Sunday, 20 April 2025
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘CAL FIRE’ ทีมนักสู้ไฟป่าแห่งแคลิฟอร์เนีย เหล่าผู้กล้าผจญเพลิงที่อาสาทำเพื่อส่วนรวม

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของนครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 24 ราย (14/1/2568) เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนไปแล้วนับหมื่นหลัง และส่งผลทำให้ต้องออกคำสั่งอพยพผู้คนหลายแสนคนออกจากพื้นที่ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีผืนป่าขนาดใหญ่มากมายโดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเกิดไฟไหม้ป่าเป็นประจำทุกปี

โดยภารกิจในการดูแลรักษาผืนป่า การป้องกันและดับไฟป่าในมลรัฐนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘กรมป่าไม้และป้องกันอัคคีภัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Forestry and Fire Protection : CAL FIRE)’ เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Natural Resources Agency : CNRA) สหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐรวม 31 ล้านเอเคอร์ รวมถึงการบริหารจัดการป่า ทั้งป่าส่วนบุคคลและป่าสาธารณะภายในมลรัฐ

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังให้บริการฉุกเฉินด้านต่าง ๆ ใน 36 จาก 58 เทศมณฑลของมลรัฐผ่านสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่น ผู้อำนวยการ ‘CAL FIRE’ คนปัจจุบันของกรมคือ Joe Tyler ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022

นอกจากภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของ ‘CAL FIRE’ คือการต่อสู้และป้องกันไฟป่าบนพื้นที่ป่าของรัฐ 31 ล้านเอเคอร์แล้ว ‘CAL FIRE’ ยังปฏิบัติงานทั้งด้านการดับและป้องกันในพื้นที่ของมลรัฐ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงแผ่นดินไหว การกู้ภัยทางน้ำ และการรั่วไหลของวัสดุอันตราย ‘CAL FIRE’ ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการป่าสาธิตของมลรัฐ 8 แห่งในเรื่องของการปลูกและตัดไม้ สันทนาการ และการวิจัย ส่วนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดในการปฏิบัติการของ ‘CAL FIRE’ คือการป้องกันอัคคีภัย โดยเฉพาะไฟป่า การปฏิบัติการแบ่งหน่วยออกเป็น 21 หน่วยปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งตามเขตพื้นที่ของแต่ละเทศมณฑล หน่วยแต่ละหน่วยประกอบด้วยพื้นที่ของเทศมณฑลหนึ่งแห่งขึ้นไป หน่วยปฏิบัติการแบ่งตามภูมิภาคแคลิฟอร์เนียเหนือหรือภูมิภาคแคลิฟอร์เนียใต้

‘CAL FIRE’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ 12,800 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประจำ 6,100 คน เจ้าหน้าที่ไม่ประจำ (พนักงานจ้างตามฤดูกาล) 2,600 คน ผู้ต้องขัง 3,500 คน สมาชิกกองกำลังอนุรักษ์ อาสาสมัครป้องกันภัยส่วนบุคคล (VIP) 600 คน รวม 12,800 คน พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการปฏิบัติงานมากมาย ด้วยงบประมาณประจำปีที่ได้รับ 4.2 พันล้านเหรียญ (ราว 1.457 แสนล้านบาท) ‘CAL FIRE’ มีศูนย์ฝึกอบรม 2 แห่ง แห่งแรกเป็นสถาบันเดิมคือ ศูนย์ฝึกอบรม CAL FIRE ในเมืองไอโอเน ทางทิศตะวันออกของนครซาคราเมนโต (เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย) สถาบันแห่งที่สองตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม Ben Clark ในเทศมณฑลริเวอร์ไซด์ทั้งสองศูนย์เป็นที่ตั้งของสถาบันดับเพลิง (Fire Fighter Academy : FFA) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ CAL FIRE ทุกคนจะต้องผ่านสถาบันนี้ก่อนที่พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และยังมีสถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำ (Company Officer Academy : COA) ในเมืองไอโอเน เจ้าหน้าที่ประจำบรรจุ/เลื่อนตำแหน่งใหม่ทั้งหมดของ ‘CAL FIRE’ (วิศวกร หัวหน้าหน่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ) จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันแห่งนี้ ณ ปี 2017 เงินเดือนเฉลี่ยของนักดับเพลิงประจำ (ซึ่งรวมเงินเดือนพื้นฐาน เงินพิเศษ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการ) เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 148,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,134,120 บาท) เนื่องจากจัดว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์และการพัฒนาพฤตินิสัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Corrections and Rehabilitation : CDCR) ใช้ผู้ต้องขังหลายพันคนในทัณฑสถาน 44 แห่งทั่วมลรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘โครงการทัณฑสถาน/ค่ายดับเพลิง’ เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง และโครงการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ต่าง ๆ ภารกิจของโครงการนี้คือ ให้การ “สนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นอื่น ๆ” มีผู้ต้องขังทั้ง ชาย หญิง และเยาวชน มากกว่า 3,000 คนทำงานในโครงการนี้ทุกปี ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครของโครงการฯ อาสาสมัครทุกคนได้รับการฝึกอบรมระดับเริ่มต้นเช่นเดียวกับนักดับเพลิงตามฤดูกาลของ ‘CAL FIRE’ มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องขังราว 3,500 คน ทำให้มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องคุมขังคิดเป็นประมาณ 27% ของศักยภาพในการดับเพลิงทั้งหมดของมลรัฐ

หน่วยปฏิบัติการภายใต้ ‘CAL FIRE’ คือหน่วยงานที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับการดับเพลิงในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีขนาดและภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน อาทิ หน่วยปฏิบัติการ Lassen-Modoc-Plumas ครอบคลุมพื้นที่ชนบท 3 แห่ง และประกอบด้วยสถานีดับเพลิง 8 แห่ง ฐานเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ค่ายดับเพลิง 3 แห่ง และศูนย์ฝึกอบรมนักดับเพลิงผู้ต้องขัง ทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประกอบด้วยรถดับเพลิง 13 คัน เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รถปราบดิน 3 คัน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้ต้องขัง 14 คน หน่วยนี้ใช้ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมทั้งกรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกา กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานจัดการที่ดิน เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงาน รองรับความร่วมมือ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น พื้นที่นี้มีเขตอำนาจในการปฏิบัติที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ชนบทขนาดใหญ่ตามแนวเขตแดนมลรัฐเนวาดาและโอเรกอน ส่วย Riverside Operational Unit เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีสถานีดับเพลิง 95 แห่งและทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประมาณ 230 รายการ ปฏิบัติการร่วมกับ Riverside County Fire Department ตามสัญญาซึ่งรวมถึงดำเนินการดับเพลิงใน 18 เมืองและ 1 เขตบริการชุมชน สถานีเหล่านี้ 9 แห่งเป็นของมลรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หน่วยนี้ดำเนินการศูนย์บัญชาการฉุกเฉินของตนเองใน Perris พื้นที่ที่ให้บริการรวมถึงเขตเมืองและชานเมืองของ Inland Empire และชุมชนในเขต Palm Springs พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงภูเขาที่มีป่าไม้ลุ่มแม่น้ำโคโลราโดทะเลทรายโมฮาวีและทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 10 เขต Marin (MRN), Kern (KRN), Santa Barbara (SBC), Ventura (VNC), Los Angeles (LAC) และ Orange (ORC) ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘CAL FIRE’ เพื่อจัดเตรียมการป้องกันอัคคีภัยให้กับพื้นที่รับผิดชอบของมลรัฐภายในเขตเทศมณฑลเหล่านั้น แทนที่จะให้ ‘CAL FIRE’ จัดหาการป้องกันอัคคีภัยโดยตรง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เขตสัญญาเทศมณฑล (Contract counties)”

‘CAL FIRE’ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลายระบบในการจัดการการดำเนินงาน อาทิ Altaris CAD ซึ่งเป็นระบบจัดส่งด้วยความช่วยเหลือของคอมพิวเตอร์ผลิตโดย Northrop Grumman ถูกใช้โดยศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน (ECC) ของแต่ละหน่วย เพื่อติดตามทรัพยากรและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำได้โดยใช้ระบบระบุตำแหน่งยานพาหนะอัตโนมัติ (AVL) ซึ่งระบุตำแหน่งยานพาหนะ การสื่อสารข้อมูล และการจัดส่งผ่านเทอร์มินัลข้อมูลเคลื่อนที่ (MDT) และระบบสลับเครือข่ายหลายเครือข่ายในยานพาหนะมากกว่า 1,200 คันทั่วทั้งรัฐ หน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วยมีระบบแบบ stand alone ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่อยู่และแผนที่โดยละเอียด

ในการดับไฟป่าและภารกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นั้น ‘CAL FIRE’ มีอากาศยานที่ใช้ในภารกิจรวม 70 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมี 30 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 24 ลำ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการบริหารจัดการการบิน (Aviation Management Program) โดยเมื่อมีความจำเป็น ‘CAL FIRE’ จะจัดเช่าอากาศยานเพิ่มเติม เครื่องบินทั้งหมดเป็นของ ‘CAL FIRE’ เอง แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโดย DynCorp International ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นหนึ่งในโครงการปฏิบัติการทางอากาศของหน่วยงานพลเรือน (ที่ไม่ใช่ทางทหาร) ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Grumman S-2 Tracker (S-2T) ขนาดความจุ 1,200 แกลลอน จำนวน 23 ลำ เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Lockheed-Martin C-130H Hercules ขนาดความจุ 4,000 แกลลอน จำนวน 7 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ North American Rockwell OV-10 Bronco จำนวน 14 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey จำนวน 12 ลำ ปัจจุบัน ‘CAL FIRE’ ได้เริ่มปฏิบัติการบินด้วย เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-70i Firehawk รุ่นใหม่สำหรับการสนับสนุนการดับเพลิงทางอากาศ รวมถึงการทิ้งน้ำ/สารเคมีดับเพลิง และกำลังวางแผนที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 12 ลำเพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey ที่เก่ามากแล้ว

จากฐานปฏิบัติบิน 13 แห่งและฐานบินเฮลิคอปเตอร์ 10 แห่งของ ‘CAL FIRE’ ที่ตั้งอยู่ทั่วมลรัฐ เครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมีจะสามารถเข้าถึงจุดไฟไหม้ส่วนใหญ่ได้ภายในเวลา 20 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดไฟป่า มีการใช้ทั้งเครื่องบินในการบินดับเพลิง และเฮลิคอปเตอร์ในการส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (Helitack) เข้าไปในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ และโปรยน้ำและสารเคมีหน่วงไฟลงเพื่อดับไฟ เครื่องบินตรวจการณ์จะทำหน้าที่ในการสั่งการ สังเกตการณ์ และทิ้งสารเคมีหน่วงไฟลงบนพื้นที่เกิดไฟไหม้ด้วย ในอดีต ‘CAL FIRE’ เคยทำสัญญากับ 10 Tanker Air Carrier เพื่อเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ McDonnell Douglas DC-10-10 (Tanker 911) เป็นเวลา 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังมีการเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ DC-10-30 เพิ่มเติม (Tanker 911 และ Tanker 912) ในปี 2014 Tanker 910 ได้ถูกปลดระวาง และทุกวันนี้ 10 Tanker Air Carrier ยังคงใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศแบบ DC-10-30 ในการปฏิบัติการดับไฟป่าให้ ‘CAL FIRE’

สำหรับบ้านเรา การป้องกันและดับไฟป่าเป็นภารกิจของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะมี 2 หน่วยงานได้แก่ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์) และกรมป่าไม้ (ป่าชุมชนและป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ) ทั้ง 2 กรมภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ จากกระทรวงต่าง ๆ ให้การสนับสนุน อาทิ เหล่าทัพต่าง ๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าถือเป็น ‘หน้าที่’ ของชาวไทยทุกคน เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ จึงถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนด้วย

หากมีความสงสัยว่า เหตุใดไฟป่าจึงรุนแรงขึ้น คำตอบอาจทำให้เราต้องประหลาดใจ แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวทวีคูณภัยคุกคามที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่า แต่มนุษย์ก็มีส่วนเป็นอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไฟป่าเกือบ 85% ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และหลายกรณีสามารถป้องกันได้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ประวัติการดับเพลิง และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ไฟไหม้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มักเกิดภัยแล้งหรือไฟป่า เราสามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติได้โดยปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยได้อย่างง่าย ๆ

