Thursday, 2 May 2024
ล้มละลาย

จับตาธุรกิจรายเล็ก 5 แสนแห่งในอังกฤษ อาจเสี่ยงล้มละลายภายในไม่กี่สัปดาห์

The guardian รายงานว่า มาร์ติน แมคเทก ประธานสหพันธ์ธุรกิจขนาดเล็ก (FSB) เตือนว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้สร้างระเบิดเวลาสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กในสหราชอาณาจักร โดยมีบริษัทเกือบครึ่งล้านแห่งที่เสี่ยงต่อการล้มละลายภายในไม่กี่สัปดาห์โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 

แม้แมคเทก จะชื่นชมการสนับสนุนของ ริชี ซูแนค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เยียวยาผู้บริโภคผ่านแพ็กเกจค่าครองชีพมูลค่า 15,000 ล้านปอนด์ ซึ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เขามองว่าบรรดาผู้ประกอบรายย่อยกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับต้นทุนการผลิตของพวกเขา และนี่ถือเป็นระเบิดเวลา

“พวกเขาเหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เงินสดจะหมด และนั่นจะหมายถึงธุรกิจหลายแสนราย และผู้คนจำนวนมากจะตกงาน” แมคเทกกล่าว
 

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้!! เกือบ 2,400 ธนาคารในสหรัฐฯ กำลังวิกฤต ลั่น!! เสี่ยงล้มละลาย แถมกองทุนสำรองยามฉุกเฉินก็ใกล้หมด 

(7 พ.ค. 66) เกือบครึ่งหนึ่งของธนาคาร 4,800 ธนาคารในสหรัฐฯ ใกล้ล้มละลาย ขณะที่พวกเขาผลาญเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อสํารองไว้ยามฉุกเฉิน (Capital buffer) เกือบหมดสิ้นแล้ว ตามรายงานของเทเลกราฟเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคาร

เทเลกราฟรายงานโดยอ้างความเห็นของศาสตราจารย์อามิต เซรู ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคารแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่าสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ราวครึ่งหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำ "อย่าอ้างว่านี่เป็นแค่เรื่องเกี่ยวกับซิลลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และเฟิร์สต์ รีพับลิก" เขากล่าว "มากมายในระบบธนาคารของสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ว่าจะล้มละลาย"

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เฟิร์สต์ รีพับลิก ถูกคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านการเงินของสหรัฐฯ เข้ายึดและขายกิจการให้แก่เจพี มอร์แกน ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ เฟิร์สต์ รีพับลิก ได้รับสายเลี้ยงชีพ 30,000 ล้านดอลลาร์ จากกลุ่มสถาบันการเงินในวอลล์สตรีท ที่ให้ความช่วยเหลือผ่านรูปแบบของเงินฝาก แต่ก็ไปต่อไม่ไหว

การขายกิจการของเฟิร์สต์ รีพับลิก มีขึ้นตามหลังการแห่ถอนเงินในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้ธนาคารระดับภูมิภาค 2 แห่ง ซิลลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ต้องล้มครืนภายในเวลาไม่กี่วัน

ในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค. 66) ต้องมีการระงับซื้อขายหุ้นของธนาคารแพ็คเวสต์ ซึ่งมีสำนักงานในลอสแองเจลิส และธนาคารเวสเทิร์น อัลลิอันซ์ ที่มีสำนักงานในแอริโซนา หลังราคาดิ่งลงอย่างน่าตกตะลึง ขณะที่ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นเดือน หุ้นของสถาบันการเงินระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ หลายแห่งร่วงลงอย่างน้อย 15% โหมกระพือความกังวลในหมู่นักลงทุน เกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบรรดาธนาคารขนาดกลางอื่นๆ

