอร์ใต้ดินได้ จนกระทั่งในเวลาต่อมาทีมนักโบราณคดีได้เข้าทำการขุดค้นโดยใช้เทคนิคทางธรณีฟิสิกส์และการขุดเจาะสมัยใหม่เข้าช่วยจนประสบผลสำเร็จ
 

เปิดเหตุผล!! ทำไมเงินเฟ้อถึงต้องแตะอยู่ที่ระดับ 2% เพราะเป็นตัวเลขที่ช่วยกระตุ้นศก.โดยไม่ทำร้ายระบบศก.

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเวลาที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศออกมาพูดเรื่องระดับเงินเฟ้อ พร้อมทั้งออกนโยบายทางการเงินต่าง ๆ ก็มักจะมีการพูดถึงระดับเงินเฟ้อที่ 2% กันอยู่บ่อย ๆ 

เงินเฟ้อจริง ๆ แล้วดีไหม? และทำไมเงินเฟ้อถึงควรจะอยู่ที่ระดับ 2%? ... วันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเงินเฟ้อคืออะไร? 

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราต้องใช้เงินเยอะขึ้นในการซื้อของชิ้นเดิมหรือใช้บริการเดิม ถ้าพูดในมุมมูลค่าของเงิน ก็แปลได้ว่าเงินของเรามีมูลค่าที่ลดลงนั่นเอง โดยสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้หลัก ๆ 2 อย่าง นั่นคือ...

1.เงินเฟ้อที่เกิดจากทางด้านอุปสงค์ หรือ Demand-Pull Inflation เงินเฟ้อประเภทนี้จะเกิดจากการที่คนมีความต้องการในสินค้าและบริการมากขึ้น แต่สินค้าและบริการนั้น ๆ มีไม่เพียงพอ ความต้องการที่มากขึ้นนั้นก็จะสะท้อนออกมาในระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น 

และ 2. เงินเฟ้อที่เกิดจากด้านอุปทาน หรือ Cost- Push Inflation เงินเฟ้อประเภทนี้จะเกิดการที่ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงผลักภาระทางด้านต้นทุนนี้ออกไป โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการแทน

จริง ๆ แล้วเงินเฟ้อไม่ใช่ตัวร้ายในระบบเศรษฐกิจเสมอไป เพราะเงินเฟ้อในระดับที่ดีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 'ผู้ขาย' ขายสินค้าได้มากขึ้น ก็จะไปขยายการผลิต เพิ่มการจ้างงาน คนมีรายได้มากขึ้นและนำมาจับจ่าย เงินก็จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 

แต่ถ้าเงินเฟ้อถึงระดับที่สูงจนเกินไปเมื่อไหร่ นั่นแหละที่จะกลายมาเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจแทน เพราะเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ข้าวของแพงเกินไป คนจะไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย และเงินก็จะหายไปจากระบบทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองได้

โดยอัตรา 2% ของเงินเฟ้อนี่ล่ะค่ะที่มีการคำนวณเอาไว้แล้วว่าเป็นระดับที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ที่ระดับ 2% นี้ถือว่าเป็นระดับต่ำปานกลาง ไม่น้อยจนทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลงจนไม่อยากใช้เงิน และก็ไม่ได้สูงจนคนรู้สึกทุกอย่างแพงจนไม่อยากใช้เงินเช่นกัน และยังเป็นระดับที่สอดคล้องกับเสถียรภาพของราคาระหว่างความเสี่ยงและการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลเสียใดก็ตามที่จะเกิดจากการที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับนี้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรมากด้วยค่ะ 

แต่เดิมไม่เคยมีประเทศไหนกำหนดระดับเงินเฟ้อมาก่อน โดยประเทศแรกที่มีกำหนดระดับเงินเฟ้อคือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี 1989 ในตอนนั้นนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงมาก ธนาคารกลางนิวซีแลนด์เลยทำการกำหนดระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 0-2% และพอธนาคารกลางนิวซีแลนด์ทำได้จริง หลายธนาคารจึงนำเรื่องนี้ไปใช้บ้าง อย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกาในยุคของ Ben Bernanke ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ในยุคนั้นก็ได้นำการตั้งระดับเงินเฟ้อไปใช้เช่นกัน 

ซึ่งพอนำระดับนี้ไปใช้จริงก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ผู้คนก็จะเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ระดับเงินเฟ้อกลับไปอยู่ที่ 2% รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเองก็สามารถที่จะคำนวณต้นทุนการผลิต การวางแผนการใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น ส่วนผู้บริโภคหรือเรา ๆ เองก็จะสามารถวางแผนการใช้จ่าย วางแผนการออมได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน 

โดยสรุปคือ ตัวเลข 2% เป็นตัวเลขที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ทำร้ายระบบเศรษฐกิจจนเกินไปค่ะ

ย้อนประวัติศาสตร์ก่อนผลัดแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้ใด? มีรายชื่อสืบราชสมบัติ และผู้ใดไม่มีสิทธิ

หากจะกล่าวถึงการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงสืบราชสันตติวงศ์อย่างผิดแผกจากธรรมเนียมปกติ โดยพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ที่ต่อมารู้จักกันภายใต้หลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’

ทั้งหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์แล้วก็ยังทรงตั้ง ‘วังหน้า’ อย่างผิดแผกแตกต่างไปจากยุคก่อน ๆ เพราะพระองค์ทรงตั้งพระปิตุลาของพระองค์ให้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวร’ นั่นก็คือ ‘กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ’ นัยว่าเพื่อสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นใน ๓ ส่วนสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นไปได้อย่างราบรื่นตลอดรัชสมัย 

