Tuesday, 21 May 2024
แลนด์บริดจ์

‘ธนกร’ มั่นใจ!! รัฐบาลเศรษฐาเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’ ต่อจากลุงตู่ ชี้!! ช่วยดึงเงินลงทุนมหาศาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก

(20 ต.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีและครม. เดินหน้าศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม และยังกระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้และภาพรวมของประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แลนด์บริดจ์หากเปิดใช้ระยะแรกในปี 73 จะแก้ปัญหาความแออัดของการขนถ่ายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน นายธนกร กล่าวว่า คาดการณ์ไว้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้ง 2 ระยะ (เฟส) โดยระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ กระจายสินค้าในภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินเรือและการขนส่งสินค้าทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดระยะทางและเวลาขนส่งลงได้ 4 วัน เมื่อเทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตเวย์ เชื่อมการขนส่งสินค้า จากยุโรป-แลนด์บริดจ์-จีน กลายเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา สร้างรายได้ให้กับพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ มีทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

“พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางโครงการแลนด์บริดจ์ไว้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ต้องการให้ไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย มั่นใจว่า แลนด์บริดจ์ จะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ให้ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและยกระดับรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก หากรัฐบาลสานต่อจนสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลก พุ่งเป้ามาที่ไทยให้กลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เชื่อมโยงกับที่รัฐบาลชุดก่อนที่ได้ทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จนสำเร็จมาแล้ว” นายธนกร กล่าว

‘เศรษฐา’ ชูศักยภาพไทย หยอด ‘จีน’ ร่วมลงทุน ยาหอม!! จีนมหามิตร ไทยพร้อมชิดเชื่อม BRI

(20 ต.ค.66) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมงาน Thailand-China Investment Forum ที่โรงแรมเคอร์รี่ โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน และขอให้เชื่อมั่น ตนได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคนที่มาเยือน และการเดินทางมาจีนครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงมาตลอด ที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและจีนครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ 4 (ปี 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียน

นายกฯ กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งบกและทะเล จึงตระหนักถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน รัฐบาลไทยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

“เป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการค้าและการลงทุน” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในระดับภูมิภาคจีนและไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับสิทธิ ยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากร ดังนั้น การเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว นอกจากความตกลง RCEP แล้ว จีนและไทยมีกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยตั้งเป้าในการปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในหมวดสินค้าอ่อนไหว รวมถึงการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน อันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

เช็กไทม์ไลน์ ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน เมกะโปรเจกต์ 1 ลลบ. 

‘แลนด์บริดจ์’ หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่วงเงิน 1,001,206.47 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ตามไทม์ไลน์รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบโครงการ การพัฒนาโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ จัดทำกฎหมายและจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จากนั้นจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ก่อสร้างโครงการ โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการ ในเดือนตุลาคม 2573 

‘เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ’ ยื่นหนังสือร้องยุติโครงการแลนด์บริดจ์ ชี้!! กังวล ‘ของเสีย-อากาศพิษ’ กระทบการเกษตร-ชีวิต ปชช.

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอพะโต๊ะ ผ่านนายเชิงชาย ไพรพฤกษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอพะโต๊ะ เพื่อเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานยุติการจัดเวทีเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง หรือการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเข้ามาชี้แจงข้อสงสัย และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามข้อเรียกร้องนี้ จะปฏิเสธความร่วมมือและจะร่วมกันคัดค้านการจัดเวทีหรือการทำกิจกรรมอื่นใดของทุกหน่วยงานหลังจากนี้ไปอย่างถึงที่สุด โดยมีการถือแผ่นป้ายระบุข้อความ ‘พะโต๊ะเมืองเกษตร ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม’

นางเฉลิมอุษา สีเขียว เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า พวกเราทราบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอไปแล้วหลายครั้ง และล่าสุดทราบว่าจะมีการจัดเวทีในวันที่ 14 พ.ย.นี้อีกครั้ง กลายเป็นความสับสนและไม่เข้าใจต่อกระบวนการจัดเวทีที่ผ่านไปแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลอะไรตามมากับพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลประกาศไปแล้วว่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ให้ได้ พร้อมกับจะมีการเดินสายเพื่อหาผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาลงทุนให้ทันภายในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจบริหารประเทศ จึงยิ่งสร้างความไม่มั่นใจว่า การจัดเวทีทั้งหลายเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปเพื่ออะไร หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการ ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

นายสมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ แต่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้จะนำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมา ซึ่งตอนนี้นักการเมืองกำลังผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายอำเภอในจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีมูลค่าสูง ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท พื้นที่ปลูกทุเรียนโดยส่วนใหญ่อยู่ที่พะโต๊ะและหลังสวน ในอนาคตจะมีการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ของเสีย น้ำเสีย ขยะพิษ อากาศพิษ จากนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

‘สุริยะ’ เล็ง!! ใช้เวทีเอเปคที่สหรัฐฯ 11 - 17 พ.ย.นี้  ประเดิมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติร่วมทุน

(2 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนเตรียมเดินทางร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่าง 11 - 17 พ.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะใช้โอกาสนี้โปรโมทโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดัน เพื่อให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการสำคัญสนับสนุนการเดินทาง การค้า และการขนส่ง

“ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการและให้กระทรวงคมนาคมเริ่มโรดโชว์โครงการเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าร่วมลงทุนในแลนด์บริดจ์ การเดินทางไปประชุมเอเปกครั้งนี้ จึงถือเป็นการประเดิมโรดโชว์โครงการนี้ด้วย โดยกระทรวงฯ จะใช้เวทีกลุ่มย่อยในการเจรจาความร่วมมือด้านการคมนาคมและการขนส่งนี้ โปรโมทแลนด์บริดจ์เพื่อให้เป็นสื่อกลางไปยังนักลงทุนเอกชน และหลังจากนี้กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะโปรโมทแลนด์บริดจ์ไปในอีกหลายประเทศต้นไตรมาส 1 ของปี 2567” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับความพร้อมของการผลักดันแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 หลังจากนั้นจะมีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยหากขั้นตอนเหล่านี้แล้วเสร็จ คาดว่าแลนด์บริดจ์จะสามารถเริ่มเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการลงทุนจากเอกชนในปี 2568

ทั้งนี้กรอบการดำเนินงานที่ ครม.อนุมัติในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นกำหนดให้กระทรวงคมนาคมโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2558 และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2568 จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือน ส.ค. 2568 และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย. 2568 โดยโครงการนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค. 2573

สำหรับผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท

'บอย-อิทธิพัทธ์' คลาย 5 ข้อสงสัย Landbridge 'ระนอง-ชุมพร' ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่ 'สิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต' ไม่สะเทือน

(25 พ.ย.66) คุณบอย อิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีกลุ่มไอ้โม่งนำชาวบ้านไปคัดค้านการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ โดยไขข้อสงสัยสำคัญ 5 ข้อดังนี้ ว่า...

1. ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะสูญเสีย รวมถึงผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน 

ตอบ : ทางรัฐบาล ได้ทำการประชาพิจารณ์ทุกหมู่บ้านและผู้เข้าร่วมเห็นด้วยกับโครงการ Landbridge แต่อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมจึงอาจจะยังไม่เข้าใจจึงมีการตั้งคำถามกันขึ้นมา ส่วนค่าเวนคืนทางกระทรวงคมนาคมเวนคืนตามหลักของกฎหมายการเวนคืนซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กันทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทยไม่ได้มีการเอารัดเอาเปรียบแต่อย่างใดและสามารถ อุทธรณ์เรื่องค่าเวนคืนหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้

2. ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับผลพลอยได้ด้วยหรือไม่ มีอุตสาหกรรมอะไรใหม่ๆ หรือจะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์อะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมบ้าง

ตอบ : โครงการ Land bridge เป็น Mega Project ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยให้พัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท จากภาคเอกชนที่ประมูลได้จะมาลงทุนทำท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 จังหวัด สร้างมอเตอร์เวย์ สร้างทางรถไฟ และทำท่อส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซ ซึ่งเมื่อสำเร็จอุตสาหกรรมหลังท่าที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเน้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นและจะไม่สร้างโรงกลั่นน้ำมันมาแข่งกับทาง EEC และจะเพิ่มอัตราการจ้างงานมากกว่า 200,000 อัตรา ยกระดับคุณแรงงานและความเป็นอยู่ของคนภาคใต้ และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลิกโฉมภาคใต้และประเทศไทยแน่นอน 

3. มีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินจากยูเนสโก อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ถึงชุมชน รวมถึงป่าชายเลนซึ่งเป็นระบบนิเวศที่กักเก็บก๊าซคาร์บอน

