Saturday, 4 May 2024
ศาสนา

ขัดตาชาวพุทธ!! ‘พระพยอม’ ติงร้านชาบู ใช้บาตรพระเป็นหม้อจุ่ม ชี้! ไม่เหมาะสม ควรเคารพสัญลักษณ์ศาสนา

จากคลิปไวรัลที่ตกเป็นที่สนใจของผู้คนในแอพพลิเคชั่น TikTok หลังมีร้านชาบูแห่งหนึ่งนำบาตรที่พระสงฆ์ใช้บิณฑบาต มาดัดแปลงเป็นหม้อจุ่มอาหาร จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจร้านไม่หมูก็เนื้อชาบู ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งนายคุณาทิป คินิพันธ์ อายุ 28 ปี, นายคิรินท์ ร.ฤทธิ์บุญ อายุ 28 ปี และนายณัฐพล อ้นอินทร์ อายุ 28 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าของร้านที่ร่วมหุ้นกันเปิดร้านชาบูแห่งนี้

นายคุณาทิป คินิพันธ์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน กล่าวว่า ร้านชาบูแห่งนี้ได้เริ่มต้นเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ในคอนเซ็ปต์เป็นร้านชาบูบรรยากาศแบบแคมป์ปิ้ง ซึ่งต่อมายอดขายของทางร้านได้ตกลง เนื่องจากทางวัดลาดปลาดุกได้จัดงานวัดขึ้นหลายวัน ทำให้ลูกค้าเริ่มเข้าร้านบางตา จึงได้ปรึกษากับเพื่อนๆ ว่า สงสัยร้านชาบูเราจะโดนทำของ หรือคุณไสยใส่ จึงชักชวนกันไปทำบุญที่วัด เพื่อหวังจะนำน้ำมนต์จากวัดมาปะพรมที่ร้านเพื่อแก้เคล็ด

“จนไปเห็นน้ำมนต์อยู่ในบาตรพอดี จึงเกิดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้านำบาตรมาเป็นภาชนะแทนหม้อจุ่มชาบูก็น่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบไอเดียนี้ จึงได้ไปหาซื้อบาตรพระมา 2 ชนิดคือ บาตรดำแบบทั่วไป และบาตรแบบสแตนเลส ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกับภาชนะทำอาหารทั่วไปมาทดลองทำคอนเทนต์ดู”

นายคุณาทิป กล่าวว่า ปรากฎว่าระหว่างที่ทดลองทำคอนเทนต์ เพื่อลงคลิปในโซเซียล หม้อแบบสแตนเลสที่นำมาทดลองใช้เป็นภาชนะแทนหม้อจุ่มชาบูถ่ายภาพออกมาแล้วดูไม่สวย เพราะมีลักษณะเหมือนภาชนะหุงต้มทั่วไป จึงได้นำบาตรดำมาทดลองถ่ายทำคอนเทนต์แทน ปรากฎว่า ภาพออกมาสวยตามคอนเซ็ปต์ที่ตนกับเพื่อนๆ ต้องการ จึงได้ถ่ายคลิปกับภาพประกอบ และนำเนื้อหมูมาทดลองจุ่มดูเท่านั้น ไม่ได้มีการเสิร์ฟให้กับลูกค้าในร้านจริง ๆ อย่างที่ผู้คนในโซเซียลสงสัย เพราะตนก็ทราบดีว่าบาตรพระแบบรมดำ หรือเคลือบดำนั้นหากถูกความร้อนจะมีสารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภคปะปนออกมา จึงไม่ได้นำบาตรดำมาเสิร์ฟให้ลูกค้าเลย แต่หากมีลูกค้าต้องการใช้บาตรเป็นภาชนะสำหรับจุ่มอาหารจริง ๆ ทางร้านตนก็จะใช้บาตรสแตนเลส ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดภัยเกรดเดียวกับภาชนะหึงต้มทั่วไปมาเสิร์ฟให้ลูกค้าแทน

