Sunday, 5 May 2024
ขายของออนไลน์

'แม่ค้าออนไลน์' โอด!! โดนเรียกภาษีย้อนหลัง 4 ล้าน หลังเจอสรรพากรแคปทุกโพสต์ เก็บทุกเม็ด

กำลังเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ เมื่อ ปุ๊กกี้ แม่ค้าออนไลน์คนดัง และโค้ชสอนด้านการตลาด อีกทั้งยังเป็นผู้สมัครเข้าประกวดมิสแกรนด์พิษณุโลก ได้ออกมาโพสต์ข้อความหลังถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกว่า 4 ล้านบาท 

โดยเพจ 'เชียงใหม่นิวส์ Chiang Mai News ข่าวเชียงใหม่' ได้โพสต์ข้อความ ว่า...

"ตั้งแต่โดนภาษีย้อนหลัง 4 ล้าน ก็ไม่โพสรายได้/สเตทเม้นอีกเลย เข็ด5555555 #ขอใช้ชีวิตเงียบๆ เตรียมวางแผนย้ายไปอยู่ ตปท.ละ เคสกี้โดนจับตามองมา 4 ปี แบบไม่รู้ตัว ตั้งแต่เฟสเก่า ยันเฟสใหม่ นามสกุลใหม่ แคปทุกโพส ทุกความสำเร็จของเรา ซื้อบ้าน รถ ที่ดิน ตามเก็บเหมือนเป็น FC เล๊ยยยย ต้องอธิบายให้ครบเอกสารประมาณ 2 แฟ้มใหญ่ ๆ ที่ทางเขาเก็บไว้🤣 โดนตรวจสอบแบบปวดหัวไปหมด  #หวังดีนะทุกคน จ่ายภาษีก็จริง แต่ถ้ารู้ว่าเราไม่เคลียร์จริงๆ เอกสารไม่ครบ โดนเหมา 60 / 40 +ค่าปรับจุก ๆ อย่าหาทำเลย ภาพลักษณ์ที่ได้ ไม่คุ้มกับเงินที่เสีย"

ตำรวจไซเบอร์ เตือนระวังเพจปลอมเลียนแบบเพจจริงหลอกขายสินค้าออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีการหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังเจอเพจในเฟซบุ๊กปลอม ลอกเลียนแบบของเพจในเฟซบุ๊กจริง ดังนี้


ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่ามีประชาชนตกเป็นเหยื่อจากการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้าเฉลี่ยกว่า 1,900 รายต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่สินค้าที่มักถูกหลอกลวง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ผลไม้ บัตรคอนเสิร์ต รถจักรยานยนต์มือสอง และปลาแซลมอน เป็นต้น โดยภัยจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือได้ไม่ตรงปก หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไปจนถึงการใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักจะสร้างความน่าเชื่อถือของร้านค้า การการันตีสินค้า การรีวิวสินค้าปลอม รวมไปถึงการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้ยังมีการสร้างเพจในเฟซบุ๊กปลอมตั้งชื่อลอกเลียนแบบให้เหมือน หรือคล้ายคลึงกับเพจในเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายสินค้าจริง โดยการคัดลอกรูปภาพสินค้า และเนื้อหาจากเพจจริงมาใช้ เมื่อหลอกลวงผู้เสียหายได้หลายรายก็จะเปลี่ยนชื่อเพจ หรือสินค้าไปเรื่อยๆ หรือสร้างเพจปลอมขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้เสียหายถูกหลอกลวงซื้อโทรศัพท์มือถือโทรศัพท์ซิมเน็ตรายปี ผ่านเพจปลอม Moblie2you ซึ่งเพจจริงคือ Mobile2youmbk หรือกรณีปลอมเพจหลายเพจขายทุเรียนของดาราท่านหนึ่ง เป็นต้น


ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีปฏิบัติการสำคัญเมื่อต้นเดือน มี.ค.66 ระดมตรวจค้นกว่า 40 จุด ทั่วประเทศภายใต้ยุทธการ “ ปิด Job - Shop ทิพย์ ” หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์ มีประชาชนหลายรายได้ความเสียหายหลายล้านบาท สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับกว่า 30 ราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก


อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะสะดวกสบาย มีให้เลือกหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละแหล่งได้ ติดตามโปรโมชันต่างๆ ได้ ที่สำคัญสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปักหลักไทยเกิน 180 วัน อย่านิ่งดูดาย มีรายได้จาก ‘ธุรกิจดิจิทัล-สื่อออนไลน์’ ก็ควรต้องเสีย

(16 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึง ประเด็นการกวดขันเก็บภาษีต่อผู้มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล (Digitalization) แม้รายได้นั้น ๆ จะมาจากต่างประเทศ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีบุคคลหรือบริษัทดิจิทัลและแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ หรือแม้แต่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหมือนรูปแบบบริการอื่น ๆ แต่มีรายได้สะพัดอยู่ในบัญชีประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น สามารถทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ (Digitalization) และมองผิวเผินเหมือนตรวจสอบได้ยาก

“อย่างหลายคนที่เราเห็นเขาขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวผู้ขายหลาย ๆ คนเองก็มีทั้งที่อยู่ในไทยและไม่ได้อยู่ในไทย แต่อย่างไรซะ หากมีถิ่นฐานในไทยหรืออยู่ในไทยเกิน 180 วันนั้น ผมคิดว่าสรรพากรควรจะต้องเข้มงวดกับบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นให้มากขึ้น เพราะนี่คือเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบว่า ใครที่มีรายได้เยอะ ๆ จากขายสินค้าผ่านช่องทางระบบดิจิทัล และมีถิ่นฐานอยู่ในบ้านเราบ้าง จากนั้นก็ต้องมาทำการเสียภาษีจากรายรับที่ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สรรพากรสามารถทำได้ เนื่องจากระบบดิจิทัลมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่”

‘มณีรัตน์’ ชู ปลดล็อกค้าขายออนไลน์-ลดค่าขนส่งระหว่างประเทศ หวังติดปีก e-Commerce ดันผู้ค้ารายย่อย-สินค้าไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อไม่นานนี้ น.ส.มณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กทม. พระโขนง-บางนา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หมายเลข 6 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘มณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์’ ถึงเรื่องการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยระบุว่า…

ปัจจุบันการซื้อสินค้าจากประเทศจีนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ค้าจีนสามารถส่งส่งสินค้ามาถึงผู้ซื้อในไทย ค่าส่งเพียง 20 บาท!! เขาทำกันได้อย่างไร??

ค่าส่งสินค้าที่สูงเป็นปัญหาใหญ่ ที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนไทยกำลังประสบกันอยู่ เพราะบางครั้งค่าส่งสินค้าภายในประเทศยังเสียค่าส่งแพงกว่านี้!!

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและผลักดันธุรกิจค้าปลีก e-Commerce ของจีนจนสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด หนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ผู้ค้าปลีกออนไลน์จีนสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ คือ ค่าขนส่งสินค้าไปต่างประเทศที่ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ผู้ค้าจีนได้เปรียบผู้ค้าประเทศอื่น ๆ ด้านราคาเมื่อคิดรวมค่าขนส่งกับค่าสินค้าเข้าด้วยกัน โดยรัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือผู้ค้าในส่วนนี้ โดยการสนับสนุนค่าส่งสินค้าไปต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม, ผลักดันเรื่องการบริหารจัดการระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ, ควบคุมราคาค่าส่งสินค้าให้มีความเหมาะสม, ร่วมกับการเจรจาลดหย่อนภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้า

ในทางกลับกันประเทศไทยมีสินค้าไทย ที่ได้รับความที่นิยมจากลูกค้าชาวจีนและประเทศอื่น ๆ จำนวนมาก แต่หากคนไทยขายของออนไลน์ส่งไปต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน กลับต้องเสียค่าขนส่งสูงกว่าจากจีนมาไทยหลายเท่า เป็นปัญหาที่ดับฝันโอกาสทางธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายย่อยชาวไทย ในการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มไปสู่ตลาดโลกอย่างสิ้นเชิง

ในครั้งนี้หากได้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ประเด็นการค้าขายออนไลน์ เป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะผลักดัน โดยหนึ่งในนั้นคือ การปลดล็อก ลดค่าขนส่งสินค้ารายย่อยระหว่างประเทศ เพื่อติดปีก e-Commerce ไทย สนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากล

‘คธอ.-ETDA’ เสนอเพิ่มมาตรการดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมช่องทางในการให้ข้อมูล รองรับผู้ประกอบการออนไลน์

(5 ก.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้หารือกับผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล E-Marketplace ได้แก่ Lazada, AirAsia Super App, Noc Noc, และ Shopee เข้าร่วมการประชุมทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ถึงความสำคัญของ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

โดย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) และ ETDA ได้เสนอให้มีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้มาตรา 32 พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้กลไกการกำกับดูแลในระดับการแจ้งให้ทราบ กฎหมายนี้เป็นกฎเกณฑ์กลางในการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อน การประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรด้วย โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะการให้บริการ และผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ETDA จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best-practice) หรือมีกลไกการกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ที่เหมาะสม อีกทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย สำหรับแผนการรองรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อยู่ก่อนแล้ว ให้แจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ หรือภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566

โดยทาง ETDA อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไก self-regulate ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเน้นสำหรับบริการ Social Media และ e-Commerce ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ลดการฉ้อโกงออนไลน์) และการดำเนินคดี (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) และอยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ETDA ได้จัดงานรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ETDA ในฐานะ Co-Creation Regulator ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อ กฎหมายลําดับรอง ภายใต้ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ มาอย่างต่อเนื่อง การรับความความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้น ETDA จะเปิดเวทีชี้แจ้งและสรุปภาพรวมของกฎหมายลําดับรองทั้ง 9 ฉบับ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นในระยะแรกนี้ต่อสาธารณะอีกครั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ที่สนใจได้ทําความเข้าใจภาพรวมของกฎหมายร่วมกันอีกครั้ง

และก่อนที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ จะมีผลใช้บังคับในเดือนหน้านี้ เพื่อเป็นการปิดข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ETDA จึงเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อช่วยประเมินเบื้องต้นว่า เป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดําเนินการแจ้งให้ ETDA ทราบ ผ่าน Checklist ออนไลน์ ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment

ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ และรายเล็กเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และ ในเร็วๆ นี้เตรียมขยายผลสู่การจัดกิจกรรม Pre-Consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คําปรึกษา แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจด แจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย ผ่านทางระบบ e-Meeting โดยจะเริ่มเปิดระบบให้จองนัดประชุม ทางเว็บไซต์ของ ETDA ก่อนเปิดให้บริการให้คําปรึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566

นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับบทบาทของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA สู่การเป็นช่องทางกลางในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย DPS เพื่อให้ผู้ร้องเรียนเข้าถึงกระบวนการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

‘อินโดนีเซีย’ มีแผนสั่งแบนห้ามซื้อขายสินค้าบน ‘เฟซบุ๊ก-TikTok’ หลังพบขายของประชันราคา ทำให้ผู้ค้าในตลาดทั่วไปรับผลกระทบ

เมื่อไม่นานมานี้ รอยเตอร์รายงาน ว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียแถลงต่อรัฐสภาอินโดนีเซีย ว่า รัฐบาลแดนอิเหนามีแผนที่จะสั่งห้ามการซื้อขายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก TikTok และอื่นๆ

รัฐมนตรีอินโดนีเซียหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ผู้ค้าบนโซเชียลมีเดียใช้เล่ห์ทางราคาส่งผลกระทบต่อผู้ขายในตลาดปกติทั่วไปภายในประเทศ

รอยเตอร์ชี้ว่า ปัจจุบันกฎหมายของอินโดนีเซียยังไม่ครอบคลุมในการซื้อขายโดยตรงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

“โซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซยังไม่สามารถรวมกันได้” เจอร์รี ซัมบัวกา (Jerry Sambuaga) ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียแถลงต่อหน้ารัฐสภา พร้อมกันนี้เขายังใช้ตัวอย่างผู้ขายใช้การขายของไลฟ์สดบน TikTok เป็นตัวอย่างให้เห็น

เขากล่าวต่อว่า “การแก้ไขข้อกฎกำหนดทางการค้านั้นกำลังดำเนินการที่จะมีการสั่งห้ามอย่างเข้มงวดและชัดเจนต่อสิ่งนี้”

