Thursday, 16 May 2024
ค่าไฟแพง

‘ครม.’ เคาะลดค่าไฟอีก 4 เดือน ‘กฟน.’ แนะ เช็กยอด พ.ค. หากชำระบิลแล้วจะคืนส่วนลดให้ในเดือนถัดไป

(19 พ.ค. 66) จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาไฟฟ้า ตามที่ ครม. เสนอโดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าต่อเนื่อง 4 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และส่วนลดค่าไฟฟ้า (เพิ่มเติม) สำหรับงวดเดือน พ.ค. 2566 จำนวน 150 บาทต่อราย ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ทั้งนี้กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น

นายอนุชา กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง (MEA) แจ้งว่า สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน พ.ค. 2566 ที่จดหน่วยและส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้าในวันที่ 14 – 17 พ.ค. 2566 ที่ยังไม่มีส่วนลด MEA จะปรับปรุงในระบบรับชำระเงินค่าไฟฟ้า โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบยอดเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือน พ.ค. 2566 ที่มีการปรับปรุงแล้วได้ที่แอปพลิเคชัน MEA Smart life หรือที่ทำการ MEA ทั้ง 18 เขต หากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ชำระค่าไฟฟ้าแล้ว MEA จะคืนเงินส่วนลดดังกล่าวให้ในเดือนถัดไป ทั้งนี้ ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนพ.ค. 2566 จะเป็นการจดหน่วยในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 14 พ.ค. — 13 มิ.ย. 2566

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ตามที่มีประชาชนได้รับข้อความแอบอ้างหน่วยงาน MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เพื่อหลอกเก็บเงินค่าบริการต่าง ๆ นอกสถานที่ทำการ MEA รวมถึงเพื่อล่อลวงให้รับบริการผ่านระบบออนไลน์ หรือคลิกลิงก์ต่าง ๆ จนมีความเสี่ยงทำให้เหยื่อเสียทรัพย์สินนั้น MEA มีความห่วงใยต่อกรณีดังกล่าว

โดยได้แจ้งวิธีสังเกต SMS ของ MEA ที่ถูกต้อง ขอให้ประชาชนสังเกตบริเวณชื่อบุคคลผู้ส่ง โดยจะต้องระบุชื่อเป็น ‘MEA’ เท่านั้น หากพบชื่อผู้ส่งเป็นตัวเลขเบอร์โทรศัพท์ หรือตัวอักษรที่ไม่ใช่การสะกดตามคำว่า ‘MEA’ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อความดังกล่าว ทั้งนี้ MEA ยืนยันว่าจะไม่ส่ง SMS ให้กับบุคคลทั่วไป ยกเว้นเป็นผู้ที่กำลังติดต่อธุรกรรมกับ MEA หรือรับบริการ MEA e-Bill อยู่เท่านั้น

นายอนุชา กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของการใช้งาน Line ของ MEA ประชาชนสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้โดยการดูความถูกต้องของชื่อ Line ต้องระบุเป็น “MEA Connect” โดยระบุชื่อ Line id เป็น @meathailand และด้านหน้าชื่อต้องมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว ซึ่งแสดงถึงสถานะที่เป็นทางการ

ส่วนกรณีเว็บไซต์ MEA นั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้โดยการดูความถูกต้องของชื่อเว็บไซต์ ซึ่งต้องระบุเป็น https://www.mea.or.th รวมถึง MEA ยืนยันว่า ปัจจุบัน MEA ไม่มีนโยบายให้พนักงาน หรือตัวแทนพนักงาน รับชำระค่าไฟฟ้า หรือค่าบริการใด ๆ นอกสถานที่ทำการของ MEA อีกด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า MEA ขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับข้อมูลจากช่องทางการสื่อสารในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งอาจมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ ซึ่งประชาชนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสามารถสอบถามข้อมูลค่าไฟฟ้าได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ MEA ได้แก่ Facebook: การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : @meathailand, Twitter : @mea_news, และ MEA Call Center โทร 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ไทยสร้างไทย’ โพสต์แจง ถูก ‘กัลฟ์’ ฟ้อง 100 ล้านบาท โดนทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง ปมแถลงปัญหาค่าไฟแพง

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 66 รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ ได้รับหมายศาล ‘กัลฟ์’ ฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่ง และเรียกค่าความเสียหายอีก 100 ล้านบาท พรรคไทยสร้างไทย กับพวกรวม 3 คน ปมแถลงค่าไฟแพง

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ ‘ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส - Treerat Sirichantaropas’ ระบุถึงกรณีการได้รับหมายศาล ซึ่งบริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน โดยนายเนติพงศ์ โฆมานะสิน ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พรรคไทยสร้างไทย เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน

