Tuesday, 21 May 2024
แลนด์บริดจ์

‘นายกฯ’ ยัน ‘แลนด์บริดจ์’ อยู่ในใจนานาชาติ ภายใต้จุดยืน ‘เป็นกลาง’ เพื่อเชื่อมโลกทั้งโลก

(4 ม.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันที่ 2

น.ส.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายตอนหนึ่งถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่า มีการประเมินว่าจะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ของทุกปี ซึ่งในงบฯ ปี 67 นี้ได้จัดทำเพื่อศึกษาความเหมาะสม การออกแบบเบื้องต้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน และยังมีการตั้งงบฯ พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ให้มีความสมบูรณ์ และเมื่อโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นในอนาคต ตนหวังว่ารัฐบาลจะจัดงบฯ ในปี 2568 เพื่อรองรับการสร้างโอกาสให้โครงการแลนด์บริดจ์ เพราะหัวใจของโครงการนี้จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น แล้วยังทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เกิดความเจริญรอบๆโครงการ ซึ่งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ชูธงโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการระดับโลก เพื่อให้เป็นเส้นทางเดินเรือของโลกโดยผ่านประเทศไทย

“โครงการนี้มาในเวลาที่ใช่ เพราะปัจจุบันช่องแคบมะละกาเริ่มแออัด โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นเส้นทางสำรองเชื่อมทั้งทางทะเล และทางบก ช่วยสร้างห่วงโซ่การขนส่งภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก พาประเทศไทยไปสู่การลงทุนสร้างความเจริญให้ประเทศ” น.ส.ศรีญาดา กล่าว

ต่อมาในเวลา 12.20 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เดินทางมาถึง พร้อมเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า โครงการดังกล่าวทำให้ไทยอยู่ในหมุดหมายการผลิตของต่างประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต้องการเข้ามาตั้งโรงงานในไทย แต่โรงงานผลิตหลายสินค้าไม่สามารถตั้งได้เพราะต้องการสร้างให้ใหญ่กว่านั้นเนื่องจากต้องส่งสินค้าไปทั่วโลก แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาตอนนี้ คือ ช่องแคบมะละกาที่แออัดและเกิดอุบัติบ่อยครั้ง ทำให้การขนส่งสินค้าต้องเข้าคิว และใช้เวลาจำนวนมาก อย่างไรก็ดีในช่วง 10-15 ปี เชื่อว่าจะมีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าสินค้าใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่ม โดยช่องแคบดังกล่าวบริหารไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

“การทำแลนด์บริดจ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันขนส่งทั่วโลก 60% ผ่านช่องแคบมะละกา หากมีปัญหาเรื่องขนถ่ายสินค้า รัฐบาลจึงตระหนักทำเรื่องแลนด์บริดจ์ และจุดยืนของเราคือ เป็นกลาง ความขัดแย้งระหว่างจีน และ สหรัฐอเมริกาที่มีความรุนแรง แต่เขาต้องค้าขาย เมื่อประเทศไทยเป็นกลางเสนอตัวทำแลนด์บริดจ์ เชื่อมโลกทั้งโลก และจีน-สหรัฐอเมริกาสามารถใช้เป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าได้ดี” นายเศรษฐา ชี้แจง

นายกฯ ชี้แจงด้วยว่า การทำแลนด์บริดจ์ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือเพิกเฉยต่อเสียงประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลดำเนินการสำรวจความคิดเห็นรับฟังความเห็น พรรคร่วมฝ่ายค้าน ภาคประชาคม และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักธุรกิจทุกคน ให้แน่ใจว่าโครงการดังกล่าวว่า เป็นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญของโลก นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์ยังทำให้หลายประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่มีความมั่นคงด้านพลังงานอยากเข้ามาลงทุน สร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน และมีความพร้อมยืนในโลกที่ขัดแย้ง พึ่งตนเองได้ ให้ชีวิตประชาชนยกระดับ