วิธีการง่าย ๆ ในการป้องกันไฟไหม้ป่า

1. ไม่จุดพลุไฟ ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งแล้ง มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาก เชื่อว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้นเดือนที่ผ่านมาเกิดจากการจุดพลุไฟ

2. กำจัดวัสดุที่ใช้ในการสูบบุหรี่อย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ ให้ราดน้ำที่ก้นบุหรี่แล้วใส่ไว้ในภาชนะกันไฟเพื่อทิ้งอย่างปลอดภัยหลังจากแน่ใจว่าได้ดับไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้น

3. ดูแลกองไฟที่จุดเองอย่างมีความรับผิดชอบ ก่อนจุดกองไฟหรือกองไฟ ให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัยและไม่มีข้อห้ามจุดไฟในพื้นที่ เมื่อจุดไฟเสร็จแล้ว ให้ดับไฟและรอจนกว่าไฟจะเย็นลงจนสัมผัสได้ก่อนออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์ อย่าปล่อยให้กองไฟติดอยู่โดยไม่มีผู้ดูแล

4. ตัดหญ้าก่อนเวลา 10.00 น. หากจำเป็นต้องตัดหญ้า ‘CAL FIRE’ แนะนำให้ทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อุณหภูมิจะถึงจุดสูงสุด แต่หากลมแรงและแห้งเกินไป ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันถัดไป ในสภาวะเช่นนี้ ใบมีดโลหะใต้เครื่องตัดหญ้าอาจจุดไฟได้ง่ายหากไปโดนหิน

5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่อไอเสียของรถของคุณอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรวจสอบท่อไอเสียของรถ เลื่อยโซ่ยนต์ เครื่องเป่าใบไม้ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่ามีตัวป้องกันประกายไฟติดตั้งอยู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ปล่อยเศษวัสดุที่ติดไฟได้ออกมา และอย่าลืมว่าท่อไอเสียรถยนต์อาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 1,000 องศาได้!

6. ขับรถอยู่บนถนนเสมอ แม้การขับรถบนเส้นทางออฟโรดเป็นเรื่องสนุก แต่หากทำในพื้นที่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่ที่มีพุ่มไม้หนาทึบ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ควรขับบนถนนกรวดและยางมะตอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขับรถออฟโรดในพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้ คือเมื่อพื้นดินเฉอะแฉะ เปียกฝน

7. คอยสังเกตเทียนอย่างใกล้ชิด เทียนไขอาจดูไม่เป็นอันตราย แต่เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้บ้าน โดยเปลวไฟสามารถลุกไหม้ได้สูงถึง 1,400 องศา! วิธีที่ดีที่สุดคือใส่เทียนไขในภาชนะที่แข็งแรงและไม่สามารถล้มได้ เช่น ขวดโหล และอย่าทิ้งเทียนไขไว้โดยไม่มีผู้ดูแล

8. สร้างและรักษาพื้นที่ป้องกันได้ หากท่านเป็นเจ้าของบ้าน ควรกำจัดต้นไม้ พุ่มไม้ และพืชพรรณต่าง ๆ  ที่ตายแล้วออกไปให้หมดภายในระยะ 100 ฟุตจากโครงสร้างทั้งหมด การทำเช่นนี้จะช่วยชะลอหรือหยุดการลุกลามของไฟป่าในชุมชนของท่าน นอกจากนี้ ยังช่วยปกป้องนักดับเพลิงในกรณีที่ต้องดับไฟรอบ ๆ บ้านของท่านอีกด้วย

9. การจัดภูมิทัศน์เพื่อป้องกันไฟป่า ด้วยปลูกพืชทนไฟ เช่น ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศส เซจ และฟูเชียแคลิฟอร์เนีย ว่านหางจระเข้ ร็อคโรส และไอซ์แพลนเน็ต ฯลฯ ไว้ในการจัดสวน และอาจพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการสร้างเขตกัน/ทนไฟ เช่น กำแพงหิน ลานบ้าน ดาดฟ้า ฯลฯ

10. การฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่า และสุดท้าย  การสนับสนุนในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟไหม้ในอดีตถือเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสหรือความรุนแรงของไฟไหม้ในอนาคต อาทิ โครงการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถป้องกัน/ต้านทานไฟป่าได้

‘Freeze/Stop and don't move’ คำสั่งเรียบง่ายแต่เด็ดขาด ของตำรวจสหรัฐฯ

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เดินทางไปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้พบเห็นนักท่องเที่ยวชายชาวญี่ปุ่นกำลังจะปล่อยโคมซึ่งอาจลอยไปตกใส่บ้านเรือนอาคารร้านค้าทำให้เกิดเพลิงไหม้สร้างความเดือดร้อนได้ จึงได้เข้าไปพูดคุยห้ามปราม แต่นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวไม่ยอมฟังและโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งมีการดึงคอเสื้อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลายเป็นคลิปเผยแพร่ไปทั่ว (https://www.facebook.com/reel/1000054821913998) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายดังกล่าวไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใดจึงไม่ได้ดำเนินคดี เพราะไม่ต้องการให้เป็นภาพจำที่ไม่ประทับใจของนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในเทศกาลปีใหม่ 

สมมติว่า กรณีนี้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวไทยไปกระทำการเช่นนี้ในประเทศญี่ปุ่นแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตำรวจญี่ปุ่นจะยอมรับคำขอโทษ เลิกแล้วต่อกันและไม่ดำเนินคดีกับนักท่องเที่ยวชาวไทยรายนั้นหรือไม่? เช่นเดียวกับหากกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่แล้วนักท่องเที่ยวรายนี้เป็นชาวไทยแล้วจะได้รับการเว้นโทษ ไม่ได้ติดใจเอาความและไม่ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (มาตรา 136 - 146) มาตราใดมาตราหนึ่งหรือไม่? เหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘Freeze/Stop and don't move’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘หยุด...อย่าขยับ’ ปรากฏทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริงโดยเป็นคำสั่งของตำรวจอเมริกันให้ผู้ต้องสงสัยต้องหยุดอยู่นิ่งระหว่างการตรวจค้นหรือจับกุม 

คำว่า ‘Freeze’ นอกจากจะเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ผู้ต้องสงสัยหยุดนิ่งแล้ว อีกความหมายหนึ่งที่ใช้ในแวดวงของกฎหมายคือ การยึดอายัดทรัพย์สินต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย ทุกประเทศบนโลกใบนี้ถือว่า การขัดขืนการจับกุมหรือแม้แต่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นคำว่า ‘Freeze/Stop and don't move’ หรือ ‘หยุด...อย่าขยับ’ จึงเป็นคำสั่งที่ชัดเจน เรียบง่าย และเข้าใจได้ง่าย บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ มีการใช้อาวุธปืนกับผู้ต้องสงสัยเมื่อสั่งให้ผู้ต้องสงสัยหยุดแล้วไม่ปฏิบัติตาม แม้ว่าผู้ต้องสงสัยรายนั้นจะไม่มีอาวุธปืนก็ตาม  เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงผู้ต้องสงสัยรายนั้นจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ยิงจะไม่มีความผิดแต่อย่างใด โดยถือเป็นการป้องกันตัวที่สมควรแก่เหตุ 

ดังนั้นคำว่า "ตำรวจ! หยุด อย่าขยับ!" (Police! ‘Freeze/Stop and don't move’) จึงเป็นคำสั่งที่ประชาชนพลเมืองอเมริกันต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้บางคนจะปฏิบัติตาม หรือบางคนไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันได้รับอนุญาตและได้รับการฝึกอบรมให้ใช้กำลังทุกรูปแบบที่จำเป็นเพื่อบังคับให้ผู้ต้องสงสัยทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองหรือประชาชนพลเมืองคนอื่น ๆ รวมถึงการใช้กำลังถึงชีวิต (ซึ่งคนอเมริกันบางส่วนไม่ได้ตระหนักถึง) 

ดังนั้น วิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดของสุจริตชนอเมริกันคือ การปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเคร่งครัดในทันที โดยปิดปากเงียบ ไม่โต้เถียง หรือขัดขืน และเชื่อฟังทันที หากให้ความร่วมมือ และถามคำถามหลังจากที่เจ้าหน้าที่พูดจบแล้ว ต้องยึดหลักที่ว่า "ปฏิบัติตามตอนนี้ เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง"  ปิดปากและเชื่อฟังทันที หากคุณให้ความร่วมมือ อย่าขัดขืน และถามคำถามหลังจากที่เจ้าหน้าที่พูดจบแล้วแม้จะมีช่องว่างมากมายที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพูดคุยเจรจาได้ “จงอย่าได้ชนะคดีในศาล แต่เป็นเพียงคนที่ตายไปแล้ว”

อันที่จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรานั้นมีปัญหาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กรมราชทัณฑ์สามารถลดโทษระยะเวลาการจำคุกนักโทษเด็ดขาดที่ศาลตัดสินแล้วลงได้อย่างมากมาย หรือกรณีอาชญากรต่างชาติที่หลบหนีมาบ้านเราแล้วทางการประเทศนั้น ๆ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมตัว ซึ่งเมื่อจับกุมตัวได้แล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติมักจะใช้วิธีการยกเลิกวีซ่าแล้วผลักดัน/เนรเทศบุคคลผู้นั้นออกไปนอกราชอาณาจักรภายใต้การควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ร้องขอทันที ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลไทยว่าเข้าเงื่อนไขการส่งผู้ร้ามข้ามแดนตามข้อตกลงกับประเทศนั้น ๆ หรือไม่ ในขณะที่อาชญากรที่กระทำความผิดในไทยแล้วหลบหนีไปยังต่างประเทศแล้ว มักไม่ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติเช่นการปฏิบัติของฝ่ายไทยเลย

ดังเช่นกรณีของนายราเกซ สักเสนา ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ เป็นเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2539 แล้วหลบหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศแคนาดา แม้ว่าทางการไทยจะออกหมายจับตั้งแต่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และนายราเกรซถูกจับกุมโดยกองตำรวจม้าหลวงแห่งแคนาดา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 แต่กว่าที่นายราเกรซจะถูกศาลแคนาดาตัดสินให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต้องใช้เวลาถึง 12 ปี จึงได้ตัวนายราเกรซมาดำเนินคดี กรณีเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนำมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสม ยุติธรรม และเท่าเทียม ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเร็ว

รู้จัก ‘Legats’ สำนักงานภาคสนามของ FBI นอกสหรัฐฯ หน่วยงานด้านกฎหมายที่ทรงอำนาจกระจายอยู่ทั่วโลก

เราท่านต่างพอรู้และเข้าใจว่า FBI (Federal Bureau of Investigation) หรือ สำนักงานสอบสวนกลาง เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายใต้กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีภารกิจคือ การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านข่าวกรอง และอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศ มีขอบเขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า 200 หมวดหมู่ รายงานต่อทั้งอัยการสูงสุดสหรัฐฯ (United States Attorney General) ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence : DNI) หากจะเปรียบเทียบกับบ้านเราให้เข้าใจอย่างง่ายคือ งานของ FBI จะคล้ายกับงานที่ของ 3 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยรวมกันได้แก่ กองบัญชาการสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม 

แม้ว่าบทบาทหน้าที่หลายอย่างของ FBI จะมีลักษณะเฉพาะ แต่ภารกิจด้านความมั่นคงของชาตินั้นเทียบได้กับ MI5 และ NCA ของอังกฤษ GCSB ของนิวซีแลนด์ และ FSB ของรัสเซีย ซึ่งแตกต่างจากหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) ซึ่งไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและมุ่งเน้นการรวบรวมข่าวกรองในต่างประเทศ ด้วย FBI เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติการในประเทศเป็นหลัก โดยมีสำนักงานภาคสนาม 56 แห่งในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานขนาดเล็กประจำอีกมากกว่า 400 แห่งในเมืองเล็ก ๆ และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสำนักงานภาคสนามของ FBI เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FBI ของสำนักงานภาคสนามจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (DNI) ในเวลาเดียวกัน