TikTok ได้กล่าวแถลงตอบโต้ว่า “การแบ่งแยกโซเชียลมีเดียและการซื้อขายทางออนไลน์ออกจากแพลตฟอร์มเดียวจะเป็นการทำลายการสร้างสรรค์ และทางแพลตฟอร์มหวังว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะเปิดโอกาสพื้นที่ให้บริษัท”

โฆษก TikTok ประจำอินโดนีเซียกล่าวผ่านแถลงการณ์วันพุธ (13 ก.ย.) มีใจความว่า “มันจะเป็นการเสียโอกาสสำหรับผู้ค้าอินโดนีเซียและต่อผู้บริโภคทั้งหลาย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TikTok ที่มีผู้ขายถึง 2 ล้านคนในแดนอิเหนาได้เคยออกมาประกาศก่อนหน้าว่า ทางแพลตฟอร์มยังคงไม่มีแผนเปิดธุรกิจข้ามพรมแดนในอินโดนีเซียหลังเจ้าหน้าที่แดนจาการ์ตาได้เคยออกมาเปรยว่า หากทำเช่นนั้นจะส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในอินโดนีเซีย

อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works พบว่า อินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 52 พันล้านดอลลาร์สำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซแค่ในปีที่ผ่านมา

และจากจำนวนทั้งหมดพบว่า 5% อยู่บน TikTok โดยเฉพาะการขายผ่านไลฟ์สตรีม

CNN รายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการทดลองฟอร์แมตใหม่ของการช้อปปิ้งในหลายตลาด เป็นต้นว่าในอังกฤษ และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ล่าสุด (12 ก.ย.) พบว่า ByteDance เปิดตัว TikTok Shop ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคลิปสั้นสำหรับธุรกิจสำหรับช่องทางอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 150 ล้านยูสเซอร์

ที่ดูเหมือนเป็นการชนกับบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ‘แอมะซอน’ เพราะอ้างอิงจาก engadget พบว่าภายใน TikTok Shop นั้นจะรวมไปถึง Shop Tab สำหรับผู้ค้าที่จะสามารถแสดงสินค้า และวิดีโอที่เกี่ยวข้องจากลูกค้าที่จะทำให้ผู้สร้างได้รายได้ค่าคอมมิชชันและโฆษณาสำหรับธุรกิจ

นอกเหนือจากนี้พบว่า TikTok ยังเปิดบริษัทโลจิสติกส์ขนส่งของตัวเองเพื่อตอบสนองชื่อ Fulfilled by TikTok คล้ายกับ Fulfilled by Amazon ที่จะเชื่อมกับโกดังสินค้าและการขนส่งสำหรับผู้ค้าที่จดทะเบียน

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ Nico Le Bourgeois ได้เปิดเผยว่า TikTok Shop นั้นมีผู้ค้าลงทะเบียนแล้วกว่า 200,000 ราย และผู้สร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายที่ได้เข้าสู่การไลฟ์สตรีมขายสด

Engadget รายงานว่าปัจจุบัน Shop Tab นั้นเปิดให้ผู้ใช้ 40% จากทั้งหมดและคาดว่ารูปแบบเต็มที่จะเปิดให้ผู้ใช้ทั้งหมดในสหรัฐฯ จะมาถึงได้เร็วสุดภายในต้นตุลาคมนี้

CNN รายงานว่า TikTok มีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายทางอีคอมเมิร์ซให้ได้ 4 เท่าภายในสิ้นปี คาดว่าจะแตะ 20 พันล้านดอลลาร์ 

โซเชียลรุมวิจารณ์ 'ร้านออนไลน์' แปะป้ายบังคับรีวิวคะแนนสูง ขู่!! ถ้าให้คะแนนรีวิว 1-3 ดาว จะไม่รับเคลมสินค้าทุกกรณี

การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กลายเป็นชีวิตปกติของคนยุคนี้ไปแล้ว หลังจากซื้อสินค้า การรีวิวเป็นสิ่งที่ร้านค้าให้ความใส่ใจเพราะหมายถึงการซื้อของคนอื่นๆ ในครั้งต่อไป

