Tuesday, 7 May 2024
หนี้สิน

‘นิติ มธ.’ ระดม ทนายอาสา ปรึกษาปัญหาหนี้สิน!! | Click on Clear THE TOPIC EP.168

📌 ‘หนี้สิน’ ปัญหาแก้ไม่ตกที่ชวนปวดหัว! ร่วมแก้ปมหนี้ ไปกับ ‘ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง’ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ‘นายณัฐพงศ์ รงค์ทอง’ นิติกรศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘นายณัฐ จินตพิทักษ์กุล’ ทนายความศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์!
📌ใน Topic : ‘นิติ มธ.’ ระดม ทนายอาสา ปรึกษาปัญหาหนี้สิน!!

ในรายการ Click on Clear THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้

🕗เวลา 2 ทุ่มตรง รับชมไปพร้อมกัน !!

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

🎥 ช่องทางรับชม LIVE 
Facebook: THE STATES TIMES
YouTube: THE STATES TIMES
TikTok: THE STATES TIMES

‘บิ๊กตู่’ พอใจ ศธ. เร่งแก้ปัญหาหนี้ครู ผนึก 13 หน่วยงาน แก้หนี้เป็นรูปธรรม - ลดเหลื่อมล้ำ

(26 ม.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระสำคัญ 

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์พอใจกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา’ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานและสถาบันการเงิน 12 แห่ง เพื่อต่อยอด ‘โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย’ และ ‘มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย’ ที่มีการช่วยเหลือและปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 10,300 ล้านบาท รวมไปถึงการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ  

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ความร่วมมือของ 13 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการและประสานความร่วมมือ เพื่อจัดกิจกรรมตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และมีบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน โดยดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานเข้าช่วยเหลือจัดการแก้ไขหนี้และการอบรมความรู้ปลูกฝังวินัยการเงิน พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับการชำระหนี้ การกู้ยืม การออม และการลงทุน เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รองโฆษก อสส. ชี้!! หนี้เงินไม่ใช่หนี้ชีวิต ไม่ต้องเอาไปใช้ให้ใคร แนะ!! สายด่วน 1157 อัยการมีวิธีหาทางออกให้

(30 ม.ค. 66) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เป็นหนี้…อย่าคิดสั้น  หนี้เงินไม่ใช่หนี้ชีวิต ไม่ต้องเอาชีวิตไปใช้หนี้ใคร..?” ระบุว่า อัยการมีวิธี…แก้ปัญหาชีวิต มาคิดยาว..กับอัยการชีวิตยังไปต่อได้เสมอ ปัญหาหนี้สินเครียด ไม่มีทางออก อย่าคิดสั้น อัยการมีวิธีหาทางออกให้ถูกกฎหมาย ต่อให้ล้มละลาย..ชีวิตก็ยังไปต่อได้

โปรดไปพบอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มีทุกจังหวัด 117 สาขาวันเสาร์ก็ไปได้ สายด่วน 1157 อัยการจะบอกวิธีแก้ปัญหาชีวิตจากหนี้สิน อัยการช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนมาแล้วมากมาย มาหาอัยการจะมองเห็นทางออกชีวิตไม่มีทางตัน ชีวิตไปต่อได้เสมอ มาสู้ชีวิต ๆต้องสู้…อัยการจะอยู่เคียงข้างประชาชน ก่อนตัดสินใจคิดสั้นโปรดมาพบอัยการก่อนครับ

‘สันติ’ ดัน นโยบายแก้หนี้นอกระบบ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ช่วยกลุ่มเปราะบาง สร้างความเสมอภาคในการเลี้ยงอาชีพ

(22 มี.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ว่า จะมีมาตรการจะช่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งโดยส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะรับรองเงินนอกระบบมาเป็นเงินในระบบและคิดดอกเบี้ย 20-30% เพราะตามข้อเท็จจริงชาวบ้านและเกษตรกร ถ้าไม่ได้รับความเสมอภาคก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะฟื้นตัว เพราะเขาต้องกู้เงินนอกระบบ แต่ต้องมาแบกดอกเบี้ยแพงขนาดนี้ แต่ปล่อยกู้ให้นายทุนคิดดอกเบี้ยเพียง 2-3% เท่านั้น ทั้งที่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของประชาชนทั้งประเทศประมาณ 22 ล้านล้านบาท

