Friday, 10 May 2024
แลนด์บริดจ์

เชื่อม ‘ขนส่ง-ลงทุน’ จากซีกโลกถึงซีกโลกผ่านไทยแลนด์ โปรเจกต์เปลี่ยนไทยให้เนื้อหอมที่ ‘จีน-สหรัฐฯ’ จ้อง!!

ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่กับโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโปรเจกต์ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าในโครงการนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสมหาศาลของไทย หากทำได้สำเร็จ โดยรายการหนุ่ยทอล์ก ดำเนินการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรไอทีและผู้ผลิตคอนเทนต์ชาวไทย ซึ่งได้พูดคุยกับแขกรับเชิญอย่างคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI / นักเขียน และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นั้น ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสรุปคร่าว ๆ แล้ว ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในโลกของกลุ่มมหาอำนาจ ตั้งแต่เรื่องของพลังงานที่แย่งชิงกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาสู่การแย่งชิง ‘แร่หายาก’ (Rare Earth) ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่เชิงภูมิศาสตร์ และนั่นก็ทำให้การมองหาพิกัดในการได้มาและถ่ายเทไปซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ที่ตนมีไปสู่ประเทศอื่น ๆ จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง

โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกกัน โดยทั้ง 2 ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมในอาเซียนจะมี ‘ช่องแคบมะละกา’ ที่เป็นพิกัดในการขนส่งสินค้ามาลงประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่แร่หายาก 

แต่หากมีการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์นี้ รับรองได้ว่า ‘ไทย’ จะได้รับโอกาสใหม่ ๆ อย่างมหาศาล

แน่นอนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่จะใช้เป็นทางลัดจาก ตะวันตก / ตะวันออกกลาง ไปเอเชียหรือไปสู่จีนได้ใกล้กว่ามะละกา แล้วก็สามารถแก้ปัญหาการแออัดของช่องทางคลองสุเอช รวมถึงช่องทางระหว่างแดนต่างๆ จากยุโรปไปถึงตะวันออกกลางและเอเชียภายใต้กรณีพิพาทจากสงคราม 

การเคลื่อนไหวตามข่าวที่เราได้เห็นกันชัดเจนแล้ว คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มาคุยเจรจากับไทย ในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าสิงคโปร์ รวมถึงการลงทุนในโครงการนี้ที่จะตามมาอีกมาก คือสัญญาณว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศไทย แต่เป็นโครงการที่โลกต้องใส่ใจ ภายใต้คำตอบที่ง่ายดายว่า โครงการนี้ขนส่งใกล้กว่าสิงคโปร์ และมีการโอกาสในการต่อยอดด้านการลงทุน สาธารณูปโภค และการขนส่งระหว่างสองซีกอ่าวอย่างมโหฬาร

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้แลนด์บริดจ์เกิด คือ สร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างท่อน้ำมัน กระจายต่อไปทางจีนได้เร็วเท่าไร โอกาสก็ยิ่งชัดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ก็คงไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่โครงการนี้เดินหน้าได้ไม่ยาก เนื่องจากถ้าเราสร้างคลังน้ำมันใหญ่ตรงนี้ได้ การสร้างท่อน้ำมันจากตรงนี้ไปยังประเทศที่โฟกัส ก็จะไม่ยาวมาก

ทั้งสองท่านมองอีกว่า นี่คือความสำคัญของประเทศไทย ในขณะที่จีนกับอเมริกาเขาทะเลาะกัน เพราะพิกัดบริเวณแลนด์บริดจ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากอเมริกามาคุมตรงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ศูนย์กลางของโลกไปเลย นำเศรษฐกิจวิ่งไปอาเซียนได้ ไป EEC ได้ ไปจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วิ่งไปที่จีนข้างบนแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน หากมองประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ในย่านนี้ การมีแร่พลังงาน หรือแม้แต่แร่หายากใหม่ ๆ จากประเทศจีน ก็จะไหลมาหาไทยได้ง่ายขึ้น เพราะตรงนี้ก็จะอยู่ไม่ไกลจากเรา อีกทั้งไทยเรามี FTA กับจีน ก็ขนแร่มามาทางนี้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำเชื่อมต่อได้เลย ซึ่งนี่ก็เหตุผลที่ทำไมรถไฟฟ้าจีนถึงได้มาเมืองไทย

