Sunday, 19 May 2024
หนี้สิน

วัดใจ 'นายกฯ นิด' หากคิดปิดเกม 'หนี้นอกระบบ'

‘หนี้สิน’ ไม่ว่าจะนอกระบบหรือในระบบ ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานและ ‘ยาก’ ที่จะขจัดให้หมดไป แต่รัฐบาลภายใต้การนำของ ‘นายกฯ เศรษฐา’ มีแผนแก้หนี้ให้คนไทย อย่างยั่งยืนถาวร

แต่ว่า…วิธีการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา จะเป็น ‘ยาแรง’ หรือ ‘ไม้นวม’ ก็ต้องตามดูกันอีกที เพราะแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน

หยุดอวดเครดิตทางสังคมด้วย ‘การสร้างหนี้’ เพราะ ศก.ยุคนี้ ‘ไม่มีหนี้ = ลาภอันประเสริฐ’

ความเชื่อที่กล่าวว่า การเป็นหนี้ เป็นการแสดงถึงการมีเครดิตที่ดี อาจใช้ไม่ได้กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวนสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท

สำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ บุคคลกับสถาบันการเงิน อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท หากมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมภายหลัง หากมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แต่หากมีการ ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีข้อความการพูดคุย ยืมเงินกัน และสามารถระบุตัวตน ผู้ยืมได้ โดยเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะ เข้าถึงได้ นำกลับมาใช้ได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ 

ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกัน ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่หากเป็นสถาบันการเงิน อาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่านี้

ในส่วนของ ‘หนี้นอกระบบ’ คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจมีการคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันมากถึงร้อยละ 20 และมีการทวงหนี้กันแบบรุนแรง 

ทว่า การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม ต้องทวงกับตัวลูกหนี้เท่านั้น วันธรรมดาทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม วันเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ห้ามข่มขู่ ห้ามใช้ความรุนแรงหรือดูหมิ่น จดหมายทวงหนี้ห้ามเป็นไปรษณียบัตรหรือเป็นจดหมายเปิดผนึก และห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง

การทวงหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุก ตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน หรือสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อาจเป็นเหตุผลสำคัญให้เราต้องยินยอมเป็นหนี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถบริหารจัดการความจำเป็นให้พอดีกับการใช้ชีวิตได้ เราจะพบว่า การไม่เป็นหนี้นั้น เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง ชี้!! ยังดีที่รัฐกล้าหยิบปัญหาหนี้ครัวเรือนยกเป็นวาระแห่งชาติ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง' เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ปัญหาหนี้สินไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด 2020-2022 ระดับหนี้รวมทั้งโลกได้กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 350% ของ GDP และเมื่อธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งไทย ปรับดอกเบี้ยขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา ระหว่างปี 2022-2023 ภาระการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้น จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล

ต้องขอชื่นชมรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ หนี้ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90% ของ GDP เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และกำลังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศอย่างแรง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบสถาบันการเงินอีกด้วย 

ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้าไปดูแลหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบครั้งนี้ จึงมีความเหมาะสม แต่จะต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง มิให้เกิดผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากจนเกินไป ตลอดจนต้องระวังมิให้กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส. เป็นต้น ที่จะใช้เป็นกลไกหลักในการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ เพราะเมื่อธนาคารเหล่านี้อ่อนแอลงก็จะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องเติมเงินเพิ่มทุนให้ในอนาคต

ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้จึงถือเป็นปีที่มีความท้าทายต่อนโยบายการคลังค่อนข้างมาก นอกจากภาระจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเตรียมออกมาตรการ Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เหตุการณ์หลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นล้วนสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย สังคมสูงอายุก่อให้เกิดรายจ่ายบำเหน็จบำนาญและการรักษาพยาบาลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อเยียวยาแก้ไขผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้พลังงานทดแทน การใช้จ่ายด้านการทหารก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความตึงเครียดที่น่าจะมีมากขึ้นในปีหน้า

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะทำการปฏิรูปทางการคลังขนานใหญ่ เพื่อให้ภาคการคลังมีความสมดุลมากขึ้น ไม่เพียงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น ในด้านรายได้ก็มีความจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีอากรทั้งระบบ โครงสร้างภาษีของไทย นับจากการปฏิรูปครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 ก็ไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างจริงจังอีกเลย จนขณะนี้รายได้รัฐบาลคิดเป็นเพียง 13% ของ GDP และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐ และอาจถือได้ว่าระบบภาษีไทยล้าหลังและไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพฤติกรรมทางธุรกิจ

ถือเป็นความกล้าหาญชาญชัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลกล้าที่จะจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ กล้าที่จะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหว ก็ควรที่จะต้องกล้าที่จะปฏิรูปการคลังให้กลับสู่สมดุลด้วย

‘ซีอีโอหนุ่ม’ เตือน!! อย่ากระตุ้นชีวิตด้วยการติดหนี้ หากไม่มีความสามารถชำระหนี้นั้นๆ ในระยะสั้น

เมื่อไม่นานนี้ ‘คุณซีเค เจิง’ (CK Cheong) นักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งไทย-จีน (มาเก๊า) ผู้เติบโตที่ประเทศอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ ‘Fastwork Technologies’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีภาระหนี้สิน ผ่านทางช่องติ๊กต็อกชื่อ ‘Ckfastwork’ ระบุว่า…

“ทําไมเราถึงสนับสนุนให้คนติดหนี้? ผมอยากจะเตือนสติประชาชนมากๆ ผมอยากจะให้ช่องทางสื่อของผมเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนคิดได้ว่า ‘การติดหนี้’ มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนเลย

เราควรจะสามารถติดหนี้ได้ ต่อเมื่อเรารู้ว่าจะสามารถหามาคืนได้แน่ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น ถ้าหากเรายังไม่แน่ใจว่าจะสามารถหามาคืนได้จริงๆ ผมว่าเราก็ไม่ควรติดหนี้”

คุณซีเค ยังยกตัวอย่างในกรณีที่ หากคุณรู้ว่าลูกค้าต้องการสั่งของ ต้องมีทุนหนึ่งแสนบาท แต่ยังขาดเงินอีก 50,000 บาท หากคุณอยากยืมเงินไปลงทุนตรงนี้ และคุณสามารถขายของสร้างรายได้ นำเงินกลับมาใช้คืนได้ภายใน 3-4 เดือน หากเป็นแบบนี้ ก็อาจจะสามารถติดหนี้ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรู้กำลังของตัวเอง ว่าสามารถหามาใช้คืนได้ แต่หากยังไม่มั่นใจว่าคุณติดหนี้แล้วจะใช้คืนได้ไหม ก็อย่าไปติดหนี้เลย

นอกจากนี้ คุณซีเค ยังกล่าวอีกว่า ยิ่งถ้าหากเป็นพวกหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูงประมาณ 16% ยิ่งเป็นหนี้ที่แย่ที่สุดเลย หนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่แย่ที่สุดแล้ว อย่าไปสนับสนุนการผ่อน อย่าไปฟังบิลบอร์ดโฆษณาที่เขาว่า ผ่อน 0% ไม่ต้องดาวน์ อย่าไปเชื่อ

“ผมไม่ได้อะไรจากคอนเทนต์นี้ แต่ที่ผมอยากทำคือ อยากให้ประเทศไทยดีขึ้น ผู้คนคิดได้มากยิ่งขึ้น ไม่ไปหลงกลหรือหลงเชื่อ เราต้องเป็นประชาชนที่ฉลาดมากยิ่งขึ้น เรียกร้องสื่อให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สื่อที่ทำโฆษณาเชิญชวนการผ่อน เป็นสื่อที่สนับสนุนให้คนไทยติดหนี้ ไปตำหนิติเตือนกันหน่อยครับ เพราะมันไม่ดีครับ ไม่ดีสําหรับสังคมมากๆ เราไม่ควรมีความกระตือรือร้นหรือสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน เพียงเพราะเรามีหนี้สินครับ” คุณซีเค กล่าวทิ้งท้าย

‘แม่สามีชมพู่’ รุดช่วย ‘ยายขายไข่เจียว’ ปลดหนี้นอกระบบ เผย!! รู้สึกหดหู่จนนอนไม่หลับ พร้อมยังช่วยลงทุนให้เพิ่มอีก

(10 พ.ค.67) จากกรณี ยายสุข ซึ่งทำอาชีพขายไข่เจียว วัย 75 ปี โดนแก๊งทวงหนี้ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของภายในร้าน และโดนข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินจะโดนแบบนี้อีก แม้ต่อมาตำรวจก็สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้ก่อเหตุได้ แต่ก็ยังคงสร้างความสะเทือนใจให้กับใครหลาย ๆ คน

ต่อมา รายการ ทุบโต๊ะข่าว ก็ได้เผยคลิปสุดประทับใจว่า คุณอุไรวรรณ ย่าของฝาแฝดสายฟ้า พายุ และแอบิเกล ซึ่งเป็นคุณแม่ของ น็อต วิศรุต และแม่สามีของ ชมพู่ อารยา ก็ได้เห็นข่าวนี้ก็อยากจะเข้าไปช่วยเหลือ

โดยคุณย่าอุไรวรรณได้เดินทางไปพบกับคุณยายขายไข่เจียวด้วยตัวเอง พร้อมเสนอช่วยปลดหนี้สินทั้งหมดให้แก่คุณยาย โดยคุณย่าอุไรวรรณกล่าวว่า “ดูข่าวแล้วหดหู่ใจ นอนไม่หลับ อยากรีบมาช่วยเลย ขับรถหาจนทั่วเลย เราตั้งใจมา”

จากนั้น คุณยายสุข ก็ขอบคุณ คุณย่าอุไรวรรณ ที่มาช่วยเหลือปลดหนี้รวมถึงลงทุนให้เพิ่มอีก โดยบอกว่า “ขอบพระคุณมาก ขอให้มีแต่ความสุข ความเจริญ สุขภาพแข็งแรง รู้สึกดีใจมาก ๆ”

ทำเอาชาวเน็ตหลายคนรู้สึกใจฟู ดีใจไปกับคุณยายสุข ที่มีคนเมตตาช่วยเหลือ ให้โอกาส และหวังว่านี่จะเป็นกรณีสุดท้ายที่จะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นแบบนี้ 

วัยรุ่น Gen Z สหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤต 'หนี้ท่วม' เคราะซ้ำ!! รายได้ต่ำกว่าคนวัยเดียวกันเมื่อ 10 ปีก่อน

(13 พ.ค. 67) เพจ 'ทันโลกกับ Trader KP' เผย!! วัยรุ่น Gen Z ในอเมริกากำลังเผชิญวิกฤต #หนี้ท่วม

โดยเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว หลังหักลบอัตราเงินเฟ้อแล้ว...วัยรุ่นในสมัยนี้เป็นหนี้สูงกว่าเดิมมาก ดังนึ้...

- หนี้ผ่อนบ้าน +44%
- หนี้บัตรเครดิต +26%
- หนี้ผ่อนรถยนต์ +4%

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น รายได้เฉลี่ยของคนสหรัฐฯ วัย 20 ต้น ๆ อยู่ที่ $45,493 ต่อปี ต่ำกว่าคนรุ่น Millennial ในวัยเดียวกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ซึ่งอยู่ที่ $51,852) ถึง $6,350


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top