ตอบ : รัฐบาลไม่หยุดเตรียมคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน และจะใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการพื้นที่รอบท่าเรือ ให้เหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีท่าเรือขนาดใหญ่และสามารถอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของสัตว์และพันธุ์พืชหายากได้ ส่วนพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือเป็นพื้นที่ใกล้ป่าชายเลนซึ่งไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสร้างประโยชน์อะไรได้มากและพื้นที่ตรงนั้นมีความลึกที่เพียงพออาจขุดลงไปอีกไม่มากไม่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน 

4. การพัฒนาระบบท่อส่งน้ำมัน ทุกวันนี้เรายังเห็นปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลขึ้นในโครงการนี้ รัฐบาลได้วางแผนระบบการกำจัดคราบน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และจะมีกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

ตอบ : Mega Project อย่าง Land bridge จะต้องมีการเตรียมการ มีการศึกษาเชิงลึก และวางปัญหาที่จะเกิดขึ้นเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ผู้ประมูลที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จะไม่เสี่ยงที่จะทำงานให้ผิดพลาดเพราะในสัญญาการประมูล จะมีเพียงผู้ชนะการประมูลเพียงเจ้าเดียว เพื่อให้เป็น One port two sides ที่มีระบบการจัดการทั้งหมดเป็นAutomation รวมเป็นศูนย์เดียว และเป็นจะต้องถูกออกแบบและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดหากมีข้อผิดพลาดบริษัทผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบ

5. การขนส่งทางบกและทางรางซึ่งต้องผ่านพื้นที่ป่า ก็ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสัตว์ป่าด้วยการสร้างทางเดินให้สัตว์ป่าด้วย

ตอบ : แน่นอนว่าการทำถนน เจาะอุโมงค์ ต้องกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่การพัฒนาโครงการ Land bridge จากการศึกษามีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเพราะฉะนั้นแผนการก่อสร้างต่างๆ จะออกแบบให้เกิดผลกระทบที่น้อยสุด และตรงจุดที่้เลี่ยงไม่ได้ก็จะสร้างพื้นที่ป่าทดแทนให้เท่าเทียมหรือมากกว่าเดิมเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่า 

'นักวิเคราะห์' หวั่น!! 'แลนด์บริดจ์' สะเทือนมาเลเซีย เชื่อ!! อาจทำ 'ท่าเรือกลัง' ยอดให้บริการวูบ 20%

(25 พ.ย.66) หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปนำเสนอโครงการ Land Bridge (แลนด์บริดจ์) ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่จะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางเลือกผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรูปแบบการขนส่งเชื่อมสองท่าเรือให้โยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

เนื่องจากโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ นี้จะสร้างข้ามมาจากภาคใต้ของไทย เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะเป็นการค้าทางเรือที่เลี่ยงผ่านมาเลเซียและสิงคโปร์ไป โดยที่เรือไม่ต้องแล่นลงไปตามปลายสุดของสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา หนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

มุมมองและความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และนักวิชาการ Free Malaysia Today หรือ FMT ในมาเลเซียรายงานว่า แลนด์บริดจ์ของไทยอาจทำให้ท่าเรือมาเลเซียพ่ายแพ้ทางการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า

สายการเดินเรือจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ ท่าเรือกลังมีแนวโน้มที่จะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินที่สำคัญ แต่ท่าเรือปีนังอาจได้รับผลประโยชน์จากสะพานแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย 

Karisma Putera Rahman แห่งสถาบันวิจัย Bait Al-Amanah กล่าวว่า อาจเห็นท่าเรือกลังที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้เฝ้าประตู’ ของช่องแคบมะละกา และเป็นช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก อาจมีการลดบริการจัดการสินค้าลงถึง 20% แต่ในทางกลับกัน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า ปีนังอาจได้รับประโยชน์จาก ‘ทางลัด’ ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย 

อีกทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอใหม่ในการฟื้นฟูโครงการที่มีอายุหลายศตวรรษ พร้อมกล่าวปราศรัยกับนักลงทุนนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ว่า เส้นทางภาคพื้นดินนี้จะสามารถลดเวลาการเดินทางของเรือได้ถึง 4 วัน และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 15%

>> ย้อนอดีตเชื่อมสองฝั่งทะเล

แนวคิดเรื่องการทำเส้นทางตรงระหว่างผืนน้ำทั้งสองที่ประกบกับคลองกระ ซึ่งเป็นแถบแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับคาบสมุทรมลายู เคยถูกเสนอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2220 แต่แทนที่จะทำเพื่อการค้าขาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนกำลังทหารได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการรุกรานโดยอาณาจักรพม่า (เมียนมา) ที่อยู่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษยังพิจารณาแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลทางการค้า แต่มุ่งเน้นไปที่การขุดคลองมากกว่าการสร้างเส้นทางบก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น