‘กมธ.วิสามัญฯ’ โครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ลงพื้นที่ จ.ชุมพร  เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

(8 ม.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ โพสต์คลิปเกี่ยวกับ กมธ.วิสามัญฯ รับฟังความคิดเห็น ‘แลนด์บริดจ์’ ชุมพร-ระนอง โดยระบุว่า…

‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ที่จังหวัดชุมพร ทางคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการนี้ได้ไปลงพื้นที่ตรวจสอบรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อําเภอพะโต๊ะ ปรากฏว่า…ประชาชนนั้นแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเขาบอกว่ามันกระทบกับอาชีพที่มั่นคงอยู่แล้ว

ซึ่งผู้ร่วมรับฟังความเห็นได้มีการนําป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ภายในหอประชุมองค์การบริหารส่วนตําบลพะโต๊ะ อําเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โดยวันนี้ทางคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎรก็ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น และความกังวลของชาวอําเภอพะโต๊ะ ซึ่งก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเกษตรที่มีรายได้มั่นคงจากการทําสวนทุเรียน ทําสวนปาล์มอยู่แล้ว

“ท่านโฆษณาว่าเป็นโครงการระดับโลก…แต่ผมคิดว่าเป็นโครงการอธิมหาวินาศภัยครั้งยิ่งใหญ่จริงไหมครับ แล้วยิ่งใหญ่ยังไง ยิ่งใหญ่เพราะแลนด์บริดจ์มาแล้วเกลี้ยง!” ชาวอำเภอพะโต๊ะ จ.ชุมพร ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้

ส่วนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่อําเภอหลังสวน ประชาชนก็มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน โดยเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากการถมทะเลบริเวณแหลมริ้ว เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในฝั่งทะเลอ่าวไทย คนที่เห็นด้วยบอกว่าแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และจะเป็นจุดเปลี่ยนที่นําไปสู่ความเจริญเข้าพื้นที่และประเทศไทย 

นายชัยภัฎ จันทร์วิไล เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ กล่าวว่า “ถ้าพูดในแง่ภูมิศาสตร์มันเหมาะสมในการที่จะ ‘ทรานสปอร์’ หรือมาตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เอาน้ำมันดิบมากลั่นออกไปอีกทาง ญี่ปุ่นใช้น้ำมัน จีนใช้น้ำมัน ทุกคนก็ใช้น้ำมัน มันจึงเกิดระบบโลกใหม่ ผมถึงคิดว่าแลนด์บริดจ์เป็นโปรเจกต์ เป็น Game Changer ซึ่งในวันนี้ทางภาครัฐก็พยายามที่จะผลักดัน”

คณะกรรมการวิสามัญได้ลงพื้นที่ไปดูสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย บริเวณแหลมริ้ว อําเภอหลังสวน รวมถึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งในอําเภอพะโต๊ะและอําเภอหลังสวน ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการวิมัญบอกว่าการลงพื้นที่ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการตัดสินใจว่าจะมีการเดินหน้าโครงการนี้หรือไม่ เพราะว่าต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อน 

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ปธ.คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ กล่าวว่า “เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นจึงลงมาฟัง ถ้าเราฟังทุกทีอาจจะเชิญผู้ว่าฯ รองผู้ว่านายกอบจ. หรือ อุตสากรรมต่างๆ ไปพูดคุยเรื่องการท่องเที่ยว ก็จะได้ข้อมูลอีกมุมหนึ่ง โดยวันนี้เราทุกคนตั้งใจทั้งหมด เพื่อมารับฟังจากพี่น้องประชาชนจริงๆ ซึ่งก็ดีครับ ได้ฟังหลายบรรยากาศ ได้เข้าใจพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชุมพรมากขึ้น” 

ส่วนทางนายประเสริฐพงษ์ สอนนุวัฒน์ กรรมาธิการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์จากพรรคก้าวไกลได้บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน รวมถึงผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานก็ระบุว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และไม่ใช่เส้นทางเดินเรือที่เป็นความต้องการของผู้ประกอบการเดินเรือ หากจะเดินหน้าโครงการทางสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่ง
และจราจร หรือ สนข. จะต้องมีคําอธิบายที่ชัดเจนว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่จะต้องสูญเสียหรือไม่…

