Saturday, 4 May 2024
หนี้ครัวเรือน

โฆษกรัฐบาล เปิดรายละเอียด แก้หนี้ 8 กลุ่ม รวม ครู-ตร. ย้ำคำ นายกฯ '65 ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ผ่านเพจ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Cha-o-cha" ย้ำความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้  ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมให้ปัญหา"ปัญหาหนี้สินครัวเรือน"  มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ นายกรัฐมนตรีจะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้  ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม 64  ผลักดันร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....   เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา  โดยหวังจะได้รับความร่วมมือสมาชิกรัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียน นักศึกษาและผู้คำ้ประกันกว่า 5 ล้านคน

นายธนกร กล่าวว่า ความก้าวหน้าของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรีฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธาน ในการดำเนินการตามข้อสั่งการของพล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ครอบคลุม 8 กลุ่มหนี้ ได้แก่ 

1) การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (กยศ.)  ปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จาก “รายปี” เป็น “รายเดือน” เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย “เท่ากันทุกเดือน” ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี  การเริ่มชำระหนี้ ให้ผูกกับ “การมีงานทำ” ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัด “เงินต้น” ก่อน แล้วจึงนำมาตัด “ดอกเบี้ย”  ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือ 2% ต่อปี ยกเลิกผู้ค้ำประกันตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 เป็นต้น

2) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ โดย ธปท. จะออกประกาศเรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยให้ SFIs สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้โดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกลงโทษตามกฎหมาย  ประกาศของ ธปท. และข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

3) การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์  เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น  โดยอัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระ 1 งวด และคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด   คิดอัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม  กำหนดค่างวดที่ถึงกำหนดชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ 

4) การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ อาทิ การยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู   การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ   การปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น การยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น 

การแก้ไขปัญหาหนี้ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัว และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้เงินกู้

หน่วยงานต้นสังกัดเร่งปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ อาทิ กำหนดยอดเงินที่ข้าราชการสามารถกู้ได้โดยไม่เกินศักยภาพในการชำระคืนจากเงินเดือน กำหนดกติกาว่าหลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อป้องกันการกู้ยืมนอกระบบ  

 5) การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน  ล่าสุด  16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  สามารถนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว นอกจากนี้  ธปท. ลดข้อจำกัดการทำ   รีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย 

6) การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีการจัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็น platform กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปกติมักมีเจ้าหนี้หลายราย ที่ผ่านมาช่วยเหลือแก้หนี้หลายหมื่นบัญชี    ธปท. ยังจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์  ได้ช่วยประชาชนรายย่อยมากกว่าสองแสนราย  

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แก้หนี้’ เป็นพันธกิจหลักปี 65 สั่งลุยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน - หนี้สิน ขรก.

จากสถิติตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2 ปี ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด ที่ซ้ำเติมให้ ‘ปัญหาหนี้สินครัวเรือน’ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 (30 ก.ย. 64) ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีเลยทีเดียว

การที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราที่สูงในขณะนี้ จะสะท้อนไปถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในอนาคต

แน่นอนว่า ปัญหานี้ นับเป็นอีกหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลคงไม่สามารถเพิกเฉยต่อไปได้ 

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล ประกาศชัดว่า จะผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้ 

ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผลักดันร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา โดยหวังจะได้รับความร่วมมือสมาชิกรัฐสภาผ่านร่างพ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียน นักศึกษา และผู้ค้ำประกันที่คาดว่าจะมีอยู่กว่า 5 ล้านคน ได้หายใจได้คล่องขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศแนวทางหลักๆ 8 แนวทาง ในการแก้หนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดย 8 แนวทางที่หยิบยกขึ้นมาจัดการก่อนประกอบด้วย

- การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 
- การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ 
- การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 
- การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ 
- การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ 
- การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 
- การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SMEs 
- การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ ก็ได้เริ่มเห็นแนวทางที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ได้จัดทำแผนไปบ้างแล้ว เช่น จากแนวทางส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ ที่แบ่งการขับเคลื่อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู โดยวาง 4 แนวทางแก้ไขปัญหา 

1.) ยุบยอดหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน

2.) ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ

3.) ปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น 

4.) ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มีสหกรณ์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคน สมัครเข้าร่วมดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด และคาดว่าจะมีเพิ่มในระยะต่อไป

‘แก้หนี้ครัวเรือน’ ได้! หากปลูกฝังวินัยการเงินจริงหรือ?! | Click on Clear THE TOPIC EP.128

📌 คุยเรื่อง ‘หนี้ครัวเรือน’ ภาระใหญ่ ที่คนไทยต้องแบก !! ไปกับ 'ดร.พีรภัทร  ฝอยทอง' ที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน!

📌ใน Topic​ :  ‘แก้หนี้ครัวเรือน’ ได้! หากปลูกฝังวินัยการเงินจริงหรือ?!

จับประเด็น เน้นความรู้ในรายการ Click on Clear THE TOPIC

🕗เวลา 2 ทุ่มตรง รับชมไปพร้อมกัน !!

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

'รองโฆษกรัฐบาล' แจง คืบหน้า แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ช่วยครู-ตำรวจ ไปแล้วหลายราย

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ว่า รัฐบาลดำเนินการมาระยะหนึ่งปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม จากนี้จะเร่งสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะให้มากขึ้นอีก เพื่อประชาชนที่มีปัญหาหนี้สินจะได้ใช้ประโยชน์จากมาตรกการช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเต็มที่ คณะกรรมการติดตามการดำเนินนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อ 22 มี.ค. ได้แก่

1.การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่ง กยศ.ได้ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปแล้ว 6.15 ล้านราย วงเงินรวม 6.75 แสนล้านบาท พร้อมออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินช่วยผู้กู้ยืม เช่น ลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 กรณีปิดบัญชีคราวเดียว 58,286 ราย และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 กรณีชำระหนี้ทันงวด 325,231 ราย นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมได้บูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สิน กยศ.อย่างเป็นระบบทั้งก่อนศาลมีคำพิพากษาและหลังจากศาลมีคำพิพากษาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้

2.กำหนดให้การไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ซึ่งเน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFls) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้จัดโครงการพักชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ ซึ่งมีกองทุนเข้าร่วม 413 กองทุน สมาชิกรวม 32,055 ราย รวมวงเงินกู้ที่พักชำระหนี้จำนวน 901 ล้านบาท 

นอกจากนี้กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ ดำเนินโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาเว็บไซต์ แชตบอท และไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจและมาตรการต่างๆ ให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณีด้วย

3.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กระทรวงยุติธรรมได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือลูกหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ ประมาณ 5,000 คัน ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อและธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ

4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู และข้าราชการตำรวจ ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ เช่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการตัดเงินเดือนให้เป็นสวัสดิการที่แท้จริง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 และขยายผลการแก้ไขหนี้ครูผ่านสหกรณ์ต้นแบบ  สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   ข้าราชการตำรวจได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วหลายพันราย

นายกฯ แจ้งข่าวดี แก้หนี้ครัวเรือนคืบหน้า ช่วยกลุ่มเปราะบางได้รับความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ ผมมีข่าวดี ที่เป็นความคืบหน้า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยล่าสุดก็ได้มีการกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) แบบ "ลดต้น ลดดอก" ซึ่งจะต้องคิดดอกเบี้ยจาก "เงินต้นคงเหลือ" ในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบ "เงินต้นคงที่" (Flat rate) แบบเดิม ที่ทำให้ลูกค้า/ผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อใหม่ ได้แก่ (1) รถยนต์ใหม่ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี (2) รถยนต์ใช้แล้ว : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (3) รถจักรยานยนต์ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี และสำหรับผู้ที่สามารถปิดบัญชีได้ก่อน ก็จะต้องให้ "ส่วนลด" กับผู้เช่าซื้อด้วย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว (หรือวันที่ 11 มกราคม 2566) ครับ

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีหนี้สินติดตัว ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ผลักดันให้การเปลี่ยน "ฐานคำนวณดอกเบี้ย" จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยจากยอด "เงินต้นคงค้างทั้งหมด" มาเป็นการคิดดอกเบี้ยจาก "เงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระ" เท่านั้น หลักการนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา มนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ ที่มีความจำเป็นจะต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อมาใช้ดำรงชีวิต และเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ชำระดอกเบี้ยลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัด "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน เราได้เดินสายไปทุกจังหวัด ทั่วประเทศ สามารถลดปัญหาหนี้สินประชาชนได้ กว่า 200,000 ราย มูลหนี้มากกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน-ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการเก็บตกและต่อยอด จึงจัดให้มี "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งภายหลังจากดำเนินการมาได้ 2 สัปดาห์ ณ 14 ตุลาคม 2565 มีคำขอแก้หนี้เข้ามาแล้ว 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย เฉลี่ยคนละ 2-3 รายการ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้!! ดอกเบี้ยใกล้ ‘จุดสมดุล’ ยัน!! หนี้ครัวเรือนยังไม่ลามเป็น ‘วิกฤติ’

(16 ส.ค.66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า เชื่อว่าเริ่มเข้าใกล้ ‘จุดสมดุล’ หรือถึงจุดที่ ‘ดอกเบี้ย’ อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ภายใต้เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ ซึ่งไม่สร้างความไม่สมดุล หรือสร้างความเปราะบางในการกู้ยืมต่างๆ แต่ส่วนดอกเบี้ยจะหยุดที่ใดนั้น คงต้องดูการพิจารณาของ กนง.ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของโลกมากขึ้น จากหลากหลายตัวแปรที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเอง แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาค่อนข้างนาน แต่ยังไม่มีรัฐบาล เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นสารพัด และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าช็อกมาจากไหน

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การวางแผนการดำเนินธุรกิจ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องสร้างภูมิคุ้มกัน งบดุล หรือสภาพคล่องต้องแข็งแกร่ง และการก่อหนี้ไม่ควรมากเกินไป โดยเฉพาะ ‘หนี้ครัวเรือนของไทย’ ปัจจุบันที่อยู่ระดับสูง และเป็นตัวที่สร้างความเปราะบาง และต้องเร่งจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน 

เมื่อถามว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถึงขั้นวิกฤติหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ แต่ต้องเร่งจัดการ และหากปล่อยไป จะกลายเป็นวิกฤติได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การเทกแอ็กชัน และพยายามลดหนี้ครัวเรือน ลดในระยะข้างหน้าเพื่อให้อยู่ในระดับความยั่งยืน

'เพื่อไทย' ชี้!! หนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ช่วย 'ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้-ขยายโอกาส' ให้คนไทยทุกคน

(6 พ.ย. 66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วยดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพราะ 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศเป็น ‘หนี้’ ซึ่งกลุ่มที่มีสถานการณ์หนี้น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยสัดส่วนของหนี้ต่อรายได้ของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเนี่ย อยู่ที่ 34% และ 41% 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยย้ำมาโดยตลอดว่า จะ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน และนี่จะเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชน

เปิดแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนไทย ‘ระยะยาว’ ก่อน ‘นายกฯ เศรษฐา’ คิกออฟแผนแก้หนี้ครั้งใหญ่!!

‘หนี้ครัวเรือน’ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่ถูกพยายามแก้มาแล้วหลายครั้งในหลาย ๆ รัฐบาล ปัจจุบันนี้ ถึงคิวของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ที่จะเข้ามาจัดการปัญหานี้ให้หมดไป แต่ก่อนที่ท่านนายกฯ จะประกาศแผนแก้หนี้ ‘ฉบับเศรษฐา’ ลองมาดูแผนแก้หนี้ที่ทาง THE STATES TIMES สรุปย่อยมาให้ไปพลาง ๆ ก่อน พร้อมแล้ว ไปดูเล้ยย…

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง ชี้!! ยังดีที่รัฐกล้าหยิบปัญหาหนี้ครัวเรือนยกเป็นวาระแห่งชาติ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง' เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ปัญหาหนี้สินไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด 2020-2022 ระดับหนี้รวมทั้งโลกได้กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 350% ของ GDP และเมื่อธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งไทย ปรับดอกเบี้ยขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา ระหว่างปี 2022-2023 ภาระการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้น จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล

ต้องขอชื่นชมรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ หนี้ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90% ของ GDP เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และกำลังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศอย่างแรง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบสถาบันการเงินอีกด้วย 

ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้าไปดูแลหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบครั้งนี้ จึงมีความเหมาะสม แต่จะต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง มิให้เกิดผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากจนเกินไป ตลอดจนต้องระวังมิให้กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส. เป็นต้น ที่จะใช้เป็นกลไกหลักในการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ เพราะเมื่อธนาคารเหล่านี้อ่อนแอลงก็จะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องเติมเงินเพิ่มทุนให้ในอนาคต

ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้จึงถือเป็นปีที่มีความท้าทายต่อนโยบายการคลังค่อนข้างมาก นอกจากภาระจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเตรียมออกมาตรการ Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เหตุการณ์หลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นล้วนสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย สังคมสูงอายุก่อให้เกิดรายจ่ายบำเหน็จบำนาญและการรักษาพยาบาลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อเยียวยาแก้ไขผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้พลังงานทดแทน การใช้จ่ายด้านการทหารก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความตึงเครียดที่น่าจะมีมากขึ้นในปีหน้า

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะทำการปฏิรูปทางการคลังขนานใหญ่ เพื่อให้ภาคการคลังมีความสมดุลมากขึ้น ไม่เพียงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น ในด้านรายได้ก็มีความจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีอากรทั้งระบบ โครงสร้างภาษีของไทย นับจากการปฏิรูปครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 ก็ไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างจริงจังอีกเลย จนขณะนี้รายได้รัฐบาลคิดเป็นเพียง 13% ของ GDP และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐ และอาจถือได้ว่าระบบภาษีไทยล้าหลังและไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพฤติกรรมทางธุรกิจ

ถือเป็นความกล้าหาญชาญชัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลกล้าที่จะจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ กล้าที่จะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหว ก็ควรที่จะต้องกล้าที่จะปฏิรูปการคลังให้กลับสู่สมดุลด้วย

‘ttb’ ห่วง!! ‘หนี้ครัวเรือน’ สิ้นปีนี้จะทะลัก 16.9 ล้านบาท ผลพวงจาก ศก.ขยายตัวช้า ทำให้รายได้ ปชช.ฟื้นตัวจำกัด

(26 ม.ค.67) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเชื่องช้า ส่งผลให้ระดับรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของหนี้ อีกทั้งอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้บางส่วน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบและเผชิญกับปัญหาวังวนหนี้ไม่รู้จบ

หากกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แน่นอนว่าประเด็นหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังมักถูกพูดถึงมาโดยตลอด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงกว่า ล่าสุด ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี ซึ่งมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ให้กู้หลักอย่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่มาจากกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

นอกจากนี้ คุณภาพหนี้ครัวเรือนก็มีแนวโน้มด้อยลงจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 2.79% หรือเกือบ 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 3.6% ขณะที่สัดส่วนหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือ Stage 2 อยู่ที่ 6.66% หรือ 3.62 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.7 แสนล้านบาทมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ และยังไม่นับรวมหนี้จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อีกกว่า 35% ของทั้งระบบ

ซึ่ง ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 91.4% ต่อจีดีพี หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยจะขยายตัวชะลอลงในระยะหลัง แต่เป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับ 3-4 สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงทุกปี ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือนไทยในระยะต่อไปยังมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

>> ปัจจัยแรก : เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะมีทิศทางดีขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว แต่ด้วยรายได้จากการส่งออกกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการกระจุกตัวในมิติของจำนวนแรงงานที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากธุรกิจขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ทำให้ฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจกระทบต่อแรงงานที่มีมากถึง 71% ของแรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป

>> ปัจจัยที่สอง : ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวะที่นโยบายทางการเงินผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้การประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ในอัตราเร่งชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ภาระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปก่อนหน้าจากผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในช่วงที่เกิดวิกฤตจะถูกนำมาคิดทบต้น และมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มปรับลดลงช้ากว่าปกติ

>> ปัจจัยที่สาม : พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี แม้การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนจะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่หนี้ที่สูงเกินระดับ 80% ต่อจีดีพี ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภคแล้ว แต่จะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเกิน 80% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และเกือบ 1 ใน 3 เป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียและจีนที่ 14% และ 13% ตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลัง การขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ รวมถึงความต้องการหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย สะท้อนการสร้างหนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งหนี้ประเภทดังกล่าวจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยกู้ที่สูงกว่ามาก และเสี่ยงก่อให้เกิดเป็นกับดักหนี้ไม่สิ้นสุด ทำให้การลดลงของหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

โดยสรุปตราบใดที่เศรษฐกิจฐานรากยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและแข็งแกร่ง ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็อาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ และคาดว่าภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป ฉะนั้นแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อกระตุ้นการปรับวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยได้ในระยะยาว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top