วิเคราะห์แก่นแห่งศาสนา ผ่านปมดรามา ‘เฌอเอม VS ณวัฒน์’ ‘รสนิยม’ หรือ ‘คุณค่าแห่งชีวิต’ อยู่ที่สิทธิอันชอบธรรมของแต่ละบุคคล

ควันหลงประเด็นดรามาที่เหล่าแฟนๆ นางงามและคนทั่วไปยังติดตามกันอยู่ห่างๆ กรณี ‘เฌอเอม’ มิสแกรนด์ลำพูน 2023 ปฏิเสธการดูดวงพร้อมขอวางไมค์ จนทำให้ นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล บอสใหญ่ต้องร่ายยาวสั่งสอน ว่า “ศาสนาเป็นเพียงรสนิยม ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่จิตใจ” พร้อมทั้งยังบอกว่าทางเวทีต้องการนางงามที่มีความพร้อมใช้งาน ไร้เงื่อนไข จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากบรรดาแฟนนางงาม

ล่าสุด ได้มีผู้ใช้ ติ๊กต๊อก ชื่อ ‘papernonsaint’ ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงดรามาดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นคำพูดของนายณวัฒน์ ที่กล่าวว่า “ศาสนาเป็นเพียงรสนิยม” โดยผู้ใช้ติ๊กต๊อกรายนี้ได้มองว่า…

“ศาสนาเป็นเพียงรสนิยมใช่หรือไม่? อันนี้ก็แล้วแต่ปัจเจกเลยครับ ผมมองว่า หากคนคนหนึ่งเลือกที่จะให้ศาสนาเป็นเพียงรสนิยม มันก็อยู่ในสิทธิอันชอบธรรมของเขา แต่ถ้าหากว่าคุณศึกษาศาสนาของคุณอย่างลึกซึ้งจริงๆ ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ผมยังไม่เจอศาสนาไหนที่เคลมว่าตัวเองเป็นแค่รสนิยมเลย เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่อาจทราบได้เหมือนกันว่า หลักคิดของคุณณวัฒน์ ที่กล่าวว่า “ศาสนาเป็นเพียงรสนิยม” นี้ ไปเจอมาจากที่ไหน"

อีกคำพูดถึงหนึ่งของคุณณวัฒน์ ที่กล่าวว่า “ศาสนาไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่จิตใจ” ผู้ใช้ติ๊กต๊อกได้กล่าวด้วยว่า…

“ในแต่ละศาสนาแทบจะสอนในเรื่องนี้หมดเลย คือ พยายามที่จะชี้ในผู้คนเห็นถึงชีวิตและจิตใจ ผ่านคุณค่าทางศาสนานั้นๆ และสุดท้ายแล้ว คนที่ยึดมั่นในศานาใดก็ตาม ศาสนานั้นก็จะกลายเป็นชีวิตและจิตใจส่วนหนึ่งของเขาไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาคริสต์ ซึ่งสำหรับศาสนาอื่นผมไม่ทราบ แต่ผมก็เชื่อว่าพุทธศาสนาก็เป็นชีวิตและจิตใจของพระพุทธเจ้าเช่นกันครับ”


ที่มา : https://vt.tiktok.com/ZS8Td5ptL/

'เลขาธิการ OIC' ชื่นชม 'ไทย' ผสานทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พร้อมเชิญแบ่งปันปรัชญา 'ศก.พอเพียง-วิถีเกษตร' ในแอฟริกา

(10 ส.ค. 66) ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายฮุซัยน์ บรอฮีม ฏอฮา (H.E. Mr. Hissein Brahim Taha) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเลขาธิการ OIC ในโอกาสเดินทางเยือนไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ว่า ไทยได้เชิญเลขาธิการ OIC เยือนไทยเป็นทางการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจสถานการณ์ในไทยได้ดียิ่งขึ้น ประเทศไทยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการนับถือทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม โดยมีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้คนทุกเชื้อชาติและศาสนา โดยชาวไทยมุสลิมสามารถแสดงออก และปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี และที่ผ่านมาชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวไทยมุสลิมหลายคนที่มีตำแหน่งระดับสูงในไทย

