Sunday, 5 May 2024
สนามบิน

ชาวเน็ตถกเถียง!! ปูเสื่อกินข้าวกลางสนามบินเหมาะสมหรือ? บ้างบอกทำได้ไม่เป็นไร บ้างบอกนี่คือสนามบินไม่ใช่ที่ปิกนิก

คลิปไวรัลบนทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นภาพสมาชิกครอบครัวหนึ่งกำลังปูเสื่อรับประทานอาหารร่วมกันที่สนามบินแห่งหนึ่งในมาเลเซีย กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก และก่อข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่ามันมีความเหมาะสมหรือไม่

วิดีโอหนึ่งซึ่งเบื้องต้นอัปโหลดบนติ๊กต็อก ซึ่งเวลานี้ถูกลบไปแล้ว แต่มันโหมกระพือประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางบนทวิตเตอร์ ในคลิปเขียนคำบรรยายว่า "แคมปิ้งบนชายหาด❌ แคมปิ้งที่สนามบิน✅" อยู่ตรงกลางภาพครอบครัวหนึ่งกำลังปูเสื่อล้อมวงนั่งรับประทานอาหารในสนามบิน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ซึ่งอัปโหลดวิดีโอ ได้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผลปรากฏว่ามีถึง 73% ที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของครอบครัวนี้ ส่วนที่เหลือไม่มีปัญหาใดๆ กับพฤติกรรมของพวกเขา บางส่วนเชื่อว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ ตราบใดที่พวกเขาไม่ขวางทางการสัญจรผ่านไปมาและก่อความวุ่นวายแก่บริเวณดังกล่าว

สวยตระการตา เผยโฉมอาคารผู้โดยสารใหม่ ‘ท่าอากาศยานกระบี่’  เพิ่มการรองรับผู้โดยสาร พร้อมให้บริการ 8 มี.ค. 66 นี้

งานประชาสัมพันธ์ ท่าอากาศยานกระบี่ เผยโฉมอาคารใหม่ พร้อมเปิดให้บริการ 8 มีนาคม นี้

เฟซบุ๊ก ท่าอากาศยานกระบี่ เปิดเผยภาพอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ที่พร้อมเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารพร้อมอาคารจอดรถ ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 เพื่อรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ

โซเชียลถล่ม!! ‘นัท นิสามณี’ หลังพูดคำว่า ‘ระเบิด’ ในสนามบิน ซัด!! เป็นคำต้องห้าม อาจส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารคนอื่น

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย.66) ช่องยูทูบ เฉลิมศรี ได้มีการโพสต์คลิปใหม่ เป็นช่วงที่ถ่ายที่สนามบิน โดยทางด้านของยูทูบเบอร์ดังอย่าง นัท ได้พูดเล่นกับเพื่อนร่วมทริป แต่เกิดเป็นดราม่าร้อนขึ้นมาทันที ในคลิปดังกล่าวมีบทสนทนาของ ‘นัท นิสามณี’ และ ‘เอิ๊ก ชาลิสา’ ว่า…

นัท : อยากกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาระเบิด 
เอิ๊ก : ห้ามพูด เพราะมันเป็นเรื่องเซนซิทีฟ 
นัท : แล้วถ้าลูกชิ้นปลาระเบิด 
เอิ๊ก : พี่นัท (หน้าซีเรียส) 
นัท : ไม่ มันมีก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาระเบิด 
เอิ๊ก : พี่นัทลองไปพูดตรงที่ตรวจคนเข้านะ จะได้โดนไล่ออกไปเลย ไปเลยค่ะ เชิญ 
นัท : กูอยากกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาระเบิด 
เอิ๊ก : พี่นัทกำลังล้อเล่นกับระบบ ทำเป็นแบบว่าล้อเล่น พลิกลิ้น พลิกแพลง อะลองไปพูดตรงโน้นเลยค่ะ นัท : เอิ๊กแต่งตัวเปรี้ยวระเบิด อันนี้ได้ไหม 
เอิ๊ก : พี่นัท หนูไม่รู้ด้วยนะ

AOT จ่อใช้ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง ยกระดับการบิน ไม่ต้องโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรปชช.’