แต่ร้านค้าแห่งนี้คงใส่ใจเรื่องคะแนนมากเกินไป จนทำให้กลายเป็นเรื่องเป็นราว โดยผู้บริโภครายหนึ่ง ได้ถ่ายภาพกล่องสินค้า ซึ่งเขียนว่า “รีวิวไม่ถึง 1 คะแนน ไม่รับเคลมทุกกรณี”  งานนี้เล่นเอาผู้บริโภคและชาวเน็ตรายอื่นๆ เห็นแล้วเดือดทันที

โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า “ทุเรศแบบนี้ก็ได้เหรอ!! สั่งของ มาแล้วที่หน้ากล่องติดสติกเกอร์อันนี้อยู่ หมายความว่าถ้าของเสียหายเราจะต้องให้ 3 ดาวขึ้นไปถึงจะเคลมได้ แต่ถ้าเกิดเราให้ 1-3 ดาวไม่รับเคลม มันก็เข้าข่ายว่าเราหลอกคนอื่นๆไปด้วยหรือเปล่า ถ้าของเกิดชำรุดเราต้องให้ 4-5 ดาวถึงจะเคลมได้ ทั้งๆที่ถ้าเราได้ของชำรุดมาเราไม่พอใจอยากจะให้ 1-2 ดาวแต่ก็เคลมไม่ได้”

งานนี้ทำเอาชาวเน็ตแนะนำวิธีการจัดการกับร้านค้าลักษณะนี้ เช่น แนะนำว่า “ให้ใช้รูปหน้ากล่องของร้านที่เขียนแบบนี้ในการรีวิว” ซึ่งถือเป็นวิธีการรีวิวแบบเชือดนิ่ม เพราะการใส่กติกาลักษณะนี้ถือเป็นความไม่จริงใจต่อการขายในรูปแบบหนึ่ง

กระแสชอปปิงผ่าน ‘ไลฟ์สด’ ในจีน ส่งสัญญาณสดใส หลังหลายร้านแห่ใช้ ‘AI’ ขายแทนคน สร้างความแปลกใหม่

(11 ธ.ค.66) ตามรายงานของแมคคินซี่ย์ แอนด์ คอมพานี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ระดับโลก ระบุว่า ยอดขายสินค้าผ่านไลฟ์สดในจีนพุ่งสูงขึ้น 19% ในช่วงเทศกาลวันคนโสด (Singles Day) เมื่อเดือนพ.ย. ขณะที่ยอดขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม ปรับตัวลง 1%

นับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดในจีนเมื่อช่วงต้นปี 2563 กลุ่มผู้ค้าปลีกในจีนได้หันไปว่าจ้างนักไลฟ์สด หรือไม่ก็พัฒนาตนเองเป็นนักไลฟ์สดเพื่อขายสินค้า ขณะที่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์ เช่น ออสติน หลี่ ได้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และเป็นเศรษฐีเงินล้านเพียงชั่วข้ามคืน ผ่านการไลฟ์สดขายสินค้า

ดาเนียล ซิปเลอร์ นักวิเคราะห์ของแมคคินซี่ย์กล่าวว่า การไลฟ์สด โดยเฉพาะการไลฟ์สดเพื่อขายสินค้านั้น กำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และขณะนี้บริษัทค้าปลีกหลายแห่งกำลังหันมาใช้เอไอ แทนคนในการไลฟ์สดขายสินค้า และหลายบริษัทเริ่มใช้อวตาร (Avatar) หรือภาพกราฟิกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้แทนภาพลักษณ์จริงของมนุษย์

เสี่ยวเฟิง หวัง นักวิเคราะห์จากบริษัทฟอร์เรสเตอร์กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อไลฟ์สดขายสินค้า ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเทศกาลวันคนโสดในจีนปีนี้ โดยคุณภาพของเอไอ หรืออวตาร ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และดูเหมือนคนจริง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเอไอที่พัฒนาโดยบริษัทเทนเซ็นต์

นักวิเคราะห์จากบริษัทฟอร์เรสเตอร์ กล่าวว่า

“เราคาดว่ากลุ่มผู้ค้าปลีกในจีนจะใช้ AI ในการไลฟ์สดขายสินค้าเพิ่มขึ้นอีก เพื่อสร้างความแตกต่างจากการขายสินค้าทั่วไป และเพื่อลดต้นทุนในการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top