‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปักหลักไทยเกิน 180 วัน อย่านิ่งดูดาย มีรายได้จาก ‘ธุรกิจดิจิทัล-สื่อออนไลน์’ ก็ควรต้องเสีย

(16 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึง ประเด็นการกวดขันเก็บภาษีต่อผู้มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล (Digitalization) แม้รายได้นั้น ๆ จะมาจากต่างประเทศ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีบุคคลหรือบริษัทดิจิทัลและแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ หรือแม้แต่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหมือนรูปแบบบริการอื่น ๆ แต่มีรายได้สะพัดอยู่ในบัญชีประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น สามารถทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ (Digitalization) และมองผิวเผินเหมือนตรวจสอบได้ยาก

“อย่างหลายคนที่เราเห็นเขาขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวผู้ขายหลาย ๆ คนเองก็มีทั้งที่อยู่ในไทยและไม่ได้อยู่ในไทย แต่อย่างไรซะ หากมีถิ่นฐานในไทยหรืออยู่ในไทยเกิน 180 วันนั้น ผมคิดว่าสรรพากรควรจะต้องเข้มงวดกับบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นให้มากขึ้น เพราะนี่คือเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบว่า ใครที่มีรายได้เยอะ ๆ จากขายสินค้าผ่านช่องทางระบบดิจิทัล และมีถิ่นฐานอยู่ในบ้านเราบ้าง จากนั้นก็ต้องมาทำการเสียภาษีจากรายรับที่ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สรรพากรสามารถทำได้ เนื่องจากระบบดิจิทัลมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่”

เมื่อถามว่า ทำไมต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย นั่นก็เพราะว่า กฎหมายภาษีเงินได้ ยึด ‘ถิ่นฐาน’ เป็นหลัก ไม่ได้ยึดการบริโภคเป็นหลัก เช่น หากเราจะเก็บภาษีเงินได้จากบริษัท A บริษัท A ก็จะต้องมีถิ่นฐานถาวรอยู่ในประเทศไทย หรือหากเราจะเก็บภาษีจากนาย ก. นาย ก.ก็จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 180 วันในรอบปีนั้น กฎหมายภาษีเงินได้จึงจะใช้กับคนที่อยู่ในประเทศไทย

ยกเว้น เช่น นาย ก.อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาแค่ 179 วันต่อปี แม้จะเข้ามาใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศไทย ใช้น้ำ ใช้ไฟ ใช้ถนน เข้าถึงการแพทย์ขั้นพื้นฐานทุกอย่าง แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เราก็ไม่สามารถเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลจากเขา เพราะยังถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ผู้เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย แม้รายได้ของเขาจะเกิดในประเทศไทย 

“แต่ถึงกระนั้น รายได้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว ฉะนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่เก็บภาษีเงินได้ ก็คือผู้ใช้บริการต้องหักภาษีเอาไว้ ซึ่งเรียกว่าการหักภาษี ณ ที่จ่าย และทำการส่งให้กรมสรรพากรต่อไป ตรงนี้ก็เพื่อให้ตัวบทกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย”

***อนึ่งผู้ที่รับรายได้จากต่างประเทศและอยู่ในประเทศไทยในปีนั้น (ไม่ว่าจะเดินทางเข้าออกประเทศไทยกี่ครั้งก็ตาม) หากรวมทั้งหมดแล้วได้ตั้งแต่ 180 วัน เป็นต้นไป และนำเงินค่าจ้างจากต่างประเทศเข้ามาในปีนั้น ๆ ก็เข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายไทย ยกเว้นกรณีที่เปิดบัญชีไว้ที่ต่างประเทศ และไม่ได้นำเงินก้อนนั้นเข้าในไทยเลยในรอบปีภาษี