Sunday, 5 May 2024
บิ๊กป้อม

พล.อ.ประวิตร  ติดตามแผน แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ  สั่งเร่งระบายน้ำ  จากภาวะน้ำทะเลหนุน  ลดผลกระทบ ปชช.  ปรับแผนแม่บท เพิ่ม"โคกหนองนาโมเดล" เสริมแก้น้ำท่วม/เก็บน้ำสำรอง  เน้น ประชาสัมพันธ์ ให้ทั่วถึง

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่าเวลา 10.00น.  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564  ณ ห้องประชุม 301  ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงาน ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี64 ที่ผ่านมา อาทิ การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ จำนวน 2,312 แห่ง(99%) และสถานีโทรมาตร จำนวน 4,209 แห่ง(89%) ,การขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา รวม 5,319,444 ตันในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก และการขุดเจาะบ่อบาดาล ก่อสร้างระบบกระจายน้ำ จำนวน 2,498 บ่อ เติมน้ำใต้ดิน จำนวน 998 แห่ง เป็นต้น  และได้รับทราบความก้าวหน้า โครงการบริหารจัดการน้ำระยะยาว อย่างยั่งยืน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้เร่งรัด สทนช. ให้บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อน แผนงานให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงให้ศึกษาการแก้ปัญหาการป้องกันน้ำเค็มในปี65 ด้วย  นอกจากนั้นที่ประชุม ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงกรอบแนวทางแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยให้มีการเพิ่มเติมแนวทางการพัฒนา"โคกหนองนาโมเดล" เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำรอง และใช้เก็บน้ำเมื่อประสบภัยน้ำท่วม  ต่อมาที่ประชุมได้มีการพิจารณา รายงานผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี(ช่วง2561-2564) และรายงานตัวชี้วัดความมั่นคงน้ำ พร้อมทั้ง ได้เห็นชอบให้ใช้ระบบ Thai Water Assessment  เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำโดยมอบให้หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องรายงานผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ ธ.ค.64 เป็นต้นไป

“ประวิตร” ลงพท.นครสวรรค์ ดูระบบระบายน้ำ พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน พร้อมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาบึงบอระเพ็ด และการช่วยเหลือน้ำท่วม

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์  รับฟังการบรรยายสรุปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาพรวม จากส่วนราชการต่างๆ ณ ศาลากลางจังหวัด เพื่อติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบน และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ จ.นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ด้านทรัพยากรนำ้ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา และแหล่งน้ำธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคในช่วงฝนทิ้งช่วงในคราวเดียวกัน 

พล.อ.ประวิตร จึงได้กำชับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และ จ.นครสวรรค์ ให้การสนับสนุน สทนช. เร่งขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ ให้เสร็จสิ้นทันรองรับสถานการณ์น้ำหลากในปีถัดไป  

'พล.อ.ประวิตร'  ลงพื้นที่ สกลนคร  ตรวจติดตาม แก้ปัญหาน้ำ ระยะสั้น/ระยะยาว  สั่งเร่งพัฒนา"บึงหนองหาร" หล่อเลี้ยงชาวสกลนคร  กำชับ สนทช./จังหวัด  แก้น้ำท่วมซ้ำซาก ลดผลกระทบ ปชช. ให้รวดเร็ว

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.สกลนคร โดยมี นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์  ผวจ.สกลนคร ให้การต้อนรับ

พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางถึง ห้องประชุม ภูริทัตโต  อาคารโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ และแผนหลักการพัฒนา/ฟื้นฟู บึงหนองหาร จาก สทนช. ทั้งนี้หนองหาร นับเป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 77,016 ไร่ เป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำ ไหลลงสู่แม่น้ำโขง  ประชาชนในพื้นที่โดยรอบหนองหาร ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ 33 ตำบลในเขตจ.สกลนคร และจ.นครพนม  ราษฎรได้ใช้ประโยชน์รวม 80,750 ครัวเรือน  

