Friday, 10 May 2024
การรถไฟแห่งประเทศไทย

บอร์ดรฟท. อนุมัติค่าโดยสารสายสีแดง กำหนดราคา 12-42 บาท เป็นเวลา 3 ปี

19 ต.ค. 64 - นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม บอร์ด รฟท.วันนี้ ได้อนุมัติในหลักการ กำหนดอัตราค่าโดยสาร รถไฟชานเมืองสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ และบางซื่อ-รังสิต โดยกำหนดอัตราที่ค่าแรกเข้า 12 บาท และเก็บสูงสุด ไม่เกิน 42 บาท โดยจะจัดเก็บอัตราดังกล่าวไปเป็นเวลา 3 ปี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอนุมัติอัตราค่าโดยสารของบอร์ดรฟท. เป็นการกำหนดอัตราค่าแรกเข้า 12 บาท และเก็บตามระยะอีก กม.ละ 1.50 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้น ต้องเกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่เป็นภาระกับองค์กร (รฟท.) ในอนาคต  

รฟท. เตรียมชงครม. ลุยส่วนต่อขยาย ‘สายสีแดง’ คาดเปิดประมูลปลายปี 65 วงเงิน 7.93 หมื่นลบ.

การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงิน 7.93 หมื่นล้าน คาดว่าจะสามารถดำเนินการประมูลได้ในปี 2565 และจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2569 - 2571

วันนี้ (22 ธ.ค. 64) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ขณะนี้ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

ช่วงที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ช่วงที่ 3 ตลิ่งชัน-ศาลายา

ช่วงที่ 4 ตลิ่งชัน-ศิริราช

กลางปีเจอกัน!! เผยภาพ รถไฟบริจาคจากญี่ปุ่น ลงราง คาดเปิดใช้ในเส้นทางท่องเที่ยวกลางปีนี้

รถ KIHA 183 ลงรางเรียบร้อย มุ่งหน้าสู่โรงงานมักกะสัน การรถไฟฯ เร่งปรับปรุงรถไฟ Kiha-HOKKAIDO ตามแผน เพื่อใช้หนุนเส้นทางการท่องเที่ยว คาดกลางปีนี้เริ่มทดลองใช้ได้ 4 คันในเส้นทางท่องเที่ยวระยะสั้น 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการบริหารจัดการรถไฟดีเซลราง JR Hokkaido Kiha 183 จากญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน ที่ไทยได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์หลักของตัวรถ พร้อมดัดแปลงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในตู้โดยสารให้พร้อมรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟ พร้อมกระตุ้นรายได้ให้กับท้องถิ่น ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในภาพรวมให้กลับมาคึกคัก 

ทั้งนี้ ภายหลังจากการรถไฟฯ ได้ดำเนินการปรับขนาดเพลาล้อ จาก 1.067 เมตร (มาตรฐานญี่ปุ่น) เป็น 1 เมตร (มาตรฐานไทย) เสร็จเรียบร้อยและนำรถไฟลงรางที่สถานีแหลมฉบังแล้ว โดยในวันนี้ (21 มกราคม 2565) ขบวนรถ Kiha-HOKKAIDO ได้เคลื่อนขบวนออกจากสถานีแหลมฉบัง เมื่อเวลา 09.00 น. เพื่อเตรียมนำไปปรับปรุงสีใหม่ ที่โรงงานมักกะสัน เพื่อจะกลับมาให้บริการภายในปีนี้  

การรถไฟฯ ทำพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของประเทศไทย แลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี ในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ 

เมื่อวันที่  24 มิถุนายน 2565 ณ สถานที่ก่อสร้างสะพานฝั่งค่ายภาณุรังษี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย  และนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟช่วงสุดท้ายข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม–หัวหิน โดยมีพลตรีวิกร เลิศวัชรา รองเจ้ากรมการทหารช่าง และนายดนุช ยนตรรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานจังหวัดราชบุรีเข้าร่วมพิธี 

นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟฯ เปิดเผยว่า การสร้างสะพานรถไฟแบบขึงข้ามแม่น้ำแม่กลอง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล โดยได้มีการสร้างสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานรถไฟเดิมหรือสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ พร้อมกับมีการออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษให้โครงสร้างสะพานรถไฟใช้คานขึง ที่มีตอม่ออยู่บนฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง แทนรูปแบบเดิมที่มีตอม่อกลางแม่น้ำ เนื่องจากก่อนที่จะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่แล้วพบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาด 1,000 ปอนด์ จำนวน 7 ลูก จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลองบริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ตรงกับแนวเขตการก่อสร้างสะพานรถไฟ หากจะก่อสร้างสะพานในรูปแบบเดิม จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย ดังนั้น จึงได้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด จึงเป็นที่มาของรูปแบบการสร้างสะพานรถไฟแบบขึง (Extradosed Bridge) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขึง”  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อสะพาน 

ชาวบ้านหวังดี แจ้งจนท.รถไฟ หลังพบเหล็กยึดรางหาย สุดท้ายได้รับคำตอบสุดอึ้ง “แจ้งร้านรับซื้อของเก่าแล้ว”