แม้ว่า ขอบเขตอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ FBI จะจำกัดอยู่เฉพาะในดินแดนสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เองก็เป็นหนึ่งประเทศในโลกที่มีอาชญากรรมร้ายแรงมากที่สุด มีเครือข่ายของบรรดากลุ่มผิดกฎหมายทั้งในและนอกประเทศ FBI จึงต้องมีสำนักงานภาคสนามในการดำเนินงานระดับนานาชาติที่สำคัญ โดยเป็นสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย (Legal Attaché Office : Legats) อยู่ 63 แห่งและสำนักงานย่อยอีก 27 แห่งประจำอยู่ในสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ทั่วโลก และมีเจ้าหน้าที่พิเศษและเจ้าหน้าที่สนับสนุนประมาณ 250 นายประจำการอยู่สำนักงานต่างประเทศเหล่านั้น Legats ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักในการประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยด้านความมั่นคงของประเทศที่ประจำ และโดยปกติจะไม่ดำเนินการฝ่ายเดียวในประเทศนั้น ๆ แต่บางครั้ง FBI ก็ปฏิบัติการในภารกิจลับในต่างประเทศ Legats (Legal Attaché ) คือเจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ที่ได้รับมอบหมายให้ประจำสถานทูตหรือสถานกงสุลสหรัฐฯ ในต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก ระหว่าง FBI กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานความมั่นคงของต่างประเทศหน้าที่ของพวกเขาคืออำนวยความสะดวกในการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนคดีอาญา การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ และภัยคุกคามข้ามชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกับ CIA ที่ภารกิจในประเทศก็ถูกจำกัด ซึ่งภารกิจเหล่านี้โดยทั่วไปต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐของประเทศนั้น ๆ ด้วย

สำนักงาน Legats เกิดขึ้นในปี 1940 ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในชื่อว่า ‘หน่วยข่าวกรองพิเศษ’ ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 ในเวลานั้น ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในความพยายามเพื่อรวบรวมข่าวกรองตามภัยคุกคามที่เกิดจากฝ่ายอักษะ ดังนั้น FBI จึงตอบสนองต่อคำสั่งนั้น และเริ่มส่งเจ้าหน้าที่พิเศษไปประจำการทั่วละตินอเมริกาและอเมริกากลาง และพัฒนาหรือก่อตั้งหน่วยข่าวกรองพิเศษ หน้าที่แรกของหน่วยนี้คือ ในปี 1941 ที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมายของ FBI ในเวลานั้น FBI แบ่งปันข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับภัยคุกคามจากนาซี เยอรมัน ซึ่งสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นปฏิบัติการระหว่างประเทศของ FBI ในปัจจุบันจึงแตกต่างไปจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก แต่ภารกิจนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนทุกวันนี้

ดังที่ Robert Swan Mueller III อดีตผู้อำนวยการ FBI ได้กล่าวไว้ว่า “การก่ออาชญากรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย การค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ สินค้าผิดกฎหมาย และผู้คน หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก และนั่นหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่ของเราจะต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศโดยตรงในคดีที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงแต่เพื่อแก้ไขอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพื่อป้องกันอาชญากรรมและการก่อการร้ายด้วยการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์” ในอดีต การบังคับใช้กฎหมายเน้นไปที่อาชญากรรมที่ได้รับผลกระทบหรือเกิดขึ้นภายในดินแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถใช้ต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากโลกาภิวัฒน์ที่ผนวกรวมกับความก้าวหน้าอย่างเหลือเชื่อในด้านเทคโนโลยี การเดินทาง การค้า และที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารได้ทำลายกำแพงเหล่านั้นและพรมแดนลง ส่งผลให้ภัยคุกคามกลายเป็นเรื่องทั่วโลกมากขึ้น และความจำเป็นในการร่วมมือกัน การแบ่งปันข้อมูล และการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานและประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกเหล่านี้ได้ดีขึ้น เหล่านี้จึงทำให้เกิดสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย (Legal Attaché Office : Legats) 63 แห่ง และสำนักงานย่อย 27 แห่งในสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐทั่วโลก

ภารกิจของสำนักงาน Legats ประกอบด้วย :

- การประสานงานการสืบสวน: ช่วยเหลือในการปฏิบัติการร่วม แบ่งปันข่าวกรอง และประสานงานกับพันธมิตรต่างประเทศในคดีที่ FBI รับผิดชอบแต่มีขอบเขตเกินกว่าขอบเขตของสหรัฐฯ

- การส่งผู้ร้ายข้ามแดนและกระบวนการทางกฎหมาย: อำนวยความสะดวกในการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน การรวบรวมหลักฐานจากเขตอำนาจศาลต่างประเทศ และการทำให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ทางกฎหมายของสหรัฐฯ ได้รับการเป็นตัวแทนในต่างประเทศ

- การแบ่งปันข้อมูล: การแลกเปลี่ยนข่าวกรองและข้อมูลอาชญากรรมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย อาชญากรรมที่เป็นองค์กร การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์

- การตอบสนองต่อเหตุวิกฤต: การช่วยเหลือพลเมืองสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรงในต่างประเทศ และมีส่วนสนับสนุนการจัดการวิกฤตระหว่างประเทศ

- การประสานงานคำร้องขอความช่วยเหลือระหว่าง FBI กับประเทศที่สำนักงาน Legats รับผิดชอบ

- ดำเนินการสอบสวนร่วมกับรัฐบาลประเทศที่สำนักงาน Legats รับผิดชอบ

- การแบ่งปันข้อมูลและแนวทางการสืบสวน

- ประสานงานหลักสูตรการฝึกอบรม FBI ให้กับตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไปจนถึงเทคนิคทางนิติวิทยาศาสตร์ การค้ามนุษย์ และสิทธิมนุษยชน

- บรรยายสรุปแก่หน่วยงานอื่น ๆ ของสถานทูต รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและเอกอัครรัฐทูต

- การจัดการการขออนุมัติปฏิบัติในประเทศที่รับผิดชอบ

- การรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับพิธีการทางวัฒนธรรม

- การประเมินสภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคง

- การประสานงานช่วยเหลือเหยื่อและด้านมนุษยธรรม

สำนักงาน Legats ในต่างประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปฏิบัติการระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ FBI ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สำนักงานนี้มีการติดต่อประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางอื่น ๆ ตำรวจสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่างประเทศที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และชุมชนบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับบ้านเราแล้ว FBI มีสำนักงาน egats ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี 1990 (พ.ศ. 2533) แต่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้ามาปฏิบัติการในบ้านเราก่อนหน้านั้นก็คือ สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (the Drug Enforcement Administration : DEA) อันเนื่องมาจากยาเสพติดประเภทเฮโรอีนและกัญชาได้แพร่ระบาดเข้าในสหรัฐฯ อย่างมากมายตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม โดย DEA สนับสนุนการปราบปรามยาเสพติดให้กับหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบ อาทิ เงินทุนสนับสนุน การฝึกอบรม อุปกรณ์เทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็น แม้กระทั่งเงินที่ใช้สำหรับใช้ในการล่อซื้อยาเสพติด ฯลฯ โดย DEA มีสำนักงานย่อยในจังหวัดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนและมีการค้ายาเสพติดในปริมาณมาก เช่น เชียงใหม่ ปัจจุบันสำนักงานของ DEA ในไทยยังเป็นสำนักงานภูมิภาคของ DEA ประจำทวีปเอเชียด้วย 

FBI โดยสำนักงาน Legats ประจำประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ก่อการร้าย ผู้ค้ามนุษย์ ผู้กระทำความผิดทางไซเบอร์ที่ประสงค์ร้าย และอาชญากรและศัตรูอื่น ๆ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและชุมชนทั่วโลกเพื่อก่ออันตรายได้ง่ายดายขนาดนี้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาชญากร MS-13 และ 18th Street ไม่ได้ปฏิบัติการเพียงแต่ในเมืองหรือภูมิภาคเดียวอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นกลุ่มที่ปรากฏตัวอยู่ทั่วโลก ยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น เฟนทานิล (Fentanyl) ไม่จำเป็นต้องหาซื้อด้วยตนเองอีกต่อไป เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายบนเว็บมืด ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ เช่นนั้น อาทิ การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเด็ก จึงกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลก และต้องมีการตอบสนองหรือแนวทางในระดับโลก นอกจากการปราบปรามอาชญากรรมแล้ว FBI และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดย FBI มีหน่วยปฏิบัติการที่จะสนับสนุนภารกิจในการต่อต้านการก่อการร้าย อาทิ หน่วยกู้ระเบิด (Bomb Technician) หน่วยตอบสนองต่อวัตถุพยานอันตราย (Hazardous Evidence Response Team) หน่วยตอบสนองต่อวิกฤต (Crisis Response Team) หน่วยเจรจาต่อรอง (Negotiation Team) หรือแม้แต่หน่วยสืบค้นใต้น้ำ (Underwater Search Team) จากทุกสิ่งตั้งแต่ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติที่ก่อขึ้นเป็นองค์กร ความพยายามของ FBI ยังคงก้าวต่อไปข้างหน้าในปัจจุบันและดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างไม่ลดละและหยุดยั้ง

ย้อนประวัติศาสตร์ปฏิบัติการวันคริสต์มาส ภารกิจมนุษยธรรมเพื่อชาวเกาะห่างไกลในแปซิฟิก

ช่วงนี้ยังอยู่ในเทศกาลแห่งความสุข จึงขอนำเรื่องราวดีดี อ่านแล้วมีความสุขมาบอกเล่าให้กับท่านผู้อ่าน TST เป็นความจริงแท้ที่แน่นอนว่า เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ แม้ว่า ด้านหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯมักจะมีส่วนร่วมแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับชาติต่าง ๆ ไปทั่วโลกมากมายหลายครั้งหลายหน แต่อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงกลาโหมและกองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติอยู่เป็นนิจเสมอมาคือ ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Operations) อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่เกี่ยวกับมวลชน และ Operation Christmas Drop ก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมของกองทัพสหรัฐฯ

Operation Christmas Drop กลายเป็นปฏิบัติการที่เป็นประเพณีได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1952 และนับตั้งแต่นั้นได้กลายเป็นภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดด้วยการปฏิบัติการเต็มรูปแบบ และเป็นปฏิบัติการบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยชุมชนท้องถิ่นในกวม ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบุคลากรในฐานทัพอากาศ Andersen กวม และฐานทัพอากาศ Yokota ประเทศญี่ปุ่น และมีหมู่เกาะ Micronesia เป็นเป้าหมาย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DOD) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงปี ค.ศ. 1948-49 กองทัพสหรัฐฯ ก็ได้เปิดปฏิบัติการ Berlin Airlift เพื่อขนส่งอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศไปยังชาวเบอร์ลินตะวันตก หลังจากที่สหภาพโซเวียตปิดกั้นการจราจรทางรถไฟและทางถนนไปยังเบอร์ลินตะวันตก ()

ปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1951 เมื่อลูกเรือของเครื่องบินลาดตระเวนแบบ WB-29 สังกัดฝูงบินลาดตระเวนตรวจอากาศที่ 54 ซึ่งประจำอยู่ ณ ฐานทัพอากาศ Andersen ในกวม กำลังบินปฏิบัติภารกิจไปทางทิศใต้ของเกาะกวมเหนือ บริเวณเกาะปะการังใกล้เกาะ Kapingamarangi ของ Micronesia เมื่อพวกเขาเห็นชาวเกาะกำลังโบกมือให้ พวกลูกเรือจึงรีบรวบรวมสิ่งของที่มีอยู่บนเครื่องบินใส่หีบห่อที่ติดร่มชูชีพ และทิ้งสิ่งของลงไปในขณะที่พวกเขาทำการบินวนอีกรอบ ชาวบนเกาะ Agrigan เล่าว่า “พวกเราเห็นสิ่งเหล่านี้ออกมาจากด้านท้ายของเครื่องบิน และผมก็ตะโกนว่า ‘มีสิ่งของถูกทิ้งลงมา’ “ในตอนนั้น หมู่เกาะเหล่านั้นยังไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา และเกาะต่าง ๆ ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มเป็นระยะ ๆ หีบห่อชุดแรกบางส่วนไม่สามารถลงมาถึงที่หมายตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งชาวเกาะจึงว่ายน้ำออกไปเพื่อเก็บสิ่งของบางส่วน ในขณะที่บางส่วนถูกน้ำพัดห่างออกไปหลายไมล์และถูกค้นพบในหลายเดือนต่อมา

