‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง ชี้!! ยังดีที่รัฐกล้าหยิบปัญหาหนี้ครัวเรือนยกเป็นวาระแห่งชาติ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง' เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ปัญหาหนี้สินไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด 2020-2022 ระดับหนี้รวมทั้งโลกได้กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 350% ของ GDP และเมื่อธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งไทย ปรับดอกเบี้ยขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา ระหว่างปี 2022-2023 ภาระการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้น จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล

ต้องขอชื่นชมรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ หนี้ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90% ของ GDP เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และกำลังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศอย่างแรง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบสถาบันการเงินอีกด้วย 

ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้าไปดูแลหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบครั้งนี้ จึงมีความเหมาะสม แต่จะต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง มิให้เกิดผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากจนเกินไป ตลอดจนต้องระวังมิให้กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส. เป็นต้น ที่จะใช้เป็นกลไกหลักในการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ เพราะเมื่อธนาคารเหล่านี้อ่อนแอลงก็จะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องเติมเงินเพิ่มทุนให้ในอนาคต

ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้จึงถือเป็นปีที่มีความท้าทายต่อนโยบายการคลังค่อนข้างมาก นอกจากภาระจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเตรียมออกมาตรการ Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เหตุการณ์หลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นล้วนสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย สังคมสูงอายุก่อให้เกิดรายจ่ายบำเหน็จบำนาญและการรักษาพยาบาลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อเยียวยาแก้ไขผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้พลังงานทดแทน การใช้จ่ายด้านการทหารก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความตึงเครียดที่น่าจะมีมากขึ้นในปีหน้า

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะทำการปฏิรูปทางการคลังขนานใหญ่ เพื่อให้ภาคการคลังมีความสมดุลมากขึ้น ไม่เพียงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น ในด้านรายได้ก็มีความจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีอากรทั้งระบบ โครงสร้างภาษีของไทย นับจากการปฏิรูปครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 ก็ไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างจริงจังอีกเลย จนขณะนี้รายได้รัฐบาลคิดเป็นเพียง 13% ของ GDP และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐ และอาจถือได้ว่าระบบภาษีไทยล้าหลังและไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพฤติกรรมทางธุรกิจ

ถือเป็นความกล้าหาญชาญชัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลกล้าที่จะจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ กล้าที่จะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหว ก็ควรที่จะต้องกล้าที่จะปฏิรูปการคลังให้กลับสู่สมดุลด้วย