ชาวบ้านน้ำพอง ขอนแก่น หวังดี แจ้งเจ้าหน้าที่การรถไฟ หลังพบเหล็กยึดรางหายหลายจุด แต่กลับได้รับคำตอบสุดอึ้ง แจ้งร้านรับซื้อของเก่าแล้ว บอกหายเป็นประจำ เหตุขโมยมีเครื่องมือดีกว่า 

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายฉัตรชัย โลหะมาตย์ กำนันตำบลหนองกุง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน หมุดรางรถไฟ ช่วงระหว่างจุดข้ามทางรถไฟถนนสายน้ำพองกระนวน และจุดข้ามทางรถไฟเส้นทางไปบ้านนาเรียง บริเวณสะพานดำ ซึ่งเป็นสะพานข้ามลำห้วยสาธารณะ ถูกคนร้ายถอดหมุด และเหล็กประกับช่วงรอยต่อรางเหล็กที่ยึดติดกับพื้นสะพานหายไปจำนวน 5 จุด จึงได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบเพื่อเก็บข้อมูล เพื่อนำรายงานทางอำเภอ และเจ้าหน้าที่การรถไฟทราบ

โดยที่เกิดเหตุพบว่า เหล็กที่ใช้ยึดพื้นสะพานใช้รางรถไฟเป็นคานบน ความยาวประมาณ 25 เมตร จำนวน 2 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นจะมีรอยต่อ ใช้เหล็กประกับแนบเหล็กเพื่อยึดด้วยน็อตจำนวน 4 ตัว พร้อมกับยึดติดกับไม้หมอนรถไฟที่อยู่บนพื้น ถูกคนร้ายถอดเอาเหล็กประกับออกไปจำนวน 5 จุด แต่ละจุดจะใช้เหล็กประกับ 2 ชิ้น ๆ ละ 1 กิโลกรัม หายไป

นายฉัตรชัย เผยว่า ขณะที่กำลังตรวจสอบรายละเอียดอยู่นั้น ได้มีรถตรวจการของเจ้าหน้าที่การรถไฟ วิ่งผ่านมา จึงได้เรียกให้ตรวจสอบจุดที่ถูกขโมยหมุดรางรถไฟ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า หมุดกับเหล็กที่หายไปถูกขโมยลักไปหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งจะนำอะไหล่มาทดแทน จนทุกวันนี้ไม่มีอะไหล่แล้ว เพราะถูกขโมยประจำ ซึ่งจุดที่ถูกขโมย ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟแต่อย่างใด

การรถไฟฯ เปิดเดินรถด่วนพิเศษสายใต้เพิ่ม 2 ขบวน เส้นทาง ‘กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ - กรุงเทพ’ หนุนท่องเที่ยว

‘การรถไฟฯ’เปิดให้บริการขบวนรถด่วนพิเศษสายใต้ เพิ่ม 2 ขบวน เส้นทางกรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ – กรุงเทพ เริ่ม 11ส.ค. นี้ หนุนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

11 ส.ค. 2565 นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเชื่อมต่อระหว่างไทยและมาเลเซีย หลังจากที่ ศบค. ได้ประกาศผ่อนคลายข้อปฏิบัติมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ทั้งนี้การรถไฟฯ จึงได้เปิดให้บริการขบวนรถสายใต้ เส้นทางกรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ – กรุงเทพ จำนวน 2 ขบวน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ประกอบด้วย

ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 45 กรุงเทพ – ปาดังเบซาร์ ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 15.10 น. ถึงปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) เวลา 09.50 น. (ตามเวลาประเทศไทย) และ2. ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 46 ปาดังเบซาร์ – กรุงเทพ ออกจากสถานีปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) เวลา 17.06 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ถึงกรุงเทพ เวลา 12.45 น.

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้เปิดเดินขบวนรถพิเศษจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ – ชุมทางหาดใหญ่ จำนวน 4 ขบวน ได้แก่

1.ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 947 ชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ เวลาออก 07.30 น. เวลาถึง 08.25 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
2. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 948 ปาดังเบซาร์ – ชุมทางหาดใหญ่ เวลาออก 07.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เวลาถึง 08.25 น.
3. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 949 ชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ (ตามเวลาประเทศไทย) เวลาออก 07.30 น. เวลาถึง 08.25 น. 
และ4. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 950 ปาดังเบซาร์ – ชุมทางหาดใหญ่ เวลาออก 07.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เวลาถึง 08.25 น.