ด้านเลขาธิการ OIC กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสเยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลและคนไทยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกล่าวชื่นชมไทยที่ให้เสรีภาพปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา OIC ได้มีโอกาสไปเยือนชุมชนกุฎีจีน ซึ่งได้สำรวจพื้นที่และพบกับผู้คนจากทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม สะท้อนถึงการเป็นแบบอย่างในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยในการสร้างสันติสุขและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการประชุมของ OIC ในหลายโอกาสได้ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทย รวมถึงกล่าวถึงประเทศไทยในเชิงบวกและสร้างสรรค์ 

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ประกอบการส่งเสริมความร่วมมือกับ OIC ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือในสาขาที่ไทยชำนาญและ OIC สนใจ ทั้งการทำการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และมาตรฐานสินค้าอาหารฮาลาล เป็นต้น 

ทั้งนี้ ไทยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ดำรงตำแหน่งผู้แทนถาวรไทยประจำ OIC หวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย - OIC ซึ่งเลขาธิการ OIC พร้อมให้การสนับสนุนผู้แทนถาวรไทยฯ เพื่อกระชับความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ สำหรับสถานการณ์ของประเทศสมาชิก OIC ในภูมิภาคแอฟริกา นั้น OIC ให้ความสำคัญกับสมาชิก OIC ในภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการเกษตร พร้อมกล่าวเชิญชวนไทยมาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาและการเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทของเลขาธิการ OIC ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสามฝ่ายระหว่างไทย OIC และแอฟริกา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญต่อการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา โดยนายกรัฐมนตรียินดีร่วมมือในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สามฝ่าย

โอกาสนี้ เลขาธิการ OIC เชิญไทยแบ่งปันความรู้ด้านการเกษตร และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับมิตรประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

‘รศ.ดร.วินัย’ ชี้!! ‘การฉลองปีใหม่’ แท้จริงถือกำเนิดขึ้นก่อนจะมีศาสนาคริสต์ จึงไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ‘ชาวมุสลิม’ สามารถร่วมฉลองได้

(27 ธ.ค. 66) รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ความเป็นมาของการเฉลิมฉลอง ‘วันปีใหม่’ ในวันที่ 1 มกราคม’ ระบุว่า…

มีคำถามจากพวกเราถึงผมเป็นครั้งคราว เร็วๆ นี้ มีคำถามมาว่า การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินสากล เป็นประเพณีหรือพิธีกรรมในศาสนาคริสต์ใช่หรือไม่ หากใช่ การที่คนในศาสนาอื่นเข้าไปร่วมเฉลิมฉลอง จะผิดหลักการในศาสนาของตนเองหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘มุสลิม’ ก่อนจะตอบ เราควรเข้าใจก่อนว่าการนับวันเวลาเป็นสิ่งสมมุติ เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ โดยเป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณแล้ว

การกำหนดวันปีใหม่สากลให้เป็นไปตามปฏิทินสุริยคติคือ ‘วันที่ 1 มกราคมของทุกปี’ เรื่องนี้เริ่มโดยชาวโรมันมานานนับพันปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้น ชนโบราณ ทั้งบาบิโลน จีน อินเดีย กำหนดวันปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติมาก่อนชาวโรมันเสียด้วยซ้ำ โดยกำหนดไว้ว่า ‘วันขึ้นปีใหม่’ คือ วันเริ่มต้นการเพาะปลูก ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงพฤษภาคม ชาวจีนกำหนดวันตรุษจีนไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ชาวอินเดียกำหนดวันสงกรานต์ในเดือนเมษายน ส่วนชาวบาบิโลนเฉลิมฉลองวันเริ่มเพาะปลูกในเดือนมีนาคม