Operation Christmas Drop เป็นภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องที่สุด ซึ่งยังคงปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ และเป็นการบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมที่ยาวนานที่สุดในโลก ในปี 2006 มีการส่งของมากกว่า 800,000ปอนด์ (360,000 กก.) โดยปฏิบัติการดังกล่าวเปิดโอกาสให้กองทัพสหรัฐฯได้ฝึกฝนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องด้วยคาดว่า กองทัพสหรัฐฯจะลดปฏิบัติการในอิรักหรือพื้นที่อื่น ๆ ลง ภายหลังการถอนกำลังทหารออกมา โดยอาสาสมัครในฐานทัพอากาศ Andersen รวมถึงฝูงบินเคลื่อนย้ายทางอากาศที่ 734 รวมทั้งลูกเรือและเครื่องบินจากฝูงบิน 36 ฐานทัพอากาศ Yokota ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าร่วมในปฏิบัติการด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมีสมาชิกของชุมชนต่าง ๆ ในกวมได้ช่วยดำเนินการอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกิจกรรมระดมทุนต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกอล์ฟ และการแข่งขันวิ่งการกุศล รวมถึงธุรกิจในท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนสำหรับของขวัญในแต่ละกล่องด้วย ปฏิบัติการในปี 2006 มีการส่งของไป 140 กล่องใน 59 เกาะ และปฏิบัติการในปี 2011 ยังเพิ่มการส่งสารเหลวสำหรับหลอดเลือดจำนวน 25 กล่องไปยังเกาะ Fais เพื่อช่วยในการต่อสู้กับการระบาดของโรคไข้เลือดออกในท้องถิ่น กล่องสิ่งของถูกทิ้งลงในทะเลบริเวณใกล้ชายหาด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งของเหล่านั้นตกใส่ผู้คนในพื้นที่

ในปี 2014 กองกำลังทางอากาศสหรัฐฯประจำภาคพื้นแปซิฟิกได้ส่งมอบเสบียง 50,000 ปอนด์ไปยัง 56 เกาะในหมู่เกาะ Micronesia ในปี 2015 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น (JASF) และกองทัพอากาศออสเตรเลีย (RAAF) ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งต่างได้ส่งเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 Hercules ชาติละ 1 ลำ เพื่อเข้าร่วมฝูงกับเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 อีก 3 เครื่องของสหรัฐอเมริกา JASDF และ RAAF ยังได้เข้าร่วมในปฏิบัติการในปี 2016 และ 2017 และธันวาคม 2017 ถือเป็นเหตุการณ์การฝึกปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมครั้งแรกสำหรับเครื่องบินแบบ C-130J จากฐานทัพอากาศ Yokota รวมถึงการแข่งขัน Quad-lateral ครั้งแรกกับ JASDF, RAAF และกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ในปี 2021 กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลีได้เข้าร่วมในปฏิบัติการนี้เป็นครั้งแรก และในปี 2023 กองทัพอากาศแคนาดาเข้าร่วมเป็นครั้งแรกเช่นกัน ปัจจุบันประเพณีคริสต์มาสที่ไม่เหมือนใครนี้ ยังคงดำเนินต่อไปด้วยการบริจาคจากผู้อยู่อาศัยและบริษัทธุรกิจของกวม โดยกล่องแต่ละใบที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 จะมีน้ำหนักราว 400 ปอนด์ (180 กก.) และมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น อวนจับปลา วัสดุก่อสร้าง นมผง อาหารกระป๋อง ข้าว ตู้เย็น เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

ในปี 2020 NETFLIX ได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในชื่อเดียวกันคือ Operation Christmas Drop ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Erica Miller (Kat Graham) ผู้ช่วย สส. Bradford จาก Washington D.C. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มาสืบสวนตรวจสอบฐานทัพอากาศสหรัฐฯแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะหาเหตุผลเพื่อสั่งปิดฐานทัพฯนี้ (โดยเจ้านายของเธอ สส. Bradford วิจารณ์ว่า “เป็นการใช้อุปกรณ์ทางทหารของรัฐบาลเพื่อส่งของขวัญวันคริสต์มาส” แต่ภารกิจนี้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานเช่นกัน เป็นโอกาสในโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับนักบินในการฝึกซ้อมทักษะการบิน ซึ่งต้องใช้ในการสนับสนุนในการปฏิบัติการภาคพื้นดิน) มีเรืออากาศเอก Andrew Jantz (Alexander Ludwig) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการฝูงบินลำเลียง ซึ่งได้รับคำสั่งให้นำ Erica ชมฐานทัพฯ และโน้มน้าวเธอให้เปิดใจให้กว้าง ฐานทัพฯ นี้มีประเพณีประจำปีคือ การส่งของขวัญคริสตมาสให้กับชาวเกาะต่าง ๆ ในช่วงคริสต์มาส Andrew ได้พา Erica ชมรอบ ๆ ฐานทัพฯ และเกาะต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ปฏิบัติการอันเป็นประเพณีเช่นนี้มีความคุ้มค่า พร้อมทั้งอธิบายว่า พวกเขารวบรวมอาหารและเงินบริจาคจากคนในท้องถิ่นได้อย่างไร ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าทรัพยากรของฐานทัพ ซึ่งก็คือเงินภาษีของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ถูกนำมาใช้ที่นี่ และเมื่อ Erica ได้รับประสบการณ์ในการเข้าร่วมปฏิบัติการดังกล่าว และได้สร้างแรงบันดาลใจจนทำให้เธอมีจิตวิญญาณแห่งคริสต์มาส เธอจึงยอมรับว่า ปฏิบัติการนี้เป็นประเพณีนี้คุ้มค่า และไม่สมควรต้องปิดฐานทัพอากาศแห่งนี้

รู้จัก ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (D.O.G.E.)’ หน่วยงานระดับกระทรวงล่าสุดภายใต้รัฐบาล Trump ชุดใหม่

ประธานาธิบดี Donald Trump มีกำหนดจะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2025 โดยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา Trump ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021 มีกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งหลังจากที่เขาเอาชนะ Kamala Harris รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 โดยชนะทั้งคะแนนนิยม (Popular vote) และคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งไม่ติดต่อกันต่อจากอดีตประธานาธิบดี Grover Cleveland ในปี 1893 และเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด (78 ปี) ทั้งยังเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งหลังจากถูกฟ้องร้องเพื่อถอดถอนและเป็นคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

ความแปลกและแตกต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่น ๆ ที่ผ่านมาของประธานาธิบดี Donald Trump ด้วยพื้นฐานภูมิหลังจากการเป็นนักธุรกิจและทำงานด้านสื่อมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน กอปรกับประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วหนึ่งสมัย ทำให้เกิดคำมั่นสัญญาในการหาเสียงของประธานาธิบดี Trump ที่จะลดการใช้จ่าย ลดขนาด และการขาดดุลการคลังของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยแนวคิดในการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (Department of Government Efficiency : D.O.G.E.)’ เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยหารือระหว่าง Elon Musk ผู้บริหาร TESLA และประธานาธิบดี Trump โดย Musk ได้เสนอแนวคิดในการตั้งสำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐในเดือนสิงหาคม 2024 ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวในการหาเสียงว่า หากเขาได้รับการเลือกตั้ง เขาจะให้ Musk รับตำแหน่งที่ปรึกษาเสริมสร้างประสิทธิภาพในรัฐบาล และเพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ Musk ได้เขียนโพสต์บน X ระบุว่า "ผมเต็มใจที่จะให้บริการ" พร้อมกับภาพของเขาที่สร้างโดย AI ซึ่งยืนอยู่หน้าแท่นปราศรัยที่มีข้อความว่า "สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ" ต่อมาประธานาธิบดี Trump ได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวและให้ Musk และ Vivek Ramaswamy (ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Roivant Sciences CEO ของ OnCore Biopharma และ Arbutus Biopharma) เป็นผู้รับผิดชอบ

Musk ระบุว่า D.O.G.E. จะสามารถช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดความสูญเปล่า การยกเลิกหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และการจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง Ramaswamy ยังระบุด้วยว่า D.O.G.E. อาจจะยุบหน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมด และลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางลงได้มากถึง 75% และ Musk ยังเสนอให้รวมหน่วยงานของรัฐบาลกลางจากมากกว่า 400 หน่วยให้เหลือต่ำกว่า 100 หน่วย ซึ่ง Musk ได้อธิบายว่าการยกเลิกและปรับปรุงกฎระเบียบเป็นเส้นทางเดียวที่จะไปสู่โครงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารของ SpaceX และให้สัญญาว่าเขาจะ "ทำให้รัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระและเงินของประชาชนอีกต่อไป" 

สำนักงานนี้จะมีลักษณะเป็นคณะทำงานซึ่งคล้ายกับความพยายามก่อนหน้านี้ อาทิ คณะกรรมาธิการ Keep ในสมัยอดีตประธานาธิบดี Theodore Roosevelt หรือคณะกรรมาธิการ Grace ในสมัยอดีตประธานาธิบดี Ronald Reagan และคณะกรรมาธิการ National Partnership for Reinventing Government ของอดีตรองประธานาธิบดี Al Gore และ 14 พฤศจิกายน 2024 Musk ได้เชิญชวนให้บุคคลที่สนใจเข้าทำงานให้กับ D.O.G.E. โดยสามารถส่ง CV ไปยังบัญชี X ของ D.O.G.E. บนโซเชียลมีเดีย และแม้จะเรียกว่า ‘กระทรวง (Department)’ แต่ก็ไม่ใช่หน่วยงานบริหารระดับรัฐบาลกลางซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อนจึงจะจัดตั้งหน่วยงานนี้ได้ แต่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาที่ปฏิบัติงานนอกรัฐบาลแทน โดยหน่วยงานนี้อาจดำเนินงานภายใต้รัฐบัญญัติคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับรัฐบาลกลาง (The Federal Advisory Committee Act)

แม้ว่า D.O.G.E ไม่น่าจะมีอำนาจในการควบคุมใด ๆ ด้วยตัวเอง แต่แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าหน่วยงานแห่งนี้สามารถมีอิทธิพลต่อฝ่ายบริหารชุดใหม่และมีกระบวนการกำหนดงบประมาณได้ ประธานาธิบดี Trump กล่าวว่าหน่วยงานดังกล่าวจะช่วย “ปรับปรุงแก้ไข ยุบเลิกระบบรัฐการ ลดกฎระเบียบที่มากเกินไป ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย และปรับโครงสร้างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง” นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่ามัสก์และรามาสวามีจะทำงานร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการและงบประมาณเพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "การฟุ่มเฟือยและการฉ้อโกงครั้งใหญ่" ในการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2024 Musk ได้เสนอให้ยุบสำนักงานคุ้มครองทางการเงินผู้บริโภค (The Consumer Financial Protection Bureau) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ 1,600 นาย ใช้งบประมาณปีละราว 600ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวคิดของ Musk และ Ramaswamy เป้าหมายสูงสุดของ D.O.G.E. คือการมีประสิทธิภาพมากพอที่จะขจัดความจำเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด และมีการกำหนดวันสิ้นสุดการทำงานของ D.O.G.E ไว้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ Ramaswamy ที่ว่าโครงการของรัฐบาลส่วนใหญ่ควรจะต้องมีวันสิ้นสุดโครงการที่ชัดเจน สอดคล้องกับประธานาธิบดี Trump ที่กล่าวว่างานของ D.O.G.E. จะ "เสร็จสิ้น" ไม่เกินวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 250 ปีการลงนามในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาตรงกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 250 ปีของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี Trump เรียกผลลัพธ์ที่เสนอโดย D.O.G.E. ว่าเป็น "ของขวัญที่สมบูรณ์แบบสำหรับอเมริกา" จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในอันที่จะเห็นว่า D.O.G.E. จะทำให้ภารกิจของกระทรวงต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

สำหรับบ้านเราแล้ว มีหน่วยงานในลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 22 ปีก่อน จากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานและการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการในทุกกระทรวง ทบวง กรม ครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ ริเริ่ม ผลักดัน และเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาระบบราชการ ผ่านกลไกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ผลงาน 22 ปีของสำนักงาน ก.พ.ร.ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยราชการตามที่เราท่านได้ใช้บริการและประสบพบเจอในปัจจุบันทุกวันนี้

ส่องแนวคิดขึ้น VAT ‘คิดถูก’ หรือ ‘คิดผิด’ เก็บภาษีได้เพิ่ม แต่ต้องแลกกับผลกระทบคนรายได้น้อย