ทั้งนี้ เมื่อเปิดเดินขบวนดังกล่าวแล้วส่งผลให้การรถไฟฯ จะมีขบวนรถให้บริการรวม 200 ขบวนต่อวัน

โดยแบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 56 ขบวน ขบวนรถเชิงสังคมเปิดให้บริการ 144 ขบวน และแบ่งตามเส้นทางได้เป็นสายเหนือ 36 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 46 ขบวน สายใต้ 52 ขบวน สายตะวันออก 24 ขบวน สายมหาชัย 34 ขบวน และสายแม่กลอง 8 ขบวน

‘KIHA 183’ รถไฟมือสองญี่ปุ่นทดลองวิ่งฉลุย การรถไฟฯ เผยเตรียมเปิดให้บริการปลายปีนี้

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจาก รฟท. ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาจำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน  รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab)  52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน และได้มีการส่งมอบรถมาถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อทำการดัดแปลงเป็นตู้รถไฟ สำหรับให้บริการแก่ประชาชน และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น

ล่าสุด รฟท. โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183  เสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน พร้อมกับได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน - ฉะเชิงเทรา - กรุงเทพ เป็นครั้งแรก โดยมีคณะสื่อมวลชนร่วมทดลองใช้บริการ ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง จำนวน 2 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ จำนวน 1 คัน ซึ่งการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรกแล้วเสร็จ รฟท. จะเร่งปรับปรุงรถคันอื่นที่เหลือ เพื่อเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566  

สำหรับการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 รฟท. ได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย รวมถึงได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุด ๆ ละ 4 คัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น

รฟท. จัดรถจักรไอน้ำขบวนพิเศษ "กรุงเทพ-อยุธยา" น้อมรำลึก 'วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม'

การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำ วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม สัมผัสเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ-พระนครศรีอยุธยา เปิดจำหน่ายตั๋วตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

นายเอกรัช  ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การรถไฟฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย

ในโอกาสนี้การรถไฟฯ ได้นำหัวรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี มาจัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวในเส้นทางสายประวัติศาสตร์ระหว่างสถานีกรุงเทพถึงสถานีอยุธยา เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย จึงขอเชิญชวนร่วมย้อนวันวานไปกับขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำเฉลิมพระเกียรติ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช เริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ

‘รถไฟลอยน้ำ’ ชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กลับมาแล้ว การรถไฟฯ เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวแรก 5 พ.ย.นี้

การรถไฟฯ จัดขบวนรถไฟลอยน้ำต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว พาไปสัมผัสลมหนาวกลางเขื่อนกับขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 เริ่มเที่ยวแรก 5 พฤศจิกายน นี้

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังมาถึงนี้ การรถไฟฯ ขอเชิญชวนประชาชน และนักท่องเที่ยว ร่วมเดินทางสัมผัสลมหนาวเส้นทางอันซีนหนึ่งเดียวของเมืองไทย นั่งรถไฟลอยน้ำสุดโรแมนติก กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยได้จัดขบวนรถพิเศษนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรก 5 พฤศจิกายน 2565 และเริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือระบบ D-Ticket รวมถึงสามารถจองเดินทางเป็นหมู่คณะแบบเช่าเหมาคันหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย 

สำหรับประวัติขบวนรถไฟลอยน้ำ เดิมเป็นทางรถไฟสายกรุงเทพ บัวใหญ่ หนองคาย อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้กักเก็บน้ำ แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมกับมีการสร้างทางรถไฟยกระดับขึ้นเหนือน้ำเพื่อใช้สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟวิ่งลัดเลาะไปตามขอบของอ่างเก็บน้ำ  และมองออกไปนอกหน้าต่างจะดูคล้ายกับรถไฟแล่นไปบนผิวน้ำ ขบวนรถไฟนี้จึงได้ชื่อว่า “รถไฟลอยน้ำ” 

ทั้งนี้ ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 รวม 24 วัน ประกอบด้วย 

วันที่ 5–6, 12-13, 19-20, 26-27 พฤศจิกายน 2565 
วันที่ 3-4, 10-11, 17-18, 24-25 ธันวาคม 2565 
วันที่ 7-8, 14-15, 21-22, 28-29 มกราคม 2566 

สื่อต่างชาติยังทึ่ง ‘รถไฟลอยน้ำ’ เขื่อนป่าสักฯ ชวนคนไทยเที่ยวชมความสวยงามถึงสิ้นเดือนม.ค.66

เพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า รถไฟลอยน้ำ เขื่อนป่าสักฯ ดังไกลถึงสำนักข่าวต่างชาติ บน South China Morning Post และ Reuters TV คนไทยยังไม่เคยไปลองแล้ว!!!

พอดีวันนี้ไปเจอคลิป รถไฟลอยน้ำ ใน Youtube บนช่อง South China Morning post และ Reuter ซึ่งทั้ง 2 ช่องเป็นสำนักข่าวใหญ่ระดับโลก 
คลิปจาก South China Morning post
https://youtu.be/YQLMogTXATI

โดยในคลิปให้ชมความสวยงาม ของรถไฟลอยน้ำบนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมี Caption ให้รายละเอียดของการให้บริการรถไฟ เพื่อเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของไทยให้กับต่างชาติ

สำหรับขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 รวม 24 วัน ประกอบด้วย 

>> วันที่ 5–6, 12-13, 19-20, 26-27 พฤศจิกายน 2565 
>> วันที่ 3-4, 10-11, 17-18, 24-25 ธันวาคม 2565 
>> วันที่ 7-8, 14-15, 21-22, 28-29 มกราคม 2566


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top