Thursday, 25 April 2024
บิ๊กป้อม

‘บิ๊กป้อม’ จับตาพายุเข้า 8-10 ต.ค. ชี้ เป็นผลดีเข้าด้านเหนือ ย้ำช่วยปชช.เต็มที่ โต้ ไม่ใช่การหาเสียง

เมื่อ วันที่ 5 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำที่จะมีพายุเข้าระหว่างวันที่ 8-10ต.ค.นี้ ว่า เราระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ขณะนี้อธิบดีกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และในวันที่ 7ต.ค.นี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำในเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 50 เซนติเมตร สำหรับพายุที่มีการแจ้งเตือนว่าจะเข้ามาทางด้านเหนือ ซึ่งเป็นผลดีกับเราที่จะเข้ามาทางด้านเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ก็จะได้รับน้ำเก็บไว้ ขณะที่ภาคกลางจะได้รับอิทธิพลแค่ห่างๆ ไม่เท่าไหร่ ทั้งนี้เราแจ้งเตือนประชาชนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เตรียมการไว้แล้ว โดยจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากน้ำท่วม

“ลุงตู่ - ลุงป้อม” ห่วงใยชาวแฟลตดินแดง มอบ "รมว.เฮ้ง" ส่ง ทปษ.รมว. แจกข้าวกล่องสู้โควิด-19

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 15.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่มอบข้าวกล่อง ครัวลุงตู่ ลุงป้อม ซึ่งได้ให้แม่ค้าในชุมชนได้ทำข้าวกล่องในมื้อเย็น เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ จำนวน 1,500 กล่อง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านชุมชนดินแดงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 3 แห่ง ๆ ได้แก่

จุดแรกที่โครงการฟื้นฟูเมืองดินแดงระยะที่ 1 (ดินแดงแปลงจี) หลังมัสยิดมูฮายีรีน จำนวน 400 กล่อง โดยมี นายสมัย แสงชาติ ประธานคณะกรรมการชุมชนโครงการฟื้นฟูเมืองดินแดงระยะที่ 1 (ดินแดงแปลงจี) จุดที่สอง ที่บริเวณสนามอาคาร 8 ชั้น แยกประชาสงเคราะห์ ตรงข้ามโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ จำนวน 400 กล่อง โดยมี นางศิริเพ็ญ สาปณ ประธานชุมชนดินแดง 1 เป็นผู้รับมอบ และจุดที่สาม ที่บริเวณลานกีฬา 51 ซอยประชาสงเคราะห์ 11 ใกล้ตลาดเคหะชุมชนดินแดง 2 จำนวน 700 กล่อง โดยมี นายวิชาญ เขียวแก้ว ประธานคณะกรรมการเคหะชุมชนดินแดง 2 และชาวแฟลตดินแดงร่วมรับมอบ

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง และชาวแฟลตดินแดงที่ไม่มีรายได้เนื่องจากผลกระทบโควิด จึงได้สั่งการให้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้แม่ค้าในชุมชนได้ทำข้าวกล่องในมื้อเย็น เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ จำนวน 1,500 กล่อง ในวันนี้ท่าน รมว.แรงงาน จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่มอบข้าวกล่องให้แก่ชาวบ้านชุมชนดินแดงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมื้อเย็น รวมทั้งสิ้น 3 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. จนถึงวันที่ 12 ต.ค.64 เป็นเวลา 27 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว

 

“ประวิตร” สั่ง หน่วยงานมั่นคงดูแลความปลอดภัย รับ “เปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ว่า  ถือว่าดี เราจะได้ทำงานโดยตนสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลหมดแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา 

 

“ประวิตร” สั่ง เร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาท้องถิ่น เห็นชอบ แนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน กรณีฉุกเฉินปี 65โดยยึดปชช.เป็นศูนย์กลาง  