จากการที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% โดยอ้างว่า “แค่บอกว่าแนวโน้มโลกเขาทำกันอย่างไร แค่ขอไปศึกษาเท่านั้นเอง พร้อมย้ำอีกว่า เป็นแค่การศึกษา” พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า อันที่จริงแล้วกฎหมายกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของไทยนั้นอยู่ที่ 10% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงที่ 7% โดยนับแต่ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในปี พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะเวลาสั้น ๆ เป็น 10% ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2540 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 7% อีกครั้งมีอายุการใช้งาน 2 ปี และคณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลกลาง การต่ออายุการผ่อนผันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน 27 ปี จึงทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต่างพากันเข้าใจว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% เรื่อยมา

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีการกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษีนอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการยังสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากรอีกด้วย กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกือบทั้งสิ้น โดยเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดและเรียกเก็บจริงที่ 25% สำหรับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปแม้จะมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่าง 15-25% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงแล้วไม่มีประเทศไหนเก็บถึง 15% เลย เช่นเดียวกับประเทศในทวีปอื่น ๆ ซึ่งมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่าง 5-24.5% แต่มีการผ่อนผันโดยเรียกเก็บจริงแล้วไม่มีประเทศไหนเก็บถึง 15% เช่นเดียวกับการปฏิบัติในทวีปยุโรป โดยประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ที่ 15% คือ  นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ มอลตา (ภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% สำหรับบางบริการ เช่น การท่องเที่ยว) และ เซเชลส์ สำหรับประเทศในทวีปอเมริกาเหนือเฉพาะแคนาดาที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกันไปตามมณฑลต่าง ๆ ที่ 5%(Alberta, British Columbia, Manitoba, Northwest Territories, Nunavut, Quebec, Saskatchewan และ Yukon) 13%(Ontario) และ 15%(New Brunswick, Newfoundland and Labrador, Nova Scotia และ Prince Edward Island) ในสหรัฐอเมริกาทั้ง 50 มลรัฐก็มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกว่าภาษีขาย (Sales Tax) โดยประกอบด้วยภาษีในส่วนของรัฐบาลมลรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เมืองหรือเทศมณฑล (City หรือ County)) แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 0%(Alaska, Delaware, Montana, New Hampshire และ Oregon) จนกระทั่ง 10.350%(Seattle, Washington) และเม็กซิโกมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 16%

ในส่วนของประเทศไทยที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ในปี พ.ศ. 2566 สามารถเก็บได้ 913,550.89ล้านบาท เป็นภาษีที่จัดเก็บได้สูงสุด หากเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 15% เมื่อคิดคำนวณแบบง่าย ๆ แล้วรัฐจะสามารถเก็บภาษีส่วนนี้ได้ร่วม 2ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่อันที่จริงแล้วการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นผลกระทบในทางลบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบในทางบวก ทั้งนี้ ด้วยเพราะ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีถดถอย การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อยในสัดส่วนที่มากกว่าผู้มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้บรรดามนุษย์เงินเดือนและผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนคนไทยที่เป็นรากหญ้ามีเงินเดือนน้อยจะเข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ได้ยากขึ้น และได้รับผลกระทบมากสุด เพราะอาจจะไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่มีความจำเป็นบางอย่างที่เดิมสามารถเข้าถึงได้ เมื่อรายได้คงเดิมโดยไม่ได้ปรับตามฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น เงิน 100 บาทในกระเป๋าหักภาษี 7% จะเหลือเงิน 93 บาท แต่ถ้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% แล้วจะเหลือเงินเพียง 85 บาทเท่านั้น ซึ่งหมายถึงว่าเงินที่มีอยู่ลดลงแต่รายจ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น และย่อมต้องส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทำให้การบริโภคภายในประเทศลดลง จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง จนธุรกิจบางส่วนอาจจะต้องปิดตัวลงหรือลดขนาดกิจการ และเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น และเรื่องสำคัญที่สุดในการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือ “เหตุผลที่ต้องปรับขึ้นต่อพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งรัฐบาลต้องสามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุและเป็นผลจนเป็นที่เข้าใจของสังคมไทยโดยรวม” สำหรับแนวทางที่น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดคือ การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้กลับไปสู่อัตราปกติที่ 10% อย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การปรับขึ้น 1% ในเวลา 3-5 ปี โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3% ในระยะเวลา 9-15 ปี จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมพอดี และจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

‘Matthew De Meritt’ หนึ่งในผู้ที่ทำให้ ‘E.T.’ มีชีวิต โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม จากเด็กชายวัย 12 ปี ซึ่งเกิดมาไม่มีขา สู่นักแสดงหนังในตำนานของ Spielberg

E.T. (the Extra-Terrestrial หรือ E.T.) เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อเมริกันออกฉายในปี 1982 สร้างและกำกับโดย Steven Spielberg เขียนบทโดย Melissa Mathison ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Elliott Taylor เด็กชายผู้มีเพื่อนเป็นมนุษย์ต่างดาวที่เรียกว่า E.T. ซึ่งถูกทิ้งไว้บนโลก Elliott พร้อมกับเพื่อนและครอบครัวของเขาต้องหาวิธีช่วยให้ E.T. หาทางกลับบ้าน ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย Dee Wallace, Henry Thomas, Peter Coyote, Robert MacNaughton และ Drew Barrymore

แรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์ ‘E.T.’ ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องนี้ มาจากการที่พ่อแม่ของ Spielberg หย่าร้างในปี 1960 Spielberg ได้เติมเต็มความว่างเปล่าในจิตใจด้วยเพื่อนมนุษย์ต่างดาวในจินตนาการที่เขาเล่าในภายหลังว่า "เพื่อนที่อาจเป็นพี่ชายที่ Spielberg ไม่เคยมี และเป็นพ่อที่ Spielberg ไม่รู้สึกว่า มีอีกต่อไป" Spielberg ได้เล่าแนวคิดเรื่อง Buddy มนุษย์ต่างดาวที่เป็นมิตรเพียงคนเดียวที่เป็นเพื่อนกับเด็กให้ Melissa Mathison ผู้เขียนบท ในฉากสุดท้ายของบทภาพยนตร์ Buddy ถูกทิ้งไว้บนโลกได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดเรื่อง E.T. ในเวลาไม่ถึงสองเดือน Mathison เขียนร่างแรกของบทภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า E.T. and Me ซึ่งต้องเขียนใหม่ถึงสองครั้ง แต่เรื่องนี้ถูกปฏิเสธโดย Columbia Pictures ซึ่งสงสัยในศักยภาพเชิงพาณิชย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ในที่สุด Universal Pictures ก็ได้ซื้อบทภาพยนตร์นี้ในราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

การถ่ายทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่องนี้ใช้เวลาตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 1981 ด้วยงบประมาณ 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แตกต่างจากภาพยนตร์ส่วนใหญ่ E.T. 0tถ่ายทำตามลำดับเวลาคร่าว ๆ เพื่อให้ทีมนักแสดงรุ่นเยาว์สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างดีที่สุด เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Animatronics) ของ E.T. และตัวละครอื่น ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการออกแบบโดย Carlo Rambaldi ผู้เชี่ยวชาญด้านเอฟเฟกต์พิเศษและการแต่งหน้าชาวอิตาลี ผู้ซึ่งออกแบบมนุษย์ต่างดาวสำหรับภาพยนตร์มาแล้วมากมาย 

ภาพร่างของ E.T. นั้น Rambaldi ได้ออกแบบให้คอสามารถยืดและหดได้โดยไม่เหมือนใคร ใบหน้าของ E.T. ได้รับแรงบันดาลใจจากใบหน้าของ Carl Sandburg, Albert Einstein และ Ernest Hemingway ศีรษะของ E.T. 4 หัวถูกสร้างขึ้นสำหรับการถ่ายทำ หัวหนึ่งเป็น Animatronics หลัก และอีกหัวสำหรับการแสดงออกทางสีหน้ารวมถึงเครื่องแต่งกาย ทีมนักเชิดหุ่นควบคุมใบหน้าของ E.T. ด้วย Animatronics จากคนแคระ 2 คน Tamara De Treaux และ Pat Bilon รวมถึง Matthew De Meritt เด็กชายวัย 12 ปี ซึ่งเกิดมาโดยไม่มีขา โดยผลัดกันสวมชุดดังกล่าวขึ้นอยู่กับฉากที่ถ่ายทำ De Meritt เดินด้วยมือในทุกฉากที่ E.T. เดินอย่างเก้ ๆ กัง ๆ หรือหกล้ม หุ่น E.T. นี้สร้างขึ้นภายในสามเดือนด้วยเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Matthew De Meritt ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ช่วยให้ ET ได้รับความนิยม ตลอดระยะเวลา 40 ปีนับตั้งแต่ภาพยนตร์ออกฉาย เขาแทบไม่ได้เปิดเผยตัวตนเลย แต่ในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Mirror ของอังกฤษเมื่อปี 2002 เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีของภาพยนตร์ เขาได้อธิบายว่า เหตุใดเขาจึงได้รับบทนี้ ขณะนั้น De Meritt อายุราว 11-12 ปี ซึ่งไม่มีขาตั้งแต่เกิด และกำลังเข้ารับการกายภาพบำบัดที่ศูนย์การแพทย์ UCLAในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาได้รับการติดต่อให้ทำการทดสอบหน้ากล้อง “มีการลองชุดและพวกเขาวัดขนาดของผมทั้งหมด และถ่ายวิดีโอที่ผมใช้มือช่วยเดิน” เขาบอกว่า “ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ตอนที่พาผมไปที่นั่น” เขากล่าวเสริม “ผมไม่เคยแสดงให้ใครเห็นว่า ผมเดินได้ด้วยมือ และผมไม่เห็นว่าพวกเขาคิดว่า ผมสามารถใส่ชุดคอสตูมเดินไปมา และแสดงเป็นมนุษย์ต่างดาวได้อย่างสบายๆ ได้อย่างไร แต่สุดท้ายมันก็ออกมาแบบนั้น

แม้ว่าผู้ชมจะไม่เห็นตัว De Meritt เลย แต่น่าจะจำฉากหนึ่งของเขาได้ นั่นคือตอนที่ E.T. ดื่มเบียร์ “ตอนนั้นอากาศร้อนมาก แล้ว Spielberg ก็เดินมาหาผมแล้วถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นเขาก็ต้องการให้แน่ใจว่า ผมจะไม่บาดเจ็บ และก็พูดว่า มีทางไหนที่คุณจะเดินตรงเข้าไปในตู้ตรงนั้น หกล้มก้นจ้ำเบ้าแล้วลุกขึ้น หันหลังแล้วล้มหน้าฟาดพื้นในตอนจบได้หรือเปล่า” De Meritt เล่าให้ The Mirror “ฉากไหนก็ตามที่พวกเขาอยากให้ E.T. หกล้ม พวกเขาจะให้ De Meritt แสดงโดยสวมชุดที่ทำจากยาง และฉีดสารอะไรบางอย่างลงไปเพื่อให้มันดูเหนียว” De Meritt อธิบาย “มีรอยแยกตรงหน้าอกให้ผมสามารถมองออกไปได้ และส่วนหัวก็วางอยู่บนศีรษะของผมอีกที” นอกจาก De Meritt แล้ว Tamara De Treaux และ Pat Bilon นักแสดงผู้ล่วงลับซึ่งทั้งคู่มีภาวะคนแคระก็ได้รับเครดิตในการเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของภาพยนตร์ E.T. เช่นกัน 

ด้วยทุนในการสร้าง 10.5ล้านเหรียญ ภาพยนตร์ E.T. สามารถทำรายได้ใน Box Office ได้ถึง 792.9ล้านเหรียญ ไม่รวมรายได้จากลิขสิทธิ์ของที่ระลึก หนังสือ VDO game และ ET Adventure เครื่องเล่นในสวนสนุก Universal Studios ฯลฯ อีกมากมาย 

ญี่ปุ่นในมุมสีเทา!! โตเกียว...ศูนย์กลางแห่งใหม่ธุรกิจบริการทางเพศในเอเชีย ‘ความฟุ้งเฟ้อ – ยากจน’ ผลักดันเด็กสาวเข้าสู่วังวนค้ากาม

