Monday, 29 April 2024
ค่าไฟแพง

'ก้าวไกล' แถลงโต้!! กกพ. ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ยันค่าไฟต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย ได้ ถ้าหยุดเอื้อกลุ่มทุน

จากกรณีที่ข่าวหลายสำนักได้ลงข่าวที่ กระทรวงพลังงาน หรือ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พูดว่า “ค่าไฟ 4 บาท/หน่วย ในประเทศไทยจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” 

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาตอบโต้ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องขอแถลงข่าวเพื่อให้สื่อมวลชนช่วยสื่อสารกับประชาชน และยืนยันว่าค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย เป็นไปได้ ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนแนวนโยบาย จากการบริหารของรัฐบาลที่เห็นถึงผลประโยชน์ของประชาชน มากกว่า กลุ่มทุนพลังงาน

วรภพกล่าวว่า ตามข่าวนั้น ทางกกพ. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องอยู่เรื่องนึง ที่ว่า ราคาต้นทุนก๊าซจากอ่าวไทยนั้นมีราคาที่ถูกอยู่ที่ 2-3 บาท/หน่วย และราคาก๊าซนำเข้า หรือ LNG นั้นมีแนวโน้มที่จะมีราคาแพงต่อเนื่องอยู่ที่ 10 บาท/หน่วย นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเพียงแต่ว่า ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยนั้น ที่จริงแล้วมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า ข้อมูลครึ่งปีแรกของ 2565

"จากกระทรวงพลังงานเองก็ยืนยันข้อมูลที่ว่า ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2,600 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน ซึ่งข้อมูลการผลิตก๊าซจากอ่าวไทย นั้นมีการผลิตได้ถึง 2,756 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน ซึ่งแสดงว่าก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูก 2 บาท/หน่วยนั้นเพียงพอกับการผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ" วรภพกล่าว

วรภพกล่าวขยายความต่อว่า เป็นเพราะนโยบายรัฐที่ปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานของไทย สามารถนำก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกนั้น ไปสร้างผลกำไร ด้วยการนำก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกไปขายเป็นเชื้อเพลิงราคาแพงให้กับอุตสาหกรรมได้ก่อนถึง 811 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน และ นำไปขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีในเครือ อีก 804 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน หรือ รวมแล้ว 1,615 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน 

‘วรภพ’ จี้!! 3 ประเด็น รัฐเข็นค่าไฟแพงรับปีใหม่ แม้ความผิดพลาดจะมาจากการบริหารของรัฐล้วน ๆ

วันที่ (16 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีค่าไฟแพง หลังจากรัฐบาลมีมติขึ้นค่าไฟ โดยให้คงค่าไฟเฉพาะครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ส่วนผู้ใช้ไฟกลุ่มอื่นรวมถึงประชาชนที่ใช้ไฟเกิน 500 หน่วย/เดือน จะต้องเจอค่าไฟที่แพงขึ้น 1 บาท/หน่วย จากเดิม 4.72 บาท/หน่วย เพิ่มเป็น 5.7 บาท/หน่วย เริ่มต้นเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป

วรภพ กล่าวว่า ของขวัญปีใหม่ของคนไทยไม่ควรเป็นค่าไฟที่แพงขึ้น ตนเคยท้วงติงรัฐบาลหลายครั้ง ว่าต้นตอเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง มีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น เพราะรัฐบาลอนุญาตให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟให้กลุ่มทุนเหล่านี้ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,400 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งเจรจากับเอกชน ให้ลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) โดยอาจแลกกับการขยายสัญญาออกไป ทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงในการเจรจาเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

‘ก้าวไกล’ เตือน!! เดือนนี้คนไทยเสียค่าไฟเพิ่ม หลังรัฐขึ้นค่าไฟแบบเนียนๆ ไม่ยอมแก้ที่ต้นเหตุ

(12 ม.ค. 66) วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเตือนประชาชนผู้มีรายได้น้อยเตรียมจ่ายค่าไฟแพงอย่างถ้วนหน้าในเดือนมกราคม 2566 เหตุเพราะมาตรการตรึงราคาค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลหมดอายุ ซึ่งมาตรการตรึงค่าไฟเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น จะแก้ที่ต้นเหตุต้องปรับนโยบายพลังงานให้มีการกำหนดสัดส่วนค่าไฟที่เป็นธรรม