ทั้งนี้ นายตรีรัตน์ ระบุเนื้อหาว่า วันนี้ผมได้รับหมายศาลโดยกลุ่มบริษัท ‘กัลฟ์’ หลังจากผมได้เคยแถลงข่าวถึงปัญหาค่าไฟแพง โดยผม พร้อมด้วยคุณรณกาจ (ผู้ร่วมแถลงข่าว) และพรรคไทยสร้างไทย ร่วมกันได้ถูกฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และโดนเรียกค่าความเสียหายอีก 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ เขายังระบุด้วยว่า ทั้งหมดที่ผมเคยออกมาตั้งคำถาม เป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งภาครัฐหรือคู่สัญญาของรัฐ ต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ โดยประชาชนถึงความคุ้มค่า

แต่หากการตั้งคำถามในฐานะประชาชน ทำให้ผมต้องโดนฟ้องทั้งอาญา-ทั้งแพ่ง ผมก็ใช้จังหวะนี้ที่ผมต้องขึ้นศาล เบิกความเอาเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหมดมาแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบร่วมกัน ถึง “สัญญาการซื้อไฟฟ้าระหว่างรัฐและนายทุน” ส่วนรายละเอียดของคดี ผมจะขออนุญาตแถลงข่าวในภายหลัง

 

‘เศรษฐา’ โวย!! รับไม่ได้ค่าไฟฟ้าขึ้น 4.68 บาท ลั่น!! สูงเกินไป ต่อให้ขึ้นก็ต้องไม่แตะตัวเลขนี้

(30 พ.ย. 66) ที่โรงแรมสีหราช จังหวัดอุตรดิตถ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ กรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติขึ้นค่าไฟเป็น 4.68 บาท ว่า “4.68 บาท โอ้ย!! รับไม่ได้หรอกครับสูงเกินไป” ตนในฐานะประธานจะต้องมีการเรียกประชุม ไม่ยอมหรอกครับ

เมื่อถามย้ำว่าการปรับขึ้นดังกล่าวสูงกว่าเพดานที่รัฐบาลเคยตั้งไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าก็จะเข้าไปพูดคุยรายละเอียดทั้งหมดในฐานะประธาน กกพ. 

เมื่อถามว่าจะเป็นมาตรการต่อเนื่องหรือไม่สำหรับเรื่องของการลดราคาไฟฟ้า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องไปนั่งดูก่อนเพราะเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย แต่ขึ้นไปถึง 4.68 บาทคงไม่ไหวเยอะเกินไป

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะขึ้นใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวโน้มจะขึ้นจาก 3.99 บาท แต่ไม่ถึง 4.68 บาทแน่นอน

เมื่อถามว่าจะทำในลักษณะวิน-วินคือทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องทำให้ได้ซิครับ ต้องทำให้ได้

ส่วนจะต้องมีการรื้อโครงสร้างพลังงานเลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็คงเป็นจุดหนึ่งที่ต้องมีการพูดคุยกัน

‘พีระพันธุ์’ หารือแนวทางกดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ย้ำ!! เร่งทำงานเต็มที่ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

(6 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดแรกของปี คือ มกราคม-เมษายน 2567 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟทุกประเภทอยู่ที่เฉลี่ย 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามกระบวนการทางกฏหมายที่จะต้องเปิดรับฟังความเห็นก่อนจะมีมติ แต่ยังไม่ถือเป็นการสิ้นสุด

โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและดูแลเศรษฐกิจโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่จะไม่ให้ค่าไฟขึ้นไปถึงระดับ 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน หากเป็นไปได้จะพยายามตรึงราคา 3.99 บาทต่อหน่วย หรือหากที่สุดต้องปรับขึ้นจะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

“ขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งหาแนวทางลดค่าไฟฟ้าจากหลายเครื่องมือ อาทิ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ ‘กฟผ.’ แบกรับภาระหนี้บางส่วนออกไป ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระส่วนของต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงอาจหาเงินงบประมาณมาสนับสนุน ซึ่งนายพีระพันธุ์จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้เวลาช่วงเดือนธันวาคมนี้ในการเร่งทำงาน มั่นใจว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในช่วงปีใหม่นี้แน่นอน” รายงานข่าวระบุ

‘พีระพันธุ์’ เอาจริง!! มุ่งแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง บรรเทาทุกข์ประชาชน