โตเกียว...ศูนย์กลางแห่งใหม่ของธุรกิจบริการทางเพศในทวีปเอเชีย

ธุรกิจบริการทางเพศเป็นหนึ่งในธุรกิจการค้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตามบันทึกของชาวสุเมเรียนที่ย้อนกลับไปถึงประมาณ 2,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้กล่าวถึงการค้าประเวณีว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งบรรยายถึงซ่องโสเภณีภายในวิหารแห่งเทพีอิชทาร์ที่ดำเนินการโดยนักบวชชาวสุเมเรียนในเมืองอูรุกของดินแดนสุเมเรียน (ปัจจุบันคือภูมิภาคตะวันออกกลาง) สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 นักเดินทางชาวจีน เกาหลี และชาวตะวันออกไกลอื่น ๆ ได้เริ่มแวะเวียนไปยังซ่องโสเภณีในญี่ปุ่น วิถีปฏิบัตินี้ยังคงดำเนินต่อไปในหมู่นักเดินทางจากภูมิภาคตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าชาวยุโรป โดยเริ่มจากชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 ซึ่งมักมาพร้อมกับลูกเรือจากเอเชียใต้และลูกเรือชาวแอฟริกันมักจะค้าทาสกามจากญี่ปุ่น โดยพวกเขาจะจับเอาหญิงสาวชาวญี่ปุ่นซึ่งแรกเริ่มถูกใช้เป็นทาสทางเพศบนเรือ หรือพาไปที่มาเก๊าและอาณานิคมโปรตุเกสอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปอเมริกา และอินเดีย อย่างเช่น เมืองกัว อาณานิคมของโปรตุเกสในอินเดีย ซึ่งมีชุมชนทาสและพ่อค้าชาวญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 และ 17 ต่อมาบริษัทอินเดียตะวันออกของ ยุโรป รวมถึงบริษัทของชาวดัตช์และอังกฤษก็เริ่มนำเอาหญิงสาวชาวญี่ปุ่นมาค้าประเวณีเช่นกัน

ภาพของ ‘โออิรัน’ กำลังเตรียมตัวรับลูกค้า

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 มีการค้าประเวณีชายและหญิงอย่างแพร่หลายในเมืองเกียวโต เอโดะ(ปัจจุบันคือกรุงโตเกียว) และโอซากะ ในญี่ปุ่น ‘โออิรัน’ เป็นโสเภณีในญี่ปุ่นในช่วงยุคเอโดะ โออิรันถือเป็นประเภทหนึ่งของยูโจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ผู้หญิงแห่งความสุข’ หรือ ‘โสเภณี’ ในบรรดาโออิรันแล้ว ‘ทายู’ ถือเป็นโสเภณีที่มีชั้นสูงสุดที่บริการได้เฉพาะชายที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดเท่านั้น โออิรันจะถูกฝึกฝนในด้านศิลปะการร่ายรำ ดนตรี บทกวี และการเขียนอักษรวิจิตร รวมถึงบริการทางเพศเพื่อให้ความบันเทิงแก่ลูกค้า และการศึกษาถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสนทนาที่ซับซ้อน นอกเหนือจากการให้ความสุขแล้ว ศิลปะและแฟชั่นของพวกเธอมักจะกลายเป็นกระแสในหมู่หญิงญี่ปุ่นที่มีฐานะร่ำรวย ในปี ค.ศ. 1761 ‘โออิรัน’ คนสุดท้ายที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ ‘คารายูกิซัง’ แปลว่า ‘หญิงสาวที่ไปทำงานต่างประเทศ’ เป็นหญิงญี่ปุ่นที่เดินทางหรือถูกนำไปค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แมนจูเรีย ไซบีเรีย และบางครั้งไปไกลถึงซานฟรานซิสโก (ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20) เพื่อทำงานเป็นโสเภณี หญิงบริการ และเกอิชา ในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 มีเครือข่ายโสเภณีญี่ปุ่นที่ถูกนำมาค้ามนุษย์อยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และอินเดีย ในยุคที่อังกฤษปกครองซึ่งในขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ ‘การค้าทาสผิวเหลือง’

หญิงขายบริการในสวนสาธารณะโอคุโบะ

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและถูกยึดครองโดยกองกำลังสัมพันธมิตร อาชีพการให้บริการทางเพศกลับมาเฟื่องฟูจนกระทั่งทศตวรรษ 1970 เมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับมารุ่งเรือง อาชีพการให้บริการทางเพศในญี่ปุ่นจึงค่อย ๆ ลดลง ในช่วงยุคปีทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นชายชาวญี่ปุ่นมักจะออกเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อแสวงหาบริการทางเพศกับหญิงสาวในประเทศยากจน แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อผู้ชายต่างชาติแห่กันมาที่กรุงโตเกียวเพื่อแสวงหา  “บริการทางเพศ” ในญี่ปุ่นแทน ทั้งนี้การที่อาชีพการให้บริการทางเพศกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่งสืบเนื่องมาจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงและความยากจนในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น

ลูกค้ากำลังพูดคุยกับหญิงขายบริการในย่านคาบูกิโจ

โยชิฮิเดะ ทานากะ เลขาธิการสภาประสานงานปกป้องเยาวชน (Seiboren) ได้เล่าบริบทในปัจจุบันที่เป็นอยู่อันน่าหดหู่ใจในรายการ This Week in Asia ว่า “ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศยากจน” ใกล้ ๆ กันนั้น ในสวนสาธารณะที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการค้าประเวณีในเมือง มีหญิงสาวมารอรับลูกค้าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าเสียด้วยซ้ำ องค์กรของทานากะสังเกตเห็นว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มาที่สวนสาธารณะในทันทีที่ข้อจำกัดการเดินทางในยุคการระบาดถูกยกเลิก “ตอนนี้เราเห็นชายชาวต่างชาติมากขึ้น” เขากล่าว “พวกเขามาจากหลายประเทศ มีทั้ง ผิวขาว เอเชีย ผิวดำ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนจีน” ทานากะกล่าวว่า การหลั่งไหลดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการที่วัยรุ่นและผู้หญิงวัยยี่สิบต้น ๆ หันไปค้าบริการทางเพศเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ ความรุนแรงยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจอีกด้วย “สถานการณ์แย่ลงเรื่อย ๆ แย่ลงมาก” เขากล่าวพร้อมส่ายหัว “ที่นี่...มีเด็ก ๆ มากขึ้น และความรุนแรงก็มากขึ้นด้วย แต่หน่วยงานของเราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าที่เราได้ทำอยู่แล้ว” ความหงุดหงิดของทานากะนั้นสามารถสัมผัสได้ ในขณะที่เขานึกถึงการต่อสู้ดิ้นรนยาวนานกว่าทศวรรษของเขาเพื่อช่วยเหลือหญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่อพยพมาอยู่ในย่านคาบูกิโจอันเลื่องชื่อของเมืองโตเกียว ซึ่งเป็นย่านที่เต็มไปด้วย บาร์ โรงแรมสำหรับคู่รัก และคลับโฮสต์ซึ่งผู้ที่เปราะบางมักตกเป็นเหยื่อ

แฟชั่นแนว โกธิคโลลิต้า (Gothic Lolita หรือ Goth Loli) *ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ

หนึ่งในนั้นก็คือ Rao (ชื่อสมมติ) เด็กสาวญี่ปุ่นวัย 19 ปีที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโรงเรียนมัธยมที่จังหวัดคานากาวะได้ จึงตัดสินใจมาย่านคาบูกิโจ ซึ่งเธอหวังว่าจะได้งานในร้านกาแฟ แต่กลับพบว่าค่าใช้จ่ายมากมายจนเกินกำลัง “ฉันเป็นหนี้เจ้าของบ้านเป็นจำนวนมาก ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายน ฉันจึงไปที่สวนสาธารณะ” เธอกล่าวโดยใช้สำนวนอุปมาสำหรับการยืนอยู่บนถนนแคบ ๆ รอบ ๆ สวนสาธารณะโอคุโบะ เพื่อรอให้ชายที่ที่เป็นลูกค้าเข้ามาหา “ฉันต้องการเงินไปใช้หนี้ และอยากซื้อของดี ๆ เช่นเสื้อผ้า” Rao กล่าวด้วยใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์ของเธอ และไว้ทรงผมบ็อบเก๋ไก๋และมีสไตล์สำหรับแฟชั่นแนว โกธิคโลลิต้า (Gothic Lolita หรือ Goth Loli) หรือเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘Gosurori’ 

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Papa katsu ซึ่งหมายถึงชายสูงอายุที่เลี้ยงดูเด็กสาว

นอกจากนั้นแล้วเธอยังใช้เงินเพื่อไปเที่ยวโฮสต์ที่เธอชื่นชอบที่คลับในท้องถิ่นทุก ๆ สองสามวัน เธอยังลองทำสิ่งที่เรียกว่า Papa katsu ซึ่งเป็นการหา Sugar daddy เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของเธอ เธอเล่าถึงงานของเธออย่างไม่ใส่ใจ โดยบอกราคาค่าห้องในโรงแรมแบบชั่วโมงละ 15,000 เยนถึง 30,000 เยน (100-200 ดอลลาร์สหรัฐ) เหมือนกับรายการอาหาร ในวันธรรมดาเธอจะได้ลูกค้าประมาณ 5 คน ส่วนในวันหยุดสุดสัปดาห์จำนวนลูกค้าอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า Rao เพิ่งทำแท้งเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นความจริงอันเลวร้ายของวิถีชีวิตของเธอ เธอเล่าว่า “มีผู้ชายหลายประเภทที่มาที่สวนสาธารณะโอคุโบะ แต่ฉันคิดว่าประมาณครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ” เธอกล่าวเสริมว่า “ฉันเคยคุยกับผู้หญิงที่อยู่ที่นี่มานานกว่า และพวกเธอก็บอกว่ามันแตกต่างออกไป เดิมทีที่นี่มีแต่ผู้ชายญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ที่นี่กลายเป็นสถานที่เที่ยวที่มีชื่อเสียงไปแล้ว” Rao เล่าถึง “ชายชาวอังกฤษคนหนึ่ง” ที่เป็นลูกค้าประจำ รวมถึงลูกค้าจาก ไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง “ฉันเป็นที่นิยมเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ดังนั้นฉันจึงยุ่งอยู่เสมอ” เธอบอก 

ลูกค้าสูงวัยกำลังพูดคุยกับหญิงขายบริการในย่านคาบูกิโจ

แต่ความเสี่ยงนั้นมีอยู่ตลอดเวลา “เพื่อนของฉันคนหนึ่งถูกชายชาวจีนทำร้ายบนถนนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน” Rao กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นที่แฝงไปด้วยความกลัว “พวกเขากำลังคุยกันเรื่องราคา แล้วจู่ ๆ เขาก็โกรธและเตะเธอ หัวของเธอไปกระแทกกับอะไรบางอย่างและได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่จนถึงตอนนี้ฉันก็ยังโชคดี” ทานากะยืนยันประสบการณ์ของ Rao เมื่อเธอโทรหาเขาหลังจากเพื่อนของเธอถูกทำร้าย เขาก็รีบไปช่วยและพาหญิงรายนั้นที่ได้รับบาดเจ็บไปโรงพยาบาล เขาบอกว่า เธอโกรธและต้องการแจ้งความกับตำรวจอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อถึงเวลาต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่ทำร้าย ตำรวจกลับสนใจที่จะตั้งข้อหาว่า เธอเป็นโสเภณีมากกว่าที่จะแสวงหาความยุติธรรมให้กับการบาดเจ็บของเธอ เมื่อเผชิญกับความจริงที่ว่าการแจ้งความอาจนำไปสู่การจับกุมเธอเอง เธอจึงถอนคำร้องทุกข์