Karisma Putera Rahman คาดว่า ช่องแคบมะละกาจะเต็มความจุภายในปี 2573 สะพานแลนด์บริดจ์จะทำหน้าที่เป็นเส้นทางทางเลือกในอุดมคติสำหรับการจราจรทางทะเล อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางสินค้าส่วนใหญ่ออกจากท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสายการเดินเรือในท้องถิ่น และเป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วของท่าเรือนี้

ทั้งยังคาดการณ์ว่า 15-20% ของการขนส่งสินค้าจะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากมาเลเซียและสิงคโปร์ทันทีที่สะพานแลนด์บริดจ์เปิดใช้งาน พร้อมเสริมว่า “จากปริมาณปี 2565 ของท่าเรือกลัง อยู่ที่ 13.22 ล้านหน่วยเทียบเท่า (TEU) ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านริงกิตนั้น คาดว่ารายรับจะลดลงจาก 360 ล้านริงกิต ถึง 480 ล้านริงกิต” 

>> ข้อได้เปรียบสำหรับปีนัง มาเลเซีย

นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย-อาเซียน กล่าวว่า หากท่าเรือปีนังดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ขนส่งในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนส่งทางรถไฟมายังประเทศไทย “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าเรือในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” เขากล่าวเสริม 

แม้ว่าผลกระทบของสะพานแลนด์บริดจ์อาจก่อให้เกิดความกังวลในมาเลเซีย แต่ก็มีบางคนที่ไม่กังวลมากนัก

Alvin Chua รองประธานสมาพันธ์ผู้ขนส่งสินค้าแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ต้นทุนเพิ่มเติมในการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือไทยทั้งสองแห่ง น่าจะช่วยในเรื่องความประหยัดจากระยะเวลาเดินทางที่สั้นลงได้พอๆ กัน พร้อมเสริมว่า “การขนถ่ายสินค้ามีราคาแพง โดยอาจมีราคาอยู่ที่ 125,000 ถึง 150,000 เหรียญสหรัฐต่อลำ ต่อวัน” นอกจากนี้ กระบวนการใหม่นี้จะต้องใช้เรือสองลำแทนที่จะเป็นลำเดียวในการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง

Karisma Putera Rahman เห็นด้วยว่า กระบวนการเทียบท่า การขนส่งสินค้าทางถนนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กม. จากนั้นก็บรรจุลงเรืออีกลำหนึ่งนั้น อาจลดปริมาณการใช้งานสะพานแลนด์บริดจ์ลงได้ “ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของโครงการดังกล่าวต่อมาเลเซีย จึงยังคงไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้” Karisma กล่าวเสริม

>> ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์
โครงการดังกล่าวยังคงทำให้เกิดข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น เส้นทางภาคพื้นดินจะช่วยให้เรือของจีนสามารถเลี่ยงท่าเรือของมาเลเซียได้ ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับชิปต่อรองที่มาเลเซียมีในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน 

Karisma Putera Rahman กล่าวอีกว่า “นี่อาจทำให้ความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ที่มีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของมาเลเซียเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการดำเนินการตามกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมีความซับซ้อน เนื่องจากมาเลเซียมีบทบาทในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับสหรัฐฯ และจีน”

ด้าน นอร์ดิน อับดุลละห์ (Nordin Abdullah) มองว่านี่เป็น ‘การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด’ ของไทย ในการรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในและรอบๆ ท่าเรือทั้งสองแห่ง และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ตอนนี้ได้แต่หวังเพียงว่าจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว” 

หลังจากได้มีการเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างงานได้ 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้ถึง 5.5%

‘ไทย’ ปิดจ๊อบ!! 7 บิ๊กเนม ‘มะกัน’ ปักธงลงทุน ‘Landbrigde’

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ (Landbridge) วงเงินลงทุนโครงการ 1 ล้านล้านบาท ไปนำเสนอในงานเอเปค ครั้งที่ 30 ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12-19 พ.ย.66 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากมาย และมี 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ตกลงร่วมลงทุนในโครงการนี้แล้ว 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวมมาให้แล้ว จะมีบริษัทไหนบ้าง มาดูกัน!!

