Friday, 17 May 2024
ทวิตเตอร์

‘อีลอน มัสก์’ เสนอรับดอจคอยน์จ่ายค่าทวิตเตอร์บลู พร้อมเล็งปรับสนง.ใหญ่ทวิตเตอร์ ให้คนไร้บ้านใช้พักพิง

นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ ซึ่งขณะนี้ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทวิตเตอร์ ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริการบนทวิตเตอร์ บลู (Twitter Blue) ซึ่งเปิดตัวในเดือนก.ค.ปี 2564 โดยปัจจุบันให้บริการในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ สำนักข่าวสกายนิวส์ของอังกฤษได้ออกมาเปิดเผยว่า บริการทวิตเตอร์ บลู ซึ่งสนนราคาค่าบริการ 2.99 ดอลลาร์ต่อเดือนนั้น ทำให้เหล่าผู้ใช้งานสามารถแก้ไขข้อความได้ 30 วินาที สามารถจัดเก็บและจัดหมวดหมู่ข้อความได้ ตลอดจนรวบรวมข้อความต่อกันจนเป็นข้อความยาว ๆ พร้อมจัดรูปแบบข้อความให้อ่านง่ายขึ้น

แต่ขณะนี้ นายมัสก์ได้ออกมาเสนอให้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบริการบนทวิตเตอร์ บลู หลังเพิ่งเปิดตัวเรื่องการถือหุ้นทวิตเตอร์ 9.2% เพียงไม่กี่วัน รวมถึง การลดราคาค่าบริการและการอนุญาตให้ผู้ใช้งานชำระค่าบริการด้วยเหรียญดอจคอยน์และสกุลเงินท้องถิ่น

ปิดดีล!! 'อีลอน มัสก์' ซื้อ Twitter 44,000 ล้านเหรียญฯ คาดสิ่งแรกที่จะทำ 'กำจัดบัญชีหลุม'

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ (Twitter) ด้วยมูลค่า 54.20 ดอลลาร์ฯ ต่อหุ้น รวม 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,500,000 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนเมษายน อีลอน มัสก์ เคยมีข่าวการเข้าซื้อหุ้น 9.2% ของบริษัททวิตเตอร์และกลายเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดของบริษัท โดยไม่เข้าร่วมนั่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัท ซึ่งในขณะนั้นผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากอีลอน มัสก์ กำลังมีแผนการใหญ่มากกว่าเข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงอย่างเดียว 

ในช่วงกลางเดือนเมษายน อีลอน มัสก์ กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อเขาเสนอซื้อกิจการทวิตเตอร์ (Twitter) ด้วยเงินสดมูลค่ากว่า 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,400,000 ล้านบาท แต่ทางกรรมการผู้บริหารบริษัทแสดงท่าทีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวและออกมาตรการยาพิษ หรือ Poison Pill เพื่อสกัดไม่ให้ อีลอน มัสก์ ซื้อหุ้นของทวิตเตอร์สำเร็จ

ความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ในครั้งนี้ถูกเปิดเผยโดยคณะกรรมการบริหารบริษัททวิตเตอร์ว่าทางบริษัทได้พิจารณาอย่างละเอียดก่อนขายกิจการทวิตเตอร์ให้อีลอน มัสก์และเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่ดีสำหรับทวิตเตอร์และผู้ใช้งาน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นของบริษัท 

โดยปัจจุบันอีลอน มัสก์เป็นหนึ่งในผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามอันดับต้น ๆ ของโลกจำนวนมากกว่า 84 ล้านคน และมักเคลื่อนไหวด้วยการโพสต์ทวีตข้อความต่าง ๆ บ่อยครั้งอย่างตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตามประเด็นการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากก่อนการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์อีลอน มัสก์เคยประกาศว่าต้องการนำบริษัททวิตเตอร์ออกจากตลาดหุ้นและการตัดเงินผลประโยชน์ที่ผู้บริหารชุดเก่าจะได้รับ รวมไปถึงการปรับรูปแบบการให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ของทวิตเตอร์ให้มีเสรีภาพซึ่งเป็นโจทย์ที่ท่าทายท่ามกลางผู้ใช้งานจำนวนมากที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมรวมไปถึงข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ

'อีลอน มัสก์' เล็งปลดแบนบัญชีทวิตเตอร์ให้ 'ทรัมป์' หลังมองนโยบายระงับบัญชี 'ผิดศีลธรรม-โง่เขลา'

อีลอน มัสก์ เผย หากเป็นเจ้าของทวิตเตอร์เมื่อไร จะยกเลิกการแบนบัญชีผู้ใช้ของอดีตปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) อีลอน มัสก์ เปิดเผยว่า หากเขาประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง เขาจะยกเลิกคำสั่งแบนบัญชีผู้ใช้ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์

โดยเจ้าตัวบอกว่า การตัดสินใจบล็อกบัญชีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไม่มีกำหนดนั้น ถือเป็นการกระทำที่ “ผิดศีลธรรมและโง่เขลา”

“การแบนทรัมป์จากทวิตเตอร์ไม่ได้หยุดเสียงของทรัมป์ แต่จะเป็นการขยายเสียงของเขาในกลุ่มฝ่ายขวา และนั่นเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและโง่เขลา” เขากล่าว

แม้จะยังไม่ได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ แต่มัสก์กล่าวว่า เขา “จะยกเลิกคำสั่งแบนทรัมป์ถาวร” และเขายังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการระงับบัญชีแบบไม่มีกำหนดของทวิตเตอร์ด้วย

เมื่อเดือนที่แล้ว บอร์ดทวิตเตอร์ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ ที่จะขายแพลตฟอร์มให้กับมัสก์ ในราคา 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) โดยข้อตกลงซื้อขายยังอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากผู้ถือหุ้น

พรรครีพับลิกันหลายคนเรียกร้องให้มัสก์คืนสถานะบัญชีผู้ใช้ของทรัมป์ ซึ่งถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนดหลังจากเหตุจลาจลวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่มีผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าไปในรัฐสภาสหรัฐฯ โดยทวิตเตอร์ให้เหตุผล ณ เวลานั้นว่า บัญชีของทรัมป์มีความเสี่ยงที่จะยุยงทำให้เกิดความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เขาจะไม่กลับมาใช้งานทวิตเตอร์อีกแม้ว่าคำสั่งแบนจะถูกยกเลิก และจะอยู่บนแพลตฟอร์ม Truth Social ของเขาแทน

“ผมคิดว่าเรื่องนี้อาจจบลงเลวร้ายยิ่งกว่าการมีพื้นที่เดียวที่ทุกคนสามารถอภิปรายได้” มัสก์กล่าว

‘อีลอน มัสก์’ นั่งแท่นเจ้าของใหม่ ‘ทวิตเตอร์’ พร้อมเซ็นไล่ออก 4 ผู้บริหาร ข้อหาหลอกลวง

รอยเตอร์สรายงานความเคลื่อนไหวของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า มอเตอร์ ได้กลายเป็นเจ้าของใหม่ของทวิตเตอร์ โซเชียลแพลตฟอร์มชื่อดัง หลังปิดดีลมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ดำเนินการเจรจาซื้อกิจการมาตั้งแต่เมษายน โดยมัสก์ ประเดิมงานแรกในฐานะเจ้าของใหม่ ด้วยการเซ็นไล่ออก 4 ผู้บริหารชุดเดิมรวมถึง ปารัค อกราวัล (Parag Agrawal) CEO และเน็ต ซีกัล (Ned Segal) CFO และวิชญา กัทเด (Vijaya Gadde) หัวหน้าฝ่ายนโยบายและกฎหมาย