วรภพ กล่าวว่า เดือนแรกปี 2566 ประชาชนเตรียมจ่ายค่าไฟแพงกันถ้วนหน้า หลังการทบทวนค่าเอฟทีของ กกพ. แม้ได้ข้อสรุปว่าจะยังคงตรึงค่า Ft ของบ้านอยู่อาศัยไว้ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย ในราคาเดียวกับปลายปี 2565 (ในขณะที่ภาคธุรกิจจ่ายแพงขึ้นไปอีก 61.49 สตางค์/หน่วย) แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนครัวเรือนจะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นกว่าเดิม เพราะรัฐบาลใจป๋าได้แค่ 4 เดือน เนื่องจาก งวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติ ครม. ใช้งบกลาง เพื่อมาช่วยเหลือค่าไฟ 8,000 ล้านบาท โดยให้ส่วนลดค่า Ft บ้านเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ทำให้ค่าไฟที่บ้านเรือนจ่ายในงวดสิ้นปี 65 ไม่ใช่ราคาจริง

โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป รัฐบาลจะไม่ออกมาตรการควักเงินช่วยลดค่าไฟบ้านเรือนแล้ว นั่นเท่ากับว่าประชาชนผู้ใช้ไฟที่ใช้ไฟน้อยกว่า 500 หน่วยต่อเดือน จะต้องกลับมาจ่ายค่าไฟฟ้า Ft ในราคาจริงที่แพงขึ้น เช่น ถ้าครัวเรือนใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย งวดสิ้นปี 65 Ft หลังส่วนลดรัฐบาล คือ 1.39 สตางค์/หน่วย แต่ต้นปี 66 Ft จะกลายเป็น 93.43 สตางค์/หน่วย ซึ่งหมายถึงทำให้ค่าไฟฟ้าจะต้องจ่ายแพงขึ้น 276 บาท/เดือน หรือ 22% คือจากเดิมที่เคยเสียค่าไฟ 1,264 บาท จะต้องจ่าย 1,539 บาทในเดือนนี้

‘ชาติพัฒนากล้า’ ชู นโยบาย ‘ลดค่าการกลั่น หั่นค่า FT’ พร้อมทุบโครงสร้างราคา ‘น้ำมัน - ไฟฟ้า’ ต้องถูกกว่านี้

(28 ก.พ.66) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ร่วมเวทีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ในหัวข้อ ‘พรรคการเมืองตอบประชาชน อนาคตพลังงานไทย’ โดยย้ำถึงหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส รื้อโครงสร้างที่ผูกขาด ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเรื่องพลังงานเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่โคตรผูกขาด

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า น้ำมันและค่าไฟฟ้าแพง เพราะถูกยัดเยียดต้นทุนจากราคาสมมุติ ประชาชนต้องจ่ายแพงเกินจริง ส่วนกำไรมหาศาลตกอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาด อย่างเรื่องน้ำมัน แข่งขันแค่เฉพาะแถมน้ำหรือไม่แถมน้ำ แต่ไม่เคยแข่งกันด้วยราคา เพราะกำหนดราคาต้นทุนสมมุติร่วมกัน ความน่าเกลียดที่สุดคือ รัฐบาลที่ยอมจำนนต่อระบบนี้ 

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ปีที่แล้วสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าการกลั่นสมมุติที่คิดจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป มีส่วนต่างห่างกันมาก ค่าการกลั่นสูงผิดปกติ โรงกลั่นก็กำไรมหาศาลทั่วโลก หลายประเทศใช้วิธีเก็บภาษีลาภลอยกับบริษัทกลั่นน้ำมัน เพื่อไปชดเชยค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ที่มันแพงขึ้น แต่รัฐบาลไทยกลับนิ่งเฉย รัฐมนตรีคนปัจจุบัน เคยบอกว่า จะรับบริจาคจากโรงกลั่นน้ำมัน ทั้งที่สามารถทำได้ชัดเจนกว่าด้วยการใช้มติ ครม.ออกพระราชกำหนด เก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นที่เป็นบริษัทมหาชน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นคณะกรรมการการควบคุมราคาสินค้า และยังเป็นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย

“ผมและนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เคยเตือนและนำเสนอแนวทางการแก้ไขลดค่าการกลั่น เก็บภาษีลาภลอยไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างประเทศก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เราเสนอวิธีการแก้ไขตั้งแต่กองทุนน้ำมันยังติดลบไม่ถึงแสนล้าน แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการ จนถึงวันนี้กระทรวงการคลังต้องไปค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมัน เป็นหนี้แสนล้าน ประชาชนต้องช่วยผ่อนทุกครั้งที่เติมน้ำมันยาว 7 ปี” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

‘กรณ์’ งัดหลักฐาน จวก ‘รัฐฯ’ เข้าข้างนายทุน เอาเปรียบ ปชช. ขึ้นค่าไฟแพงมหาโหด ในช่วงที่อากาศร้อนจัดที่สุดของปี

(25 มี.ค. 66) ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ รัชดาภิเษก นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย 3 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตเศรษฐกิจชั้นใน ได้แก่ นายวรนนท์ อัศวกิตติเมธิน เขตสาทร ปทุมวัน-ราชเทวี, นายปรัชญา อึ้งรังษี เขตยานนาวา-บางคอแหลม และ นายปรินต์ ทองปุสสะ เขตวัฒนา-คลองเตย ร่วมกันแถลงข่าว กรณีจะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่า ทุกคนรู้ดีว่าในช่วงหน้าร้อนคนไทยใช้ไฟเพิ่มสูงมากกว่าปกติ ค่าไฟโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นพีคทุกครัวเรือน แต่รัฐฯ ยังประกาศจะขึ้นค่าไฟ ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน

นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้า เราต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งหนึ่งในต้นตอสำคัญทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นคือ ต้นทุนพลังงาน เราเสนอแนวนโยบายที่ชัดเจนที่จะแก้ปัญหา คือต้องรื้อโครงสร้างพลังงาน แต่ล่าสุดสิ่งที่ทำให้เราตกใจมาก กับการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งพิจารณาภายใต้นโยบายที่ส่งต่อมาจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือนจากหน่วยละ 4.72 บาท เพิ่มเป็นหน่วยละ 4.77 บาท แต่กลับลดราคาให้ภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยละ 5.33 บาท ลดลง เหลือ 4.77 บาท

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการปรับค่าไฟฟ้าครั้งนี้คือ การปรับค่าเอฟที โดยภาคประชาชนมีการปรับค่าเอฟทีขึ้น 5% แต่กลับลดให้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 30กว่า% จากตัวเลขดังกล่าว พวกเราเห็นแล้วถึงกับอึ้งกับแนวนโยบายการกำหนดค่าไฟแบบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับลำเอียงเข้าข้างภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป

นอกจากนี้ เรายังไม่เห็นตรรกะความจำเป็น ที่ต้องปรับค่าไฟแบบนี้ เพราะหากดูตามข้อเท็จจริง ต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า คือ ราคาก๊าซ LNG ในอดีต เราไม่เดือดร้อนมากเพราะสามารถใช้ก๊าซจากอ่าวไทยได้ แต่ปัจจุบันปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลง เราจึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG  ซึ่งราคาก็ลดต่ำลงเรื่อย ๆ จากที่พีคสุด 70 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 11 เหรียญ ต่อล้านบีทียู หรืออย่างมากไม่เกิน 30 เหรียญต่อล้านบีทียู

คำถามคือ แล้วทำไมต้องปรับเพิ่ม หรือถ้ามองในมิติของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งท่านก็ทราบว่าการนำเข้า บาทยิ่งแข็งยิ่งทำให้สามารถนำเข้าในอัตราที่ถูกลง และปัจจุบันค่าเงินบาทก็แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 34 บาท ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยของต้นทุนก๊าซ หรืออัตราแลกเปลี่ยน ก็ล้วนแต่มีภาระลดลง

‘พปชร.’ ประกาศ ‘ไฟฟ้าประชาชน’ มั่นใจ!! ลดฮวบ ‘ไฟบ้าน’ เหลือ 2.50 บาท ‘ไฟอุตฯ’ เหลือ 2.70 บาท

(18 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพรรคพลังประชารัฐ แถลงผลประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นประธานโดยที่ประชุมได้ข้อสรุปการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ รวมไปถึงการลดราคาน้ำมันและค่าแก๊ส และการลดค่าไฟฟ้า เป็นเวลา 1 ปี

