Monday, 29 April 2024
รัฐบาลทหาร

'รัฐบาลเงาพม่า' ประกาศใช้เงินคริปโตเป็นสกุลเงินหลัก หวังง่ายต่อการระดมทุนต่อต้านรัฐบาลทหาร

The National Unity Government หรือ NUG คณะรัฐบาลเงาของพม่า ที่ก่อตั้งหลังจากการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ โดยลูกพรรค NLD ของนางออง ซาน ซูจี ได้ประกาศว่าจะใช้เงิน 'คริปโต' "Tether" เป็นสกุลเงินหลักอย่างเป็นทางการ เพื่อความคล่องตัวในการระดมทุน และการทำธุรกรรมในกิจการต่าง ๆ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า ภายใต้การนำของนายพล มิน อ่อง หล่าย ให้จงได้ 

โดยนาย ทิน ถุ่น เนียง รัฐมนตรีคลังของรัฐบาลเงา NUG ได้ประกาศผ่านทาง Facebook ว่า รัฐบาล NUG จะเริ่มระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล "Tether" และอนุญาตให้สามารถใช้เงินสกุลนี้เป็นสกุลหลักในการจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้เลย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินที่ประสบปัญหาอย่างหนักหลังการรัฐประหารได้

เหตุผลหลักที่รัฐบาลเงา NUG เลือกใช้ Tether เป็นสกุลเงินหลัก เนื่องจาก Tether ถือเป็นเงินคริปโตที่เป็น Stablecoin หรือเงินดิจิทัลที่มีค่าคงตัวเหรียญแรกของโลก มีความผันผวนน้อยแต่ก็เป็นที่นิยมมากที่มีสัดส่วนในตลาดเงินคริปโตมากเป็นอันดับ 4 ของโลก 

ประเด็นที่รัฐบาลทหารกลัว จนไม่ออกใบรับรองผลการเรียน สวนทาง!! การสนับสนุนแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ

หลังจากรัฐบาลทหารเมียนมาทำการรัฐประหาร ก็ทำให้มีคนต้องการจะเดินทางไปเรียนหรือทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความปลอดภัยก็ดี หรือ เรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้คนว่างงานสูงขึ้นตาม

เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หนุ่มสาวเมียนมาเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ชีวิตในต่างแดนนั้น มันไม่ง่ายเหมือนในเมียนมา...

ในเมียนมาหลักฐานการศึกษาที่ใช้เป็นตัวบ่งสถานะจะเป็นใบรับรองที่ระบุเป็นภาษาพม่าว่า ได้จบหลักสูตรตามที่ทางกระทรวงศึกษากำหนดไว้ แต่ไม่มีการให้ใบเกรดหรือใบทรานสคริปต์ ซึ่งแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศในเอเซีย และใบทรานสคริปต์นี่แหละคือเอกสารสำคัญหรือเป็นใบเบิกทางที่ใช้ในการศึกษาต่อหรือทำงานตามสิ่งที่ไปเรียนมา

ในช่วงแรกที่มีการปิดไม่ให้ใบทรานสคริปต์หลายคนเข้าใจได้ว่าภายในรัฐบาลยังสับสน เจ้าหน้าที่หลายคนทำอารยะขัดขืน หรือ CDM (Civil Disobedient Movement) โดยการไม่ไปทำงาน 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากเดือนเป็นปี จากเหตุการณ์วุ่นวายจนเหตุการณ์สงบ คำสั่งลับที่ไม่มีการประกาศนี้ ก็ไม่มีท่าทีจะเปลี่ยนหรือยกเลิกไป

สุดท้ายจึงทำให้เกิดมิจฉาชีพขึ้น หลายคนเลือกซื้ออนาคตด้วยการติดต่อทำทรานสคริปต์ปลอม ในขณะที่หลายคนพยายามติดต่อสถาบันการศึกษาที่ตนสำเร็จมา แต่ผลตอบกลับมาคือ ทำได้แค่รอหากต้องการทรานสคริปต์กับสามารถออกอีเมลรับรองให้ว่าได้ผ่านการศึกษาวิชานั้นวิชานี้ ซึ่งในหลักสากลไม่สามารถนำมาใช้ในการสมัครศึกษาต่อหรือสมัครงานได้เลย

รัฐบาลทหารพม่า สั่งโจมตีทางอากาศ พิกัด สนง. ใหม่ กองกำลังต่อต้านรัฐบาล

รัฐบาลทหารพม่าสั่งโจมตีทางอากาศ กลางพิธีเปิดสำนักงานใหม่กองกำลังต่อต้านรัฐบาล ทำยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 50 ราย 