กระทั่งถึงปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล ‘จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์’ แห่งจักรวรรดิโรมัน เห็นว่าช่วงฤดูหนาวคือ เดือนธันวาคมถึงมกราคม อากาศหนาวเหน็บ บรรยากาศหดหู่ ผู้คนซึมเศร้า ว้าเหว่ จึงย้ายวันปีใหม่จากช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่สดใสไปเป็นฤดูหนาว เพื่อให้ผู้คนในจักรวรรดิได้รื่นเริงกันบ้าง การกำหนดวันปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคมจึงเริ่มต้นในปีนั้น วันปีใหม่จึงเกิดขึ้นก่อนการมาของคริสต์ศาสนา การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในบางชุมชนอาจมีพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาปนบ้าง แต่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์อย่างแน่นอน

ชนคริสต์ในจักรวรรดิโรมันกว่าจะยอมรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่ก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ. 313 แล้ว เหตุที่ก่อนหน้านั้นไม่ยอมรับก็เนื่องจากเห็นว่า การฉลองปีใหม่เป็นกิจกรรมของคนนอกศาสนา ต่อเมื่อเข้าใจได้ว่า วันเวลาคือความเป็นสากลไม่เกี่ยวข้องกับศาสนานั่นแหละจึงยอมรับ นอกจากนี้ ชาวคริสต์ในแต่ละนิกายยังเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่ไม่ตรงกัน ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีชนกลุ่มใดยึดถือว่าวันปีใหม่เป็นวันสำคัญทางศาสนา การเฉลิมฉลองจะเป็นไปในลักษณะใด เอาศาสนามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ให้ขึ้นกับแต่ละสังคมเป็นสำคัญ

ในประเทศมุสลิมปัจจุบัน การนับถอยหลัง หรือ ‘เคาท์ดาวน์’ ตอนเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม มีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ที่อาคารทวินทาวเวอร์ในกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย หรืออาคารเบิร์จคาลิฟาของดูไบ ยูเออี และในอีกหลายประเทศมุสลิม นั่นเป็นเพราะวันปีใหม่ไม่ใช่การเฉลิมฉลองทางศาสนา

ส่วนประเด็นที่มีมุสลิมบางคนเข้าใจว่าวันที่ 1 มกราคม เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย ‘กรานาดา’ หรือ ‘ฆัรนาเฎาะฮฺ’ ของจักรวรรดิมุสลิมให้แก่จักรวรรดิคริสต์ในสเปน เหตุการณ์นั้นเกิดในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1492 ไม่เกี่ยวข้องกับวันปีใหม่ ที่อธิบายมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า จะแนะนำให้มุสลิมฉลองวันปีใหม่ สังคมมุสลิมมีวันเฉลิมฉลองอยู่แล้ว คือ ‘วันอิดิลอัฎฮาและอิดิลฟิตริ’ การเฉลิมฉลองกันสุดเหวี่ยงเลียนแบบคนอื่นในวันอื่นคงไม่เหมาะ ส่วนใครจะฉลองคงไม่มีใครตำหนิ

‘วัดธรรมกาย’ แจงไม่เกี่ยวข้อง ‘ลัทธิโยเร’ ตามสื่ออ้าง ยืนยัน!! ยึดแนวปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยสงฆ์เถรวาท

(4 ม.ค.67) มีรายงานข่าวว่ามีเพจ สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจง ยืนยันว่า วัดธรรมกาย ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโยเร โดยระบุว่า

“วัดพระธรรมกายไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโยเรแต่อย่างใด” ตามที่สื่อออนไลน์บางสำนักนำเสนอข่าวอันเป็นเท็จว่า “ลัทธิโยเร” เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกายนั้น

วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มความเชื่อตามที่สื่อกล่าวอ้าง ทั้งนี้ วัดพระธรรมกายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดคณะสงฆ์ไทย ยึดแนวปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยของสงฆ์เถรวาท ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม (มส.) ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่ปราศจากข้อเท็จจริง อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้

วัดพระธรรมกายจึงชี้แจงมาเพื่อทราบ และโปรดเผยแพร่ความจริงดังกล่าวแก่สาธารณชนด้วย จักขอบคุณยิ่ง

สำนักสื่อสารองค์กร
วัดพระธรรมกาย
วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2567″


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top