อีลอน กล่าวว่า เขาต้องการ “เอาชนะ” บอทสแปมบนทวิตเตอร์ สร้างอัลกอริธึมที่กำหนดวิธีการนำเสนอเนื้อหาต่อสาธารณะแก่ผู้ใช้ และป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มกลายเป็นห้องสะท้อนความเกลียดชังและการแบ่งแยก แม้ว่าเขาจะจำกัดการเซ็นเซอร์ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม มัสก์ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเขาจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้อย่างไร และใครจะเป็นคนบริหารบริษัท เขาได้กล่าวว่าเขาวางแผนที่จะเลิกจ้างงาน ทำให้พนักงานของ Twitter ประมาณ 7,500 คนกังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา นอกจากนี้ เขายังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาไม่ได้ซื้อ Twitter เพื่อสร้างรายได้ แต่ “เพื่อพยายามช่วยเหลือมนุษยชาติที่ผมรัก”

‘อีลอน มัสก์’ ไล่บอร์ดบริหารทวิตเตอร์ออกยกแผง อ้าง!! มีพฤติกรรมปกปิดตัวเลขบัญชีผู้ใช้ปลอม

‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกยุบทิ้งบอร์ดบริหารบริษัททวิตเตอร์ เพื่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ หลังเสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โดยในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับกิจการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ทวิตเตอร์ แจ้งว่า คณะกรรมการบริหารชุดเดิม ไม่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าซื้อกิจการของ อีลอน มัสก์ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า มัสก์ คือกรรมการผู้บริหารเพียงคนเดียวของทวิตเตอร์ อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมัสก์ แสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าต้องการเข้ามาควบคุมการบริหารของทวิตเตอร์อย่างเบ็ดเสร็จ

โดยทันทีที่เทคโอเวอร์บริษัทได้สำเร็จ สิ่งแรกที่ มัสก์ ทำคือการไล่ประธานกรรมการบริหาร (CEO) และผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (CFO) ออกในทันที และ ‘ถูกเชิญ’ ออกจากอาคารสำนักงาน

แหล่งข่าวเผยว่า สาเหตุที่มัสก์ไล่ ปารัก อักราวัล ซึ่งเป็น CEO กับเน็ด เซกัล ซึ่งเป็น CFO และวิจายา แกดเด หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและนโยบายออก เนื่องมาจากพฤติกรรมของทั้งสามที่ต้องการปกปิดตัวเลขบัญชีผู้ใช้ปลอมบนทวิตเตอร์


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/183642

'อีลอน' เสียงอ่อย หลังพนักงานทวิตเตอร์ 'อยากออก' เยอะเกินคาด!! ยอมถอยให้ WFH ให้ผจก.รับผิดชอบ ไม่เวิร์ก โดนออกเอง

(18 พ.ย.65) เพจ 'เดือดทะลักจุดแตก' โพสต์ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทวิตเตอร์ หลังพนักงานพร้อมลาออกกันเยอะเกินคาด ว่า...

ทำไปทำมา คนจะออกกันทั้งบริษัท 

กระแสตีกลับ ทำไปทำมา มันชักจะใหญ่จนพอจะโหมพลิกเรือได้แล้วน่ะสิครับ ปั่นป่วนวุ่นวายกันไปหมดแล้ว

ไม่โพสต์ซ้ำแล้วนะครับ เรื่องที่อีลอน มัสก์ต้องการให้คนของเขาทำอะไรบ้าง --- พนักงานทวิตเตอร์รู้สึกเหลือทน จากที่ตอนแรกกริ่งเกรงจะต้องเสียงาน ทว่าตอนนี้ มาทำนองว่า "ออก ก็ออกสิวะ! ออกยกไปกันแ_งให้หมดเลย"

แต่ อีลอน มัสก์ เริ่มมีผ่อนปรนนะครับ (แน่นอนว่าเรื่องชั่วโมงทำงานแบบ "ฮาร์ดคอร์" นั้นไม่มีทางผ่อน)

‘อีลอน มัสก์’ ตั้งโพลถามชาวนกฟ้า “สละตำแหน่ง CEO ทวิตเตอร์ดีไหม?”