AOT เตรียมใช้การสแกนใบหน้า แทนโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรประชาชน’ ยกระดับด้านบริการ นำร่องเปิดใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง ภายในปี 2567

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า AOT อยู่ในระหว่างผลักดันและพัฒนาระบบ Biomatic เข้ามาใช้ในท่าอากาศยาน โดยจะมีระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร หลังผู้โดยสารเช็กอินผ่านเคาน์เตอร์, ผ่านระบบมือถือ หรือเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ 

หลังจากนั้นระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารมาสร้างเป็นข้อมูล One ID เก็บไว้ ส่งผลให้ผู้โดยสารสามารถเข้าใช้บริการจุดต่าง ๆ ภายในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น จุดตรวจค้นสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนคู่กับ boarding passอีกต่อไป

ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID

เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน

โดยระบบ biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567

'พงศ์กวิน' ชี้!! รัฐต้องเร่งผุดสนามบินใหม่ 'ภูเก็ต-เชียงใหม่' พร้อมปรับโฉมท่าเก่า  หลังต่างชาติไหลเที่ยวไทยไม่หยุด หากช้าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินแก้

(3 ก.ย. 66) ภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ประเทศไทยก็กลายเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลกลับมา และกลับมามากกว่าเดิม จนตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวครอง GDP ไทยไปแล้วกว่า 20% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีของภาคการท่องเที่ยวของประเทศมากๆ

ทว่า สิ่งที่น่าห่วงในตอนนี้ คือ แม้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวจะเป็นไฮไลต์ที่ไม่เคยแผ่วของไทย แต่ความสามารถในการรองรับของประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมของสนามบินต่างๆ กำลังเจอปัญหาที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหน้าด่านแห่งเมืองท่องเที่ยวฝั่งเหนือ-ใต้ของไทยที่วันนี้ดูจะเกินกำลังในการรับมือนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลักเข้าสู่ไทยแบบไม่หยุด

ฉะนั้นการขยายสนามบินใหม่ให้เมืองท่องเที่ยวหน้าด่าน และการปรับปรุงสนามบินเดิมทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งทำ เพราะไหนกว่าจะเริ่ม กว่าจะเสร็จ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ถอดรหัสข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไทยในมิติต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งในการขยับขยายสนามบินในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถกระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนได้ดีและรวดเร็วที่สุด

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บ่งบอกว่าในช่วง 2552-2562 (ก่อนโควิด) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิด GDP จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม เฉลี่ย 2,131,088 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 15.50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

เกิดการจ้างงานเฉลี่ยปีละ 4,147,640 คน คิดเป็น 10.88% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยที่สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนมากถึง 20% ของ GDP รวม และมีการคาดการณ์จากสภาพัฒน์ว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2573 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย 'ถนัด' และเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานต่อเนื่องก่อนช่วงโควิด และตอนนี้ที่สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายแล้ว การท่องเที่ยวก็เรียกได้ว่ากระโดดขึ้นมาจากวิกฤติในทันที

โดยในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 2506% (25 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 164.6% ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 868.5 (8.6 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 255.9% ในปีนี้

เห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย!!

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะทะยานได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องได้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นั่นก็คือท่าอากาศยานประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ

อย่างหลายๆ ท่านเอง ก็คงเคยเจอประสบการณ์ความแออัดของสนามบินในประเทศไทยที่บางครั้งต้องต่อแถวกันเป็นร้อยเมตร เพราะท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีการใช้งานล้นความจุไปมากมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นหน้าด่านแรกของแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้

✈️ สนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 12.5 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 12.8 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 18 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 5.2 ล้านคน เกินความจุไป 41.6%

✈️ สนามบินเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 8 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 8.3 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 11.3 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 3.3 ล้านคน เกินความจุไป 41.25% 

และถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจำนวนผู้โดยสารจะลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่จากที่ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้คาดการณ์จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงและการประมาณการของ AOT สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่พบว่าปริมาณผู้โดยสารในช่วงปี 2566 - 2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูสถิติผู้โดยสารท่าอากาศยานที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่ามีอัตราการเพิ่มของผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% นั่นก็หมายความความว่าภายในอีก 4 ปี สนามบินแต่ละแห่งจะต้องรองรับผู้โดยสารเกินความจุถึง 2 เท่า ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้อย่างแน่นอน

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มโครงการขยายสนามบิน และศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ภูเก็ตและเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน เพราะการสร้างหรือการขยายสนามบินนั้นต้องใช้เวลาหลายปี

เมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานทางการบินที่ดีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว พี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเชียงใหม่และภูเก็ตจะมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และนี่คือ 'ความเจริญ' อย่างแท้จริงที่กำลังจะมาถึง

AOT ชี้แจง ผู้โดยสารต่อแถวนาน 3 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องจริง ยัน!! ใช้เวลาต่อคิว-ตรวจพาสปอร์ต ไม่เกินท่านละ 25 นาที

(21 ก.ย. 66) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพผู้โดยสารหนาแน่นบริเวณจุดตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมระบุว่าใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง นั้น AOT ในฐานะผู้บริหาร ทสภ.และมีท่าอากาศยานอีก 5 แห่งในความรับผิดชอบ ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ขอชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง 

โดย AOT ได้ตรวจสอบการให้บริการของ ทสภ.จากกล้องวงจรปิดในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 31 สิงหาคม 2566 พบว่า กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศใช้เวลาสูงที่สุดเพียง 40 นาที และเวลารอคิวน้อยที่สุดใช้เวลาเพียง 12 นาที เฉลี่ยโดยรวมผู้โดยสารใช้เวลาประมาณ 25 นาที 

ทั้งนี้ ในช่วง Peak Hour ผู้โดยสารจะใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาที และใช้เวลาหน้าเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาทีต่อคน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว ทสภ.สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ที่ท่าอากาศยานควรปฏิบัติใน Annex 9 เรื่องระยะเวลาการไหลเวียนผู้โดยสารขาเข้า - ขาออก โดยแนะนำให้กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าไม่ควรเกิน 45 นาที และผู้โดยสารขาออกไม่ควรเกิน 60 นาที

สำหรับท่าอากาศยานอีก 5 แห่ง AOT ได้มีการกำหนดให้การดำเนินงานในขั้นตอนกระบวนการผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้า - ขาออกมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามคำแนะนำของ ICAO เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลเช่นกัน 

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มุ่งเน้นการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจและได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานมีความเชื่อมั่น ได้รับความสะดวก สบาย เกิดความประทับใจ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีแก่ผู้เดินทางตามวิสัยทัศน์ของ AOT ในการเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก

‘เศรษฐา' ประกาศตั้งเป้า ‘สุวรรณภูมิ’ ติดท็อป 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี ขอเวลา 6 เดือนจะไม่เห็นภาพผู้โดยสารต้องมารอต่อคิวอีก

(1 ม.ค.67) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND, AVIATION HUB’ เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมรวมถึง ผู้บริหารเอโอที และสายการบินต่างๆเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนในการแถลงวิชั่นงาน Ignite Thailand ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางไว้ 8 ด้าน หนึ่งในนั้นคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ตนมีความเชื่อ รัฐบาลมีความเชื่อว่าศักยภาพของประเทศไทยพร้อมมากที่จะถูกระเบิดออกมา ฉายแววออกมาให้ชาวโลกรู้ว่าศักยภาพของเรามีมากขนาดไหน และก่อนที่เราจะอัปเกรด AVIATION HUB เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง 10 ปีที่แล้วสนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่อยู่ในอันที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 68 ของโลกตกมา 55 อันดับ เพื่อนบ้านเราไม่ได้มีการลงทุนอะไรเลยอย่างมาเลเซียแต่อันดับสูงกว่าเรา ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์หรือฮ่องกง