‘ปัญหาราคาพลังงาน’ เป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศ ทุกข์ทนมายาวนาน หวังว่าสักวันจะมีคนเข้ามาแก้ไข ปรับปรุง และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน และแน่นอนว่าวันที่ประชาชนรอคอยมาถึงแล้ว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน กำลังพยายามแก้ปัญหาพลังงานที่สุดจะยุ่งเหยิงนี้อยู่

โดยนายพีระพันธุ์ เคยโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ไว้ พร้อมระบุว่า…

“ขอให้มั่นใจค่าไฟจะไม่สูงอย่างที่เป็นข่าวครับ

ผมเข้าใจถึงความกังวลใจของพี่น้องประชาชนที่ถามกันมามากเรื่องราคาค่าไฟฟ้าภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลามาตรการลดค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ว่าราคาอาจกระโดดสูงขึ้นถึงหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาทตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดให้มีการสอบถามและมีมติไป

ผมเองก็รับไม่ได้ถ้าราคาค่าไฟจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างนั้น เพราะถึง กกพ.จะมีมติแบบนั้น แต่เราก็ต้องบริหารจัดการเอาราคาค่าไฟลงมาให้ได้ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งประสานทุกจุดล่วงหน้าด้วยวิธีการใหม่ ๆ หลายรูปแบบแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่แบกรับค่าไฟฟ้าที่มากเกินไป จะพยายามทำให้ใกล้เคียงกับที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด

ผมขอให้ความมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานยุคนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจและทำงานล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้วเพื่อให้ราคาค่าไฟอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ซึ่งต้องใช้หลายกลไกพร้อม ๆ กันภายใต้โครงสร้างในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้อำนาจกับฝ่ายนโยบายมากนัก แต่จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้การที่ กกพ. ประกาศให้ประชาชนเห็นชอบแนวทางในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าก่อนหน้านี้ เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะต้องมีการประกาศเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดก่อนที่จะมีมติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นที่สุด จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

ทั้งหมดนี้จะเตรียมการให้เสร็จสิ้นและประกาศโดยเร็วที่สุด

ผมพูดเสมอว่านี่คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนภายใต้โครงสร้างแบบปัจจุบัน

แต่ที่กำลังดำเนินการแบบเข้มข้นที่สุด และทำงานกันไม่หยุดหย่อนทุกวัน คือการเร่งรวบรวมข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การ รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานให้มั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืนทั้งระบบ

ไม่ยากครับถ้าแค่พูดเอาเท่ ฟังดูดีทรงภูมิ 

คนทำแบบนั้นมีเยอะแล้ว แต่ไม่เคยเห็นรูปธรรม พูดไปเรื่อย ๆ ใช่ครับ อะไร ๆ ก็แก้โครงสร้าง แต่จะแก้อะไร แก้อย่างไรครับ ส่งผลกระทบแบบไหน จะทดแทนด้วยอะไร ทั้งระบบต้องสอดคล้องและไม่ก่อภาระเพิ่มให้กับประชาชน

ย้อนกลับไปดูกันนะครับ กฎหมายแต่ละฉบับ รูปแบบที่ใช้กันอยู่ ใช้มานานเท่าไร ปล่อยกันมาสี่สิบปีแล้วนะครับ

ผมเองหลังแถลงนโยบายมาสองเดือนเศษ ผมไม่พูดมากแต่ลงมือทำ อย่างน้อยผมก็พยายามลดภาระให้ประชาชนไม่ว่าจะตามโครงสร้างแบบไหน ทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน ค่าไฟฟ้า ตรึงราคาค่าแก๊ส ผมดีใจที่พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

เวลาเดียวกันก็เร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลชนิดลงลึกทุกขั้นทุกตอน ทำงานกันหลายคณะ ทำมากกว่าพูดลอย ๆ ว่า “ปรับโครงสร้างๆๆ”

เมื่อข้อมูลครบถ้วนแล้ว ไม่นานครับ เพราะผมและคณะจะร่างกฎหมายเอง เป็นชุดและครอบคลุมทั้งหมด ตอบได้ทุกคำถาม เพราะยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ผมศึกษา หาข้อมูล ถกเถียง คิดวิเคราะห์ คืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์

เพราะนี่คือการลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงแค่พูดแล้วเสกออกมา

ขอให้มั่นใจ ผมเอาจริงแน่นอน

ความจริงเรื่อง 'ค่าไฟฟ้า' ความถูก-แพง ที่ทำ 'ก.พลังงาน' กลุ้ม ผลพวงจากทิศทางโลก ผสมโรงบิ๊กเอกชนผูกขาดก๊าซธรรมชาติ

