Thursday, 2 May 2024
เสียภาษี

ตกผลึกภาษี หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ควรต้องจ่าย ยกเว้นบางชนิด ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องแจม

เมื่อพูดถึง ‘ภาษี’ คนจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่าเป็น ‘ภาระ’ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาษีนั้นคือ ‘หน้าที่’ ที่คนในสังคมทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบมาก-น้อยแตกต่างกันไป ซึ่งความแตกต่างตรงนี้เองที่ควรจะทำความเข้าใจว่า ใครและคนกลุ่มไหนในสังคมจะต้องเสียภาษีตัวไหน ประเภทไหน เพราะภาษีนั้นมีหลากหลายและไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องจ่ายทุกชนิด

โดยก่อนจะเข้าใจถึงภาษีประเภทต่างๆ เราอาจจะต้องไปทำความรู้จักกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีเสียก่อน โดยหลักๆ แล้วจะมีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ 1. กรมสรรพากร 2. กรมสรรพสามิต 3. กรมศุลกากร และ 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ สำนักงานเขต

เมื่อทำความรู้จักกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแล้ว ก็จะทำให้เราพอจะเห็นภาพคร่าวๆ ถึงประเภทของภาษีชนิดต่างๆ ได้ โดยทั้ง 4 หน่วยงานนั้นจัดเก็บภาษีแตกต่างกันไป กล่าวคือ...

กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีอากรจากรายได้และการสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ของประชากรในประเทศ โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท คือ 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax ; PIT) 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax; CIT) 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax ; VAT) 4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax ; SBT) และ 5. อากรแสตมป์ (Stamp Duty ; SD)

โดยในกลุ่มภาษีอากรทั้ง 5 ประเภทนี้ เราจะเห็นมีเพียง 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปโดยตรง นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดเก็บกับบุคคลที่ประกอบอาชีพและทำงานต่างๆ ที่มีรายได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บกับการบริโภคสินค้าต่างๆ เมื่อมีการซื้อ-ขายปลีกและซื้อ-ขายส่ง

ในขณะที่ภาษีอากรชนิดอื่นๆ นั้นก็เป็นภาษีที่ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปไม่ได้มีหน้าที่จะต้องเสีย อย่างภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็จะต้องเป็นนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด) ถึงจะมีหน้าที่เสียภาษีประเภทนี้ หรืออย่างกรณีของภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นก็ระบุเจาะจงลงไปอีกว่าเป็นธุรกิจต่อไปนี้เท่านั้นที่จะต้องเสียภาษีประเภทนี้ คือ การธนาคาร, การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Foncier), การรับประกันชีวิต, การรับจำนำ, การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์, หรือ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นการค้าหรือหากำไร หรืออากรแสตมป์นั้นก็เป็นการจัดเก็บต่อธุรกรรมเฉพาะกรณีไป โดยมี 28 ลักษณะ เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน เป็นต้น

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อน!! ความจำเป็น ‘จัดเก็บภาษี-กู้เงิน’ ในวันที่ประเทศต้องพัฒนาและปวงประชาต้องมีสวัสดิการ

(9 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ โดยข้องเกี่ยวกับภาษีที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องจ่าย รวมถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อนำมาต่อยอดประเทศในด้านต่างๆ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ถ้าย้อนความเรื่องของการจัดเก็บภาษี ก็ต้องบอกว่ามีมาช้านานแล้ว และไม่ใช่เพียงแค่ในรูปแบบของเงินเท่านั้นด้วย โดยในสมัยก่อนยังมีเรื่องของการเสียภาษีเป็นทาส กล่าวคือ การเอาคนมาเป็นทาส ถือเป็นการเก็บภาษีจากแรงงานของคน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ เป็นต้น

แต่แน่นอนว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการจัดเก็บภาษีก็เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถเข้ากับรูปแบบสังคมในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นไปในรูปแบบของการจัดเก็บเงินได้แบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่จะมีความต่างจากในสมัยก่อน เพราะเงินภาษีที่ประชาชนยอมสละส่วนหนึ่งไปให้รัฐฯ นั้น ก็เพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อ ไม่ได้หายไปเปล่า ๆ เหมือนดั่งเช่นในอดีต

ฉะนั้น เมื่อมักมีคนถามถึงเหตุผลที่รัฐฯ เข้ามาบังคับจัดเก็บภาษี ว่าเก็บไปเพื่ออะไร และทำไมจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีเท่านั้นเท่านี้...

ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเชิงปรัชญา เช่น เวลาเราถามว่า รัฐฯ คืออะไร และต้องใหญ่ขนาดไหน ซึ่งบางทีก็ต้องไปดูความต้องการของรัฐฯ ในประเทศนั้น ๆ ต้องการมีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะผูกพันและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละประเทศ แต่ละศาสนา แต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกันด้วย

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปักหลักไทยเกิน 180 วัน อย่านิ่งดูดาย มีรายได้จาก ‘ธุรกิจดิจิทัล-สื่อออนไลน์’ ก็ควรต้องเสีย

(16 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึง ประเด็นการกวดขันเก็บภาษีต่อผู้มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล (Digitalization) แม้รายได้นั้น ๆ จะมาจากต่างประเทศ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีบุคคลหรือบริษัทดิจิทัลและแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ หรือแม้แต่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหมือนรูปแบบบริการอื่น ๆ แต่มีรายได้สะพัดอยู่ในบัญชีประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น สามารถทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ (Digitalization) และมองผิวเผินเหมือนตรวจสอบได้ยาก

“อย่างหลายคนที่เราเห็นเขาขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวผู้ขายหลาย ๆ คนเองก็มีทั้งที่อยู่ในไทยและไม่ได้อยู่ในไทย แต่อย่างไรซะ หากมีถิ่นฐานในไทยหรืออยู่ในไทยเกิน 180 วันนั้น ผมคิดว่าสรรพากรควรจะต้องเข้มงวดกับบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นให้มากขึ้น เพราะนี่คือเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบว่า ใครที่มีรายได้เยอะ ๆ จากขายสินค้าผ่านช่องทางระบบดิจิทัล และมีถิ่นฐานอยู่ในบ้านเราบ้าง จากนั้นก็ต้องมาทำการเสียภาษีจากรายรับที่ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สรรพากรสามารถทำได้ เนื่องจากระบบดิจิทัลมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่”

ส่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใน ‘สวิตฯ’ ประเทศในฝันของหลายคน ที่แลกกับความทุกข์ทนของ ‘ผู้เสียภาษี’ ไปดูแลคนไร้จิตสำนึก

(8 พ.ค. 66) ผู้ใช้งานติ๊กต็อก บัญชี ‘KornnikarThewie’ ได้โพสต์วิดีโอพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น โดยระบุว่า...

วันนี้เทวีได้อ่านข้อมูลจากเพจนึง เกี่ยวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งส่วนตัวเทวี บอกตรงๆ ว่าเห็นด้วยมากๆ และมันก็เป็นอะไรที่บังเอิญมาก หรืออาจจะไม่บังเอิญก็ได้ เพราะเมื่อเช้านี้เพื่อนคนสวิตฯ ของเทวีก็เพิ่งพูดเรื่องนี้เหมือนกัน 

เพจนี้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับสวิตเซอร์แลนด์ ว่า “ที่สวิตฯ เนี่ยจะไม่มีสลัมและไม่มีเด็กไร้บ้าน ไม่มีเคสที่เด็กยากจนและไม่มีทุนเรียนต่อต้องมาเรี่ยไร เราจะไม่มีวันได้ยินข่าวแบบนี้ที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็จะมีสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าบ้าง”

อันนี้คือถูกต้องและสิ่งที่ถูกต้องมากกว่านั้นอีก คือเมื่อเช้านี้ เพื่อนผู้บริหารบริษัทของเทวี ที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งตอนนี้อยู่ที่บ้านเทวี ก็จะเตรียมกลับไปสวิตฯ พรุ่งนี้ เขาบอกว่า เขาเหนื่อย เขาเอือม กับการที่ประเทศของเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ จนคนในประเทศเหนื่อยล้ากับการที่จะต้องช่วยเหลือ และทำให้ทุกอย่างมันเท่าเทียมกัน 