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทําไมบรรดาค่ารถยนต์จีนอย่าง MG หรือแม้แต่ GWM ถึงเริ่มแห่มาไทย เพราะในอนาคตนอกจากที่ว่าไปข้างต้นแล้ว เขายังสามารถขนเอาแร่ลิเธียมจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาบริเวณนี้ได้อีกด้วย

ดังนั้น หมากเกมนี้ รัฐบาลลุงตู่ เหมือนจะวางไว้เพื่อรับโอกาสหลายมิติ แต่มิติที่ใกล้สุดก็คือการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโรงผลิตรถไฟฟ้าโดยธรรมชาติ และเราจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าสิงคโปร์ได้ในอนาคต หากเราทำพิกัดนี้สำเร็จ ถึงบอกว่าประเทศไทยเรามีความหวังมากเลยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะบอกเลยว่า อาจจะเจ๋งกว่า EEC เสียอีก 

ลุงตู่นี่แกก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย
 

มั่นใจ!! 'แลนด์บริดจ์' พาไทยสู่จุดศูนย์กลางของโลกในการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนมหาศาล ผ่านเส้นทางเดินเรือใหม่ จูงใจเหล่าผู้ประกอบการ

(28 ส.ค. 66) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ระบุว่า...

แลนด์บริดจ์
ได้ คุ้ม เสีย

โครงการแลนด์บริดจ์ คือ ภาคต่อของการขุดคอคอดกระ หรือคลองไทย สร้างเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ที่แม้ว่า ไทยจะได้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การสัญจรทางเรือ จะเปลี่ยนมาใช้ช่องทางนี้ แทนช่องแคบมะละกา

แต่ชัดเจนว่า ทำไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องความมั่นคง จากการแยกไทยเป็น 2 ส่วน และเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการ ปล่อยกระแสน้ำจากอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ไหลมาบรรจบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มหาศาล

ที่สุดแล้วโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ จึงถือเกิดขึ้น

แลนด์บริดจ์ คือ การสร้างเส้นทางสัญจรจากฝั่งอันดามัน ไปฝั่งอ่าวไทย พร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกด้าน Logistic อย่างเต็มรูปแบบ

มีความพยายามหาพื้นที่ในการสร้างมาอย่างยาวนาน กระทั่งมาเคาะว่าสมควรจะเป็น คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู (หน่วยนับขนาดตู้คอนฯ ขนาด 20 ฟุต/20 ฟุต = 1 TEU) รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม.

ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด 1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง

หลักการง่าย ๆ คือ เมื่อเรือมาเทียบที่ท่าฝั่งอ่าวไทย ก็จะขนไปขึ้นเรือที่รออยู่ฝั่ง อันดามัน (หรืออันดามัน ไป อ่าวไทย) ในเวลาที่รวดเร็ว

หากทำสำเร็จ จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลกในการขนส่งสินค้า และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งเส้นทาง จากที่ผ่านช่องแคบมะลากาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางมหาสมุทรอินเดีย ไปยังทะเลจีนใต้ ซึ่งสามารถกระจายสินค้าไปได้ทั่วโลก

จะเป็นการขนส่งสินค้า ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออก, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน โดยลูกค้าหลัก จะเป็นเรือสินค้า ฟีดเดอร์ ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเกิดอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) มีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพรส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