‘รศ.ดร.สมพงษ์’ มอง ‘แลนด์บริดจ์’ อาจเป็นได้แค่ทางผ่าน หากมองข้ามการยกระดับเป็น ‘ศูนย์กลางการค้า’ ใต้แผนนี้

จากรายการ THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์พิเศษหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'แลนด์บริดจ์ หรือจะเป็นได้แค่ทางผ่าน?' เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.66 โดยจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ซึ่ง รศ.ดร.สมพงษ์ เป็นหนึ่งในทีมงานการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วยนั้น ได้เปิดเผยว่า...

การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่มีการศึกษามาแล้วอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โดยโครงการนี้จะมีการสร้างท่าเรือในฝั่งชุมพร และระนอง ประกอบไปด้วยการสร้างรถไฟและทางมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงกัน พร้อมกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ควบคู่ 

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีการคาดการณ์เรือที่จะมาใช้บริการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าของไทยเรามากที่สุด คือ การถ่ายลำ (Transshipment) 78% กลุ่มสินค้าไทย 18%  กลุ่มสินค้าจีน 4% 

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลตรงนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่ากลุ่มสายเรือที่ต้องถ่ายลำที่คาดหวังสูงถึง 78% นั้น จะมาใช้แลนด์บริดจ์จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนเส้นทางมาจากช่องแคบมะละกา และถ้าเรือขนาดใหญ่ไม่เทียบท่าขนถ่าย ท่าเรือที่ออกแบบไว้ก็จะไม่คุ้มค่าในการลงทุน 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยที่ได้ศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบเบื้องต้นและความเหมาะสมในการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งสองฝั่งทะเล อ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งมีด้วยกันหลักๆ 3 โครงการ คือ การขุดคลองไทย, แลนด์บริดจ์ และ การเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายในฝั่งพม่า โดยงานวิจัยได้ศึกษา 3 ทางเลือกพร้อมกัน 

“ทว่าจากการศึกษาทั้ง 3 โครงการผลการศึกษา สะท้อนถึงความไม่คุ้มค่า ทั้งในด้านในมิติเศรษฐกิจ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ยังมีมิติของความมั่นคง ซึ่งน่ากังวลอยู่ ขณะเดียวกันถ้ามองในแง่การสนับสนุน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) แน่นอนว่าเราก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพท่าเรือที่มีอยู่ได้ แต่ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องใด และมีความจำเป็นในการใช้ท่าเรือหรือไม่ หรือจะส่งเสริมในเชิงท่องเที่ยวสุขภาพ เน้นบริการด้านสุขภาพ ก็สามารถพัฒนาได้ในอนาคต”

เมื่อถามว่า แล้วโดยสรุปโครงการแลนด์บริดจ์จะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่? รศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า “ด้วยงบประมาณที่มากถึง 1 ล้านล้านบาท ถ้าเกิดไม่มีลูกค้าสายเดินเรือมาถ่ายลำตามคาดการณ์จริงๆ จะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องพิจารณา ซึ่งไทยเองก็ยังไม่เคยทำโครงการที่มีการลงทุนมากขนาดนี้ อีกอย่างถ้ามาดูประโยชน์จริงๆ แล้วเหมือนไทยได้เก็บเพียงค่าผ่านทางเท่านั้น อาจไม่คุ้มค่า โดยแบ่งเป็น การขนถ่ายสินค้าไทย 20% อีก 80% คือสินค้าผ่านทาง หมายความว่าเราจะได้เพียงค่าผ่านทาง กลับกันสิงค์โปร์เองไม่ได้เก็บเพียงค่าผ่านทาง แต่เขามองตนเองเป็นศูนย์กลางการค้า ขณะที่ไทยไม่ได้มองเป็นศูนย์กลางการค้า เราจะเน้นแต่การผลิตเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไทยควรสร้างความสามารถทางการค้าเพิ่มขึ้นควบคู่ … แลนด์บริดจ์ จึงจะไม่เป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น”

'เศรษฐา-สุริยะ' โชว์จุดแข็ง 'แลนด์บริดจ์' โน้มน้าวใจนักลงทุนญี่ปุ่น  ลด 'ต้นทุน-เวลา' ขนส่ง เล็งให้สัมปทานยาว 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี

(18 ธ.ค. 66) ที่ห้องซากุระ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริด์จ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ ในวันนี้ ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่าทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก 

ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วันดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% 

อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุริยะ กล่าวถึง 2 เหตุผลสำคัญ 1. ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ Landbridge ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสำหรับการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของช่องแคบ เรือจึงต้องเข้าคิวเป็นเวลานานก่อนที่จะสามารถผ่านช่องแคบ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง

นายสุริยะ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินโครงการ ได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ(International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฏหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทยโครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการลดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top