ซึ่งธนาคารต่าง ๆ ปล่อยกู้ให้กิจการขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่ในระดับข้างล่าง อาทิ เอสเอ็มอี (SME) หาบเร่แผงลอย ได้มาพูดคุยกับตนและพรรคว่า เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเหล่านี้ เพราะธนาคารคิดดอกเบี้ยแพง รวมถึงดอกเบี้ยเงินฝากได้เพียง 0.75-1% หรือได้ไม่ถึง 1% แต่เวลาธนาคารต่าง ๆ นำเงินไปปล่อยกู้ เก็บดอกเบี้ย 7-8% ฉะนั้น จะนำเรื่องนี้ประชุมกับคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อหาแนวทางแก้ไข

‘เบอร์มิงแฮม’ เมืองใหญ่ของอังกฤษ ประกาศล้มละลาย หลังเผชิญวิกฤตงบประมาณขาดดุล-ปัญหาภาระหนี้สิน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 หัวหน้าฝ่ายการเงินของสภาเมืองเบอร์มิงแฮมได้ประกาศใช้มาตรา 114 ที่หมายความว่าจะไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณใหม่ ๆ เกิดขึ้น ยกเว้นการใช้จ่ายที่จำเป็น ทั้งการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และภาระผูกพันทางการเงินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ส่วนบริการที่คาดว่าจะต้อง ถูกปรับลดงบประมาณมีทั้งการทำความสะอาดถนน การดูแลรักษาสวนสาธารณะ ห้องสมุด บริการเกี่ยวกับเด็กที่อยู่นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางสังคม และการเก็บขยะที่อาจต้องทิ้งช่วงเวลานานขึ้น

สภาเมืองเบอร์มิงแฮม ระบุว่า สาเหตุหลักที่ต้องประกาศล้มละลาย เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยมูลค่าสูงถึง 760 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 34,000 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มพนักงานหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่รวมตัวยื่นฟ้องในคดีจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

การจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้านกฎหมายกับสหภาพแรงงานที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาเมืองเบอร์มิงแฮมเปิดเผยว่า ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานหญิงไปแล้ว 1,100 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือยอดหนี้อีกราว 650-750 ล้านปอนด์ ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นเดือนละ 5 ล้าน ถึง 15 ล้านปอนด์ หรือ 200 ล้าน ถึง 670 ล้านบาท ซึ่งสภาเมืองไม่สามารถหาเงินมาชำระได้

นอกจากเบอร์มิงแฮม ยังมีสภาท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่ต้องประกาศล้มละลายเหมือนกับเบอร์มิงแฮม เช่น วอคกิง ครอยดอน และเทอร์รอค หลังจากหลายโครงการลงทุนเกิดปัญหา และเผชิญกับการปรับลดเงินทุน

ขณะที่สมาคมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอังกฤษประเมินว่า ตลอด 2 ปีนับจากนี้ สภาเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนรวมกันประมาณ 2,000 ล้านปอนด์ หรือ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริการสาธารณะที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

'ดร.สุวินัย' ชี้!! สาเหตุก๊วนทัวร์รุม 'เพจดัง' เตือนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักออม เพราะไปทิ่มแทงอีโก้คนรุ่นใหม่ 'หนี้ท่วมหัว-คำเตือนผู้ใหญ่ดันเป็นจริง'

(8 ก.ย.66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ว่า...

คนรุ่นใหม่ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

ว่ากันว่าปฏิกิริยาแรกของคนส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังจากปากของหมอว่าตัวเองเป็น "มะเร็งระยะสุดท้าย" ... คือการปฏิเสธยอมรับความจริง!!