มหาเศรษฐี ‘อีลอน มัสก์’ ตั้งโพลให้ชาวเน็ตผู้ติดตามเข้าไปโหวตแสดงความคิดเห็นว่าตนเองควรที่จะสละตำแหน่ง ‘ซีอีโอทวิตเตอร์’ หรือไม่ วานนี้ (18 ธ.ค.) และยืนยันว่าถ้าผลโพลออกมาในรูปไหนก็ยินดีที่จะทำตาม

โพลดังกล่าวจะเปิดให้มีการโหวตได้จนถึงเวลา 11.20 GMT ของวันจันทร์ (19) ขณะที่ มัสก์ เองยังไม่ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนในการลงจากตำแหน่งซีอีโอ หากผลสำรวจพบว่าชาวเน็ตส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้น

มัสก์ ยังเข้าไปตอบคำถามของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โดยยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่ได้วางตัว “ผู้สืบทอดตำแหน่ง” ในกรณีที่ตนเองต้องลาออก

ทั้งนี้ มัสก์ เคยกล่าวต่อศาลที่รัฐเดลาแวร์เมื่อเดือน พ.ย. ว่า ตนจะ “ใช้เวลากับทวิตเตอร์ให้น้อยลง” และจะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นซีอีโอแทนในที่สุด

การตั้งโพลในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ทวิตเตอร์ประกาศอัปเดตนโยบายใหม่เมื่อวันอาทิตย์ (18 ธ.ค.) โดยห้ามมิให้มีการเปิดบัญชีทวิตเตอร์เพื่อ ‘โปรโมต’ โซเชียลมีเดียเจ้าอื่น รวมถึงจะแบนเนื้อหาที่มีการแปะลิงก์หรือยูสเซอร์เนมสำหรับแพลตฟอร์มคู่แข่งด้วย

นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Facebook, Instagram, Mastodon, Truth Social, Tribel, Nostr และ Post เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนทวิตเตอร์ยืนยันว่า การโพสต์เนื้อหาที่ซ้ำกับในแพลตฟอร์มอื่น ๆ (cross-content posting) ยังสามารถทำได้

อย่างไรก็ดี TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแชร์คลิปวิดีโอสั้นของบริษัท ไบต์แดนซ์ ของจีน ไม่ได้มีชื่ออยู่ใน ‘ลิสต์ต้องห้าม’ ของทวิตเตอร์

‘Meta’ เปิดตัวแอปฯ ‘Threads’ ท้าชน ‘ทวิตเตอร์’ ชูใช้บริการฟรี - ไม่จำกัดจำนวนการดูโพสต์

(4 ก.ค. 66) ‘เมตา’ บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กเตรียมเปิดตัวแอพลิเคชันใหม่ ‘เทรดส์’ (Threads) เพื่อแข่งขันกับทวิตเตอร์ พร้อมสำหรับการสั่งซื้อล่วงหน้าบนแอปเปิล แอปสโตร์ และจะเชื่อมโยงกับอินสตาแกรม ภาพที่มีการบันทึกจากหน้าจอ แสดงให้เห็นแดชบอร์ดที่มีลักษณะคล้ายกับทวิตเตอร์ โดยจะเปิดตัวในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ 

โดยอีลอน มัสก์ ได้ทวีตข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘เทรดส์’ ว่า "ขอบคุณพระเจ้า พวกเขาก็ยังดูมีสติ" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการล้อเลียนมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา ขณะเดียวกันทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนจึงจะสามารถใช้งานทวีตเด็ค (TweetDeck) ได้ โดยจะเริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่ใน 30 วัน

