'พงศ์กวิน' ชี้!! รัฐต้องเร่งผุดสนามบินใหม่ 'ภูเก็ต-เชียงใหม่' พร้อมปรับโฉมท่าเก่า  หลังต่างชาติไหลเที่ยวไทยไม่หยุด หากช้าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินแก้

(3 ก.ย. 66) ภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ประเทศไทยก็กลายเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลกลับมา และกลับมามากกว่าเดิม จนตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวครอง GDP ไทยไปแล้วกว่า 20% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีของภาคการท่องเที่ยวของประเทศมากๆ

ทว่า สิ่งที่น่าห่วงในตอนนี้ คือ แม้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวจะเป็นไฮไลต์ที่ไม่เคยแผ่วของไทย แต่ความสามารถในการรองรับของประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมของสนามบินต่างๆ กำลังเจอปัญหาที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหน้าด่านแห่งเมืองท่องเที่ยวฝั่งเหนือ-ใต้ของไทยที่วันนี้ดูจะเกินกำลังในการรับมือนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลักเข้าสู่ไทยแบบไม่หยุด

ฉะนั้นการขยายสนามบินใหม่ให้เมืองท่องเที่ยวหน้าด่าน และการปรับปรุงสนามบินเดิมทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งทำ เพราะไหนกว่าจะเริ่ม กว่าจะเสร็จ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ถอดรหัสข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไทยในมิติต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งในการขยับขยายสนามบินในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถกระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนได้ดีและรวดเร็วที่สุด

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บ่งบอกว่าในช่วง 2552-2562 (ก่อนโควิด) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิด GDP จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม เฉลี่ย 2,131,088 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 15.50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

เกิดการจ้างงานเฉลี่ยปีละ 4,147,640 คน คิดเป็น 10.88% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยที่สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนมากถึง 20% ของ GDP รวม และมีการคาดการณ์จากสภาพัฒน์ว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2573 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย 'ถนัด' และเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานต่อเนื่องก่อนช่วงโควิด และตอนนี้ที่สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายแล้ว การท่องเที่ยวก็เรียกได้ว่ากระโดดขึ้นมาจากวิกฤติในทันที

โดยในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 2506% (25 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 164.6% ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 868.5 (8.6 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 255.9% ในปีนี้

เห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย!!

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะทะยานได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องได้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นั่นก็คือท่าอากาศยานประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ

อย่างหลายๆ ท่านเอง ก็คงเคยเจอประสบการณ์ความแออัดของสนามบินในประเทศไทยที่บางครั้งต้องต่อแถวกันเป็นร้อยเมตร เพราะท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีการใช้งานล้นความจุไปมากมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นหน้าด่านแรกของแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้

✈️ สนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 12.5 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 12.8 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 18 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 5.2 ล้านคน เกินความจุไป 41.6%

✈️ สนามบินเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 8 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 8.3 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 11.3 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 3.3 ล้านคน เกินความจุไป 41.25% 

และถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจำนวนผู้โดยสารจะลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่จากที่ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้คาดการณ์จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงและการประมาณการของ AOT สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่พบว่าปริมาณผู้โดยสารในช่วงปี 2566 - 2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูสถิติผู้โดยสารท่าอากาศยานที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่ามีอัตราการเพิ่มของผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% นั่นก็หมายความความว่าภายในอีก 4 ปี สนามบินแต่ละแห่งจะต้องรองรับผู้โดยสารเกินความจุถึง 2 เท่า ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้อย่างแน่นอน

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มโครงการขยายสนามบิน และศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ภูเก็ตและเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน เพราะการสร้างหรือการขยายสนามบินนั้นต้องใช้เวลาหลายปี

เมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานทางการบินที่ดีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว พี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเชียงใหม่และภูเก็ตจะมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และนี่คือ 'ความเจริญ' อย่างแท้จริงที่กำลังจะมาถึง