เมื่อวันอังคาร (11 เมษายน 66) สื่อพม่ารายงานข่าวด่วน การโจมตีทางอากาศของกองทัพรัฐบาลทหารพม่าในหมู่บ้านปาซี จี ในจังหวัด ซะไกง์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า เวลาประมาณ 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในขณะที่กำลังมีพิธีเปิดสำนักงานใหม่ของกลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน (People's Defence Force) ภายในศาลาว่าการชุมชนประจำหมู่บ้าน ความรุนแรงของการโจมตี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 53 คน ในจำนวนนั้นนี้ผู้หญิง 15 คน และเด็กๆ จำนวนหนึ่ง  

ทั้งนี้ กองกำลังป้องกันประชาชน เป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่จัดตั้งขึ้นหลังเหตุรัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีเป้าหมายเพื่อโจมตีกองทัพรัฐบาลทหารพม่า โดยมีสมาชิกเป็นประชาชนจากหลากหลายพื้นฐาน ทั้งแรงงาน, แม่บ้าน, นักธุรกิจ และ กลุ่มเยาวชน เน้นการใช้ยุทธวิธีแนวกองโจร ปัจจุบันเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งภายใต้การดูแลของ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่รัฐบาลของนายพล มิน อ่อง หล่าย ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรก่อการร้าย

สำหรับเหตุการณ์นี้ ทาง รัฐบาลทหารพม่า ได้ยืนยันการโจมตีทางอากาศในหมู่บ้าน ปาซี จี ว่าเกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีเป้าหมายที่ชุมชนของพลเรือน และผู้เสียชีวิตไม่ได้เกิดจากโจมตีของฝ่ายกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากแรงระเบิดของคลังเก็บดินปืนของกลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทำเหมืองภายในพื้นที่ คาดว่าน่าจะปะทุขึ้นจากแรงระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินรบของกองทัพ

ชาวบ้านผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เล่าว่า มีการทิ้งระเบิดลูกใหญ่กลางศาลาว่าการชุมชน ต่อด้วยการกราดยิงจากปืนกลลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ในขณะที่ชาวบ้านกำลังหนีออกจากอาคารที่ถูกทำลาย

ด้าน วอลเกอร์ เทิร์ค หัวหน้าฝ่ายสิทธิแห่งองค์การสหประชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกสยดสยองกับการโจมตีทางอากาศอันโหดร้ายครั้งนี้ เนื่องจากในจำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิต มีกลุ่มเด็กนักเรียนที่กำลังร้องรำบนเวที ในพิธีที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน และเรียกร้องให้หน่วยงานสากลไต่สวนหาผู้รับผิดชอบอย่างถึงที่สุด

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาประณามการโจมตีของกองทัพพม่าอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน และย้ำให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนพม่าทั่วประเทศโดยทันที 

การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดอีกครั้งของการใช้กำลังทางทหารกับพลเรือนพม่า และหากนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหาร ปี 2564 ในพม่า ที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน และมีประชาชนอีกราว 1.4 ล้านคนต้องละทิ้งที่อยู่อาศัย 

รัฐบาลทหาร 3 ชาติ ผุดไอเดียตั้ง ‘NATO แอฟริกา’ ผนึกกำลัง เสริมความมั่นคง ต้านทัพชาติตะวันตก

‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ น่าจะเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย ทุกสถานการณ์ และทุกประเทศจริงๆ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ แม้แต่ชาติมหาอำนาจที่สุดของโลก ก็ยังต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมพลังให้แก่ตน ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังมีปัญหาทางการเมืองอย่าง ‘ไนเจอร์’ ที่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาถึงความมั่นคงของรัฐบาลทหาร ที่เพิ่งผ่านการยึดอำนาจมาหมาดๆ และกำลังถูกกดดันจากกองกำลังของ Economic Community of West African States (ECOWAS) พันธมิตรประเทศแอฟริกาอื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ขู่ว่าจะยกกองกำลังเข้า (รุกราน) แทรกแซงการเมืองในไนเจอร์

ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวด้วยโมเดล ‘โลกล้อมไนเจอร์’ ผ่านการใช้กองกำลังจากพันธมิตรหลายชาติในกาฬทวีป คู่ขนานไปกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ที่ดูยังไง ไนเจอร์หัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีทางเอาชนะได้เลย

แต่ทว่าวันนี้ เราก็ได้เห็นการตอบโต้ที่น่าสนใจของกลุ่มประเทศในแถบซาเฮล ซึ่งตอนนี้กลายเป็น ‘แถบรัฐประหาร’ เนื่องจากมีการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนหลายครั้ง จนเป็นโดมิโนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่งจะฟอร์มพันธมิตร 3 ชาติ ‘ไนเจอร์-มาลี-บูร์กินา ฟาโซ’ ก่อตั้งเป็น ‘Alliance of Sahel States’ พันธมิตรแห่งสหรัฐซาเฮล เป็นการรวมตัวกันของรัฐบาลทหาร 3 ชาติ ที่ล้วนแต่ก่อตั้งผ่านกระบวนการรัฐประหารมาเหมือนกัน ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน อันประกอบด้วย

