‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อน!! ความจำเป็น ‘จัดเก็บภาษี-กู้เงิน’ ในวันที่ประเทศต้องพัฒนาและปวงประชาต้องมีสวัสดิการ

(9 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ โดยข้องเกี่ยวกับภาษีที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องจ่าย รวมถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อนำมาต่อยอดประเทศในด้านต่างๆ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ถ้าย้อนความเรื่องของการจัดเก็บภาษี ก็ต้องบอกว่ามีมาช้านานแล้ว และไม่ใช่เพียงแค่ในรูปแบบของเงินเท่านั้นด้วย โดยในสมัยก่อนยังมีเรื่องของการเสียภาษีเป็นทาส กล่าวคือ การเอาคนมาเป็นทาส ถือเป็นการเก็บภาษีจากแรงงานของคน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ เป็นต้น

แต่แน่นอนว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการจัดเก็บภาษีก็เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถเข้ากับรูปแบบสังคมในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นไปในรูปแบบของการจัดเก็บเงินได้แบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่จะมีความต่างจากในสมัยก่อน เพราะเงินภาษีที่ประชาชนยอมสละส่วนหนึ่งไปให้รัฐฯ นั้น ก็เพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อ ไม่ได้หายไปเปล่า ๆ เหมือนดั่งเช่นในอดีต

ฉะนั้น เมื่อมักมีคนถามถึงเหตุผลที่รัฐฯ เข้ามาบังคับจัดเก็บภาษี ว่าเก็บไปเพื่ออะไร และทำไมจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีเท่านั้นเท่านี้...

ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเชิงปรัชญา เช่น เวลาเราถามว่า รัฐฯ คืออะไร และต้องใหญ่ขนาดไหน ซึ่งบางทีก็ต้องไปดูความต้องการของรัฐฯ ในประเทศนั้น ๆ ต้องการมีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะผูกพันและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละประเทศ แต่ละศาสนา แต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกันด้วย

...เช่น รัฐฯ ในประเทศนี้ต้องการเติบใหญ่มาก ๆ โดยมองจากเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนเท่ากับ 100% ซึ่งรัฐฯ ของประเทศนี้อาจจะต้องการมีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจ 80% ที่เหลืออีก 20% ให้เอกชนไป การเก็บภาษีก็จะปรับเปลี่ยนไปมากน้อยตามสัดส่วนเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐต้องการถือครอง

ฉะนั้น หากมองไปทั่วโลก ก็มีหลาย ๆ ประเทศที่รัฐฯ มีขนาดใหญ่มาก มีหน่วยงานรัฐฯ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวพันกับรัฐฯ เยอะแยะมากมาย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและจีดีพี ในขณะที่บางประเทศ รัฐฯ ก็มีขนาดเล็ก และเต็มไปด้วยกิจการภาคเอกชนเต็มไปหมด ซึ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะมีความเกี่ยวพันกับการเก็บภาษีทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าเรามองในมุมของรัฐฯ ที่ต้องการทำให้ประเทศยิ่งใหญ่ขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็ต้องใหญ่ขึ้นตาม และนั่นก็มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีมากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และงบประมาณในการใช้จ่ายของรัฐฯ ก็จะมีที่มาของเงินอยู่เพียงแค่ 2 แหล่ง คือ...

1.) รายได้ที่มาจากภาษี
2.) การกู้เงิน

นี่จึงเป็นภาพที่อยากสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการเก็บภาษี รวมถึงการกู้เงินที่ผ่าน ๆ มา ในวันที่รัฐฯ ของทุกประเทศ ต่างต้องการเติบใหญ่ มีขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัว เพราะอะไร?...

เพราะวันนี้ประชาชนย่อมต้องการสวัสดิการจากรัฐฯ อยากได้รับเงินแจก อยากได้เงินสดฟรี จากนโยบายต่าง ๆ อย่างที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเงินเหล่านี้มาจากไหน ก็ล้วนแล้วแต่มาจากภาษีพี่น้องประชาชนนั่นเอง แล้วถ้าอยากได้มากขึ้นล่ะ...ก็แค่ต้องมีการขึ้นภาษีตามไปด้วยในอนาคตโดยปริยาย

ขณะเดียวกัน ถ้าภาษีที่จัดเก็บไม่เพียงพอต่อความต้องการสวัสดิการ หรือโครงการในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ก็ต้องไปกู้มา เท่านั้นเองครับ