ครั้นพอผ่านไปไม่นาน เมื่อเจ้าตัวทำใจได้แล้วในที่สุดก็จำใจยอมรับความจริงได้...การรักษาที่แท้จริงเริ่มต้นจากจุดนี้ คือเริ่มตั้งแต่เจ้าตัวยอมรับความจริง

รายการ ‘ถามอีก กับอิก’ ของคุณอิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข เป็นรายการเกี่ยวกับเศรษฐกิจ-การเงินที่น่าติดตามในยุคนี้

วันนี้ผมได้ทราบข่าวว่า ทวิตเตอร์ส่วนตัวของคุณอิกโดนทัวร์ลงอย่างหนัก จนถึงขั้นคุณอิกต้องปิดทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาอย่างถาวร เพราะคุณอิกดันไปแนะนำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเก็บออมเงิน อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และเริ่มลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงาน

‘ความจริง’ ที่อยู่เบื้องหลังการโดนทัวร์ลงอย่างหนักของคุณอิกคืออะไร?

‘ความจริง’ นั้นก็คือ คนรุ่นใหม่มีหนี้ท่วมหัว และครัวเรือนไทยมีหนี้ท่วมหัว

ในช่วงที่ผ่านมาเราพบว่า...

- ปี 2563 คนไทยเป็นหนี้ 33%

- ปี 2564 คนไทยเป็นหนี้ 36%

- ปี 2565 คนไทยเป็นหนี้ 37%

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนคนที่มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

ทำให้ตอนนี้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 58% เป็น 90% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเข้าไปดูเนื้อในหรือประเภทของหนี้ ว่าหนี้ประเภทไหนที่มีสัดส่วนมากที่สุด เราพบว่า หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อรายได้ (ไม่รวมหนี้ซื้อบ้านซื้อรถ) มีมากสุดถึง 27%

มิหนำซ้ำ ‘หนี้เสีย’ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทย 15,960,000 ล้านบาท เป็นหนี้เสียถึง 950,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นหนี้เสียอีก 600,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกลางปี 2565 ที่อยู่ที่ 380,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 57% ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี

โดยหนี้เสียส่วนใหญ่ คือ หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์ รวมไปถึงรถมอเตอร์ไซค์

โดยเฉพาะหนี้เสียรถยนต์ ที่มีโปรโมชันต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากต้นปี 2565 ที่ 1.47% จนล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 2.05%

‘ธ.ก.ส.’ ชงพักหนี้แบบมีรายได้ 3 ปี-เล็งยกเลิกให้สิทธิ์อัตโนมัติ ดัน ครม.เห็นชอบ หวังลดภาระ-สร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร

(21 ก.ย. 66) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม โดยฝ่ายบริหารจะมีการเสนอมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ตามนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการลดภาระและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นการเร่งด่วน คาดว่าจะนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ก.ย.นี้ เพื่อให้การดำเนินการต่อไป

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ยืนยันว่ามาตรการพักหนี้รอบใหม่ จะไม่เหมือนกับ 13 ครั้งในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการทำมาตรการบนแนวทาง 2 เรื่อง คือ

1.) มุ่งลดภาระให้เกษตรกร โดยจะพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เกษตรกรทันที 3 ปี ส่วนภาระดอกเบี้ยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยให้ ธ.ก.ส.แทน

2.) เร่งฟื้นฟูศักยภาพให้เกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ในระหว่างร่วมมาตรการพักหนี้ โดยปรับวิธีคิดการทำเกษตรจากเดิมที่เน้นจำนวนการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มเทคนิคทางการเกษตร การทำการตลาด วิธีการขาย กรณีที่มีการเพาะปลูกต้องรู้ตลาดว่าจะนำไปขายให้ใคร

“รัฐบาลให้นโยบายชัดเจนว่า ให้ ธ.ก.ส.ไปทำมาตรการพักหนี้รอบใหม่ให้รอบด้าน โดยปิดจุดอ่อนมาตรการในอดีตให้มากที่สุด โดยตอบโจทย์ 3 ประเด็น คือ 1.) ลดภาระ 2.) ฟื้นฟูศักยภาพ และ 3.) ระมัดระวังการเสียวินัยชำระหนี้หลังจากพ้นระยะเวลามาตรการพักหนี้ไปแล้ว ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกหนี้อยู่ราว 3.9 ล้านราย สินเชื่อรวม 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายได้จะเข้าเกณฑ์ มีสินเชื่อรวมต่อรายเท่าใดก็จะเสนอหลายแนวทางให้พิจารณา” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า การพักหนี้รอบใหม่จะแตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ลูกหนี้จะได้สิทธิ์ทันทีโดยอัตโนมัติไม่ต้องดำเนินการอะไร แต่ครั้งนี้ลูกหนี้ที่ต้องการร่วมโครงการ จะต้องโชว์ตัวตนผ่านแอปลิเคชัน BAAC Mobile เพื่อให้ธนาคารสามารถติดตามสถานะลูกหนี้ได้ ไม่ใช่เข้าโครงการแล้วหายไปเลย ธนาคารก็จะประเมินสถานะลูกหนี้ พร้อมกำหนดแนวทางช่วยเหลือแต่ละรายแตกต่างกันตามความสามารถของลูกหนี้ การพักหนี้รอบใหม่จะมาเป็นแพ็คเกจ ทั้งการให้สิทธิ์ประโยชน์ รวมทั้งการให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับลูกหนี้ที่ต้องการเงินทุน เพิ่มสภาพคล่องเพื่อการฟื้นฟู ไม่ให้ไปกู้นอกระบบ