แต่กระนั้นในช่วงปลายรัชกาลในคราที่พระองค์ทรงประชวรหนักและอาจจะสวรรคตในอีกไม่นานนัก ทั้ง ‘วังหน้า’ ก็ทรงสวรรคตไปก่อนแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้ทรงตั้งใครขึ้น จนมาถึงในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชดำริถึงผู้ที่สืบทอดราชสันตติวงศ์ โดยมีพระราชโองการประกอบพระราชวินิจฉัยก่อนหน้า ให้ขุนนางผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ‘ตระกูลบุนนาค’ ตระกูลขุนนางอันดับหนึ่งของแผ่นดิน รับภาระผู้นำในเลือกสรรเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเพื่ออัญเชิญขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ โดยทรงขอ ‘อย่าให้มีการแตกแยก แก่งแย่งชิงราชบัลลังก์’ (พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) 

ส่วนจะมีพระราชวงศ์พระองค์ไหน ? ที่อยู่ในข่ายได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้สืบราชสมบัติและทำไม? ถึงไม่ได้รับเลือก ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยเริ่มจากผู้ที่ไม่ได้รับเลือกสรรก่อนไปจนถึง ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ ๔ ที่ได้รับการเลือกสรรและอัญเชิญขึ้นครองราชย์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’

พระองค์แรก ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี’ พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ทรงกำกับกรมสังฆการี กรมธรรมการ และกรมมหาดเล็ก มีบทบาทในราชการและเป็นที่โปรดปรานมากกว่าพระโอรสองค์อื่น ๆ ว่ากันว่า รัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้ ด้วยการนำเสนอพระนามท่ามกลางการประชุมพระราชวงศ์และขุนนาง 

แต่การณ์ก็ไม่เป็นดังหวังเพราะมีเสียงคัดค้านจากคณะขุนนาง เนื่องจากพระองค์ไม่ใช่พระราชโอรสที่มีพรรษาสูงนัก (อายุ ๓๑ พรรษา) หากเทียบกับพระองค์อื่น ๆ ถ้าข้ามอาวุโสไปก็จะเกิดปัญหา มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานประโยชน์ให้เกิดดุลยภาพได้เช่นพระราชบิดา 

ทั้งในกลุ่มขุนนางก็ไม่ค่อยมีผู้ใดได้ร่วมงานกันอย่างสนิทชิดเชื้อหรือรู้จักมักคุ้นมากพอที่จะสนับสนุนให้ได้ราชสมบัติ หากได้ขึ้นครองราชย์ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้ความเคารพเชื่อถือ ทั้งในกลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางเอาได้ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นภัยกับตัวพระองค์เจ้าอรรณพเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางทั้งหลายจึงมิได้เลือกสรรพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้ามั่ง’

พระองค์ที่สอง ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร’ มีพระนามเดิม ‘หม่อมเจ้ามั่ง’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดานิ่ม พระองค์ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์ ทรงเป็นกวีสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเป็นผู้รวบรวมและชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ประณีตและไพเราะมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำไปจารึกลงแผ่นศิลา เพื่อประดับให้ความรู้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) 

ซึ่งถ้ามองตามชั้นพระยศของพระองค์ พระองค์เมื่อแรกประสูตินั้นเป็นเพียง ‘หม่อมเจ้า’ หากจะข้ามชั้นพระยศ ‘เจ้าฟ้า’ ซึ่งมีพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ ในชั้น ‘เจ้าฟ้า’ ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ถึง ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้ามงกุฎ (ร.๔ ซึ่งขณะนั้นทรงอุปสมบทเป็น ‘วชิรญาณภิกขุ’ อยู่) อีกพระองค์คือเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ คงเป็นการมิบังควรหากจะข้ามไป 

ประกอบกับกรมพระยาเดชาดิศรนั้นทรงถูกติติงจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้” อีกทั้งกรมที่พระองค์ทรงดูแลอยู่นั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง แม้จะเคยทรงไปทัพหรือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางทั้งหลาย แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่กลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มผู้นำขุนนางทั้งหลายจะเลือกสรรให้ท่านได้ครองราชย์ 

พระองค์ที่สาม ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์’ มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าพนมวัน’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา ทรงกำกับ กรมพระนครบาล (เวียง) และ กรมคชบาล ซึ่งเป็นกรมที่มีข้าในสังกัดมาก แต่การที่มีไพร่พลสังกัดในกรมจำนวนมากนี้เองที่กลายเป็นชนวนทำให้พระองค์ทรงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คราวแรกพระองค์ได้ถูกพาดพิงจาก ‘กบฏหม่อมไกรสร’ (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ว่าหากกบฏสำเร็จจะตั้งพระองค์เป็นวังหน้าเพราะทรงคุมกรมใหญ่มีบารมีมาก (ดีที่ไม่ซวยติดร่างแหไปด้วยไม่งั้นคงถูกสำเร็จโทษตามหม่อมไกรสรไปเป็นแน่) 

คราวที่สองเมื่อ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ สวรรคต พวกข้าในกรมคาดว่าเจ้านายของตนจะได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ แทน ก็เลยคุยเขื่องยกยอนายของตนไปทั่ว เล่นใหญ่จนกลายเป็นความหมั่นไส้ ก่อนที่เหตุการณ์ก็ผลิกผัน เพราะในที่สุด ร.๓ ก็มิได้ตั้งใครเป็นวังหน้า จากเหตุนี้ก็เลยกลายเป็นชนักที่ปักพระขนองของพระองค์อยู่ อีกทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ยังได้ทรงตำหนิพระองค์ต่อวงขุนนางไว้ว่า “ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่ละเล่นอย่างเดียว” เพราะพระองค์ทรงโปรดดนตรีปี่พาทย์และการละครเป็นอย่างมาก จนมีโรงละครหลวงที่ใหญ่ติดอันดับของสยามในเวลานั้น 