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2564 

โดยที่ประชุมเห็นชอบนโยบาย มาตรการและแนวทางการกำกับ ติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคประจำปี65 คือ 1.นโยบาย มาตรการและแนวทางในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค 2.การลงพื้นที่เพื่อกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการของรองนายกฯและ3.การรายงานผลการดำเนินงาน และกรอบงบประมาณ กรณีฉุกเฉินฯจำเป็น เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนประจำปี65 โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการบูรณาการ และยึดพื้นที่ รวมทั้งประชาชนเป็นหลัก และรับทราบรายงาน ผลการตรวจติดตาม และประเมินผล การดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดประจำปี64 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย และรับทราบผลการกำกับ ติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคของรองนายกรัฐมนตรีประจำปี64 ซึ่งมีทั้งหมด 899 โครงการ ในการพัฒนาพื้นที่ และท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชน 

“ประวิตร” สั่ง ทุกหน่วย จับตาพายุ “หมาเหล่า” และน้ำทะเลหนุน หวั่นกระทบแม่นำ้สายหลัก สั่ง สทนช.ปรับการระบายน้ำช่วย 15 จว.อุทกภัย

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นาบกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ 15 จว.ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย และกังวลพายุลูก ใหม่ซ้ำเติม ขณะที่ฝนยังมากต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวัน ออกและภาคใต้ และน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่าง 23-27 ต.ค.

โดยพล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช.ติดตามพยากรณ์สภาพอากาศและพายุ “หมาเหล่า”โดยให้ประเมินสถานการณ์น้ำเข้าเขื่อน และพิจารณาปรับการระบาย น้ำลงแม่น้ำสายหลัก ไม่ให้น้ำล้นตลิ่งกระทบพื้นที่โดยรอบ สำหรับการบริหารจัดการ อุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน ขอให้ประสานกรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยาช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำใน แม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ จว.สุพรรณบุรีและนครปฐม

ทั้งนี้ภาพรวม การช่วยเหลือน้ำท่วมของ กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพปัจจุบัน ยังคง สนับสนุนส่วนราชการต่างๆและทำงานร่วมกับจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องมา โดยยังคงหมุนเวียนกำลังทหารกว่า 15,000 นาย รวมทั้งเครื่องมือช่างและยานพาหนะกว่า 900 คัน กระจายลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งการอพยพประชาชน ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก การขนย้ายสัตว์เลี้ยงจำนวนมากออกจากพื้นที่น้ำท่วมเข้าพื้นที่ปลอดภัย  และได้เร่งติดตั้งสะพานทางทหารและซ่อมแซมสะพานในเส้นทางที่ถูกตัดขาดกว่า 10 แห่งในพื้นที่ จว.พะเยา เพชรบูรณ์และ นครราชสีมา  ร่วมไปกับการจัดยานพาหนะอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนให้สามารถสัญจรได้ปกติ

“ลุงป้อม” ห่วง! กลุ่มเปราะบาง - คนพิการ สั่งแรงงานร่วมมือเอกชน จ้างงานคนพิการทั่วประเทศ

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่าง กรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ 7 แห่ง โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมงาน และมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ยังขาดโอกาส จึงมอบหมายนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาส ให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล และเร่งดำเนินการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพ และความต้องการทำงาน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รักษาความปลอดภัยการ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มบริษัทชัยรัชการ และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ โดยจ้างงานคนพิการ จำนวน 329 อัตรา

“พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ในอัตรา 114,245  บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง โดยที่ผ่านมามีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ปีละกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อนายจ้าง/สถานประกอบการที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คนพิการจะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้มอบหมายกรมการจัดหางานโน้มน้าวสถานประกอบการเพื่อเปลี่ยนมาจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยใช้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการ เงินก้อนเดิมที่ถูกนำส่งกองทุนฯ จะเปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้าน คนพิการมีรายได้จากบริษัทโดยตรง ซึ่งจากความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ ยืนยันการจับคู่ (Matching) พร้อมทำงานแล้ว 568 อัตรา จากเป้าหมาย 1,000 อัตรา แบ่งเป็น จากสถานประกอบการทั้ง 7 แห่งที่ร่วมทำ MoU จำนวน 329 อัตรา และสถานประกอบการเอกชนอื่นๆทั่วประเทศที่ให้ตำแหน่งรวม 239 อัตรา ทั้งหมดจะทำสัญญาจ้าง ภายใน 31 ธันวาคม 2564 และเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 มกราคม 2565 วิธีนี้คนพิการจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถรับประโยชน์ได้โดยตรง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางาน ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น เทศบาล 