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาจาก 4 แห่งใหญ่ คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จากนั้นจ่ายผ่านการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไปยังธุรกิจอุตสาหกรรม และประชาชน ซึ่งคนไทยทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าประมาณ 200,000 ล้านหน่วยต่อปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ไฟมากกว่า 60% 

นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า โครงสร้างราคาไฟฟ้า คือ ค่าไฟฟ้าฐาน และ ค่า FT มาบวกกัน ถึงออกมาเป็นค่าไฟฟ้าต่อหน่วย โดยปัจจุบันนี้อัตราค่าไฟของประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถือว่าแพง พรรค พปชร.จึงต้องแก้ปัญหานี้ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยรื้อและปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ภายใต้กรอบวินัยการเงิน และการคลัง 

‘กรณ์’ ลงพื้นที่บางกะปิ รับฟังปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ประกาศรื้อโครงสร้างพลังงาน คืนความเป็นธรรมให้ ปชช.

(19 เม.ย.66) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ลงพื้นที่เพื่อช่วย นายธาม สมุทรานนท์  ผู้สมัครส.ส.เขตบางกะปิ เบอร์ 8 และนายกอบกฤต สุขสถิตย์ ผู้สมัคร ส.ส.เขตห้วยขวาง เบอร์ 13 ณ ตลาดลาดพร้าว 87 โดยมีพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาค่าไฟที่เพิ่มขึ้นให้กับนายกรณ์ฟัง เนื่องจากทราบว่า นายกรณ์ เป็นผู้ที่ต่อสู้เรื่องค่าไฟฟ้า และพรรคชาติพัฒนากล้าเองก็ประกาศจะรื้อโครงสร้างพลังงานเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน 

นายกรณ์ กล่าวว่า ประชาชนสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือน และในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนจาก 4.72 บาท เป็น 4.77 บาท แต่ลดให้ภาคอุตสาหกรรมจาก 5.33 ลงมาเท่ากับภาคครัวเรือนคือ 4.77 บาท เดือนพฤษภาคมจึงเป็นวันเผาจริงของประชาชน

หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้โดยภาคอุตสาหกรรม ตนเห็นด้วยที่จะลดราคาให้ แต่ขอให้ลดเพียง 8-9% ได้ไหม เพราะเป็นจำนวนที่ไม่ต้องเพิ่มภาระให้ประชาชนในช่วงที่พวกเขาเดือดร้อน และมันก็ไม่มีเหตุผลที่มีตรรกะอธิบายได้ว่าทำไมต้องขึ้นเวลานี้ เนื่องจากต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้าคือการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ในอดีตแก๊สที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นแก๊สจากอ่าวไทย แต่ในช่วงหลังมีประเด็นปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณแก๊สลดลงตามธรรมชาติ อีกส่วนคือโอนถ่ายสัมปทาน ที่เป็นปัญหาที่เกิดจากการทำงานของบริษัทในเครือ ปตท.คือ ปตท.สผ. พอปริมาณแก๊สที่เราผลิตจากอ่าวไทยลดลง มันเลยทำให้เราต้องไปซื้อแก๊สที่เป็น LNG จากต่างประเทศมากขึ้น และโชคไม่ดีไปเจอช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟในช่วงเวลานั้นสูงขึ้น แต่ถ้าเรามาดูความเคลื่อนไหวของราคาแก๊ส LNG ตั้งแต่ระดับช่วงที่สูงที่สุดอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ ต่อล้านบีทียู และได้ลดราคาลงมาอย่างรวดเร็วภายใน 6 เดือนเหลือ 11 ดอลลาร์ต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าลดลง ทำไมถึงต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเรารักษาเสถียรภาพได้ดี ต้นทุนในการซื้อแก๊สก็ถูกลงด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อต้นทุนราคาแก๊สถูกลง เงินบาทก็แข็ง ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องปรับขึ้นค่าค่าไฟ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเรื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องของค่าไฟฟ้า วันนี้ประชาชนรับภาระเต็ม ๆ โดยที่ไม่ได้มีการประเมินเลยว่าสาเหตุที่ต้นทุนมันเพิ่มขึ้นด้วยเหตุใด มีการอภิปรายในสภาหลายครั้ง ว่า กฟผ.ในอดีต ได้ไปอนุมัติเซ็นต์สัญญาที่จะซื้อไฟจากภาคเอกชนในปริมาณที่มากเกินความต้องการ โดยปกติการรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งเป็นปริมาณที่เหลือเฟือเพียงพอแล้ว แต่วันนี้กำลังผลิตของเรามีมากกว่าความต้องการถึง 50% ซึ่งมันเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของการไฟฟ้าที่ต้องไปจ่ายให้กับภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20%  ที่โยนภาระให้ประชาชนแบกรับ 