จากเหตุข้าในกรมใฝ่สูงแทนนาย อีกทั้งยังถูกวางไว้ในตำแหน่งคานอำนาจกับเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) และพระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) พระองค์จึงไม่ได้รับเลือกสรร

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระองค์ที่สี่ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จฯ กลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมพระราชมารดา 

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบแขกอาสาจาม ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก แต่พระอุปนิสัยชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้รับการตำหนิจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ แต่ไม่พอใจทำราชการเกียจคร้าน รักแต่การเล่นสนุก เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการ...จะไม่ชอบใจ” 

อีกอย่างหนึ่งคงไม่พ้นทางฝั่งขุนนางที่คาดกันว่าหากพระองค์ทรงครองราชย์แล้วคงจะทำลายสมดุลแห่งอำนาจเป็นแน่ เนื่องจากพระองค์ทรงหัวก้าวหน้า พูดอังกฤษได้ มีเพื่อนฝรั่งมาก ขุนนางทั้งหลายอาจจะต้องเผชิญขนบใหม่จากพระองค์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำขุนนางก็คงถูกลิดรอนอำนาจบารมีจากการเข้าถึงงานราชการของพระองค์ (ขัดกับคำตำหนิ ???) อย่ากระนั้นเลยเมื่อคิดได้ดังนี้ กลุ่มขุนนางจึงขอไม่เลือกสรรพระองค์โดยให้เหตุผลว่า น่าจะเรียงลำดับอาวุโสตามศักดิ์และสิทธิ์ของ ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ โดยขอเลือก ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ก่อน หากเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ทรงรับจึงจะเลือกสรรเป็นพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)

พระองค์ที่ห้า ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา 

เมื่อ ร.๓ ขึ้นครองราชย์ด้วยหลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะดำรงสมณเพศต่อไป ระหว่างผนวชพระองค์ได้ทรงธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทรงเห็นความเป็นไปต่าง ๆ ของบ้านเมือง รวมไปถึงทรงเห็นความหย่อนยานของพระภิกษุในบางส่วน ทำให้พระองค์ทรงนำมาปรับปรุงโดยยึดพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง จนเกิดเป็น ‘ธรรมยุกตินิกาย’ ทำให้พุทธศาสนาที่ย่อหย่อนกลับมาแข็งแรงขึ้น เรียบร้อยขึ้น 

แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับการตำหนิจาก ร.๓ ว่า “ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะให้นำธรรมเนียมการห่มผ้าของพระสงฆ์ของพม่ามาใช้” แต่ด้วยความเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้า มีศักดิ์และมีสิทธิ์ครบ มีความเข้าใจในบ้านเมือง และเข้าใจสถานการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ตะวันตกกำลังรุกคืบมาเป็นอย่างดี อีกทั้งมิได้มีข้อขุ่นข้องหมองใจหรือขัดผลประโยชน์ใด ๆ อันจะทำให้ดุลยภาพแห่งอำนาจสั่นคลอนได้ 

ที่ประชุมพระราชวงศ์และเหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันเลือกพระองค์เป็นผู้สืบราชสมบัติ ครองราชย์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

จะเห็นว่า การสืบราชสันตติวงศ์ทั้งรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นั้นมิได้เป็นไปตามหลักการ การสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสพระองค์โตที่เป็น ‘เจ้าฟ้า’ จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่กลับเป็นไปตามหลัก ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ ซึ่งมหาชนที่ว่านั้นก็คือ ‘ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่’

โดยเฉพาะเมื่อครั้งเลือกสรรผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรง ‘โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน’

ทั้งหมดที่ผมเรียบเรียงมานั้น เน้นย้ำความสมดุลแห่งอำนาจ ๓ ฝ่ายคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเรื่องของอำนาจบารมีมาเกี่ยวข้อง หากจะเลือกสรรพระมหากษัตริย์ที่มาลิดรอนดุลยภาพแห่งอำนาจนั้นจึงเป็นการไม่เหมาะสม 

โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่มีอำนาจบารมีขั้นสุดอย่าง กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งนำโดย เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่กุมอำนาจบริหารแผ่นดินไว้ การจะเลือกสนับสนุนพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นครองราชย์ย่อมต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของตน ซึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ทุกอย่างลงตัว 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงทราบเหตุแห่งผลประโยชน์ที่อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ จึงทรงถ่วงดุลด้วยการอุปราชาภิเษก ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ ไปพร้อม ๆ กัน โดยทรงอ้างถึงพระชะตาอันแรงกล้า แต่โดยนัยแล้วเชื่อได้ว่านี่คือการวางแผนคานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคนั่นเอง เอาไว้ผมจะเรียบเรียงมาให้อ่านกันในครั้งถัด ๆ ไปครับ

‘Pepsi’ VS ‘Coca-Cola’ มิตรภาพที่อยู่เหนือผลประโยชน์


ปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.5-4% โดยส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั่วโลกเป็นของ Coca-Cola ราว 44% และ PepsiCo ราว 19% ที่เหลือเป็นของน้ำอัดลมยี่ห้ออื่น ๆ


‘Coke’ หรือ The Coca-Cola Company ปกติทั่วไปแล้วมักเรียกว่า ‘Coca-Cola’ เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่อยู่ในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1886 สำหรับ ‘Pepsi’ หรือ PepsiCo, Inc. คู่แข่งของ Coke เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแฮร์ริสัน มลรัฐนิวยอร์ก ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 จากการควบรวมกิจการของ เป๊ปซี่-โคล่า กับ ฟริโต-เลย์ นอกจากนี้ยังมีสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ Gatorade, Tropicana, Quaker Oats, และ Lay's เป็นต้น


สำหรับ Coke และ Pepsi ต่างใช้งบประมาณมหาศาลในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าของแต่ละฝ่าย ทั้งการใช้ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมไปจนถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งคู่แข่งทั้ง 2 ต่างก็ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค และต่างก็ได้ทำการขยายตลาดของตนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น