ด้านนางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการศึกษาถอดบทเรียนการพักหนี้เกษตรกรไทย ว่า การพักหนี้ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ซ้ำยังเป็นการทำให้เกษตรกรเสพติดการพักหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ดี

ส่วนลูกหนี้เสียเหมือนเป็นการเตะปัญหาออกไป จึงเสนอให้มีการออกแบบมาตรการให้เหมาะสม คือ

1.) ไม่ควรมีรูปแบบพักหนี้เหมือนเดิม และเน้นพักหนี้ระยะสั้น
2.) แก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่พักหนี้ให้ทุกคน เช่น กลุ่มได้รับผลกระทบภัยแล้ง น้ำท่วม
3.) เสริมแนวทางให้เกษตรกรช่วยเหลือตนเอง เช่น ระบบประกันสินเชื่อเกษตรกร โดยการพักหนี้ควรเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่รัฐบาลจะนำมาใช้

‘คน 14 ตุลา’ ชี้!! 50 ปีผ่านไปคนไทยเป็นหนี้หนักขึ้น ‘ค่าครองชีพพุ่ง-ระบบทุนนิยม’ ฉุดรั้ง!! ลืมตาอ้าปากยาก

เวทีเสวนาหลัง 50 ปี 14 ตุลาชี้คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ช่องว่างคนรวย-คนจนยิ่งชัด เผยคนไทยกว่า 4.8 ล้านคน รายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,800 บาท อยู่ใต้เส้นความยากจน แนะแก้ปัญหาระยะสั้นต้องเอาอย่างจีน พุ่งเป้าดึงก้าวข้ามเส้นความยากจน

(9 ต.ค. 66) มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดเสวนา 50 ปี 14 ตุลา โดยมี รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณและอดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้นำเสนอ ‘ทิศทางการแก้ปัญหาความยากจนของไทยหลัง 50 ปี 14 ตุลา’

รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าวว่า ยุคนี้รายได้คนไทยดีกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ถ้ายึดค่าครองชีพเป็นตัววัด สมัยก่อนเด็กจบใหม่สามารถเก็บเงินซื้อบ้านได้ แต่สมัยนี้เด็กจบใหม่ไม่มีปัญญาซื้อบ้าน เพราะค่าครองชีพสูง แม้ว่ารายได้สูงจริง แต่ค่าครองชีพสูง ทำให้แต่ละเดือนมีเงินไม่พอใช้ หนี้ก็มากขึ้น 

“ผ่าน14 ตุลา 16 มา 50 ปี คนเป็นหนี้มากขึ้น แต่คนมองว่าเป็นเครดิต รัฐบาลก็มองเหมือนกันว่าเป็นหนี้มากเป็นเครดิต แต่ความจริงเป็นหนี้มากต้องใช้หนี้ ถ้าไม่นับตัวเงินโดยรวมคิดว่าแย่ลง เพราะตัวเงินเหมือนกับรายได้สูงขึ้น แต่ค่าครองชีพสูงตาม รวมทั้งความแตกต่างระหว่างคนรวยมาก ๆ คนชั้นกลางกับคนจนก็มีมากขึ้น” รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าว    

อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า ระบบทุนนิยมสร้างปัญหามาก ถึงแม้จะอ้างว่า ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้คนมีรายได้ มีเครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่ถ้าเปรียบกับคุณภาพชีวิต การกระจายทรัพย์สินและรายได้ มันคือระบบของการกดขี่ ขูดรีด ซึ่ง คาร์ล มาร์กซ พูดไว้นานแล้วว่า คนรวยยินดีจะช่วยคนจนทุกอย่าง ยกเว้นลงมาจากหลังคนจน โดยนำเอาโครงการประชานิยมต่าง ๆ มาสารพัด แต่ไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้าง เขายินดีบริจาค ยินดีมีประชานิยมแบ่งให้ 

รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าวอีกว่า ความยากจนที่แท้จริง คือความยากจนทางด้านทรัพย์สิน เพราะรายได้เป็นเรื่องที่มาทีหลัง และทรัพย์สินคือตัวที่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นคนรวยก็จะได้ทั้งค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร ส่วนคนจนได้แต่ค่าแรงงาน ซึ่งถูกกดขี่โดยระบบที่นายทุนมีอำนาจมากกว่า โดยระบบทุนนิยมครอบงำทุกเรื่อง แม้ทางเศรษฐศาสตร์ทำให้เราเชื่อว่าระบบทุนนิยมดีที่สุด และระบบสังคมนิยมล้มเหลว หรือระบบอื่นไม่มีแล้ว ทำให้เราต้องพยายามไล่ตามให้ทัน โดยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พัฒนาเศรษฐกิจมา 50 ปี เรากลับทำลายทรัพยากรมากขึ้น 

“สมัย 14 ตุลา เราคิดว่าประชาธิปไตยคือระบบรัฐสภา ต่อมาเราก็คิดว่าระบบรัฐสภาไม่ดี สังคมนิยมน่าจะดีกว่า แต่เราก็คิดแบบสังคมนิยมอย่างง่าย ๆ คือยึดอำนาจรัฐขึ้นมาแล้วแบ่งปัน แต่เราต้องสร้างประชาชนให้เป็นนักสังคมนิยมด้วย เป็นคนที่จิตใจมีอุดมคติเพื่อส่วนรวม ซึ่งความจริงไม่ขัดแย้งกับเรื่องส่วนตัว เพราะในระยะยาวทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน” ดร.สถิตย์ กล่าว

ด้าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผ่านมา 50 ปีเราก็ยังอยู่ในวังวนกับปัญหาความยากจน แม้ว่าเราพยายามหาทางแก้ไข โดยเส้นความยากจนของไทยยังอยู่ที่ 2,800 บาท ต่อคน ต่อเดือน และมีคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคนอยู่ใต้เส้นนี้ ถ้าจะแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ 4.8 ล้านคนว่าทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ก้าวข้ามเส้นความยากจน ระบบการพุ่งเป้าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบจีน โดยจีนจะสำรวจว่าในประเทศมีคนจนกี่คน อยู่ตรงไหน สาเหตุของความยากจนคืออะไร แล้วเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับคนจนเหล่านั้น ในชุมชนเหล่านั้นแบบพุ่งเป้า 

อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า การแก้ไขความยากจนในระยะสั้นต้องใช้วิธีการแบบจีน โดยกำหนดไปเลยว่าตำบลไหน อำเภอไหน จังหวัดไหนมีคนจนกี่คน และเราจะไปแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างทักษะอย่างไร ให้ที่ทำกินเขาอย่างไร ให้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเข้าไปช่วยอย่างไร และช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดอย่างไร รวมทั้งตั้งเป้าว่า คนจนที่พุ่งเป้าในแต่ละปีควรจะลดลงเหลือเท่าใด และกี่ปีจะหมดไป ถ้ามองปัญหาในเชิงจุลภาคที่จะเข้าไปแก้ไขเราต้องใช้วิธีการแบบนี้ ใครจน และจะช่วยคนจนอย่างไร ซึ่งการช่วยเหลือคนจนแบบพุ่งเป้าเป็นการช่วยเหลือชุมชนด้วย  