การพัฒนาแลนด์บริดจ์ประมาณมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.001 ล้านล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่ก็คุ้มค่า หากไทยคิดจะลงทุน โดยที่ผ่านมาโปรเจคในลักษณะของการพัฒนาพื้นที่ ในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  เราไม่เคยเห็นความล้มเหลวเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอิสเทิร์น ซีบอร์ด หรือ อีอีซี ก็ตาม นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่คุ้มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม มีแรงต้านแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม และนักอนุรักษ์วิถีดั้งเดิม เพราะโครงการขนาดนี้ ลงไปที่ไหน ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพลิกฝ่ามือ วัฒนธรรมชาวบ้าน ย่อมได้รับแรงสะเทือน วิถีชุมชน ต้องมีการปรับเปลี่ยน สิ่งแวดล้อม ได้รับผลกระทบ

ทว่าหากมองมุมของเศรษฐกิจ แล้ว ผมย้ำคำเดิม

ได้คุ้มเสีย #KUL

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...

‘สุริยะ รมว.คมนาคม’ ยัน!! ไม่เคยสั่งยกเลิก ‘แลนด์บริดจ์’ อยู่ในขั้นตอนศึกษาแผนงานอย่าง ‘รอบด้าน-รอบคอบ’

(21 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวตนสั่งชะลอการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือที่เรียกกันว่า ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ (Land Bridge) นั้น ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ โดยไม่เคยมีการสั่งการให้ยกเลิกการดำเนินงานโครงการตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด 

ทว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วนั้น กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หากเมื่อศึกษาแล้วเสร็จ จะเดินหน้าตามกระบวนการต่อไป 

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นไปตามการมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มอบหมายให้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบาย ‘คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน’ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นลำดับแรก เพื่อยกระดับการเดินทางและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ จะมีการจัดลำดับเป้าหมายในการขับเคลื่อนตามความสำคัญ ยึดหลักผลประโยชน์ประเทศและประชาชนจะได้รับเป็นที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ จะต้องมีการศึกษาและบูรณาการงานร่วมกันอย่างรอบคอบมากที่สุด โครงการไหนที่เป็นประโยชน์ พร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกโครงการฯ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ และได้มอบหมายให้ สนข. ทำการศึกษาโครงการฯ ให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างรอบคอบ  และรัดกุม เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง โดยในขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาและลงทุนโครงการ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตามแผนการดำเนินงานจะมีการจัดประชุมทดสอบความสนใจและรับฟังความเห็นของภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่มีต่อโครงการฯ เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเป็นไปในการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป

สำหรับโครงการนี้จะให้เอกชนลงทุน 100% โดยรัฐจะลงทุนเฉพาะค่าเวนคืนเท่านั้น เนื่องจากวงเงินลงทุนมีมูลค่าสูงประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจประมาณ 2 - 3 ราย แต่เงียบไป ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมีความสนใจในโครงการมากขึ้น กระทรวงฯ จะต้องไปทำ Roadshow เพื่อรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างในประเทศ ทั้งในจีน ยุโรป อเมริกา และประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดและดำเนินโครงการของกระทรวงฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค และให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและความอุดมสุขของพี่น้องประชาชน

‘พงศ์กวิน’ เคลียร์ชัด!! ‘สุริยะ’ ไม่เคยเอ่ยคำว่า ‘ยกเลิกแลนด์บริดจ์’ ชี้!! ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นศึกษา ‘โมเดลที่เหมาะ-ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิด’

(22 ก.ย.66) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ท่านสุริยะไม่เคยพูดเรื่องยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

'แลนด์บริดจ์' หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) จะทำให้ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยการลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่ผ่านช่องแคบมะละกาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

ในปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในไทม์ไลน์ของการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะมีการเสนอให้ครม.เห็นชอบหลักการในเดือนตุลาคม 2566 อนุมัติ EHIA ปลายปี 2567 และเปิดประมูลในช่วงกลางปี 2568

ขอยืนยันว่าทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันทุกนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนให้เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนครับ

4 ผลพวง 'แลนด์บริดจ์' ดันเศรษฐกิจไทย เจริญไวตามสะพาน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการจากการริเริ่มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาคใต้และเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้แสดงความกังวลต่อกระแสข่าวชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับแลนด์บริดจ์และสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี (SEC) 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