การแข่งขันระหว่าง Coke และ Pepsi มิได้เป็นเพียงแค่เป็นการแข่งขันในทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันทางความคิดและวัฒนธรรมอีกด้วย โดยทั้งสองฝ่ายต่างพยายามสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ของตนเองให้มีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคน้ำอัดลมทั่วโลก แม้การแข่งขันทางการค้าระหว่าง Coke และ Pepsi จะดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่ใช่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต่อสู้ฟาดฟันกันโดยไม่รู้จักยั้งคิด ขาดสติ ไร้ความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี แต่อย่างใด ดังเช่นกรณี Joya Williams และ Ibrahim Dimson


ในปี 2006 ‘Joya Williams’ วัย 41 ปี เลขานุการผู้บริหารของ Coca Cola และ Ibrahim Dimson พนักงานของ Coke ที่สามารถเข้าถึงเอกสารลับสุดยอดทั้งหมดที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีเตรียมเครื่องดื่ม Coca-Cola ใหม่ และยังมีขวดที่บรรจุสารเคมีทั้งหมดที่โดยทั้งสองจะใช้ตั้งใจที่จะขายความลับเหล่านี้ให้กับ Pepsi คู่แข่งหลักของ Coke เป็นเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของ Coke ที่ไม่มีใครรู้ ยกเว้น 5 ผู้บริหารระดับสูงของ Coke โดยพวกเขาได้ติดต่อกับ Antonio J. Lucio รองประธานฝ่ายข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมของ Pepsi


อย่างไรก็ตาม Pepsi ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับ Coke และ Coke จึงแจ้งความให้ FBI ดำเนินการ หลังจากเริ่มการสืบสวน Gerald Reichard เจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ได้ปลอมตัวเป็นผู้แทนของ Pepsi หลังจาก Reichard ได้เจรจาพูดคุยกับ Dimson หลายครั้ง Reichard จึงได้ตกลงและทำการ ‘ล่อซื้อ’ ข้อมูลความลับของ Coke จาก Joya Williams และ Ibrahim Dimson เพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี และนำไปสู่การจับกุมตัวทั้ง 2 คน ผลการพิจารณาคดี Williams ปฏิเสธ และ Dimson สารภาพ Williams ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดรับโทษจำคุก 96 เดือน ส่วน Dimson รับโทษจำคุก 60 เดือน โดย Dave DeCecco โฆษกของ Pepsi กล่าวว่า "การแข่งขันอาจดุเดือดได้ แต่ต้องยุติธรรมและถูกกฎหมายเสมอ"


สิ่งที่ Joya Williams และ Ibrahim Dimson ไม่เข้าใจก็คือ แม้ว่า Coke และ Pepsi จะเป็นคู่แข่งขันกันก็ตาม แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษต่อกัน ด้วยทั้ง 2 ฝ่ายมีความต้องการซึ่งกันและกันในอันที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งระหว่างกัน แม้ทั้ง 2 บริษัทเกือบจะเป็น Duopoly โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร่วมกว่า 60% แต่ต่างก็ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายถึงกับต้องเลิกกิจการไปเลย เพียงต้องการต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ เช่นที่ผู้บริหาร Coke คนหนึ่งได้พูดไว้ว่า “ถ้าไม่มี Pepsi เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา” ทั้งสองจำเป็นต้องรักษาความเฉียบคมต่อกันเพื่อผลักดันคู่แข่งรายเล็กอื่น ๆ ให้ออกจากตลาด ซึ่งที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้แข่งขันกัน แต่กลับกลายเป็นความร่วมมือกันในลักษณะพิเศษต่างหาก 

เสน่ห์ใดที่ซ่อนอยู่ในหุ้นสายประกัน จนทำให้ปู่ Warren Buffett ชอบเหลือเกิน

ถ้าใครได้ตามข่าวการเปิดพอร์ตการลงทุนล่าสุดของนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ VI อย่าง Warren Buffett จะเห็นได้ว่าเขาเองได้เข้าไปเก็บหุ้นบริษัทประกันอย่าง Chubb โดยการเข้าไปซื้อหุ้น Chubb จำนวนเกือบ 26 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 2% ของหุ้นทั้งหมดของพอร์ตการลงทุน เป็นเงินถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์หรือราว ๆ 2.4 แสนล้านบาท แล้วหุ้นประกันดีอย่างไรวันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่ารายได้หลักของบริษัทประกันมาจากอะไรบ้าง รายได้หลักก็คงหนีไม่พ้นเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ตามมาด้วยผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน และค่าจ้างค่าธรรมเนียมจากการให้บริการ โดยเงินที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันนี้เราจะเรียกว่า 'Float' และในทางบัญชีบริษัทจะบันทึกเงินก้อนนี้เป็นหนี้สิน ซึ่งเงินก้อนนี้ส่วนหนึ่งบริษัทประกันจะเก็บไว้เป็นทุนสำรองในกรณีที่ลูกค้าเคลมประกันเข้ามา ส่วนอีกส่วนหนึ่งบริษัทเองก็สามารถที่จะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อได้ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ 

เท่ากับว่าบริษัทประกัน ไม่มีต้นทุนจากการกู้ยืมเลย ซึ่งเราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Leverage หรือก็คือการยืมเงินคนอื่นมาลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ไม่เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องไปกู้ยืมและมีต้นทุนที่สูงในการเอาไปลงทุนต่อ แถมธุรกิจประกันภัยของ Berkshire Hathaway เองก็ยังเป็นแหล่งเงินสดก้อนใหญ่ที่บริษัทเอาไปใช้เพื่อการลงทุนเองด้วย 