จริงๆ แล้ว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นเรื่องที่ยุติธรรม แต่บางคนที่ไม่มีงานทำ เพราะเขาเลือกงานอยู่ ขณะเดียวกันก็ไม่คิดหันมาดูแลตัวเองก่อนด้วย ก็ไม่มีใครอยากช่วยเหลือขนาดนั้นหรอกค่ะ เพราะเหมือนไปช่วยคนที่ไม่ได้รู้สึกสำนึกรู้คุณคนที่ต้องเสียภาษี 

เกี่ยวกับเรื่องนี้เทวีมีเคสที่ประสบกับตัวเองเยอะมาก ซึ่งอันนี้พูดจากประสบการณ์จริงของตัวเอง สมัยตอนอยู่สวิตเซอร์แลนด์ใหม่ๆ เทวีก็ได้รับสวัสดิการที่มาจากเงินภาษีของคุณสามี เพราะเราไปในฐานะของการเป็นภรรยาของคนสวิตฯ คุณรู้ไหมคะว่าความเจ็บปวดมันเริ่มขึ้น และทำให้เทวีเข้าใจคนสวิตฯ จริงๆ ตอนที่เทวีได้สวัสดิการนี้แหละค่ะ 

เขาให้ไปเรียนฟรี คือ คำว่าเรียนฟรี เทวีไม่ได้จ่ายเงินเอง ก็อาจจะเรียกมันว่าเรียนฟรี แต่จริงๆ แล้วคือ สามีชำระภาษีและคนสวิตฯ ทุกคนชำระภาษี เพื่อเอากองทุนตรงนี้มาเป็นกองทุนที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 

เช่นเดียวกันกับที่สวิตเซอร์แลนด์ จะไม่มีคนจนที่ไม่มีอะไรกิน เพราะยังไงก็แล้วแต่ เขาจะไม่ปล่อยให้คุณอดตาย เขาจะช่วยคุณอย่างเต็มที่อย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ด้วยการเอาภาษีมาแบกภาระตรงนี้ 

กลับมาในเรื่องของสิ่งที่เทวีได้รับรู้ก็คือ เทวีได้รับสวัสดิการให้ไปเรียนภาษาเยอรมัน ซึ่งก่อนหน้านี้คุณสามีจะจ่ายเงินให้เรียน เป็นคอร์สเรียนที่ไม่ได้เรียนฟรี ซึ่งมันเป็นเงินเยอะมากถ้าเราจ่ายเองคือ 10 สัปดาห์ ประมาณแสนกว่าบาท ต่อ 1 คอร์ส แล้วการเรียนมันก็จะมีหลายคอร์ส พอคอร์สที่ 2 สามีเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันหนักมาก จ่ายไม่ไหว จึงส่งเทวีให้เข้ารับสวัสดิการของภาครัฐ 

แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เทวีต้องร้องไห้ และไม่อยากไปโรงเรียนอีกเลย ทั้งๆ ที่เทวีเป็นคนที่รักเรียนมาก เพราะเพื่อนในห้องของเทวีบางคนอยู่ในประเทศเขามา 30 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง และยังพูดภาษาเขาไม่ได้ แล้วก็ไปเรียน (ยังคงไปเรียน) เพียงเพื่อรับสวัสดิการตรงนี้ เขาไม่อยากได้ความรู้ เขาเพียงแค่อยากได้เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เขาเป็นค่ารถไปโรงเรียนในแต่ละวัน จ่ายเงินให้เป็นค่าอาหารกลางวันในแต่ละวัน และมันดีสุดยอดที่เขาไม่ต้องทำงาน เพราะว่าเขายังไม่ได้ภาษา เขาก็จะทำงานไม่ได้ นี่แหละคือความเหลื่อมล้ำกับคนที่จ่ายเงินภาษี 

ว่าแล้ว...พอเราหันมาดูประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำไหม ทุกที่มีความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยของเรามีขนาดใหญ่และประชากรก็มีเยอะมาก ซึ่งเยอะกว่าสวิตเซอร์แลนด์ไม่รู้กี่เท่า การที่เราจะดูแลและควบคุมทุกอย่างให้ได้ตามที่เราต้องการ มันจึงเป็นไปได้ยาก และถ้าดูแลก็จะเหมือนด้านมืดในสวิตเซอร์แลนด์ที่เทวีเล่ามา 

'อดีตคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์' แชร์ความจริงเรื่องภาษี ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ แม้เสียภาษีปีละ 1.2 ล้านบาท

ไม่นานมานี้ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ได้แชร์คลิปวิดีโอ TikTok บัญชี @user4986690179211 ซึ่งเป็นอดีตคนไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องของ ‘ภาษี’ ขณะที่ตนได้อาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงรัฐสวัสดิการต่างๆ ที่ล้วนได้มาจากการเสียภาษีในมูลค่าที่สูง และไม่อยากให้คนไทยต้องมาด้อยค่าประเทศของตัวเองเวลาพูดถึงสวัสดิการต่างๆ โดยระบุว่า...

“เคยได้ยินวลี ‘ภาษีกู’ ไหม? วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง สำหรับคําว่า ‘ภาษีกู’ ที่สมควรจะพูดจริงๆ สำหรับดิฉันที่ไปอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มา 5 ปีกว่า อยากจะบอกพวกคุณว่า คําว่า ‘ภาษีกู’ เนี่ย ที่เมืองไทยเสียน้อยมาก

“พวกคุณรู้ไหม? ว่าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดิฉันกับสามีต้องเสียภาษี หากตีเป็นเงินไทย รวมแล้วต้องเสียภาษีปีหนึ่งล้านสอง

“ยิ่งไปกว่านั้น หากดิฉันจะไปจับปลาหลังบ้าน (สวิตเซอร์แลนด์) เพราะหลังบ้านติดน้ำ แต่ดันตกไม่ได้ เพราะมีตํารวจน้ำคอยขับเรือตรวจ สามีดิฉันยังบอกเลยว่า “อย่าทํานะ เขาปรับเธอนะ” แต่ที่เมืองไทยแค่คิดจะทอดแห หว่านแหตรงไหนก็ทําได้เลย ถ้าไม่ใช่พื้นที่ส่วนบุคคล เนี่ย!! สิ่งนี้คือ ภาษีเรา!!

ที่คุณเห็นว่าประเทศเขาเจริญดูสะอาดหูสะอาดตา มันมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งนั้นแหละ แต่คุณจะจ่ายไหวกันไหม? อย่างเรื่องขยะ ตอนที่ดิฉันอยู่รัฐซูริก ต้องซื้อถุงขยะเป็นม้วนๆ คุณจะมาใส่ถุงก๊อปแก๊ปไปทิ้งไม่ได้นะ เขาจับคุณได้เลยนะ คุณต้องซื้อถุงที่เขาใช้สําหรับทิ้งขยะ ซึ่งตรงส่วนนี้เราต้องจ่ายเงินนะ แล้วม้วนหนึ่งมันมีราคาที่แพงมาก คุณไหวไหม?

“อ้อ!! แล้วก่อนที่ดิฉันจะย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยในช่วง 2 ปีหลังมานี้ ก็มีบิลมาที่บ้าน เก็บค่าฟังวิทยุของดิฉันกับสามี หัวละ 300 ฟรังก์สวิสฯ หากตีเป็นเงินไทยก็ประมาณหมื่นกว่าบาท หรือคิดเป็นรายวัน จะตกวันละ 30 กว่าบาท ซึ่งดิฉันได้โทรไปถามว่า ดิฉันไม่ได้ฟังวิทยุนะ แต่เขาดันตอบว่าวิทยุมันก็มีอยู่ในรถของคุณ อ้าว!! ดิฉันจึงถามเขากลับไปว่า ถ้าดิฉันฟังไม่รู้เรื่อง ทําไมดิฉันต้องจ่าย? เขาจึงถามกลับมาว่า “เธอใช้อินเตอร์เน็ตไหม?” ดิฉันจึงตอบกลับว่า “ใช้ ซึ่งดิฉันก็จ่ายรายเดือนแยกต่างหากอยู่แล้ว” เขาเลยบอกว่า “อ๋อ… เพราะเธอได้รับข่าวสารจากตรงนี้ด้วย เลยต้องจ่าย” เมื่อถามว่าแล้วถ้าดิฉันไม่จ่ายล่ะ เขาตอบกลับมาว่า “ก็จะมีบิลเรียกเก็บเงินมาอีก และมันก็จะเพิ่มจํานวนเงินขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และหากยังไม่จ่ายอีกก็จะเจอหมายเรียก”