- พลเอก อับดุลราห์มาน ทะเชียนิ ผู้นำคณะทหารรัฐบาลของประเทศไนเจอร์ 
- พันเอก อัสซิมี โกยตา หัวหน้าคณะรัฐประหารของประเทศมาลี
- ร้อยเอก อิบราฮิม ทราโอเร หัวหน้าคณะรัฐประหาร และผู้นำเฉพาะกาลของประเทศบูร์กีนา ฟาโซ

โดยผู้นำทหารของทั้ง 3 ประเทศ ก็เห็นชอบที่จะจับมือกัน เพราะไหนๆ พวกเราก็เป็นพวกที่ใครๆ มองว่า ‘ฝนตก ขี้หมูไหล’ แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเสีย ซึ่งความเก๋ของพันธมิตร 3 ประสานแห่งซาเฮลนี้ มีการร่างข้อตกลงทางทหารร่วมกัน โดยการยกเอาโมเดลสนธิสัญญาของ ‘NATO’ มาแทบทั้งดุ้น

โดยเฉพาะข้อความในมาตรา 5 ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ที่ระบุว่า “หากมีการโจมตีชาติสมาชิกชาติใดก็ตาม ถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด ก็ปรากฏในมาตรา 6 ของข้อตกลงพันธมิตรสหรัฐซาเฮลเช่นกัน และรูปแบบการป้องกันแบบองค์รวม การจัดตั้งกองกำลังทางทหารร่วมกัน ก็คล้ายกับกองกำลัง NATO ที่ชาติสมาชิก สามารถยกกองทัพมาช่วยกันรบ หากมีการโจมตีดินแดนของชาติสมาชิก จะแตกต่างกันก็แค่ตอนนี้ NATO แห่งแอฟริกา ยังมีแค่ 3 ประเทศ”

ในตอนนี้การเคลื่อนไหวของทีมรัฐบาลทหาร 3 ชาติของภูมิภาคซาเฮล เป็นเรื่องที่น่าจับตาห่างๆ อย่างห่วงๆ เพราะจากปรากฏการณ์การเมืองโลกในยุคสมัยใหม่ หากประเทศใดมีการล้มล้างรัฐบาลพลเรือนด้วยการรัฐประหาร ประเทศนั้นมักถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลก จนกว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยอีกครั้ง

แต่สำหรับการฟอร์มพันธมิตรทีมรัฐประหารซาเฮลครั้งนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘เปิดหน้ารัฐบาลทหาร’ แบบไม่ต้องกระมิด กระเมี้ยนกันอีกแล้ว ที่ทำให้สถานภาพของรัฐบาลรักษาการณ์มีความมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะศักยภาพในการต่อกรกับกองกำลังต่างชาติ ที่ต้องการเข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศ

และหากโมเดล ‘NATO แห่งแอฟริกา’ สามารถรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลทหารของ 3 พันธมิตรได้จริง และอาจลากเอาชาติอื่นๆใน ‘แถบรัฐประหาร’ ทั้งหมดมารวมกลุ่มได้อีก กลายเป็นกองกำลังที่เป็นปึกแผ่น แข็งแกร่งที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคนี้ก็เป็นไปได้ และเท่ากับดับฝันฝรั่งเศสที่อาจต้องสูญเสียอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ไปตลอดกาลด้วย

แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ การตั้งอยู่ได้ของ NATO แอฟริกา อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรัฐประหารในทวีปนี้ให้ขยายวงกว้างออกไปได้เรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศในแอฟริกาทั้งหมด

อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย ในประเทศที่สูญเสียรัฐบาลพลเรือนจากการยึดอำนาจได้ สิ่งที่จะตามมาคือ กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นชอบกับรัฐบาลทหาร จะถูกกวาดล้าง บีบให้พวกเขาต้องลงใต้ดิน และกลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วยความรุนแรงเช่นกัน และมีแนวโน้มจะยกระดับเป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่เป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้ ให้เลวร้ายลงไปอีกนั่นเอง 
ถึงจะดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในซาเฮลยังน่าเป็นห่วง และคาดเดาอนาคตได้ยาก กับดินแดนคืบก็ทะเลทราย ศอกก็ทะเลทราย พอลองได้หลงแล้ว หาทางออกลำบากจริงๆ

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ‘รัฐบาลทหาร’ ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาสนามม้า’ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ เป็นวันสำคัญของชาติ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top