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของประกันเองในบางปีจะขาดทุนจากการรับประกันภัยในกรณีที่ถูกเรียกสินไหมหรือที่เราเรียกว่า 'การเคลม' รวมถึงการที่คู่แข่งลดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ บริษัทประกันภัยสามารถที่จะคำนวณกระแสเงินสด เพราะเขาเองสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะไหลเข้าบริษัทได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ทำให้เขาสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างดี ส่วนทางด้านการลงทุนบริษัทเองสามารถเอาไปลงในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งจาก Float ที่บริษัทเองก็ไม่ได้มีต้นทุนการกู้ยืม การทำกำไรในสินทรัพย์ที่มั่นคงแต่ได้ผลตอบแทนน้อยก็นับว่าคุ้มแล้ว

นอกจากนี้ธุรกิจประกันภัยเองยังเป็นธุรกิจที่มีอำนาจในการกำหนดราคาอย่างเช่น บริษัทเองสามารถปรับขึ้นราคาเบี้ยประกันภัยได้ในช่วงภาวะเงินเฟ้อเพื่อรักษาผลกำไร หรือเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีอำนาจในการต่อรองและกำหนดราคานั่นเอง

โดย Chubb เองเป็นบริษัทประกันภัยที่มีกิจการอยู่ 54 ประเทศทั่วโลกโดยให้บริการทั้งประกันภัยทรัพย์สิน, ประกันวินาศภัย, ประกันสุขภาพ, ประกันภัยต่อ และประกันชีวิต โดยผลการดำเนินงานของ Chubb ของไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ออกมาโดยรายได้สุทธิอยู่ที่ 2.14 พันล้านเหรียญโตขึ้นเมื่อเทียบเป็นแบบรายปี ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศรายชื่อหุ้นที่วอร์เรนเก็บเข้าเพิ่มไปก็ดันให้ราคาหุ้น Chubb ก็ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 8% 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

“—เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร—”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อผู้แทนคณะปฏิวัติที่เข้ามาพบเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์มีอยู่ 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในครั้งนั้น มิได้มีการอภิวัฒน์ขึ้นอย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง อำนาจการปกครองของประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นมิได้เกิดขึ้นจริง มีแค่เพียงการปกครองที่เรียกว่า ‘คณาธิปไตย’ โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ มาใช้รองรับความต้องการของตนก็เท่านั้นเอง 

ซึ่งหลายต่อหลายเหตุการณ์ได้ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงอึดอัดและทรงผิดหวังอย่างเหลือประมาณ จนพระองค์ต้องทรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และส่วนหนึ่งคือการเลี่ยงการใช้พระองค์เป็นเครื่องมือของคณะผู้ก่อการคณะต่าง ๆ ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอ้างพระองค์ ราวกับพระองค์ต้องทรงตกเป็นตัวประกัน โดยเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติใน 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจวบจนสวรรคต 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ตำบลบิดเดนเดน มณฑลเคนท์ โดยในช่วงนี้พระองค์ทรงพระประชวรมากขึ้นด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ แต่กระนั้นพระอาการประชวรของพระองค์ก็มีการกำเริบหนักบ้าง น้อยบ้าง ประกอบกับโรคทางพระหทัยที่เริ่มพบว่ามีอาการ

พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ เพื่อความปลอดภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ ซึ่งเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร โดยทำการปิดพระตำหนักไว้แล้วหวังใจว่าเมื่อสงครามสงบจะได้กลับไปพำนักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพในภาวะสงครามด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ทั้งยังต้องระวังภัยทั้งทางอากาศ โดยการอำพรางไฟฟ้าลดความสว่างและความอบอุ่น บางครั้งต้องสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูหนาว ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมและทรงประชวรหนักขึ้น 

ปี พ.ศ. 2484 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ ถูกยึดครองเป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ ด้วย ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี’ พระองค์ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของรัชกาลที่ 7 ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย

ในช่วงเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก ได้รับสั่งกับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ ว่าหากอยากจะเสด็จฯ ไปพระตำหนักเวนคอร์ตเพื่อไปจัดการอะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยก็ทรงไปได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล โดยรับสั่งว่า 

“จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี....อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์” ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่านั่นจะคือรับสั่งครั้งสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 7 

‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ จึงเสด็จฯ ออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. ในหลวง ร.7 ทรงเสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับมาอีกที ก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้าง ๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ 09.00 น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตเสียแล้ว สิริรวมพระชนม์มายุได้ 48 พรรษา และเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ

ส่วนทาง สมเด็จฯ เมื่อรถพระที่นั่งแล่นออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ก็ต้องชะลอ แล่นช้าลงเพราะหมอกลงจัด โดยมีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมเด็จฯ ทรงทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนอยู่ ซึ่งออกจะประหลาด ๆ จนทรงสังหรณ์พระราชหฤทัย 

จนกระทั่งตำรวจอังกฤษได้มาสกัดรถพระที่นั่งของสมเด็จฯ เพื่อแจ้งข่าว พระองค์จึงทรงรีบเสด็จฯ กลับพระตำหนักในทันที เมื่อทรงถึงพระตำหนัก พระองค์ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษ ได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 วัน เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการแต่งพระบรมศพไว้ว่า 

“ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ตอนหนึ่งว่า… “ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”

ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งมีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยัง สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน 

เมื่อถึงสุสาน พบว่ามีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่มาก ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระบรมศพเข้าสู่ฐานตั้ง ผู้ที่ตามเสด็จฯ นั่งเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว นายอาร์. ดี. เครก ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย และเป็นพระสหายของ ร.7 ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นเข้าไปถวายความเคารพโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากนั้นพนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้า 

การพระบรมศพนั้นไม่มีพิธีสงฆ์ใด ๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในเวลานั้น มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเพียงเท่านั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม

โดยการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่สยามนั้นเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 กระบวนเกียรติยศจากรัฐบาลอังกฤษอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 7 ขึ้นประทับบนเรือวิลเลมรัยส์ เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน ทหารกองเกียรติยศ กองทหารราบเบาซอมเมอร์เส็ท ถวายบังคมส่งเสด็จฯ โดย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงรับการถวายความเคารพ โดยพระองค์เสด็จฯ กลับสยามโดยประทับบนเรือลำนี้ เป็นเวลา 23 วัน

กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เรือภาณุรังสีได้เข้าเทียบเรือวิลเลมรัยส์ แล้วอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับชั่วคราว ภายในโถงเรือจนถึงกรุงเทพฯ จึงอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิขึ้นสู่เรือรบหลวงแม่กลอง แล้วนำพระบรมอัฐิ บรรจุในพระโกศ ประดิษฐานในเรือรบหลวงแม่กลอง หลังจากนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จฯ ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากเรือรบหลวงแม่กลอง ขึ้นประทับบนพระราเชนทรยานราชรถเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิเคียงข้าง พระโกศพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งพุดตานถม ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เปิดเรื่องราว ‘Vlora’ เรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากสุดในโลก หลังชาวแอลเบเนียทำการบุกจี้ยึดเรือ เพื่ออพยพหลบหนีออกประเทศ

เมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน ผู้เขียนมักจะนึกย้อนไปถึงปี 1975 ด้วยวันนี้เป็นวันจบสิ้นลงของประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม หรือ เวียตนามใต้ (The Republic of Vietnam) คำว่า “เวียตนาม” ในยุคสมัยที่ยังมีเวียตนามใต้ คนไทยใช้ ‘ต’ สะกด แต่ปัจจุบัน ใช้ ‘ด’ สะกด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) การสิ้นสุดของสาธารณรัฐเวียตนามทำให้ชาวอดีตเวียตนามใต้พากันอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ และวิธีการที่ใช้ในการหลบหนีมากที่สุดคือทางเรือ อันเป็นที่มาของ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’  (Vietnamese Boat People) ทั้งนี้ สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2021050108

(การรื้อทำลายอนุสาวรีย์ Lenin ที่แอลเบเนียในปี 1991)

การสิ้นสุดลงของประเทศสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียล่มสลาย และลุกลามไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นความถดถอยจนครั้งใหญ่ เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ท่ามกลางความไม่สงบทางการเมืองและสังคมที่กระจายไปทั่วประเทศกระตุ้นให้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามออกจากประเทศ โดยก่อนหน้านี้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากหนีไปทางตอนใต้เพื่อไปกรีซ ในขณะที่ชาวสลาฟชาติพันธุ์บางกลุ่มพยายามข้ามไปยังเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของยูโกสลาเวีย ในกรุงติรานา สถานทูตต่างประเทศถูกชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามบุกเข้าไป ภายหลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับการให้วีซ่าชาวแอลเบเนียกว่า 3,000 คน สามารถเข้าไปในบริเวณสถานทูตเยอรมันได้ ในขณะที่บางคนเข้าไปในบริเวณสถานทูตเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ ในที่สุดชาวแอลเบเนียในสถานทูตเยอรมันก็ได้รับอนุญาตให้อพยพไปยังเยอรมนีผ่านทางอิตาลีได้

เส้นทางเรือที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียใช้ข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี

ในขณะที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียจำนวนมากตัดสินใจเลือกอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยความอิตาลีอยู่ห่างออกไปไม่ถึงร้อยไมล์ โดยข้ามช่องแคบโอตรันโต จากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่การแสดงความมั่งคั่งเกินจริงในอิตาลีที่ชาวแอลเบเนียได้ชมเป็นแรงบันดาลใจอันหนึ่งให้กับตัวเลือกนี้ในช่วงต้นปี 1991 มีความพยายามในการข้ามช่องแคบโอตรันโตหลายครั้ง โดยผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนียหลายร้อยหรือหลายพันคนได้จี้บังคับเรือต่าง ๆ ตั้งแต่เรือบรรทุกสินค้าของโรมาเนียไปจนถึงเรือลากจูงของกองทัพเรือแอลเบเนีย หน่วยรักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือเมือง Durrës ที่ถูกบุกรุกทำได้แค่ยืนดูเฉย ๆ ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ครั้งหนึ่งมีการข้ามช่องแคบของผู้อพยพชาวแอลเบเนียประมาณ 20,000 คนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1991 โดยขึ้นฝั่งที่เมืองบรินดิซีด้วยเรือขนาดเล็กหลายลำ เมืองนี้มีประชากรเพียง 80,000 คน จึงประสบปัญหาในการรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพดังกล่าว แต่ผู้อพยพก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อให้อาหารและที่พัก 

(ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora)

เหตุการณ์จี้ยึดเรือสินค้า Vlora เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1991 โดย Vlora เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ต่อขึ้นในปี 1960 ที่เมือง Ancona อิตาลี ซึ่งได้แล่นในทะเลภายใต้ธงแอลเบเนียจนถึงปี 1996 โดยบริษัทร่วมขนส่งซิโน-แอลเบเนียของรัฐบาล เรือสินค้า Vlora เดินทางกลับมาจากคิวบาพร้อมกับน้ำตาลจำนวนมาก และได้จอดเทียบท่าที่เมือง Durrës เพื่อขนถ่ายสินค้าและเข้ารับการซ่อมแซมเพราะเครื่องยนต์หลักชำรุดใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกัน มีผู้อพยพชาวแอลเบเนียจากทั่วประเทศจำนวนมากมารวมตัวกันที่ท่าเรือด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นเรือลำใดก็ได้และแล่นไปยังอิตาลี โดยไม่มีใครหยุดยั้งพวกเขาได้ โดยมีผู้อพยพจำนวนระหว่าง 15,000 - 20,000 คนได้บุกขึ้นเรือสินค้า Vlora ในวันที่ 7 สิงหาคม 1991 พวกเขากระโดดลงทะเลแล้วปีนขึ้นไปตามเชือก และอยู่กันจนเต็มพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วของเรือ (บางส่วนต้องห้อยตัวกับบันไดและราวกั้นตลอดการเดินทาง) Halim Milaqi กัปตันของเรือสินค้า Vlora ถูกจี้บังคับจากกลุ่มคนติดอาวุธจึงต้องตัดสินใจนำเรือที่มีผู้อพยพนับหมื่นคนข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี ด้วยเกรงว่าจะเหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หากปล่อยให้มือสมัครเล่นมาทำหน้าที่ควบคุมเรือ

ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora

เรือสินค้า Vlora แล่นโดยใช้เพียงเครื่องยนต์สำรองและไม่มีเรดาร์ เนื่องจากมีผู้อพยพอยู่เต็มไปหมดจนเรดาร์ไม่สามารถทำงานได้ และสูญเสียระบบทำความเย็นไปหลังจากที่ผู้อพยพตัดเปิดท่อทำความเย็นออกเพื่อเอาน้ำมาดื่ม จากนั้นกัปตันจึงต้องใช้น้ำทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนจัด โชคดีที่พวกเขาได้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจนสามารถเดินทางมาถึงชายฝั่งอิตาลีในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 สิงหาคม เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือของเมืองบรินดิซีในเวลาประมาณ 04.00 น. กัปตันได้รับคำแนะนำไม่ให้เทียบท่าในเมืองโดยรองหัวหน้าตำรวจของเมือง เพราะเมืองนี้ยังคงมีผู้อพยพชาวแอลเบเนียหลายพันคนที่เดินทางมาถึงในเดือนมีนาคมหรือระหว่างนั้นติดค้างอยู่ และไม่มีความสามารถที่จะรองรับผู้อพยพได้มากกว่านี้แล้ว

กัปตัน Milaqi จึงเปลี่ยนเส้นทางไปที่เมืองบารีซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 55 ไมล์ แต่เรือสินค้า Vlora ที่แทบจะหมดสภาพแล้วต้องใช้เวลาเดินทางถึงเจ็ดชั่วโมง ในช่วงเวลานั้นทางการอิตาลีแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสำหรับการมาถึงของผู้อพยพจำนวนมหาศาลครั้งนี้ ทั้งนายกเทศมนตรีและหัวหน้าตำรวจต่างเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนสำนักงานนายกเทศมนตรีจะได้รับแจ้งข่าวเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วเท่านั้น มีความพยายามที่จะปิดล้อมทางเข้าท่าเรือโดยใช้เรือเล็กและเรือรบของกองทัพเรืออิตาลีเพื่อพยายามบังคับกัปตัน Milaqi ให้หันหัวเรือกลับไปยังแอลเบเนีย แต่ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ลงบนเรือหลังจากที่ผู้อพยพใช้เวลา 36 ชั่วโมงโดยไม่มีอาหารหรือน้ำท่ามกลางความร้อนอบอ้าว กัปตัน Milaqi จึงปฏิเสธที่จะหันเรือกลับ เขานำเรือสินค้า Vlora เข้าไปในท่าเรือโดยแจ้งว่า เรือสินค้า Vlora เสียหายและไม่สามารถหันเรือกลับด้วยกลไกได้ ท่าเรือเมืองบารีเป็นท่าเรือที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับการขนถ่ายถ่านหิน พอถึงท่าเรือมีผู้อพยพจำนวนมากกระโดดลงน้ำว่ายเข้าฝั่งหรือปีนเชือกขณะจอดเรือ โดยมีหลายคนหายตัวไปในตัวเมือง

นโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลอิตาลี โดย Vincenzo Scotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือการหยุดยั้งเรือผู้ลี้ภัยไม่ให้ขึ้นฝั่งอิตาลี มิฉะนั้นก็ส่งผู้อพยพออกไปทันที ด้วยเหตุนี้ผู้อพยพจากเรือ Vlora จึงไม่ได้ลงจากเรือ ด้วยคำสั่งจากรัฐบาลอิตาลีคือกักผู้อพยพไว้ที่ท่าเรือ โดยไม่ต้องช่วยอะไรเลย และส่งกลับไปยังแอลเบเนียโดยเร็วที่สุด เมื่อแผนดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็มีมาตรการอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผู้อพยพที่เจ็บป่วยบางส่วนถูกนำตัวโดยรถพยาบาลไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์หนักจำนวนหนึ่ง ผู้อพยพถูกส่งตัวไปยัง Stadio della Vittoria ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ไม่ใช้งาน ซึ่งพวกเขาจะกักตัวไว้จนกว่าจะถูกเนรเทศ เมื่อบรรดาผู้อพยพชาวแอลเบเนียเข้าใจว่าในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับ ผู้อพยพบางกลุ่มจึงพยายามบังคับพวกเขาผ่านวงล้อมของตำรวจที่อยู่รอบสนามกีฬา เนื่องจากมีหลายคนพยายามหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหยุดนำผู้อพยพมาที่สนามกีฬาและปิดประตูและขังพวกเขาไว้ข้างใน สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่สนามก็ถูกจับเป็นตัวประกัน บุคลากรที่ดูแลการจัดการการปันส่วนอาหารถูกทำร้าย จากนั้นตำรวจจึงอพยพออกจากสนาม กลายเป็นพื้นที่ไร้กฎหมายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด (บางคนมีอาวุธปืน) เจ้าหน้าที่โยนอาหารและน้ำข้ามกำแพงโดยใช้รถดับเพลิง ซึ่งหมายความว่ากลุ่มอันธพาลได้เก็บอาหารและน้ำส่วนใหญ่ไว้แล้ว