‘เบอร์มิงแฮม’ เมืองใหญ่ของอังกฤษ ประกาศล้มละลาย หลังเผชิญวิกฤตงบประมาณขาดดุล-ปัญหาภาระหนี้สิน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 หัวหน้าฝ่ายการเงินของสภาเมืองเบอร์มิงแฮมได้ประกาศใช้มาตรา 114 ที่หมายความว่าจะไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณใหม่ ๆ เกิดขึ้น ยกเว้นการใช้จ่ายที่จำเป็น ทั้งการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และภาระผูกพันทางการเงินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ส่วนบริการที่คาดว่าจะต้อง ถูกปรับลดงบประมาณมีทั้งการทำความสะอาดถนน การดูแลรักษาสวนสาธารณะ ห้องสมุด บริการเกี่ยวกับเด็กที่อยู่นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางสังคม และการเก็บขยะที่อาจต้องทิ้งช่วงเวลานานขึ้น

สภาเมืองเบอร์มิงแฮม ระบุว่า สาเหตุหลักที่ต้องประกาศล้มละลาย เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยมูลค่าสูงถึง 760 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 34,000 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มพนักงานหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่รวมตัวยื่นฟ้องในคดีจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

การจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้านกฎหมายกับสหภาพแรงงานที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาเมืองเบอร์มิงแฮมเปิดเผยว่า ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานหญิงไปแล้ว 1,100 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือยอดหนี้อีกราว 650-750 ล้านปอนด์ ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นเดือนละ 5 ล้าน ถึง 15 ล้านปอนด์ หรือ 200 ล้าน ถึง 670 ล้านบาท ซึ่งสภาเมืองไม่สามารถหาเงินมาชำระได้

นอกจากเบอร์มิงแฮม ยังมีสภาท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่ต้องประกาศล้มละลายเหมือนกับเบอร์มิงแฮม เช่น วอคกิง ครอยดอน และเทอร์รอค หลังจากหลายโครงการลงทุนเกิดปัญหา และเผชิญกับการปรับลดเงินทุน

ขณะที่สมาคมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอังกฤษประเมินว่า ตลอด 2 ปีนับจากนี้ สภาเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนรวมกันประมาณ 2,000 ล้านปอนด์ หรือ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริการสาธารณะที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

‘WeWork’ ยื่นล้มละลายแล้ว หลังเผชิญวิกฤติขาดทุนมหาศาล มีผลเฉพาะสหรัฐฯ-แคนาดา ส่วนประเทศอื่นยังดำเนินการปกติ

(7 พ.ย.66) วีเวิร์ก (WeWork) บริษัทให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน ได้ยื่นล้มละลายแล้ว หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า วีเวิร์ก ได้เตรียมยื่นล้มละลาย หลังจากเผชิญกับหนี้สินก้อนโต และการขาดทุนมหาศาล 

ข่าวระบุว่า วีเวิร์ก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวีเวิร์กระบุว่า การยื่นเรื่องล้มละลายดังกล่าว จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่ธุรกิจทั่วโลกคาดว่าจะยังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

โดยโฆษกของวีเวิร์กกล่าวว่า ราว 92 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ของบริษัท ตกลงที่จะแปลงหนี้ที่มีหลักประกัน ให้เป็นหุ้นทุน ภายใต้ข้อตกลงการสนับสนุนการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยล้างหนี้ได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ครั้งหนึ่ง วีเวิร์ก เคยเป็นสตาร์ตอัปที่เป็นดาวรุ่งอย่างมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ด้วยการให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน และให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปลี่ยนรูปแบบของสำนักงานทั่วโลก และได้เริ่มดำเนินธุรกิจกระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อปี 2019 วีเวิร์กเคยเป็นบริษัทสตาร์ตอัปของสหรัฐ ที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานกลายเป็นการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของวีเวิร์ก ประสบปัญหาและขาดทุนเรื่อยมา

โดยข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วีเวิร์กมีพื้นที่สำนักงานแบ่งปันอยู่ทั้งสิ้น 777 แห่งทั่วโลก และในเอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายนิวเจอร์ซีย์ ระบุว่า วีเวิร์กมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 15,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินอยู่ 18,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top