หญิงขายบริการในสวนสาธารณะโอคุโบะ

“เป็นแบบนั้นเสมอ” ทานากะกล่าวด้วยความหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด “สาว ๆ ถูกทำร้ายเพราะลูกค้ารู้ว่าพวกเธอจะไม่ไปแจ้งตำรวจ … ผู้ชายรู้เรื่องนี้ พวกเขาจึงคิดว่า ตัวเองทำอะไรก็ได้” ทานากะยังคงมองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับอนาคตของ Rao แม้ว่าเขาจะตระหนักดีว่า งานของเธอจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเธอ ซึ่งเขาเคยเห็นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หญิงสาวที่ไปหาลูกค้าสวนสาธารณะโอคุโบะเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ผ่านประสบการณ์นี้มาได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลต่างพากันเพิกเฉย ทานากะเกรงว่า ชีวิตเยาวชนที่ติดอยู่ในวังวนแห่งความสิ้นหวังและการถูกเอารัดเอาเปรียบจะเลวร้ายลงไปอีก ในขณะที่ทั้งโลกต่างคอยเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ “ผมคิดว่า ในไม่ช้าจะมีใครซักคนถูกฆ่าตาย” เขากล่าว “มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีใครสนใจหญิงพวกนี้เลย การที่ใครสักคนถูกลูกค้าฆ่าตายอาจทำให้พวกเขาสนใจได้ครู่ใหญ่ แต่ผมคาดว่า หลังจากไม่นานพวกเขาก็จะลืมเรื่องนี้ได้อีกครั้ง”

ลูกค้าสูงวัยกำลังพูดคุยกับหญิงขายบริการในย่านคาบูกิโจ

คาซูโนริ ยามาโนอิ สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศได้เรียกร้องให้มีการควบคุมการค้าบริการทางเพศ โดยเขากล่าวว่า “ความจริงก็คือ ญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศที่ผู้ชายต่างชาติสามารถหาหญิงสาวและซื้อบริการทางเพศได้” ยามาโนอิกล่าวว่า นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายต่อการรับรู้ที่มีต่อสตรีญี่ปุ่นในชุมชนระหว่างประเทศอีกด้วย ตามรายงานของกรมตำรวจนครบาล (MPD) ระบุว่า หญิงที่ถูกจับกุมขณะทำงานบนท้องถนนในปี 2023 ประมาณ 43% กล่าวว่าพวกเธอเริ่มขายบริการเพื่อจ่ายเงินให้กับคลับโฮสต์และศิลปินชายใต้ดิน โดยประมาณ 80% ของผู้ถูกจับกุมอยู่ในวัย 20 ปี ในขณะที่ 3 คนมีอายุ 19 ปีหรือน้อยกว่า จากข้อมูลของยูอิจิ โฮโจ ตัวแทนของสมาคมโฮสต์คลับแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุว่ามีโฮสต์คลับประมาณ 240 ถึง 260 แห่งในพื้นที่คาบูกิโจ ราคาเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 20,000 เยน โดยพนักงานบางคนมีโควตาที่ต้องจ่ายเป็นรายวันเพื่อจ่ายคืนให้กับโฮสต์คลับ

หญิงขายบริการในสวนสาธารณะโอคุโบะ

ผู้ให้บริการทางเพศมีความเสี่ยงไม่เพียงแต่ต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายและถูกกรรโชกทรัพย์อีกด้วย ในญี่ปุ่น การซื้อและขายบริการทางเพศเพื่อเงินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การห้ามจำกัดเฉพาะการสอดใส่เท่านั้น กฎหมายต่อต้านการค้าประเวณีกำหนดโทษทางอาญาคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 เยน แต่สำหรับผู้ขายบริการเท่านั้น (ฝ่ายหญิง) ไม่ใช่ผู้ซื้อบริการ (ฝ่ายชาย) แม้ว่าตำรวจนครบาลแห่งกรุงโตเกียวจะให้คำมั่นว่า จะดำเนินคดีสำหรับการกระทำรุนแรง แต่ผู้คนจำนวนมากต่างรู้สึกว่า ตำรวจให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้าประเวณีบนท้องถนน มากกว่าความรุนแรงต่อหญิงสาวเหล่านั้น

‘Munira Abdulla’ บุคคลที่ฟื้นจากโคม่านานที่สุดในโลก หลังประสบอุบัติเหตุทำหลับไหลกว่า 27 ปี

Munira Abdulla บุคคลที่ฟื้นจากอาการโคม่านานที่สุดในโลก

เมื่อ Munira Abdulla หญิงชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รู้สึกตัวเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1991 ขณะนั้น George Bush (ผู้พ่อ) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตก็กำลังใกล้ที่จะล่มสลายเต็มที และเป็นปีที่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกยุติลง ขณะอายุ 32 ปี นาง Munira ชาวเมือง Al Ain ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เธอหมดสติ และอยู่ในสภาพผักเกือบตลอดสามทศวรรษต่อมา โดยผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหมดสติจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่มีอาการไม่รู้สึกตัวเต็มที่ ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการตื่นตัว ตาปิด และไม่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่รู้สึกตัวแต่ไม่มีอาการรู้ตัว ส่วนกลุ่มที่รู้สึกตัวน้อยมากอาจรวมถึงช่วงที่ผู้ป่วยตอบสนองบางอย่าง เช่น ขยับนิ้วเมื่อถูกถาม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกลุ่มที่สามนี้มักเรียกกันว่า ‘โคม่า’ (Comas) และ Munira ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่สามนี้

หลังจากประสบอุบัติเหตุ Munira ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และต่อมาก็ถูกส่งตัวไปยังกรุงลอนดอน ที่นั่น เธอถูกวินิจฉัยว่าอยู่ในอาการไม่ตอบสนอง แต่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ จากนั้นเธอถูกส่งตัวกลับไปที่เมืองอัลไอน์ ซึ่งเป็นเมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่อยู่ติดชายแดนโอมาน ซึ่งเธออาศัยอยู่ และถูกย้ายไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ตามแต่ความเห็นชอบของบริษัทประกันภัย และ NMC ProVita International Medical Centre เธออยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปี (2011-2015) โดยต้องให้อาหารผ่านทางสายยางและยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป เธอเข้ารับการกายภาพบำบัดเพื่อให้แน่ใจว่า กล้ามเนื้อของเธอจะไม่อ่อนแรงลงจากการขาดการเคลื่อนไหว

Munira Abdulla กับ Omar Webair ลูกชาย

ในปี 2017 ครอบครัวของ Munira Abdulla ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนของมกุฏราชกุมารแห่งนครรัฐอาบูดาบี (the Crown Prince Court Abu Dhabi) เพื่อย้ายเธอไปทำการรักษายังประเทศเยอรมนี ซึ่งที่นั่น เธอได้เข้ารับการผ่าตัดหลายครั้งเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อแขนและขาที่สั้นลงอย่างมาก และเธอได้รับยาเพื่อให้อาการของเธอดีขึ้นที่ Schön โรงพยาบาลเอกชนในเมือง Bad Aibling ใกล้นครมิวนิก ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากอาการเจ็บป่วยที่ยาวนานของ Munira ด้วยการใช้แนวทางแบบองค์รวมในการรักษา โดยใช้ “การกายภาพบำบัด ยา การผ่าตัด และการกระตุ้นประสาทสัมผัส” 

หลังจากผ่านไป 27 ปี เธอก็ได้ตื่นขึ้นมาในเดือนมิถุนายน ปี 2018 Omar Webair ลูกชายวัย 32 ปีของเธอ ซึ่งอายุเพียง 4 ขวบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เล่าว่า ไม่กี่นาทีขณะเดินทางจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน รถของเขากับแม่นั่งก็ชนเข้ากับรถโรงเรียน ทำให้ Munira วัย 32 ปีในขณะนั้นได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง Omar ซึ่งอยู่ในอ้อมแขนของแม่ซึ่งพยายามกอดเขาไว้ก่อนที่ก่อนจะเกิดการชน ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ โดยมีรอยฟกช้ำบริเวณศีรษะ “แม่ของผมนั่งอยู่ที่เบาะหลังกับผม เมื่อแม่เห็นว่ารถจะชน แม่ก็กอดผมไว้เพื่อปกป้องผมจากผลของแรงกระแทก” เขากล่าว “สำหรับผม เธอเปรียบเสมือนทองคำ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร เธอก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น” 

นพ. Friedemann Müller

นพ. Friedemann Müller ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท หัวหน้าแพทย์ประจำ Schön โรงพยาบาลเอกชนที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเยอรมนี กล่าวว่า Munira อยู่ในภาวะหมดสติกลุ่มที่ 3 เขาบอกว่า มีเพียงไม่กี่กรณีที่เหมือนกับเธอ ที่ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังจากหมดสติเป็นเวลานาน โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่า Munira กำลังฟื้นตัวเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อปี 2017 เมื่อเธอเริ่มเรียกชื่อลูกชายของเธอ สองสามสัปดาห์ต่อมา เธอเริ่มท่องบทต่าง ๆ ในคัมภีร์อัลกุรอานที่เธอเคยเรียนรู้เมื่อหลายสิบปีก่อน “ตอนแรกเราเองก็ไม่เชื่อ” นพ. Müller กล่าว “แต่ในที่สุดก็ชัดเจนมากว่าเธอเรียกชื่อลูกชายของเธอ” นพ. Müller เองก็ไม่ได้คาดหวังว่า Munira จะฟื้นตัวได้เร็วขนาดนี้ เธอเข้ารับการรักษาอาการชักและกล้ามเนื้อบิดเบี้ยวที่คลินิกในประเทศเยอรมนี ซึ่งทำให้ร่างกายของเธอเคลื่อนไหวได้ยาก และทำให้เธอไม่สามารถนั่งรถเข็นได้อย่างปลอดภัย ส่วนหนึ่งของการรักษาคือ การติดตั้งอุปกรณ์ที่ส่งยาโดยตรงไปยังกระดูกสันหลังของเธอ ซึ่ง นพ. Müller กล่าวว่า ปัจจัยนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เธอฟื้นตัวได้

Schön โรงพยาบาลเอกชนในเมือง Bad Aibling ใกล้นครมิวนิก ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี

Terry Wallis ฟื้นจากโคม่านานถึง 19 ปี มีชีวิตอยู่อีก 19 ปี และเสียชีวิตในปี 2022

มีเพียงไม่กี่คนที่ทราบกันดีว่าสามารถฟื้นตัวได้ในลักษณะเดียวกัน อาทิ Terry Wallis ชาวเมือง Ozark Mountains มลรัฐ Arkansas สหรัฐอเมริกา บาดเจ็บสาหัสและหมดสติเมื่อรถของเขาลื่นไถลลงจากสะพาน ในวันที่ 13 กรกฎาคม 1984 และหมดสตินานถึง 19 ปี การฟื้นตัวเมื่อ 11 มิถุนายน 2003 ของเขาค่อนข้างผิดปกติมาก จนนักวิทยาศาสตร์ใช้โอกาสนี้ในการศึกษาการทำงานของสมองเพื่อช่วยในการพิจารณาว่า ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางสมองอย่างรุนแรงอย่างไรจึงจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกถึงสิทธิของบุคคลที่จะเลือกการมีชีวิตอยู่หรือตาย ด้วยการดูแลทางการแพทย์ในปัจจุบันผู้ป่วยบางรายอาจอยู่ในสภาวะที่หมดสติไปนานหลายทศวรรษ เช่นกรณีของ Aruna Shanbaug พยาบาลชาวอินเดีย อยู่ในสภาวะดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 40 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตในวัย 66 ปี ในปี 2015 เธออยู่ในสภาพผักถาวรหลังจากถูกรัดคอด้วยโซ่โลหะระหว่างที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

Munira Abdulla ในวัย 65 ปีได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จนทุกวันนี้

ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากภาวะที่รู้สึกตัวในระดับต่ำเป็นเวลานาน (ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงไม่กี่ปีแรก) มีแนวโน้มที่จะมีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงและถาวร พวกเขายังคงต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแลในแต่ละวัน และขาดความสามารถในการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง พวกเขาอาจมีอาการมึนงง จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา และสามารถสนทนาได้เพียงเล็กน้อยเมื่อได้รับคำพูดกระตุ้น กรณีของ Munira Abdulla นั้น เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ มีเพียงไม่กี่กรณีที่คนจะฟื้นคืนสติได้หลังจากผ่านไปหลายปี และแม้จะเป็นเช่นนั้น การฟื้นตัวก็ยังต้องยืดเยื้อต่อไป ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าโอกาสที่ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหมดสติจะดีขึ้นจะเป็นอย่างไร ผู้ที่ฟื้นคืนสติส่วนใหญ่มักมีอาการพิการร้ายแรงเนื่องมาจากสมองได้รับความเสียหาย หลังจากเธอฟื้นคืนสติขึ้นมาแล้ว สามารถตอบสนองได้ดี และมีความรู้สึกเจ็บปวดและสนทนาได้บ้างแล้ว เธอจึงได้เดินทางกลับมาที่นครรัฐอาบูดาบี ซึ่งเธอได้รับการกายภาพบำบัดและการฟื้นฟูเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่แล้วเพื่อปรับปรุงท่าทางการนั่งของเธอและป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหดตัว และ Munira Abdulla ในวัย 65 ปีได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จนทุกวันนี้