‘เทรดส์’ จะเป็นแอพฯ ที่ให้บริการฟรี และจะไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนโพสต์ที่ผู้ใช้สามารถดูได้ ซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘เทรดส์’ ระบุว่า "เทรดส์เป็นที่ที่ชุมชนมารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับทุกสิ่งตั้งแต่หัวข้อที่คุณสนใจในวันนี้ ไปจนถึงสิ่งที่จะเป็นเทรนด์ในวันพรุ่งนี้" 

โดย ‘เทรดส์’ จะสามารถซ่อนข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ใช้ รวมถึงข้อมูลตำแหน่ง การซื้อ และประวัติการท่องเว็บอีกด้วย

ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ‘เทรดส์’ อาจเป็นภัยคุกคามใหญ่ของทวิตเตอร์ที่ต้องเผชิญเลยก็เป็นได้ เพราะไม่ว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อะไรมาก็จะพบว่าประสบความสำเร็จเสมอ ‘เทรดส์’ จะเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มอินสตาแกรม ดังนั้นจึงเชื่อมโยงกับบัญชีหลายร้อยล้านบัญชีของผู้ใช้งานทั่วโลก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มองว่า ‘เทรดส์’ จะสามารถดึงผู้ใช้ที่ไม่สนใจทวิตเตอร์เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้ใช้งานได้

‘อีลอน มัสก์’ เล็งเปลี่ยนโลโก้ทวิตเตอร์เป็น ‘X’ มุ่งสู่แพล็ตฟอร์มการสื่อสาร-ชำระเงินเต็มรูปแบบ

(24 ก.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ และลินดา ยัคคาริโน ซีอีโอคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ประกาศนำพาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมระดับโลกมุ่งสู่ยุคใหม่ทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

มัสก์และยัคคาริโนต่างประกาศว่า โลโก้นกสีฟ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของทวิตเตอร์มาอย่างยาวนานจะถูกโละทิ้งเร็ว ๆ นี้ ก่อนรีแบรนด์แพล็ตฟอร์มใหม่ในชื่อ 'X'

ทวิตเตอร์ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2549 และใช้คำว่า 'ทวีต' ตามเสียงนกคุยกัน ได้ใช้การสร้างตราสินค้าเป็นรูปนกมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ภายหลังบริษัทได้ซื้อสัญลักษณ์รูปนกสีฟ้าอ่อนในราคา 15 ดอลลาร์จากเว็บไซต์ออกแบบแห่งหนึ่ง และใช้นกสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้ 'X' จะเป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นธุรกิจรับชำระเงิน, การธนาคาร และการค้าอย่างเต็มรูปแบบ นอกเหนือไปจากการสนทนาและแบ่งปันข้อมูล

ยัคคาริโน อดีตผู้บริหารโฆษณาคนเก่งจากเอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBCUniversal) กล่าวว่า ทวิตเตอร์กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนและขยายขอบเขต และจะมีการนำ AI เข้ามาขับเคลื่อนเชื่อมโยงในระบบธุรกิจ

"X จะเป็นอนาคตของการสื่อสารไม่จำกัด ทั้งในรูปแบบของเสียง, วิดีโอ, การส่งข้อความ, การชำระเงิน, การธนาคาร รวมไปถึงการสร้างการตลาดระดับโลกสำหรับแนวคิด, สินค้า, บริการ และโอกาส" ยัคคาริโนกล่าวผ่านทวิตเตอร์ และเสริมว่า "การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีขีดจำกัด และ 'X' จะเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งมอบได้...ทุกอย่าง"

ตั้งแต่อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ธุรกิจโฆษณาของแพลตฟอร์มก็มีแต่ร่วงลงๆ พร้อมด้วยปัญหาด้านการดำเนินงานและบุคลากร เขาจึงต้องผลักดันช่องทางหารายได้ใหม่ให้กับทวิตเตอร์