โดยจะเน้น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับการขับเคลื่อยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนา ดังนี้

-การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 
-การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่

-การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ

-เร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“เอกชนได้สะท้อนถึงอุปสรรคกฎหมายต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจะเร่งแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

โอกาสทอง ‘อุตสาหกรรมบรรจุผลไม้ในน้ำเชื่อมไทย’ ผนึก ‘อาร์เจนฯ’ กระจายต่อ ‘ตะวันตก-ยุโรป’ คล่อง

(25 ก.ย. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘Trachoo Kanchanasatitya’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ฝรั่ง งง กันมากกว่า ลูกแพร์ในน้ำเชื่อมทำไมถึงปลูกที่อาร์เจนติน่า แต่ส่งข้ามโลกไปบรรจุที่ไทยแลนด์ แล้วส่งอ้อมโลกมาขายที่อเมริกาและยุโรป ให้มันเสียเวลาเสียต้นทุนไปทำไม ทำไมไม่บรรจุที่อาร์เจนตินาแล้วส่งไปขายเองเลย หรือ ทำไมอเมริกาไม่ปลูกเองบรรจุเองซะเลย

คำตอบ เป็นเรื่องความคิดทางโลจิสติกส์อย่างมาก

1. ลูกแพร์ของอเมริกาไม่อร่อยเท่าปลูกที่อาร์เจนฯ
2. ลูกแพร์ต้องเก็บก่อนสุก 2 สัปดาห์และเกษตรกรต้องเก็บในห้องเย็นตลอดเวลา ซึ่งเปลืองค่าพลังงานมาก หากส่งใส่เรือไปในคอนเทนเนอร์แบบตู้เย็น ต้นทุนค่าทำความเย็นบวกค่าส่ง ถูกกว่า เก็บห้องเย็นที่อาร์เจนฯ เสียอีก
3. การบรรจุผลไม้ในน้ำเชื่อม ไทยแลนด์เก่งมาก เพราะทำส่งขายย่าน South East Asia หลายประเทศ อาร์เจนตินาสู้ต้นทุนไทยไม่ได้
4. รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด คือ ปลูกที่อาร์เจนฯ แพ็กที่ไทย แล้วส่งไปยุโรป อเมริกา ถูกกว่า

โลจิสติกส์ล้วนๆ 

เรื่องบางเรื่อง เราไม่สามารถใช้ Common Senses ไปตัดสินความถูกต้องเหมาะสม เพราะโลกนี้มีวิธีคิดใหม่ ๆ ซับซ้อนมากกว่า Common Senses ของเรา มันคงมีเหตุผลของมัน แค่ เราไม่รู้เท่านั้น

'รองอ๋อง' รับหนังสือค้านโครงการแลนด์บริดจ์ จากตัวแทน จ.ชุมพร หวั่น!! 'แย่งที่ดินทำมาหากิน-ไม่อยากขายที่ดินบรรพบุรุษ'

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 66) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง รับหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ภาคใต้ จากตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน อ.หลังสวน และ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ผู้คัดค้านแลนด์บริดจ์ จำนวน 45 คน โดยกล่าวว่า จะนำไปศึกษาเบื้องต้นและนำเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าเสียงของประชาชนทุกคนสำคัญ ต้องพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตอบสนองประชาชนไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะนำปัญหาโครงการแลนด์บริดจ์เข้าสู่การประชุมของพรรค หลังมีการตั้งกรรมาธิการสามัญจะนำเรื่องเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้อง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ทั้งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าโครงการฯ กระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม โดยเวนคืนที่ดินชาวบ้าน นำข้อมูลผิด ๆ ให้แก่ชาวบ้าน ว่า จะให้ราคาที่ดินในราคาสูง เข้าพื้นที่ในยามวิกาล ทั้งนี้ พื้นที่ อ.หลังสวน และ อ.พะโต๊ะ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญ หากโครงการมีผลกระทบกับประชาชนขอให้รัฐบาลพิจารณาโครงการอีกครั้ง