 

'บิ๊กป้อม' นั่งหัวโต๊ะ วางรากฐานขยายพื้นที่เศรษฐกิจ-พัฒนาเมืองต้นแบบ ในพื้นที่ จชต. มุ่งเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตลดเงื่อนไขความรุนแรง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่ จชต.ในทุกมิติ 

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า โดยที่ประชุมรับทราบ การถ่ายโอนภารกิจจัดจ้างวิทยากรผู้สอนภาษาไทยจาก ศอ.บต.ให้กับ บก.ตชด.ตั้งแต่ปี 66 หลังพบเด็กๆในวัยเรียนจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือและมีปัญหาอ่านเขียนไม่ได้  และเห็นชอบแนวทางมอบอำนาจให้เลขา ศอ.บต. 

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ได้แก่ การช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่ จชต.ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้วกว่า 10,000 คน และจะเร่งพัฒนาอีก 7,000 คนให้แล้วเสร็จใน มี.ค. 65 แยก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสากรรมนอกพื้นที่และผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานเกษตรสวนปาล์มในมาเลเซีย  สำหรับการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบไม้ร่วงชนิดใหม่ในยางพารารวม 308,351 ไร่ การยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 331 ล้านบาท เร่งศึกษาแก้ปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่และพัฒนาอาชีพชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบในการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่นำร่องและพื้นที่ขยายผลอีก 22,000 ไร่ควบคู่กันไป

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กรอบการบูรณาการเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ระบบ “ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ พร้อมทั้งอนุมัติหลักการโครงการขยายพื้นที่ปลูกไม้และไม้ผลเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จชต. เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเริ่มจากจัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ “หนึ่งตำบล หนึ่งพื้นที่สาธารณะ” และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่อเนื่องกันไป  

 พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการและกรอบวงเงิน โครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จว.ยะลา “Amazean Jungle Trial” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาไปสู่ระดับนานาชาติ  และ เห็นชอบหลักการและกรอบงบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินเรือและลดปัญหาผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมต่อเนื่องที่ผ่านมา รวมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุน โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบระยะเร่งด่วน เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จชต.เป็นกรณีเร่งด่วน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย - มาเลเซีย ( 9 ด่าน ) เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ

 พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้ขอบคุณ ศอ.บต. และทุกส่วนราชการที่ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ จชต. คืบหน้าอย่างมากต่อเนื่องมา ขอย้ำเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญ โดยขอให้ ศอ.บต.ขยายผลเร่งด่วนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กและโรงเรียนตาดีกา เพื่อโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาไทยและการนำไปใช้ดำเนินชีวิตในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมร่วมกันได้อย่างเหมาะสม และได้กำชับให้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และ ศอ.บต. ใช้โอกาสนี้เข้าไปจัดระบบ ปรับปรุงระเบียบด้านแรงงานและอำนวยความสะดวกการทำงานในมาเลเซีย รองรับการเปิดประเทศในต้น พ.ย. 

กรุงเทพฯ - "ลุงป้อม" ห่วงน้ำท่วมขังเสีย สั่งเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ เร่งวางแผนแก้น้ำเค็ม - น้ำท่วม - น้ำแล้งซ้ำซาก

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อ  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/64 ณ ห้องประชุม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ รวมทั้งติดตามบริหารจัดการสถานการณ์ท่วมและน้ำแล้งในภาพรวม