อีกปัญหาคือ เรื่องของปริมาณแก๊สที่เราสามารถผลิตในอ่าวไทย ตรงนั้นมันก็เกิดจากความผิดพลาด ในการถ่ายโอนตัวสัมปทานระหว่างเชฟรอน กับ ปตท.สผ. ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณแก๊สที่เราผลิตได้ในต้นทุนราคาที่ต่ำในอ่าวไทย มีปริมาณน้อยมาก  น่าแปลกตรงที่ ปตท.สามารถที่จะโอนต้นทุนที่จะต้องไปซื้อแก๊สจากต่างประเทศมาในราคาที่แพงให้ขึ้นให้กับการไฟฟ้าได้  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตผิดพลาดก็สามารถที่จะโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของการไฟฟ้าส่งต่อมาให้กับประชาชนได้ ประชาชนเป็นผู้รับภาระแต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจที่จะเจรจาต่อรองใด ๆ เลย ซึ่งตรงนี้เป็นโครงสร้างที่ต้องปรับต้องเปลี่ยน  เป็นเรื่องที่ชาติพัฒนากล้าจะต้องมาทุบเรื่องนี้แน่นอน

“ระบบการกำหนดค่าไฟบ้านเราเป็นระบบส่งต่อให้ประชาชนทั้งหมด ผู้ผลิตไม่รับความเสี่ยงอะไรเอาไว้เลย ต้นทุนเท่าไร ก็ส่งมาที่ประชาชน ไม่แปลกที่จะทำให้มีคนร่ำรวยจากการสร้างโรงไฟฟ้า ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรม และที่มีการออกมาให้ข่าวว่าไม่สามารถจะลดค่าไฟฟ้าได้ เนื่องจากได้ลงนามในสัญญาแล้ว ก็ต้องรอการเปลี่ยนแปลงครับ ถ้าท่านไม่ทำจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าทำได้มันอยู่ที่ความตั้งใจ เรื่องของการรื้อระบบ การคำนวณราคาค่าไฟฟ้ามัน เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุนใหญ่แน่นอน เพราะมันมีผู้เสียประโยชน์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราไม่กลัว และสาเหตุที่เราเลือกอยู่พรรคเล็ก เพราะเราการมีอิสระทางความคิดและทางนโยบาย เราไม่ต้องพึ่งทุนมากมายจากใคร ทำให้เราสามารถรักษาความซื่อสัตย์ต่อประโยชน์ที่มีต่อประชาชนไว้ได้” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว  

'ดร.อานนท์' แฉ!! ค่าไฟแพง เพราะสำรองไฟฟ้าเกินกว่า 50% ช่วยหนุนเศรษฐีกลางอ่าวร่ำรวย แล้วเอาเศษเงินหนุนบางพรรค

(19 เม.ย.66) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์เฟซบุ๊ก 'Arnond Sakworawich' ว่า...

ค่าไฟเดือนก่อน 1,100 บาท เดือนนี้เกือบ 2,600 แพงขึ้นมา 1,500 บาท สลบกับบิลค่าไฟแป๊บ

เรากำลังส่งเงินให้เศรษฐีไทยกลางอ่าวที่ร่ำรวยขึ้นมาเพราะประเทศไทยสำรองไฟฟ้าเกินไปกว่า 50%

อันไม่มีความจำเป็นเลย และเอกชนได้ผลประโยชน์จากค่า FT นี้ไปมากกว่าครึ่ง

ทำให้เศรษฐีกลางอ่าวร่ำรวยจากการค้าไฟฟ้าอย่างเลือดเย็น

‘อรรถวิชช์’ ชี้!! รัฐบาลบริหารไฟฟ้า-พลังงานผิดทาง ลั่น!! ชพก. มีแนวทางแก้ปัญหา-ลดภาระประชาชน

เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.66) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ได้พูดถึงเรื่อง ‘ค่าไฟ แพงแล้ว แพงอยู่ แพงต่อ’ โดยระบุว่า ก็เป็นนโยบายรัฐบาลนะ ลุงตู่บอกว่าเป็นเรื่องของสัญญา เป็นเรื่องของธุรกิจกับธุรกิจที่ต้องเป็นไปตามสัญญา ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้นนะครับ ตอนนี้ท่านกำลังบริหารด้านไฟฟ้าและพลังงานผิดเลยนะครับ ราคาพลังงานไฟฟ้า ต้นทุนหลักคือแก๊ส โดยแก๊สกินสัดส่วนอยู่ที่ 56.2% ของภาพรวมทั้งหมด ที่เหลือก็จะเป็นพวกไฟฟ้าสำเร็จรูป น้ำ พลังงานทดแทนต่าง ๆ แก๊สที่ใช้กันอยู่มาจากอ่าวไทย โดยอ่าวไทยกินสัดส่วนอยู่ที่ 63.3% แก๊สจากพม่า 16% และ LNG นำเข้า 20.6% จะเห็นได้ว่าแก๊สจากอ่าวไทยคือหัวใจของเรื่องนี้

ราคาแก๊สจากอ่าวไทยมีราคาลดลงมาตลอดเลย แล้วรัฐมนตรีไปใช้วิธีการทำให้ค่าไฟต่อยูนิตแพงได้ยังไง? การคิดค่าไฟจะคิดทุกๆ 4 เดือน (มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน) ตอนนี้เราอยู่ที่เดือนเมษายน (สล็อตแรก) และค่า Ft ไฟฟ้าอยู่ที่ 0.9343 / หน่วย ซึ่งถือว่าแพงแล้ว แพงกว่าตอนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน แพงกว่าตอนค่าเงินบาทอ่อนเมื่อปีที่แล้ว แพงกว่าตอนมีวิกฤติส่งแก๊สช้ากว่าปีที่แล้วอีกนะ ตอนนั้นราคาไม่หนักเท่าวันนี้

สิ่งที่ช็อกที่สุด และพี่น้องประชาชนยังไม่รู้คือหากยังบริหารแบบนี้ไปเรื่อยๆ ให้แพงแล้ว แพงต่อ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม (สล็อตที่ 2) สิ่งที่น่าตกใจคือการทำสำรวจจากกระทรวงพลังงาน เสียงข้างมากร้อยละ 30 ที่เห็นด้วยคือการขึ้นค่าไฟ ขึ้นค่า Ft

ย้อนดูผู้ชนะการประมูล ฮุบกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 5,000 เมกะวัตต์ผู้เดียว ความไม่โปร่งใส จากการปรับปรุงแผน PDP ของรัฐบาลใคร?

(20 เม.ย.66) ร้องกันขรม 'ค่าไฟแพงโหด' แล้วก็ถล่มกันใหญ่
รัฐบาลลุงตู่นั่นแหละตัวการ ลุงตู่กินนอก-กินในกับนายทุนพลังงาน 5,000 เมกะวัตต์
ลุงตู่นอกจากไม่แก้ปัญหาและแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว 
ลุงตู่ยังให้ 'ขึ้นค่าไฟ' ซ้ำเติมชาวบ้าน!
ลุงตู่นี่ "เป็นที่สุดของแจ้" จริงๆ ...........
เป็นทั้งเผด็จการ ทั้งยาสามัญประจำบ้าน  ทั้งกระโถนท้องพระโรง ทั้งส้วมสาธารณะ        

เพราะฉะนั้น ลุงตู่ถือว่ามีบุญ เป็นทั้งถนน เป็นทั้งสะพาน เป็นทั้งฐาน เป็นทั้งยอดพระเจดีย์ ใครอยากขี้รด-ขี้ ใครอยากปิดทอง-ปิด
จะว่าไป ก็น่าอิจฉานะ!
เรื่องค่าไฟแพงชนิดก้าวกระโดดนี้ ทุกคนรู้คร่าวๆ ว่า มาจากการประมูลกำลังผลิตไฟฟ้าเอกชน 5,000 เมกะวัตต์ ที่ กฟผ.ทำสัญญาซื้อขายกับเอกชน