“ชาวบ้านไม่ต้องการขายที่ดินของบรรพบุรุษ แย่งที่ดินไปจากชาวบ้าน โดยออก พ.ร.บ.แลนด์บริดจ์ เวนคืนที่ดินชาวบ้านไร้มรดกสืบทอด รวมถึงทรัพยากรน้ำ ถือเป็นสินทรัพย์ของรัฐ ต้องถูกตัดไปให้แก่นิคมอุตสาหกรรมในโครงการฯ นอกจากนี้ โครงการจะกระทบแหล่งทำประมงชาวบ้านจากน้ำมัน และสารเคมีที่รั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำและทะเล ทั้งนี้ ประชาชนมั่นใจ จ.ชุมพร-จ.ระนอง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเวทีแยกส่วนในการให้ข้อมูลแก่ประชาชน จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามจะประชาชนในพื้นที่ และสนข. ยืนยันไม่มีการตั้งโรงงานเกี่ยวกับปิโตรเคมี แต่ประชาชนทราบข่าวจากสื่อว่า ซาอุฯ จะลงทุนตั้งโรงกลั่นน้ำมันในพื้นตามที่เป็นข่าว ประกอบกับ สนข. กล่าวหาว่า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าของโครงการฯ ที่จะตั้งอยู่ ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน” นายปดิพัทธ์ กล่าว

‘สุริยะ’ เร่งสปีดดัน ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ เตรียมชง ครม. ต.ค.นี้ พร้อมลุยโรดโชว์ดึงต่างชาติร่วมทุน ลุ้นเดินเรือยักษ์ใหญ่ร่วม

เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.66) จากช่องยูทูบ MONAI CHANNEL ได้โพสต์คลิปวิดีโออธิบายเกี่ยวกับ ‘โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร’ ที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าพร้อมเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยระบุว่า…

ณ ปัจจุบันนี้ หนึ่งในเส้นทางการเดินเรือสำคัญของโลกเป็นการเชื่อมกันระหว่างเอเชียตะวันออก ก็คือประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จากนั้นก็มีการอ้อมผ่านทางทะเลจีนใต้ ผ่านแหลมมลายู สิงคโปร์ ไปสู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ไปผ่านอินเดียตอนใต้แล้วค่อยไปออกแถวแอฟริกา จากนั้นไปผ่านคลองสุเอซ เข้าไปต่อที่บริเวณแถบยุโรป และนี่คือเส้นทางการเดินเรือสำคัญ หรือจากยุโรปเองจะมีการส่งสินค้ามาก็ผ่านเส้นทางนี้เช่นกัน

แต่ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษามาเรียบร้อยแล้ว คือเป็นการทำ ‘ชอร์ตคัท’ ไม่ต้องไปอ้อมแหลมมลายูของทางสิงคโปร์ แต่ผ่านบริเวณแผ่นดินของประเทศไทย โดยจุดเชื่อมสำคัญบริเวณ ‘ทะเลอ่าวไทย’ คือ จังหวัดชุมพร และจุดเชื่อมสำคัญของบริเวณ ‘ทะเลอันดา’ คือ จังหวัดระนอง ซึ่งเราจะมีทั้งรถไฟทางคู่และถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อที่จะให้เวลาเหลือ มีการเปลี่ยนโหมด ซึ่งพอมาถึงชุมพรจากนั้นก็ใช้เครื่องออโตเมติกหยิบตู้คอนเทนเนอร์ใส่รถไฟ รถไฟก็จะวิ่งข้ามแผ่นดินมาถึงที่จังหวัดระนอง จากนั้นก็มีระบบอัตโนมัติหยิบตู้คอนเทนเนอร์จากรถไฟไปลงเรือ จากเรือไปต่อมหาสมุทรอินเดียแล้วก็ไปส่งของต่อ ซึ่งจะเป็นเอเชียใต้ แอฟริกา หรือยุโรปก็ได้…

