ขัดตาชาวพุทธ!! ‘พระพยอม’ ติงร้านชาบู ใช้บาตรพระเป็นหม้อจุ่ม ชี้! ไม่เหมาะสม ควรเคารพสัญลักษณ์ศาสนา

จากคลิปไวรัลที่ตกเป็นที่สนใจของผู้คนในแอพพลิเคชั่น TikTok หลังมีร้านชาบูแห่งหนึ่งนำบาตรที่พระสงฆ์ใช้บิณฑบาต มาดัดแปลงเป็นหม้อจุ่มอาหาร จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจร้านไม่หมูก็เนื้อชาบู ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งนายคุณาทิป คินิพันธ์ อายุ 28 ปี, นายคิรินท์ ร.ฤทธิ์บุญ อายุ 28 ปี และนายณัฐพล อ้นอินทร์ อายุ 28 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าของร้านที่ร่วมหุ้นกันเปิดร้านชาบูแห่งนี้

นายคุณาทิป คินิพันธ์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน กล่าวว่า ร้านชาบูแห่งนี้ได้เริ่มต้นเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ในคอนเซ็ปต์เป็นร้านชาบูบรรยากาศแบบแคมป์ปิ้ง ซึ่งต่อมายอดขายของทางร้านได้ตกลง เนื่องจากทางวัดลาดปลาดุกได้จัดงานวัดขึ้นหลายวัน ทำให้ลูกค้าเริ่มเข้าร้านบางตา จึงได้ปรึกษากับเพื่อนๆ ว่า สงสัยร้านชาบูเราจะโดนทำของ หรือคุณไสยใส่ จึงชักชวนกันไปทำบุญที่วัด เพื่อหวังจะนำน้ำมนต์จากวัดมาปะพรมที่ร้านเพื่อแก้เคล็ด

“จนไปเห็นน้ำมนต์อยู่ในบาตรพอดี จึงเกิดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้านำบาตรมาเป็นภาชนะแทนหม้อจุ่มชาบูก็น่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบไอเดียนี้ จึงได้ไปหาซื้อบาตรพระมา 2 ชนิดคือ บาตรดำแบบทั่วไป และบาตรแบบสแตนเลส ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกับภาชนะทำอาหารทั่วไปมาทดลองทำคอนเทนต์ดู”

นายคุณาทิป กล่าวว่า ปรากฎว่าระหว่างที่ทดลองทำคอนเทนต์ เพื่อลงคลิปในโซเซียล หม้อแบบสแตนเลสที่นำมาทดลองใช้เป็นภาชนะแทนหม้อจุ่มชาบูถ่ายภาพออกมาแล้วดูไม่สวย เพราะมีลักษณะเหมือนภาชนะหุงต้มทั่วไป จึงได้นำบาตรดำมาทดลองถ่ายทำคอนเทนต์แทน ปรากฎว่า ภาพออกมาสวยตามคอนเซ็ปต์ที่ตนกับเพื่อนๆ ต้องการ จึงได้ถ่ายคลิปกับภาพประกอบ และนำเนื้อหมูมาทดลองจุ่มดูเท่านั้น ไม่ได้มีการเสิร์ฟให้กับลูกค้าในร้านจริง ๆ อย่างที่ผู้คนในโซเซียลสงสัย เพราะตนก็ทราบดีว่าบาตรพระแบบรมดำ หรือเคลือบดำนั้นหากถูกความร้อนจะมีสารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภคปะปนออกมา จึงไม่ได้นำบาตรดำมาเสิร์ฟให้ลูกค้าเลย แต่หากมีลูกค้าต้องการใช้บาตรเป็นภาชนะสำหรับจุ่มอาหารจริง ๆ ทางร้านตนก็จะใช้บาตรสแตนเลส ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดภัยเกรดเดียวกับภาชนะหึงต้มทั่วไปมาเสิร์ฟให้ลูกค้าแทน

นายคุณาทิป กล่าวอีกว่า เรื่องนำบาตรพระมาใช้แทนหม้อจุ่มชาบูนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องแล้วแต่มุมมองของคน เพราะอย่างลูกค้าที่สั่งเป็นบาตรพระนั้น ส่วนใหญ่ก็ชอบอะไรที่แปลก และแหวกแนว เพื่อถ่ายทำคอนเทนต์ส่วนตัวไว้โชว์เพื่อนๆ ส่วนลูกค้าที่เฉยๆ กับเรื่องนี้ก็จะสั่งเป็นหม้อจุ่มชาบูแบบปกติมารับประทาน ซึ่งทางร้านก็มีให้บริการไว้เช่นกัน และในอนาคตต่อไปตนมีความคิดว่าจะนำบาตรแบบสแตนเลสไปเจาะหูสำหรับจับทั้งสองข้าง เพื่อความสะดวกในการให้บริการ และดูแตกต่างจากบาตรพระออกไป โดยในอนาคตตนจะสั่งทำฝาบาตรให้เป็นแบบวัสดุที่สามารถปิ้งย่างได้พร้อมกันอีกด้วย

วันเดียวกันที่วัดสวนแก้ว ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวได้นมัสการสอบถามกรณีมีร้านชาบูแห่งหนึ่งใช้บาตรพระทำหม้อต้มเหมาะสมหรือไม่ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวว่า ถ้าต้มชาธรรมดาเฉยๆ ก็ยังพอดูได้ แต่นี่มีเป็ดบ้างหมูบ้าง ไปจุ้มไปจิ้มอยู่ในบาตร มันค่อนข้างจะเรียกว่าสะดุดตาชาวพุทธ แต่จะเป็นเรื่องเป็นโทษผิดกฎหมาย ก็ไม่รู้ว่ากฎหมายได้ร่างเขียนไว้หรือยัง แต่ถ้าแต่งกายเลียนแบบพระก็มีสิทธิผิด แต่เลียนแบบเอาบาตรของพระ เอาไปใช้ทำแบบนั้น ก็คิดดูเอาเอง ระหว่างโลโก้อย่างอื่นเราก็มีตั้งมากมาย หม้อชามรามไหเยอะแยะ ถ้าคิดว่าอาศัยใช้โลโก้ของศาสนาแล้ว จะทำให้ขายดิบขายดี

พระพยอม กล่าวในตอนท้ายว่า แต่ต้องตำหนิกันหน่อยว่า มันหมิ่นแหม่ต่อการขัดหูขัดตาชาวพุทธ เพราะพระอุ้มบาตรบิณฑบาต ไม่ได้ไปจิ้มเป็ดจิ้มไก่จิ่มหมูอย่างที่ท่านทำกันอยู่นั้น ก็ขอฝากไว้ว่าอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวพุทธ ดูอย่างพม่าสิ ชาวพุทธพม่าใส่รองเท้าเข้าไปก็ไม่ได้เลย อะไรที่เป็นสัญลักษณ์เจดีย์โบสถ์วิหาร เขาจะไม่เสียความเคารพ เพราะฉะนั้นการเคารพสัญลักษณ์ของพระของศาสนา ถ้ามีไว้สักนิดก็น่าจะดีกว่านี้ เจริญพร


ที่มา : https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_3863176