พล.อ.ประวิตรและคณะ ได้รับทราบความคืบหน้า การดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่การบริหารจัดการทรัพยากรประมงและนิเวศสิ่งแวดล้อม จากกรมประมง ,การบริหารจัดการน้ำในหนองหาร การชะลอ   หน่วง กักเก็บน้ำ จากกรมชลประทาน ,การบรรเทาอุทกภัย การปรับภูมิทัศน์ แนวเขตการท่องเที่ยว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง  รวมทั้งการกำหนดแนวเขตหนองหาร โดยกรมที่ดิน ซึ่งปัจจุบันได้มีการสำรวจรังวัดปักหลักเขตแล้วได้ระยะโดยรอบ 81.25 ก.ม. มีเนื้อที่ 76,322-0-38 ไร่และรับทราบ การจัดการน้ำเสียเทศบาลสกลนคร และชุมชนรอบหนองหาร จาก ก.ทรัพย์ฯ ประกอบด้วย งานหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1)การบำบัดและฟื้นฟูคุณภาพน้ำ,2)การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ,3)การสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและ 4)การวิจัยและนวัตกรรม โดยได้ร่วมกับ ม.เกษตร วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ในการดำเนินงาน

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวมอบนโยบาย โดยกำชับให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เร่งรัดโครงการทั้งระยะสั้น จาก10 มาตรการรับมือฤดูฝน ซึ่งมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และโครงการระยะยาวที่รัฐบาลกำหนดในแผนแม่บทฯ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหา อย่างยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัด ,กรมชลประทาน และกรมประมง ร่วมมือกันบริหารจัดการหนองหาร ในการรับมือน้ำท่วม และใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อย่างทั่วถึง  เร่งขับเคลื่อนปรับปรุง ฟื้นฟู หนองหารให้ได้จริงจังตามแผนงาน เพื่อหล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่จ.สกลนคร รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง และพัฒนากลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด อีกครั้งหนึ่ง ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ อย่างต่อเนื่อง  

“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ "จ.ระนองและจ.กระบี่” กำชับหน่วยมั่นคง เข้มสกัดแรงงานทะลักเข้าเมือง พร้อมเร่งขับเคลื่อนจัดที่ดินทำกินและดึงภาคประชาชนร่วมแก้ปัญหา  

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ตรวจติดตามความคืบหน้างานสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.กระบี่ โดยรับฟังการบรรยายสรุปจากหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ณ ศาลากลาง จ.ระนอง ถึงการปฏิบัติงานในภาพรวม ด้านความมั่นคง สถานการณ์ด้านแรงงาน ยาเสพติดและมาตรการควบคุมป้องกันโรค 

โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวชื่นชมกับแนวคิด “ระนองโมเดล” ในความเข้มแข็งของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่อาศัยการมีส่วนร่วมและความใส่ใจร่วมกันของกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนภายใต้การนำของผู้นำท้องถิ่นระดับหมู่บ้าน ซึ่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว  พร้อมย้ำว่า  จ.ระนอง เป็นเส้นทางผ่านยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมืองทั้งทางบกและทางทะเล  จึงต้องคุมเข้มเฝ้าระวังและเข้มงวดกวดขัน เน้นงานเชิงรุกกับการลักลอบเข้าเมือง การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมทั้งการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง  

โดยให้บูรณาการทำงานร่วมกันทั้งจุดผ่านแดน จุดผ่อนปรนและช่องทางธรรมชาติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  พร้อมทั้งย้ำการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล ขอให้เป็นไปตามหลักสากลบนพื้นฐานของกฎหมายและพันธกิจระหว่างประเทศ คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ผลกระทบต่อเด็ก สตรีและคนป่วยเป็นอันดับแรก 

ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเป็นห่วงการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนและแรงงาน โดยขอให้สร้างการรับรู้และกระจายวัคซีนลงไปอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงและผู้ใช้แรงงาน  พร้อมย้ำว่า การลักลอบเข้าเมืองและแรงงานผิดกฎหมายยังถือเป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ขอให้สร้างความรู้ความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการ ให้การสนับสนุนมาตรการควบคุมโรคที่กำหนดไปพร้อมๆกัน 

 

“บิ๊กป้อม” สั่งเข้ม กวาดล้างค้ามนุษย์ ตั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ปธ.คณะทำงานป้องกันปราบปรามค้ามนุษย์  “ตั้งศูนย์คัดแยก เยียวยาผู้เสียหาย” ลั่น ฟันจนท.รัฐ มีเอี่ยวโดนสถานหนัก  

ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม และคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551  เพื่อนำทรัพย์สินที่อายัดในความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเห็นชอบให้จัดตั้ง “ศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย” ( ดอนเมือง )เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  รวมทั้งแต่งตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร.เป็นประธานคณะทำงานประสานและติดตามงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  

และรับทราบความคืบหน้าผลประชุมร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯโดยสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ มีความเห็นว่าไทยควรมีการปรับปรุงด้านแรงงานบังคับให้ผู้ตรวจแรงงาน มีความรู้ความเข้าใจการดำเนินคดีและส่งต่อคดีให้ตำรวจมากขึ้น เร่งปรับปรุงระบบคัดแยกผู้เสียหาย และความคืบหน้าการจัดทำรายงานการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 64 (เม.ย-ก.ย.64)และผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากรับทราบผลการประเมินในรายงานสถานการณ์และการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดปี 2020 ในภาพรวม ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง ยังมีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางอินเตอร์เน็ต และพบเด็กไทยยังถูกใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ รวมทั้งยังไม่สามารถบรรลุมาตรฐานระหว่างประเทศด้านอายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงาน  พร้อมกันนี้ได้รับทราบ ผลจากการที่คณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐ ได้เข้าเยี่ยมชม สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.ปทุมธานี มีท่าทีพึงพอใจ และสนใจผลการปราบปรามสื่อลามกอนาจารเด็กและการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงบนสื่อออนไลน์ พร้อมชื่นชมต่อความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายของไทยในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา 

จากนั้นพล.อ.ประวิตร เป็นมีการประชุมต่อเนื่อง โดยได้พิจารณา กรณี ร้าน เดอะเบสท์ พื้นที่สอบสวน สน.บางซื่อ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์  ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษ โดยให้นำเทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษเข้ามาสอบสวนและให้แจ้ง ปปช.ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ และให้ สตช.ดำเนินการทางวินัยเต็มอำนาจ

“บิ๊กป้อม” โบ้ย ลต.ให้ถามปปช.  ปัด พปชร.ได้เปรียบบัตรสองใบ

ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการเลื่อนจัดงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล จากวันที่ 26พ.ย. ไปเป็นวันที่ 3 ธ.ค. ว่าเพราะส.ส.ติดธุระเยอะ และเกี่ยวกับการประชุมสภาฯเดี๋ยวจะไม่พร้อมกัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นบัตรเลือกตั้ง2ใบ พรรคพลังประชารัฐ ประเมินภายในหรือไม่ว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ สองใบก็ต้องสองใบ ก็ต้องเลือกกันไป ก็แล้วแต่ประชาชน  เมื่อถามว่ามีการวิเคราะห์ว่าพรรคที่ได้เปรียบในการเลือกตั้งคือพรรคขนาดใหญ่ เช่น พปชร. และพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะไปรู้ได้อย่างไร ว่าได้เปรียบหรือไม่ได้เปรียบ ต้องไปถามประชาชนว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

'บิ๊กป้อม' ถก คกก.ป้องกัน-ลดอุบัติเหตุ เตรียมแผนรับมือเทศกาลหยุดยาว 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ครั้งที่ 2/2564 เตรียมความพร้อมแผนรองรับการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสของประชาชน 

โดยที่ประชุมรับทราบ การบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติ ช่วงเทศกาลและช่วงที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่เกิน 12 คน ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 และให้มีการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด อำเภอ ที่เน้นย้ำ การจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลถอดบทเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และติดตามการดำเนินงานตามมติ ครม.ในประเด็นสำคัญ

ได้แก่ การผลักดันให้สวมหมวกนิรภัยและการแก้ปัญหาขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด การกำหนดแนวทางในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่การเร่งรัดนำระบบตัดแต้มใบอนุญาตขับขี่มาใช้การปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับขี่รถทุกประเภท การจัดทำแนวทางใช้งบประมาณท้องถิ่น เพื่อความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมและความตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางถนน ทั้งนี้จะเริ่มระบบตัดแต้มตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 กับกลุ่มรถรับจ้างและรถสาธารณะก่อนเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาและเห็นชอบ แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด ปี 2565 โดยมีสาระสำคัญ ร่วมรณรงค์ “ชีวิตใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ที่มุ่งเน้นลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ช่วง ช่วงรณรงค์ประชาสัมพันธ์ก่อน 7 วัน และช่วงดำเนินการ คือ 7 วันคุมเข้มและ อีก 7 วันหลังคุมเข้ม โดยประเมินความเสี่ยงระดับพื้นที่เป็น 4 ระดับสี กำหนดตัวชี้วัด ทั้งระดับภาพรวม ระดับหน่วยและระดับพื้นที่ ภายใต้ 5 มาตรการด้านต่างๆ