“ปัญหาในสนามบินถ้าเราไม่มีการปรับวุ่นวายแน่นอน และจะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาเรามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมันบั่นทอนศักยภาพของประเทศ เรื่องของไฟล์ทที่มาต่อที่นี่ก็น้อยลงหากมีการจัดตารางบินใหม่ เครื่องบินที่มาเปลี่ยนผ่านที่นี่รู้หรือไม่ว่ามีเพียงแค่ 1% ขณะที่สิงคโปร์มีถึง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องก็สามารถเห็นสิ่งดีๆของไทยได้ หากเข้ามาอยู่ 7-8 ชั่วโมง ได้เข้าไปในเมืองกลับมาเกิดความประทับใจก็อาจมีแพลนมาประเทศไทย แต่วันนี้ถ้าไม่มีการทำอะไรอย่าว่าจะขึ้นเลย 68 ก็ตกลงไปได้” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับสุวรรณภูมิมีพื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบิน SAT1 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ที่ได้มีการวางโครงสร้างไว้ แต่ก็ยังยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้จะมีการเปิดให้ครบ 100% ภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้เครื่องบิน บินขึ้นลงได้เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และอนาคตก็เตรียมที่จะสร้างอาคาร SAT2 วันนี้เรามีศักยภาพเพียงแต่เราจะต้องฉายแสงออกมาให้ได้ และมั่นใจหลังจาก 6 เดือนนี้ต่อไปเราจะไม่เห็นผู้โดยสารที่รอคิวนาน สุวรรณภูมิไม่ใช่แค่เทคแคร์คนอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องของสินค้าด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนมั่นใจเราจะทำให้ก้าวแรกของผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่สุวรรณภูมิและต่อโยงไปประเทศต่างๆ พร้อมทั้งสินค้าจะเกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดอนเมืองก็เป็นอีกหนึ่งสนามบินที่สำคัญรัฐบาลจะเปลี่ยนให้สนามบินดอนเมืองเป็น Point to Point แอร์พอร์ต จุดเด่นคือสะดวกรวดเร็ว ครบครัน รับผู้โดยสารให้มากยิ่งขึ้น จะสร้างอาคาร อินเตอร์เนชั่นแนลใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารมากขึ้นปัจจุบันมีการรับผู้โดยสารอยู่ที่ 30 ล้านคน จะเพิ่มให้เป็น 50 ล้านคน และสร้างอาคารจอดรถเพิ่มให้สามารถจอดรถเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ประมาณ 7,600 คัน ส่วนมาสเตอร์แผนจะมีการสร้างสนามบินอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวของภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง และจะมีการพัฒนาสะพานสารสินเพื่อรองรับรถได้มากขึ้นและให้เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านได้ ส่วนทางภาคเหนือก็จะมีสนามบินล้านนา เพื่อรองรับผู้โดยสารอีก 20 ล้านคนต่อปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการยกระดับสนามบินเมืองรองทั่วประเทศ เช่น สนามบินน่าน ศรีสะเกษ นครราชสีมา ให้กลายเป็นสนามบินหลักให้ได้ ควบคู่กับพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวโลก ผ่านการผลิตอาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก และระบบการทำงานภายในสนามบินก็สำคัญ จะมีการขยายอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงรักษาเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษา ทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว ต่อยอดระบบขนส่งและคลังสินค้า รวมถึงการต่อยอดความร่วมมือทั้งจากสายการบินต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรม เพื่อพัฒนาการบิน เส้นทางการบิน จำนวน และประเภทเครื่องบินส่วนตัวและการบริการ