ซึ่งตอนแรกสุดเหมือน คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า…อาจจะไม่เดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่ล่าสุด ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566 คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ซึ่งขออนุญาตหยิบยกมาจากข่าวสด 

นายสุริยะกล่าวว่า “โครงการสภาเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย อันดามัน ชุมพรกับระนอง หรือแลนด์บริดจ์ คาดว่าจะเสนอให้ครม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายใน 2 สัปดาห์นี้” ซึ่งก็คือภายในเดือนตุลาคมนี้ 

“ก่อนจะเดินหน้าไปโรดโชว์ต่างประเทศอย่างยุโรป สหรัฐฯ รวมไปถึงตะวันออกกลาง เพื่อชี้แนะรายละเอียดของโครงการประกอบการจูงใจดึงดูดนักลงทุนให้มาร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย เพราะโครงการนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท” นายสุริยะกล่าว

แต่เราจะไม่ใช้งบประมาณจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด และจากนั้นให้สัมปทานไปยาว ๆ 50 ปีด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต่างถกเถียงกันเป็นอย่างมาก โดยบางส่วนห่วงเรื่องของการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และบางส่วนบอกว่าจำเป็นต้องเดินหน้าจะเป็นโครงการที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมหน้าประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้า การคมนาคมขนส่ง และแลนด์บริดจ์ที่ว่านี้ จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเดินหน้าเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ หรือ SEC โดยปัจจุบันนี้ เรามีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จากนี้ไปเราจะมีแต่ละภาคหมด อย่างภาคเหนือจะมี NEC ส่วนภาคใต้ก็จะมี SEC 

ซึ่ง คุณสุริยะ ได้บอกต่อว่า คาดว่าจะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA แล้วเสร็จ ภายในช่วงต้นปี 67 ก่อนจะขับเคลื่อนเรื่องการลงทุนต่อไป เช่นเดียวกับแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง ก็จะให้สนข.ผลักดันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ‘แลนด์บริดจ์’ ยังไม่จบ…และจะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่ที่นี่ต้องรอดูว่าครม.จะเห็นชอบหลักการหรือไม่ และถ้าเกิดครม.เห็นชอบหลักการเวลาไปโรดโชว์ต่างประเทศ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจหรือเปล่า…เพราะเป้าหมายสำคัญนักลงทุนต่างชาติที่ต้องให้ความสนใจ คือ บริษัทเดินเรือขนาดใหญ่…

‘ครม.’ รับทราบหลักการ ‘แลนด์บริดจ์’ มูลค่า 2.28 แสนลบ. เชื่อมท่าเรืออ่าวไทย-อันดามัน พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

(17 ต.ค. 66) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป

สำหรับแผนการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นั้น กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการ Road Show ในช่วง พ.ย. 2566 - ม.ค. 2567 จากนั้นจะจัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ภายในปี 2567 และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในช่วง ธ.ค. 2567

ทั้งนี้ จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนใน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ควบคู่กับการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วง ม.ค. 2568 - ธ.ค. 2569 หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาภายใน ก.ค. - ส.ค. 2568 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 5 ปี หรือ ก.ย. 2568 - ก.ย. 2573 และเปิดให้บริการใน ต.ค. 2573

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุต่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์ รวมประมาณการลงทุนโครงการ วงเงิน 228,512.79 ล้านบาท มีรูปแบบการพัฒนาโครงการโดยเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า

ทั้งนี้ เป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ พร้อมทั้งกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการฯ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า

โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ได้แก่ การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง (อันดามัน) บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี 2577 และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2579

อย่างไรก็ตามขณะที่ การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร (อ่าวไทย) บริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี 2577 ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2582

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43% มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62% ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 อีกทั้งการพัฒนาโครงการฯ จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง ร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top