ความตึงเครียดยิ่งปะทุขึ้นเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและชาวแอลเบเนียที่พยายามฝ่าวงล้อม ตำรวจได้เปิดฉากยิงทำให้ผู้อพยพชาวแอลเบเนียบางคนได้รับการรักษาจากบาดแผลกระสุนปืน ตามที่ตำรวจระบุ หลังจากการผ่อนปรนช่วงสั้น ๆ เกมแมวจับหนูระหว่าผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่พยายามหลบหนีกับตำรวจก็เริ่มต้นอีกครั้งในวันต่อมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 ราย รวมถึงตำรวจประมาณ 20 นาย ขณะที่ผู้อพยพหลายร้อยคนสามารถหลบหนีออกมาได้ โดยบางส่วนซ่อนตัวอยู่ในศาลานิทรรศการฟิเอรา เดล เลบานเต มีผู้ลี้ภัยราว 2,000 คนถูกตำรวจล้อมอยู่ด้านนอกสนามกีฬา พวกเขาค่อย ๆ ขนย้ายผู้หลบหนีไปยังท่าเรือ แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม ในที่สุดทางการอิตาลีก็สามารถจัดการตอบสนองต่อวิกฤติผู้อพยพได้ในที่สุด พวกเขาใช้เรือเฟอร์รี่เอกชนส่งผู้อพยพกลับไปยังแอลเบเนีย ซึ่งเรือรบอิตาลีสองลำได้ช่วยสนับสนุนด้วย บรรดาผู้อพยพที่ใช้ความรุนแรงบางส่วนถูกนำตัวไปยังสนามบินและถูกส่งกลับไปยังแอลเบเนียด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศอิตาลี (ประมาณ 60 คน โดยมีตำรวจจำนวนหนึ่งควบคุม) ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 มีผู้ถูกส่งตัวกลับประเทศประมาณ 3,000 คน บางส่วนจากไปด้วยความสมัครใจเนื่องจากการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตรและสภาพที่ย่ำแย่ทำให้พวกเขาเลิกสนใจกับการที่จะใช้ชีวิตในอิตาลี เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านขัดขืนผู้อพยพส่วนใหญ่จึงถูกหลอกว่าเรือและเครื่องบินจะพาพวกเขาไปยังเมืองอื่นๆ ของอิตาลี 

(‘Sono persone’ ประติมากรรมอนุสรณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากนั้นผู้อพยพถูกส่งกลับแอลเบเนียอย่างรวดเร็วด้วยเรือเฟอร์รี่อีกสองลำ Espresso Grecia และ Malta สองวันต่อมาในวันที่ 11 ยังคงเหลือชาวแอลเบเนียประมาณ 3,000 คนอยู่ในสนามกีฬาของเมืองบารี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ปฏิเสธที่จะเชื่อเจ้าหน้าที่อิตาลี Vincenzo Parisi หัวหน้าตำรวจจึงโน้มน้าวให้กลับไปพร้อมกับเสนอเสื้อผ้าชุดใหม่และเงินคนละ 50,000 ลีร์ (ในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในแอลเบเนีย) หลังจากผ่านไปสามวันผู้อพยพที่เหลือก็ได้รับแจ้งว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในอิตาลีได้ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่พวกเขาออกจากสนามกีฬาก็ถูกนำขึ้นรถบัสและพาไปยังสนามบิน จากนั้นจึงถูกส่งขึ้นเครื่องบินบินตรงไปยังกรุงติรานา เรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า ‘การบุกรุกของผู้อพยพชาวแอลเบเนีย’ ได้ยุติลงแล้วในวันที่ 16 สิงหาคม ท่ามกลางความสนใจของสื่อที่เน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในแอลเบเนีย ทางการแอลเบเนียซึ่งได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอิตาลีให้จัดการควบคุมท่าเรือของตนให้อยู่ภายใต้กองทัพ และระงับการเดินทางของรถไฟโดยสารทั้งหมดเพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีเสนอที่จะช่วยเหลือแอลเบเนียทางการเงินเป็นเงิน 9 ล้านเหรียญสหรัฐในด้านอาหาร หากแอลเบเนียช่วยควบคุมและรับผู้อพยพที่ออกจากอิตาลีกลับ แม้ว่าการอพยพโดยไม่มีเอกสารจากแอลเบเนียจะดำเนินต่อไปหลังจากนั้น แต่ก็ลดขนาดลงและส่วนใหญ่จัดตั้งโดยแก๊งอาชญากร พวกเขาใช้เรือยนต์เร็วเพื่อข้ามช่องแคบในเวลากลางคืนและปล่อยให้ผู้โดยสารที่จ่ายเงินแล้วว่ายน้ำเข้าฝั่ง

(เรือสินค้า Vlora)

ตามบันทึกของกัปตัน Milaqi เรือสินค้า Vlora จอดอยู่ในท่าเรือของเมืองบารีเป็นเวลา 45 วัน ก่อนที่ลูกเรือและตัวเขาเองจะสามารถนำเรือกลับไปยังแอลเบเนียได้ (เป็นไปได้ว่าอาจถูกลากจูงเนื่องจากเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก) เรือสินค้า Vlora ยังคงถูกใช้งานเป็นเรือบรรทุกสินค้าต่อจนถึงเดือนธันวาคม 1994 และเลิกใช้งานในปี 1995 ถูกยกเลิกการจดทะเบียนในปี 1996 และถูกทิ้งเพื่อแยกชิ้นส่วนในวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกันที่ท่าเรือ Aliağa ของตุรกี เรือสินค้า Vlora ถือเป็นเรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากที่สุดในโลก (ซึ่งตัวเลขผู้อพยพอยู่ระหว่าง 15,000-20,000 คน) 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top