อีลอน มัสก์ วัย 52 ปีเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการครอบครองทวิตเตอร์ของเขามีจุดประสงค์เพื่อสร้างแอปสำหรับทุกอย่าง ซึ่งอ้างอิงถึงบริษัท X.com ที่เขาก่อตั้งในปี 2542 และกลายมาเป็น PayPal ยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงินในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มัสก์ยังได้ตั้งชื่อบริษัทแม่ของทวิตเตอร์ใหม่แล้วด้วยว่า 'X Corporation' และกำลังดำเนินการหาสัญลักษณ์ (โลโก้) ให้กับ 'X'

คาดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะนำทวิตเตอร์ก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่ไม่ยึดติดกับการหาโฆษณาและให้บริการแบบไม่คิดเงิน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง 'เธรดส์' ของมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก และการนำเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่าง AI เข้ามาปรับใช้อย่างจริงจัง

‘อีลอน มัสก์’ ถูกสั่งรื้อป้ายสัญลักษณ์ ‘X’ หลังติดตั้งได้สัปดาห์เดียว เหตุทำผิดกฎผังเมือง ‘ไม่ขออนุญาต-ละเมิดข้อบังคับการติดตั้งป้าย’

(2 ส.ค. 66) กรณีที่ ‘อีลอน มัสก์’ สั่งเปลี่ยนชื่อ ทวิตเตอร์ แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ครองใจเจนเนอเรชันใหม่ ที่หลายคนกำลังจับตามอง ดูจะไปไม่ค่อยสวยนัก ทั้งบรรดาผู้ใช้เดิมที่ชอบรูปลักษณ์ตัวนกสีฟ้าแบบเดิมมากกว่า ชื่อใหม่ ‘x’ หรือ เอ็กซ์ เพราะทั้งชื่อและสัญลักษณ์ดูคล้ายกับเว็บโป๊ แถมล่าสุด โลโก้ไฟป้ายเบ้อเริ่มที่อีลอนแสนภาคภูมิใจ นำขึ้นไปติดประกาศก้องแสดงการก้าวเข้าสู่ปฐมบทใหม่ บนตึกสำนักงานใหญ่ในเมืองซานฟรานซิสโกเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้ถูกสั่งให้ปลดลงแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากแสงไฟจ้าที่สาดส่อง แบบกะจะให้ทั้งเมืองได้เห็นเป็นสักขีพยาน และโชว์ความรุ่งโรจน์ของภาพลักษณ์ใหม่นี้ กลับทำให้รบกวนทัศนวิศัยน์ของชาวเมือง ผู้คนจากตึกฝั่งตรงข้าม โดนแสงสะท้อนเข้าหน้าต่างตลอดทั้งคืน จนสว่างจ้าราวกับเป็นกลางวัน แถมลูกเล่นการกะพริบที่เรียกร้องความสนใจ ทำเอาหลายคนในบริเวณนั้นคิดว่าฟ้าแลบ จึงเกิดการร้องเรียนกับทางการ

เพียง 1 สัปดาห์หลังการติดตั้ง ป้ายดังกล่าวก็ถูกปลดลง โดยฝ่ายผังเมืองของซานฟรานซิสโกได้ออกมาบอกว่า บริษัท อีลอน มัสก์ กระทำการผิดกฎหมายโดยไม่ขออนุญาต และละเมิดข้อบังคับการติดตั้งป้ายตามกฎผังเมือง โดยก่อนหน้านี้ทางตึกได้ปฏิเสธการเข้าตรวจสอบถึง 2 ครั้ง จึงได้สั่งให้ดำเนินการรื้อถอนป้ายในทันที

นอกจาก อีลอนจะต้องจ่ายค่าปรับในการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังต้องจ่ายค่ารื้อถอนให้กับทางการอีกด้วย เรียกว่าโดนจนอ่วมเลยทีเดียว แต่ค่าปรับขนาดไหนก็คงไม่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับมหาเศรษฐีรายนี้ เท่ากับการเสียหน้า ที่ป้ายไฟอันแสนภาคภูมิใจต้องถูกปลดลง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top