‘ศรีสุวรรณ’ จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ‘บิ๊กป้อม’ กรณีไร้ธงชาติไทย บนเวทีแบดฯ ชิงแชมป์โลก

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ ‘บาส-เดชาพล’ และ ‘ปอป้อ-ทรัพย์สิรี’ คว้าแชมป์โลกแบดมินตันคู่ผสม จนสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนไทยคู่แรกที่ได้แชมป์โลกแบดมินตันได้สำเร็จ ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลก เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจและเป็นเกียรติภูมิของชาติเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าในการทำพิธีมอบรางวัลและเชิญธงชาติผู้ชนะ กลับไม่มีการเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาแต่อย่างใด กลับต้องใช้ธงที่เขียนว่า BAT (Badminton Association of Thailand) ของสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ขึ้นสู่ยอดเสาแทนนั้น

กรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากการทำผิดกฎขององค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ WADA ที่เคยมีคำเตือนมายังไทยถึงบทลงโทษตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมาว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับกฎหรือ Code ของ WADA ไทยจะถูกแบนห้ามจัดการแข่งขันทุกชนิดกีฬาในระดับนานาชาติ ส่วนนักกีฬาแม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้แข่งขันในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลกได้ตามปกติ แต่จะไม่สามารถใช้ธงประจำชาติแข่งขันในรายการที่ IOC และ WADA เป็นผู้ดูแลจัดการแข่งขันได้

ทั้งนี้กฎใหม่ของ WADA มีการระบุเรื่อง "นิยามการระบุโทษ" โดยกล่าวว่า โค้ชคนไหนที่มีส่วนกับการโด๊ปในประเทศนั้น ต้องมีบทลงโทษทางกฎหมายด้วย และห้ามทำงานเกี่ยวข้องกับกีฬาโดยสิ้นเชิง แต่กฎหมายของไทยใน พรบ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา 2555 กลับไม่มีในจุดนี้ อีกทั้งองค์การต่อต้านสารกระตุ้นไทย (DCAT) ตามกฎหมายยังขึ้นตรงอยู่กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกท้วงติงด้วย เพราะในมุมของ WADA ต้องการให้ DCAT เป็นองค์กรเอกเทศ ไม่สังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวกับกีฬาของประเทศด้วย

'บิ๊กป้อม' เผยร่างแก้กม.ปลดแบน 'วาด้า' เสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบ ก่อนส่งให้สภาฯ เคาะ

21 ธ.ค. 64 - พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายสารต้องห้ามกีฬา เพื่อยื่นเรื่องให้ วาด้า ปลดแบนประเทศไทย ว่า ตอนนี้มีการร่างกฎหมายเสร็จแล้วอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามที่วาด้าต้องการ

‘นายกรัฐมนตรี’ พร้อม ‘รองนายกฯ’ ห่วงใย! กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดปรับปรุงกฎหมาย “ระบบตัดคะแนน - เพิ่มโทษฝ่าฝืน” พร้อมสำรวจปรับปรุงพื้นที่ทางม้าลาย เพิ่มความปลอดภัยเพื่อปชช.!!

25 ม.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (หรือ นปถ.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนนและคนเดินเท้า จึงได้สั่งการให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้มีสภาพบังคับใช้กับผู้ฝ่าฝืนโดยเด็ดขาด เพื่อเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางข้ามถนน (ทางม้าลาย)

โดยในวันที่ 28 ม.ค.65 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมคณะลงสำรวจพื้นที่ทางข้ามถนน (ทางม้าลาย) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เก็บรวบรวมข้อมูล และจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้นทั่วประเทศ 

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ ใช้ถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ยกร่างระเบียบระบบตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะอนุมัติและบังคับใช้ได้ในเดือนกันยายน พ.ศ.2565 และมีการเสนอเพิ่มโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติประกาศใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top