“การเดินทางไปยุโรปครั้งนี้ผมจะไปคุย โดยประเทศไทยจะอธิบายให้ฟังทั้งหมดในเรื่องดีๆว่ามีอะไรบ้าง แต่สัปดาห์หน้าที่เดินทางไปนี้เป็นแค่ออเดิร์ฟไปโฆษณาว่าปีหน้าเราจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผมรับรองได้ว่าเขาจะต้องชอบและพอใจ และจะเดินทางมาไทยมากยิ่งขึ้น” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน การพัฒนาต่อไปจะไปไม่ได้ถ้าสายการบินไทยไม่แข็งแรง ต้องมีการบริหารให้เหมาะสม ทั้งลักษณะเครื่องบิน จะต้องมีการพัฒนาระบบตั๋วที่หลายประเทศใช้ระบบออนไลน์ วันนี้เราต้องพูดตรงไปตรงมาว่าการบินไทยมีตัวแทนขายตั๋วเยอะ เขามีการกั๊กตั๋ว แต่ขึ้นเครื่องไปบางทีว่างอันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่อยากพูด แต่วันนี้ไม่ได้มาว่ากัน เราต้องพัฒนาให้ดีขึ้น หลายสายการบินใช้ออนไลน์บุคกิ้งบริหารราคาตั๋วเพื่อกำไร ตรงนี้เราต้องให้ความสำคัญ เข้าใจอย่างตรงจุด เรื่องเหล่านี้เราคาดหวังว่าการบินไทยต้องทำได้ และการจัดตารางไฟล์ทต้องมาพูดกัน เราทราบกันดีการบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูหลังจากเกิดโควิด19 ในวันนี้รักษาตัวเองให้ดี หากหลุดพ้นจากแผนฟื้นฟูแล้วเรามาให้น้ำใจผู้โดยสารทุกคนที่ให้ความเชื่อมั่นเรา ทั้งนี้เราต้องมีความทะเยอทะยานให้การบินไทยติดอันดับโลกอย่างน้อยต้องติดอันดับ 3 ของเอเชีย คนไทยต้องภาคภูมิใจ

“การที่ผมแอบไปตรวจ ไม่ได้จ้องจับผิด เพื่อให้เห็นการทำงาน ไม่ได้ดูแค่หน้างาน แต่ดูหลังบ้านด้วย และได้มีการพูดคุยเรื่องการบริหารคนให้เขามีจิตใจที่ดีขึ้น ให้เขาเกิดความตั้งใจในการทำงาน ผมคิดว่าความสุขเป็นอะไรที่ส่งต่อกันได้ เริ่มต้นจากผู้ให้บริการถ้ามีความสุขเวลาส่งต่อการให้บริการผู้โดยสารก็จะส่งต่อความสุขนั้นได้ ความสุขเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ดี หลายท่านอาจถามว่าอะไรคือประโยชน์ของศูนย์การบิน สิ่งที่พูดมาทั้งหมดคิดว่าคงจะเห็นในเรื่องเศรษฐกิจที่พยายามพัฒนาอย่างก้าวกระโดด วันนี้เราจะต้องเอาชนะให้ได้ หากเราโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างมโหฬาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยากสนับสนุนให้การบินมีเพิ่มมากขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า หลายท่านที่มาเห็นการบริการที่ประทับใจก็จะเห็นออเดิร์ฟให้กับเขาว่าในปีหน้าอาจจะอยากมาเที่ยวที่ไทย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างความยั่งยืนดึงดูดสายการบิน และส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ผมขอประกาศว่า 1 ปีจากนี้สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเป็น 1 ใน 50 ของโลก และ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี พี่น้องที่อยู่ในฐานรากให้ความหวังเยอะมาก เรามีความฝันทุกวันอยากให้มันเป็นจริง อยากให้มันเกิดขึ้นมาได้ ผมขอประกาศวันนี้เราตื่นแล้ว ฝันดีแล้ว วันนี้ตื่นขึ้นมาร่วมกันให้ความฝันเป็นความจริง ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้จะมีส่วนร่วมทำให้เราถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ ขอขอบคุณและให้กำลังใจทุกคน เพื่อให้ศักยภาพที่สำคัญที่สุดคืออัปเกรด AVIATION HUB เป็นความจริง” นายเศรษฐา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top