Wednesday, 2 July 2025
ล้มละลาย

สมาคมรถยนต์ไฟฟ้าเยอรมนี ยื่น ‘ล้มละลาย’ สื่อคาดต้นเหตุมาจากบอร์ดแตกหัก จนพาองค์กรล้ม

เมื่อวันที่ (23 พ.ค. 68) ที่ผ่านมา ศาลในกรุงเบอร์ลินได้ประกาศว่า Bundesverband Elektromobilität (BEM) หรือสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าเยอรมนี ได้ยื่นขอล้มละลายอย่างเป็นทางการ โดยมีทนายความ โยอาคิม โฟกต์-ซาลุส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเหตุผลที่นำไปสู่การล้มละลายยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจน ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนีกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงและแรงสั่นสะเทือนอย่างหนัก

BEM อ้างว่ามีสมาชิกประมาณ 450 ราย ประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตสถานีชาร์จไฟ ผู้ให้บริการด้านกฎหมาย รวมถึงซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรม นอกจากนี้สมาคมยังเคยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาเยอรมันและยุโรป

ทั้งนี้ เบื้องหลังการล้มละลายอาจเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในองค์กร ซึ่งปรากฏสู่สาธารณะเมื่อราวหนึ่งปีครึ่งก่อน โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างอดีตประธานสมาคม เคิร์ท ซิกล์ และสมาชิกบอร์ดอีกสองราย ได้แก่ คริสเตียน ฮีพ และ มาร์คุส เอ็มเมิร์ต ในประเด็นการใช้เงินและการดำเนินงานของบริษัทในเครือ BEM Academy GmbH จนนำไปสู่การแยกทางกับ Sigl ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2024 โดยไม่มีการแต่งตั้งผู้มาแทน

จนถึงขณะนี้ สมาคมยังไม่ได้แถลงการณ์ใดๆ อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว การล้มละลายของ BEM กลายเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่สะท้อนความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนี ซึ่งแม้จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีนี้ในยุโรป แต่อุปสรรคภายในและแรงกดดันจากภายนอกก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของภาคส่วนนี้

‘อีลอน มัสก์’ เตือนสหรัฐฯ หนี้ท่วม!!..อาจล้มละลาย เพราะรายได้ภาษีหมดไปกับดอกเบี้ย ปีละ 1.2 ล้านล้าน

(17 มิ.ย. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้เป็นซีอีโอของเทสลา (Tesla) เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กำลังใกล้จะล้มละลายทางการเงิน หากภาษีที่จัดเก็บได้จากประชาชนทั้งหมดต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้เท่านั้น โดยสหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะสูงถึงราว 36–37 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 43.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของรายได้ภาษีทั้งหมด 

มัสก์ชี้ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภาระดอกเบี้ยจะกลืนกินงบประมาณของรัฐบาลจนไม่มีเงินเหลือไว้ใช้สำหรับสวัสดิการหรือการลงทุนด้านอื่น การจ่ายดอกเบี้ยในระดับนี้ได้กลายเป็น 'ต้นทุนอันดับสาม' ของรัฐบาล รองจากแพ็กเกจสวัสดิการและรายจ่ายทางทหาร 

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก Peterson Foundation ระบุว่า ความกดดันจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นและดอกเบี้ยที่เพิ่ม จะส่งผลลบต่อทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจ การลงทุนของภาคเอกชน และการเข้าไม่ถึงทุนของรัฐบาลกลาง รวมถึงอาจเข้าใกล้ช่วง 'วิกฤตสภาพคล่อง' หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดความเชื่อมั่นจนความต้องการพันธบัตรลดลง 

ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ สนับสนุนแนวคิดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดัง ที่เคยเสนอให้มีกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิด การขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ มัสก์เห็นว่าแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจในการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเตือนว่าหากไม่มีการควบคุมการใช้จ่ายอย่างจริงจัง สหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะ 'ล้มละลายโดยสมบูรณ์' ซึ่งจะทำให้ไม่เหลือพื้นที่ทางการคลังหรือทรัพยากรใด ๆ ให้บริหารประเทศในอนาคตอีกต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top