ด้าน ดร.พีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของไทย ต้องทำอย่างไรให้คนอยู่ดีกินดีและใครที่มีความรับผิดชอบตรงนั้น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องทำให้เกษตรมีความสำคัญมากๆ ไม่ใช่ทำเฉพาะเรื่องของอาหารสะอาดอย่างเดียว แบบนี้ยังไม่พอ หรือกินอาหารแค่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องทำอาหารปลอดภัยออกมาสู่ตลาด หรือถ้าทำเป็นออร์แกนิคได้ก็จะดี ซึ่งงานเหล่านี้เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จะต้องมีการจัดการให้เหมาะสม ทั้งการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการในเรื่องของการเตือนภัยต่างๆ ซึ่งจะต้องสอนให้เกษตรกรรู้ถึงปัญหา

ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวอีกว่า ระบบการศึกษาของไทยที่เน้นการศึกษาแบบธุรกิจควรจะหันมาดูแลเรื่องวิชาการด้วย เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่าจะต้องทำอะไร เช่น การเตือนภัย ซึ่งการให้คำแนะนำรัฐบาลทำได้เลย ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องแก้ครั้งเดียว ทั้งการสร้างทรัพย์สิน สร้างเครื่องมือหากินให้กับเกษตรกร และต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด โดยให้ความรู้ ให้การศึกษากับเกษตรกร 

“ส่วนตัวอยู่ในระหว่างการศึกษาปลูกกัญชา โดยทดลองปลูกในโรงเรือนประมาณ 500 ต้นได้ผลผลิตประมาณ 12 กิโลกรัมในครั้งแรก และครั้งที่ 2 ประมาณ 18 กิโลกรัม ราคาประมาณ 80 ดอลลาร์/กิโลกรัม หากใช้หลักวิทยาการมาปลูกแต่ละครอปที่ใช้เวลา 3 เดือน ก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 2 เดือนครึ่ง ซึ่งหากเกษตรกรลงมือทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เขาสามารถปลูกได้หลายครอปขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ ตลาดรองรับผลผลิตที่ออกมา ซึ่งรัฐต้องหาให้เขา อาจจะมีนิคมที่ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามารับซื้อไปผลิตยา หรือมีตัวเลือกอื่น ที่สร้างความมั่นจว่าเมื่อผลผลิตออกมาแล้วต้องมีตลาดให้กับเกษตรกร” ดร.พีรพล กล่าว

นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตสมาชิกวุฒิสภา เสนอว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างเด่นชัดอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้ และสารพัดอาสาสมัครต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาด้วยดีตลอด ขณะที่ภาครัฐเองโดยเฉพาะนักการเมืองไม่ได้ใส่ใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง และเห็นว่าต้นแบบของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่การศึกษาของคนไทย

“ยกตัวอย่างโรงเรียนชัยพัฒนาซึ่งสร้างองค์ความรู้ทักษะการดำเนินชีวิตการจัดการเศรษฐกิจรวมถึงการตลาดโดยเอานักเรียนขึ้นมาบริหารโรงเรียนเองและนักเรียนของโรงเรียนนี้จะต้องเสียค่าเรียนปีละ 100,000 บาทก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่เปลี่ยนมาใช้เป็นวิธีการปลูกต้นไม้ทดแทนปีละ 400 ต้นและทำความดีในชุมชน การทำความดีก็ต้องเขียนบันทึกความดีแล้วไปแจ้งต่อคณะกรรมการชุมชนให้รับทราบ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาการศึกษาให้กับคนไทย ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาทางด้านสุขภาพเพราะหากสุขภาพไม่ดีเงินที่หามาได้ทั้งชีวิตก็จะถูกใช้จ่ายไปกับการรักษาสุขภาพ” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าว

ด้านอดีตประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ กล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจและควรจะห่วงใยคือเรื่องเงินดิจิตอลที่กำลังจะออกมา ซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องการต่อยอดจากเงินดิจิตอลที่กำลังพูดถึง เพราะมีการดึงมวลชนออกมา