'ศิริกัญญา' นำทีม 'สส.ก้าวไกล' ลาออก 'กมธ.แลนด์บริดจ์' ซัด!! ถามถึงความคุ้มค่าไปแค่ไหน ก็ยังไม่เคยได้คำตอบ

(12 ม.ค.67) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้มีการซักถามค้างอยู่กับทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนทั้งปริมาณสินค้า เส้นทางการเดินเรือ ซึ่งยังไม่ได้คำตอบ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในการพิจารณารายงาน แต่ยังได้คำตอบไม่ครบถ้วน และประธานพยายามลงมติเพื่อรับรายงานจึงขอออกจากคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์เพื่อไม่ให้เป็นตรายางในการอนุมัติรายงานฉบับนี้

ด้านนายจุลพงษ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยังมีเรื่องท่อส่งน้ำมันที่ไม่ชัดเจน เรื่องการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสิ่งแวดล้อม 2-3 ปีนี้รัฐบาลใช้งบศึกษาดูงาน 68 ล้านบาทแต่ยังไม่เห็นอะไร และรายงานที่ยังไม่สมบูรณ์

ซึ่งคณะกรรมาธิการที่ลาออกมี 5 คน เป็น สส.พรรคก้าวไกล 4 คนและเป็นอาจารย์จากภายนอกอีกหนึ่งคน คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์, นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์, และนายจุลพงษ์ อยู่เกษ

ด้านนายศุภณัฐ กล่าวว่า ในรายงานเลือกใช้ตัวเลขจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือ (สนข.)เพียงตัวเดียว  ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้ประเทศเพราะการที่นำข้อมูลด้านเดียวไปขายให้ต่างประเทศ หากต่างประเทศย้อนมาว่าศึกษาแล้วไม่คุ้มทุน ตามที่รัฐบาลพยายามไปขายจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อถามว่า หากไม่ได้อยู่ในคณะกมธ.แลนด์บริดจ์แล้วจะสามารถตรวจสอบโครงการได้อย่างไร นายศุภณัฐ กล่าวว่า หากรายงานเข้าสู่สภาฯ ทางพรรคก้าวไกลจะใช้การอภิปรายในสภาแทน

'ดร.ชัยภัฏ' เชื่อ!! ชาวชุมพร ยอมรับ 'แลนด์บริดจ์' ต้องการความเจริญ แต่รัฐต้องมีกฎหมายพิเศษเยียวยาผลกระทบแก่ชุมพรด้วย

(12 ม.ค.67)ช่วงนี้ ต้องบอกว่า ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง 'โครงการแลนด์บริดจ์' ที่ภาครัฐพยายามสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสครั้งสำคัญของเมืองไทย ในด้านคมนาคมขนส่งทางทะเล และเททถกสรรพกำลังเพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง ดูจะระอุหนัก

บรรยากาศ การลงพื้นที่แต่ละครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในโครงการแลนด์บริดจ์ของประชาชนในพื้นที่นั้น เรียกว่ามีเนื้อหาที่เข้มข้น

แน่นอนว่า บรรยากาศการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ข้องเกี่ยวส่วนใหญ่นั้น ก็มีประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และตัวแทนส่วนราชการ เข้าร่วมกิจกรรมมากหลักหลายร้อย แต่ก็ยังดีที่ทุกครั้ง ทุกการพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีการแสดงความคิดเห็นจากทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการ และผู้คัดค้าน และกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากโครงการแลนด์บริดจ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ทำประมงสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน

เอาจริงๆ ถ้าฟังดูโดยรวมแล้ว ดูเหมือนว่า ถ้ารัฐมีทางออกที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาจากผลกระทบของแลนด์บริดจ์ ผ่านรูปแบบของกฎหมายพิเศษเฉพาะ เชื่อว่าชาวบ้านทุกคนก็คงจะพร้อมใจขานรับ เพราะคงไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยปล่อยโอกาสความเจริญ ที่จะส่งผลดีต่อจังหวัดของตนในภายภาคหน้าให้หลุดลอยไปด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการ 'แลนด์บริดจ์' ประเทศไทย เปิดเผยว่า...

จากโครงการระดับประเทศ แลนด์บริดจ์ ที่เป็นโครงการขนส่ง เชื่อมฝั่งทะเลอันดามัน และทะเลอ่าวไทยที่ภาคใต้ของประเทศไทย ที่อาจมีมูลค่าการลงทุนเป็นหลายแสนล้านบาท หรือถึงหลักล้านล้านบาท และอาจเกิดมูลค่าเพิ่มเป็นหลายเท่าของการลงทุน หากโครงการประสบความสำเร็จ และในทางกลับกันหากโครงการล้มเหลวก็อาจก่อความเสียหายให้การเงินการคลังของประเทศไปอีกนาน 

อย่างไรก็ดี โครงการแลนด์บริดจ์นี้ ก็เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนในประเทศมีส่วนร่วม ในการรับผิดชอบในผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่สำคัญองค์กรภาคสังคมหรือภาคประชาชน ต่างก็มีส่วนอยากรับรู้ความเป็นไปเป็นมาและมีส่วนร่วมในโครงการนี้เช่นกัน

"เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัย ของประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี การศึกษา ความมั่นคง และที่สำคัญอาจมีผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนต้องคำนึงในผลได้-เสีย ให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ" ดร.ชัยภัฏ กล่าว

ดร.ชัยภัฏ กล่าวอีกว่า จากจุดนี้ ภาคประชาชนจึงรวมตัวกันขึ้นมา ทั้งนักวิชาการ, นักธุรกิจ และประชาชนอาชีพต่างๆ เป็น เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการ ‘แลนด์-บริดจ์’ ประเทศไทย (Network of people for Land-bridge development of Thailand) หรือชื่อย่อว่า NLDT ตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์-บริดจ์ นี้

จากการที่มีหลายฝ่ายของภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญในโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทย โดยที่ฝ่ายบริหารโดย พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้นำยกโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทย ไปนำเสนอในต่างประเทศในหลายๆ ครั้ง และได้รับการตอบสนองอย่างดีจากหลายประเทศ อีกทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา ได้เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แลนด์บริดจ์ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้โครงการ โดยการพิจารณานั้นทางกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ ใช้การรับฟัง การชี้แจง ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ พร้อมเอกสารประกอบการชี้แจง เช่น...

จังหวัดชุมพร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ท่าเรือระนอง, การนิคมอุตสาหกรรม, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล, กรมขนส่งทางราบ, กรมทางหลวงชนบท, กรมทางหลวง, กรมเจ้าท่า, กองทัพฯ และอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์มีเวลาทำงานเพียง 3 เดือนเท่านั้น และเป็นการทำงานแบบการอภิปราย และปรึกษาหารือ (DISCUSION) โดยยังขาดการพิสูจน์สมมติฐานต่างๆ เพื่อทำการวิจัย หาข้อมูล สรุปอย่างแท้จริง ทำให้เห็นได้ว่าทางฝ่ายนิติบัญญัติมีเวลาน้อยมากกับการศึกษาโครงการที่มีผลกระทบระดับสูงในทุกมิติและระนาบของประเทศ อย่างไรก็ตามต่อจากนี้การทำงานของคณะฯ จะมีความครอบคลุมในมิติของปัญหามากยิ่งขึ้น

'ดูไบเวิลด์' บิ๊กโลจิสติกส์-ท่าเรือ UAE เอาจริง!! จ่อลงทุน 'แลนด์บริดจ์' เช็กประวัติ!! เคยให้เปล่า 200 ล้าน วิจัยสร้างท่าเรือกับไทยมาแล้ว

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.67) ระดับโลก ไม่ใช่จะมาหลอกกันง่ายๆ ล่าสุด Dubai World บริษัทโลจิสติกส์ขนาดยักษ์ จาก UAE สนใจโครงการแลนด์บริดจ์ และมีการประสานข้อมูลกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. 

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567 ภายใต้กำหนดร่วมการประชุม 'Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World'

สำหรับ Dubai World (ดูไบเวิลด์) เป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

โดยที่ผ่านมา มีความสนใจ ที่จะลงทุนด้านโลจิสติกส์ในไทยมาช้านาน 

เคยร่วมมือและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ร่วมกับรัฐบาลในช่วงปี 2550 ในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551

Dubai World สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งกระทบกับแผนการลงทุนของ Dubai World

กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน มีท่าทีสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ทาง Dubai World จึงกลับมาให้ความสนใจในโครงการนี้ 

ด้าน สนข.รายงานด้วยว่า “Dubai World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทจากจีนและอีกหลายแห่งที่มาช่วยศึกษา Dubai World จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี”

'แลนด์บริดจ์' ต้องทำ!! เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน แต่ถ้ามองแค่ 'คุ้มเงิน-ไม่คุ้มเงิน' แบบนั้นมันผิดแล้ว

(17 ม.ค.67) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ก้าวถอยหลัง
#แลนด์บริดจ์

แลนด์บริดจ์ ถ้ามองแค่คุ้มเงิน ไม่คุ้มเงิน แบบนั้นมันผิดแล้ว 

เมื่อมันเป็น Infrastructure ที่ รบ.จัดให้ มันออกได้หลายหน้า แต่มันต้องทำ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน 

ประเทศที่รายล้อมเรา ล้วนมีท่าเรือขนาดใหญ่ ไปจนถึงอภิเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทั้งสิ้น 

ท่าเรือพอร์ตลัง มาเลเซีย
ท่าเรือปริโอห์ อินโดนีเซีย
ท่าเรือไฮฟอง เวียดนาม

แล้วเรา จะอยู่แบบนี้หรอ ??

ปากบอกว่าก้าวหน้า 

แต่การกระทำถอยหลัง

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้

‘สุริยะ’ หนุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้น จ.ท่องเที่ยวใต้ ชู!! แผนคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม ‘อ่าวไทย - อันดามัน’

(22 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง พร้อมตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ‘ถนน’ ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด 

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย...

1. มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร - ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้…

1. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็น ผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

2. โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอบคุณทุกส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงที่ให้การต้อนรับ และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดยตนจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

‘เศรษฐา’ รอลุ้น!! เผยเชิญ ‘สี จิ้นผิง’ เยือนไทย ด้านจีนระบุสนใจ ‘แลนด์บริดจ์’ ทั้งรัฐ-เอกชน

(29 ม.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลัง นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า ได้มีการประชุมชั่วโมงกว่ากับ นายหวัง อี้ ซึ่งท่านได้มาตั้งแต่ช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา และมีการพูดคุยกันในหลายมิติ โดยมีการเซ็นสัญญาระหว่าง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องวีซ่าฟรีของทั้งสองประเทศในการเดินทางไปมา เริ่มต้นวันที่ 1 มี.ค. เป็นการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เป็นความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่ทั้งสองประเทศมีให้กันและมิตรภาพที่มีต่อกันมา ซึ่งจะครบ 50 ปีในปีหน้านี้ ถือเป็นมิติที่ดีในการที่เราจะสนับสนุนการไปมาหาสู่กันระหว่างสองประเทศ 

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เรื่องการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องความสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างสูง ได้มีการพูดคุยกัน นายหวัง อี้ บอกว่าประเทศจีนมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย อยากให้นักท่องเที่ยวไทยไปด้วย ซึ่งตรงนี้ตนยืนยันว่าเราสนับสนุนการเดินทางไปมาของประชาชนทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังบอกไปด้วยในเรื่องของจำนวนเที่ยวบินที่ยังไม่กลับเข้ามาสู่จำนวนปกติ ซึ่งก่อนโควิด-19 ไม่แน่ใจจำนวนอาจจะประมาณ 2,000 ไฟล์ท ปัจจุบันเหลือแค่ 1,200 ไฟล์ท ก็จะมีการยกระดับการเดินทางสองประเทศเพื่อให้การไปมาหาสู่สะดวกสบายยิ่งขึ้น และเริ่มมั่นใจว่าอนาคตอันใกล้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสูงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยจะไปท่องเที่ยวประเทศจีนที่มีวัฒนธรรมอันดีงามด้วย จะเป็นผลดีของทั้งสองประเทศ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเทศไทยยืนยันเจตนารมณ์ว่าเราให้การสนับสนุนการเป็นประเทศกลาง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนได้มีการพูดคุยกันในหลาย ๆ มิติ และต่อไปในอนาคตก็ยินดีสนับสนุนให้มีการเจรจาในลักษณะนี้เกิดขึ้น โดยตอนที่ดำริว่าจะมีการพูดคุยกันก็บอกให้เป็นประเทศในเอเชีย ซึ่งจีนเลยบอกว่าเป็นประเทศไทย นั่นบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่เรามีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ทำให้เขาเลือกประเทศไทย ถือเป็นการประชุมประวัติศาสตร์ครั้งแรกก็ว่าได้ เป็นที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนเรื่องการค้าระหว่างประเทศได้มีการพูดคุยกันในหลายมิติ ทั้งเรื่องการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆไม่ใช่แค่รถอีวีอย่างเดียว เรื่องการไปมาหาสู่รถไฟความเร็วสูง ที่จะมีขึ้นจากประเทศไทยผ่านหนองคาย ผ่านลาว และเข้าประเทศจีน ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าเรื่องการเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าได้มีการพูดคุยกัน โดยให้คณะทำงานของสองประเทศมาทำงานร่วมกันต่อ รวมถึงการค้าขายด้านการเกษตรกรรม ทั้งเรื่องการค้าโค ซึ่งจีนมีความต้องการอย่างมาก แต่ด่านกักกันตรวจเชื้อโรคอยู่ที่ลาว ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศไม่สะดวกจึงได้ขอร้องอย่าให้มีด่านกักกัน และตรวจโรคนี้เกิดขึ้นในไทย ซึ่งประเทศจีนก็รับปากที่จะดำเนินการในเรื่องนี้

นายกฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการเซ็นสัญญาด้านเกษตรกรรมระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และทูตจีนด้วย 

เมื่อถามว่า คาดว่ามูลค่าทางการค้าจะเพิ่มกี่เปอร์เซ็น นายเศรษฐา กล่าวว่า คาดเดาไม่ได้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะนี่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นจากการที่เรามีความสัมพันธ์กันดีมาอย่างยาวนาน และปีหน้าจะครบ 50 ปี ตนได้เรียนเชิญ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มาเยือนประเทศไทยด้วย

เมื่อถามถึงความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน นายเศรษฐา กล่าวว่า มีแผนงานอยู่แล้ว ขอให้แผนงานทั้งหมดออกมาเป็นรายละเอียดแล้วจะแถลงให้ทราบอีกที

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า นายหวัง อี้ได้พูดขึ้นมาเองว่า ทางการจีนสนใจโครงการแลนด์บริดจ์และต้องการข้อมูลเพิ่ม และไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลจีนเพียงอย่างเดียว แต่เอกชนจีนก็สนใจที่จะส่วนร่วม เพราะเขาทราบดีว่าหนึ่งในเหตุผลหลักที่เราดำริขึ้นมาว่าควรจะมีแลนด์บริดจ์ เพราะการลงทุนที่จะข้ามมาจากประเทศจีนในช่วงหลายปีหลังบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศจีนมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากในเมืองไทย และไม่ใช่แค่มาสนองตอบแค่ความต้องการของคนในประเทศไทยอย่างเดียว แต่จะเป็นศูนย์กลางการส่งออกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องมีท่าเรือน้ำลึก มีโครงการเมกกะโปรเจกใหญ่ ๆ อย่างแลนด์บริดจ์ ที่จะมาซับพอร์ตตรงนี้ ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็จะเดินทางไปประเทศจีนในเร็ว ๆ นี้ เพื่อจัดทำโรดโชว์

‘อนุชา’ แนะเยาวชนเลือกเรียนสอดคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ หวังปั้นแรงงานให้พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 ที่ห้องสมุด ศูนย์การศึกษาอโศกแคมปัส กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานสัมมนาวิชาการหัวข้อเรื่อง ‘Landbridge SEC โอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทยสู่ระดับโลก’ จัดโดยมหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด และทีมไรท์ กลุ่มนักคิดและนักปฏิบัติ จัดภายใต้สโลแกน ‘ทำที่ใช่ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง’ โดยได้เชิญ นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการคมนาคม และนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วมกันให้ความรู้กับนักศึกษาปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เอก ชุณหชัชราชัย รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับ เสวนาดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ที่มุ่งหน้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ สร้างสะพานข้ามทะเลระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เชื่อมโยงเส้นทางการขนส่ง และคมนาคม เชื่อมต่อของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และส่งเสริมให้มีการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งยังแก้ไขปัญหาการจราจรผ่านช่องแคบมะละกา โดยเพิ่มตัวเลือกในการขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่งสู่ตลาดโลก

นายอนุชา กล่าวว่า ตนอยากให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ใช่เป็นโครงการที่จะนำเสนอในเรื่องคมนาคมขนส่งอย่างเดียว ไม่ใช่ศึกษาเพียงว่า จะมีเรือสินค้าเข้ามาท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพรปริมาณเท่าไหร่ และจะมีการขนส่งระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันอย่างไร แต่จากนี้ต้องมาช่วยกันคิด และให้หน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาว่า จากนี้ไป เราจะสนับสนุนใน SEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ คืออุตสาหกรรมอะไร เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมว่า จะเรียนสาขาอะไร

นอกจากนั้น ยังสอดคล้องไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะต้องจัดเตรียมบุคลากร เตรียมงบประมาณ เพื่อเข้าไปเสริม กระทรวงแรงงานในการเตรียมพัฒนาฝีมือให้สอดคล้องกันอย่างไร และในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ต้องลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง แต่รวมถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชด้วย

ด้าน นายวิชัย กล่าวเสริมว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่นำความเจริญมาสู่ประเทศ เพราะไม่ใช่แค่จังหวัดชุมพรหรือระนอง แต่เป็นโครงการที่สร้างโอกาสการลงทุนทางเศรฐกิจโดยรวมของประเทศ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง เป็นจุดที่มียุทธศาสตร์ด้านภูมิประเทศในการดำเนินโครงการที่ดี ถ้ามองคนชุมพรกับคนระนอง ในเรื่องของธุรกิจและในด้านอุตสาหกรรมมีน้อยมากกับการลงทุนของคนในจังหวัด ปัจจุบันคนในจังหวัดชุมพร โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการลงทุนคือ อำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน ประชาชนยังมองเป็นผู้สูญเสียมากกว่า

นายวิชัย กล่าวว่า อยากให้นักศึกษาทุกคนมองมิติในการขับเคลื่อนโครงการ และการลงทุนในการทำธุระกิจ ต้องมองพื้นฐานของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะการทำธุระกิจบนพื้นฐานของการไม่เข้าใจ และการไม่มีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนขาดความเข้าใจ จะหาความสำเร็จอยาก

“ผมคิดว่า การจะให้โครงการแลนด์บริดจ์ ประสบความสำเร็จภาครัฐต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ เช่น ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรกับโครงการ ประชาชนจะได้ค่าเยียวยาอะไร เท่าไรกับผลกระทบจากโครงการนี้” นายวิชัย กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top