มั่นใจ!! 'แลนด์บริดจ์' พาไทยสู่จุดศูนย์กลางของโลกในการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนมหาศาล ผ่านเส้นทางเดินเรือใหม่ จูงใจเหล่าผู้ประกอบการ

(28 ส.ค. 66) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ระบุว่า...

แลนด์บริดจ์
ได้ คุ้ม เสีย

โครงการแลนด์บริดจ์ คือ ภาคต่อของการขุดคอคอดกระ หรือคลองไทย สร้างเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ที่แม้ว่า ไทยจะได้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การสัญจรทางเรือ จะเปลี่ยนมาใช้ช่องทางนี้ แทนช่องแคบมะละกา

แต่ชัดเจนว่า ทำไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องความมั่นคง จากการแยกไทยเป็น 2 ส่วน และเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการ ปล่อยกระแสน้ำจากอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ไหลมาบรรจบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มหาศาล

ที่สุดแล้วโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ จึงถือเกิดขึ้น

แลนด์บริดจ์ คือ การสร้างเส้นทางสัญจรจากฝั่งอันดามัน ไปฝั่งอ่าวไทย พร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกด้าน Logistic อย่างเต็มรูปแบบ

มีความพยายามหาพื้นที่ในการสร้างมาอย่างยาวนาน กระทั่งมาเคาะว่าสมควรจะเป็น คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู (หน่วยนับขนาดตู้คอนฯ ขนาด 20 ฟุต/20 ฟุต = 1 TEU) รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม.

ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด 1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง

หลักการง่าย ๆ คือ เมื่อเรือมาเทียบที่ท่าฝั่งอ่าวไทย ก็จะขนไปขึ้นเรือที่รออยู่ฝั่ง อันดามัน (หรืออันดามัน ไป อ่าวไทย) ในเวลาที่รวดเร็ว

หากทำสำเร็จ จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลกในการขนส่งสินค้า และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งเส้นทาง จากที่ผ่านช่องแคบมะลากาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางมหาสมุทรอินเดีย ไปยังทะเลจีนใต้ ซึ่งสามารถกระจายสินค้าไปได้ทั่วโลก

จะเป็นการขนส่งสินค้า ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออก, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน โดยลูกค้าหลัก จะเป็นเรือสินค้า ฟีดเดอร์ ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเกิดอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) มีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพรส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

การพัฒนาแลนด์บริดจ์ประมาณมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.001 ล้านล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่ก็คุ้มค่า หากไทยคิดจะลงทุน โดยที่ผ่านมาโปรเจคในลักษณะของการพัฒนาพื้นที่ ในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  เราไม่เคยเห็นความล้มเหลวเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอิสเทิร์น ซีบอร์ด หรือ อีอีซี ก็ตาม นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่คุ้มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม มีแรงต้านแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม และนักอนุรักษ์วิถีดั้งเดิม เพราะโครงการขนาดนี้ ลงไปที่ไหน ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพลิกฝ่ามือ วัฒนธรรมชาวบ้าน ย่อมได้รับแรงสะเทือน วิถีชุมชน ต้องมีการปรับเปลี่ยน สิ่งแวดล้อม ได้รับผลกระทบ

ทว่าหากมองมุมของเศรษฐกิจ แล้ว ผมย้ำคำเดิม

ได้คุ้มเสีย #KUL