ต้นทุน-กำไรมันก็สะท้อนออกมาเป็นค่าไฟ ตามสูตร 'ปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ' ที่เราเรียกค่า Ft แล้วไอ้ 5 พันเมกะวัตต์นี้ มันมายังไงกัน? ความจริงไม่ใช่เรื่องลึกลับ........
เราไม่จำกันเอง มันก็มาตะเภาเดียวกับ 'จำนำทุกเมล็ด-โกงทุกเมล็ด' นั่นแหละ
ไอ้พวกนักการเมืองขี้โกง มันรู้จุดอ่อนคนไทย จำอะไรไม่ค่อยได้ 'ลืมง่าย' จึงเท่ากับ 'หลอกง่าย'!

ฉะนั้น เวลาตอโผล่ ไอ้นักการเมืองตัวการ จะทำเฉไฉ ไม่รู้-ไม่ชี้ เรื่องนี้...ไม่ใช่ข้า แถมหาเสียงผสมโรงด่ารัฐบาลหน้าเสื่อมันไปซะเลย
ถ้างั้น วันนี้ มารู้ให้ชัดกันไปซะที ว่าโรงไฟฟ้าเอกชน 5 พันเมกะวัตต์ ต้นเหตุค่าไฟแพงนี้ มันเป็นมาไงกัน? จากข่าวมีเยอะ แต่เดี๋ยวจะว่า เอียงข้างโน้น-ข้างนี้ ฉะนั้น ผมจะนำเนื้อหาจาก 'วิทยานิพนธ์' มาให้เรียนกันเลย

เรื่อง 'มาตรการทางกฎหมายในการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อป้องกันการทุจริต'

ผู้ทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือ 'นางสาวรพีพร อภิภัทรางกูร'
เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตร 'นิติศาสตรมหาบัณฑิต' สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2560

ในหัวข้อ 2.3.1 ปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย เฉพาะ 'บางส่วน-บางตอน' จากหน้าที่ 33 ดังนี้
2.3.1 ปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย
กรณีที่เคยปรากฏเป็นข้อกังขาของสังคมเกิดขึ้นในช่วงเวลาการปรับปรุงแผน PDP สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2555 เห็นชอบตามมติ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2555 เรื่องการปรับปรุงแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3
ประเด็นที่เป็นความเคลือบแคลงสงสัย ในเรื่องความไม่โปร่งใสจากการปรับปรุงแผน PDP ฉบับดังกล่าว ที่ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึง และมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจนกระทั่งปัจจุบัน คือ กรณีที่แผน PDP ได้กำหนดให้มีการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน IPP ในปริมาณ 5,400 เมกะวัตต์ 

โดยระบุว่า.... "จะต้องเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติทั้งหมด" ทำให้ กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน-เปลว) ซึ่งมีหน้าที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามที่ มาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ ต้องไปดำเนินการ ออกระเบียบ และหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้าและออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน โดย กกพ.ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า ประเมินและคัดเลือกข้อเสนอของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ปริมาณ 5,400 เมกะวัตต์ เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยคณะอนุกรรมการการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าได้จัดทำเอกสารรายละเอียดการยื่นประมูล (Request for Proposal:  RFP) สำหรับกำหนดการผลิตในช่วงปี พ.ศ. 2564-2569
ซึ่งในการออกประกาศเชิญชวนครั้งดังกล่าว มีผู้ผลิตให้ความสนใจและซื้อเอกสาร RFP จำนวน 89 ราย อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค คงเหลือผู้ยื่นข้อเสนอโครงการรวมทั้งสิ้น 9 ราย จาก 5 กลุ่มบริษัท ท้ายที่สุดแล้ว ได้ผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวที่ได้กำลังผลิตไฟฟ้าปริมาณกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ไปครอบครองแต่เพียงผู้เดียว และได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. ในฐานะผู้ได้รับการคัดเลือกจากการประกาศรับซื้อไฟฟ้าของ กกพ. ซึ่งผูกพันระยะเวลานานกว่า 25 ปี การชนะประมูลของเอกชนรายดังกล่าว จนหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส อันมีที่มาจากการปรับปรุงแผน PDP ของรัฐบาล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top