รู้จัก ‘Susi Pudjiastuti’ รัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งอินโดนีเซีย จากนักธุรกิจส่งออกอาหารทะเล สู่มือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ)
ข่าวในรอบสัปดาห์นี้ที่น่าหงุดหงิดโมโหของประชาชนคนไทยเป็นที่สุดก็คือ ข่าวที่เรือประมงเวียดนามที่รุกล้ำมาลักลอบจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย แล้วบังอาจขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซ้ำร้ายยังนำเรือพุ่งชนเรือหลวงเทพาเรือรบของกองทัพเรือไทยจนได้รับความเสียหายอีกด้วย ในขณะที่ไม่นานมานี้ ทหารเรือเมียนมาได้มีการใช้อาวุธกับเรือประมงไทยจนมีลูกเรือประมง 1 คนเสียชีวิต และถูกจับกุมอีก 4 คน ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจนทุกวันนี้
เพราะความใจดีจนเกินไปของทางการไทยจนทำให้เรือประมงเวียดนาม ซึ่งหลายปีมานี้ย่ามใจลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยอยู่เป็นประจำ และยังทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย โดยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อาทิ การปิดอ่าวไม่จับปลาในฤดูวางไข่ การใช้อุปกรณ์จับปลาที่ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศ ฯลฯ ในอดีต เมื่อ 4-50 ปีก่อนนั้น เรือประมงไทยมักจะฝ่ายล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประจำจนเป็นข่าวปรากฏแทบทุกวัน แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรือประมงเวียดนามที่ลักลอบรุกล้ำเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย
เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของ ‘Susi Pudjiastuti’ หรือ ที่ชาวอินโดนีเซีย เรียกเธอว่า ‘ซูซี่’ รัฐมนตรีหญิงซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ผู้เป็นมือพิฆาตเรือประมง (ต่างชาติ) ประวัติของเธอผู้นี้ไม่ธรรมดาเลย เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1965 ที่เมือง Pangandaran จังหวัดชวาตะวันตกเป็นลูกสาวของฮัจจีอาหมัด คาร์ลัน และฮัจจาห์ซูวูห์ ลาสมินาห์ เธอเป็นชาวชวาแต่ครอบครัวของเธอเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานในเมือง Pangandaran เป็นรุ่นที่ 5 ธุรกิจของครอบครัวของเธอส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการทำฟาร์มปศุสัตว์
หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว Susi ได้ไปเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่ SMA Negeri 1 Yogyakarta แต่เรียนไม่จบเพราะถูกไล่ออกด้วยเธอได้ไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนการงดออกเสียง (Vote No) เพื่อประท้วงการครอบงำของพรรคกอลการ์ที่ทำให้อินโดนีเซียมีรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งในขณะนั้นเป็นขบวนการที่ถูกห้ามภายใต้ระเบียบใหม่ของประธานาธิบดี Suharto เธอเป็นรัฐมนตรีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่หลังจากที่เธอได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว เธอได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการในปี 2018
ในปี 1983 Susi ได้เริ่มต้นอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารทะเลที่ Fish Auction Facility (TPI) ในเมือง Pangandaran จากการเป็นตัวแทนจำหน่าย เธอได้พัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในปี 1996 โดยใช้ชื่อว่า PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกุ้งมังกรคุณภาพส่งออกที่บรรจุหีบห่อในชื่อ 'Susi Brand' PT ASI Pudjiastuti Marine Product ซึ่งขยายตัวเติบโตมากขึ้นและเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและอเมริกาเหนือ
เมื่อความต้องการอาหารทะเลสดของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product เพิ่มมากขึ้นทำให้การขนส่งทางอากาศด้วยความรวดเร็วกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ ในปี 2004 Susi ได้ซื้อเครื่องบินแบบ Cessna 208 Caravan และก่อตั้ง PT ASI Pudjiastuti Aviation โดยได้รับสัญญาณเรียกขานเป็น ‘Susi Air’ และใช้ในการขนส่งอาหารทะเลสดทั่วอินโดนีเซียไปยังกรุงจาการ์ตา รวมถึงไปยังต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น
ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอาเจะห์และชายฝั่งตะวันตกของสุมาตรา สายการบิน Susi Air ซึ่งในขณะนั้นมีเครื่องบิน Cessna Grand Caravan เพียง 2 ลำเท่านั้นเป็นหนึ่งในสายการบินแรกที่เข้าไปช่วยเหลือ และทำการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติในพื้นที่ห่างไกล ในช่วงเวลาดังกล่าวสายการบิน Susi Air มักได้รับการเช่าเหมาลำไปอาเจะห์โดย NGO เพื่อปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม รายได้จากภารกิจของ NGO ในอาเจะห์ทำให้สายการบิน Susi Air สามารถจัดหาเครื่องบินลำใหม่ และขยายฝูงบินไปยังเส้นทางในปาปัวและกาลีมันตันได้ ปัจจุบันสายการบิน Susi Air เป็นผู้ใช้เครื่องบิน Cessna Grand Caravan รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2014 โดยประธานาธิบดี Joko Widodo ในคณะรัฐมนตรีชุดปี 2014–2019 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง Susi ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ PT ASI Pudjiastuti Marine Product และ PT ASI Pudjiastuti Aviation เธอเข้ารับช่วงต่อในกระทรวงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุบเลิก เพราะปัญหาเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำอินโดนีเซียที่อยู่รอบเกาะ 17,500 เกาะเป็นประจำ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประมาณการว่าการทำประมงผิดกฎหมายทำให้อินโดนีเซียสูญเสียรายได้กว่า 101 ล้านล้านรูเปียะห์ (7.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง Susi ได้สั่งให้เร่งกวาดล้างจับกุม ยึด และทำลายเรือประมงต่างชาติทิ้งไปหลายร้อยลำ จนทำให้เรือประมงต่างชาตินับหมื่นลำที่แสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียต้องรีบออกจากน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ปริมาณผลผลิตด้านการประมงของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และในเดือนเมษายน 2018 เธอสั่งสกัดและยึดเรือประมงผิดกฎหมาย Andrey Dolgov ซึ่งเป็นเรือประมงระยะทำการไกล ในช่วงทศวรรษ 2000 และ 2010 เรือลำนี้ซึ่งมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการประมงผิดกฎหมายในวงกว้าง โดยเป็นหนึ่งในเรือที่ Interpol ต้องการมากที่สุด และในที่สุดเรือ Andrey Dolgov ก็ถูก กองทัพเรืออินโดนีเซียยึดและควบคุมในเดือนเมษายน 2018 และในปี 2019 รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งใจที่จะปรับปรุงเรือลำนี้ให้เป็นหนึ่งในเรือปฏิบัติการของกองเรือบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงของอินโดนีเซีย
เมื่อ 16 กันยายน 2016 กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้มอบรางวัล Leaders for a Living Planet Award ให้กับ Susi เพื่อเป็นการยกย่องความพยายามของเธอในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงจากการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการประมงของอินโดนีเซีย และการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียอย่างเข้มงวด จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution พบว่า นโยบายต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มงวดของ Susi ส่งผลให้ “ปริมาณการจับปลาโดยรวมลดลงอย่างน้อย 25% [อาจ] ทำให้ปริมาณการจับปลาอย่างถูกกฎหมายของชาวประมงอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 14% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 12%”
ฝากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบภารกิจด้านนี้ทั้งกลาโหม ต่างประเทศ และเกษตรฯ ได้นำผลงานของ ‘Susi Pudjiastuti’ มาเป็นแนวทางในการทำงาน ทั้งนี้จะเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและฝีไม้ลายมือในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติอย่างเต็มที่เพื่อที่ประชาชนคนไทยจะได้เห็นผลงานด้วยความชื่นชมต่อไป
เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล