Saturday, 18 May 2024
หนี้ครัวเรือน

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

'เครดิตบูโร' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งแตะ 91% ต่อ GDP หวั่น!! ครัวเรือนผ่อนบ้านรถไม่ไหว เสี่ยงถูกยึด

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศสถิติหนี้ครัวเรือนออกมาด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้มีการรายงานหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยผลออกมาว่า มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% นับว่ายังอยู่ช่วงอันตรายมาตลอดตั้งไตรมาสแรกที่ +90.7 และเพิ่มขึ้นมาสู่ +90.8% ในไตรมาสที่ 2 

(22 ก.พ. 67) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้กล่าวบน Facebook ว่าหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้อยู่ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ ราว +91% ต่อ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ถ้าเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายแล้ว

หากมองย้อนหลังลงไป หนี้ครัวเรือนไทยเข้าสู่โซนอันตรายหรือมากกว่า +80% ตั้งแต่ปี 2556 และพุ่งสูงขึ้นมาตลอดจนแตะ +85.9% ในปี 2558 จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งต่อภาระไปแก่ครัวเรือน แม้หลังปี 2558 หนี้จะหมดและทยอยลดลง แต่ในปี 2019 - 2020 หนี้ได้ก่อตัวขึ้นจนดีดขึ้นสูงถึง +94.7% อีกทั้งนโยบายพักหนี้นั้นทำให้หนี้ยังคงค้างอยู่ในระบบ แม้จะหนี้จะลดลงมาในปีต่อมา แต่ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับอันตราย

นายสุรพล เสริมว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วง คือ...

- หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 
- สินเชื่อค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) 
- สินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นายสุรพล ยังย้ำว่า หนี้เสียกลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ที่ 28% สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านน่าเป็นห่วง ลูกหนี้หลายรายผ่อนรถไม่ไหว ปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย สินเชื่อบ้านก็เช่นกัน ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% เท่ากับมีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลังหากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้น่าจะอยู่ราว 91% โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มเปราะบาง) แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ทำให้ SMEs ขนาดเล็กและครัวเรือนกลุ่มเปราะต้องจับตาดูไว้

‘อ.สมชัย’ ชี้ ‘แบงค์ชาติ’ วิจารณ์ได้ แต่คนพูดก็ต้องถูกวิจารณ์ ย้ำ!! ต้อง ‘มีพื้นฐานความรู้-ปราศจากอคติ-มีตรรกะของเหตุผล’ 

(6 พ.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ เกี่ยวกับการวิจารณ์การทำงานของ ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยได้ระบุว่า ...

แบงค์ชาติ วิจารณ์ได้

แบงค์ชาติ เป็นสถาบันที่มีหน้าที่กำกับนโยบายด้านการเงินของประเทศ ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปริมาณเงินในตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน ทำงานดีก็ต้องชม ทำงานไม่เข้าท่าก็วิจารณ์ได้

แต่การวิจารณ์ แบงค์ชาติ ต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ปราศจากอคติ และมีตรรกะของเหตุผล เช่น จะบอกว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเยอะ เพราะการไม่ลดดอกเบี้ยธนาคาร ดูจะเป็นการเชื่อมโยงของสิ่งห่างไกลเกินไป

หนี้สาธารณะ (Public Debt) นั้น มาจากกู้ยืมเงินของรัฐจากการทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 11.4 ล้านล้านบาท จะลดลงต่อเมื่อเราตั้งงบประมาณใช้คืนมากขึ้น กู้ใหม่ให้น้อยลง หรือกู้มาลงทุนเพื่อให้มีรายได้มาใช้คืนไม่ใช่กู้มาแจก

หนี้ครัวเรือน (Household debt) ของไทย คือ หนี้ของชาวบ้านที่ไปกู้ยืมสถาบันทางการเงิน เช่น ผ่อนบ้าน ซื้อรถ กู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท หากมีอัตราดอกเบี้ยสูง ย่อมผ่อนคืนยาก ส่งต้นได้น้อย ส่งเท่าไรก็ส่งได้แต่ดอก 

เพราะดอกเบี้ยเงินกู้แบงค์ ประมาณร้อยละ 7 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ ร้อยละ 2.5 

แบงค์ชาติ วิจารณ์ได้ครับ แต่คนวิจารณ์แบงค์ชาติด้วยตรรกะที่ตื้นเขิน ก็ย่อมถูกวิจารณ์ได้เช่นกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top