“นี่คือ ภาษีที่ดิฉันต้องจ่าย ทุกอย่างที่คุณเห็นว่าสวยงาม มันมีราคาที่ต้องจ่ายหมดทุกอย่าง ดังนั้น ดิฉันไม่อยากให้คนไทยต้องด้อยค่าประเทศตัวเองให้มันมากนัก ดิฉันบอกเลยว่าที่ดิฉันไปอยู่มันก็เจริญจริงๆ แต่เขาก็เก็บเงินกับทุกอย่างเลยเหมือนกัน”

หลังจากที่คนไทยคนดังกล่าวได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับภาษีเสร็จ ก็ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นพร้อมกับตั้งคำถามว่า “ต้องเสียภาษีเยอะๆ ถึงจะมีสิทธิ์พูด ‘ภาษีกู’ ได้งั้นเหรอ? จะเสียบาทสองบาท มันก็ภาษีเราทั้งนั้นแหละ” เจ้าของคลิปคนไทยจึงได้ตอบกลับคอมเมนต์นั้นว่า…

“คุณพูดเหมือนกับว่า คุณไม่เคยได้อะไรจากประเทศนี้เลย (ไทย) คุณคิดว่าที่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการจ้างหมอ จ้างพยาบาล หรือแม้แต่ค่ายา คุณคิดว่าเขามาทํางานให้ฟรีเหรอ? อย่างถนนหนทางที่เขามาทําเป็นถนนลาดยาง หรือตอนที่คุณซื้อรถ คุณก็เสียภาษีนะ คุณเสียภาษีรายปี ใช่ นั่นคือภาษีของคุณ แต่คุณก็ไม่ได้ใช้ทางเดินควายขับรถนี่… 

“รัฐบาลก็เหมือนนักธุรกิจที่ต้องหาเงิน อันนี้ที่ดิฉันเปรียบเทียบให้ฟัง ดิฉันพูดถึงเมืองนอก ว่าระบบกลไกของรัฐบาลเขาเป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงมีเงินมาให้ประชาชนในประเทศเขาใช้ตอนเกษียณ เพราะเขาหักคุณไปเท่าไหร่ อันนั้นก็ต้องจ่าย อันนี้ก็ต้องจ่าย ซึ่งตรงนี้ดิฉันเปรียบเทียบให้ฟัง แต่ถ้าฟังแล้วมันไม่เข้าหู ดิฉันก็ต้องขอโทษด้วย”

ต่อมาได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นอีกเป็นจำนวนมาก โดยระบุว่า “ผิดประเด็นแล้ว ภาษีที่เขาว่า คือภาษีที่เสียไปกับ…ทั้งทางตรงและทางอ้อม” เจ้าของคลิปจึงได้ตอบกลับคอมเมนต์นั้นว่า…

“คุณไปดูกราฟอะไรมา คุณเสียภาษีเท่าไหร่? ขอถามหน่อย แล้วสิ่งที่คุณได้ไป มันไม่คุ้มเหรอ? แล้วคุณเสียภาษีปีหนึ่งเท่าไหร่? อย่างถ้าคุณเป็นเกษตรกร ภาษีมันก็ไม่ได้เยอะมากมายขนาดนั้น หรืออย่างชาวนาถ้าไปลงทะเบียนข้าวนาปี รัฐฯ เขาก็ยังช่วย แล้วภาษีที่คุณทํางาน คุณเสียเท่าไหร่? เวลาคุณหรือครอบครัวคุณจะไปรักษาตัว คุณเสียครั้งละเท่าไหร่ คุณจ่ายไปเท่าไหร่? คุณถือแค่บัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลัก ที่แสดงตัวตนว่าคุณเป็นคนไทย แล้วคุณได้รับการรักษา คุณยังคิดว่ามันไม่ดีพออีกเหรอ? 

“ดิฉันไม่ได้เป็นคนคลั่ง แต่อยากให้ลองพิจารณาตัวเองว่า ทุกวันนี้คุณเสียภาษีไปเท่าไหร่ แล้วได้กลับคืนมาเท่าไหร่” เจ้าของคลิปกล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top