“คณะที่ออกนโยบายเรื่องนี้เขาต้องการจะต่อยอดกระบวนการขับเคลื่อนตรงนี้ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ยกตัวอย่างเช่นการจับต่อยอดจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จนถึงขณะนี้เราต้องยอมรับว่าคนในภาคอีสานจดจำและรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้เขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล แต่พวกเราที่ทำงานมาโดยตลอด แต่อาจจะขาดช่วงความคิดที่จะปฏิรูปสังคมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแผนใหม่ ดังนั้นเราอาจจะต้องหันไปมองดูเพื่อนบ้านอ่าง เวียดนาม ว่าทำไมเขาถึงเจริญรุดหน้าเราได้เร็ว เรื่องบางเรื่องเราควรจะต้องให้น้ำหนัก โดยเฉพาะกิจกรรมต่างๆ ว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนหลังจาก 50 ปี 14 ตุลาที่เราเดินมา” อดีตประธานวุฒิสภา กล่าว

นายประเดิม ดำรงเจริญ อดีตหัวหน้าพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของไทยจะต้องยกภูมิศาสตร์ของประเทศขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทยอยู่ในเขตไหน เหมาะสมที่จะทำอะไร การเกษตรตรงไหน การท่องเที่ยวตรงไหน และทำไปได้อย่างไรกับการที่ปล่อยให้นักการเมืองเปิดโอกาสให้มีการสร้างเขตอุตสาหกรรมในเขตปากน้ำ เช่นที่สมุทรปราการ เพราะเขตเกษตรอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมควรอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น โคราชหรือดงพญาเย็น

“เราจะต้องพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ว่าเหมาะสมกับอะไร ที่สำคัญเกษตร นายทุน รัฐบาล ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกัน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เกษตรกรไทยลดลงเหลือแค่ไม่เกิน 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมดโดยภาคเกษตรที่หายไปกลายมาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น” นายประเดิม กล่าว

‘รัดเกล้า’ ย้ำ!! รัฐฯ ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 80 พร้อมเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ ปชช.

(13 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด

นางรัดเกล้า กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัด โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้นและให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25% - 100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละรายเมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้

รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

“รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไปโดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี” นางรัดเกล้า กล่าว

‘ธนกร’ วอนคนไทย เดินทางกลับบ้านด่วน หลังอิสราเอลเปิดฉากภาคพื้นดิน หวั่นสถานการณ์รุนแรงจนออกมาไม่ได้ ฝากรัฐฯ ช่วยเร่งคลายกังวล ปมปลดหนี้

(29 ต.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลว่า ขณะนี้กองทัพอิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้มข้นขึ้นแล้ว ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีการคาดการณ์ว่า จะทำให้สถานการณ์รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ตนจึงรู้สึกเป็นห่วงพี่น้องแรงงานคนไทยที่อยู่ในอิสราเอล ขอให้เร่งตัดสินใจ แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

ซึ่งสถานการณ์ในลำดับต่อไป ไม่มีใครคาดเดาได้เลย ว่าจะขยายวงกว้างไปมากน้อยแค่ไหน หากสถานการณ์เร็วร้ายลง การเดินทางกลับอาจจะทำได้ยาก เกรงว่าเมื่อตัดสินใจในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงเลวร้ายอาจจะกลับไม่ได้

เมื่อถามว่า รายงานหลายคนมีความไม่แน่ใจว่าหากเดินทางกลับประเทศไทย และเรื่องหนี้สินและเงินค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับจากนายจ้างจะทำอย่างไร นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้นายกฯ และรัฐบาล เตรียมออกมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาว สามารถยื่นคำขอทำเรื่องที่จะนำไปปลดหนี้ให้กับนายจ้างได้ ซึ่งการเดินทางกลับและเรื่องการใช้หนี้ต้องเร่งดำเนินการแจ้งคำร้องที่สถานทูตเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลโดยเร็ว เพื่อจะดำเนินการได้ทันท่วงที

“นายกฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกประกาศเรียกร้องให้แรงงานไทยเร่งตัดสินใจกลับประเทศโดยเร็ว ก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรงและขยายวงกว้าง เนื่องจากกองทัพอิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินแล้ว และจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ญาติๆ และครอบครัวพี่น้องแรงงานไทยทุกคน ช่วยโน้มน้าวให้รีบตัดสินใจ ขอให้รักษาชีวิตกลับมาบ้านเราก่อน ส่วนเรื่องหนี้สินและการเงินสัญญาจ้าง และเรื่องอื่นๆ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีหนทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้กับพี่น้องแรงงานไทยทุกคนได้” นายธนกร ย้ำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top