‘กำแพงเบอร์ลิน’ แยกคนชาติเดียวเป็น 2 ประเทศ สัญลักษณ์แห่งจุดเริ่มต้นและจุดจบ ‘สงครามเย็น’

กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade) และปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเพื่อเบอร์ลิน (Berlin Airlift) 

เรื่องราวทั้งสามเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอันเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยุติลงในปี 1945 โดยเยอรมนีแกนนำหลักของฝ่ายอักษะ (Axis) เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ต้องถูกฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied) แบ่งประเทศออกเป็น 4 ส่วน ตามสนธิสัญญาปอตสดัม (Treaty of Potsdam) โดยประเทศมหาอำนาจตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ครอบครองดินแดนเยอรมนี 3 ส่วนร่วมกัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งให้สหภาพโซเวียตยึดครอง เหตุการณ์นี้นำไปสู่การแบ่งแยกเยอรมนีเป็น 2 ประเทศ และแบ่งเบอร์ลินเป็น 2 ส่วนอย่างถาวร เป็น ‘วิกฤตการณ์เบอร์ลิน 1949’ ดินแดนเยอรมนี 3 ส่วน หรือเยอรมนีตะวันตกได้ตั้งเป็นประเทศ ชื่อว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมนีตะวันตก) และสหภาพโซเวียตได้ตั้งเขตปกครองของตนในเยอรมนีตะวันออกเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (เยอรมนีตะวันออก) เมื่อแบ่งประเทศแล้ว ชาวเยอรมันตะวันออกอพยพมาอยู่ในเขตตะวันตกเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้โซเวียตต้องสร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์ กั้นกลางในปี 1961 จึงทำให้กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงเก่าของเยอรมนีต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายพันธมิตรตะวันตกเรียกว่า ‘เบอร์ลินตะวันตก’ และส่วนถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตเรียกว่า ‘เบอร์ลินตะวันออก’

กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) กรุงเบอร์ลิน นครหลวงของเยอรมนีมีที่ตั้งอยู่ใจกลางประเทศเยอรมนีตะวันออก ดังนั้น เบอร์ลินฝั่งตะวันตก จึงถูกปิดล้อมด้วยพื้นที่ของเยอรมนีตะวันออกโดยรอบ ในระยะแรกนั้น การเดินทางเข้าออกระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกเป็นไปอย่างเสรี จนกระทั่งเมื่อเกิดการอพยพของชาวเยอรมันตะวันออกไปยังดินแดนของเยอรมนีตะวันตกเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกต้องเร่งสร้างกำแพงเพื่อปิดกั้นการอพยพย้ายถิ่นของชาวเยอรมัน ตะวันออก วันที่ 13 สิงหาคม 1961 เป็นวันแรกที่มีการสร้างกำแพงเพื่อปิดล้อมกรุงเบอร์ลินตะวันตก และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น (Cold war)

กำแพงเบอร์ลิน ถูกใช้งานเป็นเวลา 28 ปี ในช่วงเวลานี้ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบของกำแพงถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งจะเพิ่มความแข็งแรง และความสูงของกำแพงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการหลบหนีของชาวเยอรมันตะวันออก เนื่องจากกำแพงกันระหว่างเยอรมนีตะวันออก และเยอรมนีตะวันตก มีจุดเปราะบางที่สุดที่กรุงเบอร์ลินนี่เอง กำแพงเบอร์ลินทั้ง 4 รุ่นมีพัฒนาการดังนี้

- กำแพงรุ่นที่ 1 เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1961 เป็นแนวรั้วลวดหนาม เป็นแนวป้องกันชั่วคราวเพื่อป้องกันการอพยพของประชาชน เป็นกำแพงเบอร์ลินรุ่นที่มีอายุใช้งานสั้นที่สุด
- กำแพงรุ่นที่ 2 เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน ถูกสร้างขึ้นแทนกำแพงรั้วลวดหนามทันทีที่กำแพงรั้วลวดหนามเสร็จสมบูรณ์ แต่กำแพงก่ออิฐถือปูนนี้ก็ไม่แข็งแรงพอที่ปิดกั้นความปรารถนาในการแสวงหาเสรีภาพของประชาชน มีความพยายามในการหลบหนีด้วยการทำลายกำแพงเกิดขึ้นหลายครั้ง
- กำแพงรุ่นที่ 3 เป็นรั้วคอนกรีตสำเร็จรูป ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความแข็งแรง และความสูงเพิ่มขึ้น
- กำแพงรุ่นที่ 4 ถูกสร้างในปี 1975 เป็นแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 3.6 เมตร จำนวนกว่า 45,000 แผ่นถูกต่อเป็นแนวรอบกรุงเบอร์ลินตะวันตกเชื่อมต่อด้วยท่อคอนกรีตที่ด้านบนกำแพง กำแพงรุ่นนี้ถูกใช้งานจนกระทั่งถึงการล่มสลายในปี 1989 และเป็นกำแพงเบอร์ลินที่ชิ้นส่วนถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ และสถานที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ในการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินรุ่นที่ 4 ใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 1,650 ล้านมาร์กในขณะนั้น 

ตำรวจเยอรมันตะวันออกนายหนึ่งขณะหนีจากเบอร์ลินตะวันออกด้วยการกระโดดข้ามลวดหนาม

ระหว่างที่กำแพงยังตั้งอยู่นั้น มีความพยายามหลบหนีข้ามเขตแดนราว 5,000 ครั้ง การลอบข้ามกำแพง เป็นความเสี่ยงที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต ด้วยรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกมีกฎที่ว่าผู้หลบหนีจะถูกยิงทิ้งทันทีที่พบเห็น โดยมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างพยายามหลบหนีข้ามกำแพงนี้ราว 136-264 คน กำแพงเบอร์ลินถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสงครามเย็น และเริ่มต้นถูกทำลายไปใน 1989 ขณะที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้ยินยอมให้เยอรมนีทั้งสองตัดสินใจอนาคตตนเอง โดยสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซง ภายหลังจึงมีการรวมเยอรมนีเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เรียกว่า ‘สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี’

การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade) ในขณะที่คณะผู้บริหารร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส) ได้บริหารและทำการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในเยอรมันตะวันตก โดยที่สหภาพโซเวียตมุ่งเน้นการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก มีนาคม 1948 สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสดำเนินการปฏิรูปเงินตรา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กลับมีผลทำให้สหภาพโซเวียตเสียหาย เพราะประชาชนในเยอรมนีตะวันออกต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในเขตของตนตามนั้นบ้าง

วันที่ 12 มิถุนายน 1948 สหภาพโซเวียตได้ประกาศ 'ปิดปรับปรุง' ถนน Autobahn ซึ่งเป็นถนนจากเยอรมนีตะวันตกที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน อีกสามวันถัดมา การจราจรทางบกระหว่างเยอรมนีในส่วนยึดครองของโซเวียตกับส่วนอื่น ๆ ถูกตัดขาด และในวันที่ 21 มิถุนายน การจราจรทางน้ำสู่กรุงเบอร์ลินถูกตัดขาด วันที่ 24 มิถุนายน สหภาพโซเวียตประกาศว่าจะไม่มีรถไฟเข้าสู่กรุงเบอร์ลินอีกต่อไปเนื่องจาก 'ปัญหาทางเทคนิค' วันถัดมา สหภาพโซเวียตประกาศเลิกจัดส่งอาหารให้กรุงเบอร์ลินส่วนของประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ฝ่ายตะวันตกก็ไม่ได้เจรจาต่อรองใด ๆ กับสหภาพโซเวียต

พลเอก Lucius D. Clay ผู้บัญชาการยึดครองเยอรมนีส่วนของสหรัฐอเมริกา รู้สึกว่า โซเวียตทำเป็นเสแสร้งว่าไม่ต้องการให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม เขายื่นข้อเสนอให้ส่งขบวนรถติดอาวุธจำนวนมากไปตามถนน Autobahn มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบอร์ลินตะวันตกอย่างสันติ แต่อาจใช้อาวุธได้หากถูกขัดขวางหรือถูกโจมตี ซึ่งประธานาธิบดีทรูแมนเห็นว่า การกระทำนี้ "เสี่ยงเกินไปที่อาจจะทำให้ผลลัพธ์ที่รุนแรงตามมาในเดือนกรกฎาคม 1948 โซเวียตได้ปิดกั้นเส้นทางคมนาคมทางบกที่ผ่านไปยังเบอร์ลินตะวันตก ทำให้พันธมิตร 3 ชาติ ไม่สามารถส่งอาหารและสินค้าต่าง ๆ ไปยังเบอร์ลินตะวันตกได้ เพื่อบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งเบอร์ลิน การปิดล้อมครั้งนี้ใช้เวลาเกือบ 1 ปี

ขณะนั้นกรุงเบอร์ลินมีอาหารที่จะทำให้ทั้งเมืองอยู่ได้อีก 35 วัน และมีถ่านหินที่จะใช้ได้อีก 45 วัน ทหารอเมริกันและทหารอังกฤษมีจำนวนน้อยกว่าทหารโซเวียตมาก เพราะการลดขนาดกองทัพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หากเกิดสงครามขึ้น ฝ่ายตะวันตกจะต้องสูญเสียกรุงเบอร์ลินให้โซเวียตอย่างแน่นอน ซึ่งพลเอก Clay กล่าวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ว่าจะไม่ยอมถอยออกจากเยอรมนีเด็ดขาด "แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรักษาตำแหน่งของเราในเบอร์ลินไว้ได้ แต่มันจะต้องไม่ถูกประเมินด้วยเหตุผลนั้น... เรามั่นใจว่าการอยู่ในเบอร์ลินของเรานั้นสำคัญต่อเกียรติยศของเราในเยอรมนีและในยุโรป ไม่ว่ามันจะดีหรือร้าย สิ่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งหมายของอเมริกาไปแล้ว"

ปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเพื่อเบอร์ลิน (Berlin Airlift) ระยะเวลาตั้งแต่ 19 มิถุนายน 1948  –  23 พฤษภาคม 1949 ชาติพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเพื่อช่วยให้เบอร์ลินอยู่รอด นักบินจาก สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ ได้ช่วยกันใช้เครื่องบินลำเลียงสิ่งของ เช่น อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรคให้แก่ชาวเบอร์ลินตะวันตก ในแต่ละวันระหว่าง 3,475-12,941 ตัน รวมน้ำหนักตลอดภารกิจ 2,334,374 ตัน ซึ่งเกือบสองในสามเป็นถ่านหิน  รวม 278,228 เที่ยวบิน คิดเป็นระยะทางบินรวม 92ล้านไมล์ มีอุบัติเหตุเครื่องบินตก 25 ลำ ผู้เสียชีวิตรวม 101 นาย ซึ่งส่วนใหญ่การเสียชีวิตไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางอากาศ หลังจากการเจรจาอย่างเคร่งเครียดเป็นเวลาพอสมควร การปิดกั้นของโซเวียตได้สิ้นสุดลงภายในหนึ่งนาทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 สหรัฐฯ อังกฤษ และพันธมิตรสามารถขนส่งทางบกเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน(ตะวันตก) ได้อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ‘วิกฤตการณ์เบอร์ลิน’ เป็นผลทำให้สภาพเผชิญหน้ากันในสงครามเย็นทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น และมีการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกกับสหรัฐอเมริกา และประเทศเสรีประชาธิปไตย เพื่อขจัดการแทรกแซงและขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเป็นระบบ เช่น สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับประเทศโลกเสรีก่อตั้งองค์การความมั่นคงตามสนธิสัญญาทางทหาร เช่น องค์การนาโต้ องค์การซีโต้ องค์การนานารัฐอเมริกา ตลอดจน การตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีที่ตั้งทางทหารนอกประเทศราว 800 แห่ง และยังคงเป็นประเทศที่มีกำลังทหารอยู่ภายนอกประเทศมากที่สุดในโลก แม้ว่าสงครามเย็นจะสิ้นสุดลงพร้อมทั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตประเทศแกนนำหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์แล้วก็ตาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top