'ก้าวไกล' แถลงโต้!! กกพ. ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ยันค่าไฟต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย ได้ ถ้าหยุดเอื้อกลุ่มทุน

จากกรณีที่ข่าวหลายสำนักได้ลงข่าวที่ กระทรวงพลังงาน หรือ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พูดว่า “ค่าไฟ 4 บาท/หน่วย ในประเทศไทยจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” 

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาตอบโต้ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องขอแถลงข่าวเพื่อให้สื่อมวลชนช่วยสื่อสารกับประชาชน และยืนยันว่าค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย เป็นไปได้ ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนแนวนโยบาย จากการบริหารของรัฐบาลที่เห็นถึงผลประโยชน์ของประชาชน มากกว่า กลุ่มทุนพลังงาน

วรภพกล่าวว่า ตามข่าวนั้น ทางกกพ. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องอยู่เรื่องนึง ที่ว่า ราคาต้นทุนก๊าซจากอ่าวไทยนั้นมีราคาที่ถูกอยู่ที่ 2-3 บาท/หน่วย และราคาก๊าซนำเข้า หรือ LNG นั้นมีแนวโน้มที่จะมีราคาแพงต่อเนื่องอยู่ที่ 10 บาท/หน่วย นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเพียงแต่ว่า ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยนั้น ที่จริงแล้วมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า ข้อมูลครึ่งปีแรกของ 2565

"จากกระทรวงพลังงานเองก็ยืนยันข้อมูลที่ว่า ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2,600 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน ซึ่งข้อมูลการผลิตก๊าซจากอ่าวไทย นั้นมีการผลิตได้ถึง 2,756 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน ซึ่งแสดงว่าก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูก 2 บาท/หน่วยนั้นเพียงพอกับการผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ" วรภพกล่าว

วรภพกล่าวขยายความต่อว่า เป็นเพราะนโยบายรัฐที่ปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานของไทย สามารถนำก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกนั้น ไปสร้างผลกำไร ด้วยการนำก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกไปขายเป็นเชื้อเพลิงราคาแพงให้กับอุตสาหกรรมได้ก่อนถึง 811 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน และ นำไปขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีในเครือ อีก 804 ล้านลบ.ฟุต ต่อวัน หรือ รวมแล้ว 1,615 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน 

"อธิบายง่าย ๆ ว่า 59% จากการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยทั้งหมด ถูกกลุ่มทุนพลังงานแย่งเอาทรัพยากรของประชาชนทุกคนที่ซื้อได้ในราคาถูก และ นำไปขายในราคาแพง เป็นผลกำไรให้กับกลุ่มทุนพลังงานโดยตรง แล้วให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงจากต้นทุนก๊าซนำเข้า 10 บาท/หน่วย แทน เป็นผลจากนโยบายของรัฐเอง"

นี่จึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไม ก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาเพียง 2 บาท/หน่วย และควรจะเป็นทรัพยากรของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ถูกนำมาเป็นพลังงานให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แต่กลายเป็นทรัพยากรของกลุ่มทุนพลังงานที่เลือกที่จะนำไปขายสร้างเป็นกำไรสูงสุดของกลุ่มทุนพลังงาน ก่อนผลประโยชน์ประชาชน จากนโยบายของรัฐ  

"จึงต้องฝากพี่น้องสื่อมวลชนช่วยกันกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายรัฐให้ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ให้อุตสาหกรรมจะต้องซื้อก๊าซในราคาก๊าซนำเข้า และ กำไรจากกลุ่มทุนพลังงานที่เคยได้รับจากการนำก๊าซราคาถูกไปขายให้อุตสาหกรรมในราคาแพง ควรจะต้องนำมาชดเชยค่าไฟฟ้าให้กลับไปต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยได้ และขอยืนยันว่าค่าไฟฟ้า ต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย เป็นไปได้ ถ้าประเทศไทยมีรัฐบาลที่ยึดประโยชน์ประชาชนมากกว่ากลุ่มทุนพลังงาน” วรภพกล่าวทิ้งท้าย