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำปัจจุบัน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งในภาพรวมยังสามารถควบคุม โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ระหว่าง ต.ค.- ธ.ค.64 มีแนวโน้มลดลง เว้นภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากฤดูฝนที่กำลังมาถึง โดยมีโอกาสสูงในการเกิดพายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 725 ตำบล 43,495 หมู่บ้านใน 16 จว. ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัย โดยได้ขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำพนังกั้นน้ำและก่อสร้างทางระบายน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ได้พิจารณาวางแผนจากการคาดการณ์น้ำต้นทุน ปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง พบความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใน 5 จว. 9 อำเภอ 25 ตำบล มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำแล้งด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน 11 จว. ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งกำหนดมาตรการรองรับ ทั้งการเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยง การเติมน้ำ การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง การวางแผนเพาะปลูกพืช การเตรียมน้ำสำรองในพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมทั้งการติดตามประเมินผล

พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำแสดงความห่วงใยถึงประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกำชับ สทนช.บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์สภาพอากาศที่อาจพัฒนาก่อตัวเป็นพายุซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมทั้งให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลำน้ำสายหลักตามแผนและสถานการณ์ ทั้งนี้ให้นำจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ท่วมขังนานและเกิดการเน่าเสียหวั่นกระทบสร้างปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ขอให้ทบทวนปรับปรุงและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกัน และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่เคยเกิดปัญหา เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

พรรคพลังประชารัฐ ปรับแผนส่งผู้สมัครชิงผู้ว่ากทม. โยน 3 ชื่อ 'บิ๊กเนม' ให้ 'บิ๊กป้อม' ตัดสินใจ

‘บิ๊กป้อม’ เรียกก๊วน ‘ธรรมนัส -วิรัช’ ถกด่วนเคลียร์ปมกดดัน ‘บิ๊กแป๊ะ’ จนถอนตัวชิงผู้ว่าฯ กทม. เผยชงแผนใหม่ตื้อหาผู้สมัครในนามพรรคส่งลงสนามสู้กับ ‘ชัชชาติ’ พร้อมโยนตัวเลือกใหม่ 3 ชื่อบิ๊กเนม ‘พีระพันธุ์ - ดร.เอ้-ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ให้หัวหน้าตัดสินใจ

3 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมี ส.ส. และสมาชิกหลายคนได้เดินทางกลับไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ได้ออกจากพรรคตั้งแต่เวลา 16.00 น. แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่า ขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร ได้กลับเข้ามาในพรรคอีกครั้ง พร้อมเรียกแกนนำ และ ส.ส. บางคน เข้าหารือ

สำหรับ ส.ส. ส่วนใหญ่ที่เข้าหารือเป็น ส.ส. ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และ เลขาธิการพรรค และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค อาทิ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิพรรค, นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค, นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี, นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส, นายบุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค, นายจิรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง

ข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่ได้มีการหารือครั้งนี้ ได้พูดถึงการถอนตัวไม่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมีการยืนยันกับ พล.อ.ประวิตร ว่า ไม่ได้มีการบีบหรือกดดัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ แต่ได้มีการเสนอว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรจะต้องส่งในนาม พปชร. เพราะ ส.ก. กับ ส.ส. ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสนามเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มี ส.ก. ของพรรคเช่นเดียวกัน และถึงเวลาที่คัดสรรบุคคลลงแต่ละพื้นที่ได้แล้ว ส่วนผู้สมัคร ส.ก. 50 คน ในทีมของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ หลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนตัวแล้ว ก็สามารถกลับมาร่วมงานกับ พปชร.ได้

อย่างไรก็ตามการส่ง ส.ก. ในนาม พปชร. ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ห้ามมิให้ข้าราชการการเมือง หรือ ส.ส. ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครหรือเลือกตั้งท้องถิ่น

“บิ๊กป้อม” เห็นใจชาวนาเดือดร้อน เผย รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ให้งบประมาณดูแล

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพปชร.ให้สัมภาษณ์ถึงราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำ ว่า เห็นใจเกษตรกร เห็นใจชาวนาทุกคนที่เดือดร้อน ตอนนี้พยายามแก้ไขอยู่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการ โดยรัฐบาลให้งบประมาณในการดูแล และเกษตรกรคงจะได้รับเร็วๆนี้

     


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top