ปัญหาด้านสาธารณูปโภคที่เรื้อรังมายาวนานและกลายเป็นประเด็นที่บรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย มักจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประจำก็คือ 'ปัญหาราคาค่าไฟฟ้า'

แน่นอน 'ค่าไฟฟ้าแพง' เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามมาเป็นรัฐบาล แต่เรื่องราวที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ หลงลืม หรือไม่ได้ใส่ใจ ก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่ได้เป็นผู้กำหนดทั้งอัตราค่าไฟฟ้าหลัก (ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายปี) และ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft : ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ) ค่า Ft ถูกกำหนดไว้เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงต้นทุนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า คือค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนคงที่ซึ่งคำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแล

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้า จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานที่เพียงแต่ทำหน้าที่ในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถลดค่า Ft ลงอันจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้

แต่เริ่มเดิมทีไทยเราผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ พลังงานน้ำ เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า กอปรกับพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ก็ลดน้อยลงไปตามการใช้งาน อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้นแล้วการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ถูกคัดค้านโดย NGO และบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลาย เพราะความเจริญก้าวหน้าของประเทศนำมาซึ่งความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซจึงเป็นกระบวนการหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยมาจาก 3 แหล่ง คือ...

- ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย 
- ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา 
- ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot

โดยที่ผ่านมาผู้ที่ผูกขาดจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงเจ้าเดียวของไทยก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันยังคงผูกขาดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมา ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot นั้น ปี พ.ศ. 2567 กกพ.พึ่งจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถนำเข้าเองได้เป็นปีแรก

ในปัจจุบันราคาซื้อขาย LNG จะแตกต่างกันตามภูมิภาค ทั้งยังมีโครงสร้างราคาที่ต่างกัน ได้แก่...

- ตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะใช้ดัชนีราคา Henry Hub (HH) 
- ตลาดภูมิภาคยุโรป แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ใช้ดัชนีราคา National Balancing Point (NBP) และประเภทที่ใช้ดัชนีราคา Title Transfer Facility (TTF)
- ตลาดภูมิภาคเอเชีย จะใช้ดัชนีราคา Japanese Crude Cocktail (JCC) 

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งรูปแบบการซื้อขายออกเป็น 2 รูปแบบ คือ...

- Spot คือการซื้อ-ขาย LNG ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ เป็นไปตามราคาตลาดในช่วงเวลานั้นๆ 
- Term Contract คือ การซื้อ-ขาย ที่มีการส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน โดยจะคำนวณตามสูตรราคาอ้างอิงกับดัชนีราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซฯ ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อ-ขาย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับราคา LNG ในปัจจุบันก็คือ ยุโรปยกเลิกการสั่งซื้อ LNG จากรัสเซียอันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครน ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลางและแอฟริกา ราคา LNG จึงมีราคาเพิ่มขึ้น อีกทั้งการนำเข้า LNG มีต้นทุนค่าขนส่งและคลังจัดเก็บ ตลอดจนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขาย LNG กอปรกับแหล่งก๊าซของ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ว่าจะเป็นอ่าวไทยหรือเมียนมามีปริมาณการผลิตที่ลดลง เรื่องเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อการคำนวณพิจารณาค่า Ft ซึ่งต้องนำราคา LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมานั้นไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคไหนก็ตาม จึงไม่สามารถกำหนดราคาค่าไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของกกพ. แม้ว่าปัจจุบันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพยายามส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือก (Alternative energy) ไม่ว่าจะเป็นพลังงานธรรมชาติเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม หรือพลังงานน้ำ หรือพลังงานจากชีวมวล ฯลฯ ก็ตาม ต้องมีการจ่ายค่า Adder (ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า) ในอดีต และปัจจุบันจ่ายค่า  FiT (Feed-in-Tariff) อันเนื่องมาจากแม้จะไม่มีต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง แต่จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของพลังจากธรรมชาติ และความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงในกรณีพลังงานจากชีวมวล 

นอกจากนั้นแล้วไทยยังต้องมีการ 'สำรองไฟฟ้า' เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หากเกิดเหตุฉุกเฉินจึงต้องมีการสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอ https://thestatestimes.com/post/2023042021 และ https://thestatestimes.com/post/2023042443 

ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าที่กกพ.กำหนด จึงเป็นไปตามบริบทที่แท้จริงตามสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการคำนวณค่า Ft หากไม่เช่นนั้นแล้วเหล่าบรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย ยังไม่มีใครกล้านำข้อมูลที่นำมาสร้างเป็นกระแส 'ค่าไฟฟ้าแพง' ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เลยจนถึงทุกวันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top